รู้ก่อนอ่าน! ขงจื๊อและฝ่าเจีย 2 ลัทธิสำคัญต้นกำเนิดความขัดแย้งในนิยายแปลจีนเรื่อง จะรักใครก็รักไป


รู้ก่อนอ่าน! ขงจื๊อและฝ่าเจีย

2 ลัทธิสำคัญ ต้นกำเนิดความขัดแย้งในนิยายแปลจีนเรื่อง จะรักใครก็รักไป 


สวัสดีค่ะ ชาวเด็กดีทุกคน น้องๆ คนไหนที่ชอบอ่านนิยายแปลจีน น่าจะเคยได้ยินนิยายชื่อ “จะรักใครก็รักไป” มาก่อนแน่ๆ เพราะนิยายเรื่องนี้คือตัวท็อปของวงการนิยายแปลจีน ขายดิบขายดีสุดๆ ในงานหนังสือที่ผ่านมา ทำเอานักอ่านที่ตั้งใจไปเปย์นิยายเรื่องนี้โดยเฉพาะต้องผิดหวังกลับบ้านไปเป็นทิวแถว แต่ด้วยความดวงดีที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด (ไม่น่าจะใช่นะ ฮ่า) ก็ทำให้พี่หญิงสามารถแย่งชิงนิยายเรื่อง “จะรักใครก็รักใคร” ชุดสุดท้ายที่วางขายในงานหนังสือประจำวันนั้นมาได้แบบพอดิบพอดีเลยค่ะ 

และเมื่อได้ของมาแล้ว จะรอช้าอยู่ไย ก็ต้องเปิดไปอ่านพิสูจน์ความสนุกกันน่ะสิ ซึ่งมันก็ทำให้พี่หญิงได้พบว่านิยายเรื่องนี้ได้สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับลัทธิต่างๆ ของจีนเข้าไปในเนื้อหาได้อย่างแยบยล พร้อมทั้งยังบอกเล่าถึงเกร็ดประวัติศาสตร์ของประเทศจีนออกได้อย่างน่าสนใจ อ่านเพลิน ไม่ทำให้รู้สึกเครียดหรือรู้สึกว่ากำลังนั่งอ่านหนังสือประวัติศาสตร์อยู่เลยค่ะ



 

และด้วยความน่าสนใจของการสอดแทรกเกร็ดความรู้ต่างๆ ลงไปในเนื้อหาของนิยายเรื่องนี้นี่เอง วันนี้พี่หญิงจึงอยากจะชักชวนทุกคนมาพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นของ “ลัทธิขงจื๊อและฝ่าเจีย” ที่นักเขียนนำมาพูดถึง เผื่อว่าใครมีแพลนอยากอ่าน จะได้มีความเข้าใจเบื้องต้นไว้ก่อน เวลาอ่านไปอ่านจริงๆ จะได้ไม่สะดุด มึนงง หรือสงสัยถึงความเป็นมาของสองลัทธินี้กัน!

 

“ปราชญ์กล่าวว่า หากปกครองราษฎรและสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยด้วยกฎหมายอาญา ราษฎรไม่เพียงละเมิดกฎมาย แต่ยังไม่รู้สึกละอายต่อบาป หากใช้คุณธรรมนำราษฎร กล่อมเกลาพวกเขาด้วยศีลธรรมจรรยา ราษฎรจะละอายต่อบาป และจะทำให้คนเชื่อถือและศรัทธา นี่ถึงจะเป็นผลสัมฤทธิ์ของการสั่งสอนและแนวทางการปกครองอันแท้จริง”

กวนซู่อี : จะรักใครก็รักไป 





 

ขงจื๊อ ปรัชญาแนวคิดที่ยึดคุณธรรมเป็นที่ตั้ง

ขงจื๊อ คือลัทธิปรัชญาของจีนที่ก่อกำเนิดขึ้นในยุคสมัยชุนชิวและจั้นกั๋ว มุ่งเน้นคำสอนเกี่ยวกับจริยธรรม ความดี คุณธรรม และพฤติกรรมอันดีงามของมนุษย์ โดยพื้นฐานหลักคำสอนของขงจื่อจะมุ่งนี้ไปที่การพัฒนาคน ใช้หลักคุณธรรมของ "เหริน" หรือความเมตตากรุณามาเป็นข้อกำหนดในหลักความสัมพันธ์ 5 ประการ อันได้แก่...

1. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชน ยกย่องผู้ปกครองที่มีเมตตา ขุนนางต้องมีความอ่อนน้อม ถ่อมตน และจงรักภักดี

2. ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตรธิดา บิดามารดาต้องให้ความรักแก่บุตรอย่างเท่าเทียม และการกตัญญูต่อบิดามารดาของบุตรคือสิ่งดีงาม 
3. ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา ที่ควรถ้อยทีถ้อยอาศัยกันและกัน
4. ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง ควรมีความรักผูกพัน เอื้ออาทรต่อกัน
5. ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนกับเพื่อน ที่ควรมีความซื่อสัตย์ต่อกัน
 

เมื่อทุกคนปฏิบัติตามหลัก 5 ประการนี้แล้ว ขงจื๊อเชื่อว่าจะสามารถนำความสุขสงบเข้ามาในสังคมได้ “กวนซู่อี” นางเอกจากเรื่อง “จะรักใครก็รักไป” เธอก็คือหญิงสาวที่เกิดในตระกูลผู้นำทางความคิดของลัทธินี้ในยุคสมัยที่บ้านเมืองเติมไปด้วยความยุ่งเหยิงค่ะ ตระกูลกวน คือบัณฑิตผู้ถูกยกย่องจากเหล่านักปราชญ์สำนักขงจื๊อ กวนซู่อีจึงเติบโตมาด้วยคำสั่งสอนที่ยึดมั่นในเรื่องเมตตาธรรม และจริยธรรมอันดีงาม เธอเชื่อว่าขอเพียงตนปฏิบัติตัวให้ดี ถูกทำนองคลองธรรม เป็นลูกที่ดี เป็นภรรยาที่ดี และเป็นมารดาที่ดี ก็จะได้รับความเคารพรัก สิ่งที่ดีตามมาในที่สุด 
 

**หมายเหตุ : เรื่องราวที่เกิดขึ้นในนิยาย ผู้เขียนไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเป็นยุคสมัยใด แต่กล่าวไว้ว่าเป็นยุคที่ถูกปกครองด้วยชนเผ่านอกด่าน และถึงแม้มีการเกิดขึ้นของเมธีร้อยสำนักเกิดขึ้นมากกมาย แต่ฮ่องเต้ได้เชิดชูสำนักขงจื่อเป็นแนวคิดสำคัญ ทำให้อาจนิยามได้ว่า ยุคสมัยในนิยายเรื่องนี้อาจอยู่ในช่วงของ ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ที่เป็นยุคสมัยซึ่งแนวคิดขงจื๊อกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งค่ะ


 

“หากไม่มีกฎหมายเข้มงวดไว้คอยควบคุม แล้วจะมีขึ้นนางไว้เพื่อประโยชน์อันใด ใครจะควบคุมราษฎร ใครจะบริหารบ้านเมือง เมือญาติพี่น้องช่วยกันปกปิด ขุนนางปกป้องกันเอง ผู้ปกครองจึงถูกตบตา ด้วยเหตุนี้การปกครองด้วยเมตตาธรรมสามารถทำได้ แต่ไม่อาจปกครองด้วยกฎหมายปกป้องผลประโยชน์ของราษฏรทั่วทั้งแผ่นดิน”

กวนซู่อี : จะรักใครก็รักไป 



 

สำนักฝ่าเจีย จุดเริ่มต้นของการใช้กฎหมายในจีน


หากกล่าวว่าลัทธิขงจื๊อคือลัทธิที่เชื่อว่าโดยธรรมชาติทุกคนล้วนเป็นคนดี แล้วล่ะก็ แนวคิดของสำนักฟฝ่าเจียก็คือแนวคิดฝ่ายตรงข้ามเลยค่ะ นักปราชญ์ในลัทธินี้จะเชื่อว่า.. ธรรมชาติของ มนุษย์ทุกคนล้วนเป็นคนเลว จึงต้องมีกฎหมายที่เข้มงวดเข้ามาคอยควบคุมความพฤติกรรมของคนในสังคม ให้ดำเนินไปอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย หากใครฝ่าฝืนกฎหมายก็ควรได้รับการลงโทษอย่างรุนแรง ซึ่งก็มีตั้งแต่โทษสถานเบาสุดอย่างการสัก ไปจนถึงโทษหนัก ประหารชีวิตเลยค่ะ 
 


หานเฟยจือ นักปราชญ์ผู้ก่อตั้งสำนักฝ่าเจีย


หานเฟยจื่อ ผู้นำลัทธิไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเกี่ยวกับ ”เมตตาธรรม” ของลัทธิขงจื๊อโดยให้ความเห็นว่า ธรรมชาติของมนุษย์ไม่ได้ดีงามอย่างที่คิด แต่เห็นแก่ตัวจึงไม่มีประโยชน์ที่จะมาพร่ำสอนแต่อุดมคติ มองโลกในแง่ดี ในเมื่อตามความเป็นจริงแล้ว มันไม่อาจแก้ไขหรือปฏิรูปสังคมได้เลย  อีกทั้งยังยกตัวอย่างว่า แม้ว่าในอดีตมนุษย์จะซื่อบริสุทธิ์ มีคุณธรรมและเรียบง่าย ทว่าทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางวัตถุ ไม่ใช่คุณธรรมสูงส่ง คนครั้งอดีตโบราณกาล ไม่ค่อยให้ค่าแก่เครื่องใช้ข้าวของ หาใช่เพราะความมีมนุษยธรรมที่พวกเขามี แต่เป็นเพราะข้าวของที่เหลือใช้เหลือกิน ในขณะเดียวกันเมื่อผู้คนต่างทะเลาะเบาะแว้งกัน ฉกฉวยแย่งชิงข้าวของอย่างในทุกวันนี้ ก็ไม่ใช่เพราะความชั่วร้าย แต่เป็นเพราะข้าวของเริ่มขาดแคลน สำหรับสำนักฝ่าเจีย “กฎหมาย” จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้สามารถมีสังคมที่ดีได้


 

“การปกครองก็คือการบริหารปกครองแว่นแคว้น สำนักฝ่าเจียเสนอแนวคิดการลงทัณฑ์ที่เข้มงวด สำนักขงจื่อเสนอแนวคิดความมีเมตตา ความเข้าใจ ผู้หนึ่งดื้อรั้น ผู้หนึ่งยืดหยุ่น ผู้หนึ่งเข้มงวด ผู้หนึ่งผ่อนปรน ผู้ใดเหนือกว่า ผู้ใดด้อยกว่า ผู้ใดจะสามารถนำพาบ้านเมืองไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง นี่จึงเป็นจุดสำคัญในการชิงชัยของสำนักฝ่าเจีย และสำนักขงจื่อ”

กวนซู่อี : จะรักใครก็รักไป 


 

ความขัดแย้งอันลงตัวของกวนซู่อี

ความน่าสนใจของนิยายเรื่องนี้ก็คือความขัดแย้งอันลงตัวของ “กวนซู่อี” นี่ล่ะ ที่ทำให้เราเห็นทั้งข้อดี ข้อเสียของแนวคิดทั้งสองสำนักนี้ อย่างที่พี่หญิงได้เกริ่นไปเบื้องต้นแล้วว่า… กวนซู่อี คือหญิงสาวที่เกิดในตระกูลของนักปราชญ์จากสำนักขงจื๊อ ชีวิตในชาติแรกของเธอจึงยึดวิถีปฏิบัติตามแนวคิดของลัทธิขงจื๊อเป็นสำคัญ และนั่นก็ทำให้กวนซู่อีค้นพบความจริงที่ว่าแม้เธอจะทำดีสักแค่ไหน มีศีลธรรมจรรยาเพียงไรก็ตาม แต่ถ้าหากฝ่ายตรงข้ามไม่ได้มีจิตสำนึกในความดีนี้ด้วย ในท้ายที่สุดแล้วกวนซู่อีก็ไม่มีทางได้รับสิ่งดีๆ ตอบแทนกลับมา ดั่งเช่นที่เธอต้องทนถูกบีบคั้นจนตาย

ทำให้พอได้มาเกิดใหม่อีกครั้ง กวนซู่อีจึงเหมือนได้ปลดล็อคตัวเอง เธอไม่ได้เอาแต่ยึดมั่นถือมั่นในความคิดของลัทธิขงจื๊อเสียทีเดียว แต่ยังได้ศึกษาคัมภีร์ของสำนักต่างๆ เพิ่มเข้ามาด้วย โดยเฉพาะแนวคิดของสำนักฝ่าเจียที่กวนซู่อีมีความคิดที่เอนเอียงเข้าข้างมากที่สุด แต่ก็ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะในจิตสำนึกแล้ว กวนซู่อียังเห็นถึงความสำคัญของการมีเมตตาธรรม ทั้งยังไม่เชื่อว่ามนุษย์นั้นโดยธรรมชาติแล้วเป็นคนดี หรือคนชั่วโดยกำเนิด แต่เธอมองมนุษย์เป็นดั่งผ้าขาวที่เปลี่ยนแปลงไปตามสีหรือสภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมขึ้นมา

พี่หญิงชอบเรื่องการนำเสนอนี้ในนิยายนะคะ เพราะทำให้เราได้เรียนรู้ว่า... แท้จริงแล้ว สูตรการปกครองนั้นอาจไม่มีความตายตัว แต่สามารถประยุกต์ได้ ทุกอย่างล้วนยืดหยุ่น ไม่ใช่ว่าจะเอาแต่แบบใดแบบหนึ่งจนเคร่งเครียดเกินไป คนมองโลกในแง่ดีเกินไป ก็อาจมีชีวิตที่เลวร้ายได้เหมือนกัน แต่ขณะเดียวกัน คนที่เอาแต่คิดลบ ไม่มองสิ่งดีๆ ของคนอื่น ก็จะมีแต่ช่วงเวลาแย่ๆ และมีแต่ความเครียด กดดัน จนอาจจะใช้ชีวิตได้ไม่ราบรื่นอย่างที่ควรจะเป็น นิยายเรื่องนี้จะทำให้เราได้รู้ว่า... การใช้ชีวิตแบบเดินทางสายกลางเป็นเรื่องสำคัญมาก เราไม่ควรจะสุดโต่งด้านใดด้านหนึ่ง เพราะมีแต่จะให้ผลลบต่อชีวิตค่ะ

 

การศึกษาค้นคว้า ถ้าเอนเอียงไปสุดทาง
ไม่ว่าข้างใดข้างหนึ่งล้วนมีแต่ผลเสียเท่านั้น

กวนซู่อี : จะรักใครก็รักไป 


 

และที่พี่หญิงเล่ามาสั้นๆ นี้ ก็คือสาระสำคัญของสองแนวคิด ขงจื๊อและฝ่าเจีย ที่ปรากฎในนิยายเรื่องนี้ค่ะ หากใครยังไม่เข้าใจเท่าไหร่ว่าทั้งสองลัทธิแตกต่างกันยังไง ก็จำไว้แค่ว่า ขงจื่๊อเชื่อว่าคนทุกคนล้วนเกิดมาเป็นคนดี ยึดหลักเมตตาธรรมเป็นที่ตั้ง ส่วนฝ่าเจียจะเชื่อว่าทุกคนเป็นคนเลวจึงต้องมีกฎหมาย บทลงโทษรุนแรงเข้ามาควบคุมค่ะ เพียงเท่านี้ทุกคนก็จะอ่านนิยายเรื่อง “จะรักใครก็รักไป” ได้อย่างเข้าใจลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นแล้วจ้า โดยเฉพาะในส่วนของหลักการเมืองการปกครองที่มีเนื้อหาโต้วาทีกันเข้มข้นมันหยดมากกกกก
 

สุดท้ายนี้ พี่หญิงก็ขอลาไปก่อน เจอกันใหม่ครั้งหน้า สวัสดีค่ะ

พี่หญิง

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก
 http://www.parst.or.th/philospedia/confucianism.html
http://www.damrong-journal.su.ac.th/upload/pdf/76_3.pdf
http://center.bkkthon.ac.th/journal/upload/doc/spit/6/files/2.pdf
https://philosophy-suansunandha.com/2017/10/19/chinese-philosophy-of-law/

 

แฟน (หึง) โหดโปรดรัก


 
พี่หญิง
พี่หญิง - Columnist มนุษย์บ้านิยายที่สิงอยู่แถวๆ คลังนิยายเด็กดีเป็นประจำ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น