ความกลัวคือพลังมหัศจรรย์ : เรียนรู้วิธีรับมือกับมันผ่านสองวรรณกรรมสุดยิ่งใหญ่ 'แฮร์รี่ พอตเตอร์' กับ 'ลอร์ดออฟเดอะริง!'

ความกลัวคือพลังมหัศจรรย์ :
เรียนรู้วิธีรับมือกับความกลัวผ่านสองวรรณกรรมสุดยิ่งใหญ่
'แฮร์รี่ พอตเตอร์' กับ 'ลอร์ดออฟเดอะริง!'

สวัสดีค่ะชาวเด็กดีทุกคน ใครก็ตามที่อ่าน "แฮร์รี่ พอตเตอร์" อาจพบว่า ช่วงเวลาที่แฮร์รี่และเพื่อนๆ ของเขาอยู่ฮอกวอตส์ พวกเขาได้เผชิญหน้ากับความกลัวที่ยิ่งใหญ่หลายครั้ง ซึ่งทุกครั้งที่กล้าเผชิญหน้า พวกเขาจะสามารถเอาชนะได้ตลอด ส่งผลให้ทั้งสามแข็งแกร่งและกล้าหาญมากขึ้น ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาลอย่าง "ลอร์ดออฟเดอะริง" เรื่องนี้เองก็มีการเผชิญหน้ากับความกลัวสุดท้าทายไม่ต่างกัน เพียงแต่โฟรโดกลับเลือกทำสิ่งตรงข้ามกับสามสหายในแฮร์รี่ พอตเตอร์ด้วยการวิ่งหนีมัน แน่นอนว่าพฤติกรรมนั้นนำมาสู่หายนะอันใหญ่หลวง

วรรณกรรมทั้งสองดังกล่าวล้วนเป็นงานที่โดดเด่นในการแสดงให้เห็นว่า "ตัวละครต่างๆ รับมือกับความวิตกกังวลและความกลัวอย่างไร" ซึ่งเรื่องนี้คุณหมอจินาน่า สการ์เล็ต จิตแพทย์ชื่อดังได้ใช้ตัวละครในนิยายมาช่วยรักษาผู้ป่วยที่มีความวิตกกังวล เธอถ่ายทอดวิธีการสุดเจ๋งของเธอผ่านหนังสือ Superhero therapy และ Harry Potter Therapy: An Unauthorized Self-help Book from the Restricted Section ของตัวเอง พี่น้ำผึ้งเห็นว่าน่าสนใจเลยหยิบมาแบ่งปันทุกคนถึงสิ่งที่คุณหมอจินาน่า สการ์เล็ตเขียนไว้เกี่ยวกับ "เรื่องที่เราเรียนรู้จากแฮร์รี่ พอตเตอร์ และลอร์ดออฟเดอะริง เกี่ยวกับการเผชิญหน้ากับความกลัวของเรา" บอกเลยว่าน่าสนใจมาก มันสามารถช่วยให้เราเปลี่ยนความกลัวให้เป็นพลังได้ จะเป็นยังไงนั้น ไปดูกันเลยดีกว่าค่ะ

 

Clip

รอน วีสลี่ย์กับบ็อกการ์ต

ความกลัวทำลายโอกาสในการเพิ่มศักยภาพตัวเอง

ก่อนอื่น ถ้าเราหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกกลัว เราจะไม่มีโอกาสเรียนรู้เลยว่าเราสามารถเผชิญกับความกลัวได้! มันเหมือนกับว่าเราอยากถูกหวยแต่ไม่เคยเล่นนั่นแหละ คล้ายๆ กัน เพราะความจริงแล้ว โอกาสของเราในการเอาชนะความกลัวนั้นสูงมาก!

ลองดูวรรณกรรมแฮร์รี่ พอตเตอร์เป็นตัวอย่างสิ แฮร์รี่ พอตเตอร์เป็นพ่อมดรุ่นเยาว์ที่เข้าเรียนในโรงเรียนเวทมนตร์ฮอกวอตส์ พร้อมกับเพื่อนๆ ของเขาคือ รอน วีสลี่ย์ และเฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์ ตลอดหลายปีที่อยู่ในฮอกวอตส์ สามสหายเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่คุกคามชีวิตมากมาย รวมถึงความหวาดกลัวและความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น รอนหวาดกลัวแมงมุม ที่จริงเขาดูเหมือนจะตรงตามเกณฑ์คนที่ป่วยเป็นโรคกลัวอย่างรุนแรง (Specific Phobia) โดยในกรณีนี้ เขาเป็นโรคหวาดกลัวแมงมุม (Arachnophobia)
 


 

อันที่จริงรอนกลัวแมงมุมมาก ถึงขั้นร่างกายนิ่งชะงักทันทีที่เห็นพวกมัน หรือไม่งั้นก็ต้องการออกห่างจากพวกมันให้มากที่สุด! รอนกำลังตอกย้ำความเชื่อของเขาว่า "เขาจะไม่สามารถยืนเคียงข้างพวกแมงมุมได้" อย่างไรก็ตามเมื่อเฮอร์ไมโอนี่กลายเป็นหิน รอนกับแฮร์รี่ต้องหาวิธีช่วยชีวิตเธอด้วยการตามแมงมุมและตั้งคำถามกับมัน แน่นอนว่ารอนสามารถทำได้โดยบอกว่า "เมื่อสิ่งนั้นสำคัญมากพอสำหรับเรา เราสามารถเผชิญกับอะไรก็ได้" 

นอกจากนี้เมื่อเผชิญหน้ากับบ็อกการ์ตที่มีรูปทรงเหมือนแมงมุม (บ็อกการ์ตจะเปลี่ยนรูปร่างตามที่เรากลัวมากที่สุด) รอนเองก็สามารถใช้คาถาริดดิคูลัส (Riddikulus) เพื่อให้เปลี่ยนแมงมุมให้กลายเป็นตัวตลก ทำให้มันซุ่มซ่ามอยู่บนโรลเลอร์สเก็ต นี่แสดงให้เห็นว่าเมื่อเรากล้าเผชิญหน้ากับความกลัวด้วยความคิดว่ามันไม่เป็นอันตราย ความกลัวของเราที่มีต่อพวกมันสามารถลดลงอย่างต่อเนื่องได้ ดังนั้นหากอยากเอาชนะความกลัว จำไว้เลยว่าให้มองมันเป็นเรื่องตลก เหมือนอย่างรอนเสกคาถาริดดิคูลัสใส่บ็อกการ์ต แค่นี้การเผชิญหน้ากับความกลัวก็กลายเป็นเรื่องสนุก แถมเรายังรู้สึกภาคภูมิใจที่สามารถเอาชนะความกลัวตัวเองได้ด้วย!

 

Clip

ทรีลอว์นีย์กับคำทำนายของเธอ

ความกลัวนำไปสู่จินตนาการสุดหายนะ

ความกลัวมักทำให้เราตีความข้อมูลบางอย่างผิดๆ เช่น มันเป็นสิ่งอันตราย ทั้งที่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่ มาดูตัวอย่างอื่นๆ จากแฮร์รี่ พอตเตอร์นะ ศาสตราจารย์ทรีลอว์นีย์เป็นครูสอนวิชาพยากรณ์ที่ฮอกวอตส์ ซึ่งมีชื่อเสียงในการทำนายอนาคตที่น่ากลัวแก่นักเรียนของเธอ เช่น เธอจะตายอย่างทุกข์ทรมาน เป็นต้น อย่างไรก็ตามคำทำนายของเธอเป็นจริงน้อยมาก 

ทรีลอว์นีย์เป็นเครื่องเตือนใจที่ยอดเยี่ยมเลยว่า จิตใจของเราสามารถสร้างภาพและการคาดการณ์ที่น่ากลัวได้ทุกอย่างและส่วนใหญ่ไม่ถูกต้อง! ตัวอย่างเช่น เมื่อทรีลอว์นีย์มาถึงห้องโถงใหญ่ในวันคริสต์มาสเพื่อรับประทานอาหาร เธอปฏิเสธที่จะนั่งโต๊ะเดียวกับอาจารย์และนักเรียนคนอื่นๆ ด้วยเหตุผลที่ว่า “เมื่อสิบสามคนรับประทานอาหารด้วยกัน คนแรกที่ลุกขึ้นยืนจะเป็นคนแรกที่ตาย” เราจะไม่พูดเรื่องความแม่นยำของคำทำนายนี้ แต่เราจะมาเน้นที่ความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมของเธอแทน ทรีลอว์นีย์คิดว่า “ถ้าฉันนั่งลง จะมีพวกเราสิบสามคน และใครคนหนึ่งจะต้องตาย” เห็นได้ชัดว่าความกลัวทำให้เธอไม่สนใจที่จะนั่งโต๊ะ 
 


(via: amazon)
 

อาการนี้สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy - CBT) และการบำบัดด้วยการยอมรับและการให้สัญญา (Acceptance and Commitment Therapy - ACT) สองวิธีนี้จัดว่าเป็นวิธีการบำบัดที่ดีเยี่ยมในการช่วยให้ผู้ป่วยลดความวิตกกังวลและความคิดหายนะที่ไม่เป็นประโยชน์ อันเกิดจากการจินตนาการถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่เป็นไปได้ 

หากศาสตราจารย์ทรีลอว์นีย์ต้องไปพบจิตแพทย์ เธออาจจะได้รับการรักษาด้วย CBT คุณหมอจะวิเคราะห์ความถูกต้องของความคิดเธอ และทำงานร่วมกับเธอในการลดพฤติกรรมการหลีกเลี่ยง (เช่นเดินออกจากโต๊ะ) เพื่อให้เธอเผชิญหน้ากับความกลัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แสดงให้เห็นว่าผลลัพธ์ที่เกิดจากความกลัวนั้นจะไม่เกิดขึ้น 

สำหรับพวกเรา ถ้าไม่อยากให้เกิดผลกระทบที่ไม่เป็นประโยชร์จากการจินตนาการถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด มันสำคัญมากๆ ที่จะต้องรู้ทันความคิดตัวเอง เมื่อเกิดความกลัวในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ให้เราสูดลมหายใจลึกๆ และกลับมาอยู่กับปัจจุบัน ตระหนักไว้เสมอว่าเราไม่สามารถทำนายอนาคตได้ และอนาคตที่เกิดไม่จำเป็นต้องเลวร้ายเหมือนอย่างที่เราคิดเสมอไป

 

Clip

โฟรโดหนีนาซกูล

ความกลัวทำให้เรากลายเป็นคนหนีปัญหา

มีกี่ครั้งที่เราจินตนาการว่าเราจะสอบตกที่โรงเรียน ถูกไล่ออกจากงาน สูญเสียผู้คนที่อยู่ใกล้ชิดเรามากที่สุดหรือล้มเหลวในบางสิ่งที่หมายถึงทุกสิ่ง? สังเกตมั้ยว่าเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายของเราในยามที่เราจินตนาการถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่น่าจะเกิดขึ้นจริง? เราอาจสังเกตเห็นว่าอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น หายใจถี่ขึ้นจนอาจรู้สึกว่าหายใจลำบาก บางคนอาจรู้สึกหนาวสั่นหรือมีเหงื่อออก รวมถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงในท้องของเรา สิ่งนี้เรียกว่าปฏิกิริยาทางสรีรภาพที่เกิดตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่รู้สึกว่าเป็นอันตราย (Fight-or-Flight Response) 

Fight-or-Flight Response หรือที่เรียกว่าการตอบสนองต่อความเครียดหรือความกลัว จะเป็นประโยชน์มากเมื่อเราต้องเผชิญกับอันตรายที่แท้จริง ตัวอย่างเช่น หากเราสังเกตเห็นว่ามีรถยนต์พุ่งเข้ามา อะดรีนาลีนของเราจะหลั่งและกระบวนการในสมองของเราจะพุ่งสูงขึ้น ทำให้เราตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วว่าจะกระโดดออกหนี ในสถานการณ์ที่คุกคามชีวิตหรืออาจเป็นอันตราย การตอบสนองความเครียดนี้อาจช่วยชีวิตเรา แต่ประเด็นก็คือ ถ้าเราพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ความกลัว (ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์) มันจะทำให้เรากลายเป็นคนพยายามหนีปัญหา แล้วมันจะส่งผลให้เราไม่ก้าวไปไหน ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต
 


 

ตัวอย่างชัดเจนปรากฎในนิยายลอร์ดออฟเดอะริง เรื่องราวการผจญภัยของฮอบบิทโฟรโด แบ็กกินส์และผองเพื่อน  ทั้งคนแคระ เอลฟ์ มนุษย์สองคนและพ่อมดแกนดัล์ฟ ที่ต้องเดินทางไปยังมอร์ดอร์ แผ่นดินแห่งความมืด เพื่อทำลายแหวนชั่วร้าย ซึ่งเซารอน ผู้สร้างแหวนสามารถเชื่อมโยงกับแหวนได้ ทันทีที่มีคนสวมมัน เขาสามารถรับรู้ได้ว่าแหวนอยู่ที่ไหน และถ้าเซารอนพบมัน เขาจะกลับคืนสู่อำนาจและจะครองทั้งโลกมัชฌิมา ทำให้พวกฮอบบิท คนแคระและมนุษย์กลายเป็นทาสของเขา

เมื่อโฟรโดสวมแหวน เขาจะล่องหน ไม่มีใครสามารถมองเห็นเขาได้ ซึ่งทำให้เขาสามารถหนีจากสถานการณ์ที่ทำให้เขากลัวได้ชั่วคราว (เช่นการต่อสู้) อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่สวมแหวน พวกนาซกูลหรือภูตแหวน ทาสรับใช้ของเซารอนและแหวนเอก จะตามเจอทันที! ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่ง การสวมแหวนบ่อยๆ ทำให้พวกนาซกูลพบกับโฟรโดได้ พวกมันแทงและเกือบจะฆ่าเขา นอกจากนี้การสวมแหวนยังทำให้แหวนมีอิทธิพลเหนือผู้สวมใส่ แหวนจะสามารถควบคุมคนที่ใส่ได้ ดังนั้นแม้การสวมแหวนจะทำให้โฟรโดพ้นจากอันตรายชั่วคราว แต่ในที่สุดเขาก็ต้องตกอยู่ในอันตรายที่ร้ายแรงมากกว่าเดิมทุกครั้งที่สวมมัน 

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราไม่ควรหลีกเลี่ยงความกลัว เพราะมันอาจนำเราไปเผชิญหน้ากับความกลัวที่อันตรายหรือรุนแรงกว่าเดิม มันจะเป็นตัวขัดขวางความสำเร็จ แถมยังบั่นทอนศักยภาพในตัวเราด้วย ทันทีที่เราปล่อยให้ความกลัวผลักดันความคิด ความรู้สึกและการตัดสินใจของเรา เราจะพบว่าตัวเองได้ตกกลายเป็นทาสแห่งความกลัว และไม่สามารถทำตามความต้องการของตัวเองได้

 

Clip

ความกลัวทรงพลัง

แต่ความกลัวนี่แหละคือพลังมหัศจรรย์

หลายคนอาจไม่สบายใจกับอาการทางร่างกายที่เกิดเพราะความกลัว เช่นอัตราการเต้นของหัวใจอย่างรวดเร็ว เหงื่อออก หายใจถี่ สั่นหรือเวียนศีรษะ ซึ่งคุณหมอจินาน่า สการ์เล็ตให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่า "นี่คือสิ่งสำคัญที่เราต้องจดจำ ความรู้สึกทางกายภาพเหล่านี้ไม่เป็นอันตราย จริงอยู่ที่มันอาจทำให้เราอึดอัด แต่ก็ไม่เป็นอันตราย" อันที่จริงอาการเหล่านี้เป็นอาการเดียวกับตอนที่เราออกกำลังกาย นั่งรถไฟเหาะ ดูหนังสยองขวัญ รวมถึงช่วงเวลาอื่นที่มีความสุขและตื่นเต้น ในความเป็นจริงยิ่งเรายอมรับความรู้สึกเหล่านี้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีต่อสุขภาพของเรามากเท่านั้น

ในซีรี่ส์ Doctor Who ตอน Listen ทำให้เรารู้ว่าความกลัวนั้นทรงพลัง หมอบอกรูเพิร์ต เด็กชายตัวเล็กที่กลัวสัตว์ประหลาดใต้เตียงของเขาว่า "หัวใจของเธอเต้นแรงมากจนฉันรู้สึกได้ผ่านมือเธอ มีเลือดและออกซิเจนมากมายไหลผ่านสมองของเธอ มันเหมือนกับเชื้อเพลิงจรวด ตอนนี้เธอสามารถวิ่งได้เร็วขึ้นและสามารถต่อสู้ได้หนักขึ้น เธอสามารถกระโดดได้สูงขึ้นกว่าที่เคยเป็น เธอตื่นตัวมากจนรู้สึกว่าเวลามันช้าลง เกิดอะไรขึ้นกับความกลัว? ความกลัวเป็นมหาอำนาจ! มหาอำนาจของเธอ!!"

นี่คือข้อเท็จจริงที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับ "ความกลัว" แท้จริงแล้วมันไม่ใช่ตัวก่อกวน ไม่ได้ทำลายเรา แต่มันเป็นแรงผลักดัน  ความกลัวมีไว้เพื่อให้เราตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ช่วยให้เราสามารถตอบสนองและวางแผนเพื่อทำให้เราไปสู่เป้าหมายและค่านิยมของเราได้ เช่น หากเราต้องมีการสอบครั้งใหญ่ ความกลัวอาจมีประโยชน์ในการช่วยกระตุ้นให้เราเตรียมความพร้อมและทำงานได้ดี ดังนั้นเมื่อเราเปลี่ยนความกลัวให้เป็นพลัง เราจะเอาชนะมันและเป็นส่วนที่ผลักดันให้เราไปสู่ความสำเร็จที่ต้องการได้ 
 

...............
 

เป็นอย่างไรบ้างคะกับเรื่องราวที่พี่นำมาฝากในวันนี้ ชัดเจนเลยความกลัวไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ถ้าเรากล้าเอาชนะความกลัวของตัวเองได้ โดยเฉพาะความกลัวการล้มเหลวหรือผิดหวัง เราจะกลายเป็นคนที่กล้าหาญและเราจะเข้าใกล้ความสำเร็จมากยิ่งขึ้น เมื่อเอาชนะความกลัว เราจะได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ทำให้เรากลายเป็นมนุษย์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม ตรงกันข้าม ถ้าเราเอาแต่หนีความกลัว เราก็จะไม่มีวันได้พบกับมุมมองใหม่ๆ ไม่ได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ซึ่งมันอาจทำให้เราไม่สามารถประสบความสำเร็จดังที่ตั้งใจไว้ ดังนั้นจงกล้าหาญเหมือนอย่างรอนหรือแฮร์รี่เป็น แต่อย่าหนีเหมือนอย่างโฟรโด และจำคำของด็อกเตอร์ฮูไว้เลยว่า "ความกลัวคือพลังมหัศจรรย์" เมื่อเราเปลี่ยนมันให้กลายเป็นแรงผลักดันค่ะ


 

พี่น้ำผึ้ง :)

ขอบคุณรูปภาพจากภาพยนตร์
ขอบคุณข้อมูล

https://www.inc.com/lolly-daskal/10-simple-ways-you-can-stop-yourself-from-overthinking.html

https://www.steampoweredfamily.com/brains/harry-potter-boggarts/https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2

https://www.psychologytoday.com
https://personalexcellence.co/blog/fear/

Deep Sound แสดงความรู้สึก

พี่น้ำผึ้ง
พี่น้ำผึ้ง - Columnist นักเขียนที่ชอบส่งต่อพลังบวกให้ทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น