"ยากเจอง่าย" เทคนิคอ่านหนังสือให้สอบติดหมอ ของ "เก้า" น่าสนใจสุดๆ

            สวัสดีค่ะน้อง กลับมาเจอกันในคอลัมน์ Admission Idol สุดยอดบุคคลที่เป็นไอดอลในเรื่องแอดมิชชั่น วันอังคารแบบนี้เรามีนัดกันเหมือนเดิม วันนี้พี่เมษ์ชวน เก้า” ชวิน นิพพิทาวาสิน นิสิตแพทยศาสตร์ที่ยอมรับว่า ตัวเองเตรียมตัวผิดพลาดมาถึง 2 ปี เสียเงินไปเกือบล้าน ก่อนจะพลิกเทคนิคอ่านหนังสือ 3-4 เดือน จนสอบติดคณะแพทย์ฯ ที่ตัวเองอยากเรียนได้ พี่เก้ามีเทคนิคอะไร พร้อมแล้วมารู้จักกันเลย!!!
 
แนะนำตัว
            สวัสดีครับ ชื่อเก้า ชวิน นิพพิทาวาสิน ตอนนี้เรียนอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 2 จบจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาครับ (นิสัยส่วนตัวเป็นยังไง) เป็นคนกันเองครับ สนุกสนาน แต่มีวินัยกับเวลาของตัวเองเพราะทำงานพิเศษไปด้วย เรียนไปด้วย เพราะต้องสอนพิเศษด้วย เรียนด้วย ก็ต้องแบ่งเวลาให้ดีทั้งเรื่องเรียนและเรื่องงาน อาจจะตารางเวลาแน่นหน่อย แต่ก็ใช้การบริหารเอา
            (เข้ามาเรียนหมอด้วยวิธีไหน) ผมเข้ามาเรียนด้วยโครงการ CPIRD ที่ต้องยื่นคะแนน PAT 1 กับ PAT 2 แต่โครงการนี้ต้องใช้ทุนคืน ซึ่งผมต้องไปใช้ทุนคืนที่จันทบุรีครับ (ตอนยื่น คะแนนเราเป็นไงบ้าง?)
  • PAT 1 ครั้งที่ 1/ 2556 รอบเดือนตุลาคม 2555 ได้ 211/300 คะแนน
  • คะแนนคณิตฯ กสพท. 96 / 100 คะแนน

จุดเปลี่ยนที่ทำให้อยากเป็นหมอ
            จริงๆ ผมอยากเรียนหมอตอนเข้ามาเรียนที่คณะแพทยศาสตร์แล้ว เพราะตอนสอบเข้า ต้องยอมรับว่ามันเป็นกระแส แบบเพื่อนๆ ในห้องติดกันเยอะเขาเก่งกันมาก ขยันกัน เราก็เลยรู้สึกว่า ถ้าเราไม่เข้าหมอ ไม่ติดหมอ เพื่อนๆ จะยอมรับมั้ย จะเข้าสังคมได้รึเปล่า เป็นความรู้สึกแบบช่วงวัยนั้นแหละครับ
            (จุดเปลี่ยนอยู่ตรงไหน) ก็ก่อนเข้ามาเรียนไม่นาน ผมประสบอุบัติเหตุปอดแตก จนต้องได้รับการผ่าตัดที่ รพ.รามาฯ ครับ ซึ่งอาจารย์หมอ ชวนุช ดูแลผมเป็นอย่างดี ถือเป็นคนที่ช่วยชีวิตผมไว้ แถมทั้งๆ ที่เค้าเป็นแพทย์ผ่าตัดแต่กลับมาดูแลผมทุกเช้าและก็เย็น เป็นเดือนๆ เลยกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เราว่า เราก็อยากเป็นหมอCVT ซึ่งเป็นหมอเฉพาะทางหัวใจและทรวงอก เพราะเราป่วยเป็นโรคทางนี้มาก่อน

ผิดพลาด เสียเวลาไป 2 ปี ค่าเรียนเกือบล้าน!!!
            ผมเตรียมตัวช้าครับ มาเตรียมจริงๆ ตอน ม.6 เทอม 1 แล้ว เพราะก่อนหน้านั้นผมไม่เก่งเลย เพราะตอนม.4 เทอม 1 ผมเป็นเด็กต่างจังหวัดที่ย้ายเข้ามาเรียนที่เตรียมฯ ผมเห็นเพื่อนๆ อ่านหนังสือคณิต ม. 6 เทอม 2 กันแล้ว ทั้งๆ ที่เราเพิ่งเข้า ม.4 เอง และแล้ว ผมก็สอบตกคณิตที่เตรียมฯ ครับ - -" จำได้ว่านั่งร้องไห้เลย รีบโทรไปบอกพ่อว่าผมต้องเรียนพิเศษแล้ว ไม่งั้นเรียนเตรียมฯ ไม่ไหวแน่ หลังจากนั้นก็เริ่มเรียนกวดวิชา
            ตอนนั้นผมคิดว่าตัวเองต้องเรียพิเศษเยอะๆ เพื่อจะได้ติดหมอ แต่มารู้ตัวทีหลังตอนใกล้สอบว่า เราเรียนหนักมาก แต่มันกลับทำอะไรไม่ได้ดีเท่าที่ควร สอบก็แย่ กว่าจะรู้ตัวว่าเรามาผิดทางก็เสียเวลาไป 2 ปี หมดค่าเรียนพิเศษไปเกือบล้าน เพราะเรียนมันทุกคอร์ส เรียนซ้ำหลายๆ รอบ  เรียนตั้งแต่ 7 โมงเช้า ถึง 3 ทุ่ม สุดท้ายกลับบ้านมา การบ้านก็ไม่ได้ทบทวนดองเอาไว้ ไม่มีประโยชน์อะไรเลย มาคิดได้ก็ตอนสอบหมอของ ม. ขอนแก่นไม่ติด เลยมานั่งทบทวนว่าเราผิดพลาดตรงไหน ทั้งๆ ที่เรียนหนักกว่าใคร ทำไมมันไม่ดีขึ้นเลย ซึ่งเป็นช่วงกำลังจะเข้า ม. 6 เทอม 1 แล้ว ก่อนสอบ GAT/PAT นิดเดียวเอง เรารู้ว่าจะไม่ทันแล้ว เลยต้องปรับแผน จัดตารางเวลาตัวเองให้มากขึ้น ให้เวลากับตัวเองมากขึ้น เลยหยุดเรียนพิเศษ แล้วมาตั้งใจแบ่งเวลามากขึ้น เพราะเราเสียเวลาไปกับการงมในมหาสมุทรมา 2 ปีแล้ว

ปรับแผนการอ่านหนังสือ
            หลักจากหลุด หมอ ม.ขอนแก่น เหลือเวลาก่อนสอบ GAT/PAT ไม่นานประมาณ 3-4 เดือนแถมโรงเรียนก็ยังไม่ปิดเทอม ผมใช้วิธีการจับคู่ ไม่เอาวิชายากๆ มาเจอกัน คือ
  • เอาคณิตฯ มาคู่กับชีวะ (ไม่เอาไปคู่เคมีแน่ๆ ครับ!!)
  • เคมี เอาไปคู่กับภาษาอังกฤษ
  • ฟิสิกส์ไปคู่กับไทย และสังคมฯ สลับไปมา
            แล้วเลือกทีละคู่ต่อ 1 วัน วิชาละ 2 ชั่วโมง โดยอ่านเป็นกะ กะละ 50 นาที ก็อ่านตอนช่วงพักเบรคบ้าง ตอนพักบ้าง เลิกเรียนบ้าง ซึ่งโชคดีที่มีเพื่อนที่อ่านจบแล้ว มานั่งทำข้อสอบเป็นเพื่อนกัน เอาโจทย์มาช่วยกันคิด มาแชร์กับเรา เหมือนท้าประลองกัน มันก็สนุกด้วย ได้เจอโจทย์มากด้วย
            แต่พอใกล้สอบก็ตื่นสนามครับ!! รู้สึกทำได้ไม่ดีเท่าที่เราเตรียม เลยไปซื้อข้อสอบเก่ามาทำ พวกรวมข้อสอบอะไรพวกนี้ ซื้อมาแล้ว แกะหนังสือ แยกเป็นพ.ศ. แล้วเอาแต่ละพ.ศ. มาาสลับข้อสอบไปมา เหมือนข้อสอบวิชาสามัญ คือ วิชาละหลายๆพ.ศ. แล้วเอาไปทำ วันละชุดๆ พยายามจับเวลาเหมือนทำข้อสอบจริง วันละ 7 วิชา ทำเสร็จก็ให้คุณพ่อช่วยตรวจ ซึ่งเรตาก็จะได้เห็นพัฒนาการของตัวเอง และข้อไหนผิดก็ได้ย้อนกลับไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงผิด ทำให้ผมพบว่าข้อสอบเก่าสำคัญมาก เพราะก่อนหน้านี้ ผมคิดแค่จะอ่านให้จบ แต่ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไรต่อ 
            อีกอย่างผมไปดูน้ำหนักคะแนนในการสอบ กสพท. ซึ่งก็พบว่าเค้าให้น้ำหนักกับ คณิตฯ และภาษาอังกฤษมาก ผมเลยทุ่มให้สองวิชานี้ แต่พวกวิทยาศาสตร์ก็เตรียมตัวตามความยาก คือ เคมี ชีวะ และฟิสิกส์ ตามลำดับ เปลี่ยนจากการอ่านทั้งหมด เป็นอ่านตามความสำคัญ
            ผมว่าการวางแผนสำคัญ เพราะ คนที่วางแผนดีๆ จะได้เปรียบตรงที่ เค้าทุ่มกับตัวที่ควรได้คะแนนเยอะ ไม่กวาดหมด ไม่ต้องอ่านทั้งหมด แต่อ่านตัวที่จำเป็นกับการสอบของเรา ซึ่งสำหรับผม ผมโฟกัสที่คณิตฯ และผมก็พบว่า เราไม่ต้องเรียนพิเศษเยอะ แต่เราต้องมีเวลาให้กับมัน ค่อยๆ โฟกัสกับมัน ไม่ต้องอ่านหนักมาก แต่ทำให้ถูกทาง มันก็ติดได้
            จำได้เลยว่า ช่วง 3-4 เดือนนั้น ผมทุ่มเต็มที่ จันทร์-ศุกร์ ผมกับเพื่อนสนิทจะชวนกันไปห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์หลังเลิกเรียนทุกวัน คือเลิกเรียนประมาณ 4 โมงเย็น ก็เข้าห้องสมุดจนถึงเที่ยงคืนเกือบทุกวัน บรรณารักษ์ต้องมาไล่กลับบ้านตลอดเลยครับ พี่ๆ ที่อยู่คณะแพทย์ก็ถามตลอดว่ามาทำไม
            ส่วนเสาร์- อาทิตย์ ผมก็ไปรอตั้งแต่ประตูยังไม่เปิด ประมาณ 9โมง และก็เป็นคนสุดท้ายที่ออกไปทุกครั้ง แล้วหลังจากออกจากห้องสมุดก็ไปนั่งตามร้านที่เปิดถึงดึกๆ นั่งทำข้อสอบกัน เพราะใกล้สอบมากแล้ว ผมทุ่มเทมาก เพราะไม่อยากซิ่วแล้ว 4 เดือนนี้ ผมเต็มที่ที่สุด ได้เท่าไหร่ ก็เท่านั้น
            (แล้วเราไปทำไม?) ผมรู้สึกว่าอ่านหนังสือที่บ้านมันมีคอม มีโทรทัศน์ ง่วงด้วย แต่อยู่ในห้องสมุด มีเพื่อน ก็ช่วยกันให้กำลังใจ ไม่ได้อ่านคนเดียว ไม่เครียด ไม่ท้อแท้ เพราะตอนนั้นรู้สึกว่าชีวิตเปลี่ยนไปมาก เคยถามตัวเองว่าทำไมต้องอ่านเยอะขนาดนี้ ทำไมต้องอ่านถึงดึกแบบนี้ แต่เพื่อนจะช่วยให้กำลังใจ ทำให้ไม่รู้สึกว่าอ่านคนเดียว โดดเดี่ยว

บรรยากาศสอบสัมภาษณ์
            หลังจากติดเข้าไปเค้าก็จะมีการเรียกสัมภาษณ์ ตามจำนวนรับ ไม่มีการคัดออก ไม่มีตกสัมภาษณ์ เว้นแต่เราโรคจิต หรือตอบคำถามแบบแปลกๆ คำถามที่เจอก็มี
  • ทำไมอยากเป็นหมอ
  • เอาแรงบันดาลใจมากจากไหน
  • ก่อนสอบเหนื่อยมั้ย / เราจัดการความเครียดยังไง
            แล้วก็พวกคำถามพวกสถานการณ์เช่น
  • ถ้าคุณแม่ป่วย แต่มีคนไข้ที่ฉุกเฉินเหมือนกัน เราจะทำยังไง
  • ถ้าเรียนแล้วรู้สึกเครียด เราจะทำยังไง
            ก็แล้วแต่คนครับ อย่างผมเข้าไปแปปเดียวแล้วออกมา แต่เพื่อนบางคนเข้าไปเป็นครึ่งชั่วโมงเลยครับ ผมว่าอยู่ที่การตอบแหละครับ ถ้าตอบแบบไม่ปกติ อาจจะเจอถามเยอะๆ อะไรอย่างงี้

เรื่องดราม่าในมหาวิทยาลัย
            เรื่องสอบเข้าว่าหนักแล้ว แต่ผมว่าตอนเรียนก็หนักไม่แพ้กันครับ เครียดมาก เพราะแพทย์ฯจุฬาฯ ตัดเกรดแบบอิงกลุ่ม ถ้าเราไม่พยายามทำคะแนนเกาะกลุ่มเพื่อนๆ เราตกทันทีครับ เราต้องพยายามตลอดเวลา เพราะถ้าเราไม่อ่าน แต่เพื่อนเราไม่หยุดอ่าน เราพัก แต่เพื่อนเรายังอ่านอยู่ เราก็ไม่สามารถตามเค้าได้ทัน
            อีกอย่างผมสอนพิเศษด้วย เลิกเรียน 4 โมง แต่ 4 โมงครึ่งมีนัดสอนพิเศษ เพื่อนๆ ที่ไม่ได้สอน หรือไม่มีภาระงานต่อ ก็สามารถกลับบ้านอ่านหนังสือได้เต็มที่ เราก็ต้องแบ่งเวลาให้มากกว่าเดิม เพื่อจะได้ทันเพื่อนๆ ไม่ให้คะแนนหลุดกลุ่ม อาจจะเหนื่อยบ้าง ไม่ได้นอนบ้าง เรียนหนักบ้าง แต่เราก็ยอมแพ้ไม่ได้ครับ เพราะเพื่อนๆ ก็ขยันมาก (เคยมีท้อบ้างมั้ย) ก็มีครับ เคยถามตัวเองว่านี่มันใช่ชีวิตเราจริงๆ รึเปล่า แต่มันก็ได้คำตอบตั้งแต่วันที่ผมป่วยว่า เราทำไปเพื่ออะไร เวลาเราท้อ เราก็เลยมีกำลังใจมากขึ้น

ฝากข้อคิด เทคนิคถึงน้องๆ
            ผมอยากให้น้องๆ แบ่งเวลาให้ดี ไม่จำเป็นต้องเรียนหนัก แต่โฟกัสให้ถูกที่ พยายามเอาข้อสอบเก่ามาดูว่าข้อสอบถามสไตล์ไหน อย่าทุ่มอ่านให้ครบอย่างเดียว แต่อ่านให้ถูกกับที่ข้อสอบต้องการ จะได้ไม่ต้องเสียเวลา หรือเหนื่อยจนเกินไป อีกอย่างเวลาไปเรียนพิเศษ ก็ควรทำการบ้าน อ่านทบทวนด้วย เพราะเรียนหนักมากไป จนไม่มีเวลาทบทวน ก็ไม่ต่างกับสูญเปล่า
            ที่สำคัญ อย่าท้อ บางคนเก่งมาก มีแววน่าจะติด แต่มาพลาดตอนท้ายเพราะท้อ เครียด ยิ่งใกล้เวลาสอบก็รู้สึกไม่ทันแล้วก็ทิ้งฝันตัวเองเลย ทั้งๆ ที่พยายามเต็มที่มาตลอด ยอมไม่เข้าคณะไหนเลย แต่พอมาตอนท้ายก็มาบอกตัวเองว่าไม่ทันแล้ว จะทันได้ยังไง แต่บางคนมีเวลาไม่มาก แต่ทุ่มเต็มที่และทำเต็มที่ เค้าก็ติดได้ เพราะเค้าทำมันอย่างเต็มที่แล้ว 


            อ่านจบแล้วน้องๆ คงได้แรงบันดาลใจ และเทคคนิคเพียบเลย คนที่พยายามย่อมได้รับผลลัพธ์ที่คุ้มค่าเสมอค่ะ พี่เก้าเองก็พิสูจน์ให้น้องๆ เห็นแล้ว พี่เมษ์ก็เชื่อว่าน้องๆ จะสามารถทำสิ่งที่ตัวเองหวังไว้สำเร็จได้ ถ้ามีความพยายาม ไม่ย่อท้อ ไม่ยอมแพ้กับอะไรก็ตามที่อาจจะเข้ามาขัดขวางเส้นทางของตัวเองอย่างที่พี่เก้าบอกนะคะ
             สำหรับวันนี้คงต้องทิ้งท้ายฝากไว้แค่นี้นะคะ แล้วกลับมาเจอกับพี่เมษ์และไอดอลคนต่อไปได้สัปดาห์หน้า วันอังคารกับคอลัมน์ Admission Idol ที่เว็บ Dek-D.com นะคะ บ๊ายบาย!
พี่เมษ์
พี่เมษ์ - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายการศึกษา

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

30 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
nattarun Member 21 เม.ย. 58 23:44 น. 3

ขอบคุณมากค่ะ เป๋็นแนวทางที่ดี จะนำไปปรับใช้แล้วก็เตือนตัวเองให้อ่านหนีังสือค่ะ ฮืออออ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Lemon Melos Member 22 เม.ย. 58 22:11 น. 6

สุดยอดมากๆ เลยค่ะพี่  อ่านแล้วมีกำลังใจแล้วก็ได้วิธีอ่านหนังสือดีๆ เยอะเลย

ตอนนี้ตั้งใจแล้วว่าอยากเรียนหมอ เพิ่งมารู้ตัวตอนม.5 เทอม 2 แต่ก็นะ ไม่ได้เตรียมตัว  

มาเริ่มตอนปิดเทอม คงต้องเต็มที่กันหน่อย สู้กันสักตั้ง เยี่ยม เพื่อแพทย์ เย้ !

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
siraplus Member 23 เม.ย. 58 16:07 น. 8

ขอบคุณที่เอาเรื่องดีๆแบบนี้มาบอกต่อนะคะ มีประโยชน์มากเลยค่ะ เป็นกระทู้ที่ให้กำลังใจให้คนที่อยากเรียนหมอได้พยายามอย่างถูกวิธีด้วย

0
กำลังโหลด
mickey 23 เม.ย. 58 16:15 น. 9
ขอบคุณค่ะ จะเอาไปปรับใช้ให้ได้มากที่สุดค่ะ หนูก็อยากเป็นหมอมาก ขอบคุณมากๆๆๆๆๆนะค่ะ ขึ้นม.4 แล้วต้องตั้งใจ>< fighting! !!ตั้งใจ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
matoom 24 เม.ย. 58 12:19 น. 15
หนูก็รู้สึกว่าเสียเวลาไป 2 ปี เหมือนพี่เลยค่ะ เรียนหนักมาก เลิกก็ดึก เหนื่อยมาก จนไม่มีเเรงทำการบ้านเลย พอถึงบ้านกินข้าว เเล้วก็นอนเลย ตื่นเช้าก็ไปเรียน เป็นอย่างนี้มา 2 ปี หน้านี้ยังกับศพเลย เรียนทั้งปิดเทอม เเล้วก็เปิดเทอม รู้สึกว่าไม่ได้อะไรเลย ก็เลยเลิกเรียนเเล้วมานั่งอ่านเอง เรียนในคอม ดูในยูทูปบ้าง เออมันก็ดีขึ้นอ่ะ คือมันได้นอนเต็มอิ่ม กินอิ่ม ก็เลยมีเเรงอ่านมากกว่าเดิมอีก มีเเรงทำโจทย์ ไม่เหมือนเมื่อก่อน เเค่เริ่มเห็นตัวหนังสือ ก็ง่วงนอนเเล้วอ่ะ # สู้ตายยยยยย อีกไม่กี่เดือนนนนน เเล้ววว สู้สู้
0
กำลังโหลด
รักได 24 เม.ย. 58 17:54 น. 16
ก็ไม่ต่างอะไรกับคนทั่วไป ที่ไม่มีความคิดที่จะเดินตามทางตัวเอง เลือกเรียนตามคนอื่น เห็นคนอื่นเรียนแพทย์ ก็เรียนตาม ทั้งๆที่เป็นคณะที่ต้องมีความชอบมากกว่าสิ่งอื่นใด
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด