‘ขอโทษนะแม่...ที่ฉันเป็นคนล้มเหลว’ เมื่อชีวิตวัยรุ่น ‘เกาหลีใต้’ ถูกทำลายจากการสอบ

สวัสดีค่ะ ชาว Dek-D หลายๆ คนคงรู้กันอยู่แล้วว่าประเทศเกาหลีใต้นั้นเป็นประเทศที่เน้นและเคร่งเรื่องสอบกันมากๆ อยากเข้าเรียนมหาวิทยาลัยก็ต้องสอบ อยากทำงานก็ต้องสอบ หรือใครอยากเลื่อนขั้นก็ต้องสอบเช่นกัน เหมือนเป็นอีกวัฒนธรรมที่กลายเป็นเรื่องปกติในสังคม แต่นั่นก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้้หลายคนเกิดความเครียดสะสมตั้งแต่เด็กและอาจนำไปสู่ความคิดฆ่าตัวตายนั่นเองค่ะ 

วันนี้พี่ปลื้มก็เลยจะพาทุกคนไปดูความกดดันของวัยรุ่นเกาหลีว่าต้องพบเจออะไรกันบ้าง และเขารู้สึกตึงเครียดกับการสอบมากแค่ไหน? จากสกู๊ปของสำนักข่าว The Korea Times 코리아타임스 เขาได้สัมภาษณ์ถึงประเด็นนี้ไว้ เราตามไปเจาะลึกพร้อมกันเลยค่ะ 

จากที่พี่ได้บอกไว้ด้านบนว่าเกาหลีใต้เขาเคร่งเรื่องสอบกันมากๆ โดยเฉพาะการสอบครั้งสำคัญในชีวิตอย่าง College Scholastic Ability Test (CSAT) หรือ “ซูนึง” 수능 ที่มีความคล้ายกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของไทย แต่! โหดกว่าตรงที่เป็นการสอบ “ครั้งเดียวจบ” ไม่มีสอบซ่อม ถ้าอยากสอบใหม่ก็ต้องรอสอบรอบปีถัดไป บางบ้านมีฐานะขึ้นมาหน่อยก็ส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ หรือตัวเลือกสุดท้ายก็คือไม่เรียนต่อแล้วนั่นเองค่ะ

Photo Credit: http://www.koreaherald.com
Photo Credit: http://www.koreaherald.com

บางคนอาจเคยเห็นข่าวว่าในวันสอบซูนึง ธนาคารและร้านค้าต่างๆ จะปิด (หรือไม่ก็เลื่อนเวลาเปิด) งานก่อสร้างส่วนใหญ่หยุดดำเนินการ สั่งหยุดเที่ยวบินในช่วงที่นักเรียนสอบทักษะการฟัง มีบริการรับ-ส่งถึงสนามสอบ รวมถึงมีตำรวจคอยเปิดสัญญาณฉุกเฉินเพื่อพานักเรียนไปสอบให้ทันเวลา ส่วนพ่อแม่ก็ไปขอพรให้ลูกอยู่ที่วัดหรือโบสถ์

เรียกได้ว่าเครียดกันหนักมาก จนประเทศเกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายเฉลี่ยสูงถึง 38 คนต่อวัน นับว่าสูงที่สุดถ้าเทียบกับกลุ่มสมาชิก OECD เลยล่ะค่ะ และตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของ COVID-19 ก็ได้มีรายงานว่าชาวเกาหลีจำนวนมากกำลังสู้อยู่กับความคิดฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะวัยรุ่นในช่วงอายุ 20 ปีค่ะ

NOTE: OECD — Organisation for Economic Co-operation and Development เป็นการรวมกลุ่มเพื่อร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยกลุ่มสมาชิกส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และยอมรับในระบอบประชาธิปไตย จุดมุ่งหมายหลักของ OECD คือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือ รวมถึงประสานงานด้านนโยบาย-ปราบปรามการค้าผิดกฎหมายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศสมาชิก 

Photo credit: The Korea Times
Photo credit: The Korea Times

นอกจากจะเครียดเรื่องการเรียนและสอบซูนึงแล้ว อีกปัจจัยกดดันหลักที่ทำให้วัยรุ่นช่วงอายุ 20 ปีเกิดภาวะซึมเศร้าคือ ‘ความยากในการหางาน’ นั่นเองค่ะ ช่อง  The Korea Times เปิดเผยว่า มีคนเกาหลีตกงานและหางานทำกว่า 860,000 คน ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ และ 3 ใน 10 ของผู้หางานกำลังเตรียมตัว ‘สอบราชการ’

Photo credit: The Korea Times
Photo credit: The Korea Times

ผู้ให้สัมภาษณ์กับ  The Korea Times ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

“ฉันต้องใช้เวลา 4 ปี กว่าจะมีคุณสมบัติตามที่กำหนด และฉันก็ทุ่มเทลงเรียนเพื่อสอบอย่างจริงจังมาได้ 9 เดือนแล้ว หลายๆ คนมีความคิดเดียวกันว่าการหางานทำเป็นเรื่องยากยกเว้นแต่จะเป็นข้าราชการ”

“ฉันเรียนจบจากมหา’ลัยเอกชนนอกกรุงโซล ดังนั้นก็เลยไม่มีอะไรน่าสนใจในเรซูเม่ แล้วมันก็ไม่ตรงกับข้อกำหนดการหางานในบริษัทเอกชนหรือที่อื่นๆ ดังนั้นฉันเลยคิดว่าสมัครข้าราชการเป็นทางเดียวสำหรับฉันค่ะ”

คุณ Kim Ki-hun
คุณ Kim Ki-hun
Photo Credit: The Korea Times

คุณ Kim Ki-hun หัวหน้าฝ่ายวิจัยสถาบันนโยบายเยาวชนแห่งชาติก็ได้พูดถึงเรื่องสมัครข้าราชการในประเทศเกาหลีใต้ไว้เช่นกันค่ะ 

“บางประเทศจะรับสมัครข้าราชการตามความต้องการ หรือไม่ก็ดูจากประสบการณ์ทำงาน ไม่เหมือนกับในเกาหลีใต้ที่จะมีคนประมาณ 200,000 คนหรือมากกว่านั้นมาทำสอบเพื่อเป็นข้าราชการ”

“ผมคิดว่าจุดเปลี่ยนสำคัญคือช่วงวิกฤตการณ์ทางเศษฐกิจของเกาหลีในปี 1997 ส่งผลให้คนมีความต้องการงานที่มั่นคงและปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นงานข้าราชการจึงมีความนิยมมากขึ้น ทำให้มีผู้เตรียมสอบจำนวนมากแบบที่เห็นในทุกวันนี้”

Photo Credit: The Korea Times
Photo Credit: The Korea Times

แต่เส้นทางการสอบข้าราชการนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะข้อสอบจะถูกแบ่งเป็นหมวดกฎหมายรัฐธรรมนูญกับ PSAT ซึ่งข้อสอบ PSAT นี้ก็จะถูกแบ่งไปย่อยอีกค่ะ เช่น  มีการสอบวัดวิจารณญาณในการตีความข้อมูลรวมถึงการตัดสินใจต่างๆ ด้วย

“เมื่อสอบข้อเขียนผ่านแล้ว วุฒิต่างๆ ก็จะถูกตรวจสอบอีกครั้งตามข้อกำหนดงาน และเมื่อผ่านตรงนี้ไปถึงจะได้เข้ารอบสัมภาษณ์ค่ะ”

นอกจากนี้ยังมีผลการสำรวจของผู้สอบราชการพบว่ามีผู้เข้าสอบจำนวนครึ่งหนึ่ง (47.7%) เรียนมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน และต้องใช้เวลาเรียนอย่างน้อย 2 ปี ถึงจะสอบผ่านเลยล่ะค่ะ T__T

Photo Credit: Newsis
Photo Credit: Newsis

“ฉันคิดมาตลอดว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าฉันสอบไม่ผ่าน และ 4 ปีที่เตรียมตัวมาจะมีค่าอะไร ฉันรู้สึกกดดันจากความคาดหวังของคนรอบตัว พวกเขาคิดว่าโตขึ้นฉันจะประสบความสำเร็จ และฉันรู้สึกว่าต้องตอบแทนสิ่งนั้นกับพวกเขา”

Photo Credit: The Korea Times
Photo Credit: The Korea Times

คุณ Lee Kyoung-Jin นักจิตวิทยาคลินิกได้ให้สัมภาษณ์ว่า “วัยรุ่นช่วงอายุ 20-30 ปีในตอนนี้ ได้รับความกังวลที่ต่างกันออกไปตั้งแต่เกิด COVID-19 และหลังจากได้ตรวจคนไข้ก็พบว่ามากกว่า 80% ของพวกเขากำลังเสี่ยงกับโรคซึมเศร้ามากขึ้นเรื่อยๆ” 

“เมื่อไหร่คุณต้องอยู่กับที่เดิมๆ หรือทำแต่กิจวัตรเดิมๆ ทุกวัน คุณจะสร้างความรู้สึกว่าตนเองล้มเหลว และยังดีไม่พอ มันสามารถนำคุณไปสู่ความรู้สึกสิ้นหวังได้ในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้นอาจพบตัวเองกำลังตกอยู่ในสภาวะรังเกียจตัวเอง ดังนั้นฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเปลี่ยนความคิดบางอย่างเพื่อที่จะรู้สึกถึงการเติมเต็มและยืนหยัดต่อไปให้ได้ค่ะ”

จดหมายบอกลาจากผู้เข้าสอบตำรวจคนหนึ่ง
จดหมายบอกลาจากผู้เข้าสอบตำรวจคนหนึ่ง
Photo Credit: The Korea Times

“เมื่อก่อนตอนที่ฉันยังเด็ก ฉันอยากเป็นหมอค่ะ และเคยจิตนาการช่วงหนึ่งเหมือนกันว่าได้เป็นนักเปียโน แต่ในตอนนี้ที่อายุ 25  พอนึกถึงชีวิตในอนาคต ฉันก็เห็นแค่ข้าราชการเท่านั้นที่เป็นไปได้”

“ฉันไม่ได้คิดถึงความสุข ความสวยงาม 

หรือตื่นเต้นในการไปทำงานตอนเช้าอีกแล้วล่ะค่ะ”

เป็นยังไงกันบ้างคะ อ่านแล้วถึงกับเครียดตามเลยใช่ไหม T_T เรียนว่าหนักแล้ว สอบเข้ามหาลัยก็หนักไปอีก พอเรียนจบก็ไม่มีหลักประกันว่าเราจะได้อาชีพที่มั่นคงเลย (ไม่ใช่แค่เกาหลีแต่ไทยก็ไม่ต่างกันค่ะ T_T)

พี่คิดว่าเรื่องนี้คงตรงใจน้องๆ หลายคน เพราะช่วงนี้ก็คงโฟกัสอยู่กับการสอบเข้าเหมือนกัน พี่ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนนะคะ ถ้าเครียดก็แบ่งเวลาไปนอนเล่น อย่าหักโหม หรือไม่ก็มาหาเพื่อนคุยได้ในกระทู้เด็กดี  หรือหาอะไรสนุกๆ อ่านคลายเครียดด้วยนะคะ สู้ๆ ^^

 

References: https://www.bbc.com/news/world-asia-46181240 https://www.youtube.com/watch?v=2jIaJJs4BiMhttps://www.donga.com/news/Society/article/all/20200613/101491141/2 

 

พี่ปลื้ม
พี่ปลื้ม - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด