KU Freshy Guide! 10 สิ่งที่เฟรชชี่ควรรู้ใน ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน

สวัสดีค่ะ ครั้งก่อนๆ พี่โบว์ได้พาไปทำความรู้จักการเรียน กิจกรรม และการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยผ่านบทความ “รุ่นพี่ชี้แนะ!” กันไปแล้ว ครั้งนี้เราอาจจะไม่ได้เจาะลึกไปที่คณะใดคณะหนึ่งเหมือนเดิม แต่รับรองว่าบทความยังอัดแน่นไปด้วยข้อมูลแบบจัดเต็มแน่นอน โดยพี่จะพาทุกคนมาทำความรู้จักมหาวิทยาลัยสีเขียวย่านบางเขนนั่นคือ “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” กันค่ะ 

รวม 10 สิ่งที่เฟรชชี่ควรรู้ใน ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน
รวม 10 สิ่งที่เฟรชชี่ควรรู้ใน ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน

KU Freshy Guide! 10 สิ่งที่เฟรชชี่ควรรู้ใน ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 โดยหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ พระช่วงเกษตรศิลปการ และหลวงอิงศรีกสิการ มี 4 วิทยาเขต 1 โครงการจัดตั้ง  ได้แก่ บางเขน วิทยาเขตกำแพงแสน วิทยาเขตศรีราชา วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร และโครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยคือพระพิรุณทรงนาค สีประจำมหาวิทยาลัยคือสีเขียวใบไม้ และต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยคือต้นนนทรี

ข้อควรรู้ที่ 1 อัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อภาคการศึกษา (ภาคปกติ) /ปฏิทินการศึกษา

  1. คณะเกษตร : 14,300 บาท
  2. คณะประมง : 14,300 บาท
  3. คณะวนศาสตร์ : 14,300 บาท
  4. คณะวิทยาศาสตร์ : 16,300 บาท
  5. คณะวิศวกรรมศาสตร์ : 17,300 บาท
  6. คณะศึกษาศาสตร์ : 12,900 บาท
  7. คณะเศรษฐศาสตร์ : 12,900 บาท
  8. คณะสังคมศาสตร์ : 12,900 บาท
  9. คณะสัตวแพทยศาสตร์ : 16,300 บาท
  10. คณะอุตสาหกรรมเกษตร : 16,300 บาท
  11. คณะมนุษยศาสตร์ : 12,900 บาท
  12. คณะบริหารธุรกิจ : 12,900 บาท
  13. คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ : 14,300 บาท
  14. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ : 16,300 บาท
  15. คณะสิ่งแวดล้อม : 16,300 บาท
  16. วิทยาลัยบูรณาการศาสตร์ : 14,300 บาท
  • ดูคณะที่เปิดสอนพร้อมอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาเพิ่มเติม คลิก 
  • ดูหลักสูตรของแต่ละสาขาวิชา คลิก 
  • ดูปฏิทินการศึกษา คลิก 

เพิ่มเติม มีประกาศอย่างเป็นทางการออกมาแล้วว่า ปีการศึกษา 2565 ม.เกษตรฯ จะจัดการเรียนการสอนแบบออนไซต์ 100% ค่ะ 

อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ข้อควรรู้ที่ 2 การเดินทาง

การเดินทางนอกรั้วมหาวิทยาลัย

  • ฝั่งประตูพหลโยธิน
    • รถไฟฟ้า (BTS) สามารถเดินทางมาที่มหาวิทยาลัยได้ด้วยรถไฟฟ้าสายสีเขียว ลงที่สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทางออกที่ 1 แล้วเดินเข้ามหาวิทยาลัยตรงประตูออมสินค่ะ ดูเส้นทางและค่าใช้จ่าย คลิก
    • รถเมล์: สาย 26, 34, 39, 51, 59, 107, 114, 126, 129, 185, 503, 522, 524, 543ก
    • รถตู้: ฟิวเจอร์รังสิต-สะพานใหม่-ลาดพร้าว-ราม 1, ฟิวเจอร์รังสิต-สะพานใหม่-สี่พระยา, สะพานควาย-สวนจตุจักร-สะพานใหม่, อ.ส.ม.ท.-สะพานใหม่
  • ฝั่งประตูงามวงศ์วาน
    • รถเมล์: สาย 24, 63, 104, 114, 206 (จอดเฉพาะฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัย), 522, 545
    • รถตู้: พันทิพย์-มีนบุรี, เซ็นทรัลลาดพร้าว-บางใหญ่, ม.เกษตรศาสตร์-บางใหญ่
  • ฝั่งประตูวิภาวดี
    • รถเมล์: สาย 29, 52, 69 (เฉพาะขาไปอนุสาวรีย์ชัยฯ), 134 (เฉพาะขาไปหมอชิต 2), 187, 191 (เฉพาะขากลับเคหะคลองจั่น), 504, 510, 555
    • รถตู้: BTS จตุจักร-บางใหญ่, ฟิวเจอร์รังสิต-เดอะมอลล์งามวงศ์วาน
สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

การเดินทางภายในรั้วมหาวิทยาลัย

1. รถยนต์ส่วนตัว มีทั้งพื้นที่จอดฟรี เช่น บริเวณบางคณะ บางอาคารเรียน โรงอาหารกลาง 1  และพื้นที่ที่ต้องเสียเงินอย่างอาคารหรือลานจอดรถต่างๆ ดังนี้

  • อาคารจอดรถงามวงศ์วาน 1 (ทางเข้าประตูงามวงศ์วาน 1)
  • อาคารจอดรถงามวงศ์วาน 2 (ทางเข้าประตูงามวงศ์วาน 2)
    • เปิด 06.00 - 22.00 น.
    • ประเภทรายชั่วโมง 10 บาท/คัน/ชั่วโมง (ฟรี 30 นาทีแรก)
    • ประเภทรายเดือน (นิสิต) 600 บาท/คัน/เดือน
  • อาคารจอดรถวิภาวดี (บริเวณหลังอู่รถตะลัย) 
  • อาคารจอดรถบางเขน (บริเวณหลังอาคารสารนิเทศ 50 ปี) 
    • เปิด 06.00 - 20.00 น.
    • ประเภทรายชั่วโมง 10 บาท/คัน/ชั่วโมง (อาคารจอดรถวิภาวดีฟรี 10 นาทีแรก)
    • ประเภทรายเดือน (นิสิต) 600 บาท/คัน/เดือน
  • ลานจอดรถ Too Fast To Sleep @KU 
    • เปิด 24 ชั่วโมง
    • 10 บาท/คัน/ชั่วโมง (ฟรี 3 ชั่วโมงแรก)
  • ลานจอดรถโรงอาหารกลาง 2 
    • เปิด 04.00 - 22.00 น.
    • ชั่วโมงที่ 1 ฟรี, ชั่วโมงที่ 2 10 บาท, 3 ชั่วโมงเป็นต้นไป 30 บาท/คัน/ชั่วโมง
  • ลานจอดรถข้างหอประชุมใหญ่ (บริเวณประตูพหลโยธิน)
    • เปิด 24 ชั่วโมง
    • 3 ชั่วโมง 10 บาท (ช่วงนี้งดเก็บค่าจอด)
อาคารจอดรถวิภาวดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
อาคารจอดรถวิภาวดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

2. มอเตอร์ไซค์/จักรยาน มอเตอร์ไซค์ส่วนตัวถือเป็นพาหนะในการเดินทางที่นิสิตหลายคนเลือกใช้กัน เพราะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าและหาที่จอดได้ง่ายกว่ารถยนต์มาก นอกจากนี้ถ้าคนโล่งมากๆ จะเอาจักรยานมาปั่นเล่นก็ได้ 

3. วินมอเตอร์ไซค์ เหมาะสำหรับคนที่รีบมากๆ แม้บางช่วงจะต้องรอคิวนานนิดนึง แต่ยืนยันว่าเร็วกว่ารถตะลัยมากจริงๆ ดูอัตราค่าโดยสารวินมอเตอร์ไซค์ คลิก 

4. แท็กซี่ ภายในมหาวิทยาลัยมีแท็กซี่อยู่บ้างประปราย เหมาะสำหรับคนที่มากับกลุ่มเพื่อนแล้วหารกัน (แต่ถ้าคนเยอะแล้วนั่งเบียดกันไปในรถคันเดียวก็ไม่ดีนะ! ><)

5. เดิน ไม่ว่าแดดแรงขนาดไหน เด็กเกษตรก็หาทางลัดเลาะไปเรียนอีกตึกหนึ่งได้ ในกรณีที่ลิฟต์ช้าหรือคนรอลิฟต์เยอะก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกเดินขึ้น-ลงบันไดเช่นกันค่ะ (ขอบอกนิดนึงว่าเดินๆ ไปอาจจะเจอน้องตัวเงินตัวทองได้ โดยเฉพาะโซนกลางแถวๆ ทางเข้าบาร์ใหม่ แล้วที่มหาวิทยาลัยมีนกพิราบเยอะมาก!)

6. รถตะลัย เด็กเกษตรจะคุ้นเคยกันดีกับรถโดยสารสวัสดิการของมหาวิทยาลัยอย่าง “รถตะลัย” ย่อมาจาก "รถตระเวนรอบมหาวิทยาลัย" ซึ่งมีทั้งรถแบบเปิดขนาดเล็ก และรถขนาดใหญ่ที่แบ่งออกเป็นรถร้อนและรถแอร์ ในปัจจุบันรถตะลัยเหลือเพียง 3 สายเท่านั้น!! ได้แก่ สาย 1 (ป้ายสีแดง), สาย 3 (ป้ายสีเขียว) และ สาย 5 (ป้ายสีขาว) จุดแข็งคือมีรถของสายนั้นๆ เพิ่มขึ้น จุดอ่อนคือรถมาพร้อมกัน แฮ่!! ดูรายละเอียดของสายรถตะลัยเพิ่มเติม คลิก  

รถตะลัย ย่อมาจาก รถตระเวนรอบมหาวิทยาลัย
รถตะลัย ย่อมาจาก รถตระเวนรอบมหาวิทยาลัย

ข้อควรรู้ที่ 3 หอพักนิสิต

หอใน ภาคการศึกษาละ 2,000 บาท/คน และไม่ต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟ โดยแบ่งออกเป็น หอพักชาย 7 หลังและหอพักหญิง 8 หลัง ต้องต่อสัญญาปีต่อปี พักได้ห้องละ 4 คน ไม่มีแอร์ ห้องน้ำเป็นห้องน้ำรวม (ไม่มีห้องน้ำส่วนตัวภายในห้อง)

  • ดูรายละเอียดหอในเพิ่มเติม คลิก

อัปเดต! ด้วยโครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งประกาศเมื่อ 29 เม.ย. 2565 จะใช้พื้นที่หอพักนิสิตหญิงจัดตั้งเป็นคณะแพทยศาสตร์ จึงส่งผลกระทบต่อพื้นที่หอพักนิสิตหญิงตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1/2565 ดังนี้

  • หอพักขนาดเล็ก ได้แก่ หอพุทธรักษา หอราชาวดี ตึกบุษกร หอขจรรัตน์ หอคัทลียา หอมหาหงส์ จะเคลื่อนย้ายครุภัณฑ์ต่างๆ ออกจากพื้นที่ เพื่อทำการรื้อถอนในภาคเรียนที่ 1/2565
  • ในภาคเรียนที่ 1/2565 นิสิตที่ยืนยันสิทธ์ตามขั้นตอนจะได้รับสิทธิ์พักอาศัยทุกคน แต่นิสิตที่พักในหอพักขนาดเล็กจะถูกโยกย้ายไปตึกชวนชมหรือตึกชงโคทั้งหมด โดยมีเวลาให้ประมาณ 2 สัปดาห์ในการโยกย้าย
  • ตึกพักหญิงชวนชมและตึกพักหญิงชงโค จะเปิดให้พักอาศัยอีกประมาณ 3 ปีเท่านั้น ก่อนจะเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาล มก.

ข้อมูลจาก IG : newsroom.ku (27 พ.ค. 2565)

หอในนอก (ซอยพหลโยธิน 45) นิสิตไทยเดือนละ 2,300 บาท/คน นิสิตต่างชาติเดือนละ 6,000 บาท/คน ค่าน้ำยูนิตละ 16 บาท ค่าไฟหน่วยละ 5 บาท เป็นหอพักของมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้ตั้งภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถเดินทางไป-กลับได้โดยนั่งรถตะลัยสาย 5 (เป็นสายเดียวที่เข้าหอในนอกและขึ้นได้ที่หอสมุด) ขึ้นวินมอเตอร์ไซค์ หรือเดิน สามารถพักอาศัยได้ต่อเนื่องจนกว่าจะจบการศึกษา พักได้ห้องละ 4 คน มีแอร์ มีห้องน้ำในตัว โดยแบ่งออกเป็น หอพักหญิง 5 หลัง หอพักชาย 1 หลัง และหอพักนานาชาติ 1 หลัง

  • ดูรายละเอียดหอในนอกเพิ่ม คลิก 

รุ่นพี่นามแฝงว่า “บี” เล่าว่า ได้อยู่หอพุทธชาติซึ่งเป็นหอในนอกที่สร้างเป็นหอแรก เพราะตอนนั้นไม่มีเพื่อนไปสมัครด้วยจึงทำให้ได้อยู่หอนี้และได้คละห้องกับปี 1 ด้วยกัน แต่ถ้าอยากอยู่กับเพื่อนให้ไปสมัครด้วยกัน แล้วบอกเขาได้ว่าอยากอยู่หอไหน ส่วนหอนี้จะเล็กนิดนึง แต่ระเบียงกว้าง ใต้หอมีร้านข้าว ร้านน้ำ ร้านซักรีด และ Study Room ไว้อ่านหนังสือ มี WiFi ของมหาวิทยาลัยให้ใช้ฟรี มีแอร์ (เปิดทีเย็นออกนอกห้อง แต่แอร์เก่าและกินไฟ) มีที่จอดมอเตอร์ไซค์ข้างหอ มีตู้เสื้อผ้า เตียงนอน และโต๊ะหนังสือให้คนละมุม หน้าหอมี 7-Eleven นอกหอมีร้านส้มตำ อาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว ข้าวมันไก่ ความสะดวกของหอคือมีรถตะลัยรับส่ง  และถ้าจะเข้าซอยเดินเข้ามานิดเดียว เพราะทางเข้าหอมี BTS สถานีกรมป่าไม้อยู่หน้าซอยเลย มีวินมอเตอร์ไซค์หน้าหอด้วยค่ะ

  • ดูรายละเอียดหอพักโดยภาพรวม คลิก 

ข้อควรรู้ที่ 4 กิจกรรมต้อนรับเฟรชชี่

กิจกรรมของมหาวิทยาลัย

  • โครงการก้าวแรกสู่ศาสตร์แห่งแผ่นดิน (Proud to be KU)  หรือกิจกรรมปฐมนิเทศของมหาวิทยาลัย  ปกติจะจัดก่อนเปิดเทอม โดยจะมีการแนะนำประวัติความเป็นมาและการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งในปีนี้จัดระหว่างวันที่ 21-22 มิ.ย. 2565 เวลา 07.30-18.00 น. ที่อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ
  • กิจกรรมสู่อ้อมกอดนนทรี จะมีให้เล่นเกมในแต่ละฐาน ปกติปีที่ผ่านมาจะจัดช่วงบ่ายในวันเดียวกับโครงการก้าวแรกสู่ศาสตร์แห่งแผ่นดิน อย่างไรก็ตามกำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลง (ไม่จัดกิจกรรมนี้ตอนเรียนออนไลน์ในช่วงโควิด-19)
  • Freshy Day & Freshy Night ช่วงกลางวันจะมีกิจกรรมเล่นเกมเล็กน้อยตามฐานค่ะ แต่ทีเด็ดอยู่ช่วงกลางคืนที่จะมีศิลปินมาแสดง ถ้าอยู่ดูก็อาจจะต้องกลับดึกหน่อย แต่ต้องภาวนาว่าอย่าฝนตก น้ำท่วม พายุเข้าจนงานต้องยกเลิกไปกลางคันเหมือนบางปีนะคะ (ไม่จัดกิจกรรมนี้ตอนเรียนออนไลน์ในช่วงโควิด-19) 

กิจกรรมที่มักมีในทุกคณะ

  • กิจกรรมปฐมนิเทศของแต่ละคณะ ปกติจะจัดก่อนเปิดเทอม โดยจะมีการแนะนำประวัติความเป็นมา สาขาวิชาที่เปิดสอน การเรียนในคณะ และอาจจะมีพี่ศิษย์เก่ามาเล่าประสบการณ์ให้ฟังด้วย
  • กิจกรรมสอนน้องร้องเพลง เป็นกิจกรรมที่รุ่นพี่จะมาสอนเราร้องเพลงมหาวิทยาลัยและคณะ รวมถึงบูมของมหาวิทยาลัย ถ้าเป็นออนไซต์จะจัดหลายครั้งอยู่และมีกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ให้เล่นด้วย และมักจะจัดตั้งแต่ก่อนเปิดเทอมไปจนถึงเปิดเทอมแล้วช่วงหนึ่ง

ตัวอย่างกิจกรรมอื่นๆ 

  • เปิดโลกกิจกรรม พบกับชมรมมากมายได้ในกิจกรรมนี้ เช่น KU Band, KU Acoustic, KU Dance Club, KU Esports, KU Startup, KU Potential Club, ชมรมส่งเสริมศิลปะการพูด, ชมรมเกษตรสาน, ชมรมวรรณศิลป์, ชมรมศิลปการถ่ายภาพ อีกทั้งยังมีชมรมจิตอาสา ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ และชมรมทางศาสนาต่างๆ ถ้าได้เรียนออนไซต์กิจกรรมนี้จะจัดที่อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ ซึ่งใครสนใจเข้าร่วมชมรมไหนต้องห้ามพลาดกิจกรรมนี้เลยค่ะ (บางชมรมต้องมีการออดิชั่นก่อนเล็กน้อย)
  • ปฐมนิเทศการใช้หอสมุด เป็นกิจกรรมที่จะแนะนำประวัติความเป็นมา ขั้นตอนการยืม จอง สืบค้น และใช้ทรัพยากรภายในห้องสมุดได้แบบรู้ลึกรู้จริงค่ะ

เพิ่มเติม กิจกรรมที่ไม่จัดในช่วงออนไลน์อาจกลับมาจัดเหมือนเดิม ต้องรอติดตามกันให้ดีน้า!

กิจกรรมสู่อ้อมกอดนนทรี 2559!!
กิจกรรมสู่อ้อมกอดนนทรี 2559!!

การบังคับเก็บชั่วโมงกิจกรรม 

  • กิจกรรมมหาวิทยาลัย อย่างน้อย 3 กิจกรรม
  • กิจกรรมเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะ รวม 4 ด้าน ดังนี้
    • ด้านพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม อย่างน้อย 1 กิจกรรม
    • ด้านพัฒนาทักษะการคิดและการเรียนรู้ อย่างน้อย 1 กิจกรรม
    • ด้านพัฒนาทักษะเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล อย่างน้อย 1 กิจกรรม
    • ด้านพัฒนาสุขภาพ อย่างน้อย 1 กิจกรรม
  • กิจกรรมเพื่อสังคม อย่างน้อย 1 กิจกรรม

ถ้าเก็บชั่วโมงกิจกรรมไม่ครบไม่มีผลต่อการสำเร็จการศึกษา แต่จะไม่ได้เข้าพิธีพระราชทานปริญญาบัตรค่ะ ซึ่งหลายกิจกรรมที่พี่กล่าวถึงก็ได้ชั่วโมงด้วยนะ สามารถติดตามการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ ได้ทาง Facebook: กองพัฒนานิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วเข้ากิจกรรมตามที่ตัวเองสนใจและอยากเข้าได้เลย

ข้อควรรู้ที่ 5 อาหารการกิน

“บาร์” คือโรงอาหาร!!

น้องๆ หลายคนอาจทราบกันมาก่อนอ่านบทความนี้แล้วว่า เด็กเกษตรเรียกโรงอาหารว่า “บาร์” โดยจะมีตั้งแต่บาร์ที่เป็นโรงอาหารกลางต่างๆ และบาร์ที่เป็นโรงอาหารประจำคณะ วันนี้พี่ก็ได้ยกตัวอย่างบางบาร์มาให้ทำความรู้จักกันค่ะ

  • บาร์ใหม่ (โรงอาหารกลาง 1) โรงอาหารนี้ขึ้นชื่อในเรื่องของราคาที่ค่อนข้างถูก อาหารเยอะ และตั้งอยู่โซนกลางมหาวิทยาลัยเลย (ที่สำคัญมีแอร์ด้วย! แต่มักจะเปิดเฉพาะช่วงเที่ยงที่คนเยอะหน่อย) ถ้าให้กล่าวถึงร้านที่คนพูดถึงกันเยอะก็คงจะต้องเป็นร้านไก่ทอดนาย ร. ร้านเตยแก้ว (ร้านน้ำ) ร้านอาหารตามสั่งอย่างร้านป้าเฉื่อยและร้านพี่แอน (บางครั้งต้องรอคิวนานหน่อย) นอกจากนี้ก็ยังมีอาหารอีกมายมาย เช่น ข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บญวณ ข้าวมันไก่ ซูชิ สเต๊ก ของทอด ขนมหวาน ผลไม้ ส่วนตอนเย็นมีบาร์ไนท์ด้วย ซึ่งพอมีโควิดร้านส่วนใหญ่ก็ยังเปิดอยู่ค่ะ
    • สายรถตะลัยที่ผ่าน: สาย 1
  • บาร์ใหม่กว่า (โรงอาหารกลาง 2) พอมีบาร์ใหม่แล้วก็ต้องมีบาร์ใหม่กว่า  ที่นี่มีอาหารน้อยกว่าและราคาค่อนข้างแพงกว่าบาร์ใหม่หลายร้าน แต่ร้านน้ำเยอะกว่ามาก โดยมีอาหาร เช่น หมูปิ้ง อาหารตามสั่ง (ถ้าสั่งกะเพราอาจจะได้ผักชนิดอื่นมาด้วย) ข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยว สุกี้ บะหมี่หมูแดงหมูกรอบ เครป
    • สายรถตะลัยที่ผ่าน: สาย 3
  • บาร์วิทย์ เป็นโรงอาหารคณะวิทยาศาสตร์ที่คนเล่าต่อกันมาว่า เด็กวิศวะไปกินเยอะกว่าเด็กวิทย์! มีของกินค่อนข้างเยอะ เช่น อาหารตามสั่ง ข้าวราดแกง ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ ก๋วยเตี๋ยว เครป ร้านน้ำ ซึ่งพอมีโควิดก็ทำให้ร้านเปิดน้อยลง
    • สายรถตะลัยที่ผ่าน: สาย 1
  • บาร์วิศวะ เป็นโรงอาหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีของกินค่อนข้างเยอะเหมือนกัน เช่น ก๋วยเตี๋ยว อาหารตามสั่ง ข้าวราดแกง โรตี ขนมเบื้อง ของทอดต่างๆ  ร้านน้ำ  แต่ด้วยความที่มีโควิดก็ทำให้ร้านเปิดน้อยลงด้วยเหมือนกัน
    • สายรถตะลัยที่ผ่าน: สาย 1

ทั้งนี้ยังมีอาหารจากบาร์อื่นๆ ที่เป็นที่พูดถึงอีกมาก เช่น ก๋วยเตี๋ยวไก่และขนมโตเกียวบาร์เกษตร (บาร์ซอย) ยำมาม่าและข้าวมันไก่บาร์บริหาร (บาร์บัส) ในขณะที่บางคณะไม่มีบาร์เป็นของตัวเอง เนื่องจากใกล้กับบาร์ใหม่และบาร์ใหม่กว่า แต่มักจะซุ้มเล็กๆ บริเวณคณะให้ซื้ออาหารได้ เช่น ซุ้มโค้กตรงตึกมนุษยศาสตร์ 2 ตรงข้ามตึกมนุษยศาสตร์ 3 (ตึกนิเทศ) ซึ่งราคาอาจจะสูงกว่าอาหารในบาร์เล็กน้อย หรือร้านก๋วยเตี๋ยวคณะสังคมศาสตร์ที่ราคาค่อนข้างเข้าถึงได้ นอกจากนี้ยังมีร้านเล็กๆ ตามอาคารอีกมากมาย เช่น ไก่ทอด ศร.3 และข้าวไข่เจียว ศร.4 

โรงอาหารกลาง 1 (บาร์ใหม่) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โรงอาหารกลาง 1 (บาร์ใหม่) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ตัวอย่างร้านอาหารอื่นๆ ภายในมหาวิทยาลัย

  • Hotto Bun ร้านนี้อยู่แถวบาร์ใหม่กว่ามี 2 ชั้น มีเมนูบัน เมนูข้าว ของทานเล่น ขนมหวาน และเครื่องดื่มต่างๆ มีเกมให้นั่งเล่นกับเพื่อนได้ด้วย
  • Bellinee’s Bake เป็นร้านที่อยู่แถวบาร์ใหม่กว่าเหมือนกัน มีทั้งอาหารคาวหวาน ขนม และเครื่องดื่มต่างๆ แต่จุดเด่นจะอยู่ที่พวกขนมปัง
  • นา นา นา Cafe อยู่หน้ากรมการข้าว ข้างปั๊มปตท. มีกับข้าว ของหวาน และเครื่องดื่มหลายอย่างเลย โดยร้านเน้นส่งเสริมสินค้าจากเกษตรกรไทย และเป็นเมนูออร์แกนิกแทบทุกอย่าง ถ้ามาช่วงเที่ยงของวันจันทร์-ศุกร์จะมีบุฟเฟต์ด้วย!
  • We Quit Sugar Raw & Healthy Cafe เป็นร้านเล็กๆ อยู่บริเวณคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ร้านนี้ตอบโจทย์คนที่เป็นสายสุขภาพตามชื่อร้านเลย เป็นคาเฟ่ดีๆ ที่น่านั่งอีกร้านหนึ่งค่ะ

ตัวอย่างร้านอาหารรอบมหาวิทยาลัย

  • SaM SteakandMore เป็นร้านสเต๊กที่ไม่มีเด็กเกษตรคนไหนไม่รู้จัก! ด้วยราคาที่แสนถูกเมื่อเทียบกับปริมาณ ทำให้ร้านนี้เป็นร้านหนึ่งที่เด็กเกษตรหลายคนจะนึกถึงกัน แล้วมีสาขาที่เกษตรถึง 2 สาขาใกล้ๆ กันเลย ได้แก่ งามวงศ์วาน 60 (สาขา 3) และงามวงศ์วาน 58 (สาขา 5) เดินข้ามสะพานลอยจากมหาวิทยาลัยและเดินต่ออีกนิดนึงก็ถึงแล้ว เพราะอยู่ปากซอยเลย แต่บางครั้งอาจจะต้องรอคิวหน่อยนะ
  • Gorilla Griil เป็นร้านสเต๊กที่ขึ้นชื่อเรื่องความให้เยอะเหมือนแซม รู้สึกว่ามีเมนูให้เลือกเยอะกว่าด้วย แต่ราคาค่อนข้างสูงกว่านิดนึง เมนูที่โดดเด่นของร้านนี้คือคอมโบเซ็ทต่างๆ ที่ให้อย่างเยอะ ทำให้ราคาสูงตามไปด้วย แต่ถ้ามากับเพื่อนก็เรียกได้ว่าคุ้มค่ามาก ร้านตั้งอยู่ที่ซอยงามวงศ์วาน 64 ต้องเดินเข้าไปในซอยเล็กน้อยค่ะ
  • Kuma Shabu อยู่ในซอยงามวงศ์วาน 64 เช่นเดียวกับ Gorilla Griil เป็นร้านชาบูบุฟเฟต์จำกัดเวลา 90 นาที เริ่มต้นที่ 199 บาท ราคาค่อนข้างเข้าถึงได้ และยังมี Kuma Shabu&Sukiyaki สาขาเกษตร 2 ในซอยอมรพันธ์ด้วย แต่จะเป็นปิ้งย่างแทน ถ้าใครอยากทานบุฟเฟต์ชาบูหรือปิ้งย่าง ร้านนี้ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีเพราะใกล้มหาวิทยาลัยด้วยค่ะ
  • ร้านพี่กร เป็นร้านอาหารตามสั่งที่เด็กเกษตรหลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อกันมาบ้าง ต้องเดินเข้าไปในซอยงามวงศ์วาน 54 ค่อนข้างลึกเลย ข้าวเริ่มต้นที่ 59 บาท เสียงตอบรับหรือการรีวิวต่างๆ ก็ดีค่ะ ไปลองทานกันได้เลย!

นอกจากนี้ยังมีร้านดังอยู่ตรงข้ามมหาวิทยาลัยอีกมายมาย เช่น Shabu Indy, Texas Chicken, Bonchon ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ใน Home Village ข้ามสะพานลอยจากประตูงามวงศ์วาน 1 ได้เลย นอกจากนี้ที่ไกลจากมหาวิทยาลัยเล็กน้อยแบบนั่งรถไฟฟ้าหรือรถเมล์ไปก็ถึงจะมีหลายร้านเหมือนกัน เช่น Shabu Lab ย่างเนย สุกี้ตี๋น้อย สุกี้ดารา

ข้อควรรู้ที่ 6 สถานที่รอบรั้ว ม.เกษตร

  • สถานที่เสริมสร้างบุญบารมี/สิ่งศักดิ์สิทธ์ประจำมหาวิทยาลัย
    • พระพิรุณทรงนาค อยู่บริเวณหน้าอาคารสุวรรณวาจกกสิกิจและหน้าหอประชุมใหญ่ ถ้าต้องการไหว้ขอพรสามารถเตรียมธูปเทียน ดอกไม้ หรือน้ำแดงมาได้เลย
    • อนุสาวรีย์สามบูรพาจารย์ อยู่บริเวณหน้าสถาบันเกษตราธิการ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นอนุสาวรีย์ของผู้สถาปนามหาวิทยาลัย ใครอยากขอพรหรือบนอะไรต้องมาที่นี่เลย นิยมไหว้ขอพรด้วยธูปเทียน พวงมาลัย และเครื่องไหว้ต่างๆ ซึ่งมีวิธีแก้บน เช่น นั่งเล่นหมากรุกตอนเที่ยงคืน หรือถวายน้ำแดง (นิยมสุด) ม้าลาย ไก่ชน พวงมาลัย และเครื่องไหว้ต่างๆ ค่ะ
    • อาคารพุทธเกษตร อยู่ข้าง 7-Eleven และคณะอุตสาหกรรมเกษตร ภายในมี “พระพุทธชินสีห์จำลอง” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย และเป็นที่ตั้งของชมรมพุทธศาสน์ ซึ่งจัดกิจกรรมหลายๆ อย่างทางพระพุทธศาสนา เช่น ตักบาตรตอนเช้า สวดมนต์ ฟังธรรม จุดประทีปออนไลน์
    • นอกจากนี้ยังมีวัดรอบมหาวิทยาลัยอีกเพียบ ทั้งวัดเทวสุนทรที่อยู่ฝั่งวิภาวดีตรงข้ามมหาวิทยาลัยเลย เดินข้ามสะพานลอยก็ถึงแล้ว หรือจะเป็นวัดบางบัวและวัดพระศรีมหาธาตุฯ ที่เดินทางด้วย BTS ได้แล้วตอนนี้
  • ธนาคารในรั้วมหาวิทยาลัย: คลิก
  • ห้างสรรพสินค้า: เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน, เซ็นทรัล ลาดพร้าว, ยูเนี่ยน มอลล์,  เมเจอร์ รัชโยธิน
  • โรงพยาบาล: โรงพยาบาลวิภาวดี, โรงพยาบาลเปาโล
กิจกรรมตักบาตร ณ อาคารพุทธเกษตร จัดโดยชมรมพุทธศาสน์
กิจกรรมตักบาตร ณ อาคารพุทธเกษตร จัดโดยชมรมพุทธศาสน์ 

ข้อควรรู้ที่ 7 หน่วยงาน/สวัสดิการดีๆ ที่ควรรู้

  • กองพัฒนานิสิต อยู่ที่อาคารระพีสาคริก ดูแลในส่วนหอพัก สวัสดิการ แนะแนวการศึกษา ทุนการศึกษา และกิจกรรมต่างๆ ของนิสิต ถ้าเป็นออนไซต์แล้วจะส่งเอกสารขอทุน/กยศ.ต้องอาคารนี้เลย!
  • สำนักหอสมุด แบ่งออกเป็น อาคารช่วงเกษตรศิลปการ (อาคารเดิม) เป็นห้องสมุดรูปแบบเดิมที่เต็มไปด้วยสื่อสิ่งพิมพ์ และอาคารเทพรัตน์วิทยาโชติ (อาคารใหม่) เป็นห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ให้ยืมอุปกรณ์ เช่น โน้ตบุ๊ก ไอแพด และจองห้องศึกษาเดี่ยว/กลุ่มและโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กได้ด้วย เรียกได้ว่าเป็นทั้งแหล่งความรู้และแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของนิสิต โดยช่วงสอบจะเปิด 24 ชั่วโมงเลย
  • ร้านสหกรณ์ อยู่บริเวณด้านหน้าตามแนวถนนงามวงศ์วาน โดยให้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ชุดและเครื่องหมายนิสิต ของที่ระลึก และอื่นๆ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก
  • ศูนย์หนังสือ อยู่ด้านหน้าตามแนวถนนงามวงศ์วาน โดยให้จำหน่ายหนังสือ สื่อการเรียนการสอน และสินค้าที่ระลึกต่างๆ สั่งซื้อผ่านเว็บ คลิก  สั่งซื้อผ่านเพจ Facebook คลิก 
  • สำนักบริการคอมพิวเตอร์ อยู่ด้านหน้าตามแนวถนนงามวงศ์วาน โดยให้บริการเครือข่ายไร้สาย (KUWiN) บัญชี KU-Google ดาวน์โหลดโปรแกรมลิขสิทธิ์ต่างๆ ดูการให้บริการเพิ่มเติม คลิก  อีกทั้งยังมีห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์และห้องศึกษากลุ่มย่อยให้จองด้วย คลิก
  • กองกีฬา ศิลปะและวัฒนธรรม อยู่ใกล้กับอาคารจอดรถวิภาวดี รับผิดชอบงานด้านกีฬาโดยตรงค่ะ ทั้งฟิตเนส ลู่วิ่งสนามอินทรีจันทรสถิตย์ สนามแบดมินตันและเทนนิส และสระว่ายน้ำ สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก  
  • สถานพยาบาล อยู่ตรงข้ามที่ทำการไปรษณีย์ ติดกับสนามบาสเกตบอลและคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยเปิดให้บริการทางการแพทย์ทั้งโรคทั่วไปและเฉพาะทาง ทันตกรรม กายภาพบำบัด ตรวจและให้หนังสือรับรองสุขภาพ ดูรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก ติดต่อทางเพจ Facebook คลิก
  • KU Happy Place Center เป็นหน่วยบริการนิสิตพิเศษและส่งเสริมสุขภาวะนิสิต ซึ่งรับให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยาด้วย ปัจจุบันได้ย้ายจากหน้าอาคารเทพศาสตร์สถิตย์ไปที่ ศร.1 (ศูนย์เรียนรวม 1) ชั้น 1 เป็นการชั่วคราวค่ะ ติดต่อทางเพจ Facebook คลิก
  • ศูนย์ผลิตภัณฑ์นม อยู่บริเวณคณะอุตสาหกรรมเกษตร 7-Eleven และอาคารพุทธเกษตร พัฒนาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมเกษตรและน้ำดื่มตราเกษตร
อาคารเทพรัตน์วิทยาโชติ (อาคารใหม่) สำนักหอสมุด  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
อาคารเทพรัตน์วิทยาโชติ (อาคารใหม่) สำนักหอสมุด  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ข้อควรรู้ที่ 8 การลงทะเบียนเรียน/วิชาศึกษาทั่วไป

การลงเบียนเรียน แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 เช็กรายวิชาที่เปิดให้ลงทะเบียนเรียน เพราะบางวิชาอาจจะเปิดเฉพาะเทอมใดเทอมหนึ่ง บางวิชามีในหลักสูตรแต่ไม่เปิดสอน บางวิชากำหนดว่าต้องผ่านวิชาไหนก่อน บางเซคเปิดรับทุกคณะ/สาขา/ชั้นปี บางเซคล็อกให้เฉพาะบางคณะ/สาขา/ชั้นปี โดยให้เลือกรหัสที่ต่อท้ายด้วยปีล่าสุดของวิชานั้น เช่น 01355101-59 และ 01355101-64 เราจะต้องเลือกตัวหลังที่เป็นปี 64 จากนั้นต้องจัดตารางไม่ให้ชนกัน

ช่วงที่ 2 ลงทะเบียนเรียน โดยดำเนินการผ่าน my.ku.th ซึ่งต้องชำระเงินผ่านธนาคารก่อน 2 วันทำการหรือได้รับอนุมัติจากทาง กยศ. สามารถลงทะเบียนเรียนได้ตั้งแต่เวลา 10.00 - 16.00 น. ตามวันและเวลาที่กำหนดให้ และลงทะเบียนเรียนได้อีกครั้งเวลา 18.00 น. - 00.00 น. ถ้าเซคที่ต้องการเต็มอาจจะลงทะเบียนรายวิชาอื่นแทนในกรณีที่สามารถทดแทนกันได้ รีโหลดเว็บวนไปว่าจะมีใครถอนไหม ติดต่ออาจารย์ผู้สอนผ่านช่องทางต่างๆ ว่าเปิดรับเพิ่มได้ไหม หรือทำใจไปรอลงทะเบียนในเทอมถัดไปและในกรณีที่ไม่เปิดในเทอมถัดไปก็คงต้องรอปีหน้าเลย

ช่วงที่ 3 ปลดล็อกเซค/ลงทะเบียนไม่ระบุสาขาวิชา ย้อนกลับไปช่วงที่ 1 ที่พี่บอกว่าตอนแรกจะมีบางวิชาที่ล็อกเซคให้เฉพาะบางคณะ/สาขา/ชั้นปีลงทะเบียนได้เท่านั้น ในวันนี้จะเปิดให้ทุกคนลงทะเบียนได้ในกรณีที่เซคนั้นยังไม่เต็ม! (ถ้าเต็มอาจจะติดต่ออาจารย์ผู้สอนว่าเปิดรับเพิ่มไหม) ซึ่งวิชาโทหลายวิชาก็ต้องรอปลดล็อกเซคด้วย โดยวันแรกของการปลดล็อกเซคจะตรงกับวันเปิดเทอมพอดี จากนั้นยังลงทะเบียนเพิ่ม/เปลี่ยน/ถอนได้ด้วยตนเองอีกประมาณ 1 สัปดาห์ แต่หลังจากนั้นต้องรออาจารย์ผู้สอนอนุมัติก่อน และจะเป็นช่วงที่ถอนแล้วต้องติด W ตามลำดับ

เพิ่มเติม  ตอนปี 1 เทอม 1 จะมีบางวิชาที่ลงมาให้แล้ว แต่สามารถลงเพิ่มเองอีกได้

หมวดวิชาศึกษาทั่วไป เป็นวิชาที่มีในหลักสูตรของทุกคณะทุกสาขา ประกอบด้วย 5 กลุ่มสาระ ดังนี้

1. กลุ่มสาระอยู่ดีมีสุข (Wellness) เป็นวิชาพละต่างๆ วิชาละ 1-2 หน่วยกิต อาจจะต้องซื้อชุดพละของทางมหาวิทยาลัยเพิ่มด้วย แต่บางวิชาใส่ชุดนิสิตเรียนได้เลย โดยถ้าลงทะเบียนในเทอมไหนก็จะมีให้ทดสอบสมรรถภาพทางกายด้วย ดังนี้ 1. นั่ง-งอไปข้างหน้าให้ได้มากที่สุด 2. ลุก-นั่งเข่างอ (ซิทอัพ) 3. วิ่งไป-กลับให้ทันตามสัญญาณเสียง/เดิน-วิ่ง 12 นาที ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง Facebook: ศูนย์พัฒนาและบริการรายวิชากิจกรรมพลศึกษา ภาควิชาพลศึกษา ม.เกษตรศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีรายวิชาอื่นๆ ให้เราต้องเลือกเรียนด้วย เช่น 01999033 ศิลปะการดำเนินชีวิต และ 01387101 ศิลปะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น

2. กลุ่มสาระศาสตร์แห่งผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) เป็นเกี่ยวกับการเงิน เศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ และเทคโนโลยีต่างๆ วิชาละ 3 หน่วยกิต เช่น 01999041 เศรษฐศาสตร์เพื่อการดำเนินชีวิตที่ดี 

3. กลุ่มสาระภาษากับการสื่อสาร (Language and Communication) แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ดังนี้

  • ภาษาไทย เช่น 01999021 ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร และ 01361102 ภาษาไทยเพื่อการปฏิบัติ
  • ภาษาต่างประเทศ เป็นวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐานอย่าง ENG 1, 2, 3 และ 4 ที่จะกล่าวถึงในข้อควรรู้ถัดไป หรือจะเรียนมากกว่านั้นก็ได้ในกรณีที่จะเก็บวิชาโทภาษาต่างๆ เช่น โทภาษาอังกฤษ, โทภาษาเกาหลี
  • วิชาสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ เช่น 01371111 สื่อสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้

4. กลุ่มสาระพลเมืองไทยและพลเมืองโลก (Thai Citizen and Global Citizen)

  • วิชาบังคับเรียน 01999111 ศาสตร์แห่งแผ่นดิน เรียนเกี่ยวกับประวัติและความเป็นมาของมหาวิทยาลัย มีให้เล่นบอร์ดเกม และมีงานกลุ่มให้ทำโปรเจกต์ที่ต้องสำรวจและจัดทำอะไรบางอย่างที่ช่วยพัฒนามหาวิทยาลัย เช่น จัดทำสื่อ ผลิตสิ่งของต่างๆ
  • วิชาอื่นๆ ที่เปิดให้เรียน เช่น 01999032 ไทยศึกษา และ 01999031 มรดกอารยธรรมโลก

5. กลุ่มสาระสุนทรียศาสตร์ (Aesthetics) เช่น 01240011 การออกแบบในชีวิตประจำวัน ได้ไปเรียนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งในอดีตที่ยังเรียนออนไซต์จะมีงานที่ให้ไป IKEA ด้วย

  • ดูรายวิชาและคำอธิบายรายวิชาทั้งหมด คลิก
กิจกรรมในวิชา Art of Living (ศิลปะการดำเนินชีวิต)
กิจกรรมในวิชา Art of Living (ศิลปะการดำเนินชีวิต)

ข้อควรรู้ที่ 9 รายวิชาภาษาอังกฤษตามเกณฑ์ GAT 85/การสอบ  KU-EXITE ก่อนจบการศึกษา

นิสิตทุกคณะจะต้องเรียนวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐานให้ครบ 9 หน่วยกิตก่อนเรียนจบ (มีวิชาละ 3 หน่วยกิต = ต้องเรียน 3 วิชา)  มีทั้งอาจารย์ไทยและอาจารย์ต่างชาติให้เลือกเรียนด้วย ต้องบอกว่าเป็นวิชาที่เต็มเร็วมากๆ และส่วนใหญ่ตัดเกรดแบบอิงกลุ่ม คือ การตัดเกรดแบบจัดอันดับตามผลคะแนนรวมของคนที่ลงทะเบียนเรียนทั้งหมด ทำให้ไม่มีเกณฑ์การตัดเกรดที่แน่ชัด ซึ่งมี Eng ทั้งหมด 4 ระดับ โดยแต่ละคนอาจจะเริ่มเรียนในระดับที่ไม่เหมือนกันและต้องเรียนระดับต้นให้ผ่านก่อนจึงจะเรียนระดับที่สูงกว่าได้  (เป็นในวิชาภาษาอื่นๆ ด้วย ยกเว้นว่ามีคะแนนสอบไปยื่นเพื่อข้ามบางระดับ)

  • แบบที่ 1 ENG 1 > ENG 2 > ENG 3
  • แบบที่ 2 ENG 2 > ENG 3 > ENG 4
  • แบบที่ 3 ENG 3 > ENG 4 (เลือกเรียน 2 วิชา)
  • แบบที่ 4 ENG 4 (เลือกเรียน 3 วิชา)
เกณฑ์การจัดชั้นเรียนวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐาน  (นิสิตรหัส 65)
เกณฑ์การจัดชั้นเรียนวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐาน  (นิสิตรหัส 65)

จากภาพข้างต้นจะเห็นได้ว่ายึดตามคะแนน GAT 85 เป็นหลัก (อดีตใช้ O-NET) แต่ถ้าไม่มีคะแนน GAT 85 หรืออยากใช้คะแนนอื่นตามที่ระบุไว้ในตารางแทน น้องๆ ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน แต่ขั้นตอนการยื่นคะแนนอื่นอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละวิทยาเขต และต้องเสียค่าสมัครสอบเพิ่มเติม สนใจดูตารางสอบอื่นๆ คลิกที่นี่ โดยมีรายวิชาที่เปิดสอนทั้งหมด ดังนี้

01355101 ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน (English for Everyday Life)

วิชา ENG 1 จะเน้นทักษะการสื่อสาร โดยเฉพาะการฟังและการพูด ซึ่งส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองและการทํางานร่วมกับผู้อื่นค่ะ

01355102 ภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัย (English for University Life)

วิชา ENG 2 จะเน้นทักษะที่จําเป็นในการเรียน การอภิปราย และการนําเสนอ รุ่นพี่คนหนึ่งได้เล่าว่า ได้ลงเรียนกับอาจารย์ไทยผ่าน Zoom เนื้อหาคล้ายๆ ตอนมัธยม แต่เน้นเอาแกรมม่ามาใช้ในบทสนทนา โดยอาจารย์จะชอบสุ่มให้อ่านหรือตอบคำถาม มีทั้งงานเดี่ยวและงานกลุ่ม ส่วนใหญ่ให้อัดคลิปพูดสิ่งที่เราเขียนตามโจทย์ในหนังสือที่อาจารย์เลือกมา แล้วก็มีการกำหนดแกรมม่าและคำศัพท์ให้เราเลือกมาใช้เขียนสคริปต์งาน เท่าที่จำได้มีสอบทั้งแบบช้อยส์และแบบเขียน แต่ไม่มีควิซ

01355103 ภาษาอังกฤษเพื่อโอกาสในการทำงาน (English for Job Opportunities)

วิชา ENG 3 จะเน้นทักษะการสื่อสารและการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการทํางานในบริบทของความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมถึงความเข้าใจจริยธรรมและมารยาทในการทํางาน รุ่นพี่ได้เล่าว่า ได้ลงเรียนกับอาจารย์ไทยผ่าน Microsoft Teams มีทั้งงานเดี่ยวและกลุ่ม แต่ส่วนใหญ่เป็นงานกลุ่ม โดยอาจารย์จะ Breakout Room ในแต่ละคาบให้ช่วยกันทำแบบฝึกหัดในหนังสือ และท้ายเทอมมีให้ทำงานกลุ่มคล้ายๆ โครงงานพัฒนาระบบต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ส่วนสอบเป็นแบบเขียนทั้งมิดเทอมและไฟนอล แต่ไม่มีควิซ

รายวิชา ENG 4 (บางรายวิชาไม่เปิดสอนบางเทอม)

  • ดูรายละเอียดวิชา ENG 4 พร้อมคำอธิบายรายวิชา (ข้อมูลจากปี 2564) คลิก

รีวิว ENG 4 บางวิชาจากรุ่นพี่

01355107 ทักษะการเขียนภาษาอังกฤษที่จำเป็น (Essential English Writing Skills)

รีวิว: วิชานี้เรียนเกี่ยวกับการเขียนภาษาอังกฤษ โดยได้ลงเรียนกับอาจารย์ต่างชาติและเรียนผ่าน Google Meet อาจารย์สอนสนุกและค่อนข้างใจดี แอคทีฟตลอดเวลา ชวนทุกคนคุยตลอด ส่วนใหญ่ก็คุยรอคนเข้าให้ครบช่วงต้นคาบเพื่อเช็กชื่อ อาจารย์สอนนิดหน่อยแล้วปล่อยให้ทำงานส่งในคาบ มีทั้งงานเดี่ยวและงานกลุ่ม มีให้ทำแบบฝึกหัดในหนังสือ ให้เขียนพารากราฟแบบไม่ได้กำหนดหัวข้อมาให้ แต่กำหนดขอบเขตและรูปแบบการเขียนไว้ ส่งงานผ่านอีเมลกับอาจารย์โดยตรง ส่วนสอบเป็นแบบเขียนทั้งหมด ซึ่งจะมีให้เราเขียนพารากราฟโดยเลือกตามหัวข้อที่อาจารย์กำหนดให้ ไม่มีควิซ แล้วหลังสอบมิดเทอมอาจารย์จะให้เข้าพบตัวต่อตัวเพื่อแจ้งคะแนนสอบและบอกว่าตอบผิดตรงไหนบ้าง 

01355207 การเขียนโต้ตอบภาษาอังกฤษ (English Correspondence)

รีวิว: วิชานี้เรียนเกี่ยวกับการเขียนอีเมล โปสการ์ด เรซูเม่สมัครงาน เหมาะกับคนเขียนแบบทางการเก่ง คลังคำศัพท์เยอะ แกรมม่าเป๊ะ โดยได้ลงเรียนกับอาจารย์ไทยและเรียนผ่าน Zoom ซึ่งจะขอความร่วมมือให้เปิดกล้อง ระหว่างคาบอาจารย์จะสุ่มเรียกชื่อให้ตอบคำถามและให้ทำ Assignment เป็นคะแนนการมีส่วนร่วม ส่วนตอนสอบเป็นแบบเขียนล้วน ไม่มีช้อยส์ให้ แต่ไม่ได้ให้เขียนในรูปแบบพารากราฟทุกข้อ

นอกจากนี้ยังต้องสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ KU-EXITE เป็นการทดสอบวัดระดับความรู้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษสำหรับนิสิตที่จะสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ก่อนสำเร็จการศึกษา 1 ปีค่ะ ถ้าไม่เข้ารับการทดสอบจะไม่ได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร แต่สามารถยื่นคะแนนอื่นแทนได้ เช่น KU-EPT, TOEIC, TOEFL, IELTS สนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่

ข้อควรรู้ที่ 10  ถ้าได้ 5A ลดค่าเทอมไปเลย!!

รายละเอียดการยกเว้นค่าหน่วยกิต

  1. หน่วยกิตต้องรวมกันแล้วมากกว่า 15  หน่วยกิต  เช่น  ถ้าเราได้  A  ใน 5 วิชาพอดีเป๊ะ  ก็หมายความว่าใน  5 วิชานั้นต้องมีวิชาละ 3 หน่วยกิต  ทำให้รวมกันแล้วได้ 15 หน่วยกิต
  2. การยกเว้นค่าหน่วยกิต  ไม่ใช่การยกเว้นค่าเทอมหรือเรียนฟรีหนึ่งเทอมแต่อย่างใด  แต่ก็ลดค่าใช้จ่ายไปได้พอสมควร เช่น คณะมนุษยศาสตร์แบบเหมาจ่ายเทอมละ 12,900 บาท  มีค่าหน่วยกิตรวมอยู่ในนั้น 4,400 บาท แสดงว่าเราจะได้ลดค่าเทอมเหลือ 8,500 บาท
  • ดูรายละเอียดการรับทุน 5A เพิ่มเติม คลิก

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่ไม่ได้กล่าวถึงเยอะมาก อีกทั้งมีสวัสดิการดีๆ อีกมากมายรอให้น้องๆ มาใช้กัน ซึ่งครั้งนี้พี่ก็ได้รวบรวมข้อมูลส่วนหนึ่งมาเพื่อที่จะเป็นประโยชน์ต่อน้องๆ ที่มีความสนใจเข้าศึกษาต่อหรือสอบติดที่ ม.เกษตรฯ บางเขน แล้ว แต่ถ้าอยากรู้ข้อมูลแบบเต็มๆ ก็ต้องรอเข้าไปเรียนเองน้า ><

ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจากhttps://www.facebook.com/RotMaeThai/posts/3451802988223968/https://www.facebook.com/kusab.bk/posts/2169621526443218/ขอขอบคุณรูปภาพจากhttp://eco.ku.ac.th/2017/?p=3613&lang=thhttps://www.facebook.com/PublicRelations.KU/?ref=page_internalhttps://th.wikipedia.org/wiki/สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์http://nontrigames.kus.ku.ac.th/อาคารจอดรถ/https://oer.learn.in.th/kulib/search/index/4https://www.facebook.com/kuphotoclub/https://www.ku.ac.th/th/food-and-drink/https://www.facebook.com/BUDKU/?ref=page_internalhttps://www.facebook.com/ku.iged
พี่โบว์
พี่โบว์ - Converter แปลงไฟล์อีบุ๊กนิยาย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น