ไขความลับ ‘ต้นกำเนิดของวันคริสต์มาส’


         วันคริสต์มาส ถือว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของประชาชนผู้นับถือศาสนาคริสต์จากทั่วโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี โดยวันที่ 25 ธันวาคมนั้นเป็นวันประสูติของพระเยซู ศาสดาของศาสนาคริสต์ ดังนั้นเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้กับพระเยซู จึงเกิดเป็นวันคริสต์มาสนี้ขึ้นมา โดยประเพณีที่ปฏิบัติกันเป็นประจำในวันนี้นอกจากจะมีการประดับตกแต่งบ้านเรือนด้วยไฟสวยๆ แล้ว ยังรวมไปถึงการมอบของขวัญ มอบการ์ดคริสต์มาส รวมถึงการรับประทานอาหารเย็นพร้อมหน้าพร้อมตากันเป็นครอบครัว แต่น้องๆ รู้กันไหมจ๊ะ ว่าความจริงแล้ววันคริสต์มาสไม่ได้ตรงกับวันที่ 25 ธันวาคม แต่จะตรงกับวันไหน เดี๋ยววันนี้พี่นัทตี้จะพาทุกคนไปหาคำตอบกัน!

 

ภาพจาก ncregister

 

1. วันคริสต์มาส แท้จริงแล้วไม่ได้อยู่ในเดือนธันวาคม


       พระเยซูอาจจะไม่ได้เกิดในวันที่ 25 หรืออันที่จริงแล้วเขาอาจจะไม่ได้เกิดในเดือนธันวาคมเลยก็ได้ แล้วทำไมมันถึงได้กลายเป็นเดือนธันวาคมขึ้นมาได้ล่ะ? จากข้อสันนิษฐานที่ดูจะเป็นไปได้มากที่สุดนั้นน่าจะเกี่ยวข้องกับบันทึกทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการประสูติของพระเยซูของนักเทววิทยาที่มีชื่อว่า คลีเมนต์ ออฟ อเล็กซานเดรีย ที่ได้กล่าวถึงหลักฐานเกี่ยวกับวันประสูติของพระเยซูที่มีตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม, 15 เมษายน, 21 เมษายน และ 20 พฤษภาคม แต่การกล่าวถึงวันที่ 25 ธันวาคมนั้นเพิ่งจะมีการบันทึกในภายหลัง ดังนั้นวันประสูติคงไม่น่าจะตรงกับวันที่ 25 ธันวาคมแน่นอน
 
       ประจวบกับข้อมูลของ เทอธูเลียน นักเขียนชาวคริสเตียนในสมัยนั้นได้บันทึกเกี่ยวกับวันเดือนปีเกิดของพระเยซูที่แท้จริงว่าตรงกับวันที่ 25 มีนาคม นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่าความจริงแล้ววันที่ 25 มีนาคมนั้นเป็นวันที่พระเยซูสิ้นพระชนม์ต่างหาก แต่ถึงอย่างไรก็ตามจวบจนถึงทุกวันนี้ นักวิชาการส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อกันอยู่ว่า พระเยซูไม่ได้เกิดวันที่ 25 ธันวาคม แต่วันที่ 25 ธันวาคมแท้จริงนั้นเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองคริสตจักรยุคแรกมากกว่า



 

2. แมรี่ไม่ได้ให้กำเนิดในคืนแรกที่เธอเดินทางถึง


       จากเรื่องราวของเหตุการณ์การประสูติของพระเยซูที่เราเคยได้ยินมานั้น ได้มีการพูดถึงการให้กำเนิดของแมรี่ที่ได้ถือกำเนิดลูกชายในคืนแรกที่เธอเดินทางมาถึงเบธเลเฮม แต่อีกด้านหนึ่งกลับมีคนคิดเห็นในเชิงตรงข้ามกัน คือแมรี่และโยเซฟได้อาศัยอยู่ที่เบธเลเฮมได้สักระยะหนึ่งแล้ว ก่อนที่เธอจะให้กำเนิดลูกออกมา เช่นเดียวกับกรุงโรมที่ไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว ดังนั้นมันจึงมีความเป็นไปได้สูงที่พวกเขาอาจจะอาศัยอยู่ที่เบธเลเฮมก่อนหน้านั้นแล้ว


 

ภาพจาก askopinion

 

3. นักปราชญ์ 3 คนไม่ได้เดินทางมาถึงในวันที่พระเยซูถือกำเนิด


        ในฉากการประสูติของพระเยซูนั้น ‘นักปราชญ์ทั้งสาม’ เป็นบุคคลที่มักจะถูกพูดถึงตามมาหลังจากแมรี่ โยเซฟ และพระเยซู โดยเรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิลได้กล่าวถึงการปรากฎตัวของพวกเขาเอาไว้ว่า ทันทีที่พวกเขาเดินทางเข้าไปในบ้าน พวกเขาทั้งสามได้พบกับเด็กและแมรี่แม่ของเขา… เราจะเห็นได้ว่าคำที่ปรากฎในพระคัมภีร์นั้นได้พูดถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘บ้าน’ และสิ่งที่จะสื่ออย่างต่อไปก็คือ แมรี่ โยเซฟ และเด็กยังอาศัยอยู่ที่เบธเลเฮม แถมยังมีความเห็นอีกความเห็นหนึ่งที่สามารถอธิบายออกมาได้ว่า ‘เด็ก’ ที่พวกเขาเจออาจจะไม่ใช่เด็กทารก แต่น่าจะเป็นเด็กวัยหัดเดินมากกว่า นั่นหมายความว่านักปราชญ์ทั้ง 3 อาจจะไม่ได้เดินทางมาถึงในคืนที่พระเยซูถือกำเนิด แต่น่าจะเป็นหลังจากกำเนิดแล้ว 1-2 ปีมากกว่า



 

4. คนเลี้ยงแกะไม่ได้เดินตามดวงดาวเพื่อไปหาพระเยซู


        หลายคนมักจะคิดว่าคนเลี้ยงแกะนั้นเป็นชายชราที่ออกเดินทางไปพร้อมกับฝูงแกะ และหลายคนมักจะคิดว่าเขาออกเดินทางตามดวงดาวเพื่อไปหาพระเยซูที่เพิ่งถือกำเนิด นี่เป็นเพียงตำนานดั้งเดิมที่มีการพูดถึงกันเป็นวงกว้างจนเกิดความเข้าใจผิดจากการผสมผสานเรื่องราวทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน เพราะความจริงแล้วอาจจะไม่มีดวงดาวในคืนที่พระเยซูประสูติเลยก็ได้ แต่สิ่งที่ดูจะเป็นไปได้มากกว่าน่าจะเป็นเสียงร้องของทารก รวมถึงเสียงแห่งการเฉลิมฉลองที่ได้นำพาคนเลี้ยงแกะคนนี้ออกเดินทางมามากกว่า


 

ภาพจาก jw.org

 

5. อาจจะไม่มีหรอก ‘นักปราชญ์ 3 คน’


        เราอาจจะรู้จักกับนักปราชญ์ทั้ง 3 คนจากการเดินทางโดยอูฐตามดวงดาวกันใช่ไหมจ้ะ แต่ความจริงแล้วพวกเขามีกันแค่ 3 คนจริงๆ เหรอ? ซึ่งในความเป็นจริงแล้วจำนวนของพวกเขาไม่ได้ถูกเขียนไว้ในบันทึกละตินที่เก่าแก่ที่สุดแต่อย่างใด โดยสันนิษฐานกันว่าในความเป็นจริงแล้วนั้นการระบุจำนวนของนักปราชญ์ฟังดูไม่ค่อยมีเหตุผลสักเท่าไหร่ และไม่มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญๆ ชิ้นไหนที่ระบุจำนวนของนักปราชญ์ได้ถูกต้องและเหมือนกันสักบันทึกเลยด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างหลักฐานจากภาพวาดในสุสานของนักบุญปีเตอร์ที่ปรากฎรูปของนักบุญถึง 4 คน, แจกันในพิพิธภัณฑ์เคอเชอร์มีภาพของนักปราชญ์ตั้งแปดคน ในขณะที่เรื่องเล่าในแถบเอเซียระบุว่ามีจำนวนนักปราชญ์ถึง 12 คน สรุปแล้วสิ่งที่เราจะสามารถวัดความถูกต้องของจำนวนนักปราชญ์นั้นมีน้อยถึงน้อยมาก ดังนั้นเรื่องของนักปราชญ์นี้อาจจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนก็เป็นได้ หรือถ้ามีเราก็ไม่สามารถพิสูจน์กันได้อยู่ดีว่าจำนวนที่แท้จริงของนักปราชญ์นั้นมีด้วยกันกี่คน


 


 
         และทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงแค่ข้อสันนิษฐานทางความคิดของนักวิชาการและบรรดาคนที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับเหตุการณ์การประสูติของพระเยซู ซึ่งพี่ก็ได้หยิบมาให้น้องๆ ได้อ่านและลองคิดวิเคราะห์ไปพร้อมๆ กันถึง 5 ข้อ และต้องบอกก่อนเลยว่าข้อสันนิษฐานที่หยิบมาไม่ได้ต้องการจะบอกว่าถูกหรือผิด เพียงแต่อยากจะให้ทุกคนที่เข้ามาอ่านลองคิดและตั้งคำถามไปพร้อมๆ กันเท่านั้น และหวังว่าบทความที่นำมาฝากกันในวันนี้คงจะทำให้ทุกคนสนุกสนานและได้รับความรู้ดีๆ กลับไป ยังไงก็ขอสุขสันต์วันคริสต์มาสและสวัสดีปีใหม่ล่วงหน้าด้วยนะคะ

 
พี่นัทตี้


 
ขอบคุณแหล่งที่มาดีๆ จาก
https://www.berries.com/blog/45-fun-christmas-facts 
https://www.goodhousekeeping.com/holidays/christmas-ideas/g2972/surprising-christmas-facts/
http://listverse.com/2016/12/25/10-things-you-didnt-know-about-the-first-christmas/ 
พี่นัทตี้
พี่นัทตี้ - Columnist บุคคลผู้เสพติดการดูหนังแนวสยองขวัญ ที่มีความฝันอยากจะเป็นนักเขียน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด