Manga (มังงะ) คืออะไร? มาไขข้อข้องใจกับ 8 เรื่องน่ารู้เหล่านี้กันดีกว่า!


Manga (มังงะ) คืออะไร?
มาไขข้อข้องใจกับ '8 เรื่องน่ารู้' เหล่านี้กันดีกว่า!


สวัสดีน้องๆ นักอ่านนักเขียนทุกคนค่ะ ได้เวลามาอ่านบทความสนุกๆ กันอีกเช่นเคย ในวันนี้พี่นัทตี้จะพาน้องๆ ทุกคนไปเปิดหูเปิดตาทำความรู้จักกับการ์ตูนมังงะแสนน่ารักกันให้มากขึ้น กับ 8 เรื่องน่ารู้ของมังงะ ที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจและรู้จักกับการ์ตูนมังงะกันให้มากขึ้นกว่าเดิม! ถ้าน้องๆ คนไหนอยากจะเสริมเพิ่มเติมอะไรก็สามารถคอมเมนต์กันเข้ามาได้ เพราะอาจจะมีบางส่วนที่ตกหล่น หรืออาจจะมีเรื่องที่เรายังไม่เคยรู้มาก่อน เอาเป็นว่าทำตัวสบายๆ มีอะไรอยากเพิ่มเติมก็สามารถคอมเมนต์กันเข้ามาได้เลย รออ่านอยู่นะจ๊ะ :)


 



 

1. มังงะ คือหนังสือการ์ตูนของญี่ปุ่น


ใช่แล้วจ้ะ เพราะมังงะเป็นคำที่ใช้เรียกแทนหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นที่มีลักษณะเป็นช่องๆ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วนะ! โดยสันนิษฐานว่าได้รับการปรับปรุงมาจากภาพอุกิโยะ ภาพศิลปะของของญี่ปุ่นที่เกิดในยุคเอโดะ แต่ในปัจจุบันรูปแบบของหนังสือการ์ตูนมังงะได้มีการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ คือไม่ได้หยุดอยู่แค่การ์ตูนช่องๆ เพียงเท่านั้น แถมกลุ่มเป้าหมายก็ไม่ได้มีแค่เด็ก เพราะผู้ใหญ่ก็สามารถอ่านได้เช่นกันจ้า


 

2. ข้อแตกต่างระหว่างมังงะกับอนิเมะ


น้องๆ หลายคนอาจจะเหมารวมว่ามังงะกับอนิเมะนั้นคือสิ่งเดียวกัน แต่ความจริงแล้วทั้ง 2 คำนี้มีคำอธิบายที่แตกต่างแต่ค่อนข้างจะชัดเจนอยู่ คือ มังงะ เป็นคำที่ใช้แทน ‘หนังสือ’ การ์ตูนของญี่ปุ่น ขีดเส้นใต้คำว่าหนังสือ ส่วน อนิเมะ นั้นเป็นการ์ตูนที่ทำออกมาในแบบของ ‘ภาพเคลื่อนไหว’ ที่ถูกนำมาเผยแพร่ผ่านช่องทางโทรทัศน์หรือโรงภาพยนตร์ ซึ่งอนิเมะส่วนใหญ่ก็มีจุดเริ่มต้นมาจากมังงะนั่นแหละจ้ะ เพราะมังงะที่ได้รับความนิยมจากคนอ่านเยอะมักจะถูกนำไปสร้างเป็นอนิเมะ เพื่อเป็นช่องทางการหารายได้และเรียกฐานแฟนคลับเพิ่มเติม โดยจะมีการปรับแต่งเนื้อหาให้เหมาะกับการเผยแพร่ผ่านช่องทางโทรทัศน์และภาพยนตร์อีกที


 

3. มานงะ, แมงงะ หรือ มานกะ


ถึงแม้ว่าคำนี้จะมีภาษาเขียนว่า Manga คล้ายกับคำว่า Mango ที่แปลว่ามะม่วง แต่มันถูกอ่านออกเสียงว่ามังงะในสำเนียงของคนญี่ปุ่น ซึ่งก็ตามสไตล์ของคนญี่ปุ่นที่มักจะลงท้ายคำด้วยเสียงสระอะผสมกับเสียงเล็กๆ สั้นๆ คำว่า Manga เลยถูกอ่านว่ามังงะ แทนที่จะเป็นมานงะ, แมงงะ หรือมานกะนั่นเอง


 

via GIPHY



 

4. เสน่ห์ของมังงะคือการอ่านถอยหลัง!


ใครที่เคยอ่านการ์ตูนมังงะจะเข้าใจกับประโยคนี้ดี (เชื่อว่าไม่มีใครไม่เคยอ่าน) เพราะหนังสือการ์ตูนมังงะมักจะมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่กระดาษหน้าขวา และมีจุดจบอยู่ที่กระดาษหน้าซ้าย นักอ่านมือใหม่อาจจะสับสนเพราะนอกจากจะต้องเปิดอ่านจากหน้าขวาก่อนแล้ว ยังต้องมาทำความเข้าใจกับช่องการ์ตูนก่อนที่จะอ่านเหมือนกัน ซึ่งพี่นัทตี้มองว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจ ขนาดการ์ตูนมังงะที่ถูกขายลิขสิทธิ์ให้ประเทศอเมริกาและไทยยังมีวิธีการจัดหน้าตามแบบต้นฉบับเลย ถือเป็นการเรียนรู้วิธีการอ่านการ์ตูนแบบใหม่ ที่ไม่ซ้ำซากและจำเจ


 

5. การ์ตูนมังงะถูกแบ่งย่อยออกเป็น 5 ประเภท


เริ่มกันที่ Shonen (โชเน็ง) ที่แปลว่า หนุ่มน้อย โดยคำนี้ถูกใช้เป็นคำเรียกการ์ตูนญี่ปุ่นที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กวัยรุ่นชาย ยกตัวอย่างการ์ตูนญี่ปุ่นแนวโชเน็งได้แก่ ดราก้อนบอล, วันพีซ และเซนต์เซย์ย่า Shojo (โชโจ) เป็นการ์ตูนเด็กผู้หญิงทั่วไป จะเป็นขั้วตรงข้ามของโชเน็ง ซึ่งการ์ตูนส่วนใหญ่ที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันก็คงจะเป็น การ์ตูนตาหวาน ที่ตัวนางเอกมีเหล่าชายหนุ่มมาห้อมล้อม, หรือมีตัวละครผู้หญิงเป็นฮีโร่ ยกตัวอย่างเช่น เซเลอร์มูน


 

เซเลอร์มูน

 
Seinen (เซเน็ง) การ์ตูนญี่ปุ่นประเภทนี้จะมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ชายที่อยู่ในช่วงเลยวัยรุ่นไปจนกระทั่งถึงวัยทำงาน อายุโดยเฉลี่ยก็เริ่มต้นที่ตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปจนถึง 30 หรือบางทีอาจจะมากกว่านั้น โดยเนื้อหาของการ์ตูนประเภทนี้จะเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น มีตั้งแต่แนวตลกไปจนถึงรุนแรงเลยก็มี Josei (โจเซ) เป็นการ์ตูนที่เหมาะกับผู้หญิงทุกเพศทุกวัย แต่ความแตกต่างของโจเซก็คือ ตัวดำเนินเรื่องหลักๆ จะเป็นการ์ตูนที่มีวัยค่อนข้างจะบรรลุนิติภาวะกันแล้ว ลักษณะของตัวการ์ตูนก็จะคล้ายคลึงกับโชโจ เพียงแต่ตาอาจจะไม่ได้หวานใสขนาดนั้น ยกตัวอย่างเช่น การ์ตูนเรื่องนานะ


 

โดราเอมอน

 
Kodomo (โคโดโมะ) ชื่อน่ารักไปอีก ก็ตรงตามตัวเลยค่ะ เพราะโคโดโมะเป็นการ์ตูนที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็ก คือจะมีเนื้อหาที่เบามากเมื่อเทียบกับประเภทอื่นๆ มีการสื่อความหมายและการกระทำของตัวละครที่ค่อนข้างจะตรงตัว ไม่ต้องคิดอะไรเยอะ แต่ก็เป็นการ์ตูนที่เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี ยกตัวอย่างการ์ตูนประเภทนี้ที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดีก็คือ โดราเอมอน


 

6. และนอกจาก 5 ประเภทนั้นแล้ว
ยังมีประเภทปลีกย่อยที่ยังไม่ได้กล่าวถึงอีกมากมาย!


เราจะเห็นได้ว่าต่อให้เราแบ่งประเภทของการ์ตูนมังงะออกไปมากสักแค่ไหน เราก็ไม่สามารถจำกัดหมวดหมู่ของมันได้หมดทุกเรื่องหรอกจ้ะ เพราะการ์ตูนมังงะแต่ละเรื่องล้วนมีเสน่ห์ที่แตกต่างในแบบฉบับของตนเอง เป็นการผสมผสานเอาหลายๆ หมวดเข้ามาไว้ด้วยกัน แถมการ์ตูนบางเรื่องก็มีตัวละครเอกเป็นตัวร้าย หรือบางทีอาจจะเป็นเรื่องของชายรักชาย หญิงรักหญิง เรียกได้ว่ายังมีอะไรที่รอให้เราได้เข้าไปศึกษาอีกเยอะเลย!


 

7. การ์ตูนมังงะไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เด็กอ่านเสมอไป


อย่างประเภทของมังงะที่พี่นัทตี้ได้กล่าวไปในหัวข้อด้านบน น้องๆ คงพอจะรู้กันขึ้นมาบ้างแล้วว่ามังงะไม่ได้มีกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่เด็กเพียงกลุ่มเป้าหมายเดียว แต่ยังหมายรวมไปถึงผู้ใหญ่ที่ชอบอ่านการ์ตูน นอกจากนั้นมังงะยังถูกแยกออกได้อีกหลายประเภท แต่ละประเภทก็ค่อนข้างจะมีกลุ่มเป้าหมายที่ตรงตัวและชัดเจน บางประเภทก็ตอบสนองกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ใหญ่ เพราะเนื่องด้วยตัวของเนื้อหาที่อาจจะทำความเข้าใจยากไปบ้าง บางประเภทก็อ่านง่ายเหมาะสำหรับเด็กๆ ซึ่งจากตัวอย่างทั้งหมดที่พี่ได้ยกไปนี้ก็ได้พิสูจน์ให้เราได้เห็นแล้วว่าการ์ตูนมังงะไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เด็กอ่านเสมอไป!


 

8. มังงะเป็นเรื่องของความชอบส่วนบุคคลล้วนๆ


เมื่อพูดถึงเสน่ห์ของการ์ตูนมังงะ พี่นัทตี้เชื่อว่าน้องๆ แต่ละคนคงมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการ์ตูนแนวนี้ในมุมที่แตกต่างกันออกไป บางคนอาจจะตกหลุมรักดวงตาที่แป๋วแหว๋วของตัวละคร บางคนอาจจะตกหลุมรักลายเส้น และความแตกต่างที่ไม่เคยได้เห็นจากการ์ตูนแนวไหน และด้วยความชอบเหล่านี้ก็ได้ทำให้เกิดเป็นการเปิดสอนวาดภาพการ์ตูนแนวมังงะขึ้นมา หรือสำหรับใครที่ไม่อยากลงเรียนกับครูแบบตัวต่อตัว ก็อาจจะไปหาซื้อหนังสือมานั่งเรียนรู้เอาเองก็ได้ ขึ้นอยู่กับความชอบและความพึงพอใจ ซึ่งน้องๆ บางคนก็อาศัยการเรียนรู้เอาเองจากหนังสือสอนวาดภาพแนวมังงะนี่แหละ แถมพอลองวาดไปเรื่อยๆ เกิดติดใจทำให้วาดการ์ตูนแนวนี้มาโดยตลอด ถ้าจะให้วาดแนวอื่นวาดไม่ได้จริงๆ เห็นไหมจ๊ะ คนที่ชอบก็จะชอบจริงๆ ชอบจนทำให้มังงะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตขึ้นมาเลย


 

via GIPHY


และทั้งหมดนี้ก็เป็น 8 เรื่องน่ารู้ของการ์ตูนมังงะ ที่น่าสนใจและน่าศึกษาเป็นอย่างมาก ถ้าหากน้องๆ คนไหนเป็นแฟนพันธุ์แท้ของมังงะ และมีเรื่องราวอยากจะเสริมเพิ่มเติมก็สามารถคอมเมนต์ทิ้งไว้ให้อ่านกันได้ที่ด้านล่างนี้ และพี่นัทตี้ก็ขอขอบคุณน้องๆ ทุกคนที่เข้ามาอ่านกัน หวังว่าบทความนี้จะทำให้ทุกคนสนุกสนานและเพลิดเพลินไม่น้อยนะจ๊ะ แล้วไว้มาพบกับพี่นัทตี้กันใหม่ได้ในบทความหน้า สำหรับวันนี้ไปแล้วจ้า บ๊ายบาย
 
พี่นัทตี้ :)

 
ขอบคุณแหล่งที่มาดีๆ จาก
http://www.readbrightly.com/things-parents-and-educators-should-know-about-manga/ 
https://www.wishberry.in/blog/everything-youd-want-to-know-about-manga-comics/#/article 
http://anitime.in.th/news/votaku-shonen-shojo-seinen-josei/ 
https://en.wikipedia.org/wiki/Manga


 
 
พี่นัทตี้
พี่นัทตี้ - Columnist บุคคลผู้เสพติดการดูหนังแนวสยองขวัญ ที่มีความฝันอยากจะเป็นนักเขียน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด