รุ่นพี่ชี้แนะ! รีวิว สถาปัตย์ ม.เชียงใหม่ ได้เรียนอะไร พร้อมไขข้อสงสัยติสท์จริงไหม?

ไม่เก่งวาดรูปเรียนได้ไหม? ถือเป็นหนึ่งในคำถามยอดฮิตสำหรับน้องๆ ที่สนใจศึกษาต่อคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เลย หรือจะเป็นคำพูดที่ว่า เด็กสถาปัตย์ติสท์! ก็ถือว่าเป็นภาพจำของเด็กสถาปัตย์ว่ามีลักษณะเช่นนั้นไปอีก วันนี้พี่โบว์ก็เลยพารุ่นพี่จาก "คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่" มาไขข้อสงสัยให้น้องๆ กันว่าสถาปัตย์เรียนอะไรบ้าง ไม่เก่งวาดรูปเรียนได้ไหม และเด็กสถาปัตย์ติสท์จริงหรือเปล่า เพราะฉะนั้นไปดูกันเลยค่ะ!

"คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่" ได้เรียนอะไร พร้อมไขข้อสงสัยติสท์จริงไหม?
"คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่" ได้เรียนอะไร พร้อมไขข้อสงสัยติสท์จริงไหม?

รุ่นพี่ชี้แนะ! รีวิว สถาปัตย์ ม.เชียงใหม่ ได้เรียนอะไร พร้อมไขข้อสงสัยติสท์จริงไหม?

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เรียกได้ว่าเป็นคณะในฝันคณะหนึ่งของคนที่ชอบวาดรูปหรืออยากออกแบบ ในวันนี้พี่ก็ได้พารุ่นพี่ที่ไม่ประสงค์ออกนามรายหนึ่งมารีวิว “คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ซึ่งจะมาเล่าทั้งในด้านการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย กิจกรรมต่างๆ และการเรียนในคณะนี้กัน แต่ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่าคณะนี้ที่นี่มีความเป็นมายังไงสักเล็กน้อย รวมถึงมีกี่หลักสูตรและมีอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาเป็นยังไงบ้างค่ะ

ความเป็นมาของ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ แรกเริ่มเป็นภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ สังกัดอยู่ในคณะวิจิตรศิลป์  ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2538 จนกระทั่งสถาปนาเป็นคณะในกำกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2543 ค่ะ ถ้าอยากอ่านประวัติเพิ่มเติมสามารถ คลิกที่นี่  ได้เลย

หลักสูตรในระดับปริญญาตรีของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

  • หลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรม (ภาคปกติ 5 ปี) คลิก
  • หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม (ภาคปกติ 5 ปี) คลิก
  • หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม (ภาคปกติ 4 ปี) คลิก
  • หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบเชิงบูรณาการสถาปัตยกรรมแนวใหม่ (นานาชาติ 4 ปี) คลิก

อัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์/ภาคการศึกษา

หลักสูตรสาขาวิชา ค่าธรรมเนียมการศึกษา (บาท)หมายเหตุ
หลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต (ภ.สถ.บ. 5 ปี)สาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรม (ภาคปกติ)29,000-
หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต (สถ.บ. 5 ปี)สาขาวิชาสถาปัตยกรรม (ภาคปกติ)29,000-
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ. 4 ปี) สาขาวิชาสถาปัตยกรรม (ภาคปกติ)29,000-
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ. 4 ปี)สาขาวิชาการออกแบบเชิงบูรณาการสถาปัตยกรรมแนวใหม่ (นานาชาติ)65,000นักศึกษาไทย
85,000นักศึกษาต่างชาติ

รีวิวจากรุ่นพี่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาสถาปัตยกรรม (สถ.บ. 5 ปี) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

*เนื้อหาต่อจากนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคลเท่านั้น*

แนะนำหลักสูตรที่เรียนหน่อยค่ะ พร้อมบอกเหตุผลว่าทำไมถึงเลือกคณะนี้ที่นี่

พี่เรียนหลักสูตรสถาปัตยกรรมบัณฑิต 5 ปี เพราะตอนนั้นชอบวาดรูป ชอบโมเดล ก็เลยไปถามครูสอนศิลปะว่าอยากเรียนแบบนี้ต้องเรียนอะไรดี ครูก็เลยแนะนำสถาปัตย์ บวกกับว่าเราอยากออกจากกรุงเทพฯ อยากเรียนเชียงใหม่ ก็เลยไปหาว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีคณะสถาปัตย์ไหม ปรากฏว่าก็มีก็เลยเลือกลงสถาปัตย์ มช. ซึ่งตอนนั้นมันก็มีแค่ 4 ปี, 5 ปี, นานาชาติ และคนรอบตัวเราก็บอกว่า เรียนสถาปัตย์เดี๋ยวนี้เขาเรียน 5 ปีกันแล้ว เราก็ว่าครอบคลุมดี ก็เลยลง 5 ปี พอติดก็เลยเรียน 

แต่ละหลักสูตรในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มช. ต่างกันยังไง?

ที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือถ้าเรียนจบ สถ.บ. 5 ปีสามารถสอบใบประกอบวิชาชีพได้เลย แต่ วท.บ. 4 ปีต้องเรียนโทหรือทำงานก่อน 2 ปีถึงจะสามารถสอบใบประกอบวิชาชีพได้ ส่วนนานาชาติเท่าที่รู้เขาก็จะเรียนแนวๆ คอนเซ็ปต์เป็นส่วนใหญ่ ส่วนภูมิสถาปัตย์เพิ่งเปิดมาได้ 2 ปี (ตอนปีเรายังไม่เปิด) แรกๆ เรียนเหมือนๆ เต็ก (มาจากคำว่า Architect) แต่จะมีเรียนพวกต้นไม้ การจัดการพื้นที่โดยรอบอาคาร วัฒนธรรมความเป็นมาที่ทำให้เกิดภูมิทัศน์แบบต่างๆ และประวัติศาสตร์ภูมิทัศน์

พูดถึงเรื่องการเดินทางและหอพักนักศึกษาหน่อยค่ะ

อย่างตอนปี 1 พี่ก็อยู่หอใน จะมีการสุ่มเมทจากหลายๆ คณะ ซึ่งถ้ากดทันก็ทัน กดไม่ทันก็ไม่ทัน แต่หอค่อนข้างโอเคเลย ราคาถูก ถ้าไม่ได้รู้อะไรเท่าไหร่แล้วอยู่หอในก็ตอบโจทย์ มันเดินทางไปได้ทั่วมหา’ลัยเลย เพราะจะมีรถม่วง และตอนนี้รถม่วงเพิ่มสายแล้วนะ! ส่วนจะเลือกหอในหรือหอนอกก็แล้วแต่คน ถ้าไม่มีรถ หอในก็ตอบโจทย์ แต่ถ้ามีรถ อยู่หอนอกก็ดี หรือถ้าเราเป็นคนที่มีโรคส่วนตัว อยากอยู่คนเดียว การอยู่หอนอกก็เป็นตัวเลือกที่ดีเหมือนกัน ส่วนตอนนี้เราอยู่หอนอกและใช้รถมอเตอร์ไซค์  หรือใครอยากเอารถยนต์มาใช้ก็ได้เหมือนกัน 

  • ดูรายละเอียดหอพักเพิ่มเติม คลิก
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แล้วมีรับน้องอะไรบ้าง?

ตอนเราปี 1 ยังมีรับน้องทั้งของมอและของคณะ แต่ไม่ได้บังคับ แต่ตอนนั้นจะอยู่คณะดึกๆ เลย มีการทำขบวนสำหรับการรับน้องขึ้นดอย ทำพานสำหรับกิจกรรมไหว้ครู ส่วนรุ่นพี่ก็มีดุบ้างช่วงที่เราไปทำอะไรไม่ดี สำหรับรับน้องของมอไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่คณะเราไม่ได้โซตัสขนาดนั้น และยังมีกิจกรรมรับน้องรถไฟให้เด็กต่างจังหวัดที่ไม่ได้เดินทางมาเองหรือครอบครัวมาส่งเข้าร่วม กับกิจกรรม First Step  ให้คนที่อยู่เชียงใหม่หรือเดินทางมาอยู่เชียงใหม่ได้เข้าร่วม  เรียกง่ายๆ  ว่าเป็นกิจกรรมรับน้องสำหรับคนที่ไม่ได้มารับน้องรถไฟ  แต่ปัจจุบันไม่มี 2  กิจกรรมหลังแล้วเพราะมีโควิด

พูดถึงบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมภายในมหา’ลัยหน่อยค่ะ

ร่มรื่น เพราะอยู่ใกล้ดอย ต้นไม้ในมอก็เยอะ ยิ่งเวลาขับรถผ่านตรงอ่างแก้ว กับแถวหน้ามอคือเย็นมาก ตอนหน้าหนาวก็หนาวไปเลย แต่บทจะร้อนก็ร้อนไปเลย แล้วถ้าน้องๆ  ตามเพจต่างๆ ของ มช. ก็น่าจะรู้ว่าหมาเยอะมาก ไปเดินอ่างแก้วและอ่างตาดชมพูตรงคณะนิติก็มี ในแต่ละคณะก็มี แล้วแต่ว่าเขาประจำถิ่นไหนกัน

ระหว่างรอเรียนคาบต่อไป เด็ก มช. ชอบไปไหนหรือทำอะไร?

ถ้าเด็กสถาปัตย์อย่างเราคงต้องบอกว่าส่วนตัวไม่อยากไปไหนเลย แต่ถ้าเป็นสถานที่ใน มช. ที่คนไปกันเยอะแบบที่ไม่ได้มีแค่เด็ก มช. ก็ต้องเป็นอ่างแก้วอยู่แล้วค่ะ ไปเดินดูหมา ดูแมว ดูน้ำ ดูคนมาออกกำลังกาย หรือจะไปวางหินริมน้ำตรงอ่างตาดชมพูคณะนิติก็ได้ เรื่องสถานที่ก็เป็นหนึ่งในความชอบส่วนบุคคล บางคนอาจจะชอบไปนั่งคาเฟ่ ร้านกาแฟต่างๆ บอกเลยว่า เชียงใหม่เรื่องคาเฟ่ยืน 1 ไม่แพ้ที่อื่นค่ะ

อาหารการกินทั้งในและนอกมหา’ลัยเป็นยังไง?

ถ้าเป็นในมอ แต่ก่อนเราจะเรียกศูนย์อาหารว่า อมช. เป็นโรงอาหารใหญ่สุดแล้ว กับข้าวอร่อย แต่ปัจจุบันทาง มช. สร้างอาคารใหม่ขึ้นมาชื่อว่า "กินในมอ" เอาง่ายๆ เลยว่ามันเป็นฟู้ดคอร์ดใหญ่ๆ แต่เพราะโควิดก็ทำให้ร้านเปิดน้อยลง หรือไม่ก็มีร้านอื่นมาเปิดแทนแล้ว เพราะฉะนั้นต้องมาลุ้นเอาว่าถ้าได้เข้ามาเรียน มช. จะยังมีร้านอะไรให้กินบ้าง

ส่วนข้างนอกคงต้องบอกว่าตลาดหลังมอยังเป็นที่สุดอยู่ แต่เขาจะปิดทุกวันที่ 25 ของทุกเดือน ของกินเยอะ อร่อยด้วย ส่วนร้านแนะนำไม่มีค่ะ ส่วนตัวไม่ได้มีร้านประจำอะไรเลย ต้องบอกว่าน้องๆ มาลองใช้ชีวิตที่ มช. เองเถอะค่ะ อีกอย่างเราเป็นคนสวนกระแส บางทีบางร้านที่คนว่าอร่อย คนไปกินเยอะๆ ก็ไม่ไปหรอกค่ะ ร้านมันแมสแล้ว ส่วนตัวเลยชอบหาร้านลับๆ ที่คนไม่ค่อยรู้จักเท่าไหร่ 

พูดถึงสังคมที่เรียนหน่อยว่าเพื่อนเป็นยังไงบ้าง?

มันอยู่ที่คนนะ แต่โดยภาพรวมจะอยู่กันเป็นกลุ่ม อย่างตอนปี 1 ที่รับน้องจะมีงานให้ทำร่วมกัน ทำให้ได้ รู้จักกันทั้งคณะเลย แต่พอปีต่อๆ ไปก็เริ่มสนิทเฉพาะคนมากขึ้นเลยทำให้อยู่กันเป็นกลุ่มกับเพื่อนที่สนิทๆ กัน แต่ทั้งรุ่นรู้จักกันหมด คุยกันได้ปรึกษากันได้หมดเลย เพราะรูปแบบการเรียนการสอนในวิชาสตูดิโอจะเป็นแบบกลุ่มเวียนๆ กันไป อย่างตอนปี 1-2 แบ่งกลุ่มใหญ่กลุ่มละ 10 คน ต่ออาจารย์ 1 คน แล้วก็จะเวียนอาจารย์ตามโปรเจกต์ แต่ด้วยความที่งานปี 3 เราจะทำเทอมละโปรเจกต์ ต่างจากปี 1-2 ที่มีโปรเจกต์ย่อยในเทอม ดังนั้นตอนปี 3 เลยใช้วิธีให้นักศึกษาเลือกอาจารย์ที่เราอยากอยู่ด้วย และในกลุ่มเพื่อนๆ ก็จะสุ่มว่าใครได้อยู่กลุ่มเดียวกันกับเราบ้าง  ส่วนปี 4 ก็จะเหมือนปี 3 แต่เราไม่ได้เลือกอาจารย์และจะได้อยู่กับอาจารย์คนนั้นทั้งเทอม เพราะงานคืออาคารสูงที่ทำ 1 เทอม 1 โปรเจกต์เลย ครึ่งเทอมแรกรีเสิร์ชหาข้อมูลและครึ่งเทอมหลังเป็นพาร์ทออกแบบทั้งหมด

มีจับสายรหัสไหม?

มีสายโค แต่ไม่ใช่การจับสลากขึ้นมาว่าคนนี้เป็นพี่รหัสเรา แต่จะดูจากรหัส อย่างเลขข้างหน้าจะเป็นเลขปีที่เข้าเรียน อีก 2 ตัวถัดมาเป็นรหัสคณะ แล้ว 3 ตัวสุดท้ายจะเป็นลำดับหรือเลขที่ โดยถ้ารุ่นพี่มีรหัสตรงกับเราก็เป็นพี่รหัสเรา

เรียนคณะนี้ต้องวาดรูปเก่งไหม?

ไม่ต้องวาดรูปเก่งมากก็ได้ แต่วาดให้มันรู้เรื่อง พอที่จะให้อาจารย์รู้ว่าเรากำลังวาดหรือออกแบบอะไรอยู่ เราคิดหรือดีไซน์แบบแปลนนี้เป็นยังไง ทางเข้าหรือทางเดินอยู่ตรงไหน แต่ถ้ามีพื้นฐานก็จะวาดได้โฟลว์กว่าคนที่ไม่ได้เรียนมา

เพิ่มเติม: ในอดีตจะมีการสอบ PAT4 ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งต้องมีพาร์ทวาดรูป แต่การสอบดังกล่าวจะเปลี่ยนเป็น TPAT4 ซึ่งเริ่มใช้ใน TCAS66 และไม่มีการสอบวาดรูปแล้ว

พูดถึงการเรียนโดยภาพรวมในแต่ละชั้นปี

ปี 1 เทอม 1 จะเรียนเกี่ยวกับขั้นตอนการออกแบบงานสถาปัตยกรรม และฝึกเขียนภาพตามหลักการออกแบบทัศนศิลป์ เช่น จุดเส้นระนาบ ส่วน Final Project จะเป็นพวก 4D แล้วพอเทอม 2 จะเริ่มทำเก้าอี้  (Sitting Space) หรือ Mini Space แล้วปลูกบ้านเป็น Final Project ซึ่งตอนนั้นปี 1 ยังมีเข้าช็อปอยู่ เช่น ช็อปเหล็ก ช็อปไม้ เราก็จะได้จับงานจริงๆ และมีเรียนคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และภาษาอังกฤษด้วย

ปี 2 จะเรียนแบบคิดคอนเซ็ปต์ ซึ่งเป็นการคิดว่าเราจะหาไอเดียอะไรมาออกแบบสถาปัตยกรรม รวมถึงจะมีการใช้พวกคอมพิวเตอร์เพื่อการออกแบบ มีการวิเคราะห์พื้นที่ และได้เรียนพื้นฐานทางโครงสร้าง วัสดุ และการก่อสร้างในงานสถาปัตย์

ปี 3 จะเน้นออกแบบอาคารใหญ่ๆ หรืออาคารสาธารณะ ซึ่งสามารถตอบสนองการใช้งานได้จริงมากยิ่งขึ้น และเรียนเกี่ยวกับการใช้วัสดุ โดยจะมีเรื่องกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย 

ปี 4 จะเน้นออกแบบตึกสูงๆ บางทีเป็นโรงแรมหรืออพาร์ทเม้นท์ ซึ่งเป็นการออกแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น ต้องคิดถึงเรื่องโครงสร้างว่าเราจะใช้แบบไหน โดยมีทั้งการออกแบบวางผังและการออกแบบตกแต่งภายใน

ปี 5 ต้องทำธีสิสโดยประมวลความรู้ทั้งหมดเพื่อสร้างสรรค์และสรุปออกมาเป็นผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมเฉพาะตัว

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ต้องเตรียมอุปกรณ์การเรียนอะไรบ้าง? 

ถ้าตอนปี 1 ก็จะมีดินสอดราฟ ยางลบ ไม้ที ทีสไลด์ ซึ่งเรื่องสเกลก็สำคัญเนอะ พอปีโตๆ หน่อยคอมต้องดีต้องแรง ถ้าคอมใครแรงคนนั้นชนะ เพราะจะมีการเขียนแบบโดยใช้โปรแกรมปั้นโมเดล 3 มิติ แต่ก่อนยังมีการตัดโมเดลและเขียนแบบด้วยมือ แต่พอมีโควิดเลยปรับเป็นรูปแบบออนไลน์ เลยต้องมีการทำวีดีโอหรืออนิเมชั่นเพื่อนำเสนอด้วย

กระซิบนิดนึง ส่วนตัวคิดว่าวิชาไหนโหดที่สุด!

ก็คงต้องเป็นวิชาสตูดิโอหรือวิชาออกแบบที่เป็นวิชาเจอร์ (มาจาก Major) เราต้องอยู่กับมันนานเป็นเทอม แล้วมันค่อนข้างยากด้วยสเกลงานที่ค่อนข้างใหญ่ แต่เวลาการทำงานมันน้อยอะ โปรดักชั่นหนึ่งใช้เวลา 1 สัปดาห์ ต้องทำทุกอย่างทั้งแบบ 2D หรือ 3D ต้องมี Presentation ต้องเขียนแบบ ถ้าจัดการเวลาไม่ดีก็อาจจะต้องโต้รุ่งบ้าง

รูปแบบงานที่ทำส่วนใหญ่เป็นยังไง แล้วงานเยอะหนักไหม?

ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่เน้นการดีไซน์ออกมามากกว่า แต่วิชาสตูดิโองานเยอะสุดแล้ว งานอื่นก็เยอะ แต่มันแล้วแต่คนว่าจะจัดการเวลาได้ดีแค่ไหน แล้วอีกอย่างหนึ่งจะมีการประกวดแบบซึ่งมาบ่อยมาก มีกิจกรรมเยอะแยะมากมาย มีทุนด้วยนะ 

พูดถึงการสอบและการตัดเกรดหน่อยค่ะ

แล้วแต่อาจารย์ผู้สอนค่ะ แต่ก่อนก็มีทั้งข้อกาข้อเขียน บางวิชาก็เขียนรัวๆ บางวิชาก็การัวๆ ค่ะ ข้อสอบมีกี่ร้อยข้อก็อ่านกันไป แต่ช่วงนี้การเรียนการสอนเป็นรูปแบบออนไลน์ คิดว่าคงให้ทำในลักษณะ Open Book หรือบางวิชาก็ให้ทำงานส่งแทนค่ะ ซึ่งในอนาคตไม่แน่ว่าอาจจะได้กลับมาใช้รูปแบบเดิมคือเข้าไปนั่งสอบในห้องเหมือนเมื่อก่อนก็เป็นได้

ส่วนเรื่องการตัดเกรด แน่นอนค่ะตัด F ที่ 49 คะแนน (50 = D, 55 = D+, 60 = C, 65 = C+, 70 =B, 75 =B+, 80 = A) เป็นเกือบทุกตัวที่เราเรียนเลย ส่วนของคณะอื่นไม่ทราบว่าเป็นเหมือนกันหรือเปล่า แต่ของมอที่เป็นวิชาเรียนรวมก็จะประมาณนี้ค่ะ

กิจกรรมในหลักสูตรหรือสาขามีอะไรบ้าง?

ปกติจะมี Field Trip ทั้งในประเทศและต่างประเทศตามโปรเจกต์ของแต่ละชั้นปี ยกเว้นปี 5  แต่ช่วงนี้มีโควิดก็ไม่ค่อยได้ไปแล้ว นอกจากนี้ตอนปีหนึ่งมีกิจกรรมที่เราโอเคมากๆ คือกิจกรรมพี่สอนน้อง เป็นกิจกรรมที่จัดก่อนเปิดเทอม เหมือนเป็นการติวก่อนเข้าไปเรียนจริง พี่เขาก็จะมาสอนตัดโมเดล สอนใช้ไม้สเกลเพื่อวัดระยะในสเกลที่ต่างกัน สอนเขียนแบบ มันดีสำหรับคนที่ไม่ได้เรียนความถนัดสถาปัตย์และคนที่ไม่เคยรู้มาก่อน ซึ่งมีประโยชน์มากๆ กับน้องปี 1 และมีประโยชน์กับพี่ที่ได้ทวนตัวเองไปด้วย 

อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้เครียดที่สุดกับการเรียนในคณะนี้?

น่าจะเป็นเวลาในการทำงานที่น้อยมาก กับตอนคิด Process ที่จะทำโปรเจกต์งานให้ออกมาดี ซึ่งตอนเริ่มต้นโปรเจกต์เราต้องเอาข้อมูลไปคุยกับอาจารย์ ถ้าข้อมูลไม่แน่นพอก็อาจจะยากสำหรับการออกแบบ หรือบางทีเราออกแบบไปแล้วแต่อาจารย์ตีกลับมาก็ทำให้รู้สึกท้อได้เหมือนกัน

มีงานไหนที่ทำแล้วรู้สึกชอบ/รู้สึกภูมิใจบ้างไหมว่าเราทำได้ยังไง!

มีโปรเจกต์สตูดิโอตอนปี 3 เทอม 2 รู้สึกว่าตัวเองเก่งมากที่ผ่านมาได้ เพราะที่ผ่านมาเจอแต่การ ออกแบบหรือทำงานแบบเดิมๆ ก็รู้สึกหมดไฟกับการเรียนและการทำงาน เราคิดอะไรไม่ออกเลย แต่สุดท้ายก็ผ่านมันมาได้ด้วยดี ก็รู้สึกภูมิใจกับมันมาก เพราะเราไม่มีใจจะทำแล้วด้วยซ้ำนะตอนนั้น

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เรียนสถาปัตย์ต้องอดหลับอดนอน และเป็นคนติสท์หน่อยจริงไหม?

คนจะจำว่าเด็กสถาปัตย์ต้องอดหลับอดนอน ทำงานหามรุ่งหามค่ำ ถามว่ามีไหมก็มี แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เข้ามาเรียนแล้วจะต้องอดหลับอดนอน เพราะฉะนั้นการที่จะบอกว่าเด็กสถาปัตย์งานเยอะมาก ไม่ได้นอนเลย ต้องบอกว่ามันเป็นเรื่องจริงบ้างไม่จริงบ้าง ต้องจัดการเวลาตัวเองให้ดี ซึ่งจริงๆ ถ้าเข้ามาเรียนแล้วก็จะหาวิธีที่ทำให้ได้หลับได้นอนแล้วก็มีงานส่งได้ ส่วนเด็กสถาปัตย์ที่เซอร์ๆ ติสท์ๆ ก็มีนะ คนติสท์ก็ติสท์ คนแต่งเซอร์ก็แต่ง มันเป็นเรื่องของสไตล์ ไม่ได้หมายความว่าคนที่แต่งตัวแบบนี้ต้องเรียนสถาปัตย์เท่านั้น

จบไปประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง แล้วส่วนตัวได้วางแผนการทำงานในอนาคตไว้บ้างไหม?

จริงๆ ทำได้หลายอย่างเลย ทั้งออแกไนซ์ งานออกแบบต่างๆ อย่างออกแบบตึกหรือออกแบบกราฟิก รับงานเฉพาะเรนเดอร์ หรือไปทำงานรับเหมาเป็นสถาปนิกโครงการ แต่ส่วนตัวยังไม่ได้วางแผนอะไรขนาดนั้น

สุดท้ายนี้ฝากอะไรถึงน้องๆ หน่อยค่ะ

เราจะไม่บอกว่าให้หนีไป แต่ถ้าอยากเรียนก็เข้ามาเรียนให้มันรู้ ถ้ารู้ตัวแล้วว่ามันไปต่อไม่ได้ก็กลับหลังหัน แล้วก็เริ่มใหม่แค่นั้นเองค่ะ

  • ดูรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก

สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณรุ่นพี่จาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มารีวิวให้เราได้รู้กันนะคะว่าเด็กสถาปัตย์เรียนอะไรบ้าง และถ้าน้องๆ คนไหนสนใจหรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถคอมเมนต์ทิ้งไว้ด้านล่างได้เลยนะคะ ><

ขอขอบคุณรูปภาพจากhttps://www.youtube.com/watch?v=6vvBOxT4O8shttps://www.arc.cmu.ac.th/program/index.php?program=barch
พี่โบว์
พี่โบว์ - Converter แปลงไฟล์อีบุ๊กนิยาย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น