5 สิ่งที่ Pride & Prejudice สอนเราในเรื่องของ "ความสัมพันธ์"


5 สิ่งที่ Pride & Prejudice สอนเรา
ในเรื่องของ "ความสัมพันธ์"

 

สวัสดีชาวไรเตอร์ทุกคนค่ะ มาพบกับพี่น้ำผึ้งอีกแล้วนะคะ วาเลนไทน์ที่ผ่านมาน้องๆ ทำอะไรกันบ้างคะ ได้ไปเดทที่ไหนบ้างเอ่ย ส่วนพี่น้ำผึ้ง... เห็นแบบนี้ก็ไปเดทด้วยนะ เดทกับพระเอกในนิยายค่ะ (ฮา) และพระเอกที่เป็นผู้โชคร้าย เอ้ย ผู้โชคดีทีได้เดทกับพี่ก็คือ Mr.Darcy หรือ ดาร์ซี่” นั่นเอง เพราะว่าพี่อ่านนิยายเรื่อง Pride & Prejudiceในช่วงฤดูรักเพื่อให้เข้ากับหน้าเทศกาลนั่นเองค่ะ

หลายคนอาจจะเคยอ่านนิยายเรื่องนี้มาบ้างแล้ว มันคือวรรณกรรมคลาสสิคระดับโลกที่เขียนโดยเจน ออสเตน ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นนิยายรักพีเรียดทั่วไป แต่หลังจากอ่านจบพี่พบว่ามันสอดแทรกแง่คิดการใช้ชีวิต ความสัมพันธ์ รวมทั้งยังสอนให้สาวๆ อย่างเราเรียนรู้ผู้ชายด้วยค่ะ

หลายคนอาจแย้งมาว่า “นิยายเก่าตั้งแต่ 200 ปีที่แล้วมันจะสอนอะไรเราได้ ในเมื่อนี่มันยุค 2017 แล้วนะพี่”

ความจริงก็คือ แม้ดาร์ซี่ พระเอกปากร้าย เย็นชา แต่บรรดาสาวๆ กรี๊ดของเรื่องนี้จะถูกยกยอว่าเป็นคนเพอร์เฟคท์สุดขีด แต่ที่จริงแล้วเขาเป็นแค่คนธรรมดาเหมือนกับเราในยุคปัจจุบันที่มีข้อบกพร่องและห่างไกลจากความสมบูรณ์แบบ

เจนและบิงลี่ อลิซาเบธและดาร์ซี่ นายและนางเบ็นเน็ท หรือแม้แต่ชาร์ล็อตและคอลลินส์ ทุกๆ ความสัมพันธ์ของตัวละครที่ออสเตนสร้างขึ้นล้วนแล้วแต่สอนเราทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการอุทิศตัวเพื่อคนรัก เสียสละ และเปิดใจเรียนรู้ซึ่งกันและกัน วันนี้พี่ก็เลยนำสิ่งที่พี่ตกตะกอนได้จากการอ่าน Pride & Prejudice ในแง่ของความสัมพันธ์มาฝากน้องๆ ค่ะ (แน่นอนว่าแง่คิดของเรื่องนี้ยังมีมากกว่าเรื่องความสัมพันธ์) ดังนั้นนอกจากน้องๆ จะได้ไอเดียไปเขียนนิยาย ยังได้แง่คิดไปปรับปรุงและพัฒนาความสัมพันธ์ด้วยค่ะ ถ้าพร้อมแล้วตามมาดูเลยดีกว่า

 



 

จริงๆ แล้วทุกความสัมพันธ์ต้องการโอกาสครั้งที่ 2 นะ

น้องๆ รู้มั้ยคะว่าอะไรที่เป็นสาเหตุให้เจน ออสเตนตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่าPride & Prejudice นั่นเป็นเพราะออสเตนได้แรงบันดาลใจจากการตัดสินคนที่เพิ่งรู้จักครั้งแรกจากภายนอกโดยไม่คำนึงถึงตัวตนที่แท้จริงที่อยู่ภายใน จนนำมาสู่ความเข้าใจผิดอันเป็นตีมหลักของหนังสือเล่มนี้ ดังนั้นในครึ่งเล่มแรกที่อ่านจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรู้สึกแง่ลบ การตัดสินพระเอกแค่ผิวเผินล้วนๆ ดังประโยคนึงในบทที่ 3 ที่ผู้เขียนได้บรรยายถึงดาร์ซี่ไว้ว่า “His character was decided. He was the proudest, most disagreeable man in the world, and everybody hoped that he would never come there again.” เพราะแม่สาวลิซซี่ นางเอกของเราตัดสินดาร์ซี่ไปแล้วนั่นเอง! ขณะที่ครึ่งเล่มหลังจะเป็นการแก้ไขความเข้าใจผิดที่ลิซซี่มี่ต่อดาร์ซี่

 


ดาร์ซี่และอลิซาเบธ
 

ทุกๆ ความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นแบบเพื่อน พี่น้อง คนรัก ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จนเมื่อแน่ใจแล้วว่าสนิทชิดเชื้อถึงจะยอมแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมา โดยปกติแล้วเราจะไม่มีทางรู้ความคิดและความรู้สึกของคนประเภทดาร์ซี่ หรือก็คือคนที่ไม่ชอบเปิดเผยความรู้สึกตัวเองให้คนอื่นรับรู้ค่ะ คนพวกนี้เวลามีใครเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวเขาก็จะปล่อยไป ไร้ซึ่งการอธิบายใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าเรามีเพื่อนหรือแฟนประมาณดาร์ซี่ เราก็ควรจะให้เวลาเขาในการปรับตัว ถ้าเขาทำในสิ่งที่เราไม่พอใจก็ควรให้โอกาส พูดคุยกันแบบเปิดใจเพื่อให้ความสัมพันธ์ดำเนินต่อไปด้วยดี

ลองคิดดูนะคะ ถ้าเจนไม่ยอมให้โอกาสบิงลี่เป็นครั้งที่ 2 สองคนนี้ก็คงไม่ได้ลงเอยกัน ถ้าลิซซี่ไม่ยอมไปเจอดาร์ซี่อีกครั้ง สองคนนี้ก็คงไม่ได้ปรับความเข้าใจกัน เห็นมั้ยคะว่าทุกความสัมพันธ์ต้องการโอกาสครั้งที่ 2 ทั้งนั้น

 

ทุกความสัมพันธ์ต้องการความชัดเจน

เดี๋ยวนี้ความสัมพันธ์แบบไม่ชัดเจนดูจะฮิตมากในสังคมเรา จะว่าเพื่อนก็ไม่ใช่ จะว่าแฟนก็ไม่เชิง แค่คุยกันทุกวัน ทำอะไรก็บอก ถามว่าแฟนหรอ ก็ไม่นะ... พอรู้ตัวอีกที อ้าว เขาขึ้น in relationship กับคนอื่นแล้ว โอ้โห นกไปสิ แล้วก็มาถามตัวเองว่าทำไมถึงเป็นอย่างนี้ล่ะ?

คำตอบง่ายๆ ก็คือเพราะความไม่ชัดเจนในความสัมพันธ์ไงล่ะ ไม่ใช่ว่าความสัมพันธ์ไม่ชัดเจนไม่ดีนะคะ แต่อะไรที่มันชัดเจนย่อมดีกว่าอยู่แล้ว ไม่ต้องลำบากใจ เคลียร์กันตรงๆ และนี่ก็คือข้อคิดที่พี่ได้จากการอ่าน Pride & Prejudice

 


เจนและบิงลี่
 

น้องๆ รู้มั้ยคะว่าตอนแรกเจนกับบิงลี่เกือบจะไม่ได้แต่งงานกันแล้ว เพราะพ่อหนุ่มบิงลี่นั้นสุดแสนจะขี้อาย ส่วนสาวเจนก็ชอบบิงลี่จะตายแต่ไม่กล้าบอก ทำเป็นเมินเฉยไม่สนใจ จนต้องให้นางเอกของเราผู้เป็นน้องสาวเจนยืนยันว่าบิงลี่น่ะตกหลุมรักเจน ดังข้อความในบทที่ 21 ดังนี้ “Indeed, Jane, you ought to believe me. No one who has ever seen you together can doubt his affection.”

การที่เราเอาแต่เก็บงำความรู้สึกไว้ที่เราคนเดียวโดยไม่บอกไม่กล่าว เก็บเอามาคิดเองเออเองเนี่ยเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะบางทีคนๆ นั้นอาจจะรู้สึกแบบเดียวกับเรา ดังนั้นอย่ากลัวที่จะแสดงความรู้สึกออกไปว่าสนใจ ถ้าเราแสดงออกถึงความชัดเจนในตัวเรา ทุกอย่างก็จะดีขึ้นค่ะ น้องก็จะไม่นก ฮ่าๆ

 

อย่าตัดสินเพียงแค่เปลือกนอก

นี่ถือเป็นหนึ่งในข้อสำคัญที่เห็นได้ชัดจากการอ่านนิยายเรื่องนี้เลยค่ะ อลิซาเบธ ตัวแทนของความอคติ (Prejudice) เธอตัดสินดาร์ซี่แค่เพียงครั้งแรกที่เห็น จากนั้นก็ตั้งแง่มาตลอด ยิ่งพอได้ยินวิคแฮมมาพูดใส่ร้ายก็ปักใจเชื่อ ขนาดตอนดาร์ซี่มาบอกรักก็ยังมีการทำร้ายจิตใจเขาอีก T^T ขอบคุณที่เธอได้ไปบ้านของดาร์ซี่ (เพราะคิดว่าดาร์ซี่ไม่อยู่) เลยทำให้อีกมุมนึงของเขา ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของพี่ชายที่แสนดี หรือจะเป็นคนที่เทคแคร์ครอบครัว นั่นคือจุดเปลี่ยนของความรู้สึกของลิซซี่ที่มีต่อดาร์ซี่

หลังจากอ่านจบ พี่ก็ตกตะกอนได้ว่าความประทับใจครั้งแรก (First Impressions) ไม่ใช่ทุกอย่าง เมื่อเราเจอใครสักคนครั้งแรก เราควรเปิดใจและพยายามเรียนรู้ ทำเข้าใจว่าเขาเป็นแบบนั้น บางทีที่เขาเป็นหนุ่มขี้อายแบบบิงลี่ อาจเป็นเพราะมัวแต่ตกตะลึงในความสวยของคู่สนทนา หรือที่เขาดูหยิ่งยโสแถมยังปากร้ายแบบดาร์ซี่ อาจเป็นเพราะเขาเป็นพวกเก็บตัว ไม่เข้าสังคมก็ได้

จะเห็นได้ว่า ถ้าอยากให้ความสัมพันธ์ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์รูปแบบใดๆ เราก็ต้องการความเข้าใจในตัวตนของเขา และอย่าตัดสินเพียงแค่มุมมองของเราฝ่ายเดียวค่ะ 

 


ฉากที่ลิซซี่มาบ้านดาร์ซี่
 

ประพฤติตัวดีเสมอต้นเสมอปลาย

ตอนที่เจนไปเที่ยวบ้านของบิงลี่แล้วป่วยหนัก (บ้านของบิงลี่นั้นอยู่คนละเมืองกับที่เจนอยู่) บิงลี่ไม่ยอมให้เจนกลับบ้านตัวเองจนกว่าอาการจะดีขึ้น เขาคอยดูแลเธออย่างสม่ำเสมอ นั่นแสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่ของเขา

ขณะที่ที่ฝั่งดาร์ซี่ เขาเองก็ให้ความช่วยเหลือครอบครัวของอลิซาเบธด้วยใจในตอนที่ลิเดียหนีตามวิคแฮมไป ซึ่งทางบ้านเบนเน็ตเนี่ยก็เครียดมากเพราะมันเสื่อมเสีย ก็เลยขอให้ทางวิคแฮมแต่งงานกับลิเดียซะ แต่ทางวิคแฮมเซย์โนรวดเดียว แถมยังบอกว่าแต่งก็ได้นะ ถ้ามีเงินให้ เดือดร้อนไปถึงดาร์ซี่ที่หยิบยื่นเงินให้ทางครอบครัวเบนเน็ตจัดงานแต่งค่ะ บอกเลยว่าดาร์ซี่เปย์แล้วเปย์เลย ทางเบนเน็ตไม่ต้องหามาคืนให้! ถึงแม้ว่าดาร์ซี่จะพูดไม่เก่ง แต่ดาร์ซี่ก็พิสูจน์ให้อลิซาเบธเห็นว่าเขารักอลิซาเบธจริงๆ และทำดีเสมอต้นเสมอปลายด้วย

นับว่านี่เป็นอีกหนึ่งข้อคิดที่พี่ได้ เราจะเห็นว่าทั้งบิงลี่และดาร์ซี่ต่างก็มีความอดทนและความเสมอต้นเสมอปลายแก่คนรักของเขา ดังนั้นจำไว้นะคะ ในทุกๆ ความสัมพันธ์ต้องการความเสมอต้นเสมอปลาย จะดีก็ดีให้มันตลอดไป ไม่ใช่ดีเฉพาะวันนักขัตฤกษ์ หรือดีแค่เพราะหวังประโยชน์ค่ะ

 

เคารพการตัดสินใจของกันและกัน

ถ้าพูดกันตามจริงก็คืออลิซาเบธเป็นคนที่ชอบตัดสินคนจากภายนอก แถมยังชอบคิดว่าความคิดตัวเองถูกเสมอด้วย ใน Pride & Prejudice อลิซาเบธไม่พอใจกับการตัดสินใจของชาร์ล็อต เพื่อนรักของเธอที่เลือกแต่งงานกับคอลลินส์ ในความคิดของเธอ คอลลินส์เป็นผู้ชายที่ไม่ว่ายังไงเธอก็จะไม่เลือกมาเป็นสามี ต่อให้เหลือเขาคนเดียวในโลกก็ตาม เธอไม่เข้าใจว่าทำไมชาร์ล็อตต้องแต่งงานกับหมอนี่ด้วย

แต่สุดท้ายเธอก็ได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่เธออาจมองว่าไม่ดีสำหรับเธอ แท้จริงแล้วไม่ได้หมายความว่ามันไม่ดีกับทุกคน นั่นทำให้พี่ได้เรียนรู้ร่วมกันกับลิซซี่ว่าเราควรเคารพการตัดสินใจของคนอื่น สิ่งที่เราคิดว่าไม่เหมาะสมกับเรา จริงๆ แล้วอาจจะเหมาะสมกับคนอื่น เราไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินใจแทนคนอื่น เพื่อความราบรื่นในความสัมพันธ์แล้ว เราต้องเคารพการตัดสินใจของอีกฝ่ายค่ะ

 

เป็นยังไงบ้างคะกับเรื่องที่พี่นำมาฝากในวันนี้ บอกไว้ก่อนเลยว่านี่ยังเป็นแค่น้ำจิ้มในสิ่งที่พี่ตกตะกอนจากการอ่าน Pride & Prejudice เพราะจริงๆ แล้วนิยายเรื่องนี้ยังสอดแทรกแง่คิดอื่นๆ ไว้อีกดังที่พี่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้น้องๆ กระชับความสัมพันธ์กับเพื่อนๆ (หรือแฟน) ได้มากขึ้น รวมทั้งหวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างความสัมพันธ์ของตัวละครในนิยายน้องๆ ได้นะคะ สำหรับครั้งหน้าจะเป็นเรื่องอะไรนั้น เกี่ยวข้องกับ Pride & Prejudice หรือเปล่า ต้องติดตามค่ะ ^__^


พี่น้ำผึ้ง :)


ขอบคุณรูปภาพจาก
pinterest.com
 
พี่น้ำผึ้ง
พี่น้ำผึ้ง - Columnist นักเขียนที่ชอบส่งต่อพลังบวกให้ทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

เลดี้ วีนัส Member 15 มี.ค. 60 05:28 น. 1

ขอบคุณที่แชร์นะคะ ชอบบทความนี้มากๆๆๆ (ก ไก่ ล้านตัว) เลยค่ะ ^_^


แต่เราคิดว่าตรงข้อ 'อย่าตัดสินคนเพียงแค่เปลือกนอก' ไม่ใช่ลิซซี่คนเดียวที่ตัดสินดาร์ซี่เพียงแค่ "First Impressions" ดาร์ซี่เองก็เช่นกัน เพราะ 'Pride' ทำให้เขามองลิซซี่และคนในเมริตัน (Meryton) ต่ำต้อยกว่าตัวเอง เขาตัดสินลิซซี่ด้วยคำพูดเจ็บแสบในงานเต้นรำ ตอนที่ทั้งสองได้พบกันครั้งแรก เราว่านั่นทำให้ลิซซี่ตั้งแง่อคติกับเขาเรื่อยมา ^_^


Chapter 3 "She is tolerable; but not handsome enough to tempt me; and I am in no humour at present to give consequence to young ladies who are slighted by other men." (Austen, 1813)



2
Honey.T Columnist 16 มี.ค. 60 10:17 น. 1-1

ใช่เลย ลืมนึกถึงประเด็นนี้เลย เพราะนี่ก็อ่านนานแล้ว ๙บวกกับเข้าข้างพระเอกด้วยมั้ง ฮ่าๆ

0
กำลังโหลด

2 ความคิดเห็น

เลดี้ วีนัส Member 15 มี.ค. 60 05:28 น. 1

ขอบคุณที่แชร์นะคะ ชอบบทความนี้มากๆๆๆ (ก ไก่ ล้านตัว) เลยค่ะ ^_^


แต่เราคิดว่าตรงข้อ 'อย่าตัดสินคนเพียงแค่เปลือกนอก' ไม่ใช่ลิซซี่คนเดียวที่ตัดสินดาร์ซี่เพียงแค่ "First Impressions" ดาร์ซี่เองก็เช่นกัน เพราะ 'Pride' ทำให้เขามองลิซซี่และคนในเมริตัน (Meryton) ต่ำต้อยกว่าตัวเอง เขาตัดสินลิซซี่ด้วยคำพูดเจ็บแสบในงานเต้นรำ ตอนที่ทั้งสองได้พบกันครั้งแรก เราว่านั่นทำให้ลิซซี่ตั้งแง่อคติกับเขาเรื่อยมา ^_^


Chapter 3 "She is tolerable; but not handsome enough to tempt me; and I am in no humour at present to give consequence to young ladies who are slighted by other men." (Austen, 1813)



2
Honey.T Columnist 16 มี.ค. 60 10:17 น. 1-1

ใช่เลย ลืมนึกถึงประเด็นนี้เลย เพราะนี่ก็อ่านนานแล้ว ๙บวกกับเข้าข้างพระเอกด้วยมั้ง ฮ่าๆ

0
กำลังโหลด
Silver-Sky Member 10 พ.ค. 60 21:49 น. 2

ชอบเรื่องนี้สุดๆ ชอบของออสเตนทุกเรื่อง คาแรกเตอร์ตัวละครชัดเจน มีความเป็นมนุษย์ เรื่องราว และภาษาก็สวยงาม มันดีงามทุกส่วนจริงๆ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด