มาดูกัน “เอกไทย” สาขาด้านภาษาที่มักถูกมองข้าม เรียนอะไรบ้าง?

สวัสดีค่ะทุกคน เรื่องที่จะเล่าในวันนี้เหมาะมากสำหรับน้องๆ ทีมอักษรศาสตร์/ศิลปศาสตร์/มนุษยศาสตร์ เพราะพี่โบว์จะพามาทำความรู้จักกับหนึ่งในสาขาสายภาษาที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด แต่ใกล้จนทำให้น้องๆ หลายคนมองข้ามกันไปเลยทีเดียว นั่นก็คือ สาขาวิชาภาษาไทย ค่ะ เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ได้ยินชื่อสาขานี้แล้วก็คิดว่า “รู้กันอยู่แล้วจะเรียนทำไม” หรือมองว่าจบไปแล้วจะมีสายงานค่อนข้างแคบใช่ไหมล่ะคะ พี่เลยอยากมาเล่าสู่กันฟังค่ะว่า “เอกไทย” มีความน่าสนใจมากกว่าที่คิดนะ จะเป็นยังไงไปดูกันค่า!!!

มาดูกันว่า เอกภาษาไทย ที่หลายคนมักมองข้ามไปเรียนอะไรบ้าง
มาดูกันว่า เอกภาษาไทย ที่หลายคนมักมองข้ามไปเรียนอะไรบ้าง

“เอกไทย” สาขาสายภาษาที่ถูกมองข้ามเพราะใกล้ตัวเกินไป

มาปรับความเข้าใจที่มีต่อ “เอกไทย” ใหม่กันเถอะ  

พอพูดถึงเอกไทยทีไรก็มักจะมีคนบางกลุ่มที่เข้าใจว่า นิสิต/นักศึกษาเอกไทยเนี่ยแต่งกลอนเก่ง พูดเก่ง รู้เรื่องศิลาจารึกแบบเป๊ะปัง อยากบอกเลยค่ะว่า No!!! แต่ละคนมีความถนัดและความชอบที่ต่างกันค่ะ อาจจะชอบวิชาที่มีเนื้อหาลงลึกแบบจัดเต็มหรือเน้นนำไปประยุกต์กับทักษะอื่นๆ ซึ่งมีหลายวิชาเลยที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาทักษะตามความต้องการประกอบอาชีพของแต่ละคนในอนาคต นอกจากอาชีพครู อาจารย์ นักเขียน นักวิชาการ บรรณาธิการ และนักพิสูจน์อักษร พี่ก็คิดว่าเรียนเอกนี้จบไปสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลายงานมากค่ะ เช่น AE, PR, Content Creator

"เอกภาษาไทย" มีหลายวิชาที่ช่วยพัฒนาทักษะตามความต้องการประกอบอาชีพในอนาคต
"เอกภาษาไทย" มีหลายวิชาที่ช่วยพัฒนาทักษะตามความต้องการประกอบอาชีพในอนาคต

ตัวอย่างกลุ่มวิชาน่าเรียนของ “เอกไทย” 

1. กลุ่มวิชาที่เกี่ยวข้องกับเสียงและระบบเสียง

ในรายวิชาแรกอย่าง "เสียงและระบบเสียง" นะคะ จะทำให้เราได้เรียนรู้ถึงกระบวนการออกเสียง ตำแหน่งการเกิดเสียง การถ่ายถอดเสียงเป็นสัทอักษร แนวคิดและหลักการวิเคราะห์ระบบเสียง และลักษณะการเปลี่ยนแปลงทางเสียงค่ะ พอเรียนวิชานี้แล้วจะทำให้รู้ได้เลยว่าเหตุผลที่ทำให้การออกเสียงแตกต่างกัน เป็นเพราะแบบนี้นี่เอง!

2. กลุ่มวิชาที่เกี่ยวข้องกับการวิจารณ์วรรณคดีและวรรณกรรม

สำหรับใครที่ชอบอ่าน “วรรณคดีหรือวรรณกรรมไทย” พี่ขอนำเสนอวิชากลุ่มนี้เลยค่ะ เพราะเราจะได้เรียนกันตั้งแต่ความเป็นมา พัฒนาการ ทฤษฎี และแนวคิดต่างๆ เพื่อฝึกวิเคราะห์และเขียนบทวิจารณ์วรรณคดีหรือวรรณกรรมไทยในแต่ละประเภทให้ออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นค่ะ

3. กลุ่มวิชาที่เกี่ยวข้องกับการเขียน

เอกไทยมีรายวิชา “การเขียน” ให้เลือกเรียนหลากหลายมากค่ะ ทั้งการเขียนเชิงวิชาการ การเขียนสารคดี การเขียนบันเทิงคดี การเขียนข่าว และการเขียนสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น บทความให้ความรู้ บทวิจารณ์ และบทบรรณาธิการ รวมถึงการเขียนบทต่างๆ ทั้งบทวิทยุกระจายเสียง บทวิทยุโทรทัศน์ และบทภาพยนตร์ โดยเราจะได้เรียนทั้งองค์ประกอบและกลวิธีการใช้ภาษา การเลือกใช้คำ สำนวน ระดับภาษา และการเลือกใช้ภาษาพูดหรือภาษาเขียนในงานเขียนแต่ละประเภทค่ะ

4. กลุ่มวิชาที่เกี่ยวข้องกับการพูด  

“การพูด” เป็นหนึ่งในทักษะสำคัญขั้นพื้นฐานที่คนเรียนสายภาษาต้องเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งหลักการใช้น้ำเสียง บุคลิกภาพ และถ้อยคำ โดยมีตั้งแต่รายวิชาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะพูดในชีวิตประจำวันไปจนถึงการพูดเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น การพูดนำเสนอทางวิชาการ การกล่าวสุนทรพจน์ การพูดแบบพิธีกรและผู้ประกาศ และการพูดเพื่อสื่อสารในงานอาชีพต่างๆ  

5. กลุ่มวิชาที่เกี่ยวข้องกับการแปลและการสอนภาษาไทยให้ชาวต่างประเทศ

อาชีพนักแปลและครูสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติถือเป็นความฝันของเด็กเอกไทยหลายคนเลยค่ะ รายวิชา “การแปล” และ “การสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ” จึงได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเราจะได้ศึกษาหลักการและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง กระบวนการแปลและเรียบเรียงให้เหมาะสมแก่งานแปลแต่ละประเภท การวิเคราะห์และอภิปรายถึงปัญหาที่พบในการแปลและวิธีการแก้ปัญหา การตรวจแก้งานแปล วิธีการสอนภาษาไทยทั้งในด้านการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน รวมไปถึงการสร้างสื่อการสอนค่ะ

6. กลุ่มวิชาที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ภาษาที่ใช้ในสื่อต่างๆ  

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้สื่อออนไลน์มีความจำเป็นต่อเรามากๆ แต่เมื่อมีคนแวะเวียนเข้ามาใช้จำนวนมากก็ทำให้เราต้องเลือกรับข้อมูลข่าวสารและรู้เท่าทันสื่อให้มากขึ้นกันหน่อย โดยวิชานี้นะคะจะช่วยให้เราเท่าทันกลโกงและข่าวลวงทั้งหลายด้วยการวิเคราะห์ลักษณะภาษาที่ใช้ว่ามีอิทธิพลต่อเรายังไงบ้างค่ะ นอกจากนี้ยังได้รู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

7. กลุ่มวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิวัฒนาการทางภาษา

ภาษาไทยที่ใช้อยู่ทุกวัน ทุกคนเคยสงสัยกันไหมคะว่าคำเหล่านั้นมีความเป็นมายังไง? รายวิชานี้จะทำให้รู้ค่ะว่า แต่ละคำที่เราใช้กันมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะใดบ้างตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน ทั้งในด้านตัวอักษร รูปแบบการเขียน เสียง คำ ความหมาย สำนวน และไวยากรณ์ รวมถึงมีสาเหตุหรือปัจจัยใดบ้างที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ

8. กลุ่มวิชาที่เกี่ยวข้องกับภาษาถิ่น

“ภาษาถิ่น” เป็นอีกรายวิชาที่น่าสนใจ เพราะจะช่วยให้เข้าใจสภาพสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มชนหนึ่งได้ดียิ่งขึ้น โดยจะได้เรียนเกี่ยวกับลักษณะของระบบเสียง คำ ประโยค และความหมายของภาษาถิ่นเหนือ อีสาน กลาง และใต้ นอกจากนี้ในบางหลักสูตรผู้เรียนจะมีโอกาสได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลภาคสนามด้วยนะคะ

ตัวอย่างบุคคลมีชื่อเสียงที่เคยเรียนเอกไทย

1. พิยดา จุฑารัตนกุล (อ้อม)

เริ่มต้นที่คนแรกกับนักแสดงมากฝีมือพ่วงตำแหน่งผู้จัดมือทอง “อ้อม พิยดา” ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยมีผลงานการแสดงสร้างชื่อมากมาย เช่น ทอฝันกับมาวิน (2539), มาลัยสามชาย (2553) และซิตคอมบางรักซอย 9

2. นิภาภรณ์ ฐิติธนการ (ซานิ)

คนต่อมาเป็นถึงดีกรีแชมป์จากรายการประกวดร้องเพลงอย่าง True Academy Fantasia Season 6 (AF6) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในวงการบันเทิงของนักร้องสาวอารมณ์ดี “ซานิ นิภาภรณ์” ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ด้วยค่ะ

3. เดียร์น่า ฟลีโป (เดียร์น่า)

คนสุดท้ายเป็นนักแสดงสาวจากช่อง 3 “เดียร์น่า ฟลีโป” ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน (เกียรตินิยมอันดับ 2) โดยมีผลการแสดงมากมาย เช่น สามีตีตรา (2557), ตามรักคืนใจ (2558) และเรื่องล่าสุดอย่าง Help Me คุณผีช่วยด้วย (2564)  

ตัวอย่างหลักสูตรของคณะและมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน

  • หลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คลิก
  • หลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร คลิก
  • หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คลิก
  • หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยมหิดล คลิก
  • หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คลิก
  • หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คลิก

เอกไทยมีวิชาหลากหลายมากกว่าที่คิด ถ้าอยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติมหรืออยากรู้เกี่ยวกับวิชาที่นอกเหนือจากนี้สามารถคลิกลิงก์เพื่อเข้าไปดูตัวอย่างหลักสูตรตามที่พี่โบว์แปะไว้ได้เลยน้า หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์และเอกภาษาไทยจะเข้าไปอยู่ในใจของใครหลายๆ คนนะคะ ><

ขอขอบคุณรูปภาพจากhttps://www.freepik.com/jcomp
พี่โบว์
พี่โบว์ - Converter แปลงไฟล์อีบุ๊กนิยาย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

จิจัน 6 เม.ย. 67 22:20 น. 1

ขอบคุณข้อมูลดีๆ นะคะ ทำให้หนูได้ติดสินใจง่ายขึ้นค่ะ เพราะหนูก็ชอบงานวงการบันเทิงด้วยค่ะ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด