"ฝึกงานไม่ตรงสาย" ใครว่าทำไม่ได้? พร้อมแนะวิธีรับมือเมื่อต้องฝึกงานในสาขาที่ไม่ได้เรียน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การฝึกงานเป็นสิ่งที่นิสิต/นักศึกษาหลายคณะต้องเผชิญ เพราะบางคณะกำหนดหน่วยกิตฝึกงาน แต่ก็มีบางคณะที่ไม่ได้จำกัดในการฝึกงาน แต่นิสิต/นักศึกษาสามารถเลือกได้เองว่า ตนเองอยากที่จะฝึกงานไหม? ถ้าอยากจะฝึกงานก็สามารถสมัครได้เองเลย ซึ่งเหมาะมากๆ เลยค่ะสำหรับเพื่อนๆ ที่อยากได้ประสบการณ์ใหม่ๆ จากการทำงานจริง 

แต่ก็มีหลายคนเกิดความสงสัยว่าถ้าเราฝึกงานในที่ที่เราสนใจ แต่ไม่ตรงกับสายการเรียนจะสามารถสมัครได้จริงไหม? หรือจะเป็นปัญหาหรือเปล่า?  ในวันนี้ เราจะพาเพื่อนๆ ทุกคนไปหาคำตอบกันค่ะ 

" ฝึกงานไม่ตรงสาย" ใครว่าทำไม่ได้? " พร้อมวิธีเตรียมรับมือเพื่อการฝึกงานสุดปัง!!
" ฝึกงานไม่ตรงสาย" ใครว่าทำไม่ได้? " พร้อมวิธีเตรียมรับมือเพื่อการฝึกงานสุดปัง!!

"ฝึกงานไม่ตรงสาย" ใครว่าทำไม่ได้? 
พร้อมวิธีเตรียมรับมือเพื่อการฝึกงานสุดปัง!!

สำหรับช่วงเทศกาลฝึกงานของนิสิต/นักศึกษาที่จะเกิดขึ้น เป็นอีกหนึ่งความพิเศษที่พวกเราจะได้ลงสนามทำงานจริงกับการฝึกงานในบริษัทต่างๆ และพิเศษมากกว่านั้น เราสามารถเลือกสมัครฝึกงานในตำแหน่งที่เราสนใจและชื่นชอบได้ ถึงแม้จะไม่ตรงกับสายการเรียนก็ตาม ดังนั้นเป็นโอกาสที่ดีมากๆ เลยค่ะ สำหรับคนที่สนใจอยากจะลองฝึกงานในตำแหน่งที่ตัวเองชื่นชอบ เพื่อหาประสบการณ์หรือเพื่อค้นหาตัวเองว่า งานนั้นจะเข้ากับตัวเองหรือไม่ ว่าแต่การฝึกงานที่ไม่ตรงสายจะเป็นปัญหาจริงไหม? เราต้องตามไปดูกันเลยค่ะ!!

สมัครฝึกงานไม่ตรงกับสายการเรียน จะสมัครได้จริงไหมและมีปัญหาหรือไม่

สำหรับการเลือกสมัครฝึกงานในองค์กรและตำแหน่งที่เราสนใจหรืออยากที่จะทำจริงๆ แต่ตำแหน่งงานนั้นไม่ตรงกับสายการเรียนของเราเลย บางที่หลุดไปจากกรอบของคณะที่เราเรียนมาเลยก็ว่าได้ เช่น บางคนเรียนเกี่ยวกับบัญชี/เศรษฐศาสตร์ แต่มีความสนใจในเรื่องของการออกแบบ Graphic Design จึงสมัครฝึกงานไปที่ตำแหน่งเกี่ยวกับ Graphic Design ของบริษัทแห่งหนึ่ง เพื่อนๆ คิดว่าแบบนี้สามารถสมัครได้ไหมคะ? คำตอบคือ "ได้ค่ะ" ไม่มีปัญหาแน่นอน ซึ่งหลายที่เอง ก็เลือกนักศึกษาที่เรียนไม่ตรงสายกับตำแหน่งอีกด้วย 

เพราะการสมัครฝึกงานจริงๆ นอกจากที่เราส่ง Resume เพื่อให้บริษัทรู้จักตัวตนของเรามากขึ้น ว่าเราชื่ออะไร เรียนที่ไหน มีประสบการณ์การทำงานอะไรมาบ้าง หรือแม้กระทั่งมีความสามารถหรือทักษะการทำงานอะไรบ้างฯ นอกจากนั้น บางบริษัทมีโจทย์ที่เป็นการบ้านให้นิสิต นักศึกษาที่สนใจสมัครทำงานนั้นส่งพร้อมกับการส่ง Resume อีกด้วยค่ะ ซึ่งโจทย์ที่ทางบริษัทกำหนดจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เราสมัคร เช่น หากเราสมัครตำแหน่ง Columnist งานที่ต้องส่งจะมาในรูปแบบของการเขียนบทความตามโจทย์ที่กำหนด โดยการบ้านที่ได้รับเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ต่อการสมัครเลยค่ะ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถแสดงความสามารถของเราออกมาได้อย่างเต็มที่ บริษัทเองก็ได้เห็นความสามารถของเราว่าพร้อมที่จะมาทำงานในตำแหน่งนี้ไหม รู้กันแบบนี้แล้ว ถ้าเพื่อนๆ ไปสมัครฝึกงานที่ไหน อย่าลืมตั้งใจทำการบ้านตามโจทย์ที่บริษัทกำหนดให้ดีนะคะ  

Resume คือด่านแรกของการคัดเลือก
Resume คือด่านแรกของการคัดเลือก

ส่วนอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือ จดหมายแนะนำตัวค่ะ เพราะจดหมายแนะนำตัวเป็นเหมือนจดหมายที่จะทำให้บริษัทรู้จักเรามากขึ้นกว่าเดิมจาก Resume ค่ะ ซึ่งจดหมายแนะนำตัวมีความพิเศษตรงที่ เราสามารถพูดถึงตัวเองได้มากขึ้นเพื่อให้บริษัทรู้จักเรามากขึ้น เช่น ความชอบส่วนตัว ลักษณะการทำงานของเรา เป็นต้น หรือแม้กระทั่งในจดหมายแนะนำตัว เราสามารถเขียนถึงความมุ่งมั่นและความตั้งใจของเราในตำแหน่งงานที่จะสมัครได้ เช่น เราสามารถเขียนถึง Passion ในการฝึกงานตำแหน่งนี้ได้ว่าคืออะไร ทำไมถึงอยากจะมาฝึกงานในตำแหน่งนี้ อยากจะทำอะไรบ้าง หรือมีความมุ่งมั่นตั้งใจกับตำแหน่งนี้อย่างไรบ้าง เรียกได้ว่า ถ้าเราเขียนออกมาอย่างมุ่งมั่น ไม่ลดละความพยายาม ตำแหน่งฝึกงานนี้ก็ไม่ไกลเกินเอื้อมค่ะ  

พิเศษสุดๆ !! สำหรับใครที่อยากรู้ วิธีทำ Resume ยังไงให้ถูกใจ HR ไปตามอ่านกันได้เลย คลิก

ดังนั้น ถ้าใครที่กำลังอยากจะฝึกงานในตำแหน่งที่ไม่ตรงกับสายการเรียนไม่ต้องกลัวไปนะคะ เพราะถ้าเรามีความพร้อมหรือเตรียมตัวให้ดี พิสูจน์ให้ทางบริษัทเห็นว่าเรามีความมุ่งมั่นที่จะทำงานนี้จริงๆ                   เพียงแค่นี้เราก็มีโอกาสที่จะได้ฝึกงานในตำแหน่งที่เราชอบแล้วค่ะ ><

การฝึกงาน เปรียบเสมือนการลงมือลองสนามทำงานจริง!!
การฝึกงาน เปรียบเสมือนการลงมือลองสนามทำงานจริง!!

ข้อดีจากการฝึกงานไม่ตรงสาย 

สำหรับการฝึกงานไม่ตรงกับสายที่เรียน ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับนิสิต/นักศึกษาจำนวนมากที่เลือกสมัครเลยก็ว่าได้ เพราะการฝึกงาน ทำให้เราได้เจอกับการทำงานจริง หรือเรียกง่ายๆ ว่า เป็นการจำลองทำงานเสมือนจริงนั่นเองค่ะ แต่เราก็เชื่อว่าการฝึกงานไม่ตรงสาย ก็ทำให้เราได้เจอข้อดีหรือประสบการณ์ต่างๆ ที่น่าจดจำเช่นกันค่ะ ซึ่งได้แก่

1. ได้ทำงานในสิ่งที่เราชอบ

สำหรับการที่หลายๆ คนได้ฝึกงานไม่ตรงสาย จะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่จะเป็นตำแหน่งที่เราชอบ หรือมีความสนใจที่จะทำ ถึงแม้จะไม่ตรงกับสายการเรียนของเราก็ตาม ซึ่งสิ่งนี้เองจะทำให้เราได้ลองลงมือทำในสิ่งที่เราชอบจริงๆ และมีความสุขที่ได้ทำงานนี้  

2. ได้เจอกับเบื้องหลังการทำงานที่ไม่เคยทำมาก่อน

สำหรับการฝึกงาน เรียกได้ว่าคือ การทำงานจริงนั่นเอง!! ซึ่งข้อดีของมันคือ เมื่อเราได้รับผิดชอบงานในตำแหน่งนั้นๆ จะทำให้เราได้พบกับเบื้องหลังการทำงานที่ไม่เคยเจอมาก่อนอย่างแน่นอน เพราะบางครั้งการทำในงานจริงๆ ในตำแหน่งนั้นๆ ก็อาจจะมีจุดเล็กจุดน้อยที่เราไม่เคยรู้มาก่อน ต้องลงมือทำจริงๆ เท่านั้น

การฝึกงาน ทำให้เราได้ประสบการณ์การทำงานจริงที่หาไม่ได้ในห้องเรียน
การฝึกงาน ทำให้เราได้ประสบการณ์การทำงานจริงที่หาไม่ได้ในห้องเรียน

3. ได้เรียนรู้การทำงานในรูปแบบใหม่

นอกจากการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ได้ลงมือทำงานจริงๆ แล้ว การได้ลงมือทำงานจริงๆ ทำให้เราได้เรียนรู้การทำงานในรูปแบบใหม่ๆ อีกด้วย เพราะการฝึกงาน ไม่ได้เรียนรู้เพียงแค่ข้อมูลหรือรายละเอียดของงานที่เราต้องรับผิดชอบเท่านั้น เรายังได้เรียนรู้ถึงรูปแบบการทำงานจากทางบริษัทที่เราฝึกงานอีกด้วย   ซึ่งทำให้เราได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับการทำงานนั่นเองค่ะ

4. ได้พัฒนาความสามารถหรือทักษะบางอย่างเพิ่มเติม

การที่เราได้ฝึกงานในตำแหน่งที่ไม่ตรงกับสายการเรียนของเรามาก่อน อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือ ทำให้เราได้มีโอกาสในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อใช้ในการทำงาน เพราะบางอย่างเราอาจไม่เคยรู้มาก่อน หรือต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งประสบการณ์การฝึกงานในครั้งนี้ ช่วยให้เราได้พัฒนาความสามารถหรือทักษะการทำงานบางอย่างเพิ่มเติมนั่นเองค่ะ พูดง่ายๆ คือ จบฝึกงานไป เราพัฒนาทักษะบางอย่างจนเก่งขึ้นแน่นอนค่ะ ><

การฝึกงานทำให้เราได้ลองลงมือทำงานจริง
การฝึกงานทำให้เราได้ลองลงมือทำงานจริง 

วิธีเตรียมความพร้อมก่อนไปฝึกงานในตำแหน่งที่ไม่ตรงกับสายการเรียนของเรา  

สำหรับวิธีเตรียมตัวสู้ศึกฝึกงานที่ไม่ตรงกับสายการเรียนของเรา ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เราต้องเตรียมความพร้อมอย่างมาก เพื่อช่วยให้การฝึกงานที่ท้าทายสำหรับเราเริ่มต้นไปได้ด้วยดี เพราะการเตรียมความพร้อมไปก่อน ก็เหมือนกับการที่เราสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองนั่นเอง ซึ่งวิธีเตรียมรับมือ มีดังนี้  

1. ต้องศึกษาตำแหน่งงานและบริษัทให้ดี

วิธีนี้ห้ามพลาดเด็ดขาดเลยนะคะทุกคน เพราะสำคัญมากๆ เลยที่เราจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานและบริษัทที่เราสนใจฝึกงาน เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับที่ตั้งบริษัท การเดินทาง เวลาทำงาน ความรับผิดชอบของตำแหน่งงานนั้นๆ เพื่อที่ช่วยประกอบการตัดสินใจและเพื่อช่วยให้สามารถวางแผนในการทำงานต่อไปได้นั่นเองค่ะ  

รายละเอียดตำแหน่งงานและการทำงานเป็นเรื่องสำคัญ!!
รายละเอียดตำแหน่งงานและการทำงานเป็นเรื่องสำคัญ!!

2. ศึกษารายละเอียดของงานให้ลึกซึ้งมากขึ้น

วิธีนี้ก็สำคัญมาก ๆ เช่นกันนะคะ เพราะหากเราจะต้องทำงานจริงในตำแหน่งนั้นๆ เราควรที่จะรู้เกี่ยวกับรายละเอียดของงานนั้นๆ ให้ลึกซึ้งมากขึ้นจากเดิม รายละเอียดการทำงานไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ความรับผิดชอบเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงรายละเอียดย่อยๆ ของการทำงานอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น งานด้าน Graphic Design เราจำเป็นต้องรู้ว่าจะต้องใช้โปรแกรมอะไรในการทำงาน เป็นต้นค่ะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ดีแน่ หากเราไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับการทำงานของเรา แบบนี้จะยากเอานะคะ TT  

3. อัปเดตข่าวและข้อมูลที่เกี่ยวกับการทำงานของเราให้มากขึ้น

สำหรับการทำงานจริง อีกหนึ่งวิธีที่ไม่ควรพลาด นั่นก็คือ การอัปเดตข่าวและข้อมูลที่เกี่ยวกับการทำงาน เพราะข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับการทำงานมีความสำคัญอย่างมาก ดังนั้นหากที่จะต้องทำงานเกี่ยวกับสาขาใดๆ เราควรที่จะอัปเดตข่าวสารและข้อมูลเพื่อใช้ในการทำงานด้วย ไม่งั้นจะพลาดข้อมูลใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานนะคะ ><

การอัปเดตข้อมูลและข่าวสารเป็นสิ่งสำคัญต่อการทำงาน
การอัปเดตข้อมูลและข่าวสารเป็นสิ่งสำคัญต่อการทำงาน

4. ฝึกทักษะเบื้องต้นที่จำเป็นต่อการฝึกงานของเรา

สำหรับวิธีสุดท้ายในการเตรียมรับมือการฝึกงานที่ไม่ตรงสาย ที่ควรเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ เลย นั่นก็คือ การฝึกทักษะเบื้องต้นที่จำเป็นต่อการฝึกงานของเรา เพราะทักษะเบื้องต้นบางอย่างมีความสำคัญมากๆ ในการเริ่มต้นทำงานหรือนำไปต่อยอดในการทำงานจริงค่ะ ดังนั้น เราต้องเตรียมความพร้อมในการฝึกทักษะเบื้องต้นที่จำเป็นให้ดีนะคะ เพื่อที่จะไม่พลาดในการทำงานจริงกันด้วยนะคะ

ประสบการณ์จริงจากนักศึกษาที่ฝึกงานไม่ตรงสาย

ในวันนี้เรามีตัวแทนรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์การฝึกงานไม่ตรงสาย มาแชร์ประสบการณ์ให้เราฟังกันค่ะ ซึ่งรุ่นพี่คนนี้มีชื่อว่า พี่ฟูเฟิร์น จากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. ซึ่งเป็นคณะที่เรียนเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์รวมไปถึงด้านการศึกษามากกว่า แต่รุ่นพี่ของเราได้ฝึกงานที่ Little Biggest Production โดยเป็นบริษัทที่ทำงานเกี่ยวกับงานสาย Production ทุกอย่าง เช่น งานโฆษณา ทำหนังสั้น ทำเพลง ถ่าย mv เพลง เป็นต้น เรียกได้ว่าไม่ตรงกับสายที่เรียนมาเลย 

แต่พี่ฟูเฟิร์นเล่าให้เราฟังว่า การฝึกงานในตำแหน่งนี้ เริ่มมาจากความชอบส่วนตัวล้วนๆ เพราะส่วนตัวชอบงานในกองถ่าย ชอบการออกกอง ไปถ่ายหนังสั้น หรือ MV เพลง ต่างๆ ทำให้ช่วงเวลาการฝึกงาน จึงเลือกที่จะใช้เวลา 2 เดือนในการลองทำสิ่งที่ชอบไปเลย และเลือกที่จะฝึกงานในตำแหน่ง Co-Producer (ผู้ช่วยผู้กำกับ) เป็นตำแหน่งที่ค่อนข้างท้าทาย เพราะยังไม่เคยทำมาก่อน แต่ที่นี่ก็ได้ให้โอกาสได้ลองทำจริง   จึงเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆที่สนุกมาก 

บรรยากาศการฝึกงานจริงของพี่ฟูเฟิร์น กับการออกกองถ่ายจริง!!
บรรยากาศการฝึกงานจริงของพี่ฟูเฟิร์น กับการออกกองถ่ายจริง!!

ส่วนของความยากและท้าทายของการต้องไปสมัครฝึกงานไม่ตรงสายคือ การรับสมัครในช่วงแรก เนื่องจากพี่ฟูเฟิร์นเรียนไม่ตรงสายกับตำแหน่งที่สมัคร ถ้ายื่นพอร์ตไป บางบริษัทก็จะไม่ค่อยพิจารณาเลยตั้งแต่แรก (พี่ฟูเฟิร์นเล่าว่า เจอมากับตัวเอง และแอบน้อยใจเล็กน้อยTT) แต่พี่ฟูเฟิร์นของเราก็ไม่ยอมแพ้ ยื่นพอร์ตไปเรื่อยๆ และยังยืนยันกับเส้นทางเดิม จึงได้ฝึกงานในตำแหน่งนี้จนได้ นอกจากนั้นพี่ฟูเฟิร์นของเรายังเพิ่มเติมอีกว่า “พอเริ่มฝึกงานจริง ต้องเรียนรู้ใหม่หมดเกือบทุกอย่าง แม้บางอย่างที่เรารู้อยู่แล้ว ก็ต้องศึกษาเพิ่มเติม เพราะพอเข้าไปทำงานจริงๆ มันจะมีดีเทลเล็กๆ น้อยๆ  ที่เราจำเป็นต้องรู้ค่ะ แต่เป็นประสบการณ์ที่สนุกและมีความสุขที่ได้ทำ" 

 

สำหรับการฝึกงานที่ไม่ตรงกับสายการเรียน เป็นหนึ่งความท้าทาย เพราะบางตำแหน่ง เป็นงานที่เราไม่เคยเรียนรู้จากสาขาที่เรียนมาก่อน ทำให้เราได้รับประสบการณ์การทำงานใหม่ๆ พร้อมทั้งได้พัฒนาทักษะการทำงานของตัวเองเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย เรียกได้ว่า แม้จะมีความท้าทายและมีความยากในช่วงเริ่มต้น แต่ถ้าเรามีความมุ่งมั่นที่จะทำงานนั้นตั้งแต่แรก แถมมีการเตรียมความพร้อม แค่นี้ก็สามารถผ่านฉลุยไปได้ด้วยดีแน่นอนค่ะ  ดังนั้นไม่ต้องกลัวกันไปนะคะว่า ถ้าเราฝึกงานไม่ตรงสายแล้วจะทำไม่ได้ 

 

ปัญหาฝึกงานไม่ตรงสาย อาจเป็นปัญหาที่ค้างคาใจสำหรับใครหลายคน ถ้าเพื่อนๆ คนไหนมีประสบการณ์จากการฝึกงานไม่ตรงสายเพิ่มเติม เข้ามาแชร์กันได้นะคะ ><  

พี่นุกนิก
พี่นุกนิก - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด