เจาะลึก 3 เหตุผล ทำไมเกาหลีใต้จึงเป็น ‘เจ้าแห่งการทำ Marketing ด้านวัฒนธรรม’

อันยองชาว Dek-D ทุกคนค่า~ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคนี้ กระแส ‘Korean Wave (한류)’ หรือคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีฟีเวอร์ในบ้านเราหรือทั่วโลกมาแรงแซงทางโค้งจริงๆ เพราะไม่ว่าจะมองไปทางไหน หรือเลื่อนหน้า Feed โซเชียลมีเดียไปในช่องทางใด ก็เป็น ซีรีส์ ภาพยนตร์ เพลงเกาหลี หรือเทรนด์การแต่งตัวและแต่งหน้าสไตล์เกาหลีตามดารานักแสดงหรือไอดอลกันทั้งนั้น สงสัยกันไหมคะว่าอะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ความเป็นเกาหลีสามารถมาอยู่ในสื่อกระแสหลักของสังคมโลกได้ วันนี้พี่ชีตาร์จะพาไปหาคำตอบกัน : )    

Photo Credit: 아주경제
Photo Credit: 아주경제

Korean Wave (한류) ไม่ใช่ ’คลื่น' ที่ถูกผลักไปมาทางทิศตะวันตก 
แต่เป็น 'กระแสน้ำ' ที่ค่อยๆ ขยายตัวขึ้น”

ตามข้อมูลของ ‘Korea Foundation’ ในปัจจุบันจำนวนผู้คนที่อยู่ในกระแสเกาหลีฟีเวอร์จาก 109 ประเทศทั่วโลก (ไม่รวมเกาหลีใต้) ได้ทะลุไปถึง 100 ล้านคนแล้ว! หลายคนอาจคิดว่ามันเริ่มตั้งแต่ที่มิวสิกวิดีโอเพลง ‘Gangnam Style’ ของ PSY กลายมาเป็นวิดีโอแรกบน YouTube ที่มียอดวิวทะลุพันล้าน หรือเมื่อปีล่าสุดที่เพลง ’Dynamite’ ของหนุ่มๆ วง BTS เป็นเพลงแรกของจากเกาหลีใต้ที่ติดอันดับ ‘Billboard Hot 100’ หรือเป็นตอนที่ภาพยนตร์เรื่อง ‘Parasite’ ของผู้กำกับบงจุนโฮได้กวาดรางวัลใหญ่ไปถึง 4 รางวัลจากเวที Oscar 

Photo Credit: @Billboardcharts & South China Morning Post & Tampa Bay Times
Photo Credit: @Billboardcharts & South China Morning Post & Tampa Bay Times

ทว่านี่เป็นเพียงการส่ง ‘สัญญาณการมา’ ของคลื่นที่ได้ถูกเตรียมการมาเป็นอย่างดีเป็นเวลานานแล้วเท่านั้นเอง...  

ใบเบิกทางสำหรับอนาคต 

Photo Credit: 서울신문
Photo Credit: 서울신문

การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของอิทธิพลทางศิลปะของเกาหลีในระดับโลกเป็นกลยุทธ์ที่ถูกวางแพลนสรรค์สร้างมาอย่างช้าๆ และถูกออกแบบมาอย่างประณีต ไม่ใช่เรื่องที่ได้มาด้วยโชคช่วยแต่อย่างใด ในปัจจุบันเกาหลีใต้อยู่ในอันดับที่ 1 ในดัชนีนวัตกรรม Bloomberg ประจำปี 2564 เพราะได้แรงสนับสนุนจากภาครัฐที่ตระหนักถึงการส่งเสริมความคิดริเริ่มที่มากกว่าประเทศอื่นๆ ในโลก อย่างงบประมาณปี 2020 ก็ได้จัดสรรให้กระทรวงวัฒนธรรมมากสุดเท่าที่เคยมีมา โดยทุ่มงบสนับสนุนและตลาดเนื้อหาสื่อถึง 1.1 ล้านล้านวอน และงบสำหรับสร้างพื้นที่นิทรรศการ VR ใจกลางกรุงโซลกว่า 4 หมื่นล้านวอน ซ้ำยังมีกองทุนช่วยเหลือสำหรับผู้สร้างเนื้อหาแบบดั้งเดิมอีกกว่า 113 พันล้านวอน รวมถึงงบสนับสนุนผู้สร้างภาพยนตร์ นักเขียนการ์ตูน และนักออกแบบแฟชั่นในท้องถิ่นเพื่อขยายสู่ตลาดต่างประเทศยังมีงบให้อีกกว่า 32.3 พันล้านวอน!  

รายงานของทางกระทรวงได้ชี้ให้เห็นว่า “กระแสคลื่นเกาหลีฟีเวอร์” คือแรงจูงใจอันดับหนึ่งที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนกรุงโซล ดังนั้นทางรัฐบาลจึงได้ตัดสินใจทุ่มเม็ดเงินมูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสร้าง “K-Culture Valley” (2024) ขึ้นที่เมืองโกยาง ที่นี่เป็นสวนสนุกที่รายล้อมด้วยสตูดิโอ ภาพยนตร์ ร้านอาหาร การแสดงดนตรีสด แกลเลอรีภาพยนตร์ และห้างสรรพสินค้าที่วางขายสินค้าของเหล่าผู้มีชื่อเสียงในวงการเกาหลีทั้งหลาย เพื่อนำเสนอ ‘โปรแกรมประสบการณ์แบบเกาหลีฟีเวอร์’ ครบวงจรทั้งเคป็อปไอดอล การแต่งหน้า การทำอาหารสไตล์เกาหลี รวมถึงการตามรอยสถานที่ดังๆ จากซีรีส์ ทั้งหมดเพื่อเน้นย้ำว่า ’Soft Power’ ของเกาหลีใต้นั้นทรงพลังเพียงใด... 

Photo Credit: The Korea Times
Photo Credit: The Korea Times

นอกจากนี้เกาหลีใต้ยังเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่รัฐบาลทุ่มเงินมหาศาลให้กับวงการ StartUp อย่างในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว หน่วยงานทางวัฒนธรรมและฐานข้อมูลของประเทศก็ได้จัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมขึ้นมามากกว่า 32 แห่งใน 28 ประเทศทั่วแอฟริกา เอเชียแปซิฟิก ยุโรป และอเมริกา เพื่อส่งเสริม ‘กระแสเกาหลีฟีเวอร์’ ทำให้เกาหลีใต้เป็นที่จับตามองในตลาดโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ทางด้านแอปเรียนภาษาชื่อดังอย่าง ‘Duolingo’ ยังออกมาบอกว่าปัจจุบันภาษาเกาหลีเติบโตเร็วเป็นอันดับ 2 ของโลก และยังคงกระแสดีไม่มีตกเลยค่ะ

เดอะเบสต์ด้านการโปรโมต PR เก่งตัวแม่!

Photo Credit: The Korea Herald
Photo Credit: The Korea Herald

มีไม่กี่ประเทศบนโลกที่กระทรวงวัฒนธรรมมีมูลค่าโครงสร้างองค์กรหลายพันล้านดอลลาร์ และ ‘เกาหลีใต้’ ก็คือหนึ่งในนั้นค่ะ ย้อนไปเมื่อปี 2012 กระทรวงดังกล่าวได้จัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาที่ประกอบไปด้วย 19 บุคคลสำคัญในวงการวัฒนธรรมเพื่อตอกย้ำเป้าหมายในการก่อกำเนิดคลื่นวัฒนธรรม ‘เกาหลีฟีเวอร์’ ขึ้นมา ต่อมาในปี 2015 พวกเขาก็ได้เปิดตัวทีมเฉพาะกิจ ‘สมาคมผู้แพร่ภาพกระจายเสียงแห่งเกาหลี’ หากจะดูว่าเกาหลีวางแผนกระจายความนิยมและโปรโมตวัฒนธรรมอย่างดีแค่ไหน ก็สังเกตได้จากความฉลาดในการเดินเกมของกระทรวงวัฒนธรรมนี่แหละค่ะ!

หากลองดูแผนกใดแผนกหนึ่งของกระทรวงที่เขาจัดตั้งเพื่อส่งออกวัฒนธรรมไปยังต่างประเทศแล้วล่ะก็ เราจะเห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในด้านนี้เป็นอย่างมาก เช่น การมีแผนก ‘Content Policy Bureau (สำนักนโยบายด้านเนื้อหา)’ เพื่อดูแลทั้งฝ่ายเนื้อหาภาพยนตร์ วิดีโอ เกม และฝ่ายอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสมัยนิยมโดยเฉพาะ (กลุ่มเคป็อป, แฟชั่น, บันเทิงมวลชน และการ์ตูนนั่นเองค่ะ) และเมื่อไม่นานมานี้ ก็ได้มีอีกสาขาย่อย ‘Hallyu Content Cooperation Division’ (ฝ่ายความร่วมมือด้านเนื้อหาคลื่นวัฒนธรรมเกาหลี) ก่อตั้งขึ้นเพื่อทำวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับสภาพทางเศรษฐกิจของกระแสวัฒนธรรมเกาหลีฟีเวอร์ เพื่อทำตามเป้าหมายหลัก 3 ประการ ได้แก่ การกระจายเนื้อหา การส่งเสริมอุตสาหกรรมอื่นๆ ผ่านเนื้อหาเหล่านั้น และเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมให้คลื่นวัฒนธรรมของเกาหลีเติบโตได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

โอบอุ้มแต่ไม่ยึดติด

Photo Credit: 경향신문
Photo Credit: 경향신문

เนื่องจากเกาหลีใต้พยายามเชื่อมโยงกับโลกภายนอกโดยไม่ละทิ้งรากเหง้าและพรสวรรค์ที่มีในชาติของตน ทำให้ดึงดูดต่างชาติไปพร้อมกับนำเสนอความเป็นเกาหลีได้อย่างลงตัว หากใครเป็นแฟนภาพยนตร์หรือซีรีส์ก็มักจะเห็นการแฝงวัฒนธรรมแบบเนียนๆ เช่น การดื่มโซจู ทานรามยอน หรือไก่กับเบียร์ เป็นต้น ที่เห็นได้ชัดอย่างเช่นเรื่อง ‘Itaewon Class’ ที่ยกอาหารเกาหลีมาสารพัดเมนู เล่นเอาคนดูหิวตามจนตามไปงัดสารพัดวิธีทำตามในช่วงกักตัว หรือถ้าเป็นภาพยนตร์ก็อย่างเรื่อง ‘Parasite’ ที่โด่งดังไปทั่วโลก ก็ทำ Marketing เมนู ‘จาปากูรี’ ซึ่งเป็นการผสมอย่างลงตัวระหว่างรามยอน 2 ยี่ห้อดัง คือ 'จาปาเกตี้' (​Jjapaghetti) และ 'นอกูรี' (Neoguri) นั่นเองค่ะ เรียกว่าเป็นเมนูง่ายๆ ที่ใครก็ทำตามได้และเป็นกระแสฟีเวอร์สุดๆ  

 หรือถ้าเป็นฝั่งของใช้แบรนด์สัญชาติเกาหลี ไม่ว่าจะ Samsung หรือ LG ก็มักมีการโฆษณาอยู่แบบเนียนๆ เสมอ (ลองสังเกตดูว่าจะมีสักกี่ครั้งที่ตัวละครในเรื่องใช้โทรศัพท์ Apple หรือทานอาหารต่างชาติ) แต่ในขณะเดียวกันสื่อบันเทิงเกาหลีก็ยังเลือกใช้ภาษาอังกฤษในชื่อเพลงไตเติลหรือท่อนฮุกของเพลงเคป็อป ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามักจะไม่ค่อยเห็นในสื่อบันเทิงของญี่ปุ่นหรือจีนสักเท่าไหร่ ลักษณะนี้เองเรียกว่า ‘Konglish’ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากภาษาอังกฤษฟีเวอร์ของชาวเกาหลีด้วยส่วนหนึ่ง 

ความฉลาดในการนำอิทธิพลฝั่งตะวันตกมาผสมผสานกับวัฒนธรรมของตนเรียกว่าเป็น ‘Masterclass’ ดึงดูดทุกแบรนด์และทุกประเทศให้เข้ามาผูกสัมพันธ์หรือลงทุนทั้งแง่วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ต่างจากบางประเทศที่เรื่องราวมักถูกนำเสนอในทางเดียว และยังแบ่งแยกเนื้อหาด้านวัฒนธรรมออกจากงานศิลปะแต่ละแขนง ทั้งในภาพยนตร์ รายการทีวี เพลง หรือเกม

นอกจากนี้ศิลปะของเกาหลีใต้ยังตีแผ่วัฒนธรรมของประเทศตัวเองได้อย่างแนบเนียนทีเดียว อย่างนิสัยที่ต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้านเสมอ มารยาทการเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ขณะดื่มสุราระหว่างสังสรรค์ ความทะเยอทะยานที่จะกลายเป็นแชโบล (재벌: กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ดำเนินกิจการโดยครอบครัวมหาเศรษฐีของประเทศ) การเลี้ยงไก่ทอดช่วงสุดสัปดาห์ การดื่มกินเลี้ยงหลังเลิกงาน หรือแม้แต่วัฒนธรรมการแยกขยะก็เริ่มพบเห็นได้บ่อยผ่านชีวิตประจำวันของตัวละครในซีรีส์ ทำให้แม้คนที่ไม่เคยไปเกาหลีใต้มาก่อนยังสามารถซึมซับและเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม ประเพณี หรือเทรนด์ในประเทศเขาได้เป็นอย่างดีเลยใช่มั้ยล่ะคะ ; )

จะเห็นเลยว่าการให้ค่าวัฒนธรรมของตนอย่างมีวิสัยทัศน์ของรัฐบาลเกาหลีเป็นรากฐานที่สำคัญอย่างยิ่งของอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพมูลค่ากว่าล้านล้านดอลลาร์แห่งนี้ 
 

Sources: https://www.entrepreneur.com/article/364943 http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20200531000127 https://www.seoul.co.kr/news/newsView.php?id=20190104006002
พี่ชีตาร์
พี่ชีตาร์ - Columnist Once a Literature Student, Always a Literature Student

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด