4 บทเรียนวันสิ้นโลกที่ “สตีเฟ่น คิง” ไม่ได้บอกตรงๆ แต่เรียนรู้ได้จาก The Stand

4 บทเรียนวันสิ้นโลกที่ “สตีเฟ่น คิง”
ไม่ได้บอกตรงๆ แต่เรียนรู้ได้จาก The Stand


สวัสดีค่ะ น้องๆ ชาวเด็กดีทุกคน ไม่เคยนึกมาก่อนเลยว่าวันหนึ่งเราจะมีชีวิตเหมือนในนิยายแบบนี้ ตั้งแต่เรื่องของฝุ่นที่ทำให้สุขภาพร่างกายเราย่ำแย่ลง จนกระทั่งการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่จากจีนที่สามารถแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว แถมยังดูไม่ออกด้วยว่าใครกำลังป่วยอยู่ ทำให้แพร่เชื้อไปได้เรื่อยๆ อีกด้วย จากเหตุการณ์เหล่านี้ชวนให้พี่นึกถึงเรื่องราวในนิยายสไตล์วันสิ้นโลกอย่าง The Walking Dead, The Maze Runner, I Am Legend รวมถึงผลงานของสตีเฟ่น คิง เรื่อง The Stand ด้วยค่ะ ที่เริ่มจากมีโรคระบาดในพื้นที่เล็กๆ ก่อน แล้วค่อยๆ ขยายไปสู่วงกว้างจนทำให้ผู้คนล้มตายกันเกือบหมด จากนั้นมนุษย์ที่เหลืออยู่ก็ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อมีชีวิตรอดต่อไปให้ได้! 

โดยในนิยายมีหลายเรื่องเลยค่ะที่เชื้อจากโรคระบาดทำให้มนุษย์กลายเป็นซอมบี้ ซึ่งถ้าหากจะนำมาเล่าให้ฟังก็ดูจะห่างไกลจากตัวเราไปบ้าง แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งคือเรื่อง The Stand ของสตีเฟ่น คิง ที่แม้จะดูเหนือธรรมชาติไปบ้าง แต่มีแง่คิดหลายๆ อย่างที่ใกล้เคียงกับการใช้ชีวิตของเรามากๆ มาลองดูกันว่าในวันที่โลกล่มสลายจากโรคระบาด มนุษย์ที่เหลือรอดจะยืนหยัดอยู่ได้อย่างไร มารู้จัก 4 บทเรียนที่ “สตีเฟ่น คิง” ไม่ได้บอกตรงๆ แต่เราเรียนรู้ได้จาก The Stand กันค่ะ
 


 

แต่ก่อนจะไปรู้จักบทเรียนต่างๆ พี่ขอเล่าเรื่องราวของ The Stand แบบย่อๆ ให้ได้รู้จักกันก่อนค่ะ สตีเฟ่น คิง เคยบอกว่าอยากจะเขียนนิยายที่เป็นมหากาพย์ของคนอมริกันเหมือน The Lord of the Rings ขึ้นมาสักเรื่องหนึ่ง แล้วเขาก็ได้ไอเดียเรื่องการรั่วไหลของสารเคมีในยูทาห์ที่ฆ่าแกะไปกว่าหกหมื่นตัว มาเขียนนิยายเรื่อง The Stand ขึ้นมา และแบ่งการเล่าเรื่องออกเป็นสามพาร์ทใหญ่ๆ โดยเริ่มตั้งแต่ที่มาของเชื้อไวรัส “Captain Trips” ที่มีลักษณะเหมือนเชื้อไข้หวัดใหญ่กลายพันธุ์ ซึ่งเป็นผลมาจากการทดลองผลิตอาวุธชีวภาพของอเมริกา เมื่อเชื้อไวรัสเกิดการแพร่ระบาดออกไปทำให้ 99.4% ของประชากรทั้งหมดเสียชีวิต และมีเพียง 0.6% เท่านั้นที่รอดชีวิต 

จากนั้นในพาร์ทต่อมา เขาก็ได้เล่าถึงกลุ่มคนที่รอดชีวิตว่าพวกเขาต่างฝันประหลาดคล้ายๆ กันซ้ำแล้วซ้ำเล่า นั่นก็คือการฝันเห็นบุคคลสองคน คนหนึ่งเป็นหญิงชราที่บอกให้ผู้รอดชีวิตเดินทางมาหาหากต้องการความสงบสุข ส่วนอีกคนเป็นบุรุษในเงามืดที่บอกผู้รอดชีวิตว่าหากใครอยากให้ความปรารถนาสำเร็จต้องเดินทางไปหาเขา โดยบุคคลทั้งสองในความฝันนั้นอยู่กันละทิศละทางเลยค่ะ ใครมีความต้องการแบบไหนก็เดินทางไปหาคนนั้น ซึ่งในพาร์ทสุดท้าย ก็ได้เล่าบทสรุปของเรื่องราวต่างๆ เอาไว้ ซึ่งความน่ากลัวของนิยายเรื่องนี้อยู่ที่ความกลัวที่มองไม่เห็นนี่แหละค่ะ ทั้งเชื้อไวรัสที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว และการแพร่กระจายความกลัวผ่านเสียงไอของคนที่ติดเชื้อไวรัส ที่ถือเป็นเรื่องเศร้า และเป็นภัยเงียบที่ไม่มีใครสามารถป้องกันได้เลยค่ะ 
 


 

บทเรียนที่ 1 “สถานที่ที่คุณยืนอยู่ไม่เคยมีความสำคัญ มีเพียงคุณเท่านั้นที่อยู่ที่นั่น... และยืนหยัดอยู่ได้” 

ในโลกที่ล่มสลายเพราะเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ระบาด คนที่ช่วยคุณได้นอกจากรัฐบาลของคุณแล้ว ก็คงเป็นตัวของคุณเท่านั้นที่จะช่วยเหลือตัวเองให้มีชีวิตรอดต่อไปได้ สตีเฟ่น คิง สอดแทรกมุมมองเรื่องของการพึ่งพาตัวเองไว้อย่างเต็มเปี่ยมในทุกๆ การดำเนินเรื่อง เขาทำให้รัฐบาลที่ควรจะช่วยเหลือคุณได้กลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้มนุษย์ถูกคร่าชีวิตด้วยเชื้อไวรัสจากการทดลองเสียเอง แล้วแบบนี้มนุษย์จะหันไปพึ่งใครได้อีกละคะนอกจากพึ่งพาตัวเองให้ได้ นอกจากนี้ สตีเฟ่น คิงยังตั้งเงื่อนไขให้มนุษย์ต้องเลือกหนทางชีวิต ระหว่างเดินทางไปหาหญิงชราเพื่อพบกับสันติสุข หรือเดินทางไปหาชายในเงามืดเพื่อทำความปรารถนาให้เป็นจริง ซึ่งไม่ว่าคุณจะเลือกทางไหน ระหว่างทางก็จะมีปัญหาอุปสรรคต่างๆ ถาโถมเข้ามาหมือนกัน ดังนั้น สถานที่ที่คุณเลือกเดินทางไปไม่ว่าทางนั้นจะขาวหรือดำ จะเป็นเส้นทางที่ต่างคนต่างมองว่าผิดและถูก สถานที่ที่คุณเลือก ไม่ได้เป็นตัวกำหนดชีวิตของคุณว่าจะอยู่รอดปลอดภัยหรือไม่ ตัวของคุณเองต่างหากที่พิสูจน์ว่าคุณเอาตัวรอดในสถานการณ์ยากลำบากนั้นไปได้อย่างไร แม้ว่าดินแดนของหญิงชราจะเป็นตัวแทนของความดี (พระเจ้า) และดินแดนของชายในเงามืดจะเป็นตัวแทนของความชั่ว (ซาตาน) แต่หากวัดกันที่การเอาตัวรอดหลังโลกล่มสลาย คนที่พึ่งพาตัวเอง (โดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น) จนมีชีวิตรอดปลอดภัยได้อาศัยอยู่ในทั้งสองดินแดนนั้นต่างหาก คือ คนที่ยืนหยัดด้วยตัวเองได้ 
 

บทเรียนที่ 2 “ให้อยู่กับคนบ้าก็ยังดีกว่าอยู่กับคนตาย”

ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เมื่อต้องเลือกว่าจะอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คนส่วนใหญ่มักจะเลือกว่าจะอยู่ฝ่ายใดด้วยสองเหตุผลหลัก คือ เพื่อตัวเอง และเพื่อผู้อื่น ใน The stand คำว่า คนบ้า อาจจะมีความหมายถึงคนที่รักชีวิต และอยากมีชีวิตอยู่รอดต่อไป ซึ่งในอีกมุมหนึ่งหลายคนอาจจะมองว่าเป็นฝ่ายเห็นแก่ตัว แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่ได้ผิดที่จะรักตัวเองเหมือนกันค่ะ ส่วนฝ่ายคนตายนั้น คือ คนที่ได้รับเชื้อไวรัสค่ะ เป็นเรื่องน่าเศร้าที่สตีเฟ่น คิง นำเสียงไอของมนุษย์มาเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการติดเชื้อ ทำให้ผู้คนที่มีชีวิตรอดและอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก รู้สึกลำบากใจที่จะต้องอยู่กับผู้ติดเชื้อ จนนำมาซึ่งการแบ่งแยก และการเลือกทางเดินของแต่ละคน ถ้าหากเราลองเทียบสถานการณ์กับปัจจุบันที่มีทั้งฝุ่น และเชื้อไวรัสจากจีน การสวมหน้ากากถือเป็นการป้องกันตัวเองและผู้อื่นที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำด้วยตัวเองได้ ซึ่งหลายๆ คนที่มีอาการไอและไม่ป้องกันตัวเอง ก็ทำให้คนอื่นๆ ในสังคมรู้สึกลำบากใจเหมือนกันที่จะใช้ชีวิตอยู่ด้วย เช่น สถานการณ์ในบีทีเอสตอนเช้านี่แหละค่ะที่มีคนแน่นขนัด ลองนึกภาพตามดูว่าหากคนที่ไม่ป้องกันตัวเองมีอาการไอติดต่อกัน แล้วทุกคนพยายามเลี่ยงที่จะอยู่ใกล้เขา เหตุผลหนึ่งอาจจะไม่ใช่เพราะความรังเกียจ แต่เป็นเพราะพวกเขาต้องการหลีกเลี่ยงสาเหตุที่จะทำให้เกิดโรคในอนาคตก็ได้ โดยบทเรียนในข้อนี้ สะท้อนให้ให้เห็นวิธีคิดและการเอาตัวรอดของมนุษย์ในสภาวะคับขันต่างๆ ไม่ว่าคุณจะเลือกอยู่ฝ่ายคนบ้าหรือเลือกที่จะอยู่กับคนตายก็ตาม ไม่มีใครที่เห็นแก่ตัว หรือเห็นแก่ผู้อื่นจนไม่รักชีวิตตัวเอง เพราะท่ามกลางการตัดสินใจเหล่านั้น อาจจะมีเหตุผลอื่นๆ ซ่อนอยู่โดยที่เราไม่รู้ก็ได้ ดังนั้น จงอย่าตัดสินทางเลือกของใคร และจงอยู่กับทางเลือกของเราให้มีความสุขก็พอค่ะ
 


 

บทเรียนที่ 3 “ชีวิตเราเป็นเหมือนวงล้อ ไม่มีใครสามารถยืนอยู่บนนั้นได้นาน สุดท้ายเราก็ต้องกลับมาอยู่ที่เดิมอีกครั้ง”

สตีเฟ่น คิง ทำให้เราย้อนกลับมาคิดถึงสถานะทางสังคมของเราในปัจจุบัน และในอนาคตหากโลกเกิดการล่มสลายขึ้นมาจริงๆ (ซึ่งน่าจะอีกนานมากๆ) เนื่องจากในนิยาย โลกหลังการล่มสลายทุกตัวละครกลับมาเริ่มมีสถานะเป็นศูนย์กันอีกครั้ง ซึ่งในโลกตอนที่ยังมีอารยธรรม หลายคนอาจจะเคยเป็นที่เคารพนับถือด้วยความสามารถต่างๆ ขณะที่ในโลกหลังการล่มสลาย ทุกคนต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ และผู้ที่แข็งแกร่งเท่านั้นจึงจะอยู่รอด มันเป็นกฏเกณฑ์ธรรมชาติที่เราต่างคุ้นเคยกันดีเรื่องธรรมชาติคัดสรร ซึ่งมนุษย์ที่เหลือรอดจากโลกระบาด ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะรอดจากภัยอื่นๆ ที่จะตามมาอีก บทเรียนข้อนี้จึงสอนให้เราปล่อยวางเพราะชีวิตเราไม่แน่นอน และไม่ยึดติดกับสถานะทางสังคม เพราะท้ายที่สุดเราทุกคนก็คือมนุษย์ที่ต้องเอาตัวรอดในแต่ละวัน 
 

บทเรียนที่ 4 “คนเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมดในครั้งเดียว”

เราควรให้โอกาสตัวเอง และควรให้โอกาสผู้อื่นค่ะ แน่นอนว่าหากเป็นเรื่องที่ร้ายแรง การให้อภัยก็คงไม่ง่าย แต่หากจะให้คนคนหนึ่งเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นในทันที ก็คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เหมือนกัน เพราะทุกอย่างต้องใช้เวลาเสมอ โดยเฉพาะมนุษย์ที่เติบโตมาจากครอบครัว สภาพแวดล้อม และสังคมที่แตกต่างกัน ใน The stand สตีเฟ่น คิง แสดงให้เราเห็นถึงสัญชาตญาณของมนุษย์ที่แต่ละคนแสดงออกมาไม่เหมือนกัน ด้วยปมในวัยเด็ก การเลี้ยงดู และความต้องการในชีวิตของแต่ละคน ทุกตัวละครสะท้อนให้เราเห็นว่ามนุษย์ไม่ได้เติบโตด้วยตัวเอง ทุกคนล้วนเติบโตจากคนรอบข้าง เมื่อต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองก็ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีต้นแบบมาจากผู้อื่นด้วยเหมือนกัน ดังนั้น ในบทเรียนข้อนี้ เราจึงไม่ควรตั้งความหวังว่าใครจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เปลี่ยนไปมากเท่าไหร่ หรือปลี่ยนแปลงไปจริงไหม เพราะการเปลี่ยนบางอย่างอาจจะเท่ากับการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เคยทำมาทั้งชีวิตของเขาก็ได้ เล็กน้อยของเราอาจจะเป็นภูเขาของใครสักคน 
 

. . . . . . . . . 

บทเรียนที่นำมายกตัวอย่างให้อ่านกันนี้ อาจจะไม่ใช่บทเรียนที่ดีที่สุด แต่เป็นบทเรียนที่เราสามารถเรียนรู้และนำมาปรับใช้ในชีวิตของเราได้ แม้ว่าโลกของเราจะยังไม่ล่มสลายก็ตาม เพราะบทเรียนเหล่านี้ ไม่ได้สอนให้เราเอาไปใช้หลังจากที่โลกล่มสลายแล้วนะคะ แต่สอนให้เรารู้จักตัวเองและผู้อื่นมากขึ้น รู้จักพึ่งพาตนเอง เข้าใจความแตกต่างของมนุษย์ และเคารพการตัดสินใจของผู้อื่น ซึ่งพี่เชื่อว่าเราทุกคนเข้าใจบทเรียนเหล่านี้กันอยู่แล้ว แต่จะนำไปใช้ได้จริงไหมก็ลองกลับไปอ่านบทเรียนข้อสุดท้ายดูอีกรอบหนึ่งค่ะ เพราะว่า “คนเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมดในครั้งเดียว” ลองหยิบไปใช้ดูกันสักบทเรียนไหมคะ ^^

พี่แนนนี่เพน

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
https://stephenking.fandom.com/wiki/The_Stand
https://en.wikipedia.org/wiki/The_Stand
https://www.stephenking.com/library/novel/stand_the.html
https://www.imdb.com/title/tt0108941/?ref_=fn_al_tt_2

Deep Sound แสดงความรู้สึก

พี่แนนนี่เพน
พี่แนนนี่เพน - Columnist สาวเหนือที่มีความสุขกับการเขียนนิยาย และเชื่อว่านิยายให้อะไรดีๆ กับสังคมเสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด