ทำความรู้จัก สเวตลานา อเลซีวิช เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ประจำปี ค.ศ. 2015

 
 
ทำความรู้จัก สเวตลานา อเลซีวิช
นักเขียนหญิงเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ประจำปี ค.ศ. 2015
อยากรู้ไหม เธอคนนี้มีดียังไง ถึงคว้ารางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมมาได้ มาดูๆ
 
สวัสดีน้องๆ ชาวไรเตอร์ทุกคนจ้า ไม่แน่ใจว่าเห็นข่าวกันหรือยัง กับผู้ชนะรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมประจำปี ค.ศ. 2015 ถ้ายังไม่เห็นก็ขอแจ้งอีกรอบว่า เธอคนนี้ชื่อว่า สเวตลานา อเลซีวิช (Svetlana Alexievich) ผู้สื่อข่าวและนักเขียนหญิงชาวเบลารุส วัย 67 ปี สเวตลานา เป็นชาวเบลารุสคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล และเป็นผู้หญิงคนที่ 14 ที่ได้รับรางวัลในสาขาวรรณกรรมนี้
 
ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับเธอ พี่ตินขอคั่นเวลาเบาๆ ด้วยการเล่าเรื่องรางวัลโนเบลฉบับย่อ ผู้ก่อตั้งรางวัลนี้คือ อัลเฟร็ด โนเบล (Alfred Nobel) นักเคมีชาวสวีเดน ผู้ประดิษฐ์ชุดดินระเบิดที่เรียกว่า ไนโตรกลีเซอรีน (Nitroglycerine) หรือระเบิดไดนาไมต์ รู้สึกเสียใจที่ระเบิดของเขาถูกนำไปใช้ในการคร่าชีวิตมนุษย์ จึงได้ระบุลงในพินัยกรรมว่า ขอยกทรัพย์สมบัติทั้งหมด ให้นำไปตั้งมูลนิธิโนเบล เพื่อสนับสนุน มอบรางวัลให้แก่บุคคลที่มีผลงานวิจัยโดดเด่นหรือสร้างคุณประโยชน์ให้กับมนุษยชาติ พิธีมอบรางวัลโนเบลจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยจัดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1901 (หลังจากโนเบลเสียชีวิตได้ห้าปี) ยุคแรกๆ แบ่งออกเป็น 5 สาขา ได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี การแพทย์และสรีรวิทยา วรรณกรรม สันติภาพ ต่อมาในปี ค.ศ. 1969 เพิ่มอีกหนึ่งสาขา คือ เศรษฐศาสตร์
 
เครดิตภาพจาก  NobelPrize.org
 
สำหรับปีนี้ รางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม เพิ่งจะประกาศผลกันสดๆ ร้อนๆ (เย็นวันที่ 8 ตุลาคม เมื่อวานนี้เอง) และผู้ได้รางวัลก็คือ สเวตลานา อเลซีวิซ อย่างที่พี่ตินบอกไปแล้ว ซึ่งนักเขียนคนนี้ ได้ใช้ทักษะความเป็นนักหนังสือพิมพ์ มาเขียนงานบอกเล่าความเป็นจริง โดยเธอเลือกมาแต่เหตุการณ์สำคัญๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง สงครามโลกครั้งที่สอง การล่มสลายของสหภาพโซเวียต สงครามโซเวียตในอัฟกานิสถาน หายนะจากโรงงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิล การฆ่าตัวตายของประชาชน และการล่มสลายของระบบคอมมิวนิสต์
 
ฟังแล้วคิดว่าไม่น่าแปลกใจที่เธอได้รับรางวัลนี้มาครอง ในเว็บไซต์ของเธอ สเวตลานา ชี้แจงไว้ว่า ในการสร้างสรรค์ผลงานแต่ละเล่ม เธอสัมภาษณ์ผู้คนมากถึง 500-700 คน (ต่อเล่มเลยนะ!!) ข้อความที่เธอเขียนไว้ถอดความโดยพี่ตินได้ดังนี้
 
“หนังสือของฉัน เขียนขึ้นจากคำพูดของผู้คนที่อยู่ในสถานการณ์จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นความหายนะจากโรงงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิล หรือการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เรื่องเล่าที่อาจดูธรรมดาๆ จากปากคำของพวกเขา ถือเป็น... ส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์”
 
อเลซีวิซ ยังกล่าวถึงงานเขียนของตัวเองด้วย เธอบอกว่า งานเขียนของเธอ “ไม่ใช่แค่การเล่าความจริงหรือให้ข้อมูล แต่เป็นการสื่อให้เห็นถึงความสำคัญของชีวิตมนุษย์ และเรื่องราวลึกลับเบื้องหลังที่ซ่อนอยู่”
 
สเวตลานา อเลซีวิซ นักเขียนและนักข่าวคนเก่ง 
เครดิตภาพ 
http://flavorpill.com/ 
 
“ฉันเขียนถึงความรู้สึกของผู้คนในประวัติศาสตร์” อเลซีวิซ อธิบายถึงผลงานของเธอ “สิ่งที่ผู้คนคิด เข้าใจ และจดจำในสถานการณ์นั้นๆ สิ่งที่ผู้คนเชื่อหรือถูกบิดเบือนเพื่อให้เชื่อ ภาพลวงตาที่ปรากฎ ความหวัง และความกลัวที่พวกเขาได้สัมผัส แทบเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะจินตนาการถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ ต่อให้ได้รายละเอียดมากแค่ไหนก็ตาม คนส่วนใหญ่เลือกที่จะหลงลืมความรู้สึกนั้นๆ ไป เพราะรู้สึกละอายหรือเจ็บปวดที่จะจดจำ บางคนก็ทำเป็นลืมความจริงที่เกิดขึ้น งานศิลปะหลายชิ้น อาจหลอกลวงหรือถูกบิดเบือนความหมาย แต่สารคดีของฉันจะต้องไม่เป็นอย่างนั้น”
 
เนื่องจากในประเทศของเธอ การเขียนวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา เป็นเรื่องยากและบางทีก็อันตราย อเลซีวิซจึงต้องหาวิธีของตัวเอง นั่นคือ
 
“ฉันพยายามหาทางนำเสนอผลงานออกมาอย่างดีที่สุด ระหว่างที่กำลังค้นหาวิธีนี้เอง ฉันก็เริ่มเข้าใจว่า... สิ่งที่ได้รับฟังจากผู้คนเหล่านั้น ทรงพลังยิ่งกว่าการอ่านจากบทความไหนๆ ถ้าเปรียบเทียบแล้ว พวกเขาใช้ปากแทนปากกา... ในการเล่าเรื่อง”
 
“หนังสือที่ฉันเขียน บอกเล่าเรื่องราวของผู้คนจำนวนมาก ครึ่งหน้าแรกอาจเป็นเรื่องราวของใครคนหนึ่ง ห้าย่อหน้าต่อมา เป็นเรื่องของอีกคน นั่นแหละคือวิธีการเล่าเรื่องในยุคนี้ หนังสือของฉันจัดอยู่ในกลุ่ม “เรื่องเล่าจากถ้อยคำ” ฉันเข้าไปเสาะหาข้อมูล รวบรวม จากนั้นก็ผสมผสานมันเข้าด้วยกัน ถ้ากุสตาฟท์ โฟลแบร์ต (ผู้เขียนหนังสือเรื่อง มาดาม โบวารี) บอกว่า "ผมทำหน้าที่เป็นปากกา" ฉันก็ทำหน้าที่เป็น “หู””
 
ประวัติส่วนตัว
อเลซีวิซ ไม่ใช่นักบันทึกประวัติศาสตร์คนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล ก่อนหน้านี้ วินสตัน เชอร์ชิล เองก็ชนะรางวัลนี้ในปี ค.ศ. 1953 จากสารคดีที่พูดถึงสงครามโลกทั้งสองครั้ง สำหรับผลงานเด่นๆ ของอเลซีวิซ ได้แก่ "The Chernobyl Prayer" "The War's Unwomanly Face" "Last Witness" และ "Zinky Boys" พ่อของเธอเป็นชาวเบลารุส ส่วนแม่เป็นชาวยูเครน เธอใช้ชีวิตอยู่ที่ยูเครนในตอนเด็ก ต่อมา ครอบครัวย้ายไปที่เบลารุส โดยพ่อแม่ของเธอเป็นครูทั้งคู่ อเลซีวิซ เริ่มต้นด้วยอาชีพนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ก่อนที่จะเข้าเรียนสาขานักข่าวที่มหาวิทยาลัย Minsk University โดยเธอทำสองอาชีพควบกันไป นั่นคือ เป็นครูและนักข่าว รวมถึงมีส่วนร่วมในนิตยสารหลายเล่ม เธอเขียนหนังสือมาหลายแนว และผ่านช่วงค้นหาตัวเองอยู่นาน ในเว็บไซต์ของเธอ อ้างถึงนักเขียนเบลารุส เจ้าของชื่อ Ales Adamovich เป็นคนที่เธอยกให้เป็นไอดอล โดยให้คำนิยามว่า “เขาช่วยให้ฉันค้นพบตัวเอง”
 
ผลงานเล่มแรกของอเลซีวิซ คือ "I've Left My Village" ตอนที่หนังสือเล่มนี้วางแผง เกิดเสียงฮือฮามาก ต่อมาในปี ค.ศ. 1983 เธอเขียนหนังสือที่ชื่อว่า "The Unwomanly Face of the War" ซึ่งถูกต่อต้านอย่างหนัก กว่าหนังสือจะผ่านการพิจารณาได้รับการตีพิมพ์ก็เมื่อปี ค.ศ. 1985 โดยใครๆ ระบุว่า... หนังสือของเธอมีจุดเด่นคือ นำเสนออารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในโซเวียตยุคสงครามและยุคหลังสงคราม
 
ผลงานโดดเด่นน่าสนใจ 
 
War’s Unwomanly Face (1988)
 

 
รู้หรือไม่ว่า... ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้หญิงโซเวียตมากกว่าหนึ่งล้านจำเป็นต้องลุกขึ้นสู้
 
“ผู้หญิงพวกนี้อยู่ในวัย 15-30 พวกเธอเก่งไม่แพ้ทหารมืออาชีพ บางคนก็เป็นนักบิน คนขับรถถัง จับปืนกล ยิงสไนเปอร์ ฯลฯ ผู้หญิงไม่ได้เป็นแค่พยาบาล... พวกเธอต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชาย แต่ผู้ชายขโมยชัยชนะไป และอ้างว่าเป็นของตัวเอง” อเลซีวิซกล่าว “ในหนังสือของฉัน ทหารหญิงจะมาบอกเล่าแง่มุมต่างๆ ของสงคราม ซึ่งเรื่องนี้ ผู้ชายไม่เคยพูดถึง ผู้ชายพูดอย่างหนึ่ง ผู้หญิงพูดอีกอย่าง จบจากสงคราม ผู้หญิงก็ต้องเผชิญกับสงครามต่อไป นั่นคือ ต้องซ่อนตัว และปกปิดความจริงที่ว่า... เธอเคยทำอะไรมาในสงคราม ถ้าหากไม่ทำแบบนั้น เธอก็จะไม่ได้แต่งงาน”
 
Zinky Boys: Soviet Voices From a Forgotten War (1992)
 
 
 
“เวลาหมุนไป โลกภายนอกดำเนินไป แต่ ณ ที่นั่น เหมือนโลกหยุดหมุน ราวกับเราย้อนเวลากลับไปเมื่อ 200 ปีก่อน” นี่คือประโยคที่พูดถึงสงครามโซเวียตและอัฟกานิสถานได้ดีที่สุด มันปรากฎอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ระหว่างสงคราม ซึ่งกินเวลานานถึง 10 ปี สถานการณ์เลวร้ายจนหลายคนเปรียบเทียบกับสงครามเวียดนาม ผู้คนจำนวนมากต้องล้มตาย หนังสือเล่มนี้ บอกเล่าเรื่องราวของผู้คน ทำให้เราได้รู้ว่า พวกเขาผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ นั้นมาได้อย่างไร
 
Zinger Boys” หมายถึงศพของทหารโซเวียต ที่ถูกส่งกลับมาในโลงเหล็ก ในขณะที่รัฐบาลไม่รับผิดชอบหรือพูดถึงเรื่องนี้ หนังสือของอเลซีวิซ บอกเล่าเรื่องราวที่ไม่มีใครรู้ ก่อนจะสร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่นี้ เธอเดินทางไปสำรวจสถานที่อย่างใกล้ชิด และสัมภาษณ์ทุกผู้คนในเหตุการณ์อย่างละเอียด ถือว่าเป็นนักข่าวที่มีความมุ่งมั่นมากจริงๆ
 
Voices From Chernobyl: The Oral History of a Nuclear Disaster (2005)
 

 
หนังสือที่รวบรวมเรื่องราวของผู้คนมากมาย อัดแน่นด้วยบทสัมภาษณ์มากกว่า 500 ชิ้น เนื้อหาหลักพูดถึงหายนะจากโรงงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิล ผ่านเรื่องเล่าของผู้รอดชีวิต สาเหตุที่ อเลซีวิซ เลือกเขียนเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งคงเพราะเหตุการณ์นั้นคร่าชีวิตน้องสาวของเธอ และทำให้แม่ของเธอต้องตาบอด
 
“เหตุการณ์เชอร์โนบิล ยังคงเป็นความลับดำมืดอยู่จนทุกวันนี้ บางอย่างที่เลวร้ายเกิดขึ้นกับเรา และเราก็ไม่เคยรู้ว่ามันคืออะไร และถ้าเราไม่ศึกษาหรือค้นหาคำตอบ เหตุการณ์นี้ คงส่งผลกระทบรุนแรงต่อรุ่นลูกรุ่นหลานของเรา”  
 
หลังจากเขียนบทความจบ อย่างแรกที่พี่ตินคิดก็คือ... มีสนพ. ไหน นำงานของนักเขียนคนนี้มาแปลบ้างไหมนะ... อยากลองอ่านดูบ้างจริงๆ ผลงานแต่ละชิ้น น่าสนใจมากๆ ล้วนแต่เลือกหยิบยกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สำคัญต่อมนุษยชาติมานำเสนอในแง่มุมที่แตกต่าง ทำให้เราได้รับรู้มุมมองใหม่ๆ อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ก็สมควรแล้วหละที่นักเขียนผู้นี้ จะได้รับรางวัลโนเบล... น่าภูมิใจแทนเธอจริงๆ
 
สำหรับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ประกาศเป็นสาขาแรก สาขาอื่นๆ จะตามมาในไม่ช้า ขอให้อดใจรอ พี่ๆ แห่งทีมเรียนต่อนอกจะจัดบทความดีๆ มาฝากน้องๆ ต่อเนื่องแน่นอนจ้ะ ^ ^
 
ขอบคุณที่มาอ่านด้วยกันนะ ทำบทความมามากมาย แต่พี่ตินชอบบทความนี้เป็นอันดับต้นๆ เลยหละ
 
อตินเอง
 
ขอบคุณข้อมูลจาก
พี่อติน
พี่อติน - Writer Editor ผู้ดูแลหมวดนักเขียนที่หลงใหลการอ่านแบบสุดๆ และไม่เคยพลาดทุกข่าวสารในวงการวรรณกรรม!

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
กำลังโหลด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด