งานวิจัยชี้ 'เทพนิยายไม่ใช่แค่เรื่องเพ้อฝัน' อีกต่อไป

งานวิจัยชี้ 'เทพนิยายไม่ใช่แค่เรื่องเพ้อฝัน' อีกต่อไป

สวัสดีค่ะชาวเด็กดีทุกคน ไม่ว่าจะวัยไหนๆ พวกเราต่างตกหลุมรัก เทพนิยายกันทั้งนั้น ด้วยโครงเรื่องที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ มีคำสาป เวทมนตร์และเจ้าชายหล่อเหลาเกินจินตนาการของพวกเรา อ่านไปก็นอนหลับฝันดีไป แล้วน้องๆ เคยสงสัยกันบ้างมั้ยว่า มันเป็นไปได้หรือเปล่าที่ช่วงเวลาอันแสนมหัศจรรย์ในเทพนิยายบางเรื่องที่เราโปรดปรานจะเป็นจริง? ถ้าเคยล่ะก็ วันนี้พี่น้ำผึ้งมีคำตอบมาให้ทุกคนค่ะ

หลักฐานทางกายภาพและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดชี้ให้เห็นว่า เรื่องราวแฟนตาซีที่ฟังดูเวอร์เกินจริงนั้น แท้จริงแล้วอาจมีรากฐานมาจากความเป็นจริง!! ฟังดูน่าสนใจใช่มั้ยล่ะคะ ถ้าอย่างนั้นเราลองมาอ่านเทพนิยายต่อไปนี้สิ แล้วจะรู้ว่าทำไมวิทยาศาสตร์ลงความเห็นว่ามันเป็นเรื่องจริง!

 


 

ราพันเซล

ในนิทานของพี่น้องตระกูลกริมม์ แม่มดจับหญิงสาวแสนสวยคนหนึ่งไว้ในหอคอย ชื่อของเธอคือ “ราพันเซล”

ราพันเซลมีความสุขกับการร้องเพลง เธอมีเรือนผมสีบลอนด์ที่ยาวมาก อยู่มาวันหนึ่งเสียงของเธอทำให้เจ้าชายผู้เดินผ่านป่าที่เธออาศัยหลงใหล เมื่อได้เจอกัน พวกเขาตกหลุมรัก ราพันเซลปล่อยผมเธอให้ร่วงหล่นเพื่อที่เจ้าชายจะได้ใช้มันปีนขึ้นมาหาเธอบนหอคอยได้ เรื่องราวดำเนินวนไปอยู่แบบนี้จนทำให้ผู้อ่านเกิดคำถาม เส้นผมมนุษย์สามารถรองรับน้ำหนักของคนอื่นได้หรือไม่?

โดยทั่วไป เส้นผมหนึ่งเส้นสามารถรองรับน้ำหนักได้ประมาณ 3.5 ออนซ์ หรือประมาณ 99 กรัม เปรียบเทียบง่ายๆ ก็คือลูกอมสองอันโดยประมาณ (โอ้โห) ยิ่งถ้าเป็นผมดำแบบเอเชียอย่างเราๆ นะ บอกเลยว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมแต่ละเส้นมีความหนาและแข็งแรงยิ่งกว่าผมสีบลอนด์อีกค่ะ เริ่ด!
 


 

แต่อนิจจา ราพันเซลทำได้อย่างไรกับปอยผมสีบลอนด์ของเธอหนอ ไม่หนักหรือไง ความจริงก็คือ โดยทั่วไปแล้ว ผมบลอนด์ประมาณ 140,000 เส้นบนหัวเธอควรรองรับน้ำหนักของเจ้าชายได้มากกว่าหนึ่งคน! ฟังแค่นี้ก็อึ้งแล้วใช่มั้ยคะ ช้าก่อน ยังมีความจริงที่ทำให้น้องๆ อึ้งได้มากกว่านี้

ถ้าราพันเซลเพียงแค่ปล่อยผมลงและเจ้าชายก็เริ่มปีนผมของเธอทันที จริงอยู่ที่ผมของเธอไม่ขาด แต่มันอาจทำให้เธอปวดหัวเหมือนเป็นบ้า แล้วร่างกายของเธอก็อาจไม่สามารถรองรับน้ำหนักทั้งหมดของเจ้าชายได้!! โชคดีที่มันมีกลยุทธิ์ที่เธอสามารถใช้เพื่อลดอาการตึงเครียดบนศีรษะและลำตัวอันจากการที่ผมของเธอถูกดึงทึ้ง
 


 

นาธาน ฮาร์ชแมน (Nathan Harshman) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฟิสิกส์จาก American University ในกรุงวอชิงตันดีซีกล่าวว่า ราพันเซลจะปลอดภัยมากขึ้นถ้าเธอผูกผมไว้รอบๆ สิ่งของบางอย่างก่อนที่จะลดระดับผมลง

"คุณสามารถใช้แรงเสียดทานของเส้นผมที่เกิดขึ้นในปมของผมที่ผูกกับสิ่งของนั้น ไม่ว่าสิ่งที่เส้นผมผูกเอาไว้จะเป็นอะไรก็ตาม มันจะรองรับน้ำหนักของเจ้าชายแทน"

นั่นคือความคิดที่ฟังดูเข้าท่ามากกว่าราพันเซลโยนเส้นผมลงไป และเจ้าชายก็ปีนขึ้นมาโดยใช้ศีรษะของราพันเซลเป็นจุดยึด อย่างน้อยเธอก็ไม่หัวทิ่มตกหอคอยตายก่อน!!

 


 

นางเงือกน้อย

ในนางเงือกน้อยของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สันเวอร์ชั่นดิสนี่ย์ แอเรียล (นางเงือก) ขอให้แม่มดเปลี่ยนเธอให้กลายเป็นมนุษย์เพราะเธอตกหลุมรักเจ้าชายคนหนึ่ง ข้อตกลงของทั้งคู้มีอยู่ว่า เอเรียลต้องใช้เสียงของเธอเพื่อแลกกับขา! นั่นเป็นส่วนสำคัญของเรื่องที่ทำให้เอเรียลไม่สามารถพูดได้ ปัญหาต่อมาก็คือเสียงร้องอันไพเราะของเอเรียลนี่แหละเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เจ้าชายจำเธอได้ ดังนั้นเมื่อเอเรียลได้เสียงกลับคืน เธอจึงได้ครองรักกับเจ้าชายในที่สุด (เสียใจด้วยนะ พี่บังเอิญสปอยตอนจบให้แล้ว)

ในเรื่อง เอเรียลต้องสูญเสียเสียงของเธอเพราะคำสาป อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ระบุว่ายังมีวิธีอื่นที่แม่มดใจร้ายสามารถทำให้นางเงือกไม่มีเสียงได้ นั่นคือ “การลดคลื่นเสียงรอบๆ วัตถุ” และ “ป้องกันการหลบหนีของเสียงที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่ๆ กำหนดไว้” (สิ่งสำคัญในการรักษาการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้นางเงือกไม่มีเสียง)
 


 

สตีฟ คัมเมอร์ (Steve Cummer) รองศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยดุ๊ก ประกาศว่า มันมีความเป็นไปได้ในทางทฤษฎีที่จะสร้างอุปกรณ์กักเก็บเสียงดังกล่าว จากผลการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าคลื่นแสงสามารถโค้งงอรอบวัตถุได้ทำให้คัมเมอร์และผู้ร่วมงานของเขาใช้การวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์เพื่อพิสูจน์ว่า "คลื่นเสียงเองก็สามารถโค้งงอรอบวัตถุได้เช่นกัน"

นักวิทยาศาสตร์ยอมรับว่า มันเป็นเรื่องไปได้ที่จะสร้างวัสดุกั้นคลื่นเสียงรอบผนัง เสา หรือพื้นที่ปิดล้อม (พื้นที่ๆ กำหนดอาณาเขตชัดเจนและถูกล้อมรอบด้วยอะไรบางอย่าง) และคลื่นเสียงสามารถโผล่ออกมาได้เสมอแม้ว่าจะมีสิ่งกีดขวางกั้นไว้อยู่ อธิบายให้ง่ายก็คือ คนที่อยู่ในห้องนอนสามารถได้ยินเสียงของคนที่อยู่ในห้องนั่งเล่นได้แม้ว่าจะมีกำแพงกั้นค่ะ

ผลการทดลองพบว่า คลื่นเสียงที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่ๆ กำหนดไว้จะไม่หายไปไหน เพราะงั้นถ้าแม่มดฉลาดมาก เธอจะสามารถสร้างอุปกรณ์นี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องสาปนางเงือก แต่ก็ไม่แน่นะ บางทีเธออาจจะทำ แล้วไอ้เจ้าวัสดุกักเก็บเสียงเวอร์ชั่นโปร่งใสที่ยึดตามหลักการนี้คือสิ่งที่ติดตัวเอเรียลตลอดเวลา จนกระทั่งมันหายไปเมื่อความรักของรักของเธอเอาชนะทุกอย่าง เสียงไพเราะของเธอจึงถูกปลดปล่อยให้เจ้าชายได้ยินในที่สุด 

 


 

พันหนึ่งราตรี

หนึ่งในเรื่องที่น่าตื่นเต้นที่สุดที่พบในเทพนิยายก็คือ “พรมบินได้!” ใช่ค่ะ พรมบินได้เป็นอะไรที่น่าอัศจรรย์มาก แล้วมันก็ปรากฏอยู่ในนิทานจากหลากหลายวัฒนธรรมทั่วโลก รวมทั้งพันหนึ่งราตรี คำถามก็คือว่า ไอ้เจ้าผ้าที่สามารถรองรับคนและบินได้เนี่ย มีจริงหรือไม่?

ข่าวดีก็คือ นักวิทยาศาสตร์สามคนได้เผยแพร่บทความ “Settling and Swimming of Flexible Fluid-Lubricated Foils” ลงในวารสาร Physical Review Letters ว่า "มีเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้พรมบินได้!" โดยพวกเขาใช้กฎพื้นฐานของฟิสิกส์เพื่อแสดงให้เห็นว่า ถ้าอากาศสั่นสะเทือนที่ความถี่ที่ถูกต้อง พรมขนาดเล็กบางๆ จะสามารถบินได้ เหมือนกับแผ่นกระดาษทิชชูลอยลงไปบนพื้นอย่างนุ่มนวลตอนร่วงหล่นนั่นแหละค่ะ 

การคำนวณของพวกเขาแสดงให้เห็นว่า คลื่นขนาดเล็กของอากาศสามารถควบคุมการเคลื่อนที่ของพรมให้มีความเร็วประมาณ 1 ฟุตต่อวินาที (0.3048 เมตรต่อวินาที) ได้ ดีงามไปอีก!

แต่ช้าก่อน อย่าคาดหวังว่าพวกเราจะได้เห็นอะลาดินบินได้เร็วๆ นี้นะ! เพราะนักวิทยาศาสตร์เขียนกำชับว่า "เงื่อนไขทั้งหมดของพวกเขาอยู่ในขอบเขตของความเป็นไปได้ในธรรมชาติและในด้านเทคโนโลยี และการทำให้พรมที่หนักบินได้น่าจะต้องใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมาก”
 


ภาพส่วนหนึ่งของผลการวิจัย

(via : Settling and Swimming of Flexible Fluid-Lubricated Foils. Physical Review Letters)
 

เป็นอย่างไรบ้างคะน้องๆ บางครั้งเทพนิยายก็มีเหตุมีผลมากกว่าที่เราคิดนะ หรือบางทีเรื่องราวอันล้ำค่าเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นจริงๆ ต่อไปในอนาคต ซึ่งวิทยาศาสตร์พิสูจน์เรื่องพวกนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเราว่า “อะไรก็เกิดขึ้นได้”

น้องๆ ล่ะคะ คิดว่ายังไง ไม่แน่ เราอาจจะได้เห็นบทพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ของแอ๊ปเปิ้ลอาบยาพิษในสโนว์ไวท์ หรือเข็มพิษของเจ้าหญิงนิทราก็ได้นะ ^ ^

 

 

 พี่น้ำผึ้ง :)

ขอบคุณ

Argentina, M., Skotheim, J. and Mahadevan, L. (2007). Settling and Swimming of Flexible Fluid-Lubricated Foils. Physical Review Letters, 99(22).

https://www.insidescience.org/
https://www.livescience.com

Deep Sound แสดงความรู้สึก

พี่น้ำผึ้ง
พี่น้ำผึ้ง - Columnist นักเขียนที่ชอบส่งต่อพลังบวกให้ทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น