ไม่รู้จักไม่ได้! 5 ผลงานอมตะจากปลายปากกาของสุนทรภู่




ไม่รู้จักไม่ได้!
5 ผลงานอมตะจากปลายปากกาของสุนทรภู่


 

สวัสดีค่ะ ชาวเด็กดีไรเตอร์ทุกคน~ เริ่มต้นสัปดาห์ด้วยวันสำคัญของวงการวรรณคดีไทยอย่าง วันสุนทรภู่ (26 มิถุนายน 2560) ทั้งที พี่หญิงก็ไม่พลาดนำผลงานอันดีงามจากท่านมาฝากทุกคนกัน นั่นก็คือ “ 5 สุดยอดผลงานอมตะจากปลายปากกาของสุนทรภู่” เรามาตามกันดูกันเลยดีกว่าค่ะ ว่าทั้ง 5 บทประพันธ์ที่พี่หญิงได้เลือกมานั้น น้องๆ จะรู้จัก หรือ คุ้นเคย กับเรื่องนี้ไหนกันบ้างน้า~ 




เรื่องที่ 1 พระอภัยมณี



สุดยอดวรรณคดีเรื่องแรกที่พี่หญิงยกมาพูดคุยกับทุกคนในวันนี้ เชื่อว่า น้องๆ จะต้องรู้จักกันอย่างดีเป็นแน่แท้ เพราะนอกจากวรรณคดีเรื่องนี้จะได้รับการดัดแปลงเป็นทั้งภาพยนตร์ การ์ตูน หลากหลายเวอร์ชั่นมากมายแล้ว ยังถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการด้วยน่ะสิ ซึ่ง...ขอบอกตรงๆ ว่าที่พี่หญิงจดจำเรื่องนี้ได้ไม่ลืม ก็ต้องจำเนื้อหาในวรรณคดีนี้ไปสอบในช่วงยังเป็นละอ่อนน้อยนั้นแล (ฮา)


(ตัวอย่าง แบบเรียนหนังสือภาษาไทย)


น้องๆ รู้กันหรือไม่คะว่า คุณค่าของวรรณคดีเรื่องนี้ไม่ได้มีเพียงแต่ความแปลกใหม่และความสนุกน่าติดตามเท่านั้น “พระอภัยมณี” ยังเป็นวรรณคดีที่เกิดขึ้นจากจินตนาการของผู้แต่งอย่างแท้จริง หาได้เขียนจากนิทานชาวบ้านหรือชาดกไม่ ถือว่าเป็นผลงานที่แสดงถึงการเป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ของสุนทรภู่อย่างที่สุด (ว่ากันว่าได้เค้ามูลมาจากเรื่องอาหรับราตรี และพงศวดารจีนเรื่องไซฮั่น) โดยผลงานชิ้นนี้ได้ถูกประพันธ์ขึ้นเป็นนิทานคำกลอน มีความยาวถึง 94 เล่มสมุดไทย เมื่อตีพิมพ์เป็นเล่มจะมีความยาวถึง 1,200 หน้า ใช้เวลาแต่งรวมมากกว่า 20 ปี

เรื่องย่อคร่าวๆ : เรื่องราวการดำเนินชีวิตของพระอภัยมณี ตัวเอกที่ต้องออกเดินทางเพื่อร่ำเรียนวิชาความรู้เช่นเดียวกับเจ้าชายในวรรณคดีเรื่องอื่น...แต่! พระอภัยมณีกลับเลือกเรียนในสิ่งที่แตกต่างซะงั้น เจ้าชายเรื่องอื่นเขาเรียนอาคมการต่อสู้ ไม่ก็การเมืองการปกครอง พระอภัยมณีกลับเลือกเรียนวิชาดนตรีการเป่าปี่จ้า จุดนี้นี่เอง เป็นเหตุให้พระบิดาโกรธมากจนถึงกับขับไล่ไสส่งออกจากเมือง การผจญภัยของพระอภัยมณีก็เริ่มขึ้นนับแต่นั้นมา...ซึ่งหลังจากเดินทางได้ไม่นานพระอภัยมณีก็ต้องเจอกับเรื่องราวพลิกผันมากมายเลยค่ะ ทั้งโดนนางผีเสื้อสมุทรจับตัวไป ได้รับความช่วยเหลือจากครอบครัวเงือกไปยังเกาะแก้วพิสดาร พบรักกับนางสุวรรณมาลี บุตรสาวเจ้ากรุงผลึก สงครามระหว่างกรุง กระทั่งท้ายที่สุดแล้วพระอภัยมณีปลงได้กับความไม่แน่นอนของโลกมนุษย์และออกบวช (การดำเนินเรื่องในช่วงหลังจะเป็นการผจญภัยของรุ่นลูกๆ ของพระอภัยมณี โดยมีสุดสาครและนางเสาวคนธ์เป็นตัวละครหลัก)


ตัวอย่างวรรคทอง : จากตอนที่ 25 ฤๅษีสอนสุดสาคร หลังถูกชีเปลือยผลักตกหน้าผา เอาม้ามังกรและไม้เท้ากายสิทธิ์ไป


บัดเดี๋ยวดังหงั่งเหง่งวังเวงแว่ว สะดุ้งแล้วเหลียวแลชะแง้หา

เห็นโยคีขี่รุ้งพุ่งออกมา ประคองพาขึ้นไปจนบนบรรพต

แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด

ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน

อันมนุษย์นี้ที่รักสองสถาน บิดามารดารักมักเป็นผล

ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน เกิดเป็นคนคิดเห็นจึงเจรจาฯ

แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา

รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี

จงคิดตามไปเอาไม้เท้าเถิด จะประเสริฐสมรักเป็นศักดิ์ศรี

พอเสร็จคำสำแดงแจ้งคดี รูปโยคีหายวับไปกับตาฯ



 

เรื่องที่ 2 สิงหไกรภพ



เรื่องที่สองนี้นั้นคาดว่าถ้าใครแฟนเป็นละครจักรๆ วงศ์ๆ ของทางทีวีช่องหลากสีแล้วล่ะก็ พี่หญิงเชื่อว่าจะต้องคุ้นเคยกับวรรณคดีเรื่องนี้อยู่ไม่น้อยแน่ๆ (แต่...ฉายล่าสุดก็เกือบสิบปีไปแล้ว ใครทัน บ่งบอกอายุมาก ฮา) 

โดยเรื่องสิงหไกรภพนี้ สุนทรภู่ท่านแต่งไว้เพียง 15 เล่มสมุดไทย เป็นบทประพันธ์ประเภทนิทานคำกลอนที่มีเค้าโครงเรื่องสนุกสนาน การผูกเรื่องชวนติดตาม เล่าถึงเรื่องราวการเดินทางของสิงหไกรภพบุตรชายท้าวอินณุมาศกษัตริย์เมืองโกญจา และพระมเหสีจันทร ที่ต้องพรากจากผู้ให้กำเนิดไปแต่เล็ก เมื่อเติบโตจนรู้ความ สิงหไกรภพต้องผจญกับเรื่องราวมากมายตั้งแต่การหลีกหนีนางยักษ์พินทุมาร ออกตามหาบิดามารดาที่แท้จริงด้วยการแปลงร่างเป็นนก จนกระทั่งเดินทางไปพบนางสร้อยสุดาพระธิดาท้าวจัตุพักตร์ที่มาประพาสก็หลงรัก จึงลอบพาหนี เป็นเหตุให้เกิดศึกชิงนางขึ้น ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วสิงหไกรภพก็ได้นางสร้อยสุดาเป็นพระมเหสีกครองเมืองโกญจาสืบต่อไป แต่เรื่องราวก็ยังไม่จบลงเพราะพราหมณ์จินดาผู้เป็นเสมือนพี่ชายที่สิงหไกรภพให้ปกครองเมืองมารัน ถูกล่อลวงไปยังเมืองกาลวาศ พระอินทร์ทราบเรื่องจึงลงมาช่วยโดยการส่งพราหมณ์จินดาไปยังปราสาทพระธิดาแก้วกินรี พราหมณ์จินดาจึงได้นางเป็นพระชายา เขาพานางแก้วกินรีหนีกลับเมืองมารัน แต่ระหว่างทางพบนางผีป่าแปลงกายมาเพื่อล่อหลอกและทำร้ายนางแก้วกินรี เมื่อพราหมณ์จินดาสังหารผีป่าแล้ว จึงบวชเป็นฤๅษีบำเพ็ญพรตในป่าเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ ด้านสิงหไกรภพเมื่อทราบเรื่องจึงยกทัพไปช่วย สังหารท้าวเทพาสูรแห่งเป็งกาลวาศได้ในที่สุด และการผจญภัยครั้งสุดท้ายก็ได้จบลงเมื่อพราหมณ์จินดาและพวกศิษย์มีชัยชนะเหนือท้าวกาลเนตรที่เข้ามารบด้วยเพราะโกรธพราหมณ์จินดาที่ไม่ยอมรับพระธิดาของตนเป็นชายา

นอกจากความสนุกตามเนื้อเรื่องที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว พี่หญิงบอกเลยว่าบทประพันธ์นี้ยังแฝงไปด้วยข้อคิดในด้านต่างๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองการปกครอง ประเพณี โดยเฉพาะในเรื่องของ “กรรม” ที่ถูกสอดแทรกเอาไว้ตลอดการดำเนินเรื่อง เช่น


เราชาตินี้มีกรรมนั้นแสนสุด ไม่มีบุตรสืบสร้างพระศาสนา

เมื่อถึงกรรมจำตายวายชีวี ถึงอยู่ที่ไหนไหนก็ไม่พ้น

สงสารสุดนุชน้องเจ้าทรงครรภ์ มาจากกันกรรมสร้างแต่ปางใด




เรื่องที่ 3 ลักษณวงศ์



เรื่องต่อมา “ลักษณวงศ์” นี้นั้นก็เป็นบทประพันธ์ประเภทนิทานคำกลอนเช่นกัน มีสาระสำคัญอยู่ที่เรื่องราวชีวิตของพระโอรสท้าวพรหมทัตเจ้าเมืองพราณสีและมเหสีสุวรรณอำภา พระนามคือ พระลักษณวงศ์ ชีวิตของพระองค์ต้องพลิกผันจากการใส่ร้ายของนางยักษ์ และพี่หญิงขอบอกเลยว่านอกจากการผจญภัยอันน่าติดตามแล้ว เรื่องราวความรักในผลงานเรื่องนี้ก็ถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างซาบซึ้งตรึงใจเป็นอย่างมากเช่นกัน 

เรื่องย่อคร่าวๆ : ท้าวพรหมทัต มีมเหสี ชื่อ สุวรรณอำภา และมีพระราชโอรส ชื่อ ลักษณวงศ์ ทรงพามเหสีพร้อมด้วยพระราชโอรสเสด็จประพาสป่า ได้พบนางยักษ์แปลงเป็นสาวสวยทำเล่ห์กลจนท้าวพรหมทัตลุ่มหลง ต่อมาจึงสั่ง ประหาร มเหสี และพระโอรส แต่เพชฌฆาตสงสารจึงปล่อยไป นางสุวรรณอำภาถูกพระยายักษ์พาตัวไป ฤๅษีนำลักษณวงศ์ไปเลี้ยงคู่กับนางทิพย์เกสร เมื่อโตขึ้นเรียนวิชาจนสำเร็จและได้นางทิพย์เกสรเป็นชายา ได้ฝากนางไว้กับฤๅษี ออกตามหามารดาจนพบและ กู้บ้านเมืองได้ และได้นางยี่สุ่น เป็นชายา นางทิพย์เกสรปลอมเป็นพราหมณ์ติดตามมาพบพระลักษณวงศ์ ด้วยความน้อยใจ จึงไม่แสดงตนให้พระลักษณวงศ์รู้ นางยี่สุ่นริษยาที่สามีใส่ใจพราหมณ์มากจึงวางอุบาย กำจัดพราหมณ์เกสร ในที่สุดพราหมณ์ถูกประหาร ร่างของนางจึงกลับคืนเป็นร่างของนางทิพเกสรดังเดิม พระลักษณวงศ์เสียใจมาก ต่อมา พระลักษณวงศ์ได้นำโอรสน้อยไปเลี้ยงดู และตั้งชื่อให้ว่า เกสรสุริยวงศ์ จนถึงวันเผาศพนางทิพเกสร วิญญาณของ ฤๅษีมหาเมฆ พระอาจารย์ของพระลักษณวงศ์และนางทิพเกสรได้ลงมาเปิดโกศนำศพของนางทิพเกสรไปทำพิธีชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ และเปลี่ยนชื่อเป็น นางจันทรังสี เมื่อพระลักษณวงศ์พบว่า ศพของนางทิพเกสรหายไป ก็ให้โหราจารย์ทำนายดู โหราจารย์ก็ทำนายว่า มีผู้นำศพของนางทิพเกสรไปทำพิธีชุบชีวิต ทำให้พระลักษณวงศ์ดีใจมาก และคิดจะออกไปตามหานางทิพเกสรเมื่อเกสรสุริยวงศ์โตแล้ว ซึ่งกว่าจะตามหานางทิพเกสรพบก็ผ่านเรื่องราวอีกมากมาย จนเรื่องราวจบลงอย่างมีความสุข

จุดเด่นสำคัญที่พี่หญิงชอบมากๆ ในเรื่อง “ลักษณวงศ์” อีกอย่างก็คือ เรื่องราวการกตัญญูต่อบิดามารดา ผู้มีพระคุณที่ถูกสอดแทรกเข้ามาได้อย่างน่าซาบซึ้งตรึงใจเป็นที่สุด (โดยเพราะตอนที่ลักษณวงศ์อ้อนวอนเพื่อช่วยเหลือมารดา พี่หญิงอ่านตอนนี้ทีไรน้ำตาจะไหลทุกที ฮา)


รื่นรื่นชื่นกลิ่นผกามาศ บุปผชาติลมชายไม่หายโหย

พระหอมกลิ่นสุกรมเมื่อลมโชย ยิ่งดิ้นโดยกรมจิตคิดรำจวน

เห็นนางนกกกลูกประคองกอด สะท้อนทอดหฤทัยอาลัยหวน

เหมือนแม่เจ้าคราวกอดถนอมนวล เลี้ยงสงวนลูกไว้ไม่ไกลกาย

  (บทกลอนตอนที่ลักษณวงศ์ออกเดินทางไปเมืองมยุราเพื่อช่วยพระมารดา)


ไม่เพียงแค่นี้เท่านั้น บทประพันธ์ยังเต็มไปด้วยเรื่องราวของ “กรรม” “บาป-บุญ” “การสร้างกุศล” ซึ่งผู้อ่านจะได้พบตลอดทั้งเรื่อง แทรกด้วยคำสอนให้ประพฤติดี ละเว้นความชั่ว สอนให้เห็นผลของการกระทำ คือ ผู้ทำดีย่อมได้รับผลดีตอบสนอง ส่วนผู้ทำชั่ว ผลชั่วก็จะตอบสนองเช่นกัน ตลอดจนสอดแทรกภูมิปัญญาอย่างเรื่องยาสมุนไพรพื้นบ้านอีกด้วย


ทั้งสองฮึกโอหังจนสังขาร์ เพราะตัณหาพาชีพให้ฉิบหาย

กเฬวรากชากศพประกบตาย ริมเชิงชายสิขเรศคิรีวัน

(บทกลอนตอนที่วิทยาธรสองตนต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงนางทิพเกสร จนต้องอาวุธตายทั้งคู่)




เรื่องที่ 4 โคบุตร



มาถึงเรื่องที่สี่กันแล้ว กับเรื่อง “โคบุตร” บทประพันธ์ประเภทนิทานคำกลอนเรื่องแรกของท่านสุนทรภู่ แต่งขึ้นเพื่อถวายเจ้านายในพระราชวงศ์หลังพระองศ์หนึ่ง เป็นเกี่ยวกับ โคบุตร ซึ่งเป็นบุตรชายของพระอาทิตย์และนางอัปสรที่ฝากให้พญาราชสีห์เลี้ยงดู ซึ่งพี่หญิงขอบอกเลยว่านอกจากเรื่องนี้จะเต็มไปด้วยความงดงามทางด้านภาษาวรรณศิลป์แล้ว เนื้อหาภายในยังสอดแทรกเรื่องราวความเชื่อทางพุทธศาสนาเอาไว้อย่างจัดเต็ม โดยเฉพาะการไม่อาฆาตพยาบาทที่เป็นจุดเด่นมากๆ ของเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจอีกด้วย



(ตัวอย่างการ์ตูนเรื่องโคบุตร)
 

เรื่องย่อคร่าวๆ : เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อนางฟ้าองศ์หนึ่งตั้งจิตปรารถนาอยากมีโอรสกับพระอาทิตย์ ด้วยอำนาจอธิษฐาน นางจึงไปจุติอยู่ในดอกบัวหลวง ณ เมืองมนุษย์ เมื่อพระอาทิตย์ทราบจึงตอบรับจนนางตั้งครรภ์ หลังจากนางอัปสรคลอดโอรสแล้วก็ดับชีพกลับไปจุติบนสวรรค์ พระอาทิตย์จึงนำโอรสไปฝากไว้ให้ราชสีห์เลี้ยงดู จนกระทั่งเติบใหญ่อายุ 10 ขวบปี ได้รับนามโคบุตรจากพระบิดา และออกเดินทางไปยังที่ต่างๆ เพื่อตามหาเนื้อคู่ตามคำทำนายของพระอาทิตย์ ซึ่งระหว่างทาง ก็ตามแบบพระเอกในวรรณคดีเรื่องอื่นๆ เลยค่ะ โคบุตรได้ช่วยเหลือบุตรธิดาเจ้าเมืองที่ตกระกำลำบากไว้ได้ ช่วยกอบกู้เมือง เจ้าเมืองประทานธิดาให้ และออกเดินทางต่อ ท้ายที่สุดเขาได้แต่งงานมีพระมเหสีสองคน คือ นางอำพันมาลา (ได้จากการเดินทางต่อ) และนางมณีสาคร (บุตรสาวท้าวพาราณสีที่ได้ช่วยไว้ก่อนออกเดินทาง) แต่ด้วยความอิจฉาริษยานางอำพันมาลาจึงทำเสน่ห์ให้โคบุตรหลงรัก เมื่อแก้ไขเสน่ห์ได้สำเร็จ โคบุตรโกรธมากจนขับไล่นางอำพันมาลาออกจากวัง 

ซึ่งความพีคโคบุตรมันอยู่ตรงนี้นี่แหละค่ะ คือถึงแม้เขาจะต่อสู้สังหารศัตรูไป แต่! เขากลับไม่เคยฆ่าใครอย่างจริงๆ จังๆ สักที เขาใช้ของวิเศษที่พระบิดาให้ติดตัวมาคืนชีพคนที่เขาสังหารทั้งหมดซะงั้น และจุดนี้นี่เองที่ทำให้นิทานคำกลอนเรื่องนี้แต่ต่างจากเรื่องอื่นมากๆๆๆ (เรื่องอื่นฆ่าแล้วฆ่าเลยไม่มีคืนชีพนะจ๊ะ)


ตัวอย่าง คำกลอนสอนเรื่องการอาฆาตพยายาบาท ตอน โคบุตรคืนชีพให้นางยักษ์ 4 ตน


พระแย้มยิ้มพริ้มพรายภิปรายโปรด ถ้างดโทษแล้วอย่าทำเหมือนหนหลัง

กระทิงถึกมฤคาในป่ารัง ชีวิตยังแล้วอย่าทำให้จำตาย

จงถือมั่นขันตีเป็นที่สุด เมื่อม้วยมุดจะไปเกิดให้เฉิดฉาย

วันนี้มึงจะถึงชีวาวาย ได้รอดตายแล้วอุตส่าห์รักษาตน

นางยักษ์รับอัพภิวาทถวายสัตย์ จะบำหยัดบาปกรรมทำกุศล

ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตให้วายชนม์ ประจวบจนชีวันนั้นบรรลัย




เรื่องที่ 5 พระไชยสุริยา



มาถึงผลงานชิ้นสุดท้ายของท่านสุนทรภู่ที่พี่หญิงนำมาฝากทุกคนในวันนี้กันแล้ว พี่หญิงเชื่อว่ามีน้องๆ ชาวเด็กดีไม่น้อยเลยที่คุ้นเคยกับบทประพันธ์นี้กัน (เพราะผลงานชิ้นนี้ยังแอบเป็นบทเรียนสำหรับเด็กมัธยมทั้งหลายด้วยนะสิ) โดย “พระไชยสุริยา” เป็นนิทานสำหรับสอนการเขียนอ่านของหม่อมเจ้าองค์น้อยๆ ที่สุนทรภู่แต่งขึ้นในรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ขณะบวชเป็นพระอยู่ที่วัดเทพธิดาราม เป็นกาพย์ซึ่งสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับวิชาภาษาไทย มีบทอ่านเรียงลำดับการสะกดตั้งแต่แม่ก กา แม่กน แม่กง แม่กก แม่กด แม่กบ แม่กม จนถึงแม่เกย ตามลำดับ มีลักษณะการประพันธ์แบบกาพย์ประเภทต่างๆ คือกาพย์ยานี 11  กาพย์ฉบัง 16  และกาพย์สุรางคนางค์ 28  ทั้งยังแฝงถึงการสอนศีลธรรมความผิดชอบชั่วดี ผลของการกระทำไว้อีกด้วย และต่อมาได้ถูกบรรจุลงหนังสือ มูลบทบรรพกิจ ซึ่งเป็นแบบเรียนที่จัดทำขึ้นโดยพระยาศรีสุนทรโวหาร ในสมัยรัชกาลที่ 5

เรื่องย่อคร่าวๆ : พระไชยสุริยาเป็นกษัตริย์ครองเมืองสาวัตถีมีมเหสีชื่อสุมาลี บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ และเป็นสุขมาช้านานจนกระทั่งเมื่อข้าราชบริพารและผู้มีอำนาจพากันลุ่มหลงในอบายมุข  และเที่ยวข่มเหงราษฎรจนเดือดร้อนไปทั่ว ในที่สุดน้ำป่าก็ไหลบ่าท่วมเมืองจนผู้คนล้มตาย ผู้ที่มีชีวิตรอดก็หนีออกจากเมืองไป ทิ้งสาวัตถีกลายเป็นเมืองร้าง 

พระไชยสุริยาพามเหสีและข้าราชบริพารหนีลงเรือสำเภาออกจากเมืองแต่ถูกพายุใหญ่  พัดเรือแตก พระไชยสุริยากับนางสุมาลีว่ายน้ำไปขึ้นฝั่งแล้วรอนแรมไปในป่า พระดาบสรูปหนึ่งเข้าฌานเห็นพระไชยสุริยากับนางสุมาลีต้องทนทุกข์ทรมานก็เวทนา เพราะเห็นว่าพระไชยสุริยาทรงเป็นกษัตริย์ที่ดี แต่ประสบเคราะห์กรรมเพราะหลงเชื่อเสนา อำมาตย์ จึงเทศนาโปรดจนทั้งสองศรัทธาและบำเพ็ญธรรมจนได้ไปเกิดบนสวรรค์



ตัวอย่าง กาพย์ฉบัง 16 

พระไชยสุริยาภูมี                              พาพระมเหษี      

                            มาที่ในลำสำเภา      

                            เข้าปลาหาไปไม่เบา                          นารีที่เยาว์

                            ก็เอาไปในเภตรา      

                            เถ้าแก่ชาวแม่แซ่มา                           เสนีเสนา

                            ก็มาในลำสำเภา      

                            ตีม้าฬ่อช่อใบใส่เสา                           วายุพยุเพลา  

                            สำเภาก็ใช้ใบไป

                            เภตรามาในน้ำไหล                            ค่ำเช้าเปล่าใจ

                            ที่ในมหาวารี




จบกันไปแล้วนะคะ สำหรับ 5 ผลงานอมตะของสุนทรภู่ที่พี่หญิงได้เลือกมาในวันนี้ ซึ่งไม่เพียงแต่มีเรื่อราวชวนน่าติดตามเท่านั้น ยังแฝงทั้งคติสอนใจมากมายไว้อีกด้วย (โดยเฉพาะเรื่องการทำความดีเห็นชัดมากๆๆ) น้องๆ ชาวเด็กดีรู้จักคุ้นเคยกันเรื่องไหนเป็นพิเศษกันบ้างเอ่ย มาแชร์กันได้นะคะ สุดท้ายนี้พี่หญิงขอลาไปก่อน เจอกันใหม่ครั้งหน้าวันนี้สวัสดีวันสุนทรภู่นะคะ




ขอบคุณขอมูลและรูปภาพจาก

http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=7653

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%93%E0%B8%B5#.E0.B8.A7.E0.B8.A3.E0.B8.A3.E0.B8.84.E0.B8.97.E0.B8.AD.E0.B8.87

http://rungfa.chs.ac.th/apaistory.htm

http://vajirayana.org/

http://vajirayana.org/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B9%84%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A0%E0%B8%9E/%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%AD%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A2
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%93%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C
http://bangkrod.blogspot.com/2012/12/blog-post_3976.html




พี่หญิง

 

พี่หญิง
พี่หญิง - Columnist มนุษย์บ้านิยายที่สิงอยู่แถวๆ คลังนิยายเด็กดีเป็นประจำ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

มัณทนา Member 26 มิ.ย. 60 17:37 น. 3

พระอภัยมณี 

-เป็นทั้งภาพยนตร์ การ์ตูนแอนิเมชัน การ์ตูนคอมมิค (เรื่อง อภัยมณีซาก้า) หุ่นละครเล็ก ภาพวาด 

แผ่นเสียง หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ และละคร 2 ครั้ง คือ ครั้งแรก ช่อง 7 พ.ศ.2529 ของดาราวีดิโอ 

พระอภัยมณีเวอร์ชั่นนี้เคยเป็นละครหลังข่าว แต่ตอนหลังย้ายมาฉายตอนเช้าวันเสาร์-อาทิตย์

(ละครจักรๆวงศ์ๆของช่อง 7 เคยเป็นละครหลังข่าวช่วงวันจันทร์-ศุกร์มาก่อน

แต่ตอนหลังย้ายไปอยู่ตอนเช้าวันเสาร์-อาทิตย์มาจนถึงปัจจุบัน)

และครั้งที่ 2 ช่อง 3 พ.ศ.2548 ของค่ายของต้อย เศรษฐา ศิระฉายา

และยังเคยถูกบรรจุอยู่ในหนังสือเรียนภาษาไทย รุ่นแก้วกับกล้า ชั้นป.4 เล่ม 1 อีกด้วย

ลักษณวงศ์

-เคยเป็นละคร 2 ครั่ง คือ พ.ศ.2529 ใช้ชื่อเรื่องว่า "ทิพย์เกสร" ของดาราวีดิโอและพ.ศ.2542 ช่อง 7

สิงหไกรภพ

-เคยเป็นละคร 3 ครั้ง คือ พ.ศ.2526 ของดาราวีดิโอ พ.ศ.2540-2541 และพ.ศ.2547 ช่อง 7

0
กำลังโหลด

4 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
มัณทนา Member 26 มิ.ย. 60 17:37 น. 3

พระอภัยมณี 

-เป็นทั้งภาพยนตร์ การ์ตูนแอนิเมชัน การ์ตูนคอมมิค (เรื่อง อภัยมณีซาก้า) หุ่นละครเล็ก ภาพวาด 

แผ่นเสียง หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ และละคร 2 ครั้ง คือ ครั้งแรก ช่อง 7 พ.ศ.2529 ของดาราวีดิโอ 

พระอภัยมณีเวอร์ชั่นนี้เคยเป็นละครหลังข่าว แต่ตอนหลังย้ายมาฉายตอนเช้าวันเสาร์-อาทิตย์

(ละครจักรๆวงศ์ๆของช่อง 7 เคยเป็นละครหลังข่าวช่วงวันจันทร์-ศุกร์มาก่อน

แต่ตอนหลังย้ายไปอยู่ตอนเช้าวันเสาร์-อาทิตย์มาจนถึงปัจจุบัน)

และครั้งที่ 2 ช่อง 3 พ.ศ.2548 ของค่ายของต้อย เศรษฐา ศิระฉายา

และยังเคยถูกบรรจุอยู่ในหนังสือเรียนภาษาไทย รุ่นแก้วกับกล้า ชั้นป.4 เล่ม 1 อีกด้วย

ลักษณวงศ์

-เคยเป็นละคร 2 ครั่ง คือ พ.ศ.2529 ใช้ชื่อเรื่องว่า "ทิพย์เกสร" ของดาราวีดิโอและพ.ศ.2542 ช่อง 7

สิงหไกรภพ

-เคยเป็นละคร 3 ครั้ง คือ พ.ศ.2526 ของดาราวีดิโอ พ.ศ.2540-2541 และพ.ศ.2547 ช่อง 7

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด