ที่สุดของดอกไม้พิษ!
ขุดการสังหารด้วยดอกไม้จากตำนานเลื่องชื่อ

สวัสดีค่ะชาวเด็กดีทุกคน หากให้ลองนึกถึงดอกไม้ที่ปรากฏในนิยายที่เราเคยอ่าน พี่เชื่อว่าหลายๆ คนต้องมีดอกไม้ที่คิดถึงกันหลากหลายชนิดแน่นอน แต่หากเปลี่ยนให้ลองนึกถึงดอกไม้มีพิษดูบ้างล่ะ มีใครพอจะนึกชื่อออกกันบ้างไหมคะ พี่แนนนี่เพนนึกออกอยู่ชื่อหนึ่งค่ะ เป็นดอกไม้มีพิษที่พรากลมหายใจของโสกราตีส นักปราชญ์ชาวกรีกที่ถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่คำสอนผิดๆ และถูกประหารชีวิตด้วยการดื่มยาพิษที่มีส่วนผสมของต้นเฮมล็อกพิษจนตาย โดยเพลโตได้อธิบายสรรพคุณของพิษนี้ผ่านเรื่องเล่าว่า ชายคนหนึ่งได้หยิกเท้าของโสกราตีสแล้วถามเขาว่ารู้สึกไหม โสกราตีสตอบกลับมาว่าไม่ หลังจากนั้นต้นขาเขาก็เริ่มเย็นและแข็ง ชายคนนั้นก็ได้บอกว่าเมื่อพิษลามไปถึงหัวใจ เขาก็จะจากไปตลอดกาล เป็นการอธิบายความตายที่เรียบง่ายแต่หนาวไปถึงขั้วหัวใจเลยค่ะ 

เป็นยังไงคะกับเรื่องราวการตายของโสกราตีส อยากจะรู้กันบ้างแล้วใช่ไหมว่ามีพิษแบบไหนอีกบ้างที่น่าสนใจ โดยเฉพาะพิษในดอกไม้ที่นักเขียนส่วนใหญ่มักจะใช้ดอกไม้เพื่อซ่อนความนัยมากกว่าจะนำพิษจากดอกไม้มาใช้ล่อหลอกเป็นกลอุบาย (เว้นเสียแต่ว่านิยายเรื่องนั้นมีการฆาตกรรมอยู่ด้วย) ฉะนั้น มาตรวจสอบดอกไม้ที่เราอาจรู้จัก และมีพิษร้ายแรงจากตำนานทั่วโลกกันเลยค่ะ 
 


The Death of Socrates, by Jacques-Louis David (1787)

 

วอเตอร์ เฮมล็อก (Water Hemlock)

วอเตอร์ เฮมล็อก (Water Hemlock) เป็นดอกไม้ที่เกี่ยวข้องกับพิษเฮมล็อก (พืชที่ใช้สังหารโสกราตีสอย่างที่เล่าไปคร่าวๆ ก่อนหน้านี้ค่ะ) ดอกไม้ชนิดนี้ถือเป็นพืชที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือเลยก็ว่าได้ ทุกส่วนของวอเตอร์ เฮมล็อกมีพิษและสามารถทำให้เสียชีวิตภายในเวลาเพียง 15 นาทีได้เลย โดยลักษณะของมันมักจะทำให้คนที่ไม่รู้จักมาก่อนสับสน คิดว่าเป็นหัวผักกาดป่า หรือไม่ก็ผักชีฝรั่ง และกินมันเข้าไปจนทำให้ได้รับพิษโดยไม่ตั้งใจอยู่บ่อยครั้ง

โดยสารพิษซิคูท็อกซิน (cicutoxin) ที่อยู่ในรากของวอเตอร์ เฮมล็อก เป็นพิษร้ายแรงที่หากใครโชคร้ายเผลอไปกินมันเข้าอาจจะทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็วเลยค่ะ ซึ่งคนที่ได้รับพิษเข้าไปจะมีอาการชักอย่างรุนแรง ปวดท้อง คลื่นไส้ ระบบหายใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดปกติ และอาจถึงตายในที่สุด ส่วนคนที่รอดชีวิตก็มักจะความจำเสื่อม หรือไม่ก็มีอาการสั่นอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ หากสกัดสารจากดอกวอเตอร์ เฮมล็อกออกมา สามารถสร้างพิษที่ทำให้คนตายเพราะเป็นอัมพาตได้ โดยผู้ที่ถูกพิษจะรับรู้ทุกอย่างแต่ไม่สามารถขยับร่างกายได้ และมีอาการเหมือนโสกราตีส คือ ค่อยๆ เป็นอัมพาตไปทั่วร่างกายและตายในที่สุดค่ะ 
 


ต้นเฮมล็อก
 

เบลลาดอนน่า (Belladonna)

เบลลาดอนน่า (Belladonna) หรือที่รู้จักกันในชื่อ Deadly Nightshade เป็นพืชมีพิษร้ายแรงในทุกๆ ส่วนของลำต้นเลยค่ะ ไม่ได้เพียงแค่ดอกของมันเท่านั้นที่มีพิษ เมื่อรับประทานพิษส่วนลำต้น, ใบไม้, ผลเบอร์รี่, และราก เข้าไปก็ทำให้เกิดอัมพาตในกล้ามเนื้อได้ หรือหากบังเอิญสัมผัสกับใบของมันเข้าก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังได้เช่นเดียวกัน  ตามตำนานหนึ่ง ทหารของสก็อตแลนด์ได้วางยาพิษชาวเดนมาร์กที่บุกรุกด้วยไวน์ที่ทำจากผลไม้รสหวานจนถึงตาย ซึ่งความแล้วจริงแล้วมันเป็นความหวานของผลเบอร์รี่ที่มักล่อลวงเด็กๆ และผู้ใหญ่ที่ไม่รู้จักให้กินพืชที่อันตรายนี้เข้าไปนั่นเอง โดยถิ่นกำเนิดของเบลลาดอนน่า มักจะอยู่ในป่าหรือพื้นที่ทิ้งขยะในยูเรเซียตอนกลางและตอนใต้ค่ะ

อีกตำนานหนึ่งของเบลลาดอนน่า คือ มีเรื่องเล่าว่าหากชายใดก็ตามที่หลงเข้าไปในป่าลึกซึ่งมีดอกเบลลาดอนน่าขึ้นอยู่ ในยามค่ำคืนพวกเขาจะได้พบกับสาวงามที่น่าหลงใหล และล่อลวงชายหนุ่มชายหนุ่มเหล่านั้นจนไร้ซึ่งวิญญาณ หากรายไหนรอดตายก็จะมีอาการเหมือนคนบ้าไปเลย โดยตำนานนี้ยังเล่าอีกว่าหญิงสาวที่ล่อลวงชายหนุ่มเหล่านั้นมีรูปลักษณ์และคุณสมบัติการล่อลวงด้วยเสน่ห์ของแม่มดคล้ายกับเทพีเฮคาที (Hecate) หรือไทรเวีย (Trivia) ซึ่งเป็นเทพีแห่งเวทมนตร์ ไสยศาสตร์ และมนตร์ดำ อีกด้วย 
 


เบลลาดอนน่า

อะโคไนต์ (Aconite)

อะโคไนต์ (Aconite) มีชื่อเรียกที่หลากหลายและรู้จักกันดีในชื่อ มองส์ฮู้ด (Monkshood) และวูฟส์เบน (Wolfbane) ซึ่งใครที่เป็นแฟนแฮร์รี่ พอตเตอร์ น่าจะจำฉากที่ศาสตราจารย์สเนปถามแฮร์รี่ว่ามองส์ฮู้ดกับวูฟส์เบนต่างกันอย่างไรได้ดี ส่วนคำตอบจะเป็นอย่างไรนั้นต้องไปอ่านกันเองค่ะ ไม่ขอสปอยล์ แต่หากดูจากความแตกต่างภายนอก บางคนอาจคิดว่าดอกไม้สีขาวหรือสีเหลืองเป็นสายพันธุ์ของวูฟส์เบน ในขณะที่ดอกไม้สีน้ำเงินคือสายพันธุ์ของมองส์ฮู้ด ซึ่งยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดแต่ดอกไม้ทั้งสองชนิดนี้ถูกพบในสวนของวัดในยุคกลาง ทั้งสองชนิดต่างมีพิษและทำให้คนถึงตายได้เหมือนกันค่ะ โดยมีตำนานหนึ่งเล่าว่าพืชชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ภูเขาพอนตัส (Pontus) และเติบโตขึ้นมาจากนำลายของเซอร์เบอรัส (Cerberus) หมาสามหัวในเทพปกรณัมกรีกและโรมัน ที่มีหน้าที่เฝ้าทางเข้าโลกบาดาลเพื่อป้องกันคนตายไม่ให้หลบหนีและป้องกันคนเป็นเข้ามา และในตำนานปรัมปรายังเล่าถึงตำนานอื่นแบบไม่มีที่มาที่ไปว่า พิษของอะโคไนต์เป็นส่วนประกอบของยาพิษที่ใช้ฆ่าธีซุส (Theseus) อีกด้วย 

อย่างที่ทราบกันว่า อะโคไนต์ เป็นพืชที่มีพิษร้ายแรงมาก สมัยก่อนจึงมีตำนานเล่าว่าสารพิษที่สกัดจากอะโคไนต์มักถูกนำไปใช้ฆ่าสัตว์ผู้ล่า หรือหมาป่าขนาดใหญ่ จนเกิดเรื่องราวนำเขียนเป็นนิยาย ภาพยนตร์เกี่ยวกับหมาป่าเยอะแยะมากมาย ดังนั้นแล้ว คำว่า วูฟส์เบน (Wolfbane) ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของที่มาจากตำนานนี้ก็ได้ค่ะ ทั้งนี้ สารพิษที่สกัดจากอะโคไนต์ก็มักจะถูกนำไปใช้ในสงครามโบราณเพื่อตัดกำลังฝ่ายตรงข้าม โดยใช้พิษอะโคไนต์ปนเปื้อนลงในน้ำของศัตรู หรือใช้พิษทาไว้ที่ปลายหอก และลูกธนู นั่นเอง 
 


อะโคไนต์
 

แต่ละตำนานคือเก่าแก่มาก  หลายเรื่องคือเอามาเขียนนิยายต่อได้เลย สำหรับนักเขียนคนไหนที่กำลังมองหาพิษให้ตัวละครในนิยายใช้อยู่ พี่คิดว่าดอกไม้พิษที่นำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ก็น่าสนใจไม่น้อยเลยนะคะ แม้ว่าจะมีวรรณกรรมชื่อดังหลายเรื่องใช้ไปแล้วหลายชนิด แต่ก็เป็นข้อดีที่ช่วยตอกย้ำว่าดอกไม้พิษเหล่านี้สามารถพรากลมหายใจของตัวละครได้จริง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเห็นการใช้พิษแค่ในจินตนาการเท่านั้นนะคะ ในโลกความจริงปล่อยให้มันเป็นดอกไม้สวยงามต่อไปเถอะค่ะ ^^

พี่แนนนี่เพน

ขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก
https://www.mnn.com/your-home/organic-farming-gardening/photos/13-plants-that-could-kill-you/monkshood
http://writerswrite.co.za/10-deadly-poisons-a-crime-writers-resource-1/
https://en.wikipedia.org/wiki/Conium_maculatum
https://en.wikipedia.org/wiki/Aconitum


 

Deep Sound แสดงความรู้สึก

พี่แนนนี่เพน
พี่แนนนี่เพน - Columnist สาวเหนือที่มีความสุขกับการเขียนนิยาย และเชื่อว่านิยายให้อะไรดีๆ กับสังคมเสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น