ชวนส่องมุมมอง ‘นักเขียนสายดาร์ก’ จากซีรีส์ It's Okay to Not Be Okay เมื่อนิทานเป็นยากระตุ้นให้เผชิญกับโลกความเป็นจริง

ชวนส่องมุมมอง ‘นักเขียนสายดาร์ก’
จากซีรีส์ It's Okay to Not Be Okay
เมื่อนิทานเป็นยากระตุ้นให้เผชิญกับโลกความเป็นจริง



              สวัสดีค่ะชาวเด็กดีทุกคน หลังจากที่พี่แนนนี่เพนได้ดูซีรีส์เกาหลีเรื่อง It's Okay to Not Be Okay ที่ออกกาศทางช่อง Netflix จนถึงตอนล่าสุดแล้ว ขอรีวิวสั้นๆ ง่ายๆ ว่า เปลืองทิชชู่มากค่ะ ขอคอนเฟิร์มว่าซีรีส์เรื่องนี้เป็นซีรีส์แห่งปี 2020 ที่ห้ามพลาดกันเลยทีเดียว ถึงแม้ตอนนี้จะเพิ่งออกอากาศทางช่อง Netflix เพียงแค่ 4 ตอน แต่ขอการันตีเลยว่ามีอะไรให้พูดถึงซีรีส์เรื่องนี้มากมายเลยค่ะ ทั้งเรื่องของโรคทางจิตเวช การดูแลผู้ป่วยจิตเวช รวมถึงปมปริศนาต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในแต่ละตัวละครด้วยค่ะ

              แต่ในวันนี้พี่มีเรื่องราวในซีรีส์ที่น่าสนใจและอยากจะนำมาเล่าเป็นพิเศษอยู่เรื่องหนึ่งค่ะ เป็นเรื่องราวของ “โกมุนยอง” นางเอกของเรื่องที่ทำอาชีพเป็นนักเขียนนิยายเด็กสายดาร์กที่มีชื่อเสียงโด่งดังดังมากๆ ทว่าเธอดันมีภาวะต่อต้านสังคม และมีเหตุการณ์ที่ทำให้เธอถูกวิจารณ์ว่าไม่เหมาะสมที่จะเขียนหนังสือให้เด็กอ่าน  ซึ่งเรื่องราวในหนังสือนิทานที่เธอเขียน พี่มองว่าน่าสนใจมากๆ เลยค่ะ เมื่อซีรีส์นำนิทานของเธอมาเล่าประกอบเรื่องราวเป็นแอนิเมชั่น ถือเป็นวิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่ที่ผสมผสานคาแรกเตอร์นางเอกลงไปได้อย่างลงตัวเลยทีเดียว ถึงขั้นทำให้ทิชชู่ในห้องพี่หมดเกลี้ยงได้เลยค่ะ ในบทความนี้พี่จึงขอชวนทุกคนมาส่องมุมมองของนักเขียนสายดาร์กที่จะสอนให้เรามองโลกด้วยความเป็นจริงมากขึ้นกันค่ะ 
 

“ฉันโอเคที่ตัวเองเป็นแบบนี้ และคุณโอเคที่ตัวเองเป็นแบบนั้น 
ต่างคนต่างยอมรับทุกอย่างก็จบ” 

“แค่เราโอเคแล้วยังไง คนอื่นไม่ได้คิดแบบนั้นสักหน่อย”
 

              ซีรีส์เรื่อง It's Okay to Not Be Okay หรืออีกชื่อคือ Psycho But It's Okay เล่าถึงชีวิตของ ‘มุนคังแท’ เจ้าหน้าที่แผนกจิตเวชที่สละชีวิตเพื่อผู้ป่วยจิตเวช และทุ่มเทให้กับการดูแลเอาใจใส่พี่ชายที่อายุห่างกันถึง 8 ปี แถมพี่ชายยังป่วยเป็น PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) หรือโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงมาด้วย ทำให้คังแทต้องย้ายโรงพยาบาลที่ทำงานบ่อยครั้งซึ่งมีสาเหตุส่วนใหญ่ก็มาจากพี่ชายนี่แหละค่ะ แต่จะเป็นเรื่องอะไรนั้นต้องไปตามดูกันเองค่ะ

              ชีวิตของคังแทที่ดูเรียบง่าย ใจเย็น เป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ ความจริงอาจจะเป็นภาพลักษณ์ที่เก็บซ่อนอยู่ก็ได้ค่ะ เพราะมีจังหวะหนึ่งที่เขายิ้มให้ผู้ป่วย แต่ดันเป็นยิ้มที่ไม่ถึงดวงตาซะงั้น พอวันหนึ่งได้มาเจอกับ ‘โกมุนยอง’  นางเอกที่เป็นนักเขียนหนังสือเด็กสายดาร์กเข้า เมื่อได้สบตากันก็เหมือนผีเห็นผี คนประเภทเดียวกันที่มองกันออก ทว่าในมุมคังแท เขาไม่สามารถแสดงด้านที่เก็บกดออกมาได้ แต่มุนยองกลับเป็นหญิงสาวที่แสดงความไม่พอใจของเธอออกมาตรงๆ ทั้งเห็นแก่ตัว และไม่คิดถึงจิตใจของคนอื่น เมื่อทั้งคู่มีเหตุให้ต้องเกี่ยวข้องกัน งานนี้ก็ต้องมาตามลุ้นว่าพวกเขาจะเยียวยาหัวใจกันยังไงบ้าง 

              ซึ่งประโยคข้างต้นที่ยกมาก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นถึงคาแรกเตอร์ของคู่พระนางได้อย่างดีเลยค่ะ โดยมุนยองบอกกับคังแทหลังสอนคลาสวรรณกรรมให้ผู้ป่วยจิตเวชเสร็จว่า 

              “ฉันโอเคที่ตัวเองเป็นแบบนี้ และคุณโอเคที่ตัวเองเป็นแบบนั้น ต่างคนต่างยอมรับทุกอย่างก็จบ” 

              “แค่เราโอเคแล้วยังไง คนอื่นไม่ได้คิดแบบนั้นสักหน่อย” 

              จากประโยคที่คังแทตอบกลับมุนยองทำให้เราได้เห็นว่าแต่ละคนมีมุมมองการใช้ชีวิต และการมองสังคมที่แตกต่างกัน ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปดูวิธีการสอนผู้ป่วยจิตเวชในคลาสที่ผ่านมา เช่น การถามทุกคนว่า 

              “นิทานคืออะไร” และตอบคำถามนั้นด้วยตัวเองว่า 

              “นิทานคือโลกแฟนตาซีแสนโหดร้ายที่วาดให้ขัดกับความป่าเถื่อนรุนแรงของโลกความเป็นจริง” 

              คำตอบของมุนยองแสดงให้เห็นมุมมองอีกด้านหนึ่งของนักเขียนหนังสือได้เป็นอย่างดี และนักอ่านอย่างเราน่าจะเคยสงสัยกันมาบ้างเหมือนกันว่าทำไมนิทานที่เราอ่านตอนเด็กกับตอนโตถึงได้มีมุมมองที่แตกต่างกันเหลือเกิน โดยตัวอย่างที่เธอยกมาสอนในคลาสวรรกรรมก็คือนิทานสำหรับเด็กที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เช่นเรื่องลูกเป็ดขี้เหร่ และเรื่องเจ้าหญิงเงือกน้อย ซึ่งมุมมองของเธอก็ทำให้เราแปลกใจกับการมองโลกความจริงมากขึ้นไปอีก ด้วยการถามเราว่าข้อคิดของนิทานเรื่องนี้คืออะไร 

              ตัวอย่างที่ผู้ร่วมคลาสเรียนตอบมาคือ ลูกเป็ดขี้เหร่ มีข้อคิดว่า “ต่อให้หน้าตาไม่ดีก็ไม่ควรเหยียดกัน” ขณะที่คำตอบของนักเขียนสาวคือ “เลี้ยงลูกคนอื่นมันเสียแรงเปล่า” ส่วนเรื่องเจ้าหญิงเงือกน้อย ผู้ร่วมคลาสบอกว่าข้อคิดคือ “ต่อให้ต้องกลายเป็นฟองสลายไป แต่ก็จงรักคนเดียวอย่างสุดหัวใจ” ขณะที่ข้อคิดของนักเขียนคือ “ถ้าหมายตาชายที่มีคู่หมั้นแล้ว จะได้รับโทษจากสวรรค์” 

              หลังจบคลาสสอนวรรณกรรมมุนยองได้แสดงมุมมองที่เธอมีแต่งานเขียนไว้ว่า 

              “นิทานไม่ใช่ยากดประสาทที่ช่วยมอบความหวังและความฝัน แต่เป็นยากระตุ้นให้เผชิญกับความเป็นจริง เพราะงั้นทุกคนได้โปรดอ่านนิทานเยอะๆ แล้วตื่นจากฝันสักทีนะคะ”

              ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้มองเห็นอีกด้านของงานเขียนเท่านั้นค่ะ เรามาดูนิทานเรื่องอื่นๆ ของมุนยองที่สะท้อนให้เห็นแง่คิดต่างๆ กันค่ะ 
 


เด็กชายเดินตามเด็กหญิงต้อยๆ
 

              ซีรีส์เรื่อง It's Okay to Not Be Okay เปิดเรื่องด้วยนิทานแอนิเมชั่นเรื่อง หนุ่มน้อยผู้โตมาด้วยฝันร้าย (The Boy Who Fed On Nightmares) เล่าว่า..

              กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในปราสาทแห่งหนึ่งลึกเข้าไปในป่า มีสาวน้อยโฉมงามอาศัยอยู่ วันหนึ่งสาวน้อยรู้สึกเหงาและเบื่อเพราะอยู่คนเดียวเสมอ จึงออกจากปราสาทไปหาเพื่อนเล่นด้วย แต่ไม่ว่าจะให้ของดีเลิศแค่ไหน ก็ไม่มีใครยอมรับเธอ สาวน้อยมารู้เหตุผลหลังจากนั้นว่ามีประสัตว์ประหลาดที่มีเงาแห่งความตายติดตาม ‘สัตว์ประหลาด’ จึงเป็นชื่อที่ผู้คนใช้เรียกเธอ 

              สาวน้อยโกรธทุกคนบนโลกนี้มาก เธอต้องการระบายโทสะใส่ใครสักคน เธอเจอเบ็ดตกปลา เธอตกปลาขึ้นมาและกระทืบให้ตาย ทำแบบนั้นอยู่ซ้ำๆ จนกระทั่งเธอเกี่ยวเด็กหนุ่มคนหนึ่งขึ้นมาจากน้ำได้ หลังจากวันนั้นที่ช่วยเหลือเด็กหนุ่มขึ้นมาจากความตายโดยไม่ตั้งใจ เงาน่ากลัวที่คอยตามเธออยู่ตลอดก็หายไปอย่างประหลาด กลายเป็นเด็กหนุ่มที่คอยเดินตามเธอเสมอ ไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางวัน จะขึ้นเขาลงห้วย เขาก็เดินตามเธอต้อยๆ วันหนึ่งที่อากาศแจ่มใส สามน้อยถาม “นี่ เธอจะอยู่ข้างฉันตลอดไปใช่ไหม” เด็กหนุ่มตอบกลับพร้อมรอยยิ้มว่า “แน่นอนฉันจะไม่หนีไปไหนเด็ดขาด” สาวน้อยฆ่าผีเสื้อในมือให้เด็กชายดูแล้วถามว่า “ต่อให้ฉันทำแบบนี้น่ะเหรอ” กองผีเสื้อที่ถูกฆ่าตายสูงพะเนิน เด็กหนุ่มกรีดร้องและวิ่งหนีไป

              เงาแห่งความตายกลับมาหาสาวน้อยที่เหลือตัวคนเดียวอีกครั้ง แล้วกระซิบบอก “ไม่มีใครอยู่เคียงข้างแกหรอกได้หรอก เพราะว่าแกเป็นสัตว์ประหลาด อย่าลืมความจริงข้อนี้ล่ะเข้าใจไหม”   แล้วเด็กสาวที่โตขึ้นเป็นหญิงสาว ตอบกลับไปว่า “ค่ะ แม่”

              หากถามถึงข้อคิดของนิทานเรื่องนี้ พี่เองก็ไม่สามารถตอบได้แบบชัดเจนเหมือนกันค่ะว่าต้องการสื่อถึงอะไร เพราะนี่เป็นฉากเปิดเรื่องที่กำลังจะพาเราไปพบเจอกับเรื่องราวต่างๆ อีกมากมาย ทว่าในมุมหนึ่งเรากลับเห็นเรื่องความสัมพันธ์ของเด็กๆ ที่เปราะบาง พวกเขาต้องการมิตรภาพที่จริงใจ และมีใครสักคนที่ยอมรับในตัวตนของพวกเขา ซึ่งบาดแผลและความผิดหวังในวัยเด็ก ในทางจิตวิทยา ส่งผลให้คนเรามีลักษณะนิสัยและการเติบโตที่ไม่เหมือนกันนั่นเองค่ะ 
 


แม่จับเด็กชายขังไว้ในห้องใต้ดิน
 

              ในตอนล่าสุดที่พี่เพิ่งดูจบไปและเสียทิชชู่ไปมากมาย คือตอนที่มีชื่อนิทานว่า เด็กน้อยซอมบี้ (Zombie Kid) นั่นเองค่ะ เรื่องนี้อยากให้ชวนคุณพ่อคุณแม่มาอ่านมากๆ เลยค่ะ เรื่องราวในนิทานไม่ได้สะท้อนแค่ชีวิตของคังแทที่ต้องอยู่อย่างคนไม่มีความรู้สึกเท่านั้นค่ะ นิทานเรื่องนี้ยังสะท้อนเรื่องราวของครอบครัวที่มีพี่น้อง ความรักของแม่ที่ไม่เท่าเทียม และบางครั้งอาจมากเกินไปจนมองไม่เห็นถึงความต้องการที่แท้จริงของลูก และนิทานเรื่องนี้กำลังบอกทุกอย่างกับเราค่ะ

              เด็กน้อยซอมบี้ คือเรื่องราวของเด็กชายคนหนึ่งที่เกิดในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง เขาเป็นเด็กผิวขาวซีด และมีลูกตาที่โตมาก เมื่อเด็กคนนั้นโตขึ้น แม่ของเขาก็รู้ได้เองว่าเด็กคนนี้ไม่มีความรู้สึกใดๆ เป็นแค่ซอมบี้ที่ต้องการอาหารเท่านั้น ดังนั้น เพื่อไม่ให้คนในหมูบ้านรู้ แม่จึงเอาเขาไปไว้ในห้องใต้ดิน และทุกคืนเธอก็แอบโขมยสัตว์เลี้ยงบ้านอื่นมาให้ลูกกิน และแอบเลี้ยงเขาเช่นกัน 

              วันหนึ่งไก่ อีกวันหมู ผ่านไปหลายปี จนอยู่มาวันหนึ่ง โรคระบาดมาเยือนหมู่บ้าน สัตว์เลี้ยงที่เหลืออยู่พากันตายหมด ผู้คนก็ตายไปมากเช่นกัน ส่วนคนที่เหลือรอดก็ออกจากหมู่บ้านไปหมด แม่ที่ไม่สามารถทิ้งลูกไปได้ ในที่สุดก็ตัดขาข้างหนึ่งของตัวเองให้ลูกที่ร้องด้วยความหิวกิน วันต่อมาก็ตัดแขนข้างหนึ่ง ตัดทุกอย่างให้ไปจนหมด ในที่สุดเมื่อเธอเหลือพียงลำตัว เธอก็โผเข้าสู่อ้อมกอดของลูกน้อยเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อมอบร่างที่เหลือของตัวเองให้ ลูกน้อยกอดแม่ที่เหลือแต่ลำตัวไว้แน่นด้วยแขนทั้งสองข้าง แล้วพูดออกมาเป็นครั้งแรกว่า “แม่.. ช่างอบอุ่นเหลือเกิน” 

              ในท้ายที่สุดนิทานเรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นถึงทั้งสองแง่มุม คือ มุมหนึ่ง แม้ว่าลูกจะแตกต่างจากคนอื่นๆ แต่แม่ก็มองว่าลูกพิเศษมาก เป็นผลงานชิ้นโบแดงของแม่ ส่วนอีกมุมหนึ่งได้ถามกับเราทุกคนว่า สิ่งที่ลูกต้องการคือกินให้หายหิว หรือโหยหาความอบอุ่นจากแม่กันแน่ 
 


 

              เป็นยังไงกันบ้างคะ ได้เห็นมุมมองของนักเขียนสายดาร์กกันบ้างไหม พี่แนนนี่เพนอยากจะไปหาหนังสือของนักเขียนคนนี้มาอ่านมากๆ เลยค่ะ รู้สึกได้เลยว่าทุกแง่มุมที่นำเสนอออกมาไม่ว่าจะเป็นตัวซีรีส์ หรือเรื่องราวในหนังสือนิทานเด็ก ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องราวที่น่าติดตาม และชวนให้ฉุกคิดได้แทบทุกตอนเลยค่ะ ส่วนตัวพี่คิดว่าซีรีส์เรื่องนี้ทำให้เราเหมือนได้แว่นมาอ่านหนังสือใหม่เลยค่ะ ต่อจากนี้เวลาอ่านหนังสือนิยายสักเรื่อง นอกจากความสนุกจากโลกจินตนาการแล้ว หากเราลองมองในมุมของโลกความเป็นจริงดูบ้าง ก็ดูน่าสนใจ และน่าขบคิดดูเหมือนกันนะคะ บางทีเราอาจจะได้แรงบันดาลใจดีๆ มาต่อยอดในชีวิตก็ได้ 

              ซีรีส์เกาหลีเรื่อง It's Okay to Not Be Okay ออกอากาศในช่อง tvN และ Netflix พร้อมกัน ในวันเสาร์ และอาทิตย์ เวลาสามทุ่มตรงค่ะ ใครอยากจะลองติดตามเรื่องนี้ดูบ้าง ห้ามพลาดเลย! 

พี่แนนนี่เพน 

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก
https://www.newsen.com/news_view.php?uid=202006200832302410
https://www.netflix.com/th/title/81243992

Deep Sound แสดงความรู้สึก
พี่แนนนี่เพน
พี่แนนนี่เพน - Columnist สาวเหนือที่มีความสุขกับการเขียนนิยาย และเชื่อว่านิยายให้อะไรดีๆ กับสังคมเสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
wangkingshark_ Member 23 ก.ค. 63 18:55 น. 2

ชอบเรื่องนี้มากๆเหมือนกัน ได้รับมุมมองที่แตกต่างออกไปและกลับมาคิด มันก็จริงของเขานะ :’)

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด