10 คณะนี้สนุกแน่! เป็นคณะที่เรียนเกี่ยวกับ "โรคไข้เลือดออก"


          สวัสดีค่ะ ถึงแม้ตอนนี้โดยปกติจะถือว่าเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว แต่ประเทศไทยของเราก็ยังมีฝนตกลงมาวันเว้นวันอยู่เลยนะคะ และที่สำคัญโรคที่มักมากับหน้าฝนหรือช่วงฝนตกหนักมีน้ำขัง ก็คงหนีไม่พ้น โรคไข้เลือดออก ที่ถือว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญมากในประเทศไทย เพราะความอันตรายของโรคนี้ นอกจากเป็นโรคที่เกิดได้กับทุกคน ถ้าไม่ระวังก็อาจเกิดอันตรายถึงชีวิต และในปัจจุบัน การรักษโรคนี้ เป็นเพียงการรักษาตามอาการ ยังไม่มีตัวยารักษาโรคโดยเฉพาะค่ะ

          และในปัจจุบันที่การรณรงค์เรื่องนี้ลดน้อยลง ทำให้น้องๆ อาจจะรู้สึกว่า ถ้าเราไม่ได้เป็นโรคไข้เลือดออก โรคนี้ก็เป็นเรื่องนี้ไกลตัวมาก แต่ไม่ใช่เลยค่ะ ความจริงแล้วโรคนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวเราไม่มากก็น้อยแน่นอน วันนี้พี่อีฟก็เลยจะขอพาน้องๆ ไปรู้จักกับ 10 คณะที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคไข้เลือดออก จะมีคณะไหนกันบ้าง ตามพี่อีฟไปดูกันเลยค่ะ
 

          1. คณะแพทยศาสตร์ เป็นคณะที่เรานึกถึงเป็นอันดับแรกเลยนะคะ สำหรับคณะแพทยศาสตร์ ที่มีว่าที่คุณหมอเก่งๆ อยู่ในคณะมากมาย เพราะเมื่อเริ่มมีอาการ หรือสงสัยว่าเราเป็นโรคไข้เลือดออก สิ่งแรกที่น้องๆ ควรต้องทำก็คือการไปพบแพทย์นะคะ เรียกได้ว่าทีมแพทย์มีบทบาทสำคัญอย่างมาก เพราะนอกจากต้องเป็นคนวินิจฉัยโรคและทำการรักษาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่น้องๆ อาจจะยังไม่รู้คือ ในประเทศไทยของเรา มีทีมแพทย์นักวิจัย ที่กำลังคิดค้นตัวยาเพื่อรักษาโรคไข้เลือดออกอยู่ด้วยค่ะ

          2. คณะพยาบาลศาสตร์ ก่อนจะถึงมือคุณหมอ แน่นอนว่าเราก็ต้องมีการประเมินอาการเบื้องต้นจากบุคลากรของคณะนี้แน่นอนค่ะ คณะพยาบาลศาสตร์จึงได้มีการให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยในทุกแผนก เพื่อให้สามารถประเมินอาการเบื้องต้นและดูแลผู้ป่วยได้ทันท่วงที ดังนั้น เมื่อเรามีอาการผิดปกติ จึงต้องรีบแจ้งพยาบาล เพื่อให้สามารถประเมินอาการของเรา และส่งต่อคุณหมอได้ทันทีนะคะ

         
3. คณะสหเวชศาสตร์/เทคนิคการแพทย์ การที่จะรู้ว่าเรามีเชื้อไข้เลือดออกหรือไม่นั้น จะต้องมีการตรวจเลือดของเราอย่างละเอียด โดยอาศัยเทคโนโลยีและความรู้ทางการแพทย์ เพื่อค้นหาโรคไข้เลือดออก โดยนักเทคนิคการแพทย์ที่เชี่ยวชาญค่ะ ถ้ามองทั่วไป อาการของโรคไข้เลือดออกในเบื้องต้นไม่ต่างจากไข้หวัดธรรมดาเลยนะคะ ดังนั้นคณะนี้จึงถือว่ามีความสำคัญมาก ในการตรวจหาเชื้อและระบุโรคของเราค่ะ

         
4. คณะเภสัชศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งคณะที่สำคัญมากนะคะ เพราะถ้าใครรู้จักโรคไข้เลือดออกจะรู้ว่าต้องรักษาตามอาการ หากมีไข้ ก็ต้องใช้ยาลดไข้ แต่ไม่ใช่แค่นั้นค่ะ ! เพราะยาลดไข้ที่ใช้มีเพียงชนิดเดียว คือ ยาพาราเซตามอลค่ะ ส่วนแอสไพรินและไอบูโปรเฟน ที่เป็นยาลดไข้เช่นกัน ห้ามนำมาใช้ในโรคไข้เลือดออกเด็ดขาดนะคะ เนื่องจากยาทั้งสองชนิดนี้จะยิ่งส่งเสริมการเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติจนอาจเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้ จะเห็นว่านอกจากการรักษาแล้ว การให้ยาที่ถูกต้องก็สำคัญมากค่ะ

          5. คณะวิทยาศาสตร์ กว่าเราจะรู้ว่าโรคไข้เลือดออกเกิดขึ้นได้จากเชื้อใด เชื้อนี้มีการเจริญเติบโตอย่างไร อาศัยอะไรเป็นพาหะมาสู่คน และสามารถทำอะไรกับร่าวกายคนเราได้บ้าง ก็ต้องอาศัยบุคลากรจากคณะนี้ค่ะ เพราะนักวิทยาศาสตร์ต้องมีการวิเคราะห์ วิจัย ทดลอง เป็นเวลานานนะคะ กว่าจะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อทำให้เราได้รู้จักและมาเรียนรู้วิธีการป้องกันและรักษา เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งคณะสำคัญที่ต้องขอขอบคุณเลยค่ะ
 

ขอบคุณรูปภาพประกอบจาก www.coop.ku.ac.th

          6. คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ นอกจากการกระบวนการรักษาจะเป็นสิ่งสำคัญแล้ว กระบวนการป้องกัน ก็สำคัญไม่แพ้กันนะคะ และวิธีที่จะป้องกันได้ดีที่สุด คือการปลูกฝังความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ให้กับน้องๆ ทุกคนค่ะ ดังนั้นคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ก็ถือว่ามีความสำคัญมากเลยทีเดียว ที่จะผลิตคุณครูที่จะให้ความรู้ และการป้องกันเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกให้น้องๆ รู้ตั้งแต่อยู่ในโรงเรียนเลยค่ะ

         
7. คณะนิเทศศาสตร์/วารสารฯ/สื่อสารมวลชน นอกจากการปลูกฝังความรู้และความเข้าใจตั้งแต่ในโรงเรียนแล้ว การให้ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชนผ่านสื่อต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากค่ะ เพราะการรณรงค์ต่างๆ รวมไปถึงความรู้ของโรคเป็นสิ่งที่ต้องสื่อสารให้ประชาชนรับทราบ เพื่อให้สามารถดูแลตัวเองและป้องกันโรคได้เบื้องต้น ดังนั้นคณะที่ปัจจุบันผลิตบุคลากรที่ทำงานด้านสื่อและการประชาสัมพันธ์ จึงมีส่วนสำคัญในการป้องกันโรคไข้เลือดออกให้กับประชาชนเป็นอย่างมากค่ะ

         
8. คณะสัตวแพทยศาสตร์ หลายคนเริ่มมีความกังวลว่าโรคไข้เลือดออกที่มีพาหะมาจากยุงลาย ถ้ายุงไปกัดสัตว์เลี้ยงของตนเอง สัตว์เลี้ยงสามารถเป็นโรคไข้เลือดออกได้รึเปล่า คณะนี้จึงถือว่ามีความเกี่ยวข้องและสามารถให้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับโรคนี้ได้เลยนะคะ เริ่มตั้งแต่การค้นหาว่าโรคนี้สามารถติดในสัตว์เลี้ยงได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ มีโรคไหนที่มีอาการลักษณะเดียวกันที่ต้องรีบให้การรักษารึเปล่า เรียกได้ว่าไม่ใช่แค่คนเราที่มีความสำคัญ แต่สัตว์เลี้ยงที่เป็นเพื่อนแท้ของเราก็มีความสำคัญเช่นเดียวกันค่ะ

         
9. คณะสาธารณสุขศาสตร์ สาขาการจัดการสุขภาพชุมชน/อนามัยสิ่งแวดล้อม เป็นสองสาขาที่สำคัญมากค่ะ เพราะการเรียนนั้นเกี่ยวข้องกับการทำงานร่วมกับชุมชน ดำเนินการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ และดูแลสุขภาพของผู้คนในชุมชนด้วย รวมทั้งบุคลากรจากคณะนี้ยังเป็นผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับชุมชน เช่น สาธารณสุขชุมชน สถานีอนามัย หรือแม้กระทั่งการทำงานในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต้องร่วมมือกันเพื่อรณรงค์หรือป้องกันให้โรคไข้เลือดออกห่างไกลชุมชน ถือว่าเป็นคณะที่เกี่ยวข้องโดยตรงเลยนะคะ

         
10. คณะรัฐศาสตร์ อาจจะเป็นคณะที่เรานึกไม่ถึงนะคะ ว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคไข้เลือดออกได้อย่างไร แต่คณะนี้ถือว่าเป็นคณะที่ผลิตผู้นำในชุมชนหรือสังคม ตั้งแต่ผู้ใหญ่ ปลัด นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด ไปจนถึงผู้บริหารประเทศ เลยค่ะ และที่สำคัญนั้น ผู้นำชุมชนเหล่านี้ คือผู้วางแนวทางในการดูแลและปกป้องชุมชนจากโรคไข้เลือดออกได้ ถ้าผู้นำสนใจและเห็นความสำคัญของสุขภาพอนามัยของทุกคนในชุมชน ก็จะมีนโยบายมาสนับสนุนการป้องกันโรคไข้เลือดออกแน่นอนค่ะ
 


          เป็นยังไงกันบ้างคะ กับ 10 คณะที่พี่อีฟเอามาฝากกันในวันนี้ จริงๆ แล้วการรณรงค์หรือป้องกันโรคไข้เลือดออก ถือว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนนะคะ น้องๆ ทุกคณะ ทุกมหาวิทยาลัย สามารถดูแลตัวเอง ไปพร้อมๆ กับการดูแลชุมชนได้ค่ะ เริ่มตั้งแต่การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย รวมไปถึงการดูแลตัวเองไม่ให้ถูกยุงกัดด้วย และใครที่อยากจะรู้จักโรคไข้เลือดออกให้มากกว่านี้ ก็ตามไปอ่านใน 10 ข้อควรรู้ "โรคไข้เลือดออก" จากคนแข็งแรง อาจแย่ลงได้ในไม่กี่วัน กันได้เลย สวัสดีค่ะ           
พี่อีฟ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด