"IT" นิยายสยองขวัญที่สอนให้
เด็กโตเป็นผู้ใหญ่ผ่านปีศาจตัวตลก


สวัสดีน้องๆ ชาวเด็กดีทุกคนค่ะ น้องๆ พอจะจำกันได้ไหมเอ่ยว่าในวัยเด็กเราหวาดกลัวเรื่องอะไรมากที่สุด? พี่เชื่อว่าเด็กๆ ทุกคนที่เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้ต้องเคยมีเรื่องที่ทำให้เราหวาดกลัวกันอยู่บ้าง แต่ถ้าน้องๆ ยังคิดไม่ออกพี่ขอยกตัวอย่างความกลัวที่เป็นหนึ่งในความหวาดกลัวของมนุษย์อย่าง ‘ตัวตลก’ ให้น้องๆ ได้รู้จักกันค่ะ ซึ่งหากใครเคยอ่านนิยายหรือเคยดูหนังเรื่องอิท (IT) มาก่อนน่าจะรู้ถึงความน่ากลัวของตัวตลกที่พี่กำลังจะนำมาเล่าให้ฟังกันบ้างแล้ว โดยนิยายเรื่องอิทป็นผลงานสยองขวัญอันโด่งดังของสตีเฟน คิง ที่เล่าเรื่องราวระทึกขวัญผ่านตัวละครเด็กทั้งเจ็ดคนพร้อมด้วยตัวตลกที่ชื่อ ‘เพนนีไวส์’ ซึ่งนิยายเรื่องนี้ไม่ได้เล่าให้เราเห็นแต่ด้านที่น่ากลัวเท่านั้นนะคะ หากสังเกตให้ดี น้องๆ จะเห็นภาพสะท้อนในวัยเด็กของเราทุกคนที่แฝงผ่านตัวละครทุกตัวได้อย่างแนบเนียน เป็นการเล่าเรื่องที่เล่นประเด็นความกลัวในวัยเด็กได้ดีมากๆ เลยค่ะ พี่แนนนี่เพนจึงอยากเล่าเรื่องอิทในอีกมุมมองหนึ่งให้น้องๆ ได้รู้จักกับความกลัวที่ช่วยสอนให้เราเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้ค่ะ 
 

 

IT = ปีศาจตัวตลกที่ชื่อ ‘เพนนีไวส์’

เรื่องราวของอิท สำหรับคนที่เคยดูหรือเคยอ่านมาแล้ว มันคือการผจญภัยของแก๊งเด็กขี้แพ้ประจำเมืองแดร์รี่ที่ชวนขนหัวลุก และเขย่าขวัญสั่นประสาทไปกับการไล่ล่าของตัวตลกที่เต็มไปด้วยความน่าสะพรึงกลัว.. แต่สำหรับคนที่ยังไม่เคยรู้จักนิยายสยองขวัญเรื่องนี้มาก่อน พี่ก็ขอเล่าย่อๆ ว่า เรื่องทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเมืองแดร์รี่ เมืองที่มีเคยมีคนตายจำนวนมาก และมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีเด็กหัวขาดที่มักปรากฏตัวในวันอีสเตอร์เสมอ ซึ่งในนิยายจะเล่าเรื่องตัดสลับไปมาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน โดยเหตุการณ์สยดสยองในเรื่องเริ่มมาจากจอร์จ เดนโบรห์ น้องชายของบิลล์ ตัวเอกของเรื่อง ที่วิ่งตามเรือกระดาษไปในวันที่ฝนตกหนัก จนเจอกับตัวตลกที่ถือลูกโป่งหลากสีจำนวนมากหลอกล่อให้เขาล้วงมือลงไปในท่อน้ำทิ้งและถูกฆ่าตายในที่สุด เรื่องราวดำเนินต่อไปด้วยการเล่าถึงบิลล์ พี่ชายที่มีอาการติดอ่างที่พยายามตามหาน้องชายของตัวเอง จนในที่สุดก็เกิดการรวมแก๊งของเด็กขี้แพ้ทั้งเจ็ดคนในโรงเรียนมัธยมแดร์รี่ขึ้น เรื่องราวต่อจากนี้จึงเป็นการเล่าถึงตัวละครอื่นๆ ในแก๊งที่มีความหวาดกลัวในเรื่องต่างๆ และความกลัวของเด็กๆ ก็ทำให้พวกเขาได้พบกับตัวตลกที่ชื่อ ‘มิสเตอร์บ็อบ เกรย์’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘เพนนีไวส์’ ปีศาจร้ายในคราบตัวตลกนั่นเอง
 
‘เพนนีไวส์’ เป็นปีศาจที่เข้ามาอยู่ในเมืองแดร์รี่ก่อนที่คนในเมืองนี้จะถือกำเนิดขึ้นมาเสียอีก โดยในทุกๆ 27 ปีมันจะกลับมาสร้างความสยองขวัญให้กับเด็กๆ ในเมืองนี้ตามตำนาน ซึ่งเพนนีไวส์เป็นปีศาจที่ชื่นชอบความหวาดกลัวของมนุษย์มาก และมันเจาะจงเลือกเหยื่อที่เป็นเด็กเท่านั้น เพราะเพนนีไวส์เชื่อว่าเด็กคือมนุษย์ที่ยังไร้เดียงสาและเต็มไปด้วยความหวาดกลัว ทำให้เด็กๆ หลายคนถูกหลอกล่อและเกิดบาดแผลในจิตใจจำนวนมาก ซึ่งเจ้าปีศาจตัวตลกนี้ ก็เปรียบเสมือนบทเรียนของผู้ใหญ่ในเมืองแดร์รี่ที่ละเลยเด็กๆ ให้เผชิญหน้ากับปัญหาเพียงลำพัง จนทำให้เด็กๆ ต้องเผชิญหน้ากับความหวาดกลัวที่พวกเขาไม่ควรพบเจอ 
 

 

เมื่อเด็กหวาดกลัวตัวตลก “มัน(IT)” ก็ไม่ใช่เรื่องตลกอีกต่อไป

Steven Schlozman จิตแพทย์ของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดได้อธิบายถึงความน่ากลัวของนิยายสยองขวัญไว้ว่า การมีเด็กอยู่ในเรื่องสยองขวัญ เป็นการใช้ความไร้เดียงสาของเด็กเพื่อสร้างความน่ากลัวที่คาดไม่ถึง และการมีตัวตลกอย่างเพนนีไวส์ในเรื่อง ก็ถือเป็นการเล่าเรื่องที่สร้างฉากหน้าตัวละครให้มีสีสัน และสร้างฉากหลังให้ตัวละครเป็นฆาตกรปีศาจที่ชวนขนหัวลุกด้วยขั้วที่ตรงข้ามกัน 
 
ทำไมตัวตลกถึงน่ากลัว? 
สตีเฟน คิง เล่นกับความหวาดกลัวของมนุษย์ด้วย “รอยยิ้มที่ไม่เป็นธรรมชาติ” ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะของตัวตลกที่มักจะมีรอยยิ้มและดวงตาที่เบิกโพลงประดับอยู่บนใบหน้าเสมอ ความไม่เป็นธรรมชาตินี้ทำให้มนุษย์เกิดความหวาดกลัวได้ โดยสามารถอ้างอิงจากทฤษฎี Uncanny Valley ของมาซาฮิโระ โมริ นักออกแบบหุ่นยนต์ชาวญี่ปุ่น ได้ว่า มนุษย์มักหวาดในสิ่งที่เหมือน ‘มนุษย์’ แต่ไม่ใช่มนุษย์จริงๆ ทั้งวิญญาณ ซาตาน ซอมบี้ หุ่นยนต์ และตุ๊กตายาง ซึ่งความไม่เป็นธรรมชาติที่ทำให้มุษย์หวาดกลัวก็คือการ ‘ไม่มีชีวิตอยู่จริง’ นั่นเอง ดังนั้น ตัวตลกที่สวมหน้ากากประดับรอยยิ้มไว้ตลอดเวลานั้น มนุษย์ถือว่าเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ และรู้สึกหวาดกลัวจากจิตสำนึกอย่างไม่มีเหตุผล
 
โดยจากผลการวิจัยพบว่าเด็กหวาดกลัว ‘ตัวตลก’ เป็นอันดับที่ 12 จากทั้งหมด 40 อันดับ โดยสองในสิบอันดับมี ‘คนสวมหน้ากาก’ และ ‘คนแปลกหน้า’ อยู่ในรายชื่อของสิ่งที่เด็กหวาดกลัวด้วย ซึ่งนี่สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่ถูกปกปิด หรือสิ่งที่ไม่เป็นธรรมชาติ แม้จะมีความคล้ายคลึงกับมนุษย์มากแต่ก็สร้างความหวาดกลัวได้มากเช่นกัน 
 

 

Coming of age ช่วงเวลาก้าวผ่านจากเด็กเป็นผู้ใหญ่

สำหรับช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านการเป็นผู้ใหญ่นั้น พี่แนนนี่เพนจะขอพูดถึง “ความกลัวในวัยเด็ก” ที่เกิดขึ้นจากการเลี้ยงดูของครอบครัว การเจริญเติบโตตามวัย และการเรียนรู้ความกลัวด้วยตัวเอง ตามหลักจิตวิทยาที่สอดคล้องกับนิยายเรื่องอิทเป็นหลัก โดยเด็กๆ ในเรื่องทุกคนนั้น เป็นเด็กที่มีการเติบโตเลี้ยงดูแตกต่างกัน แต่มีสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เหมือนกัน ซึ่งก็คือ การถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนหรือถูกบูลลี่นั่นเอง 
 
เด็กๆ ในเรื่องอิทจัดอยู่ในช่วงวัยของการเปลี่ยนผ่านไปเป็นผู้ใหญ่ ทุกช่วงอายุ เพราะเมื่อพวกเขาเริ่มเติบโต ความทรงจำในวัยเด็กยังคงเด่นชัดอยู่ เช่นเดียวกับความกลัวในแต่ละช่วงวัย พวกเขามีพัฒนาการความกลัวจากสิ่งเดิม และเพิ่มความกลัวสิ่งใหม่ๆ เข้ามาเรื่อยๆ ตามประสบการณ์ ซึ่งเราจะเห็นความกลัวของเด็กๆ ได้ตามนี้
 
  • เด็กอายุ 2-4 ขวบ : กลัวสัตว์ กลัวเสียงดัง และกลัวการถูกทิ้งไว้ตามลำพัง
  • เด็กอายุ 4-6 ขวบ : กลัวความมืด และสิ่งมีชีวิตในจินตนาการ เช่น สัตว์ประหลาดและผี
  • เด็กอายุ 7-8 ขวบ : ความกลัวเริ่มลดลง และกลัวในสิ่งที่เป็นความจริงมากขึ้น
  • เด็กอายุ 9-11 ขวบ : เด็กเริ่มกลัวสังคมและสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาอยู่ เช่น โรงเรียน กลัวเลือด และการบาดเจ็บ
     
จะเห็นได้ว่าความกลัวในวัยเด็กนั้น เป็นเรื่องที่เราเคยเจอมาก่อนแทบทั้งสิ้น รวมถึงเด็กๆ ในเรื่องอิทด้วย ดังนั้น นี่จึงเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าเราไม่เคยขจัดความกลัวออกไปจากจิตใจได้ เพียงแต่เรามีความกล้าที่จะเผชิญกับความกลัวมากขึ้นเท่านั้นเอง ในขณะที่เด็กๆ ในนิยายก็กำลังต่อสู้เพื่อหลีกหนีความกลัวเหมือนดังที่เราเคยทำมาก่อนแล้วนั่นเอง 
 
โดยจากการวิจัยพบว่า ครอบครัวและการเลี้ยงดูมีผลต่อพัฒนาการของเด็กถึง 38% โดยเด็กในวัยเรียนรู้จะมีสัญชาตญาณของการเลียนแบบและทำตามอยู่มาก รวมถึงสังคมรอบตัวเด็กจะเป็นส่วนหนึ่งที่สอนให้เด็กเติบโตและเรียนรู้ชีวิตมากขึ้น เช่น ครอบครัวที่ไม่เลี้ยงสุนัข สามารถส่งผ่านความหวาดกลัวมายังเด็กได้ ทำให้เด็กนึกคิดไปเองว่าสุนัขนั้นน่ากลัว และสร้างความหวาดกลัวลึกๆ ไว้ในจิตใจ เป็นต้น และหัวข้อดังต่อไปนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงการเลี้ยงดูจากครอบครัวและการเติบโตของเด็กจากนิยายเรื่องอิท 
 

 

เพราะเป็นเด็กจึงเจ็บปวด.. เราโตขึ้นเพราะ “ความกลัว” 

เด็กๆ ทั้งเจ็ดคนในเรื่องได้ใช้วัยเด็กร่วมกันอย่างมีคุณค่า พวกเขามีประสบการณ์ร่วมกันในหลายเรื่องๆ ทั้งเรื่องที่เป็นความสุข และเรื่องที่เป็นความเศร้า รวมถึงพื้นฐานครอบครัวของเด็กๆ ที่มีความแตกต่างในด้านการเลี้ยงดู แต่เหมือนกันในด้านที่ถูกผู้ใหญ่ละเลย และไม่เข้ามาช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหา เรียกได้ว่าแก๊งเด็กขี้แพ้กลุ่มนี้เติบโตมาจากการเรียนรู้ซึ่งกันและกันนั่นเอง
 
เด็กคนที่ 1 บิลล์ เด็กที่ไม่เป็นตัวของตัวเอง
ในตอนเปิดเรื่องได้มีการเล่าถึงที่มาการติดอ่างของบิลล์ว่ามาจากอุบัติเหตุ แต่น่าแปลกที่เขาสามารถพูดได้อย่างปกติกับน้องชายของตัวเอง เมื่อน้องชายของเขาหายไปครอบครัวก็ไม่ให้ความสนใจหรือพูดคุยกับเขาเหมือนอย่างเคย เมื่อพิจารณาจากเนื้อเรื่อง บิลล์จะติดอ่างเฉพาะตอนพูดคุยกับเพื่อนที่โรงเรียน รวมถึงพ่อกับแม่ของเขา นั่นแสดงให้เห็นว่าบิลล์เป็นเด็กที่เข้าสังคมไม่เก่ง และกลัวจะทำให้คนอื่นไม่พอใจ เขาถูกเลี้ยงในครอบครัวที่ต้องเชื่อฟังพ่อแม่ และถูกปลูกฝังให้เป็นพี่ชายที่ดี ซึ่งนี่ทำให้เขาหวาดกลัวพ่อแม่และสังคมอยู่ลึกๆ เพราะกลัวความผิดพลาด ขณะที่อีกด้านหนึ่งเมื่อเขาอยู่กับน้องชายที่ไร้เดียงสาเขาสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ เพราะน้องชายมักเชื่อฟังเขาและเห็นเขาเป็นคนสำคัญเสมอ
 
เด็กคนที่ 2 เอ็ดดี้ เด็กที่ไม่กล้าตัดสินใจด้วยตัวเอง
เด็กคนนี้คือลูกแหง่ของแม่นั่นเอง เขาเป็นคนที่เชื่อฟังแม่และทำตามอย่างไม่มีคำถาม เอ็ดดี้ถูกเรียกว่าเด็กขี้โรคเพราะแม่ของเขาให้พกยาพ่นและยาเม็ดติดตัวจำนวนมาก เขาเป็นเด็กที่รักสะอาดและว่านอนสอนง่ายที่สุด ในเรื่องมีฉากหนึ่งที่เขาทำยาตกบนพื้น และมีชายที่ดูสกปรกเข้ามาช่วยเหลือ เขาหวาดกลัวและวิ่งหนีจนพบกับเพนนีไวส์ ซึ่งนี่แสดงให้เห็นว่าเขาเชื่อฟังแม่ของเขาที่ปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กเรื่องความสะอาด จนทำให้เขาลืมมองโลกความเป็นจริงว่ายังมีความหวังดีจากผู้อื่นอยู่ ความกลัวของเด็กชายจึงเป็นการกลัวความผิดที่ทำยาตกพื้น และกลัวบทลงโทษจากครอบครัวนั่นเอง
 
เด็กคนที่ 3 เบ็น เด็กที่มีจิตใจอ่อนไหว
เบ็นเป็นเด็กที่เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองได้ไม่นาน ทำให้เขายังไม่มีเพื่อนที่สามารถเล่นด้วยกันได้ อีกสาเหตุหนึ่งมาจากรูปร่างของเด็กชายที่ค่อนข้างอ้วน เลยทำให้เขาถูกกลั่นแกล้งเป็นประจำ เบ็นชอบอ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์ทำให้เขาเป็นคนค่อนข้างมีเหตุผล และเขามีความรักครั้งแรกกับเด็กผู้หญิงในแก๊งขี้แพ้ที่ชื่อเบเวอรี่ สำหรับเบ็นเขาถูกความครอบงำด้วยความกลัวจากสิ่งที่เขาชื่นชอบ นั่นก็คือหนังสือ เขากลัวผีหัวขาดที่เป็นตำนานของเมืองแดร์รี่ 
 
เด็กคนที่ 4 สแตนลี่ เด็กที่ถูกกักขัง
เด็กชายเป็นเด็กชาวยิวที่ครอบครัวเคร่งศาสนา เขาเติบโตมาด้วยความเข้มงวดของผู้เป็นพ่อ และสิ่งที่ทำให้เขาหวาดกลัวที่สุดก็คือภาพวาดในห้องทำงานของพ่อ เพนนีไวส์มักจะโผล่มาในภาพวาดเสมอ เพราะเด็กชายต้องนำคัมภีร์ไปเก็บที่ห้องทำงานของพ่อประจำ ซึ่งจริงๆ แล้วความหวาดกลัวของสแตนลี่ก็คือศาสนาและเชื้อชาติของเขานั่นเอง เมื่อเขาไม่สามารถท่องคัมภีร์ได้เขามักจะถูกพ่อดุด่าเสมอ สแตนลี่รู้สึกว่าเขาแตกต่างจากทุกคนในเมืองแดร์รี่ เขาเป็นคนที่มีชาติและศาสนาอื่น ทำให้เขารู้สึกเหมือนเป็นคนอื่นในเมืองนี้ 
 
เด็กคนที่ 5 ริชชี่ เด็กที่กลัวถูกแย่งความรัก
ต้องบอกเลยว่าริชชี่คือเด็กชายที่เป็นสีสันของนิยายเรื่องนี้เลย เขาเป็นคนมีอารมณ์ขัน และชอบแซวเพื่อนๆ อยู่เสมอ ความอารมณ์ดีของเด็กชายถูกสร้างขึ้นเพื่อปิดบังความหวาดกลัวที่แท้จริงของเขา ซึ่งริชชี่กลัวตุ๊กตาตัวตลกมาก แสดงให้เห็นว่าเขาหวาดกลัวคนที่เป็นเหมือนตัวเอง กลัวถูกแย่งความรักและความสนใจจากผู้อื่น 
 
เด็กคนที่ 6 ไมค์ เด็กที่กลัวความตาย
เด็กชายป็นเด็กผิวดำในเมืองเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยคนผิวขาว เขารู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกและไม่เข้าพวกกับใครทั้งนั้น ไมค์เรียนหนังสือที่บ้าน และทำงานในโรงฆ่าสัตว์ แต่เขาไม่กล้าลงมือฆ่าสัตว์เลยสักครั้ง สาเหตุความกลัวของไมค์มาจากความผิดพลาดในวัยเด็กที่ครอบครัวของเขาถูกไฟครอกตาย เขารู้สึกกลัวการจากลา และไม่กล้าลงมือทำร้ายสัตว์  
 
เด็กคนที่ 7 เบเวอรี่ เด็กที่กลัวความจริง
เบเวอรี่ เป็นเด็กสาวเพียงหนึ่งเดียวในกลุ่ม เธอถูกพ่อของเธอล่วงละเมิดทางเพศมาตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้ความกลัวของเด็กสาวเป็นความกลัวที่มีพื้นฐานมาจากความรักของครอบครัว เธอไม่กล้าตั้งคำถามกับสิ่งที่เธอได้รับจากพ่อ และไม่กล้าพอที่จะบอกเรื่องราวกับใคร เพราะลึกๆ ในใจของเธอเชื่อว่าครอบครัวไม่มีทางทำร้ายเธอ 
 
เด็กๆ ทั้งเจ็ดคนเติบโตขึ้นในอีก 27 ปีต่อมา พวกเขาต่างมีชีวิตที่ต้องดำเนินต่อไปตามวิถีของตัวเอง ผู้ใหญ่ในวันนี้ได้ลืมเลือนความกลัวในวัยเด็กไปแล้ว ลืมว่าครั้งหนึ่งพวกเขาเคยสัญญากันไว้ว่าอย่างไร.. 
 

 
“เราทุกคนต่างมีความกลัว.. แต่วันนี้เราโตขึ้นแล้ว และเรามีความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความกลัวมากขึ้นเท่านั้นเอง”
 
สิ่งที่เราเคยหวาดกลัวในวัยเด็ก พอมานึกๆ ดูตอนนี้บางอย่างแทบจะจำไม่ได้เลยด้วยซ้ำว่าเคยกลัวมาก่อน นิยายเรื่องอิทและตัวตลกเพนนีไวส์ เป็นเหมือนภาพสะท้อนในวัยเด็กที่แสดงให้เห็นว่าเราเคยหวาดกลัวบางอย่างมากๆ จนต้องหลบหนีความหวาดกลัวนั้นอย่างคนขลาดกลัว และเมื่อโตขึ้นเราต่อสู้กับความกลัวเหล่านั้นโดยแทบจะลืมไปด้วยซ้ำว่าความรู้สึกที่ “เคยหวาดกลัว” มันเป็นยังไง.. ซึ่งพี่คิดว่าเราทุกคนต่างก็มีวิธีขจัดความกลัวที่แตกต่างกันออกไปตามแต่สถานการณ์ แต่ในเรื่องอิทนั้น เจ้าปีศาจตัวตลกหายไปเพราะเด็กๆ ต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยไม่เกรงกลัวเจ้าปีศาจร้ายตัวนี้เลย.. ท้ายที่สุดแล้ว นิยายเรื่องนี้อาจจะกำลังสอนให้เราเห็นคุณค่าของมนุษย์และการมีเพื่อนแท้ก็เป็นไปได้ ลองคิดดูว่าหากเราคือคนที่ถูกบูลลี่ในสังคม การมีแก๊งขี้แพ้เป็นเพื่อน ก็ดูจะไม่เลวร้ายนะว่าไหม ^^
 
พี่แนนนี่เพน

 
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก..

Deep Sound แสดงความรู้สึก
พี่แนนนี่เพน
พี่แนนนี่เพน - Columnist สาวเหนือที่มีความสุขกับการเขียนนิยาย และเชื่อว่านิยายให้อะไรดีๆ กับสังคมเสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

มัณทนา Member 23 ต.ค. 61 15:53 น. 1

เรากลัวท่อระบายน้ำที่เป็นฝาตะแกรงมาตั้งแต่จำความได้ค่ะ

ไม่ว่าจะเป็นท่อสี่เหลี่ยมหรือท่อวงกลมที่มีฝาตะแกรง

เวลาเดินผ่านก็ต้องเดินอ้อมท่อไปเดินตรงบนพื้นถนนที่มีรถวิ่งผ่านหรือพื้นทางเดินค่ะ

เวลาก้มมองลงไปจะเห็นสภาพข้างในของท่อระบายน้ำเลย

ถ้าเราเผลอเหยียบไปก้าวหนึ่ง เรารีบเอาขาออกทันที

เราจะเดินเหยียบเฉพาะท่อระบายน้ำที่เป็นฝาโบกปูนปิดสนิทที่มีวงกลมเล็กๆเท่านั้น

คนอื่นเดินเหยียบท่อระบายน้ำอันตรายแบบนี้ไปได้ยังไง ไม่กลัวเดินพลัดตกลงไปเหรอ

2
NannyPen Columnist 24 ต.ค. 61 13:34 น. 1-1
กลัวท่อระบายน้ำแบบตะแกรงเหมือนกันเลยค่า ไม่รู้ทำไมถึงกลัว แต่เวลาเจอจะเดินเลี่ยงตลอด! เรื่องนี้ต้องมีคำอธิบาย 555555
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด