สวัสดีค่ะชาว Dek-D หลังจากที่มีโอกาสได้แชร์ประสบการณ์ของ 'พี่นิ'   MBA Harvard   แล้ว ก็ทำให้มีโอกาสได้รู้จักกับ 'พี่วิน’ ที่เพิ่งจบ ป.โท สดๆ ร้อนๆ จากสาขา  MBA ของ  Columbia Business School  (CBS) 1 ในสถาบันจาก Ivy League แถมตั้งใน  New York เมืองที่เต็มไปด้วยสีสันและความเจริญทางเทคโนโลยี บอกเลยค่ะว่าเต็มอิ่มมาก! เพราะวิชาออกแนว practical ใน คลาสเต็มไปด้วยเพื่อนประสบการณ์สูงจากนานาชาติ เจอ Professor และ  Speaker เจ๋งๆ สไตล์การเรียนก็ยืดหยุ่น แล้วยังมี "สภาพแวดล้อม" ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา เห็นชีวิตคนทำงานและองค์กรเพียบ
 
              ในบทสัมภาษณ์นี้จะไม่ได้มีแค่การพูดคุยรีวิวชีวิตเรียนเท่านั้น แต่ยังพาไปดูความพยายามในการสอบเข้าที่นี่ด้วยค่ะ เพราะเขาเริ่มต้นจากสกิลภาษาที่ไม่แข็ง เรียนภาคไทยมาตลอด   รวมๆ แล้วต้องสอบ TOEFL 3 รอบ กับ GMAT อีก 7 รอบ (มีคำแนะนำท้ายบทความนะคะ)



Photo Credit:   Win Mayuraritpibal

 

เมื่อเด็กวิศวะจุฬาฯ

อยากเบนสายมา MBA
 

           “สวัสดีครับ ชื่อ ‘วิน มยุรฤทธิ์ภิบาล’ เรียนจบ ป.ตรีเรียนวิศวะจุฬาภาคยานยนต์ (ภาคไทย) ทำงานต่อด้าน Business Development ที่บริษัท ปตท. แล้วได้ทุนบริษัทไปเรียนต่อ MBA ที่ ม.โคลัมเบีย ตอนนี้เพิ่งกลับมาทำงานต่อครับ ^^"
 
           “พี่สนใจ MBA เพราะตอนเรียนวิศวะปี 4 ได้ลงเรียนวิชานึงที่ชื่อ   Organizational Management ของคณะบัญชี แล้วรู้สึกมันเปิดโลกมาก จากที่เคยเรียนวิศวะแบบเลกเชอร์มาตลอด ก็ได้มาเจอวิชานี้ที่เป็นแนว Discussion หลังเลิกคลาสพี่ก็จะชอบไปคุยกับอาจารย์บ่อยๆ ด้วย เพราะรู้สึกเขาเก่ง แล้วยังเป็นแขนงที่เราไม่เคยศึกษาจริงจัง และได้รับคำแนะนำดีๆ จากอาจารย์เสมอ" 


Photo Credit:   Win Mayuraritpibal


Photo Credit:   Win Mayuraritpibal
 
           “ช่วงใกล้จบพี่ก็ได้มีสมัครโครงการทุนเรียนต่อต่างประเทศของ ปตท. (PTT International Scholarship Program :ISP) ที่เขามาออกบูธครับ  โดยทุนนี้จะให้ค่าเรียน 100% + ค่ากินอยู่บางส่วน   ปกติแล้วบางบริษัทจะรับพนักงานก่อนแล้วค่อยชิงทุน แต่ที่นี่จะรับเด็ก ป.ตรีมาเป็น 'พนักงานทุน' เลย โดยเงื่อนไขคือต้องมีแนวโน้มสูงที่จบมาแล้วได้เกียรตินิยมอันดับ 1 หรือ 2 แล้วพอได้ทุน ก็เหลือแค่ว่าเราต้องสอบติดมหา'ลัยท็อปๆ ให้ได้ (เงื่อนไขกำหนดว่าต้องเป็น Top U ครับ) อีกแรงกระตุ้นนึงคือหลังจากบรรจุแล้วได้มาทำงานด้าน  Strategy ตอนประชุมต้องคุยภาษาไฟแนนซ์ เราต้องทำการบ้านโดยการนั่งศึกษาเอง หรือถามพี่ๆ ในทีม  เลยรู้สึกว่าต้องลงเรียนด้านนี้จริงจังแล้วแหละ เพราะได้ใช้เยอะมากๆ"

 

Why CBS?
(เก็บข้อมูลหนักมากจากงานแนะแนว)

 
         
“พอเป็น MBA พี่ก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องคนก่อนเลย บางคนจะแนะนำว่าให้บินไปดูแต่ละมหา’ลัยเพื่อจะตัดสินใจว่าชอบสภาพแวดล้อมหรือเมืองแบบไหน  แต่สำหรับพี่มีทรัพยากรจำกัด ก็อาศัยไปงานแนะแนว (Information Session) ที่มีตัวแทนจากมหา’ลัย ทั้งนักเรียนปัจจุบันและศิษย์เก่ามาแชร์ประสบการณ์เพื่อเชิญชวนคนไปเรียนต่อ พี่รู้สึกว่าไปงานแบบนี้แหละสำคัญสุด และเห็นด้วยว่าสังคมของเขาเป็นยังไง เหมาะกับเรามั้ย สามารถปรึกษาเรื่องคอร์สเรียนต่างๆ และแนวทางการสมัคร  อย่างพี่ไปของหลายมหา'ลัยมากครับ เฉพาะของโคลัมเบียคือไป 3 รอบ"

 
           “แต่ละที่ก็จะมีความโดดเด่นต่างกัน ถ้าสำหรับโคลัมเบียพี่จะรู้สึกว่าศิษย์เก่าค่อนข้างดูเป็นรุ่นใหม่ สนิทกัน ชวนไปทานข้าว ส่วนทาง Admission Officer ก็ชอบชวนคุยกับศิษย์เก่าเพื่อให้เขาแชร์เรื่องให้เราฟัง พี่เลยประทับใจกับพี่ๆ ศิษย์เก่าและประสบการณ์ที่ CBS จึงได้ขอคอนแทคมาปรึกษาต่อด้วยครับ *แนะนำว่าเราต้องกล้าพูดกล้าติดต่อไปด้วย พี่ๆ ศิษย์เก่าเขายินดีช่วยเหลืออยู่แล้ว เพราะเขาก็เคยอยู่จุดเดียวกับเรามาก่อน


Photo Credit: https://news.columbia.edu/
 
           “นอกนั้นก็มีเหตุผลที่ว่าพี่อยู่ กทม.มาตลอด เลยติดการใช้ชีวิตในเมือง ยิ่งเรียนสายนี้แล้วการได้เปิดหูเปิดตาในเมืองธุรกิจก็น่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้เราได้    ตอนนั้นพี่เลยมองทั้ง LA, New York, Boston, London สุดท้ายก็ได้ Columbia ซึ่งอยู่ในนิวยอร์กครับ ที่นี่จะเก่งเรื่องไฟแนนซ์และการลงทุน"

 

จุดเด่นเรื่องความยืดหยุ่น

จัดตารางชีวิตสไตล์เราได้
 

           “โคลัมเบียจะมีการเรียน  2 รอบคือ Fall-Term เรียน 4 เทอม ใช้เวลา 2 ปีจบตามปกติ และฝึกงานตอนซัมเมอร์  กับ J-Term เรียน 4 เทอมจบใน 16 เดือน ตอนซัมเมอร์ก็เรียน  ไม่ได้ฝึกงาน เลยเหมาะกับผู้ที่ไม่จำเป็นต้องฝึกงานแล้ว  เช่น พนักงานทุนหรือมีธุรกิจครอบครัว * ช่วยทุ่นเรื่องค่าใช้จ่ายและระยะเวลาเรียนได้"
 
           “สไตล์การเรียนที่นี่จะต่างกับ HBS (Harvard Business School) เพราะที่นี่จะเรียนแบบผสมกันระหว่างเลกเชอร์และ Case Discussion ขึ้นอยู่กับวิชา เช่น วิชาสถิติจะมีเคสน้อย  แต่ถ้าวิชาแนวกลยุทธ์ต่างๆ นี่คือเคส 100% (การเรียนแบบเคสก็คืออ่านเคสจากบ้านแล้วมาถกกันในคลาสครับ แล้วบางวิชาจะเจอได้เจอคำนวณเยอะด้วย ถ้าเกิดไม่มีพื้นฐาน Excel ก็จะเหนื่อยหน่อย)  ส่วนวิธีตัดเกรดก็จะเป็นแบบ Curve มีตั้งแต่ 1-10 แล้วแต่วิชานะ เฉลี่ยมาตรฐานจะอยู่ที่ 7 ถ้า Top ห้องอันดับ 5-10 อาจได้เกรด 10 หรือบางวิชาก็มีแค่เกรด 7 กับ 10”


Photo Credit:   Win Mayuraritpibal
 
           “แต่ความพิเศษคือที่นี่จะมีนโยบายไม่เปิดเผยเกรดต่อนายจ้างตอนสมัครงาน ก็ระบุแค่ดีกรีว่าจบจากที่นีี่ เลยทำให้เกรดไม่ใช่ทุกอย่าง เราเลือกได้ว่าจะโฟกัส Academic, Social หรือ Career หรือจะใส่เต็มทั้งหมดก็ได้ถ้าสามารถ  ใครจะเอาเวลาไปฝึกงาน ทำงานเสริม หรือคลุกคลีกับคอมมูนิตี้ทางนี้ก็ได้ครับ  มันคือการเรียนรู้เหมือนกัน   การเรียน MBA เลยเหมือนสอนเรื่องการใช้ชีวิตมากๆ    เมื่อก่อนพี่คิดว่าเราจะโฟกัสทุกอย่างได้ แต่ 2 ปีที่ผ่านมาทั้งการเรียน การหางาน สังคม ฯลฯ มันถาโถมมาหมด เลยต้องจัดลำดับความสำคัญให้ดีว่าจะทำอะไรก่อนหลัง บาลานซ์ให้ได้ เพราะในขณะที่เราเลือกทำ 1 อย่าง เราอาจจะต้องวางอีก 4-5 อย่างลงไปก่อน"  

 

ความเก๋ของระบบลงทะเบียน

เริ่มมาถึงทุกคนมี 14,000 Bit Points
 

           “ระบบลงทะเบียนเรียนของที่นี่จะเป็นการทำประมูล (Bidding) นักศึกษาทุกคนจะมีในมือ 14,000 bit point  ถ้าอยากเรียนวิชาไหนก็เอาไปลง ถ้าคลาสนี้จำกัด 10 คน ก็จะรับ 10 คนแรกที่ประมูลสูงสุด มันก็เป็นหลักเศรษฐศาสตร์ Demand & Supply แหละ ถ้าวิชาดีแล้วคนแห่มาเรียนหมดก็จะจัดการไม่ไหว คนที่อยากเรียนจริงๆ ก็ต้องยอมจ่ายคะแนนนสูงครับ อย่างเช่นบางวิชานี่ฮิตมาก คนประมูลกันไป 11,000 ลงวิชานี้ก็แทบไม่ได้เรียนวิชาอื่นแล้ว” *ทริคคือเวลาเลือกวิชา ต้องศึกษาอาจารย์ครับ เสิร์ชชื่อ อ่านรีวิว หรือถามรุ่นพี่ก็ได้”


Photo Credit:   Win Mayuraritpibal

 

รีวิวการเรียนแบบเน้นลงมือทำ

เจ๋งทั้ง Hard & Soft Skills
 

           “วิชาเทอมแรกจะเรียนตัวพื้นฐาน เช่น Accounting, Finance, Economics, Statistics, Strategy ส่วน 3 เทอมที่เหลือก็ลงเรียนวิชาเลือก (Electives) ที่มีมากกว่า 300 วิชา  ถ้าให้ยกตัวอย่างวิชาเจ๋งๆ ทางฝั่ง Soft Skills พี่ชอบวิชาการเจรจาต่อรอง (Managerial Negotiation) ที่ได้ยินมาคือดีทุกมอนะ สำหรับโคลัมเบียเขาจะสอนว่าทำยังไงให้ทุกคนได้ประโยชน์มากที่สุด มองผลประโยชน์ตรงกลางเหมือนเป็นชิ้นพาย เราควรขยายชิ้นพายก่อนแล้วค่อยตัดแบ่ง (ในขณะที่บางคนเจรจาแบบเอาผลประโยชน์ให้ตัวเองมากที่สุดอย่างเดียว) พี่ว่าวิชานี้เจ๋งตรงมันใช้ได้จริงมากๆ เพราะนักเรียนเจรจากันทุกคลาส ไม่มีคนไหนไม่ได้เจรจาเลย  แถมรูปแบบก็เปลี่ยนเรื่อยๆ เช่น เจรจา 1:1 สักพักเปลี่ยนเป็นทีม แล้วก็มีทางอีเมลบ้าง ผ่านเอเยนซี่บ้าง เขาให้ลองหลายๆ แบบให้เห็นภาพและรู้ว่าปัญหาจะเกิดขึ้นตรงไหนบ้าง
 
           ไฮไลต์คือเขาให้นักเรียนจาก Business School ไปจับทีมกับ Law School แล้วไปเจรจากัน โดยมีโจทย์ให้ เช่น บริษัททำการค้าด้วยกัน แล้ว บริษัท A แจ้งว่าเขาจ้างเราเขียนซอฟต์แวร์แต่ได้รับงานผิดสเปค  > เราก็ต้องดูข้อสัญญา (Contract) ว่าเขียนยังไงบ้าง ลองประเมินกับทีมกฎหมายว่าโอกาสแพ้ชนะในการฟ้องร้องเป็นเท่าไหร่ จะฟ้องหรือไม่ฟ้อง หรือหาทางออกอื่นที่จะทำให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ทำยังไงถึงคุ้มค่าเงินลงทุนมากกว่า // สนุกดีนะ เรื่องฟ้องนี่เด็กธุรกิจอาจไม่รู้ เด็กกฎหมายก็ต้องมาช่วยตอบให้ ต่างคนต่างโฟกัสกันคนละเรื่อง แต่มีเป้าหมายเดียวกัน”
 
           “อีกอันที่ชอบคือวิชาการเปลี่ยนแปลงในองค์กร (  Organization Change)  ตอนนี้เป็นเรื่องฮิตมาก หลักๆ คือเราจะรับมือยังไงกับแรงต้านที่เกิดขึ้นหลังเราตัดสินใจเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง เช่น พนักงานทำงานเก่งมาก แต่อยู่ดีๆ ผู้บริหารเปลี่ยนแผนการทำธุรกิจ จำเป็นต้องยุบทีมทิ้ง เราในฐานะผู้บริหารจะต้องบอกยังไง? หรือพนักงานจะรับมือยังไง? หรือสมมติ โรงเรียนอาร์ตแห่งหนึ่งงบหมดจนต้องเอาของในพิพิธภัณฑ์ไปขาย แล้วเด็กและศิษย์เก่าไม่พอใจ เราจะใช้วิธีไหนเพื่อสถานการณ์นี้?"
 
           “ยกตัวอย่างกรณีบริษัท Layoff คนออก   คนที่เป็น CEO ควรพูดกับพนักงานยังไงบ้าง? สิ่งที่ต้องทำคือออกแบบกระบวนการให้โปร่งใสถูกต้องก่อน เช่น แทนที่จะเดินไปบอกทันทีว่า นาย A ออกไป ก็เปลี่ยนเป็นชี้แจงให้ทุกคนรู้กระบวนการก่อนว่าจะมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นนะ พร้อมเตรียมมาตรการเยียวยาอย่างดี  ซึ่งทางอาจารย์ก็ได้ให้นักเรียนได้ลองกล่าวบทพูดที่เตรียมไว้ให้กับเพื่อนๆในห้องได้ฟังเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน"
 
           “ส่วนวิชา  Hard Skills พี่ชอบวิชา Finance and Sustainability ครับ วิชานี้ฟังดูเหมือนจะไกลตัวนะ แต่จริงๆ เขาสอนให้นำ Financial Tools ต่างๆ มาแก้ไขปัญหาสังคม เช่น ความเหลื่อมล้ำ การศึกษา สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ได้ดูเคสว่าประเทศไหนทำยังไงบ้างเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น อย่างเช่น แก้ปัญหาเรื่องประมงด้วยการกำหนดโควตาการจับปลา หรือแก้ปัญหาความยากจนด้วย Micro Financing”
 


ช็อตนี้เสียดายที่สุด

เกือบรวยจากวิชาวิเคราะห์หุ้น!
 

           “วิชาวิเคราะห์หุ้น ( Security Analysis) ลงเพราะโคลัมเบียดังเรื่องการลงทุนครับ หลักๆ เขาจะสอนว่าการประเมินมูลค่าหุ้นต้องทำยังไงบ้าง ตอนจบไม่ได้สอบ แต่เขาเชิญนักลงทุนมา แล้วให้นักเรียนจับกลุ่ม นำเสนอหุ้นให้นักลงทุน แบบจริงจังเลยว่าตัวนี้จะซื้อหรือขาย ราคาเป้าหมายเท่าไหร่”
 
           “แล้วที่เสียดายมากมากกกกคือมีหุ้นอยู่ตัวนึง ตอนเริ่มวิเคราะห์มันราคา 220 USD/หุ้น พอตอน pitch ก็ขึ้นเป็น 260 USD ผ่านไปเดือนนึงขึ้นมา 350 USD ผ่่านไปสองเดือน พอกลับประเทศไทยก็ ขึ้นเป็น 382 USD ก็คือถ้าซื้อตอนนั้นรวยแล้วววว อยากกลับไปลงทุนมาก มันแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เรียนมามันได้ใช้ประโยชน์  แต่จะเรียนอย่างเดียวมันไม่พอ ต้องทำด้วย จะได้ไม่มานั่งเสียดายแบบนี้ TT

 

Prof. & Speaker เจ๋งๆ เพียบ

แถมมี Company Visit ทุกวันศุกร์
 

           “อาจารย์ที่นี่จะมีทั้งสาย Researcher (นักวิจัย) และ Adjunct professor (ศาสตราจารย์วุฒิคุณ หรืออาจารย์ที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา) บางท่านเคยได้รางวัลโนเบลแล้วเกษียณ เข้ามาสอนปีละ 1-2 ครั้ง บางท่านเป็นผู้เขียนหนังสือดังๆ ระดับโลก หรืออย่าง  ‘Glenn Hubbard’ คณบดีคนก่อนก็เป็นอดีตที่ปรึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ในยุคประธานาธิบดีของ George W. Bush" 
 
           “แล้วด้วยชื่อเสียงของมหา’ลัยก็ทำให้เขาเชิญ Speaker ดังๆ มาพูด เช่น CEO ของ Gucci, ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Diane Rodham Clinton), เอริก ชมิดต์ (Eric Schmidt) อดีต CEO และ Chairman ของ Google, มหาเธร์ (Mahathir bin Mohamad) อดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ฯลฯ” 
 
           "อีกอย่างคือทุกวันศุกร์จะไม่มีเรียน แต่จะมี ‘Company Visit’ เยี่ยมชม ดูงานที่บริษัท นี่คือข้อดีของการอยู่ในเมืองครับ เป็นสิ่งที่เราคาดหวังไว้แต่ตอนเลือกมหา'ลัยแล้ว"


เมือง Seattle
Photo Credit:   Win Mayuraritpibal



Photo Credit:   Win Mayuraritpibal


เมือง San Francisco
Photo Credit:   Win Mayuraritpibal

 

เด็กนานาชาติครึ่งๆ

ดึงดูดคนประสบการณ์สูง
 

           “ตอนแรกคิดว่าจะได้เจอแต่เด็กอเมริกันมั้ง แต่พอมาถึงเจอคนหลากหลายมาก ยิ่ง J-Term คือ  50-60% เป็นเด็กต่างชาติ อย่าง เริ่มมาเทอมแรกจะมี Learning Team จับกลุ่มนักเรียน 6 คน มีพี่เป็นคนไทย ส่วนอีก 5 คนมาจากเลบานอน อิสราเอล อินเดีย ออสเตรเลีย และอาร์เจนตินา ได้ฟังหลายมุมและสร้างคอนเนกชันด้วย  นี่เลยข้อดีของการเป็น Top U ที่ มีทั้งอาจารย์เก่งๆ และได้ discuss กับเพื่อนเก่งๆ เลยยิ่งขยายความรู้ให้กว้างขึ้น  และจากที่สัมผัสมาคือเพื่อนจะค่อนข้างเปิดรับ อยากรู้จักคนใหม่ๆ คอยชวนไปไหนมาไหนกันตลอด (แล้วแต่สังคมแหละ) บางคนก็จะตั้งใจเรียน บางคนหางาน บางคนก็มองว่าการเรียนต่อ MBA = การพักผ่อน เพราะทุกคนโดยเฉลี่ยทำงานมามากกว่า 5-6 ปีแล้ว ทำให้รู้เป้าหมายของการมาเรียนสาขานี้"
 
           “ส่วนเรื่องภาษาจะไม่ค่อยเจอปัญหาเท่าไหร่ ถ้าอย่างเวลาเรียนแล้วเจอภาษากฎหมาย ไฟแนนซ์ หรือเจอเหตุการณ์เฉพาะในประเทศของเขา เราก็อาจติดๆ บ้าง ต้องอาศัยถามเพื่อน หรืออย่างพี่เคยเจอเพื่อนอินเดียที่พูดเร็วมากจนฟังไม่ทัน ก็ต้องบอกให้เขาช่วยพูดช้าลง ทั้งเราและเขาก็ปรับตัวเข้าหากัน  เลยแนะนำว่าเราควรจะกล้าบอกว่าตัวเองเป็นยังไง กล้าขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ไม่งั้นเขาก็ไม่รู้ว่าเราต้องการหรือมีปัญหาอะไร   ช็อตที่ประทับใจคือมีเพื่อนคนในนึงในคลาสมีปัญหาด้านการสื่อสาร คือเขาเป็นคนพูดติดอ่าง แต่พอมี Case Discussion เขายกมือพูดคนแรกเลยครับ กว่าจะพูดจบใช้เวลานาน แต่เขามุ่งมั่นมาก เพราะอยากเรียนจริงๆ เลยยิ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เราไปอีก"




Photo Credit:   Win Mayuraritpibal


Photo Credit:   Win Mayuraritpibal


Disney World, Orlando
Photo Credit:   Win Mayuraritpibal


Los Angeles
Photo Credit:   Win Mayuraritpibal
 

คลับที่ซัพพอร์ตทุกเรื่อง

ทั้งพักผ่อน, หางาน, เปิดโลก
 

           "ชมรม (Clubs) ของที่นี่จะมีเยอะมาก แบ่งออกเป็น  1. คลับเชื้อชาติ ช่วยเรื่องสังคม พบปะเพื่อนร่วมทวีป (แต่เราจะเข้าคลับของพื้นที่ไหนก็ได้นะครับ) 2. คลับสายอาชีพ ช่วยเรื่องการหางาน เพราะบางทีบริษัทจะติดต่อมหา’ลัย แล้วมหา’ลัยก็ติดต่อมาที่คลับครับ บางทีคลับประเภทนี้ก็จะมีนัดกินข้าว ทริป ดูงาน แนะแนวการสมัครหรือสัมภาษณ์งาน  ฯลฯ 3. คลับกีฬา เช่น บาสเกตบอล อเมริกันฟุตบอล ไพ่โป๊กเกอร์ ฯลฯ ถ้าเรื่องชมรม เด็กที่นี่จะจัดการดูแลกันเองหมด มีเงินสนับสนุนให้บ้าง หรือถ้างานใหญ่จริงก็ต้องหาสปอนเซอร์”
 
           “หลังเลิกเรียนถ้าชอบดื่มไวน์ ก็จะมี Wine Club หรือทุกวันพุธมี Happy Hour ที่บาร์ให้นักเรียนได้มานั่งสังสรรค์กัน บางสัปดาห์มหา'ลัยก็ช่วยจ่ายเงินจัดงานให้เด็กได้เจอกัน ปาร์ตี้กัน ใครไม่ใช่สายดื่มก็ไม่เป็นไร ไปเฮฮานั่งคุยนั่งฟังดนตรีกับเพื่อนเฉยๆ ก็ได้ หรือถ้าช่วงหยุดยาว เช่น Spring หรือ Fall Break เจ้าของประเทศก็ชวนเพื่อนๆ จัดทริปไปเที่ยวประเทศตัวเอง หือบางคนจะจัดตารางให้ไม่มีเรียนบางวัน เพื่อให้เดินทางไปเที่ยวรัฐอื่นได้  (เวลาพี่แนะนำตัว รู้สึกได้ว่าเพื่อนๆ รักประเทศไทยกันมากครับ)”


Photo Credit:   Win Mayuraritpibal


Photo Credit:   Win Mayuraritpibal

 

ชีวิตลั้นลาในนิวยอร์ก

มหานครที่ไม่เคยหลับใหล
 

           “บรรยากาศที่นิวยอร์กจะเป็นเมือง cosmopolitan (หลากหลาย) มีทั้งด้านเชื้อชาติและสถานะ เช่น เอเชีย ยุโรป ผิวขาวผิวสี เดินด้วยกันหมด แต่ละคนจะดูมีอะไรทำตลอดเวลา เดินแบบรีบเร่ง สถานีรถไฟเก่าแต่มีประสิทธิภาพมาก แล้วความน่าสนใจคือในรถไฟจะมี Bankers ที่ทำงานใน Wall Street มีนักเรียน นักท่องเที่ยว คนไร้บ้าน  มีนักแสดงเต้นในรถไฟเป็นเรื่องปกติครับ เรื่องความปลอดภัยก็อย่างที่บอกคือแนะนำให้ถามเพื่่อนๆ ก่อนว่าที่ไหนควรหรือไม่ควรไปบ้าง”
 
           “พี่อยู่ที่นู่นได้เที่ยวเยอะมากกกก พี่เป็นคนชอบเล่นบาส ก็ไปนิวยอร์กดูการแข่งบาสที่ NBA ได้ ละครบรอดเวย์พี่ก็ไปดูมาทั้ง Aladdin ของ Disney และ Harry Potter ถ้าใครชอบออกกำลังกายก็ไปวิ่งที่ Central Park หรือวิ่งเลียบแม่น้ำก็ได้ พอเข้าหน้าหนาว นั่งรถแค่ 2 ชั่วโมงก็ถึงลานสกีแล้ว บางคนก็ล่องเรือ นั่งเฮลิคอปเตอร์ชมเมือง (อันนี้พี่ไม่ได้ทำนะ)  กิจกรรมที่นี่จะเยอะจนกระตุ้นให้เรารู้สึกกระฉับกระเฉงไปด้วย // แต่ต้องบอกว่าค่าครองชีพโหดจริงๆ” 


Disney  World
Photo Credit:   Win Mayuraritpibal



Photo Credit:   Win Mayuraritpibal


Patagonia
Photo Credit:   Win Mayuraritpibal


Patagonia
Photo Credit:   Win Mayuraritpibal


San Francisco
Photo Credit:   Win Mayuraritpibal

 


สอบ TOEFL 3 รอบ

กับ GMAT 7 รอบ!
 

           หลังจากฟังความดีงามของระบบเรียนแล้ว เราก็จะย้อนมาถึงเรื่องการสอบเข้ากันบ้างค่ะ เห็นพี่เขาเล่าได้ลั้นลามีความสุขแบบนี้ แต่บอกเลยว่าต้องฟิตเตรียมตัวหนักมากกก โดยพี่วินเล่าว่ากระบวนการสอบสำหรับโครงการทุนของ ปตท. ( PTT International Scholarship Program :ISP)  จะมี 3 ส่วนคือ

1. Aptitude Test
2. School Fit ความสามารถในการไปเรียนต่อต่างประเทศ มีจำลองสอบ GMAT กับ TOEFL
3. Organize Fit แบ่งเป็น Camp ที่จัดโดยรุ่นพี่นักเรียนทุนรุ่นก่อนๆ กับ Interview กับผู้บริหารในระดับฝ่าย หรือผู้ช่วยกรรมการกผู้จัดการใหญ่ครับ ตอนนั้นพี่มีเวลาเตรียมตัวไม่นานเพราะพี่สมัครตอนเขามาออกบูธ เตรียมได้แค่ภาษาอังกฤษ, หาข้อมูลบริษัท, และอ่านรายงานประจำปี”
 
 (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับทุน ปตท.)
http://www.ise.eng.chula.ac.th/news/detail?id=1267&gid=1-008-002-002
https://pttweb7.pttplc.com/PTT-E-Recruitment
 

Los Angeles
Photo Credit:   Win Mayuraritpibal

 
           “พอได้ทุนแล้วก็เตรียมสอบ ป.โท ทันทีครับ ใช้เวลา 3-4 ปีช่วงที่ทำงานนั่นแหละ  อัดแรงไปเยอะมาก  เพราะพี่รู้สึกโอกาสมันอยู่ในมือแล้ว บริษัทพร้อมซัพพอร์ตเรื่องทุน เหลือแค่เราต้องสอบให้ติดมหา’ลัย" ลิงก์เกี่ยวกับการสอบเข้าของ MBA Columbia

           ตอนนั้นพื้นฐานภาษาภาษาอังกฤษของพี่คือ  ถ้าตีเป็น TOEFL น่าจะได้สัก 80 แหละ กว่าจะยื่นคือสอบ TOEFL  3 รอบ และ GMAT 7 รอบ (ถ้าคนสอบจะรู้ว่า GMAT มันสอบได้แค่ 8 ครั้งในชีวิต และปีนึงสอบได้ 5 ครั้ง) ช่วงแรกๆ พี่ได้ GMAT 580 แล้วมันจะไปติดช่วง 640-660 ซะเยอะ สุดท้ายก็ได้ 690 เป็นช่วงที่โอเคในการยื่น *เวลาคนมาขอคำแนะนำพี่จะบอกเลยว่า ถ้าคะแนนอะไรไม่เยอะ ก็พยายามไปหาส่วนอื่น เช่น ประสบการณ์ทำงานมาทดแทน เพราะสุดท้ายแล้วกรรมการจะดูทั้งเกรด คะแนน และประสบการณ์ในภาพรวมด้วย”
 
           “วิธึฝึกภาษาอังกฤษคือวางตารางไว้เลยว่าจะต้องอ่านหนังสือกับฝึกฟัง podcast ให้เป็นนิสัย แล้วก็ไปลงเรียนคลาส Speaking หลังเลิกงาน เพราะเป็นทักษะที่ต้องฝึกใช้ ส่วน GMAT ขอแนะนำเป็นตัวช่วยก็คือ
 
  • หนังสือ GMAT Official  Guides แบบทดสอบที่ใกล้เคียงข้อสอบจริงที่สุด
  • www.mba.com มีข้อสอบให้ทดลองทำฟรี 2 ชุด + ซื้อเพิ่มได้อีก 4 ชุด เราจะได้เห็นรูปแบบและทดลองจับเวลา แต่ทริคคือให้เก็บข้อสอบไว้ทดสอบตัวเองเป็นช่วงๆ ห้ามรีบใช้ทีเดียวหมด ไม่งั้นเราต้องมาทำซ้ำชุดเดิมที่รู้คำตอบหมดแล้ว
  • คอร์สออนไลน์  e-GMAT   (https://e-gmat.com/)

           “ปกติการสมัครที่อื่นจะแบ่งเป็นรอบๆ แต่นี่เป็นแบบ Rolling Basis ใครสมัครก่อนจะพิจารณาก่อน ติดแล้วติดเลย ถ้าสมัครช้าอาจจะเต็มไปก่อนแล้ว ดังนั้นถ้าใครยื่นก่อนได้เปรียบ แต่พี่ก็แนะนำให้สมัครตอนที่พร้อมแล้วนะครับ เราสามารถเช็กกำหนดการต่างๆ ในเว็บได้”
 

 
           ส่วนการเขียนเรียงความให้น่าสนใจ นำไปใช้ได้กับการสมัครเรียนทุกที่  เขาจะดู 3 ส่วน:
 
  1. ตัวเราในปัจจุบัน - คุณคือใคร เคยทำอะไรมาบ้าง ประสบความสำเร็จอะไรมาแล้ว เน้นเล่าว่างานเรา impact ยังไง เขียนให้เป็นตัวเรา ไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นทำ วัดเป็นตัวเลขได้ยิ่งดี เช่น เพิ่มยอดขายได้เท่าไหร่ กี่   %
     
  2. ตัวเราในอนาคต - เป้าหมายหลังจบ MBA ที่ยิ่งใหญ่แต่ก็ดูเป็นไปได้ถ้าเทียบกับโพรไฟล์ปัจจุบัน 
     
  3. ช่องว่างระหว่างตัวเราในปัจจุบันกับในอนาคต (ทำยังไงให้ไปถึงเป้าหมายได้?)  - ส่วนนี้ต้องชัดเจนที่สุดว่าทำไมถึงต้องเป็นมหา’ลัยนี้ที่นิวยอร์ก อยากเข้าชมรมอะไร วิชาไหนจะช่วยคุณได้ อยากเรียนกับ Professor คนไหน พยายามศึกษาให้ลงลึกเป็นจุดเด่นของมหา’ลัยนั้นจริงๆ แบบไม่ใช่เขียนสมัคร Columbia แต่เขียนกว้างๆ เรื่องทั่วไปจนพอปิดชื่อมหา’ลัยแล้วก็ดูเป็นที่ไหนก็ได้
     

Photo Credit:   Win Mayuraritpibal

 

สำรวจตัวเองจนมั่นใจ

แล้วใส่แรงให้เต็มที่
 

           “สำหรับใครที่อยากเรียนต่อต่างประเทศ อันดับแรกตอบตัวเองให้ได้ว่า MBA เหมาะกับเรามั้ย เพราะเป็นการลงทุนที่จ่ายแพงอยู่ สองปีหลายล้าน ถ้าเกิดอยากเรียนตามเทรนด์เฉยๆ เราอาจไม่รู้ว่าไปถึงต้องโฟกัสอะไร ลงวิชาไหน ปรับ resume ยังไงบ้าง ผลก็อาจไม่ได้คุ้มค่า แต่ถ้าเกิดใช่ ขั้นต่อไปคือให้มองหาโรงเรียนที่ใช่สำหรับเรา อย่างที่พี่แนะนำคือการไปตามงานแนะแนวช่วยได้มาก กล้าถามสิ่งที่อยากรู้ พี่ๆ ศิษย์เก่าเขายินดีช่วยเหลืออยู่แล้ว”
 
           “และสุดท้ายคือการเตรียมตัว พี่เองเรียนภาคไทยมาตลอด สอบ 7 ครั้ง ถึกแหละ ถ้าใครอยากไปจริงๆ ให้ใส่แรงเยอะๆ มันไปได้จริงๆ ครับ”


Photo Credit:   Win Mayuraritpibal


Photo Credit:   Win Mayuraritpibal
 
           เรียกว่าเป็นช่วงชีวิตการเรียน MBA ที่ครบรสมากกก ตอนแรกก็คิดว่าในสถาบันระดับ Top แบบนี้ต้องเรียนเคร่งเครียดอย่างเดียว แต่ที่จริงก็มีมุมเฮฮาปาร์ตี้ และต่างก็มีสไตล์การเรียนรู้และหาโอกาสที่ต่างกันออกไป  พี่หวังว่าเรื่องราวของพี่วินจะทำให้วัยเรียนหรือวัยทำงานที่อยากเรียนสายนี้ได้เห็นจุดเด่นและบรรยากาศของที่นี่ชัดเจนขึ้น  ที่สำคัญคือได้เห็นหนึ่งในตัวอย่างของผู้ที่มีความถึกขั้นสุดเพื่อบรรลุเป้าหมายด้วย  ดังนั้นไม่ว่าความฝันของน้องๆ คืออะไร ขอให้ทำเต็มที่ ไม่ว่าจะถึงฝันหรือไม่ แต่น้องๆ ต้องได้อะไรระหว่างทางที่ไม่ทำให้เสียแรงเปล่าแน่นอนค่ะ ^^
 
ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ 8 มหา'ลัยดังของ Ivy League
https://www.dek-d.com/studyabroad/52544/ 
ช่องทาง Official ของ Columbia Business School - Columbia University
https://twitter.com/Columbia_Biz 
https://www.facebook.com/columbiabusiness 
http://instagram.com/columbia_biz 
https://www.youtube.com/user/ColumbiaBusiness 
 
ชวนอ่านประสบการณ์ "พี่นิ" MBA Harvard กันบ้าง



 
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

กระทู้นี้ถูกปิดการแสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

7 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากมีเนื้อหาที่เป็นข่าวลือซึ่งไม่เป็นความจริง และก่อให้เกิดการเข้าใจผิด บางครั้งมาจากฟอร์เวิร์ดเมล์ที่ไม่จริงแล้วคนส่งต่อจนทำให้เข้าใจผิดกันเป็นวงกว้าง

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากมีเนื้อหาที่เป็นข่าวลือซึ่งไม่เป็นความจริง และก่อให้เกิดการเข้าใจผิด บางครั้งมาจากฟอร์เวิร์ดเมล์ที่ไม่จริงแล้วคนส่งต่อจนทำให้เข้าใจผิดกันเป็นวงกว้าง

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากมีเนื้อหาที่เป็นข่าวลือซึ่งไม่เป็นความจริง และก่อให้เกิดการเข้าใจผิด บางครั้งมาจากฟอร์เวิร์ดเมล์ที่ไม่จริงแล้วคนส่งต่อจนทำให้เข้าใจผิดกันเป็นวงกว้าง

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากมีเนื้อหาที่เป็นข่าวลือซึ่งไม่เป็นความจริง และก่อให้เกิดการเข้าใจผิด บางครั้งมาจากฟอร์เวิร์ดเมล์ที่ไม่จริงแล้วคนส่งต่อจนทำให้เข้าใจผิดกันเป็นวงกว้าง

กำลังโหลด
กำลังโหลด