"สิริณ” (เพียงลภัส พงศ์ฉัตรมณี) ถ้าเราไม่มั่นใจในผลงาน คนอ่านก็จะไม่สนุกกับเรา


“ถ้ามันดีที่สุด ณ โมเมนต์นั้น
พี่จะไม่มานั่งเสียใจภายหลังกับอะไรที่มันผ่านไปแล้ว”
 

สิริณ หรือ พี่เวย์ (เพียงลภัส พงศ์ฉัตรมณี)
กับเส้นทางการเป็นนักเขียนที่
ต้องทำให้ดีที่สุด!


สวัสดีน้องๆ นักเขียนทุกคนนะคะ เมื่อไม่นานมานี้พี่นัทตี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับนักเขียนที่มีทัศนคติที่ดีมากคนหนึ่ง นั่นก็คือ พี่เวย์ เพียงลภัส พงศ์ฉัตรมณี หรือเจ้าของนามปากกา สิริณ ซึ่งในวันนั้นเราได้พูดคุย รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอยู่นาน น้องๆ เชื่อไหมคะ ว่าทุกๆ คำที่ออกมาจากปากนักเขียนคนเก่งคนนี้ มันทำให้พี่เปลี่ยนความคิดอะไรได้หลายอย่าง แถมพี่ยังขอยกตำแหน่งนักเขียนสุด Strong ที่มีความคิดและทัศนคติที่ดีมากให้กับพี่เวย์เลย เอาล่ะ พี่นัทตี้เชื่อว่าน้องๆ ทุกคนคงอยากทำความรู้จักกับพี่เวย์กันแล้ว ถ้างั้นเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราไปทำความรู้จักและพูดคุยกับพี่เวย์ไปด้วยกันได้เลยค่า…


 


 

จุดเริ่มต้นในการเขียนของเราคืออะไร


พี่เรียนจบจากคณะวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (Computer Science) จากมหาวิทยาลัยมหิดล ภาคอินเตอร์ หลังจากเรียนไปได้สามปีครึ่ง พี่เพิ่งค้นพบตัวเองว่าไม่ชอบสายคอม เพราะสายคอมไม่ใช่สิ่งที่เราอยากจะทำไปตลอดชีวิต เลยตัดสินใจไปปรึกษาอาจารย์ อาจารย์ก็แนะนำให้เราไปทำงานด้านการตลาดดูไหม เพราะเราอาจจะได้เปรียบกว่าคนอื่น พี่เลยเริ่มอาชีพการทำงานออฟฟิศด้วยอาชีพนักการตลาด และทำงานสายนี้มาตลอด จนกระทั่งช่วงนึงจำได้ว่าเป็นช่วงที่อินเตอร์เน็ตเพิ่งจะเข้ามาแรกๆ พี่ซึ่งมีความฝันว่าอยากจะเป็นนักเขียนมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่ติดอยู่ที่เรามีความคิดว่า ถ้าเรายังหาเงินเองไม่ได้ก็อย่าเพิ่งทำอาชีพนี้ หาเงินเองก่อนแล้วค่อยทำ พอเราหาเงินเองได้ มีหน้าที่การงานที่ค่อนข้างจะมั่นคง เราเลยตัดสินใจทำตามความฝันด้วยการเขียนบล็อกลงในพันทิป 
 
หลังจากนั้นพี่ก็เริ่มเขียนเรื่องสั้นลงอินเตอร์เน็ต แล้วให้คนเข้ามาอ่านฟรีมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมีการติดต่อจากสำนักพิมพ์แจ่มใส ซึ่งเพิ่งเปิดสำนักพิมพ์แรกๆ เลย จำได้ว่าตอนนั้นใช้ชื่อว่าความรู้สึกดีที่เรียกว่ารัก คือทางแจ่มใสส่งอีเมล์มาหาเราบอกว่าอยากจะนำเรื่องนี้ของเรามาลงในเล่ม พี่ก็เอา ถึงแม้ว่าจะได้เงินน้อยแต่พี่ก็เอา (ขำ) ซึ่งหลังจากที่เราตกลงกับทางแจ่มใสเรียบร้อย ทางแจ่มใสก็ได้มีการไปเลือกเรื่องอื่นๆ ของเรามาลงอีก ก็ลงไปเรื่อยๆ จำได้ว่ามีเล่ม 1 เล่ม 5 เล่ม 16 คือลงจนสำนักพิมพ์มีการทาบทามเรามาว่าสนใจลงเป็นเรื่องยาวไหม พี่เลยตัดสินใจทำเป็นเรื่องสั้นขนาดยาวเป็นครั้งแรก ถึงแม้ว่าจริงๆ แล้วพี่มีความฝันอยากจะมีผลงานเป็นนวนิยายที่มีชื่อของพี่ติดอยู่บนปกก็ตาม
 
พอถึงจุดนึงก็เลยเขียนเป็นนวนิยายขนาดยาวแล้วส่งไปทางสำนักพิมพ์อรุณดู ตอนนั้นเพิ่งเปิดใหม่ๆ เลย เขาชื่อโครงการว่าพล็อตรักเป็นเรื่อง แต่งานชิ้นนั้นของเราก็ไม่ได้รางวัลนะ ไม่ได้เข้ารอบหรอก แต่เขามีการติดต่อมาทีหลังว่า สนใจจะตีพิมพ์หนังสือกับเขาไหม คือพี่ก็ดีใจมาก ตีพิมพ์นิยายเลยนะ พี่ก็ตกลงไป แต่มีข้อแม้ว่าต้องแก้นะ เพราะนิยายของเรายังขาดความสมเหตุสมผลอยู่เยอะมาก คุณเขียนตามอารมณ์ คุณไม่สนใจความเหมาะสมของเรื่อง อะพี่ก็ตกลงไป หลังจากนั้นพอทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทางพี่เลยตัดสินใจออกจากงาน ออกมาเขียนนิยายเองเลย ก็ในเมื่อเราหาเงินเองได้แล้ว พี่ทำงานได้ประมาณ 11-12 ปีแล้ว มันก็มั่นคงแล้วล่ะ พี่มีเงิน มีทุกอย่างละ ก็จำคำพ่อบอกไว้เสมอว่าจะเป็นนักเขียนได้เราต้องมีเงินก่อน ตอนนี้พี่ก็มีแล้วไง ก็เลยตัดสินใจเป็นนักเขียนเต็มตัวตั้งแต่วันนั้น (ยิ้ม)


 


 

เล่าให้ฟังถึงหนังสือเล่มแรกของเราหน่อย


งานเขียนเรื่องแรกคือเรื่องภาพรักในฝัน จริงๆ แล้วจุดเริ่มต้นของนิยายเรื่องนี้อยู่ที่ความต้องการที่จะทำความฝันให้เป็นจริง คือเราอยากเขียนเรื่องท่องเที่ยว พระเอก-นางเอกของเรื่องนี้ก็ไปเจอกันที่ต่างประเทศ มีกิมมิคตรงที่ว่าพวกเขาทั้งคู่เคยฝันถึงกัน แต่พอตื่นขึ้นมากลับจำหน้ากันไม่ได้ ตัวพระเอกฝันถึงการแต่งงาน ส่วนนางเอกฝันถึงการหย่าร้าง ทีนี้พอทั้งสองคนมาเจอกันมันก็รู้สึกคลับคล้ายคลับคราเหมือนเคยเจอกันมาก่อน เหมือนเดจาวู พอพระเอกรู้ว่านางเอกคือคนที่ใช่เขาจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้นางเอกรักเขา กลับกันในมุมของนางเอกที่ฝันถึงการหย่าร้างมาตลอด เลยกลัวว่าถ้าคบกับผู้ชายคนนี้ผลที่ตามมาจะต้องเป็นการหย่าร้างแน่เลย เหมือนคนนึงวิ่งหนี คนนึงวิ่งตาม เลยเป็นเรื่องราวที่ทำให้คนอ่านรู้สึกอยากจะอ่านต่อ

ตอนเขียนเล่มนั้นพี่ใช้เวลาแก้ไป 1 ปี คือหลุดเยอะมาก หลุดจนกลายเป็นไม่มีความสมเหตุสมผลเลย เมื่อเราลองย้อนกลับไปอ่านผลงานในตอนนั้นดู มันเลยทำให้เราตระหนักถึงความสมเหตุสมผล และหลังจากแก้ไปเล่มแรกมันก็ทำให้เราระมัดระวังในการเขียนมากขึ้น เหมือนเราพอจะรู้เทคนิคแล้ว จำได้เลยว่าตอนนั้นทางทีมบก. มีการเรียกเราเข้าไป Workshop แบบตัวต่อตัวด้วยนะ ซึ่งพี่บก. ใจดีมาก สอนเราแม้กระทั่งจุดเล็กๆ น้อยๆ เหมือนเราค่อยๆ เรียนรู้ และจากที่บอกว่าเล่มแรกใช้เวลาแก้ 1 ปี เล่มที่ 2 ใช้เวลาเขียน 3 เดือน คือใช้เวลาในการเขียนน้อยลง แต่ใช้เวลาหาข้อมูลมากขึ้น คือเราต้องข้อมูลแน่น ทุกอย่างพร้อม แล้วค่อยลงมือเขียนมันจะเร็วกว่า 


 

ด้ข่าวว่าพี่เวย์เคยเป็นบก. ด้วย เล่าให้ฟังได้ไหม


จริงๆ ต้องบอกว่าอาชีพบกเป็นอาชีพที่เริ่มหลังจากที่พี่เขียนนิยายไปได้สักพัก คือถ้านับนิยายตีพิมพ์ก็คงตีพิมพ์ไปได้สักประมาณ 3 เล่มแล้วถึงมาเป็นบก. จุดเริ่มต้นของมันก็มีอยู่ว่าในระหว่างที่พี่รอตีพิมพ์นิยาย พี่ได้เข้าไปปรึกษากับทางบก. ณ ตอนนั้นว่า ระหว่างรอตีพิมพ์เราพอจะทำอะไรได้บ้าง คือต่อให้เขียนอีกเรื่องก็ต้องรอตีพิมพ์อยู่ดี ในระหว่างนี้เราควรทำอะไรดี พี่บก. ณ ตอนนั้นก็แนะนำเรามาว่ามาลองเป็นบก. ดูไหม แต่ต้องสอบนะ การเป็นบก. ต้องสอบด้วย ตอนนั้นเราคิดไปเองว่ามันจะยากสักแค่ไหนเชียว เลยลองดู ทางสำนักพิมพ์เลยส่งต้นฉบับมาให้เราแก้ ทำยังไงก็ได้ให้คนอ่านอยากอ่าน พี่ก็ทดสอบอยู่นาน หลายเรื่อง หลายรอบ คือไม่ใช่ว่ามันจะเป็นกันได้ง่ายๆ นะ ของแบบนี้ต้องใช้ประสบการณ์และความรู้พอสมควรเลย 

แต่ข้อดีของการเป็นบก. คือมันจะทำให้เราเป็นคนช่างสังเกต และเป็นคนละเอียดรอบคอบ และทำให้เรารู้จักกับนักเขียนมากหน้าหลายตามากขึ้น ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรได้มากทั้งนิสัย บุคลิกท่าทาง ได้เห็นในอีกมุมหนึ่งของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นนักเขียน 


 

พี่เวย์เป็นนักเขียนที่ทำการตลาดดีมาก
เราคิดว่าการตลาดสำคัญต่อการเป็นนักเขียนยังไง


จริงๆ ในความคิดของพี่ในฐานะนักการตลาด พี่คิดว่าโลกของเราอยู่ได้ด้วยการตลาด ต่อให้คุณขายยาหม่อง ผ้าขี้ริ้ว หรือคุณจะขายอะไรก็ตาม คุณต้องใช้การตลาดคุณถึงจะขายได้ แม้กระทั่งขอทานที่เมืองจีนยังต้องทำการตลาด พี่คิดว่าถ้าเรามีเซนส์เรื่องการตลาดอยู่บ้าง ไม่ว่าเราจะไปทำอะไรมันก็ง่ายขึ้น แต่สำหรับหนังสือ พี่คงไม่ได้ใช้การตลาดในการขายหนังสือตรงๆ แต่สิ่งที่พี่เลือกที่จะทำคือทำยังไงก็ได้ให้หนังสือของเราเป็นที่รู้จัก เพราะการทำการตลาดมีวัตถุประสงค์หลักๆ คือ ขาย และสร้างความรู้จัก เพราะฉะนั้นถ้าพี่เลือกได้เพียงแค่อย่างเดียว พี่ขอเลือกสร้างความรู้จักดีกว่า คุณไม่ซื้อไม่เป็นไร แต่ขอให้คุณรู้จักฉัน จดจำฉันได้ก็พอ นั้นจึงเป็นเหตุผลที่ทุกๆ ปีตอนสมัยพี่ยังเป็นนักเขียนสังกัดสำนักพิมพ์พี่จะไปประจำบูธของสำนักพิมพ์ตลอด ให้คนอ่านได้เห็นหน้า ไม่รู้จักไม่เป็นไร พูดไปเรื่อยๆ แนะนำไปเรื่อยๆ เจอกันครั้งแรกยังไม่ซื้อ ครั้งที่สองยังไม่ซื้อ พอเจอครั้งที่สามเขาจะพอจำเราได้แล้ว เราก็จะแนะนำว่าเอาหนังสือของเราไปอ่านสิ หลังจากนั้นเราจะค่อยๆ เริ่มทำความรู้จักกันผ่านผลงาน เพราะฉะนั้นพี่จึงมองว่าการสร้างการจดจำนั้นสำคัญกว่าการตีหัวเข้าบ้าน พี่คิดว่าการมีเพื่อน การสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนอ่านไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพียงแค่จะขายของเท่านั้น
 
และสำหรับนักเขียนรุ่นใหม่ อาจจะไม่ได้มองว่าตนเองทำการตลาดหรือว่าอะไร อาจจะคิดว่าโชคเข้าข้าง แต่ความจริงเราได้ทำการตลาดโดยที่ไม่รู้ตัว เราอาจจะคาดไม่ถึงว่าเราได้เผลอทำการตลาดไปแล้ว เรียกว่าเป็นนักการตลาดแบบไม่ได้ตั้งใจ


 

อาชีพนักเขียน = นักระบาย จริงไหม?


พี่ค่อนข้างเห็นด้วย และคิดว่าอาชีพนักเขียนเหมือนเป็นผู้นำทางความคิดในระดับหนึ่ง อย่างสมัยก่อนตอนที่ยังไม่มีอินเตอร์เน็ต, โทรศัพท์ และเทคโนโลยีอย่างทุกวันนี้ ยุคนั้นเวลาที่เราอยากรู้อะไรเราก็ต้องไปที่ห้องสมุด เพราะฉะนั้นหนังสือมันเลยกลายเป็นการชี้นำความคิดคนได้ หรืออย่างปัจจุบันจะสังเกตได้ว่าเวลามีกระแสอะไรเกิดขึ้นก็ตาม ทุกอย่างมันเริ่มต้นมาจากการอ่าน การเห็น เหมือนเราเห็นปุ้ปก็แชร์ต่อ
 
ดังนั้นการที่นักเขียนปลดปล่อยอารมณ์ของตัวเองลงไปกับงานเขียน พี่คิดว่ามันก็เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ ถือเป็นการระบาย การชักชวน การชักจูงได้ และที่สำคัญคือสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้ อย่างตัวพี่ พี่เขียนหนังสือขึ้นมาเพื่อถามคนอ่านว่า เราไม่ได้คิดแบบนี้ไปเองคนเดียวใช่ไหม ประมาณนี้ คืองานเขียนสามารถเป็นอิทธิพลทางบวกก็ได้ ทางลบก็ได้ ขึ้นอยู่กับความคิดของนักอ่านคนนั้นๆ ว่าเขาจะคิดยังไง


 


 

พยศดอกฟ้า ทำมือเล่มแรก


มันเกิดขึ้นจากความเสียใจ เพราะก่อนหน้านี้พี่ได้ส่งต้นฉบับเรื่องนี้ไปที่สำนักพิมพ์หนึ่ง แล้วทางนั้นตอบกลับมาด้วยเหตุผลเพียงข้อเดียวว่า ‘มันหนาเกินไป’ และในฐานะที่พี่เคยเป็นบก. พี่จะรู้ว่าเราสามารถตัดเนื้อหาส่วนไหนได้บ้าง ไม่ได้บ้าง และพี่ก็เชื่อว่าพี่ได้ทำหน้าที่ตรงนั้นอย่างดีที่สุดแล้ว ในการที่จะทำยังไงก็ตามให้เนื้อหามันออกมาอย่างสมบูรณ์แบบมากที่สุด มีส่วนเยิ่นเย้อน้อยที่สุด แต่พอเราเจอประโยคนี้เข้าไปมันก็ทำให้พี่รู้สึกว่า ธุรกิจกับอุดมการณ์มันเริ่มไปคนละทาง เพราะอย่างนี้นี่แหละที่ทำให้เราตัดสินใจทำมือออกมา


 

ที่มาของนิยายเรื่องนี้


คือพี่เติบโตมาในสังคมจีน และพี่ก็มีความสงสัยหลายๆ อย่างเมื่อครั้งที่เรายังเด็ก และพี่คิดว่าคงต้องมีใครหลายคนที่กำลังสงสัยในสิ่งเดียวกันอยู่ว่าความคิดและทัศนคติของคนจีนในส่วนของการใช้ชีวิตมันเป็นยังไง มันเลยทำให้วิธีคิดบางอย่างได้แทรกซึมลงไปในตัวละครของพี่ด้วย ว่าทำไมเขาถึงได้คิด ได้ทำอย่างนั้น ซึ่งตัวละครตัวนั้นก็คือพระเอกนั่นเอง ต้องบอกเลยว่าพระเอกเรื่องนี้มีความสับสนในตัวเองเยอะมาก คือเขานับถือในตัวเองนะ แต่ก็แค่นั้น เหมือนองค์ประกอบภายในครอบครัวของเขาไม่ได้ทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองเท่าที่ควร


 

ทำไมต้องเป็นประเด็นเรื่องครอบครัว


พี่เชื่อว่านิยายทุกๆ เรื่องจะต้องมีการพูดถึงประเด็นนี้กันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวนางเอก ครอบครัวพระเอก แต่ส่วนใหญ่มักจะเทไปในส่วนของความโรแมนติกระหว่างพระ-นางกันมากกว่า ตอนที่พี่จะเขียนเรื่องนี้ พี่ก็คิดอยู่นานว่าเราจะทำยังไงให้ความรักของพระ-นางมีอุปสรรค ซึ่งอุปสรรคในที่นี้คือเราไม่ต้องการมือที่สาม เราไม่ต้องการการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นอะไร เลยเอาเรื่องครอบครัวที่ใกล้ตัวที่สุดนี่แหละมาพูดถึง
 
และพ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะภูมิใจในตัวลูก และคาดหวังอยากให้ลูกเป็นแบบนี้ แบบนั้น แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นเหรอ ถ้าหากว่าวันหนึ่ง เราซึ่งเติบโตมากับพ่อแม่ และคิดว่าพ่อแม่ของเราเป็นคนดีที่สุดในโลก แต่ถ้าเกิดเรารับรู้ว่าพ่อและแม่ของเราไม่ใช่คนดี 100% คนเป็นลูกอย่างเราจะมีสิทธิ์ที่จะผิดหวังไหม ความสงสัยตรงนี้ของพี่เลยกลายเป็นที่มาของนิยายเรื่องพยศดอกฟ้านี้


 


 

พยศดอกฟ้า รักหวานแหววแต่ไม่หวาน?


จริงๆ มันค่อนข้างจะยากอยู่เหมือนกันในการตัดสินใจว่าจะให้อยู่หมวดไหน คือถ้าเราพูดถึงนิยายรัก สิ่งแรกที่เราจะนึกถึงจะมีแค่เพียง 2 อย่างคือ พระเอกกับนางเอก ถ้าพระ-นางเขามีปฏิสัมพันธ์กัน ในมุมของพี่นั่นคือสิ่งที่เรียกว่ารักหวานแหวว และสำหรับนิยายเรื่องนี้พี่มองว่ามันเป็นความกระหนุงกระหนิงในความเป็นผู้ใหญ่ของตัวละคร เท่าที่คนอายุ 24-25 ปีขึ้นไปเขาจะกระหนุงกระหนิงกันได้ แต่ถ้าเรามองบริบทภายนอก ซึ่งเป็นสิ่งที่พี่ให้ความสำคัญไม่แพ้พระ-นาง ถึงมันอาจจะดูดราม่าไปบ้าง แต่ทุกอย่างล้วนดำเนินไปอย่างมีเหตุผล เราต้องใส่ความน่าเชื่อถือของทุกอย่างลงไปในส่วนที่เป็นบริบทภายนอก พอมันน่าเชื่อถือ หนักแน่น และมั่นคงเพียงพอ มันจะทำให้คนอ่านเชื่อและสัมผัสได้เอง ซึ่งสำหรับพี่นั้นมองว่ามันเป็นแค่ส่วนประกอบเท่านั้น คือถ้าความรักของพระ-นางมันยังมีความกระหนุงกระหนิงของเขาอยู่ สำหรับพี่นั้นมันคือรักหวานแหวว


 

จุดเด่น จุดด้อย ระหว่างทำมือกับส่งสำนักพิมพ์


ความเหนื่อยมันต่างกันมากเลยค่ะ สำหรับการส่งสำนักพิมพ์ เราแค่ส่งต้นฉบับไปให้เขาเฉยๆ ส่งเสร็จทางนั้นก็จัดการดำเนินการของเขาเองเลย อาจจะมีถามบ้าง เช่น อยากได้ปกแนวไหน ปกมาแล้วนะจะเข้ามาดูไหม คือมันง่ายมาก แต่พอเราตัดสินใจมาทำมือ สิ่งที่เราต้องใส่ใจมากขึ้นก็คือรายละเอียดไม่ว่าจะเป็น ฟอนต์ การจัดหน้า สำหรับพยศดอกฟ้าเล่มนี้ พี่อ่านซ้ำเป็นสิบๆ รอบเลย หาจุดผิด จุดตกขอบ การแบ่งคำ แบ่งวรรค ทุกๆ อย่างเลย ถามว่าเหนื่อยไหม เหนื่อย! แต่มันเป็นความเหนื่อยที่เราสนุก และเราก็คาดหวังว่าอยากจะให้นักอ่านอ่านแล้วมีความสุข แค่นั้นพี่ก็พอใจแล้ว

 

คือถ้ามันดีที่สุด ณ โมเมนต์นั้น
พี่จะไม่มานั่งเสียใจภายหลังกับอะไรที่มันผ่านไปแล้ว



 

ความยากง่ายในการเขียนนิยายเรื่องนี้


ความยากง่ายของเรื่องนี้คือ เขียนยังไงให้ตัวละครมีสีเทา และคนอ่านเข้าใจ ไม่เกลียด พี่ว่ามันเป็นความท้าทายดีนะ เพราะถึงแม้ว่าตัวละครจะเลว แต่คนอ่านก็สามารถรักเขาได้ ทำยังไงก็ได้ให้คนอ่านรู้สึกว่าคนเลวไม่จำเป็นต้องมีจุดจบที่การตายเพียงแค่อย่างเดียว อาจจะอยู่ต่อไปแต่ให้ความรู้สึกยิ่งกว่าตายทั้งเป็นก็ได้ นี้คือบทลงโทษที่สาสม และเป็นสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับพี่


 

คาดหวังอะไรจากคนอ่าน


ความคาดหวังสำหรับพี่เลยก็คือ ให้คนอ่าน อ่านแล้วได้หยุดคิดเท่านั้นแหละ ถ้าเขาคิดได้แล้ว เขาจะเอาไปปรับใช้ต่อไหม อะไรยังไง มันคือเรื่องของเขา แต่อย่างน้อยแค่มันจุดประกายความคิดบางอย่างก็ดีเกินพอแล้ว

 

แค่เราได้สร้างเมล็ดพันธุ์เล็กๆ อยู่ในใจเขา
ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงแค่เมล็ดงา แต่มันก็มีโอกาสเติบโต



 

มองภาพอนาคตของเราไว้ยังไง


จริงๆ พี่มีแผนจะเขียนหนังสือเยอะมาก ทุกๆ ครั้งที่เราออกมาพบปะผู้คน พี่จะเป็นคนชอบสะสมข้อมูล นำไปจดเก็บไว้ พออยากเขียนนิยายสักเรื่อง พี่ก็จะมาดูในคลังข้อมูล แล้วหยิบตัวละครเหล่านั้นมาปัดฝุ่นก่อนจะปรุงแต่งให้เป็นตัวละครที่สมบูรณ์ หรือบางครั้งเราไปเจอเรื่องหงุดหงิดขัดใจ แล้วสามารถเอามาเขียนนิยายได้ พี่ก็จะจดเป็นพล็อตเก็บไว้ ซึ่งตอนนี้พี่มีพล็อตที่จะเขียนแน่ๆ 3 เรื่อง ในสามเรื่องนี้ก็จะมีเรื่องต่อจากพยศดอกฟ้าอยู่ ก็คือเรื่องวิวาห์ดอกกระดาษ (หนังสือชุดนี้มีทั้งหมด 3 เล่ม ได้แก่ สนิมดอกรัก พยศดอกฟ้า วิวาห์ดอกกระดาษ) อีกเรื่องนึงคือมีแผนที่จะเขียนนานแล้ว เพียงแต่ข้อมูลมันยังไม่ตกผลึก เราเลยไม่อยากจับมันขึ้นมาเขียน นอกจากนั้นพี่ยังมีความคิดอยากจะเขียนเรื่องแนวซินเดอเรลล่าด้วย (ยิ้ม) เวลาที่พี่จะเริ่มเขียนอะไร ถ้าพี่มีความรู้สึกว่ามันใช่ พี่ก็จะเริ่มเขียนทันทีด้วยความเชื่อมั่น แต่ถ้าเราเขียนไป ลังเลไป พี่ก็จะหยุดเขียนทันที 

 

ถ้าเรายังไม่มั่นใจ คนอ่านก็จะไม่สนุกกับเรา
เพราะมันสัมผัสได้จากตัวหนังสือ ดังนั้นเราต้องเชื่อในสิ่งที่เราเขียน



 


 
เป็นยังไงกันบ้างคะ อ่านแล้วรู้สึกหลงรักในทัศนคติและความพยายามของพี่เวย์กันขึ้นมาเลยใช่ไหม ถ้าน้องๆ คนไหนกำลังมองหานิยายคุณภาพอ่านกันอยู่ พี่ก็ขอแนะนำนิยายเรื่อง พยศดอกฟ้า เรื่องนี้เลยจ้ะ เพราะนิยายเรื่องนี้เป็นนิยายที่เราสามารถอ่านกันได้ทุกเพศ ทุกวัย เป็นนิยายรักสีขาวที่มีการปรุงแต่ง ผสมสีต่างๆ ให้ดูน่าสนใจ ประกอบกับสอนคนอ่านอย่างเราได้ตลอดเวลา พี่ก็ขอยกประโยคหนึ่งของพี่เวย์ที่ติดอยู่ในใจของพี่ที่ว่า "นิยายของพี่ เป็นนิยายที่พี่สามารถบอกคนอื่นได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าเป็นนิยายของฉันโดยที่ไม่อาย สมมุติถ้าในอนาคตพี่มีลูก พี่ก็จะสามารถบอกลูกได้ว่านี่เป็นนิยายของแม่นะ คือลูกสามารถอ่านได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องกลัวว่าจะมีเหตุการณ์หรือฉากอะไรที่ไม่เหมาะสม มีแต่สิ่งที่พี่ตั้งใจจะให้เกิดประโยชน์ เกิดข้อคิดดีๆ กับคนอ่าน เพราะพี่เชื่อว่า นิยายสามารถเปลี่ยนชีวิตของคนได้จริงๆ”  ถ้าน้องๆ อยากพิสูจน์ว่านิยายสามารถเปลี่ยนชีวิตของเราได้จริงไหม ก็ลองมาอ่านนิยายเรื่องนี้ของพี่เวย์กันนะจ๊ะ

 
พี่นัทตี้ :)

 
พี่นัทตี้
พี่นัทตี้ - Columnist บุคคลผู้เสพติดการดูหนังแนวสยองขวัญ ที่มีความฝันอยากจะเป็นนักเขียน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด