แรงไปอีก! 10 คนจริงที่ ‘ดันเต’ ขอฟันธงว่าจะได้เจอใน ‘นรก’ (จากเรื่อง Inferno)

 
แรงไปอีก! 10 คนจริงที่ ‘ดันเต’ ขอฟันธงว่า
จะได้เจอใน ‘นรก’ (จากเรื่อง Inferno)

 
สวัสดีชาวนักอ่านนักเขียนเด็กดีทุกคนค่ะ กระแสภาพยนตร์เรื่อง “อินเฟอร์โน” หรือ “สู่นรกภูมิ” ผลงานสืบสวนสอบสวนชื่อดังจากนักเขียนอย่าง “แดน บราวน์” กำลังมา แอดมินเห็นเพื่อนๆ ในเฟซโพสต์ถึงหนังเรื่องนี้ค่อนข้างเยอะ ก็เลยตัดสินใจว่าจะต้องหาเรื่องราวเกี่ยวกับ “อินเฟอร์โน” มาเล่าให้ฟังกันสักหน่อย
 
ส่วนตัวแอดมินอ่านนิยายเรื่องนี้ตอนที่ออกวางแผงใหม่ๆ เรียบร้อยแล้ว (อินเฟอร์โน ฉบับภาษาไทยตีพิมพ์กับสนพ. แพรว ในเครืออมรินทร์ หาซื้อได้ตามร้านนายอินทร์และร้านหนังสือใหญ่ๆ ทั่วไปค่ะ) และกำลังจะไปหยิบมาอ่านซ้ำอีกครั้ง ผลงานเรื่องนี้เกี่ยวพันกับจิตรกรคนสำคัญคนหนึ่งในยุคกลาง เขาก็คือ “ดูรันเต เดกลี อาลีกีเอรี” หรือ “ดันเต อาลีกีเอรี” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ดันเต” ดันเตผู้นี้ เป็นทั้งรัฐบุรุษ กวี และนักภาษาศาสตร์คนสำคัญของฟลอเรนซ์ มีอิทธิพลต่อผู้คนมากๆ ในช่วงยุคกลาง และในเรื่องนี้ โรเบิร์ต แลงดอน พระเอกของเรื่องที่ปรากฎตัวในเรื่องรหัสลับดาวินชี ก็ต้องมาไขปริศนารหัสลับที่ซ่อนอยู่ภายใต้บทกวี อินเฟอร์โน วรรณกรรมที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกเรื่องหนึ่งเท่าที่เคยมีมา อันเป็นผลงานของดันเตนั่นเอง 
 
วันนี้แอดมินขอพานักเขียนนักอ่านเด็กดีทุกคนไปทำความรู้จักผลงานอินเฟอร์โนอย่างใกล้ชิดขึ้นมาอีกนิด ด้วยการดึง “คนจริงๆ” ที่ปรากฎตัวในบทกวีมาเล่าให้ฟัง เพราะความจริงแล้ว อินเฟอร์โน เป็นหนึ่งในมหากาพย์แห่งอดีตเรื่อง Divine Comedy ของดันเต โดยมหากาพย์ชุดนี้ ดันเตแบ่งออกเป็นสามตอน ได้แก่ Inferno (นรก) Purgatorio (ดินแดนที่วิญญาณรอการพิพากษา) และ Pasadiso (สวรรค์) ตัวบทกวีนั้นดันเตเขียนผ่านมุมมองบุคคลที่หนึ่ง (ก็คือตัวของดันเตเอง) เล่าเรื่องการเดินทางของเขาผ่านอาณาจักรแห่งความตายทั้งสาม และในบทกวีนี้ ดันเตได้กล่าวถึง “คนจริงๆ” ในชีวิตของเขามากมาย (ช่างมีความมั่นใจและมีความสาปแช่ง) คนที่ดันเตกล่าวถึงเป็นใครบ้าง เรารวบรวมมาให้อ่านแล้ว ไปดูกัน 
  

 
10 ฟารินาตา เดกลิ อุแบร์ติ
(Farinata Degli Uberti) 
ดันเตได้พบอุแบร์ติในนรกขุมที่ 6 ซึ่งเป็นนรกของเหล่าผู้ทีมีความคิดวิปริตนอกรีต มารศาสนา บทลงโทษคือการถูกฝังให้ตายอีกครั้งทั้งๆ ตายไปแล้ว เพื่อแสดงให้เห็นว่าแม้จะตายแล้วก็ตายอีกได้ ในเรื่องดันเต้ได้พูดคุยกับฟารินาตา และพิพากษาการกระทำของเขา เนื่องจากเมื่อยังมีชีวิต ฟารินาตาคือผู้นำกลุ่มทหารรับจ้าง และเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญทำให้ฟลอเรนซ์ต้องถูกเผา ครอบครัวของฟารินาตาต้องโทษเนรเทศ และศพของเขาก็ไม่ได้รับการอนุญาตให้ฝัง นับเป็นบาปกรรมที่ร้ายแรงมาก  
 

 
9 บรูเน็ตโต้ ลาตินี
(Brunetto Latini) 
ดันเตได้พบลาตินีในนรกขุมที่ 7 ซึ่งเป็นนรกของผู้ที่กระทำการรุนแรง ฉุดคร่าอนาจาร ปล้นฆ่า ลักขโมย อย่างไรก็ตาม ดูจากประวัติในชีวิตจริงแล้ว ไม่พบว่าลาตินีทำความผิดเกี่ยวกับความรุนแรง และเขายังเป็นอาจารย์ผู้มีความสามารถด้วย แต่ดันเตสรุปอย่างมั่นใจในบทกวีว่าลาตินีเป็นพวกชอบร่วมเพศทางทวารและชอบทารุณกรรมทางเพศ ซึ่งจนวันนี้ก็ยังไม่มีการพิสูจน์อย่างชัดเจนว่าเป็นความจริงหรือไม่ 
 

 
8 สมเด็จพระสันตะปาปานิโคลัสที่ 3 
(Pope Nicholas III) 
ดันเตได้พบกับสมเด็จพระสันตะปาปานิโคลัสที่ 3 ในนรกขุมที่ 8 ซึ่งเป็นนรกของผู้โป้ปด ฉ้อฉล คดโกง หลอกลวง ดันเต้มั่นใจมากว่าพระสันตะปาปาผู้นี้ทำความผิดจริง ผิดศีลและบาปหนัก กล่าวคือ เขาได้ใช้อำนาจในทางมิชอบ สร้างผลประโยชน์ให้กับครอบครัวของตัวเอง ด้วยวิธีตั้งสมาชิกครอบครัวสองคนเป็นพระชั้นผู้ใหญ่ รวมถึงญาติพี่น้อง หลานๆ ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นวุฒิสมาชิก แม้ดันเตจะพิพากษาและสาปแช่งให้พระสันตะปาปาต้องลงนรก แต่ในความเป็นจริงครอบครัวของพระสันตะปาปาผู้นี้มีอิทธิพลในกรุงโรมต่อมายาวนานนับร้อยปี 
  

 
7 ฟรานเชสก้า ดา ริมินี 
(Francesca Da Rimini) 
ดันเตได้พบฟรานเชสก้าในนรกขุมที่ 2 ซึ่งเป็นนรกของผู้ที่ใช้ชีวิตลุ่มหลงมัวเมาเรื่องราวทางชู้สาว เสพติดตัณหา ดันเตมองว่าบาปขั้นนี้รุนแรงน้อยที่สุด ฟรานเชสก้าตกนรกขุมนี้เพราะแอบหลงรักน้องเขยของตัวเอง ดันเตได้ฟังเรื่องราวของเธอจาก กิโด โนเวลโล ดา โพเลต้า ผู้เป็นหลานชายแท้ๆ ของฟรานเชสก้า นางถูกบังคับให้สมรสกับชายอัปลักษณ์ จีอานซีเอตโต ดา ริมินี เพื่อดำรงเกียรติของครอบครัว แต่นางกลับไปหลงรัก พาโอโล น้องชายของสามี จนวันหนึ่ง จีอานซีเอตโตรู้ความจริงเข้าจึงฆ่าทั้งคู่เสีย แน่นอนว่าจากการพิพากษาของดันเต ทั้งฟรานเชสก้า พาโอโล และจีอานซีเอตโต ต้องตกนรกตามระเบียบ เพียงแต่อยู่กันคนละขุมเท่านั้น  
 

 
6 ปิเอโตร เดลลา วินา วู้ด 
(Pietro Della Vigna Wood)
ข้อหาที่ดันเตมอบให้ปิเอโตรก็คือ การฆ่าตัวตาย เขาจึงต้องตกนรกขุมที่ 7 ผู้ทำการรุนแรงล่วงเกินต่อตนเอง เพราะชีวิตเป็นของมีค่าที่พระเจ้าประทานให้ ไม่สมควรที่จะทิ้งให้เสียเปล่า หากฆ่าตัวตาย เมื่อตายไปก็ไม่อาจคืนร่างเป็นคนได้อีก เพราะได้ทิ้งร่างกายไปแล้ว จะต้องกลายเป็นผีไร้ร่าง ปิเอโตรนั้นเคยยากจนข้นแค้น แต่ก็ค่อยๆ ไต่เต้ามาเรื่อยๆ และได้รับใช้กษัตริย์โรมันเฟรเดอริกที่ 2 ทว่าต่อมา เขากลายเป็นผู้ต้องสงสัยวางยาพิษพระองค์ ถูกจับ และประจานไปทั่วเมือง สุดท้าย ปิเอโตรตายลงที่ปิซ่าโดยหาข้อสรุปไม่ได้ ไม่มีใครกล้ายืนยันการตายของเขานอกจากดันเต ที่ระบุว่าเขาฆ่าตัวตายแน่นอนและต้องชดใช้ความผิด 
 

 
5 พระนางเซมิรามิส
(Semiramis)
ฉายาของพระนางเซมิรามิสคือหญิงแพศยา นางคือตัวแทนของตัณหา เราจึงไม่แปลกใจที่ดันเตพบเธอในนรกขุมที่ 2 พระนางเคยเป็นราชินีคนสำคัญของอัสซีเรีย ครองเมืองในช่วง ปี 811-806 ก่อนคริสตกาล หลังพระสวามีสวรรคต พระนางอภิเษกกับบุตรชายของตัวเอง และแก่งแย่งอำนาจโดยใช้เสน่ห์ส่วนพระองค์ เนื่องจากเหตุการณ์เกิดขึ้นนานมาก ข้อมูลทางประวัติศาสตร์จึงกระจัดกระจายและบางชุดก็คล้ายเรื่องเล่ามากกว่าเรื่องจริง อย่างไรก็ตาม ดันเตมั่นใจมากว่าพระนางเป็นผู้กระทำผิดในเรื่องเพศและต้องตกนรกเป็นเวลายาวนาน 
 

 
4 เบอร์ทราน เดอ บอร์น   
(Bertran De Born)
สำหรับเขาผู้นี้ ถูกดันเตพิพากษาให้อยู่ในนรกขุมที่ 8 และต้องใช้ชีวิตด้วยการเดินหิ้วหัวอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป (ดังภาพ) เมื่อครั้งมีชีวิต เดอ บอร์นเป็นถึงบารอนผู้ทรงเกียรติ เป็นทั้งทหารหาญและนักกวี เขาเกิดในช่วงศตวรรษที่ 13 และเป็นพวกชอบพัวพันกับการเมือง จนกระทั่งถึงจุดหนึ่ง เดอ บอร์นได้ยุแยงให้พระเจ้าเฮนรี่ที่ 2 และลูกชายแตกหัก ดันเตฟันธงว่าเขาคือกบฎคนสำคัญที่ทำให้บ้านเมืองเดือดร้อน และเชื่อว่าเขาต้องตกนรกขุมที่ 8 อันเป็นนรกของผู้โป้ปด ฉ้อฉล คดโกง หลอกลวง รวมไปถึงพวกอ้างตนเป็นผู้วิเศษ พ่อมดหมอผีทั้งหลาย ซึ่งก็คือเดอ บอร์นนั่นเอง 
 

 
3 บรานก้า ดอเรีย 
(Branca D’Oria)
งานเขียนของดันเตเรื่องนี้ ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1300 แต่บรานก้า ดอเรียเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1325 เรียกว่าดันเตพิพากษาไว้ล่วงหน้าเลยว่าเขาคนนี้ตายไปตกนรกแน่ๆ และในเรื่อง ดันเตยังไปเจอเขาในนรกขุมที่ 9 อันเป็นนรกที่โหดที่สุดอีกต่างหาก นรกขุมนี้เป็นของผู้คิดคดทรยศ ว่ากันว่าผู้ถูกจองจำอยู่ที่นี่ ล้วนทำความผิดระดับโลกทั้งนั้น สำหรับดอเรีย เขารวมหัวกับสมาชิกในครอบครัวฆาตกรรมผู้มีอุปการะคุณ เพื่อชิงทรัพย์สมบัติมาเป็นของตัวเอง และยังฆ่าญาติพี่น้องเป็นจำนวนมาก เพียงเพราะความโลภในสมบัติ  
 

 
2 ฟิลิปโป้ อาเจนติ 
(Filippo Argenti) 
ดันเตได้พบกับฟิลิปโป้ในนรกขุมที่ 5 ซึ่งเป็นนรกของผู้ที่มีจิตชิงชัง โกรธเกลียดเคียดแค้นผู้อื่น บาปกรรมนี้ทำให้ต้องทนทุกข์ต่อสู้ฆ่าฟันกันในลำธารสีเลือดในนรกเรื่อยไปไม่สิ้นสุด เมื่อครั้งยังมีชีวิต ฟิลิปโป้ผู้นี้เป็นศัตรูทางการเมืองของดันเตเอง และยังเคยคดโกงแทงหลังดันเตด้วย บอกอย่างนี้ หลายคนอาจมองว่าดันเตเข้าข้างตัวเอง แต่เมื่อมองด้วยเหตุผลจริงๆ จังๆ แล้ว ดันเตอาจจะถูกก็ได้ เพราะชื่อเสียงในทางลบของฟิลิปโป้ยังปรากฎในผลงานของ โจวันนี บอกกัชโช อีกหนึ่งนักเขียน และนักกวีผู้ได้รับความนิยมอย่างสูงในยุคเดียวกันด้วย 
 

 
1 ท่านเคานต์อูโกลิโน เดลลา เกราร์เดสก้า 
(Ugolino Della Gherardesca)
ท่านเคานต์ที่ดันเตพบในนรกขุมที่ 9 อันเป็นขุมที่โหดที่สุดผู้นี้มีคดีสำคัญกับอาร์คบิช็อป Ruggieri ข้อหาของเขาร้ายแรงมาก นั่นคือจำคุกลูกชายของตัวเอง ทอดทิ้งให้อดอยากและยังกินเนื้อลูกชายตัวเองด้วย และเพราะเหตุผลนี้ ดันเตจึงพิพากษาว่าเขาต้องนรกขุมที่ลึกที่สุด ทว่า... ต่อมามีนักประวัติศาสตร์หลายคนได้พยายามค้นหาหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อสืบหาข้อเท็จจริง และได้คำตอบว่า... แม้จะเป็นความจริงที่ลูกชายของท่านเคานต์ตายเพราะอดอาหาร แต่ข้อหาเรื่องกินเนื้อลูกนั้นไม่น่าเป็นไปได้ เพราะท่านเคานต์ผู้นี้ไม่มีฟัน!! 
 
ทีมงานนักเขียนเด็กดี  
 
ขอบคุณภาพประกอบและข้อมูลบางส่วนจาก 
https://th.wikipedia.org/wiki/ประตูนรก 
https://th.wikipedia.org/wiki/ดันเต_อาลีกีเอรี  
http://divinacommedia.weebly.com/filippo-argenti.html 
http://listverse.com/2016/10/18/10-real-people-condemned-to-dantes-inferno/  
http://ptc.icphysics.com/webboard/SFM/index.php?topic=59290.0 
http://legendtheworld.blogspot.com/2013/12/semiramis-legendary-queen-of-babylon_24.html 
https://it.wikipedia.org/wiki/Inferno_-_Canto_trentatreesimo 
 
ทีมงาน writer

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

4 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
Abc 12 พ.ย. 59 13:03 น. 2
Purgatory คือไฟชำระนะครับ คล้ายกับนรก เป็นที่ที่คนถูกพิพากษาให้ไปสวรรค์ได้แต่ว่าตัวเองยังมีบาปอยู่ จึงต้องมาชำระบาปที่นี่ก่อนเข้าไปสวรรค์ครับ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด