5 ลักษณะพระเอก ในวรรณคดีไทย ที่เห็นจนคุ้นตาแทบทุกเรื่อง!

5 ลักษณะพระเอก ในวรรณคดีไทย
ที่เห็นจนคุ้นตาแทบทุกเรื่อง!

 

สวัสดีค่ะน้องๆ ชาวเด็กดีทุกคน กลับมาพบกับพี่น้ำอีกครั้งแล้วนะคะ และคราวนี้พี่ก็จะมาชวนน้องๆ ไปท่องโลกวรรณคดี ในหัวข้อลักษณะพระเอกในวรรณคดีไทยที่คุ้นเคย เชื่อว่าพอพูดปุ๊บ หลายคนน่าจะนึกออกทันที ก็แหม… วรรณคดีไทยที่เราเคยอ่าน เคยเรียนกันมาเนี่ย ส่วนมากลักษณะพระเอกก็จะคล้ายๆ กัน วันนี้พี่น้ำเลยลองรวบรวมมาฝากกันค่ะ มาดูซิว่า สิ่งที่พี่คิดกับสิ่งที่น้องๆ คิดเนี่ยมันจะตรงกันบ้างไหม 
 


 

ลักษณะ 1 : มียศถาบรรดาศักดิ์ เป็นกษัตริย์ราชวงศ์ หรือสืบเชื้อสายมาจากเทพ เทวดา

อย่างแรกเลยที่พี่เห็นบ่อยแทบทุกเรื่องก็คือ พระเอกเป็นกษัตริย์ ราชวงศ์ ส่วนมากที่เคยอ่านมาเนี่ย ถ้ายกตัวอย่างมาสัก 5 เรื่อง อย่างน้อยต้องมีสัก 4 เรื่อง ที่พระเอกเข้าข่ายนี้ เสน่ห์ของวรรณคดีไทยอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ พี่ว่าคงจะเป็นเรื่องนี้นี่แหละค่ะ พระเอกในวรรณคดีของเราส่วนใหญ่ก็จะมียศถาบรรดาศักดิ์ประมาณนี้ ถ้าไม่เป็นกษัตริย์ หรือ เทพ ก็เป็นนักรบ ส่วนน้อยมากๆ ที่จะเป็นชาวบ้านธรรมดาๆ  

หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นกษัตริย์ก็ดี ได้ใช้ชีวิตสุขสบายอยู่ในวัง แต่ด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ที่ค้ำคอไว้ ก็ต้องตามมาด้วยภาระหน้าที่ ปกครองบ้านเมือง ออกศึกออกรบ หรือพระเอกบางคนเป็นกษัตริย์แต่ชีวิตก็อาภัพ ต้องระหกระเหินลำบากยากเข็ญ กว่าจะได้ใช้ชีวิตสุขสบายก็ต้องผ่านอุปสรรคมากมายเหลือเกิน  ไม่อย่างนั้นก็เป็นพระเอกไม่ได้สิจริงมั้ย...? 

ตัวอย่างพระเอกในวรรณคดีที่มียศถาบรรดาศักดิ์ที่พี่จะยกมาพูดถึงก็แทบทุกคนเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นอิเหนา ที่แม้จะแอบปลอมตัวเป็นโจรป่าปันหยี เพื่อพรางฐานะที่แท้จริง แต่สุดท้ายแล้วก็เชื้อชาติกษัตริย์ค่ะ ยังไงพระองค์ก็เป็นที่หนึ่ง ไม่ใช่แค่เป็นกษัตริย์แต่ยังสืบเชื้อสายมาจากเทวดาอีกด้วย นอกจากนี้ก็พระรามแห่งรามเกียรติ์ ที่สืบเชื้อสายมาจากเทวดา (พระนารายณ์) และยังเป็นราชวงศ์กษัตริย์อีกด้วย 


 

ลักษณะ 2 : รูปร่างหน้าตาหล่อเหลา 

ข้อนี้ก็คงปฏิเสธไม่ได้เลยล่ะค่ะ เพราะแต่ละเรื่องนั้นมีการพรรณนาลักษณะรูปร่างหน้าตาของพระเอกว่ารูปงาม หล่อเหลาซะเหลือเกิน ถามว่าแล้วพระเอกที่ขี้ริ้วขี้เหร่มีบ้างไหม มีค่ะ แต่น้อยมากๆ และถึงจะไม่หล่อในตอนแรก ตอนหลังก็หล่อขึ้นมาซะงั้น อย่างเช่น ท้าวแสนปมหรือพระชินเสน จากเรื่องท้าวแสนปม ที่พระชินเสนปลอมตัวเป็นชาวบ้านธรรมดา เอาสีมาทาตัวให้ดูเป็นตุ่มๆ ให้ดูอัปลักษณ์ เพื่อปกปิดตัวตนที่แท้จริงว่าตัวเองนั้นรูปงามเพียงใดและเป็นใครมาจากไหนเพื่อที่จะลองใจนางอุษา หรือจะเป็น พระสังข์ ในร่างเงาะป่าที่รูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์ บ้าใบ ตัวดำผมหยิก ใครเห็นก็นึกรังเกียจ พระสังข์ก็ไม่ยอมถอดรูปเงาะสักที แต่พอถอดรูปเงาะเท่านั้นแหละ โอ้โหช่างรูปงามเหลือเกิน ทีนี้ใครๆ ต่างก็ชื่นชมกันเลยทีเดียว เห็นไหมคะถึงแม้ว่าตอนแรกพระเอกจะแกล้งทำเป็นขี้ริ้วขี้เหร่ แต่สุดท้ายความจริงก็ยังคงความหล่อไว้อยู่ดี พระเอกขี้เหร่แบบจริงจังนี่หายากค่ะ

ซึ่งหลักๆ ที่พี่เห็นมานั้น ส่วนใหญ่จะประพันธ์บทให้พระเอก มีรูปร่างหน้าตาอันเป็นเสน่ห์ หญิงใดได้เห็นก็เป็นต้องหลงรัก อย่างเช่น พระลอ ในเรื่องลิลิตพระลอ ในบทเนี่ยพรรณนาถึงพระลอว่ารูปงามมาก มากถึงขนาดที่พระเพื่อนกับพระแพงหลงรูปซะจนนอนไม่หลับกระสับกระส่ายอยากได้พระลอมาครอบครองจนต้องทำเสน่ห์ใส่ แค่เพราะได้ยินกิตติศัพท์ความรูปงามของพระลอเท่านั้น ปกติเราจะเห็นแต่ผู้ชายทำเสน่ห์ใส่ผู้หญิงมาหลงรักใช่ไหมคะ แต่นี่ผู้หญิงทำใส่เองเลยจ้า และพระเอกในวรรณคดีไทยไม่ใช่แค่พระลอที่รูปงามนะคะ ยังมีอีกหลายคนมากๆ แทบทุกเรื่องเลยก็ว่าได้ หรือพระเอกบางคนที่ไม่ได้หล่อมากแต่มีข้อดีอื่นๆ ก็ยิ่งช่วยเสริมให้หล่อขึ้นนั่นเองค่ะ
 


 

ลักษณะ 3 : มีความกล้าหาญ เก่งกาจวิชา มีความสามารถในการต่อสู้

สำหรับข้อนี้นี่มาทุกเรื่องค่ะ จากที่เคยเห็นมาเราก็น่าจะคุ้นเคยกับเรื่องราวที่พระเอกนั้นต้องไปออกศึกสู้รบตีบ้านตีเมืองกับเมืองอื่นๆ อยู่เสมอ อย่างน้อยพระเอกก็ต้องเก่งสักอย่าง ถ้าไม่เก่งวิชาความรู้ ก็ต้องเก่งการต่อสู้ หรือบางคนก็เก่งทั้งสองอย่าง จะเป็นพระเอกในวรรณคดีได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แค่หน้าตาดีมีฐานะเป็นได้ก็จริง แต่ถ้ายิ่งมีความสามารถกล้าหาญด้วยยิ่งเพิ่มเสน่ห์เข้าไปใหญ่

จากที่พี่เห็นๆ มาโดยส่วนใหญ่พระเอกจะต้องมีการศึกษาเรียนรู้วิชาต่างๆ เพื่อนำมาใช้ปกครองบ้านเมือง นอกจากตำราวิชาก็ยังต้องมีความสามารถในการต่อสู้ หรือถ้าพระเอกเป็นชาวบ้านธรรมดาๆ ก็ต้องมีความกล้าหาญ มีฝีมือในการสู้รบ เพื่อช่วยปกป้องบ้านเมือง อย่างเช่น ขุนแผน ในเรื่องขุนช้างขุนแผน จากเดิมทีเป็นเพียงแค่ชาวบ้านธรรมดาไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ แต่ด้วยฝีมือการต่อสู้ที่เก่งกาจเมื่อไปออกศึกชนะกลับมาก็ได้ปูนบำเหน็จให้เป็น ขุนแผนแสนสะท้าน ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระกาญจนบุรี และพระยากาญจนบุรี เจ้าเมืองผู้ครองกาญจนบุรี ได้ดิบได้ดีเลยทีเดียว และไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ เทพ หรือนักรบ เราก็จะเห็นได้ว่าเหล่าพระเอกเนี่ยช่างมีความกล้าหาญชาญชัยเสียจริงๆ 
 


 

ลักษณะ 4 : มีคาถาวิชา มีพลังพิเศษ มีเวทมนตร์ต่างๆ ไม่เหมือนใคร 

พระเอกในวรรณคดีไทยนั้น นอกจากมีความกล้าหาญ ความสามารถแล้ว ที่ขาดไม่ได้เป็นของคู่กันก็น่าจะเป็น การมีคาถาวิชา มีพลังอำนาจวิเศษนี่แหละค่ะ ข้อนี้อาจจะไม่พบในพระเอกทุกเรื่อง แต่เชื่อว่าเราได้เห็นพระเอกที่มีความพิเศษนี้ในหลายเรื่องเหมือนกัน อย่างเช่น พระสังข์ ในเรื่องสังข์ทอง ที่มีมนต์มหาจินดาสามารถเรียกเนื้อเรียกปลาได้ ซึ่งเป็นมนต์ที่นางพันธุรัตได้เขียนทิ้งไว้ให้ก่อนนางจะสิ้นลม หรือจะเป็นขุนแผนที่มนต์คาถาอาคม มีวิชาไสยศาสตร์ต่างๆ แถมยังมีของวิเศษ 3 อย่าง คือ ดาบฟ้าฟื้น กุมารทอง และม้าสีหมอก  ไม่ใช่แค่สองคนนี้นะคะที่มีคาถาวิชา หรือพลังพิเศษ จริงๆ แล้วก็มีพระเอกอีกหลายคนเลยค่ะ  หรือบางคนก็มีพลังพิเศษติดตัวมาตั้งแต่เกิด

ส่วนใหญ่ที่พี่เห็นเนี่ยพระเอกของเราจะชอบไปเรียนวิชากับพระฤๅษีในป่า แล้วก็จะได้คาถาวิชาติดตัวมาด้วย เมื่อมีคาถาวิชา มีพลังพิเศษมันก็ยิ่งเสริมให้พระเอกของเราเนี่ยดูเก่งขึ้นไปอีก พี่คิดว่ามันเท่มากๆ เลยค่ะ มันดูแฟนตาซีดี เวลาอ่านก็ไม่เครียดอีกด้วย จินตนาการของวรรณดีไทยก็ไม่แพ้ชาติใดเลยแหละ
 


 

ลักษณะ 5 :  เจ้าชู้ หลายเมีย

“ชาติชายชาตรี ต้องมีสตรีข้างกาย” ข้อนี้ขาดไม่ได้แน่นอนในวรรณคดีไทย กับบทบาทพระเอกเจ้าชู้ มีหลายเมีย (เมียเดียวมันไม่พอ ขอสัก 2 3 4 จะได้ไหม) นอกจากกิตติศัพท์เรื่องความเก่งกาจสามารถของเหล่าพระเอกแล้วก็คงจะเป็นเรื่องความเจ้าชู้นี่แหละที่เป็นที่ล่ำลือกัน ทั้งเมียแต่ง เมียเล็กเมียน้อย ที่เห็นบ่อยๆ คือพระเอกไปตีเมืองไหนชนะก็ได้ลูกสาวเมืองนั้นเป็นเมียเสียทุกที หรือเจอสาวงามก็เกี้ยวพาราสีไปทั่ว อย่าว่าพี่ใส่ร้ายพระเอกเลยนะคะ ก็ส่วนมากเป็นแบบนี้จริงๆ นี่นา อย่างน้อยๆ พระเอกก็ต้องมีเมียสัก 2 คนขึ้นไปแหละ อย่างเช่น อิเหนา ที่มีเมียแต่งมากถึง 10 คน หรือ พระอภัยมณี ที่มีเมีย 5 คน ถ้าจะหาพระเอกที่รักเดียวใจดียว ไม่ยุ่งเกี่ยวกับหญิงอื่นก็มีค่ะ แต่ก็หายากเหมือนงมเข็มในมหาสมุทรเลยทีเดียว อย่างเช่น พระสุธน ที่รักและยอมทำทุกอย่างเพื่อนางกินรีเพียงคนเดียว ซึ่งอาจจะเป็น 1 ใน 10 บรรดาพระเอกเลยก็ว่าได้

ก็แหม… คุณสมบัติของพระเอกในวรรณคดีไทยใช่ย่อยซะที่ไหน ทั้งยศถาบรรดาศักดิ์ที่ยิ่งใหญ่ รูปร่างหน้าตาที่หล่อเหลา ทั้งยังเก่งกาจมีความสามารถอีกด้วย สาวไหนได้เห็นก็เป็นต้องชอบใจ แต่จะว่าพระเอกที่มีหลายเมียเป็นคนไม่ดีทั้งหมดก็ไม่ถูก เพราะความเจ้าชู้ของบางคนนั้นก็มีเหตุมีผล อาจจะแต่งเพื่อปรองดองบ้านเมือง หรือจำใจแต่งก็มี ในสมัยก่อนการมีหลายเมียก็ถือเป็นเรื่องปกติ การที่พระเอกมีหลายเมียจึงถือว่าเป็นเรื่องปกติทั่วไป
 

จบไปแล้วนะคะสำหรับ 5 ลักษณะพระเอก ในวรรณคดีไทย ที่เห็นจนคุ้นตาแทบทุกเรื่อง ที่พี่ได้นำมาฝากน้องๆ กันในวันนี้ อ่านแล้วเป็นอย่างไรกันบ้างคะ เห็นด้วยกับที่พี่พูดมาหรือเปล่า จริงๆ ก็อาจจะยังมีลักษณะอื่นๆ อีก แต่บทความนี้พี่ยกมาแค่ 5 ลักษณะหลักๆ ที่พี่พบเห็นบ่อยๆ จนคุ้นตา แต่ที่พี่รับไม่ได้ก็คงจะเป็นเรื่องความเจ้าชู้ของพระเอกนี่แหละค่ะ อ่านเรื่องไหนก็เจ้าชู้ตลอด ทำไมนะทำไม เกือบจะดีมาตลอดอยู่แล้วเชียวดันมีหลายเมียซะงั้น แต่ก็ต้องเข้าใจแหละค่ะว่าสมัยก่อนนั้นเรื่องผู้ชายมีหลายเมียก็คงเป็นเรื่องปกติ เราจึงได้เห็นพระเอกเจ้าชู้กันแทบทุกเรื่องนั่นเอง

แต่ถึงแม้ว่าเราจะเจอลักษณะพระเอกคล้ายๆ กันในหลายเรื่อง วรรณคดีไทยเหล่านั้นก็ยังคงเสน่ห์ไว้อย่างดี ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุค กี่สมัย กลับมาอ่านก็ยังคงความสนุกเช่นเคย ทั้งสำนวนภาษาที่ใช้พรรณนาอันไพเราะ ทั้งเนื้อเรื่องที่สนุกสนานอ่านแล้วเพลิดเพลิน วรรณคดีไทยเหล่านี้จึงยังไม่เลือนหายไปนี่แหละค่ะ สำหรับวันนี้พี่ก็ต้องลาไปก่อน ไว้คราวหน้าพี่จะนำเรื่องราวดีๆ มาฝากอีกนะคะ สวัสดีค่ะ
 

พี่น้ำ ^^

พี่น้ำ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

.... 3 ก.ย. 62 16:35 น. 1

พระเอกวรรณคดีไทยดูคล้ายๆกันแต่เรื่องศรีธนญชัยนี่ความคล้ายกับเรื่องอื่นๆคงน้อยสุดละครับ ความหัวหมอไอคิว200มาก

0
กำลังโหลด

1 ความคิดเห็น

.... 3 ก.ย. 62 16:35 น. 1

พระเอกวรรณคดีไทยดูคล้ายๆกันแต่เรื่องศรีธนญชัยนี่ความคล้ายกับเรื่องอื่นๆคงน้อยสุดละครับ ความหัวหมอไอคิว200มาก

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด