The Chosen EP.05 : ล.โลกลัลล้า - ล้มได้ก็ลุกได้ : เจาะลึกเทคนิคการตลาดจากนักเขียนที่โตมากับความล้มเหลว!


 

                    “ในโลกนี้ไม่มีความพยายามใดที่สูญเปล่า”

                    กว่าที่เอิร์ธ “ล.โลกลัลล้า” จะพูดคำนี้ออกมาได้ เธอใช้เวลากว่าสิบปีบนเส้นทางนักเขียน อดทนและพยายามพิสูจน์ตัวเองจนผ่านความล้มเหลวมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน 

                    เอิร์ธเริ่มต้นเป็นนักเขียนจากการเป็นนักอ่านเหมือนนักเขียนหลายๆ คนเลยค่ะ เธอมีความฝันอยากจะเห็นนิยายตีพิมพ์เป็นหนังสือสักเรื่อง และอยากจะเห็นนิยายของตัวเองวางขายตามร้านหนังสือทั่วไปบ้าง ปัจจุบันความฝันของเอิร์ธเป็นยิ่งกว่าความจริงอีกค่ะ นอกจากจะมีนิยายตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ และวางขายตามร้านหนังสือแล้ว ยังมีนิยายในโปรเจ็กต์ UNISTAR ที่ทำเป็นหนังสือทำมือ และวางขายออนไลน์บนเว็บเด็กดีอีกด้วย 

                    แต่กว่าที่ ล.โลกลัลล้า จะเป็นนามปากกาที่เรารู้จักอย่างทุกวันนี้ เส้นทางนักเขียนของเธอไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนดั่งในนิยาย และการเป็นนักเขียนสำหรับเอิร์ธไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่แค่ลงมือเขียนก็ประสบความสำเร็จตั้งแต่เรื่องแรก 

                    พี่แนนนี่เพนจึงมีเรื่องราว “ความล้มเหลว” ของนักเขียนสาวคนนี้มาบอกต่อ ถึงนักเขียนที่กำลังสู้เพื่อความฝันของตัวเอง ไม่ว่าคุณจะเขียนนิยายเป็นงานอดิเรกเพื่อความสุข หรือเขียนเพื่อสร้างรายได้ เรื่องราวของล.โลกลัลล้า จะทำให้คุณอยากทำความฝันให้สำเร็จ และไม่ยอมแพ้บนเส้นทางนักเขียนได้แน่นอนค่ะ
 

                    อ่านผลงานของ   ล.โลกลัลล้า

Clip

ล.โลกลัลล้า - ล้มได้ก็ลุกได้ : เจาะลึกเทคนิคการตลาดจากนักเขียนที่โตมากับความล้มเหลว

1
“ล.โลกลัลล้า” นามปากกาที่ 10 ปีก่อนไม่มีใครรู้จัก

                    ตามเส้นทางนักเขียนของ ล.โลกลัลล้า หลังจากเอิร์ธเป็นนักอ่านที่อยากมีผลงานเป็นของตัวเองบ้าง ความพยายามแรกที่ลงมือทำก็คือ การเขียนนิยายลงบนเว็บไซต์เด็กดี ตั้งแต่สมัยที่เว็บยังไม่มีระบบ My.iD เลยค่ะ แต่ใครจะไปรู้ว่าการเขียนนิยายออนไลน์ของเอิร์ธในวันนั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้เธอค้นพบโอกาสของนักเขียนบนโลกออนไลน์ 

                    เอิร์ธเคยอ่านและลงนิยายในเด็กดีตั้งแต่เว็บยังไม่มีระบบ My.iD เลยค่ะ ตอนนั้นเหมือนเว็บเด็กดีเป็นพื้นที่ลงนิยายเป็นหลัก ตอนหลังพอมีระบบ My.iD ก็เริ่มมีอย่างอื่นเข้ามามากขึ้น จนเข้าสู่ยุคสมาร์ทโฟน ถึงเริ่มมีแอปอ่านนิยายในมือถือ แต่ตอนแรกๆ เราก็ไม่ได้สนใจแอปเท่าไหร่ ยังเคยชินกับการอ่านบนเว็บอยู่ ยังคิดอยู่เลยว่าต้องไปหาโค้ดตกแต่งหน้านิยายสวยๆ ไว้ดึงดูดคนอ่าน (หัวเราะ) แต่ไปๆ มาๆ ถึงเพิ่งรู้ว่า นักอ่านส่วนใหญ่ก็เลือกอ่านมือถือกันแล้ว”

                    นี่ก็เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญเหมือนกัน เพราะมีช่องทางให้อ่านในมือถือได้นี่เอง เลยทำให้ยอดคนอ่านออนไลน์เพิ่มมากขึ้นสุดๆ เพราะเมื่อก่อนเฉพาะคนที่มีคอมพิวเตอร์ส่วนตัวเท่านั้น ถึงจะอ่านนิยายได้บ่อยๆ แต่เดี๋ยวนี้ทุกคนมีมือถือ ทุกคนสามารถเข้าถึงนิยายได้ตลอดเวลา สมัยก่อน สำหรับนิยายเรื่องหนึ่ง ยอดแฟนคลับแค่หลักร้อยก็ถือว่าเยอะแล้ว เดี๋ยวนี้นิยายหลายเรื่องมีแฟนคลับเป็นพันเป็นหมื่น แต่นั่นก็ทำให้นักเขียนมีช่องทางในการขายนิยายมากขึ้นด้วย ไม่จำกัดว่าต้องขายเป็นเล่มอย่างเดียวแล้ว”

                    แต่ถึงอย่างนั้นความฝันของเอิร์ธดันเกิดขึ้นในยุคที่โลกหนังสือกับโลกออนไลน์กำลังคาบเกี่ยวกันอยู่ เมื่อมีความฝันอยากจะมีหนังสือตีพิมพ์สักเรื่อง นอกจากจะต้องสร้างผลงานบนโลกออนไลน์แล้ว ยังต้องพัฒนาฝีมือ ฝึกฝนตัวเอง และขยันส่งผลงานให้สำนักพิมพ์พิจารณา หรือเข้าประกวดในงานต่างๆ อีกด้วย ซึ่งเอิร์ธก็ทำมาแล้วทุกวิธีเพื่อทำความฝันให้เป็นจริง แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ และยังเคยคิดยอมแพ้อยู่หลายหน เพราะรู้สึกว่าทำมาทุกวิธีแล้ว แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็ยังเหมือนเดิม 

                    สมัยก่อนการจะได้ตีพิมพ์หนังสือสักเล่ม ยอมรับเลยว่ายากจริงๆ ค่ะ เมื่อก่อนโลกโซเชียลและการขายของออนไลน์ไม่แพร่หลาย นักอ่านส่วนใหญ่รู้จักหนังสือผ่านร้านหนังสือ หรืองานสัปดาห์หนังสือเป็นหลัก นักเขียนที่อยากมีผลงานออกสู่ตลาดเลยต้องพึ่งการส่งสำนักพิมพ์อย่างเดียว ไม่มีทางเลือกอื่นมากนัก คนที่ตัดสินว่าผลงานเรื่องไหนจะได้ตีพิมพ์ คือ บรรณาธิการหรือ บก. ที่คัดต้นฉบับเรา ส่วนนักเขียนที่ได้รับได้การติดต่อโดยตรงมักเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว หรือผลงานเป็นที่รู้จักในโลกออนไลน์จนสำนักพิมพ์มั่นใจว่ามีฐานคนซื้อมากพอ”

                    ส่วนคนที่เริ่มต้นจากศูนย์เลย อย่างเช่นเอิร์ธ ก็ต้องดิ้นรนสุดๆ เอิร์ธยอมรับว่าไม่ได้เป็นคนที่มีพรวรรค์ด้านการเขียนและภาษา แต่เราชอบอ่านหนังสือมากและชอบสร้างโลกในจินตนาการ เมื่อก่อนตอนที่ลงนิยายในเว็บ เรื่องเราก็แทบไม่มีคนอ่าน เพราะทักษะการเล่าเรื่องยังไม่ดีพอ เลยต้องพัฒนาฝีมือตัวเองไปเรื่อยๆ ใช้วิธีเขียนแล้วส่งให้สำนักพิมพ์พิจารณา หรือประกวดในงานต่างๆ ซึ่งเกือบทั้งหมดก็โดนปัดตก (หัวเราะ) ก็ทำแบบนี้มาตลอดหลายปีเลยค่ะ เผชิญกับความผิดหวังมาก็เยอะ เคยคิดยอมแพ้อยู่หลายหน เพราะรู้สึกว่าทำมาขนาดนี้ แต่ทำไมผลลัพธ์ก็ยังเหมือนเดิม ไม่มีอะไรคืบหน้าเลย แต่สุดท้ายเราก็ทิ้งการเขียนนิยายไปไม่ได้อยู่ดี เพราะเรารักมันจริงๆ”

                    เมื่อเอิร์ธไม่คิดยอมแพ้ ความฝันที่อยากทำให้สำเร็จจึงดำเนินต่อไป และความพยายามที่เอิร์ธทำมาก็ไม่สูญเปล่าจริงๆ ค่ะ นิยายของเอิร์ธได้ตีพิมพ์และวางขายในร้านหนังสือตามที่ฝันไว้ แม้จะไม่ได้ขายดีมากเท่าไหร่ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เอิร์ธเห็นอนาคตบนเส้นทางนักเขียนมากขึ้น 

                    “พอฮึดสู้ต่อไปเรื่อยๆ ก็มีครั้งหนึ่งครั้งแรกเลยที่ได้เข้ารอบการประกวดของสำนักพิมพ์หนึ่ง ได้รับรางวัลรองชนะเลิศด้วย แต่ก็ไม่ได้ตีพิมพ์อยู่ดี มันก็รู้สึกเหนื่อยเหมือนกัน เหมือนเดินทางกลางทะเลมายาวนานแล้วเพิ่งมองเห็นฟากฝั่ง แต่มันกลับยาวไกลกว่าที่เราคิดไว้ แม้ตอนนั้นจะรู้สึกผิดหวัง แต่มันก็ทำให้เราได้ตระหนักว่า ที่พยายามมาตลอดหลายปี มันมีความคืบหน้านะ มันยังไม่ได้สูญเปล่า เราจึงลองกัดฟันสู้อีกเฮือกหนึ่ง เขียนนิยายเรื่องใหม่แล้วส่งให้สำนักพิมพ์พิจารณา แล้วเรื่องนั้นก็เป็นเรื่องแรกที่เราได้ตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม ตอนนั้นก็ดีใจเหมือนเป็นความฝันเลย เราอยากจะเห็นนิยายเราเป็นหนังสือสักเรื่อง อยากเห็นนิยายตัวเองวางขายตามร้านหรืองานหนังสือ ถึงแม้ว่าสุดท้ายเรื่องนั้นก็ยังขายไม่ได้ดีมากเท่าไหร่ เราก็ยังต้องดิ้นรนต่อไป (หัวเราะ)”

                    “แต่มาในวันนี้ พอได้เห็นว่าเราเขียนนิยายแล้วยังมีผู้อ่านที่รอคอยเรื่องใหม่ๆ ของเราอยู่ เมื่อคิดย้อนกลับไปสิบกว่าปีที่แล้ว ไม่มีใครอ่าน หรือรู้จักนิยายของเราเลยด้วยซ้ำ มันทำให้เอิร์ธได้เห็นว่าเส้นทางที่ยาวนานจนเหมือนไร้ความหวัง ความพยายามตลอดหลายปีของเรา มันสร้างผลลัพธ์ในปัจจุบันให้กับเราแล้ว ความอดทนต่ออุปสรรคที่ผ่านมา มันไม่ได้ไร้ความหมายเลยจริงๆ ดังนั้น ถ้ามีใครที่อยากจะเป็นนักเขียนแล้วรู้สึกว่าเส้นทางไม่ได้ง่ายเลย ก็อยากจะบอกว่า ขอให้เขียนต่อไปอย่าเพิ่งหยุด เพราะในโลกนี้ไม่มีความพยายามใดที่สูญเปล่า ขอแค่เรายังไม่ยอมแพ้ สักวันมันจะต้องสำเร็จแน่นอนค่ะ”
 

2
ในยุคที่นักเขียนขายนิยายออนไลน์
และนักอ่านเป็นผู้กำหนดเทรนด์

                    ในระหว่างที่เอิร์ธกำลังพยายามทำความฝันให้สำเร็จอยู่นั้น เธอก็ได้ก้าวเข้าสู่ยุคที่คนอ่านนิยายออนไลน์กันมากขึ้น เอิร์ธสังเกตเห็นว่าการลงนิยายออนไลน์บนเว็บเด็กดี นอกจากจะสร้างโอกาสเพื่อตีพิมพ์ผลงานแล้ว ยังเพิ่มโอกาสการเป็นนักเขียนมากขึ้นอีกด้วย

                    “พูดถึงเรื่องนี้ สำหรับเอิร์ธ มันเป็นความรู้สึกที่แปลกประหลาดดีเหมือนกันค่ะ เมื่อก่อนนักเขียนพยายามลงนิยายในเว็บออนไลน์ สร้างฐานแฟนคลับเพื่อให้ผ่านพิจารณาตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ แล้วกระจายผลงานให้เป็นที่รู้จัก แต่ในยุคนี้ กลายเป็นว่าแม้นักเขียนจะได้ตีพิมพ์ผลงานแล้วก็ยังต้องเปิดแฟนเพจ เล่นโซเชียล ลงผลงานออนไลน์ เพื่อโปรโมตงานเขียนของตัวเองให้เป็นที่รู้จัก นอกจากนี้ ในความรู้สึกของเอิร์ธก็คิดว่า มุมมองค่านิยมหลายอย่างก็เปลี่ยนไปด้วย เมื่อก่อนนักเขียนที่ได้ตีพิมพ์หนังสือเท่านั้น ถึงจะถูกเรียกว่านักเขียนมืออาชีพ แต่ในปัจจุบันนี้ นักเขียนมืออาชีพ อาจเป็นนักเขียนที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก โดยไม่ได้เกี่ยวว่าจะมีผลงานได้พิมพ์เป็นหนังสือหรือไม่ก็ตาม นั่นคือสิ่งที่แตกต่างระหว่างสองยุคที่เราผ่านมา”

                    และการที่มีนักอ่านออนไลน์มากขึ้น ก็ทำให้ผลงานเรามีโอกาสกระจายสู่ท้องตลาดได้ง่ายขึ้นค่ะ เมื่อก่อนตอนที่ยังไม่มีแพลตฟอร์มออนไลน์ ก็มีแค่สำนักพิมพ์กับร้านหนังสือที่กระจายผลงานได้ กว่าจะไปถึงมือนักอ่านจริงๆ ก็ผ่านหลายต่อเหมือนกัน แต่ตอนนี้นักเขียนกับนักอ่านสามารถเข้าถึงกันได้โดยตรงแล้ว แน่นอนว่าข้อดีตรงนี้ก็เพิ่มโอกาสให้นักเขียนอย่างมาก

                    จากยุคที่นักเขียนลงนิยายให้อ่านฟรีจนกระทั่งสามารถขายนิยายบนเว็บเด็กดีได้ เอิร์ธมองว่าการขายนิยายออนไลน์เป็นอีกช่องหนึ่งที่นักเขียนสามารถเผยแพร่ผลงาน และสร้างรายได้ให้ตัวเองได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องมีหนังสือเป็นเล่มก็สามารถเป็นนักเขียน และมีรายได้จากผลงานของตัวเองได้ 

                    สมัยนี้นักเขียนสามารถสร้างโอกาสและรายได้ให้ตัวเองได้มากกว่าเมื่อก่อน เพราะมีช่องทางการขายทางออนไลน์ ซึ่งรวดเร็วและสะดวกมาก ถ้าเทียบกับการทำงานผ่านระบบสำนักพิมพ์ในสมัยก่อน ซึ่งมีขั้นตอนหลายอย่าง ทั้งพิจารณาต้นฉบับ บรรณาธิการพิสูจน์อักษร ออกแบบปกหนังสือ บางทีก็ต้องรอคิว รอกันข้ามปีก็มีค่ะ แต่ถ้าขายทางออนไลน์ รอทีมงานเด็กดีตรวจไม่กี่วันก็วางขายได้แล้ว นักอ่านที่ติดตามก็ไม่ร้องรอค้างนาน สามารถอ่านต่อได้ทันที”

                    ทั้งนี้ เอิร์ธมองว่าตัวนักเขียนเองก็ต้องปรับตัวตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเหมือนกัน เพราะโอกาสของนักเขียนขึ้นอยู่กับนักอ่านด้วยเช่นกัน 

                    นักเขียนก็ต้องปรับตัวตามยุคสมัยด้วยเหมือนกัน สมัยก่อนที่สำนักพิมพ์เป็นหลักในการกระจายผลงาน หนังสือทุกเล่มที่ถูกเลือกมาตีพิมพ์ ก็จะถูกคัดด้วยมาตรฐานของสำนักพิมพ์ สำนักพิมพ์กรองนิยายที่ส่งมาโดยใช้มาตรฐานจากความสมบูรณ์และความน่าสนใจของเนื้อหา รวมถึงความสามารถด้านภาษาของนักเขียนด้วย โดยมีบรรณาธิการเป็นผู้กำหนดเกณฑ์ ดังนั้นนักเขียนที่มีทักษะการใช้ภาษาและฝีมือขั้นเชิงการเล่าเรื่องที่ดี ผลงานก็มีโอกาสได้รับการตีพิมพ์”

                    “แต่พอเป็นยุคของนิยายออนไลน์ นิยายในเว็บที่มีอยู่เป็นหมื่นเป็นแสน นักอ่านเป็นผู้กำหนดเทรนด์นิยาย ถ้าเขียนนิยายถูกใจคนอ่านจำนวนมากได้ เรื่องนั้นก็จะถูกดันจนได้รับยอดวิวสูงๆ ซึ่งก็มีหลายสำนักพิมพ์ที่เปลี่ยนรูปแบบการคัดนิยายแล้ว จากระบบบรรณาธิการมาเลือกนิยายยอดนิยมเพื่อตีพิมพ์แทน ดังนั้น การที่คนอ่านออนไลน์เพิ่มมากขึ้น สร้างโอกาสให้นักเขียนเพิ่มขึ้นก็จริง แต่นักเขียนก็ต้องปรับตัวเองตามกระแสตลาดด้วยเหมือนกัน นี่คือสิ่งที่เอิร์ธมองว่ามันแตกต่างจากเมื่อก่อน”
 

                    อ่านผลงานของ     ล.โลกลัลล้า

3
เมื่อนักเขียนต้องผันตัวมาเป็นนักการตลาด 

                    นิยายโปรเจ็กต์ UNISTAR ของ ล.โลกลัลล้า เปิดขายบนเว็บเด็กดีมาแล้ว 3 เรื่อง สิ่งที่น่าสนใจคือ นักอ่านยินดีสนับสนุนนิยายของเอิร์ธเป็นจำนวนมาก ทั้งในรูปแบบหนังสือทำมือ และแบบแพ็กเกจบนเว็บเด็กดี ซึ่งเอิร์ธเล่าว่าเธอพยายามคิดในมุมของนักเขียน และนักอ่านไปพร้อมๆ กัน ทั้งราคานิยายที่ไม่ว่าจะขายทางไหนก็มีต้นทุนที่มองไม่เห็นอยู่เสมอ และความต้องการของนักอ่านที่มีกำลังซื้อในรูปแบบต่างๆ ไม่เหมือนกัน 

                    เอิร์ธคิดว่าการเขียนนิยายไม่ว่าจะขายทางไหน มันก็มีต้นทุนที่มองไม่เห็นอยู่ นักเขียนต้องทุ่มเทใช้เวลาหลายเดือนกว่านิยายเรื่องหนึ่งจะออกมาได้ซึ่งเวลาที่เขาเอามาเขียนนิยาย ถ้าเขาไปทำงานอย่างอื่น เขาก็คงมีรายได้แน่นอน แต่นิยายกลับไม่รู้ว่าจะขายได้หรือเปล่า ดังนั้นนิยายทุกเรื่องอย่างน้อยก็มีต้นทุนเรื่องเวลา”

                    ตอนที่เราวางแผนการขายนิยาย เราพยายามคิดในมุมคนอ่าน แล้วแบ่งกลุ่มคนอ่านออกมาเป็นหลายประเภท นิยายหนึ่งเรื่องของเราจึงมีการขายหลายรูปแบบและหลายราคา หนังสือเป็นเล่มของเอิร์ธก็อาจราคาสูงกว่าช่องทางอื่นๆ แต่เราก็พยายามเน้นของแถมจัดเต็ม และหนังสือทำมือของเอิร์ธค่อนข้างฟรีสไตล์เรื่องการขอลายเซ็น ผู้อ่านอยากจะให้เซ็นตรงไหน หรืออยากให้เราหรือตัวละครเขียนข้อความอวยพรให้กำลังใจ ก็คือทำให้ได้หมดเลยตามที่รีเควสมา คือเราตั้งใจให้สำหรับผู้อ่านที่อยากสะสมจริงๆ เพราะเอิร์ธเองก็เป็นนักอ่านสายสะสมเหมือนกัน หนังสือเล่มไหนที่มีลายเซ็นหรือนักเขียนตั้งใจเขียนข้อความให้เราเป็นพิเศษ เราก็จะรักหนังสือเล่มนั้นมากๆ พอเอิร์ธมีโอกาสทำหนังสือเล่มด้วยตัวเอง ก็เลยอยากทำตรงนี้ให้ผู้อ่านด้วย อยากให้ผู้อ่านทุกคนมีความสุขตอนได้รับหนังสือของเรา”

                    ส่วนช่องทางขายออนไลน์ในเด็กดี ก็เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้อ่านที่อยากอ่านเรื่องของเราแต่มีงบจำกัด ถ้าเทียบกับราคาเล่มหรือขายออนไลน์ในช่องทางอื่น ช่องทางการขายในเด็กดีจะราคาต่ำที่สุด นิยายในเซ็ตยูนิสตาร์ทุกเรื่องสามารถอ่านจนจบได้ในราคา 50 coins หรือ 25 บาท เพราะเอิร์ธเชื่อว่านักอ่านทุกคนถ้าเขามีกำลังทรัพย์มากพอ เขาก็อยากอุดหนุนนิยายทุกเรื่องที่ชอบอยู่แล้วค่ะ แต่สำหรับนักอ่านที่มีงบจำกัด เขาอาจจะไม่สามารถซื้ออ่านได้เลย เพราะหนังสือเรื่องนั้นราคาสูงเกินไป ถ้าเรามีทางเลือกให้นักอ่านสามารถอ่านได้ในราคาที่ไม่แพง มันก็ทำให้พวกเขาตัดสินใจอุดหนุนได้ง่ายขึ้นค่ะ”

4
การสนับสนุนจากนักอ่านไม่ใช่แค่เรื่องรายได้ 
แต่ยังเป็นกำลังใจให้นักเขียนด้วย

                    เมื่อถามเอิร์ธว่าการเขียนนิยายสามารถเป็นอาชีพได้ไหม เอิร์ธให้มุมมองที่น่าสนใจมากๆ เลยค่ะว่า อาชีพนักเขียนต้องมาคู่กับวินัย หากอยากจะเขียนนิยายเป็นอาชีพจริงๆ ต้องมีวินัยในการเขียน และต้องเขียนนิยายได้อย่างสม่ำเสมอด้วย

                    เอิร์ธเชื่อว่านักเขียนสามารถเป็นอาชีพหลักได้ แต่จะมีรายได้เยอะแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับวินัยและความอดทนของแต่ละคนค่ะ อย่างที่เอิร์ธเคยเล่าไปว่ากว่าจะเข็นนิยายเรื่องหนึ่งในจบได้นั้นก็ต้องใช้เวลาเป็นเดือน ถ้าจะทำเป็นอาชีพหลักก็ต้องออกนิยายเรื่องใหม่อย่างสม่ำเสมอ เพราะไม่ใช่นิยายทุกเรื่องที่จะดังเป็นพลุแตกจนผ่านไปกี่ปีก็ยังขายดี ดังนั้นนักเขียนต้องมีวินัยกับตัวเองสูงมากๆ วันหนึ่งจะต้องเขียนให้ได้กี่หน้าถึงจะปิดต้นฉบับได้ตามเวลา ถ้าปีหนึ่งออกเรื่องใหม่ได้มากพอ นักเขียนก็จะมีรายได้ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้”

                    นอกจากนี้ เอิร์ธยังมองว่ารายได้จากการขายนิยายไม่ได้หล่อเลี้ยงเพียงแค่ชีวิตนักเขียนเท่านั้น การสนับสนุนจากนักอ่านยังเป็นแรงใจที่ทำให้นักเขียนอยากเขียนนิยายต่อไปเรื่อยๆ อีกด้วย 

                    เอิร์ธรู้สึกดีใจมากๆ เลยค่ะ อยากขอบคุณผู้อ่านทุกคนที่สนับสนุนและอุดหนุนนิยายทุกๆ เรื่องของเราเลย ถ้านึกถึงสมัยก่อนที่เริ่มเขียน เขียนให้อ่านฟรีก็ยังไม่มีคนอ่านเลยค่ะ ฮ่า แต่ตอนนี้ก็ยังมีนักอ่านที่ถึงแม้จะได้อ่านฟรีจนจบไปแล้ว เขาก็ยังยินดีที่จะอุดหนุนต่อ เรารู้สึกตื้นตันใจมากจริงๆ เอิร์ธก็จะพยายามตั้งใจกับงานเขียนทุกเรื่องอย่างเต็มที่ต่อไปนะคะ”

                    “สำหรับเอิร์ธนะคะ เงินจากที่นักอ่านเขาสนับสนุนเรา มันไม่ได้เป็นเพียงรายได้อย่างเดียว แต่มันมีความหมายมากกว่านั้นเยอะ เพราะมันคือ ความชื่นชอบและความเชื่อใจของนักอ่านที่เขายินดีสนับสนุนเรา ทำให้เรารู้สึกว่างานเขียนของเรามีคุณค่ามากพอที่นักอ่านเขาอยากจะเก็บไว้ในความทรงจำตลอดไป ในทางกลับกัน ถ้าไม่มีนักอ่านอุดหนุนนิยายเรื่องนั้นเลย มันก็ไม่ใช่แค่ทำให้นักเขียนขาดรายได้อย่างเดียว แต่ก็ทำให้นักเขียนรู้สึกท้อแท้ใจได้เหมือนกันว่า นิยายเราคงไม่ดีพอใช่มั้ย นักอ่านถึงไม่อยากอุดหนุน ดังนั้น การที่นักอ่านยินดีสนับสนุนนักเขียน จึงเป็นทั้งรายได้ที่หล่อเลี้ยงแรงกายของนักเขียนและเป็นทั้งกำลังใจให้นักเขียนมีพลังที่จะมุ่งมั่นเขียนต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ เอิร์ธจึงคิดว่ารายได้ก็เป็นแรงใจในการพัฒนาการเขียนที่สำคัญมากเหมือนกัน

5
“ล.โลกลัลล้า” กับความฝันที่อยากทำต่อไป 

                    แม้ว่าเอิร์ธจะทำความฝันบนเส้นทางนักเขียนสำเร็จไปแล้ว แต่อีกหนึ่งความฝันของเอิร์ธจากที่เคยพูดคุยกันมาก็คือ การเรียนจบปริญญาเอก และทำงานเป็นอาจารย์ให้ได้ยังคงเป็นเป็นความฝันที่เอิร์ธกำลังพยายามทำให้สำเร็จอยู่ค่ะ 

                    “เป้าหมายชีวิตก็ยังเหมือนเดิมค่ะ ตั้งใจจะเรียนจบปริญญาเอกแล้วทำงานเป็นอาจารย์ แต่นิยายจะเขียนอยู่เหมือนเดิม สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปน่าจะเป็นความรู้สึกเรามากกว่า พอเราได้เผชิญกับความล้มเหลว แล้วผ่านมันมาได้ ก็ทำให้เราเข้าใจตัวเองและเติบโตมากยิ่งขึ้น”
 


 

                    เอิร์ธเล่าว่าปีที่ผ่านมา เธอได้ไปเวิร์คช็อป Creative Writing ที่    Paris American Academy   เป็นหลักสูตรอบรม 1 เดือนที่น่าสนใจมากๆ แม้ว่าจะต้องเรียนเป็นภาษาอังกฤษหมด แต่อาจารย์และเพื่อนร่วมคลาสก็คอยช่วยเหลือและให้กำลังใจอยู่เสมอ สิ่งที่เอิร์ธได้เรียนรู้จากการเรียนหลักสูตรระยะสั้นนี้ ก็คือ หัวใจหลักของการเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องฝีมือ แต่เป็นความรักในสิ่งที่ตัวเองทำจากใจจริงต่างหาก ที่ทำให้เราอยากสร้างผลงานดีๆ ออกมาเรื่อยๆ 

                    “เอิร์ธยอมรับว่าอาชีพนักเขียนในเมืองไทย บางคนอาจมองว่าไม่ใช่อาชีพที่มั่นคงหรือมีเกียรติสักเท่าไหร่ แต่สำหรับทางฝรั่งนั้นไม่ใช่เลย พวกเขามองว่านักเขียนหรือคนที่ทำงานด้านศิลปะ เป็นคนมีความสามารถที่น่าประทับใจ เพราะพวกเขาเคารพทรัพย์สินทางปัญญา ให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์อย่างมาก อาชีพนักเขียนในมุมมองของคนฝรั่งนั้น ต่อให้ไม่ได้ทำรายได้มากมาย แต่แค่บอกว่ามีผลงานตีพิมพ์สักเล่ม ทุกคนก็ตื่นเต้นกันสุดๆ แล้ว”

                    “แน่นอนว่าความรู้ที่ได้จากในเวิร์คช็อปครั้งนี้ก็มีเหมือนกัน หลักๆ คือได้เห็นข้อแตกต่างวิธีการเขียนและคิดของฝรั่ง รวมถึงระบบการทำพิจารณาตีพิมพ์นิยายในอเมริกา แต่สิ่งที่ได้มาเยอะที่สุด คือ ประสบการณ์ ซึ่งได้เปลี่ยนทัศนคติของเราหลายอย่าง มันทำให้เอิร์ธมั่นใจในตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการใช้ภาษาต่างประเทศ เราเริ่มมองอะไรกว้างมากขึ้น และเห็นคุณค่าของงานเขียนที่เรารักมากขึ้น เอิร์ธคิดว่าหัวใจสำคัญที่สุดของการเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องฝีมือ แต่เป็นความรักในสิ่งที่ตัวเองทำจากใจจริง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เอิร์ธสัมผัสได้จากทั้งอาจารย์และทุกคนที่มาร่วมเวิร์คช็อป บางคนเขียนมาตลอดทั้งชีวิตจนอายุห้าสิบหกสิบกว่า ก็ยังไม่เคยตีพิมพ์ผลงานเลยสักเล่ม แต่ทุกครั้งที่เขาเล่าถึงสิ่งที่เขาเขียน เล่าถึงสิ่งประสบการณ์ที่ได้จากการเขียน เขาพูดถึงมันด้วยรอยยิ้มที่สดใส ด้วยแววตาที่เต็มไปชีวิตชีวา เขาไม่เคยดูถูกสิ่งที่ตัวเองทำด้วยใจรัก สำคัญแค่ เขามีความสุขใน ณ​ ขณะที่ทำมัน สิ่งนั้นต่างหากที่ทำให้งานเขียนของเรามีพลัง

                    แม้ว่าอีกหนึ่งความฝันของเอิร์ธจะกำลังเริ่มต้นขึ้น แต่ระหว่างทางเอิร์ธก็ได้พยายามสร้างประสบการณ์ด้านการเขียนให้ตัวเองด้วยเช่นกัน สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ล.โลกลัลล้า รักในการเขียน และอยากทำความฝันของเธอให้ดีที่สุดในทุกเส้นทางที่เลือกเดิน 
 

•   •    •       • 

                    นี่จึงเป็นเรื่องราวบนเส้นทางนักเขียนตลอดสิบปีที่ผ่านมาของ “ล.โลกลัลล้าจากความฝันเล็กๆ ของเด็กหญิงคนหนึ่งที่อยากมีนิยายตีพิมพ์สักเรื่อง ในวันนี้นอกจากจะทำความฝันสำเร็จแล้ว เอิร์ธยังมีนิยายออนไลน์ยอดวิวหลักล้านที่ขายบนเว็บเด็กดี   และ มีหนังสือทำมือที่เอิร์ธตั้งใจทำในทุกขั้นตอนอย่างสุดความสามารถเพื่อแฟนๆ   นักอ่านทุกคน อีกด้วย   

                    หากจะบอกว่าความสำเร็จในวันนี้เป็นเพราะประสบการณ์ที่ผ่านมา ก็คงป็นความล้มเหลวที่ผลักดันเอิร์ธมาจนถึงทุกวันนี้ และหากจะบอกว่านิยายของเธออยู่ในกระแส ก็อาจจะต้องย้อนกลับไปดูยังจุดเริ่มต้นที่ผ่านมาว่าเอิร์ธได้ทุ่มเท และปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน กว่าจะมีวันที่นักอ่านรู้จักเธอในชื่อ   ล.โลกลัลล้า”   

                    ความพยายามของเอิร์ธได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าหากรักในเส้นทางนี้จริง  คุณจะต้องหาหนทางไปสู่ความสำเร็จได้แน่นอน      ขอแค่คุณไม่ยอมแพ้   และสร้างโอกาสบนเส้นทางนักเขียนด้วยตัวของคุณเอง   เหมือนกับที่เอิร์ธให้โอกาสตัวเองสร้างเส้นทางนักเขียนบนเว็บเด็กดี 

                    เส้นทางของนักเขียนอาชีพมันไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป บางครั้งก็ต้องเผชิญหน้ากับความผิดหวัง เช่น ถูกปฏิเสธจากสำนักพิมพ์ ยอดขายหรือยอดวิวไม่เป็นตามที่คาดหวัง บางครั้งก็ต้องเจอเรื่องทำร้ายจิตใจ เช่น ความคิดเห็นบั่นทอนกำลังใจ หรือถูกเอาเปรียบในโลกธุรกิจ บางครั้งก็ต้องเอาชนะความรู้สึกที่ไม่มั่นคงของตัวเองให้ได้ เช่น การถูกคาดหวังหรือความกดดันจากนักอ่านหรือคนรอบข้าง ถ้าเราสามารถอดทนกับสิ่งเหล่านี้ได้ ไม่ยอมแพ้ไปเสียก่อน และไม่ปล่อยให้มันมากระทบกับคุณภาพงานเขียนของเรา ความฝันที่อยากเป็นนักเขียนมืออาชีพ ก็ไม่ไกลจากความสำเร็จแน่นอนค่ะ ทุกคนสามารถเป็นนักเขียนได้จริงๆ ค่ะ

                    และสำหรับใครที่สนใจในงานเขียน มาเริ่มลงมือเขียนนิยาย และศึกษาการขายได้ง่ายๆ ที่ลิงก์นี้เลยค่ะ : bit.ly/writer-howto
 

พี่แนนนี่เพน
 

                    อ่านผลงานของ     ล.โลกลัลล้า

5 เรื่องต้องรู้! เปิดขาย “แพ็กเกจใหม่” อย่างไรไม่ให้เสียสิทธิ์แคมเปญ “ลดราคา”

พี่แนนนี่เพน
พี่แนนนี่เพน - Columnist สาวเหนือที่มีความสุขกับการเขียนนิยาย และเชื่อว่านิยายให้อะไรดีๆ กับสังคมเสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด