เบื้องหลังตัวละคร “แมรี่ ป๊อปปินส์” แท้จริงแล้วเป็นเลสเบี้ยนหรือนี่?


เบื้องหลังตัวละคร “แมรี่ ป๊อปปินส์”
แท้จริงแล้วเป็นเลสเบี้ยนหรือนี่?


สวัสดีน้องๆ นักอ่านทุกคนนะคะ เมื่อพูดถึง “แมรี่ ป๊อปปินส์” ภาพแรกที่ทุกคนนึกถึงคงจะหนีไม่พ้นภาพของพี่เลี้ยงเด็กสุดมหัศจรรย์ของครอบครัวแบ๊งค์ส เพราะนับตั้งแต่วันที่เธอก้าวเท้าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน เหตุการณ์ประหลาดๆ ชนิดที่คาดไม่ถึงก็ได้เกิดขึ้นมากมาย รวมทั้งกิตติศัพท์ในเรื่องความเข้มงวดของเธอ ที่ทำให้เด็กๆ ตระกูลแบ๊งค์สหวาดกลัวแมรี่ไม่ต่างอะไรจากครูไหวใจร้ายคนหนึ่ง ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วเจตนาทุกอย่างที่เธอได้ทำลงไปนั้นก็มีแต่ความหวังดี และความตั้งใจล้วนๆ ถ้าน้องๆ คนไหนเคยอ่านเรื่องราวของแมรี่ ป๊อปปินส์กันมาก่อน คงจะต้องตกหลุมรักความมหัศจรรย์ที่ไม่มีใครเหมือนของแมรี่ ป๊อปปินส์คนนี้อย่างแน่นอน!

 

via GIPHY


แมรี่ ป๊อปปินส์ วรรณกรรมเยาวชนสุดอมตะ ที่ถูกนำไปแปลเป็นภาษาต่างประเทศ รวมถึงนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์นับครั้งไม่ถ้วนนี้ กลับมีเบื้องหลังที่น่าสนใจซ่อนอยู่ โดยเฉพาะเรื่องราวชีวิตของผู้เขียนอย่าง P.L. Travers (พี. แอล. เทรเวอรส์) ที่เป็นที่รู้จักกันดีกับผลงานการสร้างสรรค์ตัวละครพี่เลี้ยงเด็กอย่าง “แมรี่ ป๊อปปินส์” ที่ใครจะไปรู้ว่า แรกเริ่มเดิมทีนั้นเธอไม่ได้ตั้งใจจะขายลิขสิทธิ์ให้กับทางดิสนีย์แต่อย่างใด เพราะเธอเกรงกลัวว่าดิสนีย์จะปรับเปลี่ยนบทแมรี่ของเธอให้กลายเป็นตัวละครที่ไร้สมองขึ้นมา
 
พี. แอล. เทรเวอรส์ (หลังจากนี้พี่ขอเรียกแทนว่าพี. แอล. ก็แล้วกันนะจ๊ะ) เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1899 ที่ประเทศออสเตรเลีย โดย พี. แอล. ได้เขียนเรื่องแมรี่ ป๊อปปินส์ขึ้นมาครั้งแรกในปี ค.ศ. 1920 ก่อนจะได้รับการตีพิมพ์ในอีก 14 ปีต่อมา ซึ่งหลังจากตีพิมพ์หนังสือเล่มแรกแล้วนั้น เธอก็ได้ตีพิมพ์หนังสือตามมาอีก 7 เล่ม ซึ่งล้วนมีเนื้อหาเกี่ยวกับพี่เลี้ยงเด็กทั้งสิ้น 


 


 
ในปี 1964 ดิสนีย์ได้เปิดตัวละครเวทีที่มีการนำ แมรี่ ป๊อปปินส์ มาดัดแปลงเป็นครั้งแรก ซึ่งในความเห็นของพี. แอล. นั้นเธอคิดว่าเป็นการดัดแปลงที่มีเนื้อหาต่างจากสิ่งที่เธอได้เขียนไปโดยสิ้นเชิง จึงทำให้ความทรงจำอันเลวร้ายเหล่านั้นได้ปรากฏสู่สายตาคนดูเป็นครั้งแรกผ่านภาพยนตร์เรื่อง Saving Mr. Banks ในปี 2013 โดยเรื่องราวในหนังนั้นเป็นเรื่องจริงของความสัมพันธ์ระหว่างพี. แอล. กับ วอลท์ ดิสนีย์ แต่ใครจะไปรู้ว่านอกเหนือจากสิ่งที่ดิสนีย์ต้องการให้คนเข้าใจในสิ่งที่ภาพยนตร์กำลังจะสื่อแล้วนั้น ยังมีเบื้องลึกเบื้องหลังที่น่าสนใจเกี่ยวกับชีวิตของเธอที่เราอาจจะยังไม่รู้กันอีก ส่วนจะเป็นอะไรบ้างนั้น มาติดตามอ่านต่อกันได้เลย



 

ป้าของเธอคือคนที่เป็นแรงบันดาลใจให้ตัวละครอย่างแมรี่ ป๊อปปินส์


ช่วงชีวิตในวัยเด็กของพี. แอล.นั้นไม่ได้สมหวังเหมือนเด็กคนอื่นๆ นับตั้งแต่การย้ายถิ่นฐานของครอบครัวที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ ไหนพ่อของเธอต้องมาตายลงตอนที่เธอมีอายุแค่เพียง 7 ปีอีก พี. แอล. เลยมีแค่เพียง “แอลลี่” ป้าของเธอเพียงคนเดียวที่คอยดูแลให้ความช่วยเหลือทุกอย่าง ซึ่งจริงๆ แล้วป้าแอลลี่ของเธอมีชื่อจริงว่า เฮเลน มอร์เฮด โดยเฮเลนค่อนข้างจะมีนิสัยเหมือนแมรี่ ป๊อปปินส์เกือบทุกอย่าง แต่โชคร้ายที่เธอกับป้าต้องมาแยกจากกันหลังจากที่เธอถูกส่งตัวให้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่โรงเรียนประจำ



 

ผลงานเก่าๆ ของพี. แอล. มีเนื้อหาบางส่วนที่ทำให้อายจนหน้าแดง


หลังจากเริ่มต้นการเป็นนักเขียนเต็มตัวในปี 1920 ก่อนหน้านั้น พี. แอล. เคยผลิตงานเขียนมาแล้วหลายชิ้นไม่ว่าจะเป็นบทกวี รวมถึงบทความ โดยเฉพาะผลงานที่มีชื่อว่า The Triad ซึ่งเป็นงานเขียนแนวอีโรติกเรื่องแรกของเธอ แต่เอาเข้าจริงบทกวีที่เธอเคยเขียนมาก่อนหน้านี้ก็แอบมีเนื้อหาทางเพศปะปนอยู่บ้าง ซึ่งหลังจากแมรี่ ป๊อปปินส์ได้ถูกเผยแพร่ออกไปแล้ว งานเขียนของเธอก็ดูเหมือนจะมีแนวทางที่ชัดเจน และดูเป็นมืออาชีพมากขึ้น สังเกตได้จากเนื้อหาทางเพศที่ลดน้อยลงแล้ว



 


 

เธอ(อาจ)เคยมีความสัมพันธ์สุดโรแมนติกกับรูมเมทของเธอ!


พี. แอล. เป็นนักเขียนที่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับชีวิตส่วนตัวมาก แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ค่อนข้างจะชัดเจน นั่นก็คือเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับรูมเมทอย่าง เมดจ์ เบอร์นาด ที่สนิทชิดเชื้อกันมานาน หลังจากที่ใช้เวลาอยู่ด้วยกันมาหลายต่อหลายปี มีข้อมูลว่าเธอได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในกระท่อมหลังหนึ่งกับเบอร์นาด ขณะที่เขียนเรื่องแมรี่ ป๊อปปินส์ เรื่องนี้ด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นพี่นัทตี้ยังขอให้คำว่า 'อาจ' เพราะพวกเธอทั้งสองคนอาจจะเป็นแค่เพื่อนรักกันเฉยๆ ก็ได้นะ



 

เธอเคยตกหลุมรักทั้งผู้ชายและผู้หญิง

 
หลังจากข้อมูลที่ผ่านมาที่บอกว่า พี. แอล. อาจจะเคยมีความสัมพันธ์สุดโรแมนติกกับรูมเมทของเธอมาแล้ว ข้อนั้นอาจจะยังไม่น่าเชื่อถือเท่าไหร่ แต่ข้อนี้ดูเหมือนจะเป็นการตอกย้ำเรื่องความรักระหว่างหญิงสาวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เรามาเริ่มกันที่ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับ จอร์จ รัสเซลล์ นักกวีเจ้าของนามปากกา AE  โดยความรักระหว่างเธอกับจอร์จในตอนนั้นดูเหมือนจะโรแมนติกหวานแหววเอามากๆ จอร์จถึงขนาดเขียนจดหมายโดยใช้คำว่า “นางฟ้าของผม” แทนตัวของเธอมาแล้ว ซึ่งนอกจากจอร์จแล้ว พี. แอล. ยังเคยมีความสัมพันธ์กับผู้ชายอีกคนนึงด้วยเช่นกัน ซึ่งเขาคนนั้นเป็นนักเขียนชาวไอริช ชื่อ ฟรานซิส แมคนามาร่า ชายหนุ่มผู้ผ่านการแต่งงานมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างเขากับพี. แอล. เป็นแค่เพียงการรู้จักผิวเผิน ไม่ได้ลงเอยด้วยการแต่งงานเหมือนที่ผ่านมา
 
นอกจากนั้นแล้วยังมีข้อมูลออกมาเสริมอีกว่าพี. แอล. เคยสนิทสนมกับผู้หญิงถึงสามคน อันได้แก่ รูมเมทของเธอ เมดจ์, เจสซี่ โอเรจ และนักแกะสลักอย่าง เกอร์ทรูด เฮอร์เมส อีกด้วย



 


 

พฤติกรรมการเสพติดแอลกอฮอล์ของพ่อ ได้กลายเป็นสิ่งที่หลอกหลอนเธอจวบจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต


ในภาพยนตร์เรื่อง Saving Mr. Banks นั้น ได้มีการเปิดเผยเรื่องราวชีวิตของพี. แอล. เกี่ยวกับปัญหาที่เธอได้เจอมาในวัยเด็กอยู่ประมาณหนึ่ง ซึ่งบางเรื่องก็จริง บางเรื่องก็ไม่จริง แต่เรื่องที่จริงหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องเกี่ยวกับพ่อของเธอที่มีพฤติกรรมเสพติดแอลกฮอล์ชนิดรุนแรงมาก รุนแรงจนถึงขนาดทำให้เขาถูกไล่ออกจากงาน แถมยังคร่าชีวิตของเขาไปอีกต่างหาก และถึงแม้ว่าในตอนนั้นเธออาจจะไม่ได้รู้สึกเสียใจมากขนาดนั้น แต่ก็นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่ตามหลอกหลอนเธออยู่ตลอดมาจนกระทั่งวินาทีสุดท้ายในชีวิตของเธอเลยทีเดียว



 

เธอได้หลบหนีออกมาจากออสเตรเลีย ก่อนมาใช้ชีวิตอย่างอิสระในลอนดอน


พี. แอล. ได้ใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 20 หมดไปกับการเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ในฐานะนักแสดงและนักเต้น แต่ทุกอย่างกลับต้องหยุดลงในปี 1924 เมื่อเธอตัดสินใจเดินทางไปยังลอนดอน กับความตั้งใจว่าอยากจะเป็นนักเขียน ซึ่งการเดินทางไปลอนดอนในครั้งนี้ทำให้เธอได้รู้จักเพื่อนใหม่ชาวอังกฤษหลายคน หนึ่งในนั้นได้รวมไปถึงนักกวีอย่าง AE และวิลเลียม บัตเลอร์ เยตส์ด้วย



 

พี. แอล. กับการตัดสินใจขายผลงานให้ดิสนีย์


อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า ผลงานเรื่องแมรี่ ป๊อปปินส์ของเธอได้ถูกดัดแปลงมาเป็นภาพยนตร์ละครเวทีครั้งแรกในปี 1964 ซึ่งกลายเป็นที่กล่าวขานกันไปทั่วโลก ทั้งๆ ที่ผลงานตีพิมพ์ไปตั้งแต่ปี 1934 แล้ว แต่ทำไมถึงได้ใช้เวลานานขนาดนั้น ก็เพราะว่าทางดิสนีย์ได้ใช้เวลาเจรจากับเธออยู่นานในเรื่องของลิขสิทธิ์ ซึ่งถ้าน้องๆ คนไหนจำกันได้ พี่นัทตี้เคยบอกไปแล้วว่าพี. แอล. เป็นคนที่ค่อนข้างจะหวงผลงานตัวเองเอามากๆ ซึ่งสุดท้ายไม่รู้ว่าเพราะอะไรเธอถึงตอบตกลงกับทางดิสนีย์ไป (ซึ่งพี่ไม่คิดว่าเป็นเรื่องเงินแน่นอน) ทั้งๆ ที่เธอค่อนข้างจะเกลียดกับการนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ สรุปแล้วเราก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าทำไมเธอถึงตัดสินใจขายผลงานเรื่องนี้ให้กับดิสนีย์



 


 

สรุปแล้วพี. แอล. เป็นเลสเบี้ยนจริงๆ เหรอ?


จากทั้งหมดทั้งมวลที่ผ่านมา ถ้ามองในมุมของพี่ พี่ว่าเรายังไม่สามารถวัดอะไรได้จากข้อมูลเหล่านี้ เพราะเหตุผลมันดูมีน้อยมากเลย (ถึงแม้ว่านักเขียนชีวประวัติส่วนหนึ่งจะเชื่อว่าเธอเป็นเลสเบี้ยนก็ตาม) แต่พี่กลับคิดว่าการที่เรารู้จักและสนิทสนมกับคนเพศเดียวกันมันก็เป็นเรื่องที่ปกติมากถึงมากที่สุดเลยนะ ซึ่งพี่เองก็อยากรู้เหมือนกันว่าเพราะอะไร หรือมีหลักฐานชิ้นไหนที่สามารถยืนยันได้ว่าเธอเป็นเลสเบี้ยนจริงๆ หรือว่าเธออาจจะแค่สับสน หรือว่าอะไรกันแน่นะ เอาเป็นว่าอย่างน้อยเราก็ได้รู้กันว่า พี. แอล. เป็นนักเขียนที่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับความถูกต้อง และเป็นนักเขียนที่ค่อนข้างให้ความเคารพกับผลงานของตนเอง รวมถึงที่มาของงานเขียนอันทรงคุณค่าของเธออย่างแมรี่ ป๊อปปินส์ที่โดนใจเด็กๆ ไปแล้วทั่วโลก

ยังไงก็หวังว่าน้องๆ คงจะได้อะไรจากการอ่านบทความนี้ไปไม่น้อย ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้คำตอบ แต่มันก็ได้ทำให้เรารู้จักกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังเรื่องราวของพี่เลี้ยงสาวสุดมหัศจรรย์อย่างแมรี่ ป๊อปปินส์ได้เยอะเลย สำหรับน้องๆ คนไหนอ่านแล้วคิดเห็นยังไงสามารถคอมเมนต์พูดคุยกันเข้ามาได้นะจ๊ะ

 
พี่นัทตี้ :)

 
ขอบคุณแหล่งที่มาดีๆ จาก
https://www.ranker.com/list/life-of-pl-travers-creator-of-mary-poppins/setareh-janda?ref=browse_list_5&l=2&pos=42 
https://books.google.co.th/books?isbn=1629172189 
https://www.biography.com/people/pl-travers-21358293

 
พี่นัทตี้
พี่นัทตี้ - Columnist บุคคลผู้เสพติดการดูหนังแนวสยองขวัญ ที่มีความฝันอยากจะเป็นนักเขียน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

หญิงสาวกลุ่มดาวแกะ Member 13 มิ.ย. 61 08:43 น. 1-1
ใช่ค่ะคิดเหมือนกัน พี่เลยสรุปความคิดเห็นส่วนตัวเอาไว้ในตอนท้ายว่าจากข้อมูลเหล่านี้เราไม่สามารถวัดอะไรได้เลย แต่ก็มีคนบางส่วนที่คิดอีกมุมนึงเหมือนกัน / ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นนะคะ เยี่ยม
0
กำลังโหลด

1 ความคิดเห็น

หญิงสาวกลุ่มดาวแกะ Member 13 มิ.ย. 61 08:43 น. 1-1
ใช่ค่ะคิดเหมือนกัน พี่เลยสรุปความคิดเห็นส่วนตัวเอาไว้ในตอนท้ายว่าจากข้อมูลเหล่านี้เราไม่สามารถวัดอะไรได้เลย แต่ก็มีคนบางส่วนที่คิดอีกมุมนึงเหมือนกัน / ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นนะคะ เยี่ยม
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด