เปิดเคล็ดลับจาก 6 รุ่นพี่แพทยฯ ในการแข่งขัน CMU IMC (พร้อมเทคนิคการสอบเข้า)



          สวัสดีค่ะ ช่วงที่ผ่านมาคิดว่าน้องๆ หลายคนอาจจะได้มีโอกาสเห็นข่าวเกี่ยวกับการแข่งขัน Chiang Mai University International Medical Challenge 2016: Basic to Clinical Anatomy ที่เป็นการแข่งขันตอบปัญหาเกี่ยวกับวิชาแพทย์ และมีน้องๆ ที่เข้าร่วมจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ หลากหลายประเทศเลยค่ะ ซึ่งน่าภูมิใจมากๆ เลยนะคะ ที่ผู้ชนะเลิศ เป็นพี่ๆ จากประเทศไทยของเราค่ะ
         วันนี้พี่อีฟเลยขอพาน้องๆ มารู้จักกับรุ่นพี่จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เป็นผู้ชนะในการแข่งขันครั้งนี้ ซึ่งมีการแข่งขันทั้งระบบทีมและบุคคล บอกเลยว่ากว่าจะเป็นผู้ชนะในการแข่งขันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะคะ ลองไปดูกันว่า การเรียนที่หนักอยู่แล้ว ถ้ามาพร้อมกับการแข่งขันที่หนักยิ่งกว่า พี่ๆ มีเคล็ดลับอะไรในการเตรียมตัว และหนทางของการเป็นนิสิตแพทย์ จะยากอย่างที่น้องๆ คิดไหม
 

ภาพบรรยากาศการแข่งขัน
ขอบคุณรูปภาพประกอบจาก
FB : CMU International Medical Challenge

         การแข่งขันครั้งนี้แบ่งเป็น 2 ทีม ได้แก่ ทีม CU 1 ซึ่งประกอบไปด้วย พี่เนส-ศุภวิชญ์ ปานไพรศล, พี่อาร์ม-ณฐกร สิริทวีชัย และพี่บิ๊ก-บวร จึงวัฒนศิริกุล และ ทีม CU 2 พี่แป้งร่ำ-นงนภัส อัศวมาศบันลือ หญิงสาวคนเดียวในทีมของเรา, พี่ทิ้ว-ทศวิทย์ ติยะรัตนาชัย, พี่บอส-วิศรุต ศศิโภคา ไปติดตามเรื่องราวของพี่ๆ กันเลยดีกว่าค่ะ

 เล่าให้ฟัง เกี่ยวกับการแข่งขัน Chiang Mai University International Medical Challenge 2016: Basic to Clinical Anatomy หน่อยค่ะ
          "การแข่งขัน Chiang Mai University International Medical Challenge (CMU IMC) เป็นการแข่งขันที่จัดโดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะจัดขึ้นทุกปีอยู่แล้วค่ะ โดยแต่ละปีก็จะเปลี่ยนเรื่องหรือหัวข้อที่แข่งขันไปเรื่อยๆ ปีนี้ก็จะเป็น Theme Anatomy ที่ไปแข่งกันมา และมีทีมเข้าร่วมจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ประมาณ 40 ทีม จากทั้งในประเทศและต่างประเทศค่ะ เช่น อินโดนีเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ จีน ฯลฯ

          การแข่งขันก็จะแบ่งกันเป็นทีมค่ะ แต่รอบแรกเขาจะให้เราแยกกันทำข้อสอบก่อน ซึ่งคนที่ได้คะแนนสูงสุดในรอบนี้ ก็จะได้รางวัลสำหรับประเภทเดี่ยวด้วย แล้วหลังจากนั้นก็จะเอาคะแนนมารวมทั้งทีม แล้วก็คัดเลือกทีมที่ผ่านเข้ารอบ เพื่อไปแข่งขันกันในรอบต่อไปค่ะ ซึ่งรอบนี้จะแข่งขันกันคล้ายๆ เกมโชว์เลย ทั้งการแข่งขันบน stage มีคนดูการแข่งขัน แล้วก็เขียนกระดานตอบคำถามค่ะ"  พี่แป้งร่ำหญิงสาวหนึ่งเดียวในทีม เล่าที่มาและเรื่องราวเกี่ยวกับการแข่งขันให้เราฟัง

 
มีวิธีการคัดเลือกการเข้าแข่งขันยังไงบ้างคะ แล้วเตรียมตัวกันยังไง
          "ถือว่าเริ่มมาจากความสนใจของพวกเราที่อยากเข้าร่วมการแข่งขันนี้ ก็เลยรวมทีมกัน แล้วก็เข้าไปพูดคุยกับอาจารย์ค่ะ ว่าอยากแข่งขันในรายการนี้ อาจารย์ช่วยส่งพวกเราไปหน่อย 55555 ซึ่งอาจารย์ก็ช่วยเหลือพวกเราเต็มที่ค่ะ อย่างตอนนั้นที่เราเตรียมตัวกัน ก็มีทั้งที่อ่านเอง แล้วก็ได้อาจารย์ช่วยติวให้ ก็จะมีอาจารย์ที่ติดตามหัวข้อในแต่ละปี ว่าจะแข่งขันกันเรื่องอะไร โดยปกติในแต่ละปี การแข่งขันนี้จะมี reference มาให้เรา ว่าเขาจะใช้จากหนังสือเล่มไหน ปีนี้ก็จะมีประมาณ 7 เล่ม ที่มีหลากหลายเรื่องมาก ซึ่งอาจารย์ทางภาค Anatomy ก็ช่วยติดต่ออาจารย์หลายๆ ท่านที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาช่วยติวให้พวกเรา ต้องขอบคุณมากจริงๆ ค่ะ"
 

 ใช้ช่วงเวลาไหนในการเตรียมตัวกันบ้างคะ
          "ส่วนใหญ่เวลาเตรียมตัวของพวกเราก็จะเป็นหลังเลิกเรียนครับ ในแต่ละวัน ก็จะนัดอาจารย์ แล้วก็นัดเพื่อนๆ ว่าวันนี้อาจารย์ท่านไหนสะดวก ติวเรื่องอะไรพาร์ทไหน ใครมาได้บ้าง" "หรือบางคนก็อาจจะเตรียมตัวกันตั้งแต่ปิดเทอมเลยครับ เพราะถ้าเป็นช่วงเปิดเทอมพวกเราก็จะต้องเรียนตั้งแต่ 08.00-16.00 น. แล้วค่อยมาติวกันต่อ ก็จะต้องแบ่งเวลากันมากหน่อย ต้องเรียนไปด้วย แล้วก็ต้องอ่านหนังสือเพื่อเตรียมตัวในการแข่งขันด้วย" พี่บิ๊กกับพี่อาร์มช่วยกันเล่าถึงการเตรียมตัว

 เคล็ดลับในการจำเนื้อหาของแต่ละคน
          พี่บอส - ต้องบอกเลยว่าตั้งแต่เริ่มต้น ผมดีใจมากที่เพื่อนมาชวนรวมทีมแข่งขัน เพราะผมรู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยเก่ง และอยากจะมีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันตอบปัญหาหรือการแข่งขันทางวิชาการแบบนี้อยู่แล้ว พอมีโอกาสเลยรีบคว้าไว้ ช่วงแรกยังไม่รู้ว่าต้องอ่านอะไร ก็ได้อาจารย์ไกด์ให้ครับ อาจารย์ก็จะไฮไลท์มาเลยว่าเนื้อหาที่เราควรรู้ ก็ต้องอ่านครับ ที่สำคัญคือเรื่องแบ่งเวลาเลย ทั้งการแบ่งเวลาระหว่างหนังสือที่ต้องอ่านในห้องเรียน กับหนังสือที่ต้องอ่านในการแข่งขัน แล้วก็แบ่งเวลาพักผ่อนกับเวลาอ่าน แต่ถ้าเป็นเทคนิคจริงๆ ผมคิดว่าควรอ่านเรื่องที่เราถนัดก่อนครับ 
          พี่ทิ้ว - ผมแบ่งเนื้อหาเป็น 2 ส่วน คือ เนื้อหาที่เคยเรียนมาก่อนตอนปี 2 ซึ่งก็จะเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่ว่า theme ที่ไปแข่งปีนี้ มีเนื้อหาเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ผมก็จะอ่านตาม ref แล้วก็เน้นดูรูปภาพ และตารางที่เพิ่มขึ้นมาจากเนื้อหา จะนึกดูว่าเรียนเรื่องไหนมาบ้างแล้ว อะไรที่เราต้องอ่านเพิ่มอีก และปิดท้ายด้วยการทำโจทย์ ที่จะช่วยได้มาก (พี่บอส - ถ้ามีคีย์เวิร์ด บางทีเราก็จะเดาได้เลย เหมือนถ้าอ่านเยอะ ทำโจทย์เยอะ เราก็จะมีคลังศัพท์ แล้วถ้าเจอโจทย์ที่คุ้น เราก็จะตอบได้เลย)
 

พี่ทิ้ว - ทศวิทย์ ติยะรัตนาชัย จากทีม CU 2

          พี่แป้ง - ตอนแรกจะเหมือนบอสเลย ที่ไม่รู้จะอ่านตรงไหน เพราะมันเยอะมาก ก็เริ่มท้อ แต่ดีที่จะได้กำลังใจจากเพื่อนในทีมตลอด เพื่อนก็จะให้กำลังใจกัน แนะนำเคล็ดลับว่า ถ้าอ่านจบแล้วลองนึกๆ ทบทวน แล้วเพื่อนก็จะมีส่งหนังสือมาให้เราทำโจทย์ พอได้ทำโจทย์ เราก็จะรู้ว่าเรื่องไหนสำคัญบ้าง จะเริ่มจับจุดได้ ก็จะช่วยได้เยอะมาก
        นอกจากนั้นที่สำคัญคือเราก็ยังได้อาจารย์ช่วยติวให้เพิ่มเติม เพราะอาจารย์ก็จะรู้ว่าเรื่องไหนสำคัญ เรื่องไหนน่าจะเอามาออก ทำให้เรามั่นใจขึ้นมากค่ะ และแป้งจะเหมือนบอสอีกอย่างคือ เวลาแป้งอ่านหนังสือ แป้งจะอ่านเรื่องที่รู้สึกว่าเราโอเคก่อน อ่านเรื่องที่เราทำได้ให้รู้สึกมีกำลังใจ แต่พออ่านไปสักพัก ก็จะข้ามไปเรื่องที่จำไม่ได้หรือเป็นจุดอ่อนของเรา และจะเน้นทำโจทย์ในส่วนนี้เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น

          พี่เนส - จริงๆ ก็จะคล้ายๆ กับของเพื่อนเลยครับ คือเราจะรู้ตารางล่วงหน้าก่อนไปแข่งอยู่แล้ว ว่าแข่งวันไหน ซึ่งก็รู้ล่วงหน้ามาหลายเดือน แต่ช่วงแรกเราก็ยังเน้นอ่านหนังสือในคณะมากกว่า เพราะเพิ่งเปิดเรียน กลัวตามที่เรียนในห้องไม่ทัน ก็จะเริ่มมาอ่านจริงจังพร้อมเพื่อนๆ เลย คือ ช่วงปิดเทอม ก็จะพกหนังสือไปอ่านด้วยทุกที่ ไปเที่ยวต่างประเทศก็พกไปด้วย ตอนนั้นก็จะเน้นอ่านเรื่องที่ตัวเองถนัดเหมือนกัน แล้วก็จะดูรูป ดูตารางเพิ่มเติม หลังจากที่อาจารย์ติวเพิ่มให้ เราก็จะรู้แล้วว่าเรื่องไหนสำคัญ ก็มาอ่านเพิ่มเติม แล้วก็เริ่มติวกับเพื่อน ดูเนื้อหาทั้งหมด แล้วก็แบ่งกันว่าใครจะอ่านส่วนไหน เราต้องทำงานเป็นทีมจริงๆ เพราะเนื้อหามันเยอะมาก อ่านจบก็ทำโจทย์ เป็นแบบนี้ประจำครับ
          พี่อาร์ม - ต้องบอกว่าการสอบนี้มีมันเป็น basic to clinical ซึ่งส่วน basic เราเคยเรียนมาแล้ว แต่ส่วน clinical เรายังไม่เคยเรียน แต่ถึงแม้ basic เราเคยเรียนแล้ว ก็เป็นการเรียนเรื่องแรกๆ ของปี 2 เลย คือผ่านมา 1 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นความรู้เราก็จะเริ่มเลือนลางแล้ว 55555 ต้องใช้เวลาในการทบทวน ผมจะเน้นอ่านตาม reference หนังสือที่เขาให้มา แล้วก็พอเป็นเรื่อง Anatomy การเน้นดูรูปก็เป็นสิ่งสำคัญครับ ส่วนพาร์ท clinical ก็จะคล้ายๆ เพื่อนเลยครับ คือลองเปิดดูแล้วรู้สึกว่าไม่ไหว ก็จะเน้นทำโจทย์มากกว่า เพราะโจทย์จะคล้ายๆ สรุปให้เราเลย ว่าเรื่องไหนเด่น เรื่องไหนสำคัญ ถึงจะเอามาออก และสุดท้ายถ้าไม่ทันจริงๆ ก็จะแบ่งกันไปเลยว่าใครอ่านเรื่องไหน จะได้เก็บได้ครบทุกเรื่องที่ออกครับ
         พี่บิ๊ก - เกริ่นของผมก่อนเลยว่า ผมเป็นคนที่ไม่ชอบวิชากายวิภาคเลย ตอนปี 2 ที่เรียนวิชานี้ ผมก็ทำคะแนนได้ไม่ดี เรียนไม่ค่อยรู้เรื่องเหมือนกัน อย่างเพื่อนๆ คนอื่นจะอ่านตั้งแต่ช่วงปิดเทอมมาจนถึงช่วงเปิดเทอม ผมจะอ่านก่อนหน้านั้นนิดนึง แต่พออ่านแล้วไม่รู้เรื่อง ก็จะคิดว่ายังมีเวลาเหลืออีกเยอะ ก็ทิ้งไว้ก่อน มาอ่านสอบไฟนอล แล้วช่วงปิดเทอมก็มีงานอื่นที่ต้องเคลียร์ให้เสร็จ ทำให้กว่าจะมาเริ่มจริงจังก็คือช่วงเปิดเทอมมาแล้ว ตอนนั้นคือ panic มาก เพราะความรู้พื้นฐานก็ไม่ค่อยมี และอีก 2 อาทิตย์ก็จะไปแล้ว อย่างหนังสือที่เพื่อนอ่านกัน ผมลองไปเปิดดู ก็ไม่คุ้นเลยว่าเคยเรียนมาก่อน ชื่อที่เพื่อนคุ้นๆ กัน ผมก็เหมือนเพิ่งเคยได้ยินตอนที่อ่านนี่แหละ 55555 ตอนนั้นผมก็มีข้อจำกัดของเวลา ที่รู้สึกว่า ถ้าอ่านเองก็ไม่ทันแล้ว เลยเลือกใช้ทุกกลยุทธที่มีเลย ตั้งแต่ให้เพื่อนสรุปให้ ให้เพื่อนช่วยติว ดูยูทูป อะไรที่เขาว่าดี หรืออะไรที่สรุปมากที่สุด ผมก็ตามไปดูหมด 55555 แต่เคล็ดลับผมจะต่างจากเพื่อนนิดนึง คือ ผมจะเลือกอ่านเรื่องที่ยังไม่ได้ หรือเรื่องที่ไม่เคยอ่านมาก่อน มากกว่าจะอ่านเรื่องที่ชอบ เพราะผมรู้สึกว่าเรื่องที่ชอบก็จะพอมีความรู้เหลือ เดี๋ยวค่อยกลับมาอ่านได้ การแข่งขันนี้ ทำให้ผมได้มีโอกาสทบทวนเรื่องกายวิภาค และรู้ว่าเรื่องพื้นฐานทั้งหมด คือความรู้ที่สำคัญในตอนคลินิกเลย
 

พี่บิ๊ก - บวร จึงวัฒนศิริกุล จากทีม CU 1

 สิ่งที่ได้และความประทับใจจากการแข่งขันครั้งนี้
          พี่บิ๊ก - ถ้าเป็นเรื่องของวิชาการ ช่วงที่ผมต้องดูสรุปก่อนการแข่งขัน เพราะเนื้อหาข้อมูลที่เยอะมากบวกกับช่วงเวลาที่มีจำกัด ผมมองเปรียบเทียบกับช่วงแอดมิชชั่นของน้องๆ ว่า ถ้าเวลาเรามีจำกัด การตะลุยอ่านทุกอย่าง จำให้ได้ทุกตัวอักษร บางทีมันก็ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด หรือการได้มีโอกาสทำให้สิ่งที่ไม่เคยทำ เช่น การดูติวจากยูทูป หรือการที่เพื่อนๆ ช่วยกันติวเรื่องที่ตอนเรียน เราใช้เวลากันเป็นเทอม แต่ก่อนแข่งขันก็มาอัดไว้ที่ผมคนเดียวใน 2-3 ชม. ฯลฯ หรือมองว่าถ้าเราตั้งใจเรียน และมีความรู้มาก่อน ก็จะช่วยให้จำได้ง่ายมากขึ้น นอกจากด้านวิชาการ ผมก็รู้สึกว่างานนี้เป็นงานอินเตอร์ ทำให้ได้รู้จักเพื่อนใหม่เยอะมากๆ ทั้งเพื่อนๆ ในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมิตรภาพนี้ ผมมองว่ามันสำคัญในอนาคตที่เราอาจจะได้ทำงานร่วมกัน หรือได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
          พี่บอส - ผมมองว่านอกจากเรื่องวิชาการ การแข่งขันนี้จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้เราได้มีโอกาสเรียนรู้วัฒนธรรมของคนเชียงใหม่ ทั้งเรื่องอาหารการกิน วิถีชุมชน และลักษณะนิสัยของคน ซึ่งน่ารักมากครับ ส่วนเรื่องการแข่งขัน ในทุกรอบที่เราอยู่ในการแข่งขัน ผมมองว่าเรื่องสำคัญ คือ เรื่องของเวลาครับ ทุกข้อที่เราทำในการแข่งขัน มีเวลานับถอยหลัง มันอยู่ที่ว่าเราจะคุมสติได้รึเปล่า รวมไปถึงกลยุทธ์ในการเล่นด้วย ที่เราต้องวางแผนให้ดี เพราะการแข่งขันจะเหมือนกับเกมโชว์เลย จะมีข้อที่ถ้าตอบผิดจะติดลบ เราก็ต้องวางแผนให้ดี อย่างข้อที่ตอบผิดแล้วจะได้ศูนย์ ทีมผมก็จะเลือกข้อยากๆ มาเล่นก่อน ติดๆ กัน เก็บข้อง่ายๆ ไว้ทำคะแนนในข้อหลังๆ คือผมมองว่า การแข่งขันนี้ ไม่ใช่แค่มีความรู้อย่างเดียว แต่เราต้องวางแผนในการเล่นด้วยครับ

 

ทีม CU2 ที่ประกอบไปด้วย บอส, ทิ้ว, แป้ง
ขอบคุณรูปภาพประกอบจาก FB : CMU International Medical Challenge

          พี่แป้ง - สำหรับแป้งที่ประทับใจมากเลยก็คือ เมื่อก่อนแป้งจะเป็นคนชอบอ่านหนังสือคนเดียว แต่มาครั้งนี้ที่ต้องแข่งเป็นทีม ก็ได้มีโอกาสอ่านหนังสือ แล้วก็ติวไปกับเพื่อนๆ อยากขอบคุณเพื่อนทั้งสองคนมากที่คอยเป็นกำลังใจให้ตลอด ตั้งแต่ตอนอ่านหนังสือที่คอยช่วยซัพพอร์ตกัน ไปจนถึงตอนแข่งขันที่คอยเชื่อมั่นกัน ใครตอบผิดก็ไม่เป็นไร คอยให้กำลังใจกัน อีกอย่างที่ประทับใจ คือ อยากขอบคุณ ม.เชียงใหม่ ที่ริเริ่มจัดงานนี้ด้วย เพราะเพื่อนๆ หลักที่จัดงานก็จะเป็นปี 3 เท่าๆ เรา ทำให้เราได้ไปเจอเพื่อนๆ ทั้งเพื่อนใหม่จากประเทศต่างๆ และเพื่อนเก่ารุ่นเดียวกัน และทำให้ได้เจอบรรยากาศของการแข่งขันทางวิชาการ ที่ไม่ค่อยได้เจอแล้วตอนมหาวิทยาลัยด้วยค่ะ
         (พี่บอส - บอสอยากเสริมเรื่องการตัดสินใจครับ อย่างทีมเราจะมีทิ้วเป็นคนตัดสินใจ เพราะบอสมองว่าบางข้อทุกคนอาจจะมีคำตอบของตัวเองและอยากตอบ แต่สุดท้ายแล้ว เราก็ต้องมาคุยกันและต้องมีคนตัดสินใจในคำตอบเป็นคนสุดท้าย ซึ่งไม่ว่าจะผิดหรือถูก ทุกคนในทีมก็ต้องเคารพการตัดสินใจของผู้นำที่เราเลือกแล้ว และถ้าผิด ก็ต้องซัพพอร์ตกันครับ)
 

พี่บอส - วิศรุต ศศิโภคา จากทีม CU 2

 เคล็ดลับความสำเร็จของการแข่งขัน
          พี่ทิ้ว - ที่ต้องมีแน่ๆ ก็คือ ความรู้ ครับ และต่อมาสิ่งที่สำคัญมากเลยในการแข่งขันที่ต้องมี คือ สติ เพราะถึงแม้ว่าเราจะมีความรู้ แต่พอมาอยู่ในการแข่งขันจริงๆ แล้ว ถ้าไม่มีสติ ก็ไม่มีความหมายครับ นอกจากนั้นในทีมก็ต้องให้กำลังใจกันครับ และเรื่องของกลยุทธ์ด้วย อย่างก่อนแข่งพวกผมจะศึกษากติกามาก่อนเลย ว่าการแข่งขันแต่ละรอบเป็นยังไงบ้าง ทำยังไงถึงจะได้คะแนนดี
           พี่เนส - ผมมองว่าสิ่งที่สำคัญคือเราไปเป็นทีม มันต้องมีความเชื่อใจกัน อย่างบางพาร์ทที่แบ่งกันทำ เราก็ต้องรับผิดชอบส่วนของตัวเองให้ดีที่สุด แล้วพอเอามารวมกัน เราก็มาดูว่าแต่ละคนยังขาดอะไร และเราจะสามารถเติมเต็มให้กันหรือเติมเต็มให้ทีมได้ยังไงบ้าง 
          พี่บิ๊ก - การแข่งขันทุกอย่างเลย ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันนี้ หรือการสอบในห้องเรียน การสอบแอดมิชชั่น ฯลฯ ผมว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การวางแผน เพราะการไปสอบแต่ละครั้ง เขาไม่สามารถมาวัดตรงๆ ว่าในหัวแต่ละคนมีความรู้มากน้อยแค่ไหน แต่เขาก็จะมีวิธีการวัด เช่น การให้กติกา ขอบเขตเนื้อหา ฯลฯ เราก็ต้องวางแผนแบบรู้เขารู้เรา รู้เขาว่าเราจะต้องสอบอะไร มีกติกาอะไร มีขอบเขตแค่ไหน และรู้เราว่า เรามีความรู้พื้นฐานเยอะแค่ไหน ได้หรือไม่ได้เรื่องไหนบ้าง และต้องดูทรัพยากรที่เรามีด้วย เช่น เวลา ถ้ารู้ทุกอย่างแล้ว เราก็สามารถวางแผนหากลยุทธ์ที่ดีที่สุดเพื่อความสำเร็จได้ครับ

 ลองเล่าเรื่องราวของแต่ละคนช่วงสอบเข้าให้ฟังกันหน่อย
          พี่แป้ง - แป้งจะจำภาพตัวเองได้เลยว่าตอนนั้นก็จะทำโจทย์ อย่างแป้งจบเตรียมฯ มา ตอนเรียนที่เตรียมฯ รุ่นพี่ก็จะพูดๆ กันอยู่แล้วว่า ตอน ม.6 ต้องเป็นช่วงที่เริ่มทำโจทย์กันแล้ว แต่ตอนนั้นแป้งขี้เกียจนะ มาเริ่มค่อนข้างช้ากว่าเพื่อน อย่างตอนนั้นสอบวิชาสามัญตอนมกราคม แป้งก็เพิ่งเริ่มมาฟิตตอนตุลาคม แต่ตอนนั้นโชคดีที่เราก็เรียน+เก็บเนื้อหาหมดแล้ว ก็เหลือทำโจทย์ ซึ่งแป้งก็มองว่าการทำโจทย์ช่วงใกล้สอบช่วยได้มากเลย แต่ต้องวางแผนในการทำด้วยนะ ไม่ใช่แค่ทำไปเรื่อยๆ เช่น ต้องลองจับเวลาด้วย เพราะการสอบก็มีเวลามาจำกัด ไม่ใช่เราทำได้ทุกข้อ แต่ใช้เวลานานเกินไป แบบนี้ก็ไม่โอเค และอีกหนึ่งเคล็ดลับของแป้ง คือจะดูว่า เราต้องสอบอะไรบ้าง และเรื่องไหนออกเยอะสุด เราก็จะเน้นอ่านเรื่องนั้นมากที่สุดค่ะ
 

พี่แป้งร่ำ - นงนภัส อัศวมาศบันลือ จากทีม CU 2

          พี่เนส - ถ้าผมเลย ผมจะเป็นสายขี้เกียจไปเรียนพิเศษ อย่างผมอยู่โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม จ.นนทบุรี สถานที่เรียนพิเศษก็จะอยู่ห่างไปหน่อย ไม่ได้ไกลมาก แต่รถติดมาก 55555 ผมก็ขี้เกียจนั่งรถไปนานๆ ทำให้ตอนนั้นเน้นอ่านหนังสือเอง ซึ่งเราก็ค้นหาตัวเองมาตลอดว่าอยากเป็นอะไร ตอนนั้นมีสอบอะไรเราก็ลองไปสอบหลายที่เหมือนกัน นอกจากนั้น หาวิธีการอ่านให้เหมาะกับเรา จัดตารางเวลาชีวิตตัวเองดีๆ เช่น ช่วงที่เราอ่านหนังสือแล้วเข้าใจที่สุด อย่างผมก็จะเป็น 19.00-24.00 น. และสำคัญที่สุด คือ การทำโจทย์ เป็นอะไรที่ห้ามขาด ห้ามลืมเลย
          พี่ทิ้ว - ผมจะเป็นสไตล์ที่ชอบอ่านเองครับ จะเรียนพิเศษค่อนข้างน้อย ถ้าเป็นวิชาที่ผมถนัด ผมก็จะอ่านเอง แล้วก็เน้นทำโจทย์เลย แต่ถ้าเป็นวิชาที่ไม่ค่อยถนัด การเรียนพิเศษของผม ก็จะเรียนแค่คอร์สเอนท์ฯ บวกลบคอร์สทำโจทย์ แค่นั้นเลย ซึ่งตอนเรียนพิเศษในห้อง ถ้าตั้งใจ เราก็จะเข้าใจอยู่แล้ว แต่ผมจะเข้าใจมากกว่าเดิม ถ้าได้กลับมาทบทวนทุกครั้งหลังจากเรียนจบ และสุดท้ายก็อย่าลืมทำโจทย์เด็ดขาดครับ หลักๆ ของผม คือ การทบทวนและเน้นหาวิชาที่เราชอบหรือไม่ชอบ เพื่อที่จะพัฒนาหรือปรับปรุง
          พี่บอส - ของผมต้องย้อนไปไกลเลยครับสำหรับการ inspire+ความขยัน ที่ทำให้มาถึงจุดนี้ เริ่มมาจากการที่ผมสอบห้อง gifted ที่สวนกุหลาบฯ ตอนม.1 ไม่ติด ซึ่งตอนนั้นเราก็มีความผิดหวังนะ แต่ก็รู้สึกว่าไม่เป็นไร ก็เรียนห้องธรรมดาได้ ตอนนั้นเราก็ไม่ค่อยเรียน เน้นเล่น เน้นกีฬาเป็นส่วนใหญ่ จนมาเจอจุดเปลี่ยนคือ มีพี่ๆ ที่กลับมาจากการแข่งขันโอลิมปิก แล้วได้รับการจัดขบวนธงต้อนรับ ซึ่งอาจารย์ที่จัดขบวนธงต้อนรับ เป็นอาจารย์ที่เข้มงวดมาก ทำให้เรารู้สึกชื่นชมพี่ๆ ก็เลยดูว่ามีวิธีไหนที่จะเป็นแบบนี้ได้บ้าง ก็เลยลองสอบค่าย สอวน. ค่ายแรกของผม คือ คอมพิวเตอร์ ซึ่งพอสอบผ่านเข้าไปเรียน ก็พบว่าไม่ใช่ตัวเอง เลยลองสอบใหม่เป็นค่าย สอวน. ชีวะฯ ซึ่งตอนนั้นพอได้ก็ดีใจมากครับ ส่วนที่ผมมองว่าเป็นการ inspire ที่สำคัญเลย คือ พ่อแม่ เพราะเราอยากทำให้พ่อแม่ดีใจ และภูมิใจในตัวเรา ผมก็พัฒนาตัวเองมาจากการที่เน้นกีฬา ไม่ค่อยสนใจเรียน จนกลายมาเป็นเด็กค่าย สอวน. เพราะพ่อแม่เลย ส่วนการเตรียมตัวสอบเข้า ผมมองว่าการเรียนพิเศษก็สำคัญนะ เพราะถ้าเราเรียนไม่เข้าใจเลย การลงทุนกับเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญและคุ้มค่าเหมือนกัน
          พี่อาร์ม - ตอนนั้นที่เลือกเรียนหมอ คือผมก็ลองมานั่งนึกดูครับว่าชอบอะไร หรือไม่ชอบอะไร ช่วง ม.ปลาย ที่ผมอยู่ค่าย สอวน.ชีววิทยา ผมก็จะอ่านแต่ชีวะฯ เลย วิชาอื่นก็จะอ่านบ้าง ไม่อ่านบ้าง แล้วก็เริ่มมองว่าวิชาที่ชอบไปทางไหนได้บ้าง บวกกับดูนิสัยและไลฟ์สไตล์ของตัวเองว่าเหมาะกับอาชีพไหน ก็เลยเลือกหมอ เพราะได้เจอผู้คน และช่วยเหลือคนอื่นด้วย ส่วนการเตรียมตัว ก็ต้องบอกว่าหนักหนาเหมือนกัน เพราะผมอ่านแต่ชีวะฯ แต่ตอนสอบเข้า ไม่ได้มีแค่ชีวะฯ วิชาเดียว ความหนักหนาของผม ก็คือการที่ต้องมาตามเก็บวิชาอื่นที่ไม่ชอบ เช่น วิชาพวกคำนวณ ผมก็เน้นเรียนให้หนัก ทบทวนให้มาก แต่ถ้าเป็นวิชาที่ชอบก็จะอาศัยความรู้ที่เคยเรียนมามากกว่า

 

พี่อาร์ม - ณฐกร สิริทวีชัย จากทีม CU1

          พี่บิ๊ก - ของผมจะมาสายที่ต่างจากเพื่อนๆ หน่อย คือ ผมจะชอบเรียนไทย, สังคมฯ มาก แล้วตอนแรกก็ไม่ได้อยากเรียนหมอเลย เพราะที่บ้านมาสายหมอกันทุกคนเลย เลยแบบ ไม่เอาแล้ว คณะที่ผมมองไว้แรกๆ เลย คือ คณะอักษรศาสตร์ เพราะผมชอบงานดนตรี ชอบศิลปะ ตอนนั้นก็เลยมองคณะนี้เลย เพราะเราคิดว่าถ้าชอบแบบนี้ ก็ต้องมาทางนี้ แต่อยากจะแนะนำน้องๆ เลยว่า เราอย่ามองแค่จากมุมมองเด็กมัธยมที่ไม่รู้ว่าคณะนี้ต้องเรียนอะไร ต้องเจออะไร แต่อยากให้ลองมารู้จักคณะแต่ละคณะจริงๆ เช่น งาน Open House, งานวิชาการ, เปิดโลกกิจกรรม ฯลฯ ซึ่งพอเราลองมางานพวกนี้ ก็เริ่มไม่ใช่อักษรฯ แล้ว มีเศรษฐศาสตร์กับรัฐศาสตร์ เพิ่มเข้ามาด้วย ก็ยังไม่ได้เข้าใกล้หมออยู่ดี จนกระทั่งเราได้เข้าค่าย สอวน. ชีววิทยา มันเหมือนเปิดโลกด้านวิทยาศาสตร์ของเราเลย ทำให้เราจากที่เคยสนใจเฉพาะด้านศิลป์ ก็เริ่มมาอินด้านวิทย์มากขึ้น ทำให้อยากใช้ความรู้ด้านชีวะฯ แล้วก็อยากเรียนรู้แบบลึกๆ ไปเลย บวกกับตอนนั้นสนใจเรื่องนิวโรซายส์ พอดี เลยเลือกเรียนหมอ เพราะจริงๆ ก็ไม่ได้ปิดกั้นว่าตัวเองต้องเรียนอะไร ผมมองว่าอย่าปิดกั้นตัวเอง แล้วเราก็จะเจอโอกาสใหม่ๆ หรือทางเลือกใหม่ๆ ที่บางทีมันอาจจะดีกับตัวเรา ก็ได้

 เคล็ดลับ 28 วัน ของบิ๊ก
          พี่บิ๊กเริ่มเล่าถึงเคล็ดลับ 28 วัน ว่า "ตอนเตรียมตัวสอบ ตอนนั้นผมตั้งเป้าไว้ว่าจะอ่านแค่ 28 วัน ก่อนสอบ คืออ่านตั้งแต่เช้าถึงเย็น Non-stop ไปเรื่อยๆ ไม่มีหยุด ก็โอเคสำหรับผมนะครับ แต่ก็ไม่แนะนำน้องๆ นะ 55555 เพราะแต่ละคนก็จะมีวิธีที่เหมาะกับตัวเอง และน้องๆ ควรจะเตรียมตัวมาตลอด อย่างผมโชคดีที่ผมอยู่เตรียมฯ เหมือนเป็นศูนย์กลางของข้อมูล แบบถ้าอยากรู้ว่าอยากได้คะแนนเยอะ ก็จะถามเพื่อนได้ว่าอ่านเล่มไหนดี ติวกับใครดี หรือให้เพื่อนที่เก่งๆ ติวให้ได้ ซึ่งผมก็มองว่า ผมได้จากตรงนี้เยอะ ซึ่ง 28 วันนี้ ผมก็ไม่ได้วางแผนชัดเจนนะ แต่พอเราอ่านไปจุดหนึ่ง เราจะเห็นภาพเองว่าวิชาไหนที่ยังเหลือเนื้อหาเยอะ หรือวิชาไหนที่พอจะโอเคแล้ว ผมมองว่าถ้าเราวางแผนจากมุมนี้ จะดีกว่าการตีกรอบตั้งแต่แรก ควรมีความยืดหยุ่นในการจัดตารางเวลาดีกว่า :D" 

 สุดท้ายแล้ว ฝากอะไรถึงน้องๆ กันบ้างหน่อย
           พี่บอส - สิ่งที่ผมอยากจะฝากน้องๆ คือ "ไม่มีอะไรเกินความสามารถของมนุษย์" ครับ แล้วก็ "ทุกๆ ความพยายามอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ทุกๆ ความสำเร็จมีองค์ประกอบของความพยายาม" อยู่ครับ
           พี่ทิ้ว - ผมมองว่าเรื่องการพัฒนาตัวเองของบอสเป็นแรงบันดาลใจให้น้องๆ หลายคนได้เลย คนเราสามารถพัฒนาตัวเองได้เสมอ อย่ามองว่าเราจะหยุดอยู่แค่นี้
           พี่เนส - อยากฝากน้องๆ ว่าตอนจบ ม.ปลาย ซึ่งจริงๆ เราเรียนมาแปปเดียวเอง 3 ปี แต่พอจบช่วงเวลานี้ มันมีการตัดสินใจที่สำคัญในชีวิตอยู่หนึ่งครั้ง ก็คือการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งการตัดสินใจนี้มันจะอยู่กับเราไปตลอด สิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้ตอนนี้ ก็คือ การค้นหาข้อมูลให้รอบด้านที่สุด อย่าปิดกั้นโอกาสของตัวเอง ถ้ามีโอกาสหรือทางเลือกอะไร ก็อยากให้ลองดู แล้วเอาข้อมูลกลับมาตัดสินใจด้วยตัวเอง คำแนะนำของคนอื่น ก็เป็นได้แค่คำแนะนำ เพราะสุดท้ายแล้ว คนที่จะเลือกก็คือตัวเราเอง

 

พี่เนส - ศุภวิชญ์ ปานไพรศล จากทีม CU1

           พี่แป้ง - แป้งพูดในมุมของน้องๆ ที่รู้ว่าตัวเองแล้วละกัน ว่าอยากเรียนอะไร แล้วกำลังเตรียมตัวหรือพยายามไปให้ถึงจุดหมาย ถ้าน้องๆ อ่านหนังสือแล้วรู้สึกท้อ อยากให้อดทนเยอะๆ เพราะความอดทน เป็นสิ่งที่เราใช้กับตัวเองบ่อยมาก เวลาเราเหนื่อยหรือท้อ ก็จะบอกตัวเองว่าอดทนอีกหน่อยนะ เราเคยไปเจอ quote ของฝรั่งมา เขาก็จะบอกว่า เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกว่าเราไม่ไหวแล้ว นั่นแหละเป็นช่วงเวลาที่เรากำลังเข้าใกล้ความสำเร็จที่สุดแล้ว ให้เรา keep going ไว้ อย่ายอมแพ้ เราก็ใช้กับตัวเองตลอด และรู้สึกว่าทุกครั้งที่อดทนมันก็คุ้มค่า และขอบคุณตัวเองทุกครั้งที่เราอดทนผ่านมาได้ ดังนั้น เราจะไม่เสียใจทีหลังเลย เพราะเรารู้ว่าเราเต็มที่และทำดีที่สุดแล้ว
          พี่บิ๊ก - อยากจะฝากน้องๆ ว่า พยายามหาข้อมูลให้ได้มากที่สุด ทั้งข้อมูลของคณะที่อยากเข้า แล้วก็จบไปแล้วจะต้องเจออะไรบ้าง ถ้ามีโอกาส ก็อยากให้น้องๆ เข้าร่วมทุกอย่าง ผมมองว่าทุกกิจกรรมที่สามารถช่วยเพิ่มสายตาของเราให้มองได้รอบด้านมากขึ้น มันมีประโยชน์และดีกว่าแน่นอน และถ้าสมมติ เราได้เข้ามาแล้ว อาจจะเข้ามาเพราะสถานการณ์บังคับ คะแนนไม่ถึง หรือไม่ได้ตั้งใจจะเข้ามา ก็ไม่อยากให้น้องๆ ปิดกั้นตัวเอง อยากให้พยายามเรียนรู้สิ่งที่ตัวเองมีโอกาส พยายามเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากที่ที่เราอยู่ให้มากที่สุดครับ
           พี่อาร์ม - ขอเป็นกำลังใจให้น้องๆ ที่กำลังจะแอดมิชชั่นละกันครับ อยากให้น้องๆ สู้ต่อไป พยายามนึกถึงความฝันของเราเอาไว้ อย่างตัวผมเอง ผมเชื่อว่าทุกสิ่งเป็นไปได้หมด ถ้าเราพยายาม ดังนั้น ก็เลยอยากให้น้องๆ พยายามให้เต็มที่ เหนื่อยได้นะ ถ้าเหนื่อยก็แค่พัก หายเหนื่อยก็กลับมาอ่านต่อ อย่าเอาความเครียดมากดดันตัวเอง แต่ใช้เป็นแรงผลักดันให้ตัวเองพยายามขึ้นกว่าเดิม ให้คิดว่าถ้าเราสอบเสร็จหรือประสบความสำเร็จ ความเหนื่อยก็หายไปแล้ว แต่สิ่งที่ยังเหลืออยู่คือความสวยงามของความสำเร็จที่เราได้พยายาม อยากให้น้องๆ สู้ๆ ครับ :D
 

          เป็นยังไงบ้างคะกับเรื่องราวความพยายามของพี่ๆ ทั้งความพยายามในการแข่งขัน CMU IMC ที่ต้องบอกเลยว่าโหดมาก และเส้นทางความพยายามในการสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ของแต่ละคน ใครที่อยากได้เคล็ดลับการอ่านหนังสือ บอกเลยว่าเทคนิตของพี่ๆ แต่ละคนจัดเต็มมากจริงๆ อย่าลืมนะคะว่าจะประสบความสำเร็จได้ ความพยายามและความมุ่งมั่น สำคัญที่สุดค่ะ :D
 
พี่อีฟ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด