ตามติด 1 วันชีวิตการทำงาน 'ผู้สื่อข่าว' คล่องแคล่ว ว่องไว และเข้าถึงความจริงได้ก่อนใคร!

สวัสดีจ้า ชาว Dek-D.com พบกันเช่นเคยกับพี่ส้มและ A day in life สกู๊ปพิเศษที่จะพาทุกคนไปตามติดชีวิต 1 วันทำงานของอาชีพในฝัน สำหรับวันนี้ เราจะไปเกาะติดอาชีพที่ครองใจเด็กสายศิลป์อย่างเหนียวแน่นมาตั้งแต่รุ่นแม่จนถึงปัจจุบัน เพราะนี่คืองานของคนที่ได้รู้เรื่องจริงก่อนใคร แล้วนำมาเผยแพร่ต่อไปให้เกิดความกระจ่างแก่สังคม จนถึงขนาดที่ว่าถ้าวันไหนโลกต้องขาดอาชีพนี้ไป เราคงคุยกับใครไม่รู้เรื่อง!

ตามติด 1 วันชีวิตการทำงาน 'ผู้สื่อข่าว'

ถ้าใครยังเดาไม่ออกว่านี่คืออาชีพอะไร พี่ส้มก็ขอเฉลยด้วยรอยยิ้มสดใสของพี่นักข่าวคนสวยแห่งช่อง GMM25 คนนี้ ที่ยินดีเปิดเผยทุกเรื่องเบื้องหลังเส้นทางอาชีพ ตั้งแต่เตรียมตัวสอบเข้าเรียนจนถึงสมัครงาน แถมยังใจดีให้เราติดตามไปดูชีวิตการทำงานทั้งในออฟฟิศและภาคสนามแบบ 360 องศาด้วยล่ะ จัดเต็มขนาดนี้ แล้วจะรออะไร ไปทำความรู้จักกับเธอกันเลย ^^

  • ชนัญชิดา ชุติธรรมธีรกุล (พี่โฟม)
  • ปริญญาตรี : สาขาเทคโนโลยีการศึกษา
    และสื่อสารมวลชน คณะครุศาสตร์
    อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี
    มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี
    พระจอมเกล้าธนบุรี
  • ปัจจุบัน : ผู้สื่อข่าวบันเทิง
    สำนักข่าวบันเทิง GMM25

เรามักใช้คำว่า “นักข่าว” เรียกคนทำงานในวงการข่าวอย่างครอบคลุมทั้งผู้สื่อข่าวและผู้ประกาศข่าวไว้ด้วยกันจนเคยชิน แต่ในความเป็นจริงแล้ว นักข่าว คือผู้สื่อข่าวที่มีหน้าที่ออกไปหาข่าวสารแล้วนำเสนอให้ประชาชนได้รับรู้ โดยทำงานร่วมกับผู้ประกาศข่าว ที่เป็นคนนำข่าวสารที่ได้ไปเผยแพร่ต่อในสื่อต่างๆ อย่างที่เราเห็นบนเว็บไซต์ หรือรายการทีวี

ตามติด 1 วันชีวิตการทำงาน 'ผู้สื่อข่าว'

แต่ใครจะไปนึกล่ะว่า การนั่งดูรายการข่าวบันเทิงในทีวีจะจุดประกายความฝันให้วัยรุ่นคนหนึ่งอยากเป็นนักข่าวขึ้นมาได้จริงๆ พี่โฟมเล่าว่าสมัยเด็กๆ ชอบดูรายการทีวีพูลไลฟ์มาก เพราะสนุกที่จะได้ฟังดาราให้สัมภาษณ์แล้วจับประเด็นตามเล่นๆ เช่น เวลาเราเห็นใครพูดขำๆ กับประเด็นที่ละเอียดอ่อน พอวิเคราะห์ตามแล้วก็ได้คาดเดาว่าน่าจะมีข่าวดราม่าตามมาแน่ๆ ซึ่งมันก็เกิดขึ้นจริง ทั้งๆ ที่คนอื่นอาจแค่ดูแล้วผ่านไปเราเลยรู้สึกว่าคนที่จะเป็นนักข่าวได้ ต้องรู้จักจับประเด็น และเราก็มาทางนี้ได้นี่!

ตามติด 1 วันชีวิตการทำงาน 'ผู้สื่อข่าว'

เมื่อค้นพบสิ่งที่ชอบ แนวทางที่ใช่ก็เริ่มชัดเจนมากขึ้น เพราะหลังจากพี่โฟมตัดสินใจสอบเข้าเรียนต่อในสาขาเทคโนโลยีการศึกษาและสื่อสารมวลชน เธอก็ได้ฝึกฝนสกิลความเป็นนักข่าวทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ แถมยังมีกลุ่มเพื่อนสนิทที่ชอบเสพข่าวสารบันเทิงเหมือนกันด้วย จึงทำให้เธอได้กลายเป็นฐานข้อมูลของเพื่อนๆ ไปเลย เพราะเวลามีประเด็นอะไร เพื่อนก็ชอบมาถาม ซึ่งแน่นอนว่าพี่โฟมก็ไม่พลาดที่จะรู้เรื่องแล้วเล่าสรุปให้เพื่อนฟังทุกครั้งอย่างกับมีพรสวรรค์ด้านนี้ไปซะงั้น 55555+

ตามติด 1 วันชีวิตการทำงาน 'ผู้สื่อข่าว'

และเมื่อเรียนจบปริญญาตรี พี่โฟมเลือกก็ทำตามความฝันด้วยการสมัครงานในตำแหน่งผู้สื่อข่าวบันเทิงช่อง GMM 25 ค่ะ ซึ่งการวางเป้าหมายและเตรียมตัวดีมาตั้งแต่เนิ่นๆ ก็ทำให้พี่โฟมได้งานแบบผ่านฉลุยอีกซะด้วย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างในชีวิตนักข่าวจะชิลล์ๆ ตามคิวลงล็อกเหมือนวัยเด็กที่ผ่านมา ว่าแต่จะเป็นเพราะอะไร คำตอบซ่อนอยู่ในเนื้องานจ้า...

ตามติด 1 วันชีวิตการทำงาน 'ผู้สื่อข่าว'

ตามติด 1 วันชีวิตการทำงาน 'ผู้สื่อข่าว'

10.00 - 10.15 น.

ถ้าวันไหนไม่ต้องออกไปทำข่าวตั้งแต่เช้า ทุก 10 โมงตรงของทุกวัน พี่โฟมจะต้องเข้าออฟฟิศมาเพื่อเช็กก่อนว่าในวันนี้ หรือสัปดาห์นี้ มี "หมายข่าว" หรือกำหนดการของงานที่บอกว่าใครต้องออกไปทำข่าวเรื่องอะไร ที่ไหน และมีใครรับผิดชอบงานนี้บ้าง อย่างเช่นวันนี้ พี่โฟมก็มีภารกิจต้องออกไปสัมภาษณ์นางเอกสาว "โดนัส มนัสนันท์" ในงานแถลงข่าวโครงการสมทบทุนครุภัณฑ์แพทย์ พร้อมกับพี่ช่างภาพคู่หู ที่โรงพยาบาลศิริราชค่ะ

ตามติด 1 วันชีวิตการทำงาน 'ผู้สื่อข่าว'

10.15 - 10.45 น.

เมื่อได้หมายข่าวของตัวเองเรียบร้อย ก็ถึงเวลาเตรียมพร้อมในการเตรียมออกไปสัมภาษณ์ ซึ่งนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความท้าทายรายวันของอาชีพนักข่าว เพราะพี่โฟมต้องจับประเด็นว่ามีเรื่องไหนที่น่าสนใจเกี่ยวกับคุณโดนัทบ้าง ด้วยนั่งมอนิเตอร์เพื่อเช็กกระแสข่าวในเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม แล้ววิเคราะห์ว่า ถ้าเราเป็นคนดูข่าวเอง เราอยากรู้ อยากเห็นอะไร แล้วจัดการลิสต์คำถามคร่าวๆ ก่อนจะออกไปทำข่าวอย่างรวดเร็ว

ตามติด 1 วันชีวิตการทำงาน 'ผู้สื่อข่าว'

10.45 - 13.00 น.

แม้จะหมดเวลาไปกับการเดินทางกว่าชั่วโมง แต่ทุกนาทียังคงมีค่าเสมอ เพราะระหว่างที่เดินทาง พี่โฟมก็ยังคอยเช็กความเคลื่อนไหวของข่าวสารในวงการบันเทิง เพื่อหาประเด็นที่น่าสนใจไว้ทำข่าวต่อไปอยู่เรื่อยๆ จนแทบจะหายใจเข้าออกเป็นดาราเลยก็ว่าได้

ตามติด 1 วันชีวิตการทำงาน 'ผู้สื่อข่าว'

พอถึงที่หมายก็ใกล้เวลาเริ่มงานแถลงข่าวพอดี พี่โฟมและช่างภาพต่างก็แบ่งกันทำหน้าที่ของตัวเองอย่างลื่นไหล เดินไปหามุม เซ็ตกล้องไว้รอเก็บภาพและสัมภาษณ์ แล้วรอจังหวะเหมาะในการเข้าถึงตัวคุณโดนัท เพื่อพูดคุยเรื่องโครงการการกุศล และอัปเดตอาการป่วยโรค SLE ให้แฟนคลับที่คอยส่งกำลังใจอยู่ได้รับรู้ จะได้อุ่นใจหายห่วง ^^v

ตามติด 1 วันชีวิตการทำงาน 'ผู้สื่อข่าว'

หลังจากได้ข้อมูลเสร็จสรรพ สิ่งแรกที่พี่โฟมต้องทำคือส่งคำโปรยหัวเรื่องข่าวที่ได้เป็นข้อความสั้นๆ พอสังเขปไปให้ที่ต้นสังกัด บางวันถ้างานเร่งจนกลับมาเขียนที่โต๊ะแล้วจะไม่ทันการ ก็พิมพ์ด้วยโทรศัพท์ส่งผ่านทางไลน์กันเลย เพื่อให้ทีมงานที่จัดรายการข่าวบันเทิงได้นำไปครีเอตรูปแบบการนำเสนอให้น่าสนใจต่อไปค่ะ นี่ขนาดผ่านมากว่าครึ่งวันแล้วนะ ยังไม่มีจังหวะให้ทำอะไรต๊ะต่อนยอนได้เลย สงสัยความไวจะไม่ใช่แค่เรื่องของปีศาจแล้วล่ะ แต่เป็นเรื่องของนักข่าวด้วย ><

ตามติด 1 วันชีวิตการทำงาน 'ผู้สื่อข่าว'

14.00 - 16.30 น.

เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจโปรยข่าวและพักทานข้าวกลางวันให้มีแรงทำงานต่อ พี่โฟมก็กลับมาประจำที่นั่งในออฟฟิศเพื่อปิดข่าวให้เรียบร้อย ด้วยการนำเทปบันทึกการสัมภาษณ์ที่ได้มานั่งฟังอย่างตั้งใจอีกครั้ง แล้วเรียบเรียงข้อมูลในประเด็นสำคัญ สรุปลงในฟอร์มข่าวของช่อง พร้อมกับจด Timecode (TC) หรือช่วงเวลาต่างๆ ในคลิปวิดีโอ เพื่อส่งให้ทีมงานจัดรายการได้นำไปตัดต่อเพื่อใช้ประกอบการนำเสนอข่าวบันเทิงต่อไปค่ะ

ตามติด 1 วันชีวิตการทำงาน 'ผู้สื่อข่าว'

16.00 - 18.00 น.

ส่งข่าวเสร็จแล้ว พี่โฟมก็นั่งพักสายตาจากจอสักพัก แล้วหันกลับมาเช็กอีเมลต่อเพื่อดูว่ามีข่าวสาร หรือจดหมายเชิญไปร่วมงานอีเวนต์อะไรในแวดวงบันเทิงอีกบ้าง เพราะอีเมลเหล่านี้จะบอกรายละเอียดว่ามีดาราคนไหน ไปร่วมงานอะไร สคริปต์งานเป็นยังไง ซึ่งถือเป็นข้อมูลชั้นดีที่ช่วยให้เราวางแผนการนัดหมายและเข้าถึงแหล่งข่าว ตลอดจนช่วยให้วางแผนการทำข่าวได้สะดวกมากขึ้น

ตามติด 1 วันชีวิตการทำงาน 'ผู้สื่อข่าว'

ยกตัวอย่างเช่น มีอีเมลเชิญไปร่วมงานเปิดตัวแบรนด์เครื่องสำอางของดาราสาวคนหนึ่ง และในสคริปต์งานได้พูดถึงช่วงที่แฟนหนุ่มของเธอจะมามอบช่อดอกไม้แสดงความยินดี ซึ่งเป็นช็อตไฮไลต์ที่ผู้ชมทางบ้านต้องให้ความสนใจแน่ๆ โดยถ้าพี่โฟมได้หมายข่าวนี้ ก็จะต้องไม่พลาดที่จะเก็บภาพบรรยากาศช็อตสำคัญมาให้ทางช่องนั่นเองค่ะ

ตามติด 1 วันชีวิตการทำงาน 'ผู้สื่อข่าว'

18.00 - 19.00 น.

ได้เห็นการทำข่าวที่ใช้เวลาตั้งแต่เช้าจรดเย็นไปแล้ว ก็ใช่ว่างานของนักข่าวจะหมดลงเพียงเท่านี้ เพราะช่วงก่อนเลิกงาน พี่โฟมยังมีหน้าที่ในการวางแผนทำข่าวในวันต่อๆ ไป ด้วยการระดมสมองกับทีมนักข่าวด้วยกันเอง พร้อมกับบรีฟงานกับครีเอทีฟรายการว่าช่วงนี้มีกระแสข่าวอะไรที่น่าเอามาแตกประเด็นต่อ หรือข่าวไหนมีความคืบหน้าที่ต้องติดตามอีกบ้าง เพราะจะได้เตรียมติดต่อขอสัมภาษณ์ดารา หรือขออนุญาตถ่ายทำไว้ล่วงหน้าก่อนใคร และเพื่อให้มีแผนในการจัดคิวการทำงานของทีมงานทุกคนได้อย่างเป็นระบบอีกด้วย เห็นคุยกันยิ้มสดใสเฮฮานี่เขาสาระกันล้วนๆ เลยนะเออ...

ตามติด 1 วันชีวิตการทำงาน 'ผู้สื่อข่าว'

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ายิ่งมีเทคโนโลยีที่ช่วยให้คนรับข่าวสารได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้นเท่าไหร่ ดราม่าเรื่องการนำเสนอข่าวก็เกิดขึ้นง่ายมากเท่านั้น พี่ส้มเชื่อว่า น้องๆ คงเคยเห็นเคสการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของนักข่าวที่ดูมีอภิสิทธิ์เหนือใครในการเข้าถึงตัวคนดัง จนบางครั้งก็ดูเป็นการรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของคนอื่น ทั้งการกระทำและคำพูด หรือบางที ก็มักมีคำพูดลอยๆ มาให้ได้ยินอยู่เสมอว่า "สมัยนี้ใครก็เป็นนักข่าวได้ แค่ถ่ายรูปสิ่งที่เจอแล้วโพสต์ลงอินเทอร์เน็ต" ซึ่งถ้ามองอีกมุม ก็ดูเป็นการตัดสินอาชีพนี้ในทางลบอย่างไม่ยุติธรรมสักเท่าไหร่ เพราะน้อยครั้งที่เราจะได้รับฟังการชี้แจงจากคนเป็นนักข่าวจริงๆ...

ตามติด 1 วันชีวิตการทำงาน 'ผู้สื่อข่าว'

พี่โฟมเปิดใจกับทีมงานว่า จริงอยู่ที่ทุกวันนี้ใครๆ ก็สามารถตั้งตนเป็นสื่อที่เผยแพร่ข่าวสารออกไปได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเป็นนักข่าวที่มีจรรยาบรรณได้นะคะ โดยเฉพาะถ้าเราได้นำเรื่องราวของบุคคลที่่สามมานำเสนอออกไป โดยที่ไม่ได้ติดตามถามเรื่องจริงจากเจ้าตัว เช่น แอบถ่ายรูปเขาไปโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ต่อไปให้ไปหาข้อมูลจากที่อื่นมาเชื่อมโยงปะติดปะต่อกันได้ แต่ยังไงมันก็เป็นความจริงด้านเดียวและไม่ต่างจากการแฉ ถ้ามันสร้างความเสียหาย หรือทำให้เขาไม่พอใจ เราก็มีสิทธิ์ที่จะโดนฟ้องได้

ตามติด 1 วันชีวิตการทำงาน 'ผู้สื่อข่าว'

แต่สำหรับนักข่าว หน้าที่ของเราคือการค้นหาคำตอบมาให้สังคมได้รู้ อาจมีบางครั้งที่ผู้ชมเกิดคำถามว่า "ทำไมนักข่าวชอบถามอะไรโง่ๆ?" ซึ่งความเป็นจริง มันคือหน้าที่ที่เราต้องคิดเผื่อไปถึงคนที่เขาไม่มีโอกาสได้ใกล้ชิดคนดังเท่าเรา คนนี้อาจรู้ลึก บางคนอาจรู้แค่ผิวๆ เราจึงต้องมีชุดคำถามที่ลึกและกว้าง เพื่อให้คนทางบ้านได้รับข่าวสารแบบเคลียร์ๆ ไม่ต้องมีคำถามคาใจใดๆ ต่อไปนี่แหละจ้า

ตามติด 1 วันชีวิตการทำงาน 'ผู้สื่อข่าว'

ถ้าใครยิ่งอ่านเรื่องราวชีวิตนักข่าวของพี่โฟมแล้วยิ่งรู้สึกว่า "ใช่ นี่แหละตัวฉัน!" แล้วมีความฝันอยากเป็นผู้สื่อข่าวบ้าง พี่โฟมก็มีคำแนะนำดีๆ ถึงคุณสมบัติที่สามารถฝึกฝนกันให้มีตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อเตรียมพร้อมกับอาชีพนี้ ฝากมาถึงน้องๆ ด้วยค่ะ

  • มั่นใจเกินร้อยเข้าไว้ : เวลาสัมภาษณ์ทุกนาทีมีค่า ต้องกล้าพูด กล้าถาม เพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุด

  • ฉลาดใช้ภาษา : เลือกใช้คำพูดที่รักษาบรรยากาศการสนทนา เลือกคำถามที่เจาะลึกได้ แต่ต้องรักษาน้ำใจผู้ตอบด้วย

ตามติด 1 วันชีวิตการทำงาน 'ผู้สื่อข่าว'
  • ตรงเวลา ว่องไว : บริหารเวลาได้ดี ทำข่าวได้ไว นำเสนอข่าวได้ก่อน ยิ่งมีโอกาสมากกว่าคู่แข่ง

  • แตกประเด็นได้หลายมุม : ช่างสังเกต ชอบตั้งคำถาม คิดวิเคราะห์ได้รอบด้าน ช่วยให้ได้งานที่น่าสนใจและมีคุณภาพ

  • อ่อนน้อมถ่อมตน : การทำงานข่าว คือการทำงานกับคนเป็นหลัก จึงต้องมีน้ำใจ อยู่กันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย และให้ความเคารพซึ่งกันและกัน

ตามติด 1 วันชีวิตการทำงาน 'ผู้สื่อข่าว'

พี่ส้ม
พี่ส้ม - Columnist คนทำคอนเทนต์ออนไลน์ ที่เชื่อว่าใครก็เป็นเด็กดีได้ในสไตล์ของตัวเอง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น