เติบโตจากความเกลียดชัง! กับ 3 ตัวละครที่บูลลี่ (Bully) จนตัวละครเอกได้ดี!

เติบโตจากความเกลียดชัง!
กับ 3 ตัวละครที่บูลลี่ (Bully)
จนตัวละครเอกได้ดี! 

สวัสดีค่ะชาวเด็กดีทุกคน ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาพี่ได้ไปเดินงานหนังสือฯ ที่จัดขึ้น ณ เมืองทองธานี แล้วได้ซื้อหนังสือเด็กเรื่องหนึ่งติดมือมาด้วย จำได้ว่าพี่รู้จัก “เด็กหญิงมาทิลดา” จากภาพยนตร์มาก่อน และเพิ่งเคยอ่านเรื่องราวของมาทิลดาผ่านตัวอักษรเป็นครั้งแรก เมื่ออ่านจบ พี่พบว่าตัวละครที่ติดค้างอยู่ในใจของพี่ คือ ครอบครัวของมาทิลดา และครูใหญ่ของเธอ หนังสือเด็กเรื่องนี้สื่อถึงสภาพแวดล้อมกับการเติบโตของเด็กได้ดีมากๆ จนทำให้พี่เกิดคำถามว่าในสภาพแวดล้อมที่ถูกข่มเหงรังแก เด็กคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้อย่างไร ซึ่งการกระทำของผู้ใหญ่ในเรื่อง ทำให้พี่นึกถึงตัวละครในวรรณกรรมเรื่องอื่นๆ ที่มีพฤติกรรมเดียวกันนี้ กลั่นแกล้งรังแกผู้อื่นให้รู้สึกด้อยกว่า โดยการทำร้าย หรือมีเจตนาร้ายไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งวรรณกรรมหลายเรื่องได้สอนตัวละครให้เติบโตผ่านความเกลียดชัง และการถูกกลั่นแกล้ง เป็นจำนวนมาก ฉะนั้น เรามาดูกันว่าตัวละครที่บูลลี่จนตัวเอกโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ มีใครที่เรารู้จักกันบ้าง

 

ครูใหญ่ทรั้นชบูล จาก มาทิลดา ของโรอัลด์ ดาห์ล

ต้องเกริ่นก่อนว่าโรอัลด์ ดาห์ล (Roald Dahl) เป็นนักเขียนหนังสือเด็กที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักอ่านวัยเยาว์จำนวนมาก แม้ผลงานของเขาจะมีบางมุมที่ค่อนข้างดาร์กและเกินวัยของเด็กไปบ้าง แต่หากใครได้อ่านหนังสือของเขา จะเห็นว่าข้อคิดและแรงบันดาลใจส่วนใหญ่ สอนให้เด็กมีความกล้าหาญ ไม่ถูกครอบงำจากความคิดของผู้ใหญ่ และต้องกล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง เช่น หนังสือเด็กเรื่อง มาทิลดา เด็กหญิงเป็นคนที่รักการอ่าน กล้าหาญ และเป็นตัวของตัวเองเสมอ แม้สภาพแวดล้อมภายในครอบครัวจะประกอบไปด้วยพ่อที่บูชาเงิน แม่ที่ไม่สนใจความเป็นอยู่ของลูก และพี่ชายที่ไม่เคยเหลียวแลเธอเลย แต่เพราะความที่มาทิลดาชอบอ่านหนังสือ ทำให้เป็นคนช่างคิดช่างสังเกต เมื่อเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นมา เธอจึงรับมือกับปัญหาเหล่านั้นได้ดี แม้จะมีบางครั้งที่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาจนเกิดข้อถกเถียงในภายหลังว่าหนังสือเล่มนี้ไม่น่าจะเหมาะกับเด็ก และเป็นการส่งเสริมการใช้ความรุนแรงอีกด้วย แต่ความสนุกและแง่คิดต่างๆ ที่นักเขียนสอดแทรกเอาไว้ ทำให้มาทิลดาเป็นตัวแทนของเด็กที่กล้าเป็นตัวของตัวเอง และรักษาความเป็นเด็กที่กล้าทำในสิ่งที่อยากทำโดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้ใหญ่ได้เป็นอย่างดี 

โดยตัวละคร “ครูใหญ่ทรั้นชบูล (Miss Trunchbull)” ถือเป็นตัวละครที่โรอัลด์ ดาห์ลสร้างขึ้นมาเพื่อสื่อภาพของผู้ใหญ่ที่ครอบงำเด็ก และต้องการให้เด็กเป็นไปตามระเบียบแบบแผนได้ดีมากๆ ครูใหญ่ทรั้นชบูล เป็นอาจารย์ใหญ่ผู้หญิงที่น่าเกรงขามของโรงเรียนประถม Crunchem Hall ที่มาทิลดาและเพื่อนๆ ของเธอเรียนอยู่ เธอเป็นครูที่ค่อนข้างถือตัว และต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่เธอคิด เธอไม่ชอบเด็กๆ (ทั้งที่เป็นครูใหญ่ของโรงเรียนประถม) และใช้ความเกลียดชังที่มีทรมานเด็กนักเรียนในปกครองทั้งทางร่างกาย และจิตใจ (ครูใหญ่ทรั้นชบูลมีห้องทรมานในห้องทำงานของเธอด้วย) จะเห็นว่าการเติบโตของเด็กคนหนึ่งนั้นสำคัญมาก การถูกข่มแหงรังแกจากคนที่มีอำนาจมากกว่า ทั้งในครอบครัว และในโรงเรียน เป็นสถานการณ์ที่หล่อหลอมให้เด็กโตมาอย่างกดดัน และไม่เป็นตัวของตัวเองได้ ดังนั้น แม้จะเกริ่นถึงเด็กหญิงมาทิลดามากกว่าครูใหญ่ทรั้นชบูล แต่ตัวละครครูใหญ่ ถือเป็นตัวละครที่แสดงพฤติกรรมกลั่นแกล้งผู้อื่นได้อย่างชัดเจนที่สุด 

 

คุณครูมินชิน จาก เจ้าหญิงน้อย ของ ฟรานเซส ฮอดจ์สัน เบอร์เนต

หนังสือเด็กเรื่องเจ้าหญิงน้อย (A Little Princess) เป็นวรรณกรรมที่อ่านมานานมากแล้ว และมีตัวละครที่กลั่นแกล้งเด็กหญิงซาร่า ครูว์ เป็นคุณครูคล้ายเรื่องมาทิลดาที่ได้เล่าไปก่อนหน้านี้ โดยตัวเอกของเจ้าหญิงน้อย เป็นเด็กหญิงจิตใจดีที่เติบโตมาจากครอบครัวเศรษฐี ทำให้ชีวิตที่เติบโตมาค่อนข้างสุขสบาย เป็นคนหนูที่มีแต่คนตามใจ และดูแลเอาใจใส่ไม่เคยขาดตกบกพร่องราวกับเจ้าหญิง ทว่าโชคชะตาชีวิตคนเรานั้นไม่แน่นอน เมื่อพ่อของเด็กหญิงซาร่าเสียชีวิตระหว่างที่เธอกำลังเรียนอยู่โรงเรียนประจำในประเทศอังกฤษ ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไป คุณครูมินชิน ( Miss Minchin) ที่เคยดูแลซาร่าอย่างดี แท้จริงกลับสนใจเพียงภาพลักษณ์และชื่อเสียงเงินทองเท่านั้น เมื่อพบว่าครอบครัวของซาร่าตกต่ำ จึงกดขี่ข่มเหง รังแกซาร่าสารพัด ซึ่งการกระทำของครูมินชินแม้จะไม่ได้กล่าวถึงต้นสายปลายเหตุของการกระทำเท่าที่ควร แต่ทุกคนนั้นล้วนมีปมในใจที่แฝงมากับการเติบโต ซึ่งการกระทำของครูมินชินไม่ได้ทำให้เด็กสาวโกรธเคืองแต่อย่างใด ซาร่าสามารถใช้ชีวิตต่อไปด้วยการมองโลกในแง่ดี และใช้ชีวิตอยู่ด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่งเธอจะได้กลับไปเป็นเจ้าหญิงดังเดิม เธอเป็นตัวละครที่สอนให้เราเข้มแข็งแม้ว่าเราจะอยู่ในสถานการณ์ที่โหดร้ายก็ตาม 

 

เดรโก มัลฟอย จากแฮร์รี่ พอตเตอร์ ของ เจ.เค.โรว์ลิ่ง

จริงๆ เดรโก มัลฟอย (Draco Malfoy) ไม่ได้เป็นคนร้ายกาจ และเขามีหัวใจที่ยิ่งใหญ่มากๆ เลยค่ะ ในแฮร์รี่ พอตเตอร์ แม้เขาจะชอบพูดถึงเรื่องชนชั้นวรรณะ ระหว่างสายเลือดบริสุทธิ์ และเลือดสีโคลนในฮอกวอตส์ หลงใหลการเป็นสายเลือดบริสุทธิ์มากกว่าคุณสมบัติที่ดีของตัวละครอื่นๆ จนทำให้เกิดความขัดแย้ง และสร้างบรรยากาศอันตึงเครียดตลอดทั้งเรื่อง แต่ตัวตนที่แท้จริงของเดรโก มัลฟอยนั้น เขาเริ่มจากเด็กที่เคยเป็นผ้าขาวมาก่อนเหมือนเด็กทุกคน และถูกย้อมให้เป็นสีดำจากความคิด และความเชื่อของตระกูลที่เกลียดชังคนที่มีสายเลือดผสม ทำให้ตัวตนของเดรโกถูกครอบงำโดยผู้ใหญ่ และใช้อำนาจ กับวาจาที่แสนโหดร้ายขว้างใส่พวกเลือดผสมโดยไม่รู้สึกผิด ซึ่งแฮร์รี่ พอตเตอร์ คือหนึ่งในคนที่ได้รับการดูถูกจากเดรโกมากที่สุด พวกเขาสองคนเหมือนผู้เข้าแข่งขันที่กำลังพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าระหว่างสายเลือดบริสุทธิ์ กับเลือดสีโคลน ไม่สามารถเทียบเทียมกันได้ โดยฝ่ายเดรโกคือ ฝ่ายสายเลือดบริสุทธิ์ที่ต้องคงอำนาจและความหยิ่งทรนงเอาไว้ให้ได้ ขณะที่แฮร์รี่ คือ ฝ่ายเลือดผสมที่ต้องพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าพวกเขามีความสามารถ และเท่าเทียมกับทุกชนชั้น ซึ่งเดรโกถือเป็นหนึ่งในคนที่ผลักดันให้แฮร์รี่โตขึ้น และไม่ยอมถูกข่มเหงรังแกจากพวกพ้องของเดรโก และคนอื่นๆ ที่ไม่ยอมรับสายเลือดผสมอีกต่อไป 

 

นอกจากนี้ยังมีตัวละครอื่นๆ อีกมากที่ถูกกลั่นแกล้ง อาทิ ออกัสต์ พูลแมน จากวันเดอร์ ที่ถูกเพื่อนๆ ในโรงเรียน และผู้ใหญ่รอบข้างตัดสินจากรูปลักษณ์ภายนอก และกลั่นแกล้งจนสร้างบาดแผลในใจให้เด็กชาย แต่ด้วยครอบครัวที่รักและคอยเคียงข้าง ทำให้ออกัสต์เติบโตขึ้นมาพร้อมความคิดที่ดี เรียนรู้และเข้าใจผู้อื่น ไม่เก็บความโหดร้ายจากผู้อื่นมาทำให้ชีวิตก้าวต่อไปข้างหน้าไม่ได้ และยังมีตัวละครเจ้าหญิงต่างๆ ที่ถูกกลั่นแกล้งสารพัดก่อนจะเจอเจ้าชาย รวมถึงตัวละครจากแฮร์รี่ พอตเตอร์อีกหลายคน เช่น เซเวอรัส สเนป ที่ถูกเจมส์ พอตเตอร์กลั่นแกล้งในอดีต และเมื่อเขาโตขึ้นกลับกลั่นแกล้งผู้อื่น..
 

……….

แม้ว่าเราจะเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราทุกคนเลือกที่จะกระทำได้นะคะ จากตัวอย่างที่ยกมา พี่อยากบอกว่าไม่ใช่ทุกคนที่เติบโต และเข้มแข็งขึ้นมาได้จากสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย และความเกลียดชังของผู้อื่น ยังมีอีกหลายๆ คนที่ต้องจมและทนทุกข์กับบาดแผลที่ผู้อื่นสร้างไว้ ทั้งทางร่างกาย และทางวาจาอีกมาก ฉะนั้น เหตุที่วรรณกรรมหลายๆ เรื่อง เลือกให้ตัวเอกเติบโตจากความโหดร้าย สิ่งหนึ่งที่นักเขียนต้องการสื่อให้นักอ่านได้ขบคิดกัน ก็คือ ชีวิตเราเลือกได้ว่าจะยอมแพ้ต่อโชคชะตา หรือสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่าเดิม และเหตุที่ตัวร้ายต้องกระทำการข่มเหงรังแกผู้อื่นนั้น หากสังเกตจะเห็นว่าสภาพแวดล้อมการเติบโต มีผลต่อการแสดงพฤติกรรมต่อผู้อื่น ดังนั้น ทุกอย่างล้วนมีเหตุและผลในตัวของมันเสมอค่ะ แล้วนักอ่านชาวเด็กดีล่ะคะ มีตัวละครในวรรณกรรมที่บูลลี่จนตัวเอกพัฒนาตัวเองเก่งขึ้นอยู่ในใจบ้างไหม ใครอยากแชร์ตัวละครให้คนอื่นๆ ได้รู้จัก สามารถคอมเมนต์ไว้ได้เลยนะคะ อย่างน้อยพี่นี่แหละคนหนึ่งที่จะตามมาอ่าน แล้วเจอกันใหม่ค่ะ ^^

พี่แนนนี่เพน

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก

https://www.roalddahl.com/roald-dahl/stories/k-o/matilda
https://en.wikipedia.org/wiki/Roald_Dahl#Writing https://villains.fandom.com/wiki/Miss_Minchin
https://harrypotter.fandom.com/wiki/Draco_Malfoy
https://villains.fandom.com/wiki/Marion_Hawthorne 

Deep Sound แสดงความรู้สึก

พี่แนนนี่เพน
พี่แนนนี่เพน - Columnist สาวเหนือที่มีความสุขกับการเขียนนิยาย และเชื่อว่านิยายให้อะไรดีๆ กับสังคมเสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น