สวัสดีน้อง ๆ ชาว Dek-D เฟรชชี่หน้าใหม่ทุกคนค่ะ ใครเคยลอกการบ้าน ลอกงานเพื่อนสมัยมัธยมบ้างคะ แต่ขอเตือนไว้ก่อน! พอน้อง ๆ ขึ้นมหา’ลัยแล้ว อย่าหาทำอีกเด็ดขาด เพราะการลอกงานส่งอาจารย์ก็เหมือนหาเรื่องใส่ตัวเปล่า ๆ วันนี้พี่ ๆ ชาว Dek-D จะพาทุกคนไปเจาะลึกการคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) ว่าร้ายแรงยังไง พร้อมกับวิธีหลีกเลี่ยงค่ะ
เด็กมหา'ลัย อย่าหาทำ เสี่ยงโดนไล่ออก! การคัดลอกผลงานผู้อื่นร้ายแรงถึงขั้นผิดกฎหมาย
ชิ้นงานในมหาวิทยาลัย ทำไมต้องทำเอง
ชิ้นงานมัธยมอาจจะมีแค่ทำการบ้านหรือทำรายงานนิดหน่อย แต่มหา’ลัยจะมีงานหลากหลายรูปแบบกว่ามาก ไม่ว่าจะเป็นการบ้าน รายงาน โปรเจกต์ งานวิจัย วิทยานิพนธ์ ฯลฯ ขึ้นอยู่กับคณะและสาขาที่เรียน
จะเห็นได้ว่า ชิ้นงานในมหา’ลัยนั้นแตกต่างจะชิ้นงานสมัยมัธยมอย่างสิ้นเชิง ทั้งความซับซ้อนและความลึกของเนื้อหา รวมถึงการวิเคราะห์และการประยุกต์ใช้ ทำให้เราต้องสืบค้นจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายเพื่อประกอบการทำชิ้นงาน เช่น งานวิจัย บทความวิชาการ หนังสือ ข้อมูลออนไลน์ เป็นต้น
จุดมุ่งหมายของชิ้นงานมหาวิทยาลัย
- เพื่อประเมินความรู้และความเข้าใจในวิชาที่เรียน
- เพื่อพัฒนาความสามารถในการวิเคราะห์และการประยุกต์ใช้
- เพื่อพัฒนาทักษะการเขียนและการสื่อสาร
- เพื่อพัฒนาทักษะด้านอื่น ๆ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม ฯลฯ
ดังนั้นการทำงานด้วยตนเองเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้นิสิต/นักศึกษาพัฒนาทักษะและความสามารถที่จำเป็นสำหรับการทำงานและการใช้ชีวิตในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) คืออะไร
สำนักงานราชบัณฑิตยสภาบัญญัติศัพท์ Plagiarism ไว้ว่า “การโจรกรรมทางวรรณกรรม” “การลอกเลียนวรรณกรรม” หรือ “การลอกเลียนข้อมูลวิชาการ” หมายถึง การนำผลงานหรือความคิดของคนอื่นมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ให้เครดิตกับเจ้าของผลงานอย่างถูกต้อง
ตัวอย่างการคัดลอกผลงานผู้อื่น
- คัดลอกข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด โดยไม่ใส่อ้างอิง
- คัดลอกไอเดีย แนวคิด ทฤษฎีผู้อื่น โดยไม่ให้เครดิต
- ทำซ้ำหรือดัดแปลงผลงานผู้อื่นแล้วอ้างว่าเป็นของตัวเอง
- การแปลข้อความจากภาษาหนึ่งมาเป็นภาษาอื่นแล้วนำมาใช้โดยไม่ใส่อ้างอิง
การคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) ร้ายแรงยังไง
การคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) มีผลกระทบทางกฎหมาย “การละเมิดลิขสิทธิ์” และจริยธรรมทางวิชาการ และสามารถส่งผลให้ถูกลงโทษทางกฎหมายหรือทางวิชาการได้
กรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุว่า
- การละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรง มีโทษปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท หากเป็นการกระทำเพื่อการค้า มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- การละเมิดลิขสิทธิ์โดยอ้อม มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 100,000 บาท หากเป็นการกระทำเพื่อการค้า มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 บาท ถึง 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับลิขสิทธิ์เพิ่มเติมได้ที่ คลิก
โทษสำหรับนิสิต/นักศึกษาที่คัดลอกผลงานผู้อื่น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแต่ละกรณี
- ถูกปรับตกในวิชา มีผลต่อเกรดเฉลี่ยและการสำเร็จการศึกษา
- ถูกพักการเรียน มีผลต่อการเรียนและแผนการศึกษา
- ถูกไล่ออกจากสถาบัน มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออนาคต
- ระบุความผิดในใบแสดงผลการศึกษา ทำให้เป็นตราบาปติดตัวเราไปตลอดชีวิต
โป๊ะตรงไหน ทำไมอาจารย์ถึงดูออกว่าลอกมา
ในยุคที่อินเตอร์เน็ตใช้งานกันอย่างแพร่หลาย การคัดลอกผลงานผู้อื่นกลายเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายมาก เพียงแค่ Copy & Paste ก็สามารถนำข้อมูลจากเว็บไซต์หรือเอกสารต่าง ๆ มาใช้ได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องคิดหรือสร้างสรรค์อะไรใหม่เลย
เตือนไว้ก่อน! การนำข้อมูลจากหลายแหล่งมาตัดแปะโดยไม่ใส่อ้างอิงไม่ได้หมายความว่าอาจารย์จะไม่รู้ เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีและเครื่องมือที่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น
- โปรแกรมตรวจสอบการคัดลอกผลงาน (Plagiarism Checkers) เช่น Turnitin, Grammarly, Copyscape, CopyCatch เป็นต้น
- การค้นหาด้วย Google อาจารย์สามารถคัดลอกข้อความและค้นหาด้วย Google เพื่อตรวจสอบว่าแหล่งข้อมูลมาจากไหน
- ความชำนาญของอาจารย์ อาจารย์มักมีประสบการณ์และความรู้ในเนื้อหาที่สอนอยู่แล้ว จึงสามารถสังเกตเห็นความผิดปกติหรือส่วนที่คัดลอกมาได้ง่าย
หลีกเลี่ยง Plagiarism ยังไงได้บ้าง
- สืบค้นข้อมูลจากหลายแหล่งและสรุปสาระสำคัญทั้งหมด โดยเขียนเรียบเรียงเป็นภาษาตนเอง
- หากถอดความจากข้อความใดข้อความหนึ่ง ต้องมีทั้งการอ้างอิงแบบแทรกในเนื้อหา (in-text citation) และในรายการอ้างอิงหรือบรรณานุกรม (reference lists)
- หากคัดลอกมาโดยตรง ต้องมีทั้งการอ้างอิงแบบแทรกในเนื้อหา (in-text citation) พร้อมเครื่องหมายอัญประกาศ “__” และในรายการอ้างอิงหรือบรรณานุกรม (reference lists)
ตัวอย่างการอ้างอิง
1. การอ้างอิงแบบแทรกในเนื้อหา
คัดลอกมาโดยตรง ต้องมี “__” เสมอ
ในปี 2560 จิรภรณ์ อังวิทยาธร ได้นิยามว่า “ดนตรีบำบัด (Music Therapy) คือ การใช้กิจกรรมทางดนตรีไม่ว่าจะเป็นการฟังหรือเล่นดนตรีการร้องเพลง แต่งเพลง เพื่อบำบัดความเจ็บป่วย ฟื้นฟู สภาพร่างกาย อารมณ์และสติปัญญา” (ย่อหน้าที่ 3)
การถอดความ หมายถึง การนำข้อความต้นฉบับมาสรุปหรือเขียนใหม่โดยใช้คำและสำนวนของตนเอง เพื่อทำให้ข้อความเข้าใจง่ายขึ้น แต่ยังคงความหมายเดิมไว้
ข้อความต้นฉบับ “หากเปรียบเทียบการศึกษาไทยในระดับนโยบายคงเปรียบได้กับหมอ เพราะยาขนานเดียวของหมอรักษาได้ทุกโรค ซึ่งที่จริงแล้วมันไม่ใช่” (จำรัส ช่วงชิง, 2560, ย่อหน้าที่ 3)
ถอดความ จำรัส ช่วงชิง (2560) กล่าวถึงการศึกษาไทยว่า การที่นโยบายการศึกษาใช้วิธีการเดียวกันกับทุกปัญหา ทั้งที่แต่ละปัญหามีความเฉพาะตัวและต้องการวิธีการแก้ไขที่แตกต่างกัน ทำให้นโยบายดังกล่าวไม่ได้ผลตามที่คาดหวัง (ย่อหน้าที่ 3)
2. รายการอ้างอิงหรือบรรณานุกรม ระบุไว้ที่หน้าสุดท้ายเสมอ
พญาไท. (1 มีนาคม 2564). 8 ฮอร์โมนสำคัญของร่างกายที่ต้องทำความรู้จักและรับมือให้เป็น. สืบค้นจาก phyathai.com: https://www.phyathai.com/th/article/2561-8__essential_hormones_that_you_have_to_handle___branchpyt2
หมายเหตุ ชื่อเรื่อง ใช้ตัวเอียง
หมายเหตุ การอ้างอิงข้างต้นเป็นตัวอย่างการอ้างอิงรูปแบบ APA ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้โดยค้นหาว่า “การอ้างอิงรูปแบบ APA”
ขอบคุณข้อมูลจากhttps://coined-word.orst.go.th/https://www.ipthailand.go.th/images/2562/Suppress/lesson2.pdfhttp://www.personnel.nida.ac.th/main/images/DARIN/election/Plagiarism-Eve-RPU.pdfhttps://acesse.dev/VGvYnhttps://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/395/%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%9A%E0%B8%B3%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%94/https://www.bangkokbiznews.com/news/742615การคัดลอกผลงานคนอื่นอาจดูเหมือนง่าย แต่ผลกระทบที่ตามมาร้ายแรงมากถึงขั้นส่งผลต่ออนาคตและชื่อเสียงในระยะยาว สู้กัดฟันทำงานด้วยตัวเองดีกว่าเยอะ รู้จักกับ plagiarism กันไปแล้ว คราวหน้าพี่ ๆ ชาว Dek-D จะพาทุกคนไปเจาะลึกกับ “การใส่อ้างอิง” ตามไปอ่านกันได้ที่ คลิก
0 ความคิดเห็น