‘นาร์ซิสซัส’ ผู้หลงตัวเองจนตายกับโศกนาฏกรรมความรักที่แฝงว่า ‘รักไม่เคยจำกัดเพศ’

‘นาร์ซิสซัส’ ผู้หลงตัวเองจนตาย
กับโศกนาฏกรรมความรักที่แฝงว่า
‘รักไม่เคยจำกัดเพศ’ 

เคยได้ยินตำนานเทพนิยายกรีกเกี่ยวกับชายหนุ่มที่หลงในรูปลักษณ์ของตัวเองจนตาย และกลายเป็นดอกไม้กันบ้างมั้ยคะ? มีเรื่องเล่าจากหลากหลายตำนานเลยค่ะที่เล่าถึงเรื่องราวของ “นาร์ซิสซัส (Narcissus)” ชายหนุ่มรูปโฉมงดงามที่มั่นใจในตัวเองมากๆ จนทำร้ายจิตใจคนอื่นไปทั่ว เพราะคิดว่าไม่มีใครเหมาะสมกับตัวเองเลย จนท้ายที่สุดก็ถูกสาปให้หลงรักตัวเองจนตาย ซึ่งบางตำนานก็บอกว่าเขาเจ็บปวดกับความรักที่ไม่สมหวังจึงปลิดชีพตัวเองด้วยมีดตรงริมแม่น้ำ และตรงที่เขาตายก็มีดอกนาร์ซิสซัส (Nacissus) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ดอกแดฟโฟดิล (Daffodil) ปรากฎขึ้นมา 

ซึ่งหากใครเคยอ่านตำนานของนาร์ซิสซัสมาบ้าง จะรู้ว่าเรื่องราวในแต่ละเวอร์ชั่นนั้นล้วนเล่าถึงตัวตนของนาร์ซิสซัสที่หลงใหลในตัวเอง จนเกิดโศกนาฏกรรมความรักต่างๆ ขึ้นมา ทว่าความน่าสนใจอยู่ตรงนี้ค่ะ การที่นาร์ซิสซัสหลงเงาตัวเองจนตาย นอกจากจะสื่อให้เห็นถึงการรักตัวเองมากจนเกินไปแล้ว ยังมีภาพสะท้อนของความรักไม่จำกัดเพศ และสัญลักษณ์ต่างๆ อีกมากมาย ฉะนั้นเรามาติดตามตำนานของนาร์ซิสซัส และเรื่องราวน่าสนใจเหล่านี้กันเลยค่ะ 


Echo And Narcissus, John William Waterhouse

ตำนานนาร์ซิสซัสที่โด่งดังมี 2 เวอร์ชั่นคือกรีก และกรีก - โรมัน 

ก่อนจะไปตามเรื่องราวตำนานต่างๆ ขอเล่าชีวิตย่อๆ ของนาร์ซิสซัสให้ได้รู้จักกันก่อนค่ะ “นาร์ซิสซัส” เป็นบุตรของเซฟิสซัส (Cephisus) เทพแม่น้ำ และนางไม้ลีไรโอพี (Lyriope ) ที่มีรูปโฉมงดงามคนหนึ่ง เมื่อเติบใหญ่นาร์ซิสซัสได้กลายเป็นเทพที่งดงามจนเหล่านางไม้ต่างตกหลุมรักเพียงแรกเห็น ทว่าชายหนุ่มไม่เคยครองคู่กับใคร เขาเชื่อมั่นในตัวเอง และเชื่อว่าไม่มีใครคู่ควรกับเขา เมื่อมีคนเข้ามามอบความรักให้ นาร์ซิสซัสจึงตอบปฎิเสธกลับไป จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมความรักของคนที่ไม่สมหวังในรัก และเกิดการแก้แค้นนาร์ซิสซัสที่รักตัวเองมากจนเกินไปขึ้นมา 

โดยตำนานนาร์ซิสซัสที่จะนำมาเล่าในวันนี้มีสองเวอร์ชั่นที่โด่งดังมากๆ คือตำนานเวอร์ชั่นกรีก และกรีก - โรมัน นั่นเอง ซึ่งในเวอร์ชั่นกรีกของ Conon และเวอร์ชั่นโรมันของ Ovid ได้เขียนเรื่องราวของนาร์ซิสซัสในทิศทางเดียวกันแต่มีองค์ประกอบบางส่วนที่แตกต่างกัน ดังนี้
 

ตำนานนาร์ซิสซัสเวอร์ชั่นกรีก

ในตำนานเทพเจ้ากรีกในเวอร์ชั่นของ Conon ได้กล่าวถึง  Ameinias ชายหนุ่มที่หลงรักนาร์ซิสซัส (ซึ่งบางตำนานกล่าวว่า นาร์ซิสซัส น่าจะเป็นประเภทชายนิยมชาย) แต่นาร์ซิสซัสปฎิเสธที่จะรับความรักของชายหนุ่ม และมอบดาบให้เขาด้วย Ameinias จึงใช้ดาบที่ได้รับมาจากชายคนที่เขารักฆ่าตัวตาย และสวดอ้อนวอนขอให้เทพีเนเมซิส (Nemesis) ซึ่งเป็นเทพีแห่งกฎแห่งกรรมของชนชาวกรีก ดลบันดาลให้นาร์ซิสซัสได้รู้จักกับความเจ็บปวดของรักที่ไม่สมหวังเหมือนที่เขาเจอบ้าง ทำให้นาร์ซิสซัสได้รับคำสาปนี้ติดตัวหลังจาก Ameinias ตายไป จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อนาร์ซิสซัสได้ไปเดินเล่นริมแม่น้ำ เขาพบชายหนุ่มรูปงามในน้ำและตกหลุมรักหมดหัวใจ โดยไม่รู้เลยว่าชายหนุ่มคนนั้นคือเงาในน้ำที่สะท้อนภาพตัวของเขาเอง และในที่สุดนาร์ซิสซัสก็ฆ่าตัวตายริมแม่น้ำ เมื่อไม่ได้รับความรักกลับมา และดอกนาร์ซิสซัสก็ปรากฎขึ้นตรงที่เขาตาย 


Narcissus by Caravaggio

ตำนานนาร์ซิสซัสเวอร์ชั่นโรมัน 

ขณะที่ตำนานนาร์ซิสซัสเวอร์ชั่นโรมันของ Ovid นาร์ซิสซัสได้รับคำทำนายจากไทรีเซียส ผู้มีญาณหยั่งรู้ที่พยากรณ์ไว้ว่า นาร์ซิสซัสจะเป็นผู้มีชีวิตยืนยาวหากเขาไม่เคยเห็นรูปลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งพ่อแม่ของนาร์ซิสซัสกังวลมาก และพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกของตนมีชีวิตยืนยาว จนกระทั่งนาร์ซิสซัสอายุ 16 ปี ขณะที่เขากำลังเดินเล่นอยู่ในป่า มีนางไม้ชื่อว่า เอคโค่ (Echo) ตกหลุมรักนาร์ซิสซัสทันทีเมื่อแรกเห็น 

เธอเริ่มติดตามชายหนุ่ม จนกระทั่งนาร์ซิสซัสรู้สึกว่ามีใครบางคนกำลังตามเขาอยู่ จึงเอ่ยถามออกไปว่า ‘ใครอยู่ที่นั่น’ เอคโค่ที่ได้รับคำสาปจากเทพเฮร่า เธอไม่สามารถพูดสิ่งใดได้ นอกจากคอยพูดตามเสียงของผู้อื่น ทำให้เธอตอบกลับไปทันทีว่า ‘ใครอยู่ที่นั่น’ และเหตุการณ์ต่อจากนี้ก็ดำเนินต่อไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งเสียงเอคโค่ตัดสินใจที่จะแสดงตัวให้นาร์ซิสซัสเห็น เมื่อทั้งสองได้พูดคุยกันทำให้นาร์ซิสซัสโกรธมากที่เอคโค่พูดตามเขาตลอดเวลา นาร์ซิสซัสจึงเลิกสนใจนางไม้ตนนี้และเดินจากไป เอคโค่เสียใจกับเหตุการณ์นี้มากจึงใช้เวลาที่เหลือในชีวิตของเธอในหุบเขาแห่งนี้ และทิ้งไว้เพียงเสียงสะท้อนที่เหลืออยู่ของเธอ

เมื่อเทพีเนเมซิสเทพีแห่งการแก้แค้นได้ยินเรื่องราวที่เกิดขึ้น และตัดสินใจลงโทษนาร์ซิสซัส จากจุดนี้เรื่องราวในตอนจบก็ดำเนินคล้ายกับตำนานของกรีก เมื่อนาร์ซิสซัสเห็นเงาตัวเองในน้ำ เขารู้สึกทึ่งกับความงามของเงาที่สะท้อนออกมา และตกหลุมรักทันทีเมื่อแรกเห็นเหมือนที่เอคโค่ตกหลุมรักเขา เมื่อนาร์ซิสซัสเฝ้ารอความรักจากชายหนุ่มในน้ำ เขาพบว่าความรักของเขาไม่สามารถพูดออกมาได้ ในท้ายที่สุดเขาก็ฆ่าตัวตาย และปรากฎดอกนาร์ซิสซัสขึ้นมา 


Liriope Bringing Narcissus before Tiresias, Giulio Carpioni

นาร์ซิสซัสสัญลักษณ์ของความรักที่ไม่เคยจำกัดเพศ

ในตำนานของนาร์ซิสซัสได้เล่าถึงจุดจบของนาร์ซิสซัสด้วยความตายเสมอค่ะ และการตายของนาร์ซิสซัสนั้นเกิดจากการหลงรักเงาตัวเองจนตาย สิ่งที่แฝงอยู่ภายในตำนานนอกจากเรื่องราวความรักที่ไม่สมหวัง และการหลงใหลในตัวเองมากจนเกินไป เรายังได้เห็นว่าความรักของผู้คนในตำนานเหล่านี้ เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ของ “การตกหลุมรักตั้งแต่แรกเห็น” นาร์ซิสซัสถูกเล่าว่าเป็นชายหนุ่มรูปงาม ใครพบเจอก็ล้วนตกหลุมรัก ทำให้เราเห็นว่าความรักในตำนานนาร์ซิสซัสไม่ได้มาจากความรักที่ร่วมกันสร้างขึ้นมา แต่เป็นความรักที่หลงใหลจากรูปลักษณ์ภายนอกก่อนเป็นอันดับแรก ทั้งตัวนาร์ซิสซัสเองก็ไม่ได้สานสัมพันธ์กับใครเลย แต่กลับตกหลุมรักเงาสะท้อนของตัวเอง แสดงให้เห็นรูปแบบความรักในตำนานว่าเป็นการรักคนที่ภายนอกหาใช่รักกันที่จิตใจ 

เมื่อกล่าวถึงความรักในตำนานเวอร์ชั่นกรีก หากใครอ่านในครั้งแรกอาจจะคิดว่านาร์ซิสซัสไม่ชอบผู้ชายจึงปฏิเสธชายหนุ่มไป แต่สุดท้ายเขาก็ตกหลุมรักชายหนุ่มในน้ำจนตาย ส่วนใน ตำนานเวอร์ชั่นโรมัน แม้จะมีนางไม้เอคโค่มาหลงรัก แต่นาร์ซิสซัสก็ยังตกหลุมรักตัวเองเช่นเคย เรื่องราวของนาร์ซิสซัสจึงอาจสื่อได้อีกความหมายว่า การตกหลุมรักจากภายนอกนั้น ไม่ใช่การตกหลุมรักที่เพศ แต่เป็นการตกหลุมรักคนที่เรารู้สึกพอใจ จนก่อให้เกิดความรักขึ้นมา ฉะนั้น หากมีใครที่ทำให้นาร์ซิสซัสพอใจได้เช่นเดียวกับตัวเขา คนๆ นั้นไม่ว่าจะเป็นเพศอะไรก็ตาม นาร์ซิสซัสสามารถมอบความรักให้ได้อย่างหมดใจแน่นอน ทว่าในตำนานกลับไม่มีคนที่ชายหนุ่มหวังไว้ เขาจึงตกหลุมรักเงาตัวเองจนตาย (แม้บางส่วนจะมาจากคำสาปก็ตาม) 
 

ตำนานคลาสสิกที่เตือนเราเกี่ยวกับการหลงตัวเอง และการถูกตัวเราเองครอบงำจิตใจ

จากตำนานที่กล่าวมาความตายของนาร์ซิสซัสกลายเป็นสัญลักษณ์ที่เตือนเราเกี่ยวกับการสนใจตัวเองมากเกินไป เมื่อนาร์ซิสซัสเชื่อว่าตัวเองดีที่สุด และไม่มีใครดีเท่าตัวเขาเอง ทำให้มุมมองของนาร์ซิสซัสมีแค่ตัวเขาเพียงคนเดียว จิตใจของผู้อื่นจะเป็นอย่างไร ไม่เกี่ยวกับตัวเขาเลย ทว่าความรักนั้นไม่สามารถห้ามไม่ให้รู้สึกได้จริงๆ ค่ะ ดังนั้นคำเตือนจากความตายของนาร์ซิสซัส คือ เราไม่ควรชื่นชมตัวเองมากเกินไป และเราควรรักคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเราด้วย เพราะความจริงที่ว่าความตายของนาซิสซัสนั้นเป็นผลมาจากการลงโทษที่ไปทำลายความรัก ทำลายหัวใจของคนอื่นด้วยการปฏิเสธความรัก ทำให้เราต้องเอาเรื่องราวเหล่านี้มาเป็นบทเรียนในชีวิตว่าเราควรเอาใจเขามาใส่ใจเรา เรารักตัวเองได้ แต่ไม่ควรทำร้ายจิตใจผู้อื่นค่ะ

เชื่อว่าเราทุกคนน่าจะมีวิธีปฏิเสธมากกว่าการยื่นดาบให้เหมือนในตำนานกรีก หรือหากจะปฏิเสธคนที่พูดไม่ได้เหมือนในตำนานโรมัน เราก็ควรจะพยายามทำความเข้าใจความแตกต่างของผู้อื่นก่อนนะคะ ไม่อย่างนั้นอาจจะไปทำร้ายจิตใจใครเข้า แล้วถูกสาปเหมือนนาร์ซิสซัสเอานะคะ
 


Narcissus, follower of Giovanni Antonio Boltraffio

ตำนานนาร์ซิสซัสที่กลายเป็นที่มาของโรคหลงตัวเอง

นอกจากนี้ ตำนานนาร์ซิสซัสยังกลายเป็นที่มาของโรคหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder) หรือ “นาซิซีติส” (Narcisisitic) ที่ชื่อในภาษาอังกฤษมีต้นกำเนิดมาจากเทพนาร์ซิสซัสอีกด้วย โดยอาการของผู้ป่วยโรคนี้จะคล้ายคลึงกับนาร์ซีซัสตามเทพนิยายทุกประการค่ะ หากใครคลั่งไคล้ตัวเองมากเกินกว่าปกติ จนก่อให้เกิดความบกพร่องทางบุคลิกภาพขึ้นมา ทางการแพทย์ก็มักจะเรียกบุคคลกลุ่มนี้ว่านาซิซีติสนั่นเอง โดยเรื่องราวของนาร์ซิสซัสที่หลงตัวเอง เช่น ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ชอบคำยกยอ และขาดความเห็นใจผู้อื่น เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ประกอบขึ้นเป็นทัศนคติของบุคคล นักจิตวิทยาหลายคนเชื่อว่ามนุษย์ที่มีสุขภาพดีทุกคนมีประสบการณ์หลงตัวเองเล็กน้อย เพราะโดยพื้นฐานแล้วเราทุกคนรักตัวเองอย่างน้อยนิด เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยให้เราหลงตัวเองมากเกินไปนะคะ  


. . . . . .

นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวต่างๆ อีกมากที่เราสามารถศึกษาได้จากตำนานของนาร์ซิสซัส ในความเห็นของพี่คิดว่าเรารักตัวเองเหมือนนาร์ซิสซัสนั้นไม่ผิดค่ะ แต่เราต้องชื่นชมตัวเองแบบพอเหมาะ เป็นการชื่นชมเพื่อให้กำลังใจตัวเอง หรือพื่อเรียกความมั่นใจให้ตัวเราก็ได้นะคะ ทุกอย่างอยู่ที่ความพอดีค่ะ รักตัวเองได้แต่อย่าทำร้ายคนอื่นนะคะ และบทเรียนจากตำนานนาร์ซิสซัสที่น่าจะใช้ได้ตลอดกาลก็คือเรื่องความรักนี่แหละค่ะ ความรักไม่เคยจำกัดเพศนะคะ ถ้ารักก็คือรักค่ะ แล้วเจอกันใหม่ค่ะ 

พี่แนนนี่เพน

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
https://www.greekmythology.com/Myths/Mortals/Narcissus/narcissus.html
https://www.historytoday.com/archive/foundations/myth-narcissus
https://www.psychologytoday.com/us/conditions/narcissistic-personality-disorder
https://www.greekmyths-greekmythology.com/narcissus-myth-echo/ 
https://en.wikipedia.org/wiki/Ameinias_(mythology) 
https://www.theoi.com/Heros/Narkissos.html 
https://www.gradesaver.com/mythology/study-guide/summary-narcissus-hyacinth-adonis

พี่แนนนี่เพน
พี่แนนนี่เพน - Columnist สาวเหนือที่มีความสุขกับการเขียนนิยาย และเชื่อว่านิยายให้อะไรดีๆ กับสังคมเสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

มาดูมิจิ 19 ม.ค. 63 22:05 น. 1

คำศัพท์หลายตัวของจิตวิทยาเกี่ยวกับตำนานกรีกโรมันค่ะ อย่างเช่น เรื่องของนาง psyche ถ้าทำเป็นซีรีส์เทพปกรณัมก็น่าติดตามดีค่ะ

0
กำลังโหลด

1 ความคิดเห็น

มาดูมิจิ 19 ม.ค. 63 22:05 น. 1

คำศัพท์หลายตัวของจิตวิทยาเกี่ยวกับตำนานกรีกโรมันค่ะ อย่างเช่น เรื่องของนาง psyche ถ้าทำเป็นซีรีส์เทพปกรณัมก็น่าติดตามดีค่ะ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด