4 วรรณกรรมคน “ติดเกาะ” ที่จะพาเราเคว้งคว้างเหมือนดูซีรีส์ “เคว้ง” จาก Netflix


4 วรรณกรรมคน “ติดเกาะ” ที่จะพาเราเคว้งคว้าง
เหมือนดูซีรีส์ “เคว้ง” จาก Netflix
 

สวัสดีค่ะ ชาวเด็กดีทุกคน เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทาง Netflix ได้ปล่อยออริจินอลคอนเทนต์เรื่องแรกของไทย ด้วยการประเดิมซีรีส์เรื่อง “เคว้ง (The Stranded)” ให้ได้รับชมกันอย่างจุใจไปแล้วในซีซันแรกถึง 7 ตอนเลยทีเดียว ซึ่งหลังจากที่พี่ได้ดูซีรีส์เรื่องนี้จนจบซีซัน บอกเลยว่าเคว้งคว้างสมชื่อซีรีส์จริงๆ ค่ะ เพราะนอกจากปมปริศนา ความลึกลับต่างๆ ที่ยังเผยออกมาไม่หมดแล้ว ยังมีความ เอ๊ะ! สงสัยในตัวละครวัยรุ่นเหล่านี้ว่าพวกเขาจะใช้ชีวิตบนเกาะร้างแห่งนี้ต่อไปได้อย่างไร เมื่อสถานการณ์ความกดดันต่างๆ ล้วนบังคับให้พวกเขาก้าวออกจากความไร้เดียงสา และใช้สัญชาตญาณความเป็นมนุษย์เอาชีวิตรอดบนเกาะร้างแห่งนี้ให้ได้ 

นอกจากนี้ อีกหนึ่งความน่าสนใจของซีรีส์เคว้งอยู่ที่พล็อตการ “ติดเกาะ” นี่แหละค่ะ แม้จะดูเป็นพล็อตที่พบเจอได้ในวรรณกรรมหลายๆ เรื่อง แต่พล็อตที่ตีคู่มากับการติดเกาะก็คือ การเอาตัวรอดหลังเกิดเหตุการณ์โลกาวินาศต่างหาก ที่ทำให้พล็อตติดเกาะ กลายเป็นพล็อตที่เผย “สัญชาตญาณดิบของมนุษย์” ได้ดีที่สุด ซึ่งใครที่ชอบวรรณกรรมแนวไซไฟ หรือวรรณกรรมเยาวชน (Young Adult) อยู่แล้ว คาดว่าซีรีส์เรื่องนี้น่าจะตอบโจทย์ได้ดีในระดับหนึ่ง แต่หากใครไม่ใช่สายดูหนังดูซีรีส์ แต่ชื่นชอบการอ่านมากกว่า พี่แนนนี่เพนก็ขอเอาใจคนที่ชื่นชอบพล็อตแนวนี้ ด้วยวรรณกรรมชื่อดังทั้ง 4 เรื่องนี้เลยค่ะ รับรองได้เลยว่าทุกเรื่องที่นำมาแนะนำจะพาเราเคว้งคว้างเหมือนดูซีรีส์เรื่องเคว้งแน่นอน! 
 

เคว้ง : เมื่อวัยรุ่นต้องรีบโตเป็นผู้ใหญ่ (ไม่สปอยล์แน่นอน)

ก่อนจะพาไปเคว้งคว้างกับวรรณกรรมทั้ง 4 เรื่อง ขอเล่าเรื่องย่อของซีรีส์เคว้งให้ได้รู้จักกันสักหน่อย  “เคว้ง (The Stranded)” คือ ซีรีส์ที่เล่าถึงความเคว้งคว้างของเด็กนักเรียนวัยมัธยมปลายกว่า 30 คน ของโรงเรียนเอกชนบนเกาะปินตู ที่รอดชีวิตหลังสึนามิพัดถล่มจนกลายเป็นเกาะร้าง เรื่องราวต่อจากนี้ คือการเอาชีวิตของเด็กวัยรุ่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนมีฐานะทางบ้านที่ดี ทำให้เรารู้สึกเหมือนคุณหนูที่ทำอะไรไม่เป็นแล้วต้องมาติดอยู่บนเกาะร้าง ต้องหาทางเอาชีวิตรอดออกจากเกาะที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกไปให้ได้ ซึ่งจากทั้ง 7 ตอนในซีซันแรกนั้น ทำให้เรารู้สึกเคว้งคว้างจริงๆ ค่ะ ด้วยตัวละครจำนวนมากทำให้เราอาจจะโฟกัสปมบางอย่างพลาดไป แต่ที่ชัดเจนในความรู้สึกมากที่สุด ก็คือ การเติบโตของตัวละคร ค่ะ การเป็นวัยรุ่นในสถานการณ์วิกฤติทำให้เราได้เห็นปมความเจ็บปวดของวัยรุ่น ทั้งความไร้เดียงสา ความรัก เพศ และการตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ ทุกคนล้วนเติบโตจากความเจ็บปวด และถูกบังคับให้เป็นผู้ใหญ่เร็วขึ้น โดยมีชีวิตเป็นเดิมพัน ความเคว้งคว้างของวัยรุ่นในซีรีส์จึงเป็นความเคว้งคว้างของคนที่กำลังสับสน ขาดสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ไร้จุดหมายปลายทางที่ชัดเจนนั่นเอง 


Clip

เคว้ง (The Stranded) ตัวอย่างซีรีส์

4 วรรณกรรมที่เผยสัญชาตญาณดิบของมนุษย์เมื่อต้อง “เคว้ง” บนเกาะร้าง! 

เมื่อซีรีส์เคว้งพาเราไปรู้จักวัยรุ่นติดเกาะกันแล้ว พี่ก็ขอพาทุกคนไปรู้จักวรรณกรรมคนติดเกาะที่ทำให้เรารู้สึกเคว้งคว้างกันบ้าง เพราะเมื่อมนุษย์ถูกแยกออกจากสังคม แน่นอนว่าต้องถูกธรรมชาติที่แท้จริง หรือสัญชาตญาณดิบของมนุษย์ บังคับให้ต่อสู้เพื่อเอาชีวิตจากภัยคุกคามต่างๆ อยู่แล้ว เรามาดูกันว่า มีวรรณกรรมเรื่องไหนบ้างที่พาคนไปติดเกาะ และทำให้เรารู้สึกเคว้งคว้างตามบ้าง มาดูกันเลย! 

1. The Tempest 

เชื่อกันว่าบทละครเรื่อง The Tempest ที่เขียนโดย วิลเลียม เชคสเปียร์ เขียนขึ้นราวๆ ปี ค.ศ.1610 - 1611 เชคสเปียร์เล่าถึงเรื่องราวของพรอสเพโร อดีตดยุกแห่งมิลาน ที่ถูกเนรเทศให้ไปอยู่บนเกาะร้างพร้อมมิแรนด้าผู้เป็นลูกสาว หลังใช้ชีวิตบนเกาะร้างได้ช่วงหนึ่ง พรอสเพโรทราบข่าวว่าน้องชายและกษัตริย์แห่งเนเปิลส์ ที่ร่วมมือกันวางแผนโค่นล้มอำนาจจากเขา มีเส้นทางเดินเรือผ่านเกาะร้างที่ตนถูกเนรเทศมาอยู่ ด้วยความคับแค้นใจที่ถูกแย่งชิงอำนาจจากน้องชาย และต้องถูกเนรเทศมาอยู่บนเกาะที่หากไกลจากบ้านเกิดเมืองนอน พรอสเพโรจึงวางแผนให้ภูติรับใช้ผู้มีเวทมนตร์ ทำให้เกิดพายุขณะเรือแล่นผ่านเกาะ จนเรือของน้องชายและกษัตริย์แห่งเนเปิลส์แตก และลอยมาติดที่เกาะแห่งนี้ พรอสเพโรจึงใช้ช่วงเวลานี้กลั่นแกล้งคนทั้งคู่อย่างเจ็บแสบ 

เรื่องราวหลังจากนั้นไม่ได้จบด้วยโศกนาฏกรรมแต่อย่างใดค่ะ กลับเป็นบทละครที่จบด้วยสุขนาฏกรรมได้อย่างน่าสนใจ แม้ The Tempest จะดูแฟนตาซีเวทมนตร์เหนือจริงไปบ้าง แต่ความรู้สึกของการสูญเสียอำนาจ และรอคอยการแก้แค้นนั้น ทำให้รู้สึกว่าหากเราเป็นคนที่ติดเกาะแทนพรอสเพโร เมื่อมีโอกาสแก้แค้นคนที่ทำให้เราทุกข์เราจะยินดีให้อภัยได้ง่ายๆ ไหม หากเรือของศัตรูไม่เคยแล่นผ่านเลย พรอสเพโรคงได้เคว้งคว้างอยู่บนเกาะไปตลอดชีวิตแน่เลย นี่จึงเป็นเรื่องราวของการติดเกาะ ที่มีอำนาจ การแก้แค้น สายสัมพันธ์พี่น้อง และความรัก เป็นองค์ประกอบของเรื่อง ซึ่งตอนนั้นบทละครเรื่องนี้ยังไม่ได้รับความนิยมเป็นพิเศษ แต่ในเวลาต่อมา The Tempest กลับกลายเป็นหนึ่งในผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเชคสเปียร์ ด้วยเรื่องเล่าที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเรื่องราวในประวัติศาสตร์นับไม่ถ้วน  
 

2. Robinson Crusoe 

หนึ่งในวรรณกรรมที่เป็นที่เป็นที่รู้จักดีที่สุดหากพูดถึงเรื่องการติดเกาะ คงหนีไม่พ้นเรื่อง “โรบินสัน ครูโซ (Robinson Crusoe)” วรรณกรรมเรื่องแรกของอังกฤษ ผลงานของ ดาเนียล เดโฟ (Daniel Defoe) ที่ว่ากันว่ามีต้นแบบตัวละครรวมถึงเนื้อเรื่องมาจากอเล็กซานเดอร์ เซลเคิร์ก (Alexander Selkirk) นักล่องเรือชาวสกอตที่ติดเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกนานถึง 4 ปี ก่อนจะได้รับการช่วยเหลือ 

เรื่องราวของโรบินสัน ครูโซจึงเป็นเรื่องราวกึ่งอัตชีวประวัติ ที่เล่าถึงการผจญภัยของชายหนุ่มชนชั้นกลางชาวอังกฤษคนหนึ่ง ที่อยากหาความตื่นเต้นในชีวิตด้วยการออกไปล่องเรือในทะเลท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของคนครอบครัว กระทั่งวันหนึ่งเรือที่ครูโซโดยสารไปเกิดอับปางลง เขารอดชีวิตและพักอาศัยอยู่บนเกาะแห่งหนึ่ง ครูโซต้องเผชิญหน้ากับการคุกคาม ทั้งจากธรรมชาติ สัตว์ และมนุษย์กินคนที่อยู่บนเกาะ เขาต้องต่อสู้และเอาตัวรอดไปแบบวันต่อวัน ก่อนที่จะรอดชีวิตออกมาได้ วรรณกรรมเรื่องโรบินสัน ครูโซ จึงเป็นราวกับไดอารี่การเอาชีวิตรอดที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้นของการผจญภัย และเต็มไปด้วยวความหวาดกลัวของมนุษย์ เพราะนอกจากจะต้องสู้กับภัยอันตรายรอบๆ ตัวแล้ว ยังต้องต่อสู้กับความกลัวภายในจิตใจของตัวเองอีกด้วย ความเคว้งคว้างของเรื่องนี้จึงเป็นจุดหมายปลายทางที่ไม่แน่นอน ไม่รู้ว่าต้องต่อสู้ไปถึงเมื่อไหร่ ราวกับคนที่มีชีวิตรอดวันต่อวัน หากวันนี้รอด แล้วพรุ่งนี้ล่ะจะเป็นอย่างไร...
 

3. Lord of the Flies 

วรรณกรรมของ William Golding เรื่อง Lord of the Flies เล่าถึงกลุ่มนักเรียนชาวอังกฤษที่ติดอยู่บนเกาะหลังจากเครื่องบินตก และไม่มีผู้ใหญ่รอดชีวิตจากการระเบิดเลยสักคน ทำให้กลุ่มเด็กชายชาวอังกฤษที่มีตั้งแต่ตัวเล็กๆ ที่คอยเอาแต่ร้องไห้ และอายุมากสุดไม่น่าจะเกิน 12 ปี จำเป็นต้องใช้ชีวิตบนเกาะร้าง และสร้างสังคมของตนเองบนเกาะขึ้นมาใหม่ โดยสถานการณ์ที่ทำให้เกิดภัยพิบัติในวรรณกรรม ทำให้เราได้เห็นการจำลองสังคมของผู้ใหญ่ผ่านเด็ก ซึ่ง Lord of the Flies คล้ายซีรีส์เรื่องเคว้งตรงที่มีการจัดสรรอำนาจ และการแสดงออกซึ่งความเป็นผู้นำของเด็กแต่ละคน การต้องสร้างระบบระเบียบและโครงสร้างทางสังคมขึ้นมาใหม่ ทำให้เราได้สำรวจพฤติกรรมและสัญชาตญาณของเด็ก ผ่านการเลียนแบบ จดจำ และเรียนรู้การใช้อำนาจผ่านการกระทำของผู้ใหญ่ ที่แสดงให้เห็นว่าเด็กๆ สามารถเติบโตผ่านความเคว้งคว้างไร้จุดหมายได้อย่างไร 
 

4. The Life of Pi 

หากพูดถึงวรรณกรรมเรื่องนี้น่าจะไม่มีใครไม่รู้จัก The Life of Pi ของ Yann Martel เป็นความเคว้งคว้างที่ชวนให้อึดอัด และเต็มไปด้วยความสิ้นหวังของจริง เราเห็นการต่อสู้ดิ้นรนของพายหลังจากเขารอดชีวิตจากเหตุการณ์เรืออับปาง และต้องล่องเรือชูชีพอยู่กลางท้องทะเลพร้อมเสือโคร่งเบงกอล ม้าลาย และลิงอุรังอุตัง เรื่องราวการเอาชีวิตรอดบนท้องทะเลว่ายากแล้ว การต้องแย่งชิงอาหารจากเสือที่เป็นสัตว์ดุร้ายนั้นยากยิ่งกว่า เราเห็นการต่อสู้ของเด็กชายกับเสือ และการเอาตัวรอดท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันเวิ้งว้าง ที่เงียบสงบราวกับรอโจมตีด้วยพายุลูกใหญ่ นอกจากนี้ยังมีเกาะแฟนตาซีที่พายเข้าไปผจญภัยก่อนหนีออกมาเพราะความน่ากลัวของสิ่งมีชีวิตบนเกาะ ซึ่งแม้พายจะติดเกาะเพียงแค่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่ก็ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความหวัง ที่เราทุกคนต่างหวังว่าชีวิตของพายต่อจากนี้จะดีขึ้น ไม่เคว้งคว้างอีกต่อไป แต่เรื่องราวก็ยังดึงเราให้กลับมารู้สึกไร้จุดหมายอีกครั้ง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า 
 

……….

ถึงแม้ว่าวรรณกรรมทั้ง 4 เรื่องที่นำมาเล่าสู่กันฟังในบทความนี้ หลายๆ เรื่องจะดูเคว้งคว้างเพียงชั่วครู่ชั่วคราว แต่พี่กลับชอบเรื่องราวการติดเกาะเหล่านี้มากๆ เพราะมันเต็มไปด้วยเรื่องราวของฟ้าหลังฝน ความหวัง และการต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ตัวละครทุกตัวไม่ได้ยอมแพ้ต่อความยากลำบาก ทุกคนล้วนมีแนวทางที่ต้องก้าวเดิน ซึ่งพี่รู้สึกว่าการได้อ่านเรื่องราวเหล่านี้ ทำให้เรามีพลังในการใช้ชีวิต และเห็นสัญชาตญาณของมนุษย์ในการแก้ปัญหาต่างๆ หวังว่าวรรณกรรมทั้ง 4 เรื่องนี้จะถูกใจนักอ่านชาวเด็กดีทุกคนนะคะ ใครมีวรรณกรรมเรื่องอื่นๆ แนะนำ คอมเมนต์ไว้ได้เลย จะตามไปอ่านแน่นอน 

พี่แนนนี่เพน

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก 
https://www.theguardian.com/culture/2010/apr/25/castaway-books-crusoe-road-christie 
https://www.bookbrowse.com/mag/btb/index.cfm/book_number/2706/the-lifeboat
https://en.wikipedia.org/wiki/The_Tempest
https://en.wikipedia.org/wiki/Life_of_Pi
https://en.wikipedia.org/wiki/Robinson_Crusoe
https://en.wikipedia.org/wiki/Lord_of_the_Flies

พี่แนนนี่เพน
พี่แนนนี่เพน - Columnist สาวเหนือที่มีความสุขกับการเขียนนิยาย และเชื่อว่านิยายให้อะไรดีๆ กับสังคมเสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด