10 เรื่องเล่าสุดตะลึงผ่านภาพเขียนของศิลปินระดับโลก!

10 เรื่องเล่าสุดตะลึง
ผ่านภาพเขียนของศิลปินระดับโลก!
  

 
สวัสดีค่ะชาวนักเขียนนักอ่านเด็กดีทุกคน กลับมาพบกับแอดมินอีกแล้ว สำหรับวันนี้ มากันด้วยหัวข้อ ‘ภาพเขียน’ ค่ะ
 
ความจริงแล้ว แอดมินไม่ใช่คนที่สนใจกับเรื่องภาพเขียนเท่าไหร่ จะชอบอ่านหนังสือมากกว่า และไอ้ความชอบอ่านหนังสือนี่แหละ ทำให้วันหนึ่ง แอดมินไปเจอหนังสือที่ชอบมากๆๆๆ จัดเป็นหนังสือในดวงใจตลอดกาล เรื่องนั้นก็คือ ‘หญิงสาวกับต่างหูมุก’ ผลงานของเทรซี ชวาเลียร์ แปลไทยโดยดาราสาวสวย สิริยากร พุกกะเวส หรือคุณอุ้มนั่นเอง ในคำนำผู้เขียน ได้ระบุไว้ว่านิยายเรื่องนี้ มีแรงบันดาลใจจากภาพวาดเลื่องชื่อของจิตรกร “เฟอร์เมียร์” ภาพชื่อว่า Girl with a Pearl Earring ซึ่งก็แปลไทยได้ว่า ‘หญิงสาวกับต่างหูมุก’ นั่นแหละ
 
หญิงสาวกับต่างหูมุกเป็นนิยายเรื่องแรกที่ทำให้แอดมินรู้สึกว่าบางครั้งการไปชมภาพเขียนฝีมือจิตรกรระดับโลก ก็ทำให้เราสามารถคิดพล็อตนิยายที่น่าสนใจ และน่าดึงดูดใจได้ หลังจากอ่านนิยายจบ แอดมินได้ไปตามหาภาพ ‘หญิงสาวกับต่างหูมุก’ มาดู ตลอดจนอ่านประวัติของจิตรกรเฟอร์เมียร์อย่างละเอียด และรู้สึกว่า... พล็อตนิยายนั้น อยู่ทุกที่จริงๆ ค่ะ นอกจากนำประวัติของจิตรกรมาร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่าได้อย่างแนบเนียน นักเขียนยังเขียนถึงวิธีการวาดภาพ นำเสนอเทคนิคต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ จนตัวแอดมินเองยังอดทึ่งไม่ได้ ทั้งที่ไม่ได้วาดรูปอะไรกับเขาเลย ก็อย่างที่หัวข้อบอกเนอะ ภาพเขียนแต่ละภาพมีเรื่องเล่าซ่อนอยู่ ถ้าเราค้นหาเรื่องเล่านั้นเจอ เราก็สามารถสร้างเรื่องราวจากมันได้ค่ะ
 
และวันนี้ แอดมินได้รวบรวมข้อมูลน่าสนใจเบื้องหลังภาพเขียนของจิตรกรระดับโลกมาฝากค่ะ เผื่อว่าจะมีใครฟังไอเดีบแล้วปิ๊งพล็อตนิยายใหม่ๆ จะได้เอามาลองเขียนกันดูค่ะ (หรือถ้าใครไม่คิดจะเอาไปเขียนนิยาย ก็เอาไว้เป็นความรู้รอบตัวได้เหมือนกันนะ)
 

10 กระจกเงาสะท้อนในภาพของเรมบรานด์ท

จุดเด่นที่ปรากฎบนภาพวาดของเรมบรานด์ท (Rembrandt) คือ เรื่องการจัดและใช้แสง แม้ว่าจะมีจิตรกรอีกมากมายใช้วิธีนี้ แต่ก็ไม่มีใครทำได้สวยเท่ากับเขาผู้นี้สักคน นอกจากเรื่องแสงแล้ว เรมบรานด์ทยังใส่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ลงในภาพวาดได้อย่างน่าอัศจรรย์ เจ้าตัวมักจะใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อม และใช้อุปกรณ์เสริมคือกระจกสะท้อนแสงเป็นหลัก ในสมัยยังมีชีวิต ไม่มีใครรู้เลยว่า... เรมบรานด์ททำอย่างไร ภาพวาดถึงได้สวยและมีมิติมากถึงเพียงนี้ ต่อมาในยุคหลังๆ ผู้เชี่ยวชาญได้ตรวจสอบจากภาพวาดและพบเทคนิคพิเศษที่เรมบรานด์ทใช้นั้น เด็ดขาดพอๆ กับเทคนิคที่ช่างภาพในปัจจุบันใช้เลยทีเดียว ทั้งๆ ในอดีต อุปกรณ์ยังไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร เรียกว่าเขาเป็นจิตรกรคนแรกๆ ที่เริ่มใช้เทคนิค แสงและเงาก็ไม่ผิดนัก ถ้าได้ดูภาพวาดฝีมือของเขา จะอดไม่ได้ที่จะถูกดึงดูด และประทับใจกับเสน่ห์ที่ปรากฎในภาพ

 

 

 

9 เพลงที่ซ่อนอยู่ในภาพพระกายาหารค่ำมื้อสุดท้าย (The Last Supper) ของลีโอนาร์โด ดาวินชี

นอกจากเก่งเรื่องศิลปะแล้ว ลีโอนาร์โด ดาวินซียังมีฝีมือในเรื่องการแต่งเพลงและเขียนหนังสือด้วย ภาพเขียนยอดนิยมของเขา “พระกายาหารค่ำมื้อสุดท้าย” หรือ The Last Supper (เรื่องนี้ถูกแดน บราวน์ นำไปแต่งเติมจินตนาการจนกลายเป็นหนังสือและภาพยนตร์ขายดี รหัสลับดาวินชี หรือ The Davinci Code นั่นเอง!) เป็นภาพที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด ทั้งในแง่ความงดงาม การนำเสนอเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ ให้ข้อมูลทางศาสนา นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังระบุว่าในภาพนี้ มีเพลงซ่อนอยู่!
 
ผู้เชี่ยวชาญได้วิเคราะห์ภาพและพบว่าตำแหน่งการจัดวางขนมปัง ตลอดจนตำแหน่งของพระเยซูและตำแหน่งการวางมือของอัครสาวกทั้งหลาย ล้วนแต่อยู่ในจุดลงตัว ถ้าหากมองจากขวาไปซ้าย ก็จะเห็นโน้ตดนตรีที่ซ่อนอยู่ เป็นเพลงสรรเสริญพระเยซูอันไพเราะ   
 

 

8 ภาพเขียนที่หายไปของเดกา (Degas)

ช่วงปี ค.ศ. 1876-1880 เอ็ดการ์ เดกา จิตรกรคนดัง วาดภาพขึ้นมาภาพหนึ่ง ชื่อว่า ภาพวาดของหญิงสาว Portrait of a Woman” ตัวภาพนั้นเรียบง่าย ไม่ซับซ้อนอะไร เป็นแค่ภาพของผู้หญิงชุดดำคนหนึ่ง ทว่าภายหลัง ได้มีการค้นพบความจริงที่ว่าใต้ภาพนั้น มีภาพอีกภาพหนึ่งซ่อนอยู่!
 
ในช่วงปี ค.ศ. 1922 วิทยาการต่างๆ เริ่มจะพัฒนา ได้มีการตรวจสอบภาพวาดของจิตรกรหลายๆ คนด้วยการเอ็กซ์เรย์ และนั่นเอง ที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญค้นพบความจริงที่ว่า แท้จริงแล้ว ก่อนจะมาเป็นภาพนี้ เดกาเคยวาดภาพอื่นมาก่อน ณ ตอนนั้น ทุกคนแปลกใจกับภาพ “หญิงสาวปริศนา” และเรียกเธอว่า “ภาพที่ซ่อนอยู่” ต่อมาในปี ค.ศ. 2016 นี้เอง ได้มีการระบุว่า ภาพดังกล่าวน่าจะเป็นภาพของนางแบบชื่อ เอ็มมา โดบินญี  (Emma Dobigny) ซึ่งมีชื่อจริงว่า มารี เอ็มมา ทุยเยอ (Marie Emma Thuilleux) เธอคนนี้เป็นนางแบบให้เดอกาในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1869-1870 แต่ทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีใครรู้คำตอบว่า เพราะอะไรเดกาถึงวาดภาพของเธอแล้วลบทิ้ง   
 

 

7 ไมเคิลแอนเจโล่ เป็นโรคไขข้ออักเสบ

ไมเคิลแอนเจโล่ จิตรกรคนดังเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1564 เมื่ออายุได้ 89 ปี ในช่วงบั้นปลายของชีวิต เขาต้องทนทุกข์ทรมานกับโรคร้ายที่ปัจจุบัน มีชื่อว่า “โรคข้อเสื่อม” ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบข้อมูลและพบว่า... ในช่วงปีท้ายๆ ของชีวิต ไมเคิลแอนเจโล่เลิกเซ็นชื่อหรือแสดงสัญลักษณ์ใดๆ ในภาพวาด นอกจากนี้ เขายังเลิกทำงานศิลปะที่ต้องใช้การปั้นหรืองานที่ต้องใช้ค้อนหรือสิ่วโดยเด็ดขาด เหลือเพียงวาดภาพอย่างเดียวเท่านั้น
 
หลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายชิ้นระบุว่า... ในช่วงท้ายๆ ของชีวิต ไมเคิลแอนเจโล่บ่นว่ามีอาการปวดมือ และไม่ถนัดทำงานศิลปะเหมือนสมัยยังหนุ่มๆ ในภาพวาดบางภาพของเขา ยังแสดงถึงฝีแปรงที่ผิดแปลก และเมื่อได้ตรวจสอบ ก็มีหลักฐานที่บอกชัดว่า... มือของเขาผิดปกติและน่าจะมีอาการเจ็บปวดจนทำให้ลายเส้นผิดเพี้ยนไป
 

 

6 ภาพบาคคัส (Bacchus) ของการาวัจโจ สื่อถึงการป่วยเป็นโรคดีซ่าน

ในปี ค.ศ. 1592 จิตรกรคนดัง การาวัจโจ เดินทางมายังกรุงโรม ทว่าเขากลับป่วยหนักและถูกบังคับให้เก็บตัวอยู่ในบ้านเป็นเวลา 6 เดือน ที่นี่เอง เป็นสถานที่ที่เขาสร้างสรรค์ผลงาน Self Portrait as Sick Bacchus หรือที่รู้จักกันในชื่อ Bacchino Malato บาคคัสในภาพมีผิวสีเหลือง แสดงถึงโรคดีซ่าน ซึ่งเป็นโรคเดียวกับที่การาวัจโจเป็นอยู่
 
ตามตำนานโรมัน บาคคัสคือเทพเจ้าแห่งไวน์ การาวัจโจวาดภาพนี้ขึ้นเพื่อสื่อถึงนิสัยติดเหล้าของตน เขาถ่ายทอดความเจ็บปวดลงในภาพอย่างชัดเจน จุดเด่นของภาพคือ... บาคคัสที่กำลังเจ็บป่วยและใกล้ตายเพราะดื่มเหล้ามากเกินไป
 

 

5 ภาพเฮสกา (Helga) ของแอนดรูว์ ไวเอท (Andrew Wyeth)

ในช่วงกลางปี ค.ศ. 1980 จิตรกรชาวอเมริกัน แอนดรูว์ ไวเอท สร้างปรากฎการณ์ช็อกวงการด้วยการวาดภาพของผู้หญิงคนหนึ่งมากกว่า 200 ภาพ (ต่อมาภายหลังถูกเรียกว่า ‘ภาพของเฮลก้า’) ระหว่างที่วาดนั้น ทุกอย่างเป็นความลับดำมืด แม้แต่ภรรยาของไวเอทเองก็ไม่เคยรู้มาก่อน   
  
มีเพียงคนเดียวที่รู้ที่มาของภาพนี้คือ แนนซี่ ฮอฟวิ่ง (Nancy Hoving) เพื่อนสนิทของไวเอท ซึ่งก็ไม่ได้ปริปากบอกใครเพราะเชื่อในตัวเพื่อน เมื่อภาพถูกปล่อยออกมา ผู้พบเห็นเชื่อว่าเป็นภาพนู้ดของนางแบบคนดัง เฮลก้า เทสทอฟ และยังมีข่าวลือที่ว่าทั้งคู่มีความสัมพันธ์ชู้สาวกัน อย่างไรก็ตาม ข่าวนี้ได้จบไปเมื่อไวเอทเปิดตัว เบตซี เจมส์ ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยาก
 

 

4 ชายลึกลับในภาพ The Blue Room ของปิกัสโซ่

ปิกัสโซ่วาดภาพ The Blue Room เสร็จในปี ค.ศ. 1901 เป็นช่วงเวลาที่เขาตกต่ำที่สุดในชีวิต ฐานะยากจนและสภาพจิตก็หดหู่ สีหลักในภาพคือสีฟ้า ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสีของความหมองหม่นและโศกเศร้า นักประวัติศาสตร์ยังพบว่า... ฝีแปรงนั้นไม่สม่ำเสมอและไม่แนบเนียน ต่อมา เมื่อได้มีการตรวจสอบผ่านแสงอินฟราเรด ก็พบว่า มีภาพผู้ชายลึกลับคนหนึ่งซ่อนอยู่!
 
ผู้ชายในภาพสวมหูกระต่าย หน้าตามองเห็นไม่ชัด ผู้เชี่ยวชาญใช้เวลาวิเคราะห์อยู่นาน จึงคาดเดาว่าน่าจะเป็นภาพของ อองบร็วส โวลลารด์ (Ambroise Vollard) ดีลเลอร์ชาวฝรั่งเศสผู้มีสายตาแหลมคม เขาคนนี้คอยช่วยเหลือ สนับสนุน และยังช่วยจัดงานนิทรรศการภาพให้กับปิกัสโซ่ ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานเพิ่มเติมว่า ในช่วงเวลานั้น ปิกัสโซ่น่าจะสิ้นเนื้อประดาตัว จนไม่มีแม้แต่เงินจะซื้อผ้าแคนวาสที่จิตรกรใช้วาดภาพ เขาจึงตัดสินใจนำภาพชายสวมหูกระต่ายนี้มาวาดทับนั่นเอง 
 

 

3 กระแสอากาศที่แปรปรวน ผ่านภาพราตรีประดับดาว (Starry Night) ของแวนโก๊ะห์  

หนึ่งในภาพที่โดดเด่นที่สุดของแวนโก๊ะห์คือ ภาพราตรีประดับดาว ซึ่งถูกวาดขึ้นในปี ค.ศ. 1889 ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าภาพนี้มีคำตอบทางวิทยาศาสตร์สอดแทรกอยู่ นั่นคือเรื่อง “กระแสอากาศที่แปรปรวน” ซึ่งอธิบายได้ยากยิ่งกว่า “กลศาสตร์ควอนตัม” เสียอีก นักวิชาการได้วิเคราะห์ภาพของแวนโก๊ะห์ในช่วงเวลาดังกล่าว และพบว่า... หลายๆ ภาพของเขาแสดงถึงภาวะ “กระแสอากาศที่แปรปรวน” ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ใจกลางของภาพ "ราตรีประดับดาว" คือหมู่บ้านแซ็ง-เรมี-เดอ-พรอว็องส์ ภายใต้ท้องฟ้าที่ม้วนตัวเป็นก้นหอย ซึ่งเป็นมุมที่มองจากสถานบำบัดไปยังทิศเหนือ ทิวเขาอาลปีย์ (Alpilles) ที่เห็นไกลออกไปทางด้านขวาดูจะประสานกับภูมิทัศน์ แต่ที่จริงแล้วดูเหมือนว่าเนินเขาตรงกลางในภาพจะมาจากบริเวณที่อยู่ทางด้านใต้ของสถานบำบัด
 
ในยุคนั้นยังไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้ด้วยซ้ำ บางทีแวนโก๊ะห์อาจจะสังเกตเห็นความผิดปกติเล็งเห็นความสำคัญของปรากฎการณ์นี้ จึงได้วาดภาพเหล่านี้ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ทำความรู้จักมันก็เป็นได้
  

 

2 โมเน่ต์เป็นต้อกระจก

หนึ่งในศิลปินที่โดดเด่นด้านงานสไตล์อิมเพรสชั่นนิสต์มากที่สุดคงไม่พ้น โคล้ด โมเน่ต์ ในยุคแรกๆ ภาพเขียนของเขาใช้สีสันสดใสเจิดจ้า ทว่าในยุคหลังๆ สีสันนั้นเริ่มหม่นมัวลงเรื่อยๆ ผู้เชี่ยวชาญได้ลองวิเคราะห์แล้ว จึงได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า เมื่ออายุมากขึ้น โมเน่ต์ต้องทรมานกับโรคต้อกระจก ทำให้เขามีปัญหาในการเลือกสีสัน และยังทำให้ตาพร่าเบลอ มองอะไรไม่ชัดด้วย เมื่อวาดภาพหรือลงสี ลายเส้นก็เลยไม่คมชัด และสีสันก็เลยค่อนข้างทึบทึม
 
ต่อมาในปี ค.ศ. 1923 โมเน่ต์เข้ารับการผ่าตัดรักษาดวงตา เมื่อหายดี เขาเผาภาพวาดไปจำนวนมาก เพราะไม่พอใจกับผลงานที่เห็น แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีผลงานเล็ดรอดมาได้อยู่นั่นเอง
 

 

1 การปกปิดความสัมพันธ์ระหว่าง โกย่าและโฌแซ็ฟ โบนาปาร์ต

ในปี ค.ศ. 1823 โกย่า จิตรกรชาวสเปนได้วาดภาพของผู้พิพากษา ดอน ราม่อน ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป ได้มีการค้นพบว่า ภาพที่ซ่อนอยู่นั้นคือภาพของ โฌแซ็ฟ โบนาปาร์ต พระเชษฐาในจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 แห่งฝรั่งเศส ผู้ปกครองในช่วงปี ค.ศ. 1809-1813
 
หลังการเอ็กซ์เรย์และพิสูจน์หลากหลายขั้นตอน ผู้เชี่ยวชาญพบว่าภาพนี้วาดในช่วงที่โบนาปาร์ตขึ้นครองราชย์ แต่ต่อมา โกย่าได้ทาสีทับอย่างแนบเนียน ซึ่งสาเหตุน่าจะมาจากช่วงเวลาดังกล่าว มีการล้มล้างราชวงศ์ ทำให้โกย่าหวาดกลัวว่าจะถูกลากเข้าไปพัวพันด้วยว่ามีความสัมพันธ์สนิทสนมกับผู้ปกครอง เขาจึงต้องวาดภาพของผู้พิพากษาทับในที่สุด ความลับนี้ถูกเก็บเงียบอยู่นานกว่า 200 ปี จนกระทั่งมีผู้เชี่ยวชาญทางภาพวาดเอะใจ เพราะเห็นภาพกระดุมเสื้อของโบนาปาร์ตปรากฎจางๆ ในภาพ ก็เลยต้องพิสูจน์ให้รู้ความจริง
 
หลังจากอ่านบทความนี้จบแล้ว แอดมินยอมรับว่าทึ่งมากค่ะ ภาพวาดแต่ละภาพต่างก็มีเรื่องราวน่าสนใจซ่อนอยู่ และถ้าหากจะนำมาเขียนเป็นเรื่องราว ก็คงจะน่าสนใจไม่น้อยเลย แต่ละเรื่องมีทั้งประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ รวมถึงความลับของตัวจิตรกรคนดังๆ ด้วย จะว่าไปแล้ว แอดมินคิดว่าการเป็นนักเขียน เราควรต้องช่างสังเกต และรู้จักใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้ค่ะ บางทีก็อาจจะได้พล็อตชนิดไม่รู้ตัวก็ได้นะ 
 
ทีมงานนักเขียนเด็กดี 
 
ขอบคุณภาพและข้อมูลประกอบจาก
http://listverse.com/2016/08/18/10-hidden-secrets-in-historys-greatest-artworks/
https://www.rijksmuseum.nl/en/collection/SK-A-2963
https://en.wikipedia.org/wiki/Claude_Monet
https://en.wikipedia.org/wiki/The_Blue_Room_(Picasso)
https://www.theguardian.com/artanddesign/2016/aug/04/x-ray-reveals-mysterious-face-hidden-beneath-degas-portrait-of-a-woman

 
  
ทีมงาน writer

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยเจ้าของ

กำลังโหลด
กำลังโหลด