‘ไบร์ท’ หนุ่มผู้ชื่นชอบเครื่องบินบังคับในวัยเด็ก สู่วิถีบินโดรนช่วยเหลือที่ถ้ำหลวง!


“แก๊งนางฟ้าบ้านนา” ผู้ปลุกเสน่ห์แดนชนบทด้วยแฟชั่นสไตล์ท้องถิ่น (คลิป 5 ล้านวิวการันตีความแซ่บ!)
 
        สวัสดีค่ะชาว Dek-D พบกับคอลัมน์ “เด็กพลังบวก” ที่จะพาน้องๆ ไปค้นหาแรงบันดาลใจจากวัยรุ่นเจ๋งๆ ที่ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และทำกิจกรรมเพื่อตัวเองและสังคมกันค่ะ
 
       ภารกิจถ้ำหลวงเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่เสียงชื่นชมฮีโร่ยังคงดังไม่ขาดสายทั้งในไทยและต่างชาติเลยค่ะ และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราได้รู้จักบรรดาผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา หนึ่งในนั้นคือหนุ่มวัย 18 ปีที่เป็นแชมป์โดรนที่มาช่วยบินโดรนสำรวจโพรงถ้ำเพื่อช่วยเหลือ 13 ชีวิต วันนี้เราก็ได้มาพูดคุยแบบเจาะลึกกันค่ะว่า อะไรทำให้เค้าคนนี้ตัดสินใจมาเข้าร่วม? เมื่อไปถึงแล้วต้องทำอะไร? ความยากระหว่างการแข่งและการปฏิบัติการจริงต่างกันมั้ย? ตลอดจนไขคำตอบว่า "เทคโนโลยีโดรนมีบทบาทสำคัญอย่างไร?" หลังจากอ่านจบแล้ว หนุ่มๆ สาวๆ ที่เคยชื่นชอบเครื่องบินวิทยุบังคับในวัยเด็กอาจได้เจอหนทางที่ใช่สำหรับเราก็ได้นะคะ ^^ 



 
แนะนำตัว
 
         “สวัสดีครับ ‘ณัชธกฤษณ์ สาระไชย’ ชื่อเล่น ‘ไบร์ท’ อายุ 18 ปี เรียนอยู่ปี 1 คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพครับผม ^^”



 
เด็กเชียงรายที่มาพร้อมประสบการณ์บินโดรน
 
         ก่อนอื่นเลย...ทำไมไบร์ทถึงตัดสินใจร่วมภารกิจนี้? “เหตุผลหลักๆ เลยคือผมเป็นคนเชียงรายและมีความรู้ด้านนี้พอดีครับ พอเห็นข่าวว่าเค้ากำลังต้องการโดรนบินสำรวจ ประกอบกับผ่านไป 2-3 วันแล้วยังไม่พบ ผมจึงลองติดต่อไปหาทีมงานในนั้นเพื่อช่วยอีกแรงนึง”
 
         เค้าเล่าบรรยากาศและการทำงานให้ฟังว่า “หน้างานก็ชุลมุนๆ มีหลายหน่วยงานมาช่วยเหลือ หน้าที่หลักๆ วันแรกคือผมอยู่กับทีมกู้ภัย บินกับนักสำรวจเพื่อหาโพรง พอวันที่สองก็ไปร่วมกับกรมอุทยาน เราก็จะบินสำรวจและทำแผนที่ให้เค้า โดรนที่ใช้ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นรุ่น dji Phantom 4 pro v 2.0 และลำนี้ก็จะมอบให้กรมอุทยานหลังเสร็จภารกิจครับ”


 
         “ผมได้เข้าไปร่วมช่วยเหลือเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. และปฏิบัติภารกิจจนถึงวันที่ 4 ก.ค. ทุกวันที่ปฏิบัติภารกิจ เราก็ร่วมบินกับ “อ.พิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล” นายกสมาคมกีฬาเครืองบินจำลองและวิทยุบังคับ และหลังจากวันนั้นจนถึงวันนี้ (วันที่ 11) เราจะปักหลักอยู่เชียงรายตลอดเผื่อมีการเรียกให้ไปบินเพิ่ม หรือมีสถานการณ์อะไรฉุกเฉินครับ”




 
ต้องเดินลุยในจุดที่รถเข้าไปไม่ถึง
 
         อุปสรรคในการทำงานครั้งนี้มีอะไรบ้าง? “โดรนทุกตัวจะถูกล็อกความสูงไว้ที่ 500 เมตร ซึ่งเป็นกฎของการบินทั่วโลกครับ เพราะถ้าเกิดขึ้นไปสูงกว่านั้นจะเป็นเพดานของเครื่องบินจริง เดี๋ยวจะชน คราวนี้ภูเขานางนอนที่เราบิน ยอดของมันสูง 1,100 - 1,200 เมตร เราจึงต้องขึ้นไปอยู่บนดอยผาหมี แล้วปล่อยโดรนจากตรงนั้นเพื่อถ่ายภาพ
 
         “ผมต้องไปกับเจ้าหน้าที่กรมอุทยาน ซึ่งบนดอยผาหมีอยู่ห่างจากนางนอนมาก ต้องเอารถเข้าไปในป่า พอถึงจุดที่รถเข้าไปไม่ได้ก็ต้องหยุด ไม่งั้นรถจะติดหล่ม จากนั้นต้องเดินเข้าไปลึกเพื่อให้เข้าใกล้จุดดอยนางนอนที่สุด ดังนั้นเรื่องความเสี่ยงอาจมีบ้างเรื่องการเดินทางครับ บริเวณดอยมันจะชัน แต่เราก็จะมีเจ้าหน้าที่ที่ชำนาญทางไปด้วย”


 
         “ตอนแรกเลยที่ยังไม่มีภารกิจช่วยเหลือ ผมคิดว่าเราแค่ฝึกบินเพื่อหารายได้จากการถ่ายภาพมุมสูง แล้วสามารถต่อยอดอาชีพในอนาคต แต่พอมาได้ช่วย ผมดีใจมากครับที่โดรนช่วยเหลือสังคมได้อีกเยอะเลย”

        จากนั้นเราได้ถามถึงโปรเจกต์ที่ไบร์ทได้โพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว "โปรเจกต์หนังนี่คืออีกหนึ่งแรงบันดาลใจในความฝันเลยครับ ผมก็กำลังศึกษาและเรียนในด้านนี้อยู่ด้วย จึงมีความคิดที่ว่าอยากตั้งใจศึกษาไปเรื่อยๆ ก่อน อาจจนถึงจบและทำโปรเจกต์หนังนี้ขึ้นมา หรือหากมีทีมอื่นที่จะถ่ายทำก็อยากไปร่วมด้วยครับ ^^"      
 

 
เริ่มจากความสนใจในการถ่ายภาพและเครื่องบินบังคับ
 
         อะไรทำให้เราสนใจการบินโดรน? ผมเองชอบเครื่องบินบังคับและชอบถ่ายรูปอยู่แล้ว พอมีเทคโนโลยีโดรนเข้ามาก็รู้สึกสนใจครับ^^ ย้อนไปตอนผมยังเรียนที่โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม เค้าจะมีชมรมเครื่องบินวิทยุบังคับ ผมเลยได้ฝึกตั้งแต่ ม.1 เริ่มจากเครื่องบินบังคับทั่วไปก่อน แล้วพัฒนาเรื่อยๆ ถ้าหัดโดรนก็ 4-5 ปีแล้วครับ”
 
         “ในการบินโดรน เราแทบไม่ต้องศึกษาอะไรเลยก็มาฝึกบินได้ครับ หลักๆ ที่ศึกษาคือเรื่องถ่ายภาพเหมือนกับเป็นช่างภาพ รู้มุมกล้อง แต่พอเอามาโยงกับการแข่งขัน ก็อาจมีเรื่องฟิสิกส์เข้ามาด้วย มีเรื่องกฎแรง การคำนวณ หรือประดิษฐ์อุปกรณ์เสริมขึ้นมา ล่าสุดก็มีเทคโนโลยีโดรนที่เป็นคำสั่งให้เขียนโปรแกรม เราเขียนโดรนขึ้นเองลงเองได้อัตโนมัติ ตอนนี้ผมก็กำลังศึกษาอยู่ครับ”



 
สมัยมัธยม เคยได้ “แชมป์โดรน” ในนามทีมโรงเรียน!
 
         เราจะเห็นว่าในโซเชียลพากันแชร์และยกย่องว่าหนุ่มคนนี้คือแชมป์โดรน เราเลยขอเจาะลึกเกี่ยวกับตำแหน่งแชมป์ที่ว่านี้สักหน่อย ไบร์ทเล่าว่า “ผมได้ลงแข่งขันโดรนมาตลอดครับ และมาได้แชมป์ในนามทีมโรงเรียนสามัคคีวิทยาคมสมัยเรียนมัธยม เป็นรางวัลถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) และรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (รัชกาลที่ 10) ครับ” 
 
         การแข่งขันโดรน เค้าแข่งกันยังไงบ้าง? “เค้าจะเน้นภารกิจช่วยเหลือครับ เช่น บินอ้อมเสา จำลองอุโมงค์แนวดิ่งให้เราลอดลงไปโดยดูจากกล้อง ให้ปล่อยสัมภาระ ปล่อยห่วงยาง (กู้ภัยทางทะเล) ฯลฯ ในการช่วยเหลือเราต้องมองจอภาพบนมือถือที่ลิงก์กัน ห้ามมองโดรน (โดรนจะติดตั้งกล้องไว้)”


 
         “ส่วนในการช่วยเหลือที่ถ้ำหลวง เราจะได้บินสำรวจโพรง บางทีเวลาบินใกล้โพรงแล้วมีกิ่งไม้ ก็ต้องดูที่กล้อง เพื่อให้กะระยะถูกว่าจะชนมั้ย เหมือนว่าเราได้ใช้ประสบการณ์เพื่อให้กะได้แม่นยำขึ้น” เราเองคิดว่าระหว่างบินตอนแข่งกับบินหาโพรงในภารกิจนี้ยากกว่ากัน? “เอาจริงๆ ผมว่าง่ายกว่าตอนแข่งนะครับ เพราะตอนแข่งกดดันมาก เค้าทำให้ยากเพื่อให้เราชำนาญ แล้วเป็นประโยชน์ต่อเมื่อได้ใช้งานจริง ^^”

 
เมื่อสิ่งที่รักสามารถสร้างเงินได้!
 
         “ตอนที่โดรนเข้าใหม่ๆ สร้างรายได้จากการถ่ายภาพมุมสูงได้เยอะมากๆ คนที่มาจ้างก็มีทั้งโรงงาน ไร่ทางการเกษตร บริษัทยักษ์ใหญ่ สื่อต่างๆ และผมเคยเป็นช่างภาพโดรนส่วนพระองค์ในกิจกรรม Bike for Dad, Bike for Mom ถวายให้พระองค์ท่านครับ เน้นถ่ายภาพและบินถ่ายทอดสด ถ่ายรวมทุกช่อง”
 
         แล้วเป้าหมายในอนาคตล่ะ? “ผมอยากเป็นช่างภาพทางอากาศ ถ่ายทำเกี่ยวกับภาพยนตร์หรือข่าวครับ” แต่ไบร์ทบอกว่าจริงๆ การบินโดรนสามารถนำไปประยุกต์ในอาชีพอื่นที่น่าสนใจได้อีกนะ “ตอนนี้อาชีพอื่นๆ ก็อย่างตอนนี้จะมีโดรนทางการเกษตรครับ ลำใหญ่หน่อย สร้างโปรแกรมให้บิน พ่นยาพ่นน้ำบนที่นาของชาวนาเป็นไร่ๆ เราไม่ต้องไปรดน้ำเอง”


 

ถ้าจะหัดบินไม่ใช่เรื่องยาก...แต่ต้องเคารพกฎหมาย
 
         มีคำแนะนำอะไรอยากฝากถึงน้องๆ ที่อยากลองมาทางนี้เหมือนเราบ้าง? “การบินโดรนไม่ยากครับ แค่รู้กฎ เคารพกฎหมาย สามารถศึกษาในยูทูบได้ หรือตามร้านที่เราไปซื้อ เค้าก็จะช่วยฝึกให้เรา ส่วนราคาก็ราคาสูงอยู่ แต่ก็มีแบบราคาถูก ของเล่นทั่วไป การเล่นคล้ายกัน เพียงแต่ถ้าราคาสูงขึ้นระบบจะดีขึ้นครับ”
 
         “ส่วนเรื่องความปลอดภัย เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีก็มีกันชนเข้ามา มีเซนเซอร์รอบลำ ถ้าเราเข้าใกล้ตึก จะมีเสียงเตือนที่หน้าจอโทรศัพท์ (เชื่อมกับโทรศัพท์) ลำจะหยุดเองอัตโนมัติ”


 
         จริงๆ ตอนแรกพี่เองรู้จักเรื่องการบินโดรนแบบผิวเผินมากๆ ค่ะ แต่พอได้พูดคุยกับน้องไบร์ทแล้วเห็นภาพชัดขึ้นมาอีกเยอะมากกก โดยเฉพาะได้รู้ว่าประโยชน์ของเทคโนโลยีโดรนช่วยสร้างรายได้ได้หลายทางขนาดนี้ พี่หวังว่าจะเริ่มมีชาว Dek-D สนใจอยากศึกษาทางด้านนี้อย่างจริงจังนะคะ เผื่อนี่จะเป็นทางของเรา และสุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณและชื่นชมน้องไบร์ทที่เป็นหนึ่งในฮีโร่ของความสำเร็จในภารกิจนี้นะคะ ^^
 
อย่าลืมย้อนอ่านเรื่องราวของฮีโร่ท่านอื่นๆ นะคะ ><
‘เจตน์’ หนุ่มกู้ภัยที่ได้ทำงานเป็น “ล่ามจีน”
ติดตามเจ้าหน้าที่ในภารกิจถ้ำหลวง!


‘Elon Musk’ ชายผู้เป็นต้นแบบ Iron Man
และประดิษฐ์ ‘แคปซูลดำน้ำ’ ช่วยชีวิตเด็กติดถ้ำ
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด