ปีเตอร์ แพน หนังสือเด็กที่พูดถึงความฝัน ทฤษฎีแห่งจิต และพัฒนาการของมนุษย์

ปีเตอร์ แพน
หนังสือเด็กที่พูดถึงความฝัน ทฤษฎีแห่งจิต และพัฒนาการของมนุษย์
 
ตอนยังเด็ก ปีเตอร์แพนเป็นหนึ่งในหนังสือที่แอดมินหยิบมาอ่านบ่อยที่สุด เหตุผลที่ชอบหลักๆ เลยก็เพราะ “อยากบินได้” ใช่แล้วค่ะ ชัดๆ เลย แอดมินอยากบินได้ และเชื่อว่าน่าจะมีเด็กหลายๆ คนที่คิดคล้ายๆ กัน เสน่ห์ของปีเตอร์แพนคือมีสิ่งที่เป็นจุดอ่อนของเด็กๆ นั่นคือ กลัวความตาย, ไม่อยากโต, อยากบินได้, อยากผจญภัย และนั่นแหละ ทำให้คนอ่านอย่างเราประทับใจ ทว่านอกจากเรื่องราวแฟนตาซีที่อ่านสนุกแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ นักประสาทจิตวิทยาได้ค้นพบว่า มีความจริงอันน่าทึ่งซ่อนอยู่หลังวรรณกรรมเรื่องนี้
 
นักประสาทจิตวิทยา โรซาลินด์ ริดเลย์ พบว่าท่ามกลางการผจญภัยอันน่าตื่นเต้นของปีเตอร์แพนนั้น เจ. เอ็ม. แบร์รี่ นักเขียนได้ซุกซ่อนเบื้องหลังของจิตใจมนุษย์เอาไว้ด้วย และสิ่งนั้นสำคัญต่อพัฒนาการสมัยพวกเรายังเป็นเด็ก การศึกษาพบความพิเศษเกี่ยวกับความทรงจำของมนุษย์ การนอนหลับและความฝัน และปริศนาของสติ ริดเลย์เชื่อว่าการผจญภัยของปีเตอร์แพนนั้นตรงกับทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์หลายๆ อย่าง ซึ่งสมัยที่ผลงานเรื่องนี้ตีพิมพ์ ยังไม่มีการค้นพบหรือเผยแพร่ จนกระทั่งต่อมาในปี ค.ศ. 1970 น่ะแหละ จึงเริ่มมีงานวิจัยและการศึกษาเหล่านี้เผยแพร่ต่อเนื่องมาเรื่อยๆ
 
เมื่อพิจารณาจากชีวิตของนักเขียน เราพบว่ามันส่งผลกระทบต่องานเขียนในหลายๆ อย่าง นักเขียนใช้เวลาหลายปีกว่าจะตกผลึกและเขียนงานออกมา เชื่อกันว่าแบร์รี่คิดพล็อตปีเตอร์แพนได้ตั้งแต่เจ้าตัวยังเป็นเด็กด้วยซ้ำ ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นเมื่อเขาได้รู้จักครอบครัวเดวี่ส์ ตัวละครต่างๆ ออกสู่สาธารณชนในปี ค.ศ. 1902 ในหนังสือเรื่อง The Little White Bird ก่อนจะกลายเป็นผลงานนิยายเรื่องราวที่ชื่อว่า ปีเตอร์และเวนดี้ ตีพิมพ์ในปี  ค.ศ. 1911 ซึ่งเป็นจุดที่แบร์รี่กลายเป็นนักเขียนเต็มตัว เป็นที่รู้จักและมีแต่คนพูดถึง แบร์รี่ได้รู้จักกับวิลเลี่ยม เจมส์ นักจิตวิทยาคนดังชาวอเมริกันผ่านทางพี่ชายที่เป็นนักเขียนเหมือนกัน ด้วยความสัมพันธ์นี้ อาจทำให้เขาได้นำพล็อตหรือแนวคิดต่างๆ มาพูดคุยแบ่งปันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จนกระทั่งพัฒนาจินตนาการและนำไปสู่ผลงานที่เต็มไปด้วยเนื้อหาน่าสนใจของเขาในเวลาต่อมา
 
ผลงานของแบร์รี่นั้นมีสัดส่วนของศิลปะและวิทยาศาสตร์ที่พอดิบพอดี เหมือนเรื่อง Water Babies ของชาร์ลส์ คิงเลย์ส ที่เขียนจากแรงบันดาลใจทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน หรืออลิซผจญภัยในแดนมหัศจรรย์ของลูอิส แครอลล์ ที่เต็มไปด้วยทฤษฎีและเหตุผลทางคณิตศาสตร์ เช่นเดียวกับเทพนิยายหลายเรื่องของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน ที่ได้แรงบันดาลใจจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่สำหรับแบร์รี่นั้น ริดเลย์บอกว่าพิเศษตรงที่เจ้าตัวไม่ได้ไปขอยืมไอเดียมาจากใครเลย แต่ได้สร้างใหม่ด้วยตัวเอง ริดเลย์เชื่อว่าไอเดียที่แบร์รี่ใช้เขียนเรื่องนั้นเกิดจาก “การสังเกตผู้คน สัตว์ต่างๆ และตัวของเขาเอง”
 

 
การทำงานของระบบความทรงจำ - - เมื่อใกล้หลับ เราอาจไปถึงเนเวอร์แลนด์ไม่รู้ตัว
ตอนเริ่มต้นการผจญภัยของปีเตอร์และเว็นดี้ นักเขียนเล่าเรื่องไว้ดังนี้ “คุณนายดาร์ลิ่งได้ยินเรื่องของปีเตอร์ครั้งแรกตอนที่เธอจัดระเบียบจิตใจของลูกๆ เหมือนเช่นที่แม่ที่ดีทำเป็นประจำในช่วงที่ลูกๆ เข้านอน เพื่อให้ทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง และในวันต่อมาเมื่อเราตื่นขึ้น ความวุ่นวายหรือความรู้สึกเลวร้ายจะได้เล็กลง และถูกเก็บไว้ที่เบื้องลึกของจิตใจ และภายนอกจะเต็มไปด้วยความสวยงาม ความคิดที่ดี เพื่อให้คุณพร้อมจะใช้ชีวิตต่อไปได้” ริดเลย์บอกว่าการนอนหลับมีบทบาทสำคัญช่วยรักษาความทรงจำ แนวคิดนี้เกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ได้มีการตรวจสอบสมองในช่วงนอนหลับ และพบว่าในช่วงการนอนหลับลึก (slow wave) ร่างกายจะมีการส่งสัญญาณคลื่นไฟฟ้าระหว่างฮิปโปแคมปัส ส่วนของสมองรูปร่างคล้ายม้าน้ำ ทำหน้าที่สร้างความทรงจำ และคอร์เท็กซ์ใหม่ ซึ่งอยู่ที่สมองส่วนหน้า อันเป็นส่วนที่ใช้เก็บความทรงจำระยะยาว
 
การทำงานของระบบความทรงจำของมนุษย์เป็นแบบนี้ สมองจะรวบรวมความทรงจำใหม่ๆ แล้วเก็บเอาไว้เป็นความทรงจำเก่า ซ้อนทับกันไปเรื่อยๆ หลอมรวมเรื่องราวในชีวิต เหมือนที่คุณนายดาร์ลิ่งใช้คำว่าความรู้สึกเลวร้ายจะได้ลดน้อยลง กระบวนการนี้เกิดขึ้นเพื่อผ่อนคลายความรู้สึกแย่ๆ ที่เกิดขึ้นวันที่เครียดหรือไม่สบายใจ จะช่วยให้เราผ่านประสบการณ์ร้ายๆ ไปได้ โดยไม่ต้องเจ็บป่วย และนี่คือเหตุผลที่เวลาคนเรานอนไม่หลับ มันส่งผลต่ออาการป่วยทางจิต เมื่อเรานอนไม่หลับ เราจะไม่สามารถจัดการกับความรู้สึกเครียดหรือเลวร้ายที่เกิดขึ้นได้นั่นเอง  
 
ณ จุดนี้ ทำให้เรารับรู้ว่าแบร์รี่เข้าใจช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านระหว่างหลับและตื่นได้ดีมากๆ
 
พล็อตเรื่องปีเตอร์และเว็นดี้เกิดขึ้นในเนเวอร์แลนด์ เกาะมหัศจรรย์ที่เด็กๆ สามารถไปถึงได้เพียงแค่จินตนาการถึง การไปเนเวอร์แลนด์นั้นง่ายมากๆ แบร์รี่เขียนไว้ว่า “ระหว่างที่อยู่ระหว่างเก้าอี้และผ้าปูโต๊ะ มันอาจเกิดขึ้นแบบไม่มีคำเตือน แค่ช่วงเวลาก่อนคุณนอนหลับสักสองนาที คุณก็โผล่ไปถึงที่นั่นแล้ว” อาการที่เกิดขึ้นก่อนเรานอนหลับนี้เรียกกันว่า hypnagogic imagery หรืออาการประสาทหลอนตอนใกล้หลับ สมองจะสร้างเป็นภาพจินตนาการให้เรามองเห็นอะไรบางอย่าง ก่อนจะหลับไปในที่สุด
 
อาการผีอำของแบร์รี่ - - นำไปสู่การบินของเด็กๆ
เด็กหลายๆ คนอาจมีปัญหาการนอนหลับที่แตกต่างกันไป แบร์รี่เองมีประสบการณ์ส่วนตัว นั่นคืออาการคล้ายๆ ผีอำ หรือที่เรียกว่า sleep paralysis ลักษณะคือ รู้สึกตัวว่าตื่นอยู่แต่ว่าขยับตัวไม่ได้ แบร์รี่บอกว่าเขารู้สึกก้ำกึ่งระหว่างหลับและตื่น และไม่รู้ว่าควรวางตัวอย่างไร หลายครั้งมันทำให้เขาไม่อยากนอนหลับ  
 
“ฉันเองเคยเจอเหตุการณ์นี้หลายหน และมันไม่สบายตัวเอามากๆ” ริดเลย์เองเล่าถึงประสบการณ์ของตน และแบร์รี่ได้นำเอาประสบการณ์นี้เขียนเอาไว้ในหนังสือ ในฉากประสบการณ์การบินของเด็กๆ เจ้าตัวบรรยายเอาไว้ว่า “ไม่มีอะไรน่าเกลียดหรือเลวร้ายปรากฎให้เห็น แต่การบินก็เป็นไปอย่างช้าและน่าอึดอัด เหมือนพวกเขาถูกผลักด้วยพลังที่เป็นแรงต้าน บางครั้งพวกเขาค้างอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งปีเตอร์มาช่วยผลักให้”
 
ธรรมชาติคัดสรรของชาร์ลส์ ดาร์วิน - - สัตว์บางตัวเอาตัวรอดได้ ในขณะที่บางตัวต้องตายจากไป เข้มแข็งรอด อ่อนแอตาย การปรับตัวคือทุกอย่าง
ความช่างสังเกตของแบร์รี่ที่ปรากฎในผลงานยังอาจคำตอบข้อถกเถียงที่ใครๆ ก็พูดถึง อย่างทฤษฎีธรรมชาติคัดสรร (natural selection) ของชาร์ลส์ ดาร์วิน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเหตุผลที่เราแตกต่างจากสัตว์อื่นๆ เพราะเรามีทักษะที่เหนือกว่า และพัฒนาตัวเองได้ดีกว่า แบร์รี่ได้เขียนถึงฉากหนึ่งในผลงานของเขา ซึ่งเป็นช่วงชีวิตวัยเด็กของปีเตอร์ ก่อนที่เขาจะได้พบกับเว็นดี้ ผ่านตัวละครโซโลม่อน คอว์ อีกาที่ฉลาดลึกซึ้ง โซโลม่อนได้วางแผนอนาคตของตัวเอง ได้แก่ การสะสมถั่ว เศษขนมปังต่างๆ เอาไว้จำนวนมาก โดยนักเขียนเปรียบเทียบไว้ว่า เหมือนกับ “กองทุนเกษียณ” ที่จะใช้ยามแก่เฒ่า ซึ่งเปรียบเสมือนแนวคิดการสร้างภาพตัวแทนแบบทุติยภูมิ (secondary representation) แสดงให้เรารู้ว่าชีวิตคนเราไม่ได้มีแค่วันนี้ แต่ยังมีอนาคตด้วย ยังมีฉากที่ปีเตอร์ขอร้องให้พวกนกช่วยสร้างเรือให้เขาพายในทะเลสาบ โซโลม่อนคิดออกทันทีว่าใช้รัง ยาด้วยโคลนไม่ให้น้ำรั่วเข้ามาได้ ในขณะที่นกอื่นๆ มองไม่ออก และจินตนาการไม่ออกว่าจะนำรังของตนมาปรับใช้กับสถานการณ์ใหม่ๆ เพื่อเป้าหมายอื่นได้อย่างไร เหมือนที่คุณนายฟินซ์บอกกับโซโลม่อนว่า “พวกเราไม่มีทางเอารังมาลอยในทะเลสาบแน่ๆ” จะเห็นว่าแนวคิดการสร้างภาพตัวแทนแบบทุติยภูมินั้นส่งผลต่อพฤติกรรมของเรา ช่วยให้เรารู้จักคิดสร้างสรรค์และยืดหยุ่น สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตได้ ความสามารถนี้เป็นจุดเด่นที่ทำให้มนุษย์มีวิวัฒนาการและคงอยู่มาได้จนวันนี้ ลักษณะนี้ปรากฎในสัตว์บางตัวเท่านั้น ไม่ได้มีในสัตว์ทุกๆ ตัว ยกตัวอย่างเช่นโซโลม่อน การศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกฟอร์ดพบว่ามีอีกาไม่กี่ตัวที่งอลวดเป็นตะขอเพื่อใช้เกี่ยวอาหารจากที่ที่เข้าถึงได้ยาก แบร์รี่ได้จินตนาการถึงความสามารถนี้ ทั้งของมนุษย์และสัตว์ และนำมันมาเขียนถึงในผลงานของเขา
 
ตัวปีเตอร์เองก็ต้องเผชิญหน้ากับทักษะทำนองนี้ เขาไม่หวาดกลัวอะไรเลย และมองว่าความตายเปรียบเหมือนการผจญภัย “ถ้ากลัว คุณจะมองหาทางเลือกอื่นๆ ในชีวิต ปีเตอร์มีความสุขกับปัจจุบัน แต่ไม่คิดถึงอนาคต เพราะมันต้องใช้แนวคิดการสร้างภาพตัวแทนที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น” ปีเตอร์ยังเจอกับปัญหาทฤษฎีทางจิต เขาไม่เข้าใจมุมมองของคนอื่น และไม่สนว่าคนอื่นอาจคิดต่างจากตัวเอง เป็นการสะท้อนแนวคิดพัฒนาการทางจิตสมัยใหม่ อย่างที่นักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังๆ ได้เรียนรู้ ริดเลย์มองว่า “เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากที่หนังสือสมัยปี ค.ศ. 1900 พูดถึงทฤษฎีเรื่องภาพแทนทางใจที่เพิ่งค้นพบเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ และใครจะไปรู้ว่ามีอะไรซุกซ่อนอยู่ในผลงานเล่มนี้อีกบ้าง อาจมีหลายๆ เรื่องที่เรายังค้นไปไม่ถึงก็เป็นได้ แบร์รี่อาจไม่รู้ว่ามันคือวิทยาศาสตร์ เขาอาจแค่เขียนสิ่งที่ตัวเองสังเกตเห็น แต่ก็เป็นเรื่องน่าทึ่งทีเดียวที่นักเขียนคนหนึ่งจะค้นพบคำตอบทางจิตวิทยาได้อย่างลึกซึ้งถึงขนาดนี้ 
 
และนี่แหละเสน่ห์ของการอ่านหนังสือ เราอาจได้พบคำตอบใหม่ๆ ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่ไม่น่าเชื่อก็ได้ อาชีพนักเขียนช่างน่าทึ่งเสียจริงๆ เห็นด้วยไหม
 

ทีมงานนักเขียนเด็กดี

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
https://books.google.co.th/books?id=i6QwBwAAQBAJ&pg=PR15&lpg=PR15&dq=peter+pan+analysis+character+writer&source=bl&ots=YLftvisnD_&sig=ACfU3U2PDqWlNR4tbFTFWsuJyGkF851UPg&hl=th&sa=X&ved=2ahUKEwi5hb7nvpbmAhWOyjgGHeztAKI4ChDoATADegQICRAB#v=onepage&q=peter%20pan%20analysis%20character%20writer&f=false
https://www.cambridgescholars.com/download/sample/63233
https://www.bbc.com/future/article/20170201-what-peter-pan-teaches-us-about-memory-and-consciousness
https://www.enotes.com/homework-help/what-is-the-point-of-view-in-j-m-barrie-s-peter-675521
https://www.owleyes.org/text/peter-pan/analysis/character-analysis   

 
Deep Sound แสดงความรู้สึก
ทีมงาน writer

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น