5 เทพนิยายดิสนีย์ในฝัน กับต้นฉบับที่แสน ‘ป่าเถื่อน!’


5 เทพนิยายดิสนีย์ในฝัน
กับต้นฉบับที่แสน
‘ป่าเถื่อน’
 

สวัสดีค่าชาวเด็กดีทุกคน พี่เนยมั่นใจว่าถ้าพูดถึงการ์ตูนหรือภาพยนตร์จาก 'Walt Disney' แล้ว หลายคนต้องมีรอยยิ้มแน่นอนค่ะ เพราะเนื้อหาที่ทั้งความสดใสน่ารัก การสอดแทรกเรื่อง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ที่มาพร้อมกับบทเพลงอันแสนจะไพเราะอ่อนหวาน พี่เนยกล้าที่จะบอกได้เลยว่าไม่มีใครที่ไม่หลงรักเทพนิยายเหล่านี้แน่นอน
 
ทว่า... ในขณะที่ใครหลายๆ คนกำลังเพลิดเพลินและมีความสุขกับเทพนิยายเพลงที่แสนจะน่ารัก แต่จริงๆ แล้ว ผลงานที่เราหลงรักเหล่านั้นกลับมีต้นกำเนิดที่แสนจะ 'ป่าเถื่อนและโหดร้าย' ไม่ว่าจะเป็น การข่มขืน ความทรมาน การฆาตกรรม และเหตุการณ์น่ารังเกียจมากมาย อึ๋ยยย อ่านมาถึงตรงนี้พี่เนยขนลุกทั้งแขนเลยค่ะ และนี่คือ 5 เทพนิยายที่มีที่มาจากเรื่องราวอันโหดร้าย จนใครหลายๆ คนคาดไม่ถึง... แต่จะคาดไม่ถึงอย่างไร มา พี่เนยจัดหมวดหมู่ให้แล้วค่ะ ตามมาดูกันเลย
 

1. ซินเดอเรลล่า – การฆาตกรรม


 
ต้นฉบับ: ซินเดอเรลล่าฆ่าแม่เลี้ยงตัวเอง
 
โดยส่วนใหญ่แล้ว พวกเราจะรู้เรื่องราวของ ซินเดอเรลล่า มาจากพี่น้องตระกูลกริมม์ ว่าด้วยเรื่องที่เจ้าชายได้เทน้ำมันลงบนพื้นของพระราชวัง โดยหวังว่าจะสามารถหยุดยั้งซินเดอเรลล่าขณะที่เธอพยายามจะหลบหนี แต่กลับไม่เป็นผล อย่างไรก็ตาม รองเท้าข้างหนึ่งของเธอ ติดหนึบอยู่บนน้ำมันดังกล่าว และนั่นคือเบาะแสเดียวที่เจ้าชายจะใช้มันเพื่อออกตามหาเธอ ทว่า เมื่อพระองค์ตามไปพบบ้านของเธอ พี่สาวที่ 'สวยแต่กลับมีจิตใจชั่วร้าย' ทั้งสองคนของซินเดอเรลล่าได้พยายามที่จะหลอกเจ้าชายให้แต่งงานกับพวกเธอ พี่สาวคนแรกได้ตัดนิ้วเท้าของตัวเอง เพื่อให้เท้ามีขนาดพอดีกับรองเท้า ส่วนอีกคนได้ตัดส้นเท้าของเธอออก อุบายดังกล่าวถูกเปิดเผยเมื่อนกตัวหนึ่ง พยายามบอกเจ้าชายให้เห็นถึงรอยเลือดที่ไหลออกมาจากเท้า และตอนจบของเทพนิยายเรื่องนี้ ในงานแต่งงานของซินเดอเรลล่า เจ้านกสองตัวนี้ก็ยังตามมาจิกดวงตาของสองพี่น้องจนบอดเพื่อเป็นการลงโทษที่ทั้งสองได้หลอกลวงเจ้าชายและคิดร้ายต่อซินเดอเรลล่า!
 
ซินเดอเรลล่าฉบับดิสนีย์นั้น เป็นเรื่องราวที่ดัดแปลงมาจากต้นฉบับของชาร์ลส์ แปร์โรลท์ ในปี ค.ศ.1697 อย่างไรก็ตาม ทั้งฉบับของแปร์โรลท์และกริมม์ ต่างก็มีองค์ประกอบอิงมาจากวรรณกรรมของ จิอัมบัตติสตา เบซิล ในปี ค.ศ. 1634
 
เทพนิยายฉบับนี้ กล่าวว่าซินเดอเรลล่าได้ปรับทุกข์กับแม่นมเกี่ยวกับความโหดร้ายของแม่เลี้ยงของเธอ แม่นมได้บอกกับซินเดอเรลล่าว่าเธอจะต้องฆ่าแม่เลี้ยงด้วยการกระแทกฝาหีบขนาดใหญ่ลงบนลำคอของนางจนขาด จากนั้นก็ให้ซินเดอเรลล่าโน้มน้าวให้พ่อของเธอแต่งงานกับแม่นม หลังจากที่หญิงสาวฆ่าแม่เลี้ยงของเธอแล้ว และการแต่งงานดังกล่าวก็ดำเนินไป แต่กลายเป็นว่าแม่นมได้ซ่อนลูกสาวที่มีหน้าตาสะสวยไว้ถึงทั้งเจ็ดคน ต่อมา เมื่อพ่อของซินเดอเรลล่าละเลยความสนใจในตัวของแม่นมผู้นี้ นางและลูกสาวจึงเริ่มทารุณซินเดอเรลล่า เหยียดหยามชื่อเธอ (ซินเดอเรลล่าแปลว่าเจ้าหญิงขี้เถ้า) และส่งเธอไปยังห้องครัวเพื่อเป็นคนรับใช้ และเนื้อเรื่องส่วนที่เหลือหลังจากนี้ก็ดำเนินไปเหมือนกับเทพนิยายของดีสนีย์และมีความสุขในตอนจบ ถึงแม้ว่าเธอจะโดนแม่นมหลอกใช้ แต่สิ่งที่เธอทำกับแม่เลี้ยงของเธอนั้น แสดงให้เห็นว่าความจริงแล้วซินเดอเรลล่านี่ก็ไม่ได้ไร้เดียงสาเสมอไป

 
2. เดอะลิตเติ้ลเมอร์เมด - การประทุษร้าย
 

 
ต้นฉบับ: เงือกสาวฆ่าเจ้าชาย
 
ตามท้องเรื่องของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน ที่เป็นต้นฉบับของ เดอะลิตเติ้ลเมอร์เมด นางเงือกน้อยต้อง ถูกตัดลิ้น และใช้ชีวิตท่ามกลางความหวาดกลัวและเจ็บปวด ข้อเท้าของเธอมีเลือดออกไม่หยุด เมื่อเจ้าชายตัดสินใจแต่งงานไปหญิงสาวคนอื่น ทางเลือกของนางเงือกน้อยก็คือ เธอสามารถฆ่าเจ้าชายแล้วกลับไปเป็นนางเงือกดังเดิม หรือเธอจะไม่ฆ่าเจ้าชายแล้วกระโดดลงไปในมหาสมุทรเพื่อฆ่าตัวตาย
 
แต่ 'เดอะลิตเติลเมอร์เมด' ต้นฉบับของเซนนั้น ได้รับแรงบันดาลใจจากนิทานเรื่อง องดีเน่ (Undine แปลว่า พรายน้ำเพศหญิง) ของ ฟรีดริช เดอลา มอตต์ โฟค ในเรื่องนี้อัศวินคนหนึ่งแต่งงานกับพรายน้ำและเธอก็ได้กลายเป็นมนุษย์ เธอมีน้องสาวต่างแม่ที่ค่อนข้างจะร้ายกาจอาศัยอยู่ในปราสาทด้วยกันชื่อ เบอร์ทิลด้า ทำให้ชีวิตการแต่งงานของเธอเริ่มวุ่นวาย ไม่นานอัศวินก็ตกหลุมรักเบอร์ทิลด้า และเริ่มปฏิบัติไม่ดีกับพรายน้ำ ซึ่งนั่นทำให้ลุงของเธอโกรธอย่างมาก พรายน้ำต้องขว้างปาข้าวของของตัวเองลงไปในแม่น้ำอย่างบ้าคลั่ง เพื่อปกป้องสามีและเบอร์ทิลด้าจากลุงของเธอ และเธอก็สูญเสียความเป็นมนุษย์ และจะต้องกลับกลายเป็นพรายน้ำอีกครั้ง อัศวินเข้าใจว่าเธอตายไปแล้วจึงแต่งงานกับเบอร์ทิลด้า แต่นั่นถือเป็นความผิดพลาด แต่ด้วยพันธสัญญาที่ผูกมัดไว้ พรายน้ำจึงต้องฆ่าสามีของตัวเอง หลังจากฝังศพสามีแล้วก็ปรากฏแสงเล็กๆ ขึ้นล้อมรอบหลุมศพเขา ดังนั้นพรายน้ำและอัศวินจึงได้ใช้ชีวิตด้วยกันตลอดไปในโลกแห่งความตาย
 
3. สโนว์ไวท์ - ความทรมาน
 

 
ต้นฉบับ: สโนว์ไวท์ถูกทรมานและกลายเป็นทาส
 
ถ้ายังจำกันได้ ในเทพนิยายสโนว์ไวท์ของพี่น้องตระกูลกริมม์นั้น ราชินีใจร้ายสั่งนายพรานให้นำปอดและตับของสโนว์ไวท์กลับมาเป็นหลักฐานการฆาตกรรมของตน ทว่านายพรานกลับเลือกที่จะนำเครื่องในหมูมาให้แทน ราชินีทรงเชื่อว่านั่นคือปอดและตับของสโนว์ไวท์จริง จึงกินเครื่องในนั้นเข้าไปจนหมด แต่ต่อมาวันหนึ่ง กระจกวิเศษก็บอกความจริงนี้แก่พระองค์ และเป็นเหตุให้ราชินีพยายามจะฆ่าสโนว์ไวท์ต่อมาอีกสามครั้งสามครา โดยครั้งแรกนางปลอมตัวเป็นหญิงชราไปที่หน้าบ้านของคนแคระ และใช้วิธี ดึงเชือกคอร์เซ็ท (ชุดชั้นในมีสายรัดของผู้หญิงในสมัยก่อน) ของสโนว์ไวท์จนแน่นทำให้เธอหายใจไม่ออก แต่คนแคระกลับมาพบและแก้ไขได้ทัน ครั้งที่ 2 ราชินีก็ปลอมตัวเป็นหญิงชรามาอีก และแปรงผมของสโนว์ไวท์ด้วย หวีอาบยาพิษ ทำให้สโนว์ไวท์ต้องตกอยู่ในสภาพนอนหลับแต่เหมือนตาย แต่เมื่อคนแคระดึงหวีออกมา เธอจึงฟื้นขึ้น แต่ท้ายที่สุด ราชินีก็ได้นำแอปเปิ้ลอาบยาพิษไปให้สโนว์ไวท์กินเพื่อเป็นการปิดจ๊อบเรื่องทั้งหมด หลังจากกินแอปเปิ้ลเข้าไป สโนว์ไวท์ก็มีสภาพเหมือนคนตาย คนแคระไม่อาจแก้ไขได้อีก จึงนำศพของเธอไปวางไว้ในโลงแก้ว ต่อมา เจ้าชายผ่านมาพบเข้า และตัดสินใจที่จะพาเธอกลับไปด้วย ในขณะที่กำลังเคลื่อนย้ายโลงศพนั้น ชิ้นส่วนของแอปเปิ้ลก็หลุดออกมา สโนว์ไวท์จึงฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง และได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชาย ส่วนราชินีใจร้าย ก็ถูกบังคับให้สวมรองเท้าที่ใส่เหล็กร้อนๆ และต้องเต้นรำไปจนขาดใจตาย  
 
พี่น้องกริมม์ได้ไอเดียของนิทานเรื่องสโนว์ไวท์มาจากเรื่อง เดอะ ยัง สลาฟ ซึ่งเขียนโดย จิอัมบัตติสตา เบซิล ในปี ค.ศ. 1634 ในเรื่องนี้ ทารกน้อยถูกนางฟ้าใจร้ายคำสาปว่าต้องตายเมื่ออายุครบเจ็ดปี เมื่อเด็กสาวอายุเจ็ดขวบ มารดากำลังหวีผมให้เธอ หวีนั้นกลับฝังเข้าไปในศีรษะของเด็กสาว และทำให้เธอตาย แม่ของเธอวางศพเด็กสาววัยเจ็ดขวบลงในโลงแก้ว จากนั้นก็ขังเธอเอาไว้ในปราสาท ในที่สุดแม่ของเธอก็ตรอมใจตาย และได้มอบกุญแจให้กับพี่ชายของเธอซึ่งเป็นลุงของเด็กน้อย และบอกเขาว่าประตูนั้นถูกล็อคเอาไว้ตลอดเวลา ป้าสะใภ้ได้แอบนำกุญแจไปเปิดประตู และพบว่าหญิงสาวสวยที่อยู่ภายในโลงแก้ว (หญิงสาวได้เติบโตขึ้นในขณะที่เธอกำลังนอนหลับ) นางคิดว่าสามีของตนได้ขังหญิงสาวเอาไว้ในห้องเพื่อที่จะมีสัมพันธ์ด้วย ด้วยความโกรธนางจึงจิกลากผมของหญิงสาวที่กำลังหลับ ทำให้หวีในศีรษะของหญิงสาวนั้นหลุดออก และเด็กสาวก็ฟื้นขึ้นมา ป้าสะใภ้ได้ตัดผมของหญิงสาวออกมา และใช้มันเฆี่ยนเธอจนเลือดออก จากนั้นก็นำเธอไปเป็นทาสและทุบตีทำร้ายเธอทุกวัน ทำให้หญิงสาวมีดวงตาสีดำสนิทและมีริมฝีปากแดงจัดดังสีเลือด ดูราวกับว่าเธอนั้น 'กินนกดิบๆ เข้าไป' หญิงสาวตัดสินใจที่จะฆ่าตัวตาย และขณะที่เธอกำลังลับมีดอยู่นั้น เธอก็ได้ระบายความทุกข์ใจกับตุ๊กตา ลุงของเธอผ่านมาได้ยินเข้าและเรื่องราวทั้งหมดก็ถูกเปิดเผย เขาขับไล่ภรรยาของเขาออกจากบ้าน และพาหลานสาวไปรักษาตัว และจากนั้นเธอก็ได้แต่งงานกับสามีที่ร่ำรวย (เทพนิยายเรื่องนี้ชื่อว่า "เจ้าหญิงกุหลาบ" นั่นเอง อ่านละเอียดๆ ได้ในบทความเรื่อง 9 เทพนิยายที่คนรู้จักน้อย แต่เนื้อหาจี๊ดมาก ค่ะ)

 
4. เจ้าหญิงนิทรา – นอนหลับท่ามกลางซากศพ
 

 
ต้นฉบับ: เจ้าหญิงหลับอยู่ท่ามกลางซากศพเน่าเปื่อยนับร้อย
ภายในรั้วที่เต็มไปด้วยหนามแหลม

 
ตามตำนานของพี่น้องตระกูลกริมม์ นางฟ้าใจร้ายได้สาปแช่งเจ้าหญิงน้อยว่า เมื่อเธอมีอายุครบครบ 15 ปี นิ้วของเธอจะถูกทิ่มด้วยเข็มปั่นด้ายและสิ้นใจตาย แต่นางฟ้าองค์สุดท้ายที่ยังไม่ได้อวยพรให้เธอ ได้เสกพรลดทอนคำสาปแช่งให้เจ้าหญิงเหลือเพียงนอนหลับไปแทน เธอจะหลับไปหลายร้อยปี และแน่นอน เมื่อเจ้าหญิงมีอายุครบ 15 ปี เธอก็ถูกเข็มปั่นด้ายทิ่มนิ้วแล้วหลับใหลไปเหมือนคนตาย ข่าวนี้แพร่กระจายไปทั่วทั้งราชอาณาจักรอย่างรวดเร็ว ประชาชนทุกคนแม้แต่แมลงวันบนผนังต่างก็หลับใหลและทั้งเมืองก็ถูกปกคลุมด้วยหนามกุหลาบแหลมคม ผู้คนนับร้อยจากต่างแดนที่ทราบข่าวต่างก็พยายามที่จะฝ่าหนามแหลมเหล่านั้นเข้ามาเพื่อที่จะยลโฉมของเจ้าหญิงที่ทรงหลับไหล แต่ด้วยหนามแหลมที่ทั้งคมและหนา ทำให้ชายหนุ่มทั้งหลายต่างก็ติดอยู่ในบ่วงหนาม และค่อยๆ เสียชีวิตอย่างน่าอนาถ นับร้อยปีหลังจากนั้นได้มีเจ้าชายขี่ม้าผ่านมา หนามกุหลาบแหลมคมทั้งหลายกลับกลายเป็นดอกไม้ และเปิดทางให้เจ้าชาย เพราะคำสาปได้สิ้นสุดลง ในที่สุดเจ้าชายก็พบกับเจ้าหญิงนิทรา และจูบเธอทำให้เธอตื่นฟื้นจากคำสาป
 
พี่น้องตระกูลกริมม์ได้รับแรงบันดาลใจ มาจากนิทานเรื่อง ซัน มูน แอนด์ทาเลีย (Sun, Moon and Talia) ซึ่งเขียนโดย จิอัมบัตติสตา เบซิล ในนิทานเรื่องนี้ พระราชาองค์หนึ่งพบทาเลียนอนหลับอยู่ในอาณาจักรร้าง เขาได้มีสัมพันธ์กับเธอทั้งๆ ที่เธอกำลังนอนหลับอยู่และหนีหายไป (บางตำราก็บอกว่าพระราชาคือพ่อของเธอเอง) ทาเลียตั้งครรภ์ทั้งที่หลับ และในที่สุดเธอก็ให้กำเนิดลูกฝาแฝด หนึ่งในทารกน้อยหิวและพยายามที่จะดูดนม แต่ไปพบกับนิ้วของเธอแทน เด็กน้อยดูดนิ้วของเจ้าหญิงที่โดนทิ่มด้วยเข็มพิษ ทำให้เธอฟื้นขึ้นมา เมื่อพระราชากลับมาก็พบกับทาเลีย ทั้งคู่จึงมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งต่อกัน จนราชินีเกิดความริษยา รับสั่งให้ ฆ่าลูกแฝดและนำมาปรุงเป็นอาหาร ให้พระราชา และพยายามที่จะเผาทาเลียทั้งเป็น แต่โชคยังดีพระราชาได้ยินเสียทาเลียตะโกนร้องจึงให้ความช่วยเหลือได้ทันเวลา ราชินีและคนรับใช้ของนางจึงถูกจับโยนในกองไฟแทน จากนั้นพระราชาและทาเลียก็อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข 

ทำไมพี่เนยฟังแล้ว ยิ้มไม่ออกและไม่มีความสุขก็ไม่รู้ซี - -'

 
5. โพคาฮอนทัส – การข่มขืน
 

 
ต้นฉบับ: โพคาฮอนธัสถูกลักพาตัว ข่มขืน และฆาตกรรม
 
เป็นเรื่องเกี่ยวกับสาวอินเดียน (แดง) พื้นเมือง ที่มีรูปร่างงดงามเย้ายวน และชอบนุ่งน้อยห่มน้อย ช่วงต้นในยุคการล่าอาณานิคมของอังกฤษ โพคาฮอนทัสอายุได้ราว 10 ปี ตอนที่สมิธทำการติดต่อเมืองพาวแฮแทนเป็นครั้งแรก เขาถูกจับตัวและหายไป ข่าวคราวของสมิธไม่ปรากฎอีกเลยจนกระทั่งหลายปีต่อมา เมื่อชื่อของโพคาฮอนทัสกลายเป็นที่รู้จักในประเทศอังกฤษ เธอคือผู้ที่ช่วยเหลือสมิธเอาไว้ ต่อมาเธอได้แต่งงานกับโคโคอุม และเมื่อโพคาฮอนทัสอายุ 17 ปี เธอถูกจับตัวและเรียกค่าไถ่โดยชาวอังกฤษ ส่วนสามีของเธอถูกฆ่าตาย และโพคาฮอนทัสก็ถูกข่มขืนซ้ำแล้วซ้ำเล่า เธอเปลี่ยนเป็นคริสต์ศาสนิกชนอย่างรวดเร็วด้วยพิธีจุ่มศีลล้างบาป และแต่งงานอีกครั้งกับเกษตรกรชาวอังกฤษชื่อว่า จอห์น โรล์ฟ ไม่นานก็ตั้งครรภ์ และอาศัยอยู่อย่างถูกกฎหมาย

ต่อมาในปี ค.ศ. 1615 โรล์ฟเดินทางกลับไปยังประเทศอังกฤษ ส่วนโพคาฮอนทัสถูกจับให้ใส่ชุดคอร์เซ็ทและปรากฎแก่สาธารณชนในฐานะ ‘สัญลักษณ์ของความรุนแรงในเวอร์จิเนีย’ หลังจากนั้นสองปี โรล์ฟได้เริ่มเดินทางไปเวอร์จิเนีย ในส่วนทางโพคาฮอนทัสกลับมีอาการอาเจียนอย่างรุนแรงหลังจากรับประทานอาหารเย็น จากนั้นเธอก็เริ่มชักกระตุก และก่อนที่พวกเขาจะออกเรือไปในแม่น้ำเทมส์ โพคาฮอนทัส สาวชาวอินเดียนแดงก็ได้เสียชีวิตลงอย่างทรมานและเจ็บปวด ตามบันทึกของอังกฤษเขียนว่า 'ไม่แน่ใจถึงสาเหตุของการตาย' ต่างก็คาดเดาไปกันว่าเธออาจจะเป็นปอดบวม วัณโรค หรือกระทั่งโรคฝีดาษ
 
อย่างไรก็ตาม ในหนังสือ เดอะ ทรู สตอรี่ ออฟ โฟคาฮอนทัส (The True Story of Pocahontas; The Other Side of History Linwood Custalow and Angela L.) ยืนยันว่าในช่วงเวลาที่เธออาศัยอยู่ที่อังกฤษ เธอได้รู้ถึงความตั้งใจที่จะล้างเผ่าพันธุ์ชาวอินเดียนพื้นเมือง ชาวอังกฤษกลัวว่าเธอจะเปิดเผยกลยุทธ์ทางการเมืองของพวกเขา จึงวางแผนฆ่าเธอ โพคาฮอนทัสถูกวางยาพิษ ก่อนที่เธอจะมาถึงบ้าน เธอจบชีวิตลงด้วยอายุเพียง 22 ปีเท่านั้น
 
ไม่อยากจะเชื่อว่าการ์ตูนเพลงเพราะๆ เนื้อหาหวานแหววโลกสวยของพวกเรา จะมีพื้นฐานต้นเรื่องมาจากเรื่องราวที่ป่าเถื่อนได้ถึงเพียงนี้ จะเห็นได้ว่าเส้นทางชีวิตของสาวๆ ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างในเทพนิยาย แถมน่าเศร้าและยังโหดร้ายเกินจะรับไหว ถึงแม้ว่าดีสนีย์จะหลอกลวงเรามาตลอด แต่พี่เนยก็อยากจะขอบคุณมากจริงๆ ที่สร้างโลกสวยใสให้พวกเราได้ดูกัน ถ้าหากสร้างจากต้นฉบับจริงๆ ขึ้นมาละก็ มีหวังเด็กๆ ทั่วโลกต้องฝันร้ายกันอย่างแน่นอน (รวมพี่เนยด้วยอีกคน T_T) 


 
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก
 
http://listverse.com/2013/02/13/10-disney-movies-with-horrific-origins/
https://en.wikipedia.org/
http://www.kidzworld.com/article/6145-classic-disney-fairy-tales
http://www.storynory.com/2013/06/06/undine/
http://www.ancient-origins.net/history-famous-people/true-story-pocahontas-not-told-disney-002285


 
พี่เนย
\^O^/

 
'อคิราห์' นักเขียนติสท์เว่อร์ที่เรายินดีแนะนำ!
พี่เนย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

Ryuune_chan Member 6 ส.ค. 59 12:39 น. 5

"ดิสนีย์หลอกลวง" เหรอ ก็ไม่รู้สินะ แต่ส่วนตัว (ย้ำว่าส่วนตัว) เอาเป็นว่า ถ้าเลือกได้ คุณก็คงไม่อยากเล่าเรื่องราวตอนที่ตัวคุณเองถูกทำร้ายหรือข่มเหงอะไรให้ลูกคุณได้ฟังหรอกถ้าไม่จำเป็นจริงไหม

"ความโหดร้าย" น่ะ มันมีอยู่ทุกที่ ไม่แปลกที่ถ้าตอนแรกรู้จักแต่ด้านดี ๆ แล้วมาเห็นด้านมืดก็จะคิดว่าด้านดี ด้านสว่างเป็นของหลอกลวง แต่กลับกัน ถ้าคลุกคลีกับด้านมืดเป็นอย่างดีแล้วล่ะก็ จะเข้าใจเลยว่า "มันไม่ใช่เรื่องน่าคุย" ในบริบทปกติสักเท่าไหร่หรอกนะ (อย่างน้อยก็ไม่ใช่หัวข้อที่จู่ ๆ หยิบมาพูด แล้วมันจะเป็นเรื่องที่ฟังแล้วตลกขบขันหรือรู้สึกดีแน่ ๆ ล่ะ)

ส่วนที่จะตัดสินว่า บริบทไหนเหมาะที่จะเล่าเรื่องดี ๆ ใส ๆ ตลก ๆ หรือเล่าเรื่องเครียด ๆ ให้เป็นอุทาหรณ์ บอกตรง ๆ ผมเองยังตอบไม่ได้เลย มันคงเป็นเรื่องที่ "ควรจะรู้กันด้วยตัวเองตามจังหวะเวลา" ล่ะมั้ง....

0
กำลังโหลด
Megan Ignacia Member 31 พ.ค. 59 07:07 น. 1
เพราะว่าสมัยนั้นนิทานพวกนี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเล่าให้เด็กฟังหรือเปล่า เลยเล่าแบบโหดๆเพื่อสนองความซาดิสม์ของผู้ใหญ่ (มั้งนะ)
2
กำลังโหลด
กำลังโหลด

7 ความคิดเห็น

Megan Ignacia Member 31 พ.ค. 59 07:07 น. 1
เพราะว่าสมัยนั้นนิทานพวกนี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเล่าให้เด็กฟังหรือเปล่า เลยเล่าแบบโหดๆเพื่อสนองความซาดิสม์ของผู้ใหญ่ (มั้งนะ)
2
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Ryuune_chan Member 6 ส.ค. 59 12:39 น. 5

"ดิสนีย์หลอกลวง" เหรอ ก็ไม่รู้สินะ แต่ส่วนตัว (ย้ำว่าส่วนตัว) เอาเป็นว่า ถ้าเลือกได้ คุณก็คงไม่อยากเล่าเรื่องราวตอนที่ตัวคุณเองถูกทำร้ายหรือข่มเหงอะไรให้ลูกคุณได้ฟังหรอกถ้าไม่จำเป็นจริงไหม

"ความโหดร้าย" น่ะ มันมีอยู่ทุกที่ ไม่แปลกที่ถ้าตอนแรกรู้จักแต่ด้านดี ๆ แล้วมาเห็นด้านมืดก็จะคิดว่าด้านดี ด้านสว่างเป็นของหลอกลวง แต่กลับกัน ถ้าคลุกคลีกับด้านมืดเป็นอย่างดีแล้วล่ะก็ จะเข้าใจเลยว่า "มันไม่ใช่เรื่องน่าคุย" ในบริบทปกติสักเท่าไหร่หรอกนะ (อย่างน้อยก็ไม่ใช่หัวข้อที่จู่ ๆ หยิบมาพูด แล้วมันจะเป็นเรื่องที่ฟังแล้วตลกขบขันหรือรู้สึกดีแน่ ๆ ล่ะ)

ส่วนที่จะตัดสินว่า บริบทไหนเหมาะที่จะเล่าเรื่องดี ๆ ใส ๆ ตลก ๆ หรือเล่าเรื่องเครียด ๆ ให้เป็นอุทาหรณ์ บอกตรง ๆ ผมเองยังตอบไม่ได้เลย มันคงเป็นเรื่องที่ "ควรจะรู้กันด้วยตัวเองตามจังหวะเวลา" ล่ะมั้ง....

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด