English Fever! เปิดเหตุผล..ทำไมคนเกาหลีถึงหมกมุ่นกับการเรียนภาษาอังกฤษ

อันนยองค่ะ ชาว Dek-D วันนี้เรามาอยู่ในประเด็นของประเทศเกาหลีใต้อีกแล้ว พอดีว่าวันก่อนพี่ปลื้มได้ไปเห็นสกู๊ปที่น่าสนใจจาก Youtube ช่อง KOREA NOW ที่เขาได้ตั้งชื่อคลิปไว้ว่า “Why are Koreans so obsessed with English?” ทำไมคนเกาหลีถึงหมกมุ่นกับการเรียนภาษาอังกฤษจัง ทันใดนั้นพี่ก็นึกได้ว่า เออ...หัวข้อนี้น่าสนใจเหมือนกัน เพราะภาพจำหลายคนมักจะคิดว่าคนเกาหลีไม่ค่อยเก่งภาษาอังกฤษ แต่รู้หรือไม่ว่าพวกเค้าเรียนกันหนักมากจริงๆ ค่ะ ยิ่งเดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะคนทั่วไป พนักงานบริษัท หรือแม้แต่ดาราไอดอลก็มักมีสกิลภาษาอังกฤษติดตัวกันทั้งนั้น แล้วที่บอกว่าคนเกาหลีเรียนหนัก สงสัยมั้ยว่าพวกเขาเรียนอังกฤษกันหนักแค่ไหน จะเหมือนหรือต่างจากบ้านเราหรือเปล่านะ? เราไปหาคำตอบกันเลยค่ะ 

Jessica Jung 
Jessica Jung 
Photo Credit: Youtube/KoreaNow

เริ่มแรกทาง Korea Now เค้าพาสัมภาษณ์ชาวเกาหลี 2 คนด้วยคำถามเดียวกันคือ “คุณเริ่มเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่เมื่อไหร่?” ซึ่งผู้หญิงคนแรก เจสสิก้า จอง (Jessica Jung) ได้ให้คำตอบไว้ว่า 

“ฉันเข้าเรียนอนุบาลแบบอินเตอร์ตั้งแต่อายุ 4 ขวบ และตอนมัธยมก็เรียนอินเตอร์เหมือนกัน พออายุ 13 ฉันก็ย้ายไปอยู่อเมริกาค่ะ พ่อกับแม่มักจะบอกฉันว่าภาษาอังกฤษเนี่ยเป็นภาษาที่สำคัญที่สุดเลยนะ ฉันก็เลยจำประโยคนี้ไว้ในใจตลอดจนโตค่ะ” 

Ji-young Yoon
Ji-young Yoon
Photo Credit: Youtube/KoreaNow

ต่อมาเป็นชายหนุ่ม ยุน จียง (Ji-young Yoon) ก็ได้ตอบคำถามนี้ไว้คล้ายๆ กัน “ตอนที่ผมยังเด็กๆ มันมีเทรนด์สำหรับพ่อแม่ชาวเกาหลีด้วยกันอยู่เทรนด์นึง ก็คือว่าพวกเขาจะสอนภาษาอังกฤษให้กับลูกๆ แต่สำหรับตัวผมอะ คือไม่รู้ว่าด้วยซ้ำว่าทำไมต้องเรียน แต่ก็ยอมทำๆ ไปเพราะพ่อกับแม่บังคับให้พูด เขาบอกว่าผมเป็นอนาคตของประเทศ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไม่ใช่ 5555 ผมรู้สึกว่าทุกคนเรียนภาษาอังกฤษเพราะเห็นคนอื่นเรียน แล้วก็ไม่อยากรู้สึกว่าถูกทิ้งให้อยู่ข้างหลังคนเดียว”

เราจะเห็นว่าทั้งสองคนมีสิ่งที่เหมือนกันคือ ถูกบังคับให้เรียนแบบไม่รู้เหตุผล ว่ากันว่าการบังคับนี้เป็นเทรนด์ของชาวเกาหลีที่ชื่อว่า  ‘English Fever’ เทรนด์เรียนภาษาตามใจพ่อแม่นั่นเองค่ะ

Photo Credit: Yonhap News
Photo Credit: Yonhap News

ว่าด้วย ‘English Fever’ เทรนด์เรียนภาษา (ตามใจพ่อแม่)

จากที่พี่ได้พูดถึงไปแล้วด้านบนว่า English Fever คือการส่งลูกไปเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ยังเด็ก แต่น้องๆ เชื่อไหมคะว่า ‘เด็ก’ ที่หมายถึงเนี่ย คือเด็กอนุบาลหรือไม่ก็ตั้งแต่เตรียมอนุบาลเลยค่ะ อย่างหลายคนก็มักถูกส่งไปโรงเรียนกวดวิชาที่จัดสำหรับเด็กเล็กเพื่อพัฒนาสกิลโดยเฉพาะ ส่วนทางมัธยม-มหาลัยฯ อันนี้ก็แน่นอนว่าเลื่องลือในเรื่องการเรียนหนักไม่แพ้กัน อย่างที่ไทย ตอนมัธยมเราจะเตรียมสอบ GAT หรือไม่ก็ O-Net หรือวิชาสามัญอะไรก็ว่าไป แต่ที่เกาหลีคือวัยมัธยมก็เริ่มติว TOEIC กันแล้วค่ะ (ในขณะที่ติวสอบซูนึงไปด้วยนะ) แถมมีการจัดสอบทุกอาทิตย์ด้วย!  เห็นแบบนี้ก็ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมในเน็ตถึงมีไฟล์ติวข้อสอบ TOEIC จากเกาหลีเยอะมากกก แถมอัปเดตใหม่ตลอดด้วย

ที่เกาหลีจะมีคลับเพื่อใช้แลกเปลี่ยนภาษาโดยเฉพาะ
ที่เกาหลีจะมีคลับเพื่อใช้แลกเปลี่ยนภาษาโดยเฉพาะ 
Photo Credit: ซีรีส์เรื่อง SKY Castle

ส่วนสาเหตุที่ต้องสอบ TOEIC ก็เพราะเป็นคะแนนที่หลายมหาวิทยาลัยในเกาหลีเค้าพิจารณาเพื่อรับเข้าเรียนนั่นเองค่ะ และก่อนที่จะเรียนจบ เหล่าว่าที่บัณฑิตก็ต้องสอบ TOEIC ให้ผ่านเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยด้วย พูดง่ายๆ คือ ถ้าไม่ผ่านก็ไม่ให้จบนั่นเอง และยิ่งใครได้คะแนนมากเท่าไหร่ ก็เหมือนเป็นการการันตีว่าจะสามารถเข้าทำงานในบริษัทดีๆ ได้ ดังนั้น ผู้ปกครองหลายคนเลยจึงลงทุนเงินไปกับการเรียนพิเศษของลูกตัวเอง เด็กหลายคนจึงเรียนพิเศษกันอย่างหนัก ถ้าใครมีทุนมากหน่อยก็ส่งไปเทคคอร์สภาษาที่ต่างประเทศ หรือไม่ก็ส่งไปเรียนต่อเมืองนอกเพื่อเพิ่มโอกาสให้กับลูกของตน

การแข่งขันสูง ทุกสกิลเลยต้องสูงตาม

Photo Credit: Unsplash
Photo Credit: Unsplash

ประเทศเกาหลีเป็นประเทศที่ก้าวหน้าเร็วมาก มีแต่คนเก่งๆ หรือถ้าไม่เก่งมากก็ขยันสุดๆ อย่างที่นั่นเค้าจะมีวัฒนธรรมแบบปัลรีๆ ทุกอย่างต้องรวดเร็วและมีการแข่งขันกันทุกอย่าง ทั้งแข่งกับเวลา แข่งกับตัวเอง และแข่งขันกับคนอื่น (ซึ่งเรื่องสกิลภาษาอังกฤษก็ถือเป็นหนึ่งในการแข่งขันค่ะ) แน่นอนว่าการมีทักษะที่อยู่ในเกณฑ์ย่อมเป็นเรื่องที่ดี นี่เลยอาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้คนเกาหลีหมกมุ่นอยู่กับการเรียนภาษาอังกฤษ จากการสอบถามรุ่นพี่คนหนึ่งที่เคยยื่นสมัครงาน เขาเล่าว่าน้องๆ เชื่อไหมคะว่าทางบริษัทของเกาหลีขอคะแนน TOEIC สูงถึง 900 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 990) แม้ว่าอาจจะไม่ได้กำหนดเท่านี้ทุกบริษัท แต่ก็เรียกได้ว่าสอบกันตาแตกไปข้างนึงเลย 

และด้วยการเรียกสกิลที่สูงขึ้น บวกกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ไม่ค่อยดีนัก จึงทำให้ปีก่อนมีอัตราคนเกาหลีตกงานเยอะสูงเป็นประวัติการณ์เลยค่ะ (เกิดอะไรขึ้นที่เกาหลีทำไมถึงมีอัตราคนว่างงานสูงเป็นประวัติการณ์!? https://www.dek-d.com/studyabroad/54783/ )  

อย่างไรก็ตามคนที่ตกงานก็ไม่ได้ยอมแพ้ค่ะ เนื่องจากนายจ้างขอทักษะภาษาอังกฤษ พวกเขาก็สู้ด้วยการไปลงเทรนนิ่งภาษาสำหรับการทำงานที่จัดขึ้นโดยบริษัทนั้นๆ หรือบางคนถึงกับเรียนใหม่ในโรงเรียนเอกชนเพื่อสอบเอาคะแนนอีกครั้งเลยล่ะ!

ภาษาอังกฤษกับชีวิตประจำวัน

กลับมากันที่ในคลิปวิดีโอของ KOREA NOW กันอีกรอบ เขาได้พูดถึงอีกเหตุผลของการเรียนภาษาอย่างหมกมุ่นของคนเกาหลีไว้ หนึ่งในสาเหตุก็คือ ‘เพราะมันเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน’ เช่นหากเราไปเที่ยวเกาหลีใต้เนี่ย เราจะเจอภาษาอังกฤษได้แทบทุกหนทุกแห่งเลย ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร คาเฟ่ เครื่องใช้ไฟฟ้า ลายสกรีนเสื้อ หรือไม่ก็คำกริยาที่ใช้ในทุกวัน บางคำก็ยังต้องใช้ทับศัพท์เลยค่ะ ยิ่งน้องๆ คนไหนที่ติดตาม K-POP ก็จะเห็นได้ชัดเลยว่า เนื้อเพลงนั้นผสมภาษาอังกฤษเยอะมากกกก (ไม่ได้เพิ่งมีเพื่อตีตลาดอินเตอร์แต่อย่างใด) ยกตัวอย่างเช่นเพลงใหม่อย่าง Don’t Call Me ของหนุ่มๆ วง SHINee กันค่ะ 

Don’t call me (미쳤어 넌)

Don’t call me

Don’t call me (You don’t know you waste my time)

Don’t call me

Don’t call me (느껴봐 넌 최악이야)

Don’t call me

Don’t call

ดูเผินๆ นึกว่าเป็นเพลงสากลเลยใช่ไหมคะ แต่อย่างที่บอกไปค่ะว่านี่ไม่ใช่แค่เพียงวงเดียวค่ะ เกือบทั้งวงการเพลงเลยที่ในตอนนี้มีการแทรกภาษาอังกฤษเข้ามาในเพลง บอกเลยไม่เว้นแม้เพลงลูกทุ่ง! นอกจากนี้ในเกาหลียังมีการใช้คำทับศัพท์ หรือคำยืมที่เรียกว่า ‘Konglish’ (Korean + English) หรือ 콩글리쉬 เยอะมากๆ ซึ่งคำพวกนี้ก็คือคำภาษาอังกฤษ แต่จะออกเสียงแบบเกาหลีๆ นั่นเองค่ะ ยกตัวอย่างเช่น

  1. ภาษาอังกฤษ Vitamin 
    ภาษาเกาหลี 비타민 = พี-ทา-มิน
  2. ภาษาอังกฤษ Pizza 
    ภาษาเกาหลี 피자 = พี-จ้า
  3. ภาษาอังกฤษ Lipstick
    ภาษาเกาหลี 립스틱 = ลิป-ซือ-ทิก
  4. ภาษาอังกฤษ Waffle
    ภาษาเกาหลี 와플 = วา-พึล
  5. ภาษาอังกฤษ Selfie
    ภาษาเกาหลี 셀카 = เซล-กา

จะเห็นได้ว่าแต่ละคำออกเสียงคล้ายๆ ภาษาอังกฤษทั้งนั้นเลย (บางทีฟังเผินๆ ก็ไม่นึกว่าเป็นภาษาอังกฤษ) และที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งนะคะ เพราะ Konglish นั้นยังมีอีกหลายหมวดเลยล่ะ เช่น ยืมคำภาษาอังกฤษมา แต่พอเปลี่ยนเป็น Konglish แล้วความหมายกลับเป็นอีกอย่าง หรือไม่ก็เอาคำมาย่อแต่คงความหมายเดิมก็มีค่า น้องๆ คนไหนที่เรียนภาษาเกาหลีจะต้องเจอแน่นอน ตอนแรกอาจมีงงๆ หน่อยแต่เรียนไปนานๆ ก็จะชินเอง

เรียนหนักแล้วทำไมยังพูดไม่คล่อง?

giphy.com
giphy.com

ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันพอสมควรว่าถ้าคนเกาหลีใต้เรียนภาษาหนักขนาดนั้น หมกมุ่นขนาดนี้แล้วทำไมยังพูดไม่เก่งล่ะ?  นั่นอาจจะเป็นเพราะวิธีการสอนที่เน้นการท่องจำไปสอบให้คะแนนสูงๆ เป็นปัญหาคล้ายๆ บ้านเราเลยล่ะค่ะ (อ่าน 7 ปัญหาการเรียนภาษาของเด็ก #เอกอังกฤษ https://www.dek-d.com/studyabroad/57339/ ) หลายมหาวิทยาลัยในเกาหลีใต้ก็เน้นบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเน้นความเป็น International แต่การวัดระดับความพึงพอใจระหว่างอาจารย์กับนักศึกษานั้นกลับออกมาต่ำซะงั้น เพราะนักศึกษาหลายคนไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่อาจารย์สอนได้ ฉะนั้นการเรียนภาษาอังกฤษอย่างหนักไม่ได้หมายความว่าจะเก่งเสมอไปนั่นเองค่ะ

ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศที่พัฒนาเร็วมากๆ ฉะนั้นการแข่งขันเลยต้องสูงตามไปด้วย ยิ่งอยากทำงานในบริษัทใหญ่ๆ ด้วยแล้วก็ยิ่งต้องแอคทีฟให้มากกว่าเดิม ซึ่งไม่ใช่แค่เกาหลีเท่านั้นนะ ในบ้านเราก็การแข่งขันสูงเหมือนกัน ฉะนั้นเราต้องสู้ๆ หมั่นพัฒนาและเพิ่มสกิลให้กับตัวเอง แต่ก็อย่ากดดันตัวเองจนมากกว่าเกินไปนะคะ ค่อยเป็นค่อยไป จะได้มีความสุขค่ะ  ^^

 

Sources: https://www.wsj.com/articles/BL-KRTB-6171 http://jespnet.com/journals/Vol_2_No_2_June_2015/15.pdfhttps://www.youtube.com/watch?v=80H_I65TH8c 
พี่ปลื้ม
พี่ปลื้ม - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น