ถามมาตอบไป! 7 เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับ 'การเรียนแพทย์ชั้น Pre-clinic (ปี 1-3)'

     เชื่อว่าน้องๆ ชาว Dek-D.com หลายคนมีความฝันที่อยากจะเป็นหมอ แต่ก็ยังมีคำถามค้างคาใจอีกมากมายเกี่ยวกับเรื่องชีวิตของนักเรียนแพทย์ โดยเฉพาะนักเรียนแพทย์ชั้น Pre-clinic
     พี่วุฒิ ได้มีโอกาสได้ไปสอบถามนิสิต/นักศึกษาแพทย์หลายๆ คน และได้รวบรวม 7 คำถามหลักๆ ที่หลายคนสงสัย พร้อมกับคำตอบมาไขความข้องใจ อยากรู้มีอะไรบ้าง ตามอ่านได้ล่างได้เลยครับ 


 
Pre-clinic คืออะไร?    
 
    “Pre-clinic” จะเป็นการเรียนในห้องเลกเชอร์ก่อนที่จะนำความรู้ไปใช้จริงในการรักษาคนไข้ ซึ่งในชั้น Pre-clinic จะเป็นนักเรียนแพทย์ชั้นปี 1-3 ส่วนนักเรียนแพทย์ชั้น “Clinic” จะเป็นนักเรียนแพทย์ชั้นปี 4 - 6 ซึ่งจะเป็นการเรียนรู้จริงๆ กับผู้ป่วยจริงภายใต้การดูแลของอาจารย์แพทย์หรือแพทย์รุ่นพี่อย่างใกล้ชิด

 


 
1. จริงหรือเปล่าที่นักเรียนแพทย์ชั้น Pre-clinic หลายคนยังไม่รู้ว่าตัวเองจะเลือกเป็นหมอสาขาอะไรดี?
 
     หลังจากที่พี่ได้ไปถามนักเรียนแพทย์หลายๆ คน ส่วนใหญ่ยอมรับว่าจริง แต่แรกเริ่มเลยก่อนที่จะเข้ามาเรียน บางคนก็จะมีสาขาในใจไว้อยู่แล้ว แต่พอมาเรียนจริงและได้สัมผัสจริงๆ บางครั้งความคิดก็อาจเปลี่ยนได้ บางคนก็รู้สึกว่าตัวเองยังไม่เหมาะกับสาขานั้นๆ จึงมีการปรับเปลี่ยนความคิดเป็นไปตามความถนัดของตัวเอง บ้างก็บอกว่า ตอนนี้ยังเรียนแค่ชั้น Pre-clinic เรียนแค่เลกเชอร์ จึงรอที่จะได้เรียนรู้กับคนไข้จริงๆ ก่อน ถึงจะรู้ว่าตัวเองจะเลือกสาขาอะไร ดังนั้น จึงไม่ใช่เลือกแปลกเวลาที่มีใครมาถามว่าจะเป็นหมอสาขาอะไร แล้วนักเรียนแพทย์ชั้น Pre-clinic ยังให้คำตอบไม่ได้

 
2. แล้วนักเรียนแพทย์เคยมีความรู้สึกว่าตัวเองห่างไกลคำว่าหมอบ้างหรือเปล่า?
 
     ในเรื่องนี้มันก็ไม่อาจสามารถตอบโดยรวมได้ เพราะมันขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละคน บางคนก็อาจคิดว่าตัวเองเป็นหมอได้แน่ๆ แต่นักเรียนแพทย์ชั้น Pre-clinic บางคนก็อาจจะมีความรู้สึกว่าตัวเองยังห่างไกลคำว่าหมออยู่เลย เพราะว่าตอนเรียนจบปี 3 เนื้อหาที่เรียนมันเยอะมากๆ การเรียนชั้น Pre-clinic จะเป็นช่วงที่เก็บแต้มบุญสะสมความรู้ ยังไม่ได้เจอคนไข้จริงๆ มีแต่คนไข้ในกระดาษ เลยเกิดความรู้สึกว่า บางเนื้อหามันไกลตัวไปบ้าง และอย่างที่หลายๆ คนคิดว่าการเรียนแพทย์มันหนัก ซึ่งมันก็เป็นเรื่องจริง ต้องอ่านชีทเรียนกองสูงๆ บางครั้งก็อาจจะจำได้ไม่หมด เลยไม่รู้ว่าจะเอาเนื้อหาไปประยุกต์ใช้ในทางคลินิกอย่างไร ดังนั้น การที่นักเรียนแพทย์หลายคนคิดว่าตัวเองยังห่างไกลคำว่าหมอ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกมากเท่าไหร่ แต่พอได้เจอคนไข้จริงๆ ความคิดก็อาจจะเปลี่ยนก็ได้

 


 
3. จริงมั้ยที่เด็กนักเรียนแพทย์ชั้น Pre-clinic ไม่ค่อยอยากตอบเวลามีคนมาถามเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ?
 
     ถ้ามองจากมุมคนนอก เวลาที่เราเห็นว่าใครสอบติดหมอ ส่วนใหญ่เราก็จะเรียกคนนั้นว่าหมอแล้ว (พี่ก็เป็นครับ ฮ่าๆ) หลายคนก็เกิดความคาดหวังมากๆ แต่ความจริงคือ พวกเขายังเป็นแค่นักเรียนแพทย์ ยังไม่ใช่หมอจริงๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั้น Pre-clinic มักจะมีคนมาถามเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ แต่หลายคนก็เลือกเลี่ยงที่จะไม่ตอบ
     แต่ก็มีเหตุผลที่นักเรียนแพทย์หลายๆ คนอยากให้เข้าใจ นั่นก็คือ มันมีความเสี่ยงมากๆ ที่จะไปวินิจฉัยโรคหรือให้คำปรึกษาคนอื่น โดยที่ยังเป็นแค่นักเรียนชั้น Pre-clinic อยู่เลย เพราะบางทีมันก็อาจจะอันตราย และหลายคนยังไม่ได้มีความรู้ในบางเรื่องมากพอ และก็ไม่ได้มีประสบการณ์หรือผ่านเคสเรียนจบแล้วแบบรุ่นพี่ แต่ในบางครั้งก็เลี่ยงไม่ได้ มันก็เลยจำเป็นที่จะต้องหาข้อมูลให้มากและถูกต้องที่สุดเพื่อตอบพวกเขา ซึ่งพวกเขาก็ไม่ใช่คนอื่นไกล นั่นก็คือญาติพี่น้องของนักเรียนแพทย์นั่นแหละ (ความจริงก็อยากตอบ แต่ก็กลัวจะได้รับอันตราย ดังนั้นได้โปรดเข้าใจนักเรียนแพทย์ Pre-clinic ด้วย)

 
Photo Credit: pixabay.com
 
4. แล้ววิชาอะไรที่นักเรียนแพทย์ชั้น Pre-clinic ต่างบอกว่ายากและโหดมากกกก?
 
     แน่นอนว่า ถ้าพูดชื่อวิชา ‘Neurology หรือประสาทวิทยา’ ขึ้นมาเมื่อไหร่ บรรดานักเรียนแพทย์หลายคนต้องบอกว่าวิชานี้นี่แหละยากและปราบเซียนสุดๆ วิชานี้จะเป็นวิชาที่เล่าถึงการทำงานของระบบประสาทและสมองทั่วร่างกาย และมันก็มีความสำคัญมากๆ เพราะว่าพื้นที่ต่างๆ ของสมอง ทุก area มันมีความหมายทั้งหมด ถ้าส่วนไหนเสียนิดเดียวก็จะส่งผลต่างๆ ต่อร่างกายได้หมด แถมแต่ละที่ยังส่งผลต่อร่างกายภายนอกไม่เหมือนกันอีกด้วย วิชานี้จึงจำเป็นต้องใช้ทั้งความจำแล้วก็ความเข้าใจเยอะมากๆ และเชื่อว่านักเรียนแพทย์หลายๆ คนก็คงเคยเสียน้ำตาให้กับวิชาประสาทวิทยาเหมือนกัน  

 
5. จริงหรือเปล่าที่บอกว่า ‘สายรหัส’ มีส่วนสำคัญมากในการเรียนแพทย์ โดยเฉพาะชั้น Pre-clinic?
 
     เชื่อว่าหลายๆ คณะนั้นมีการจับสายรหัสกันหมด เพื่อเป็นการผูกสายสัมพันธ์กันมากขึ้นระหว่างพี่กับน้อง เช่นเดียวกับคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งก็มีการจับสายรหัสเช่นกัน และสายรหัสก็มีความสำคัญมากสำหรับนักเรียนแพทย์หลายคน พี่เองได้มีโอกาสสอบถามนักเรียนแพทย์หลายคน อย่างที่คณะแพทยศาสตร์ ม.นเรศวรก็จะมี ‘ลังรหัส’ ประจำสายเป็นชั้นปี ในลังรหัสก็จะมีหนังสือที่จำเป็นในชั้นปีนั้นๆ ส่งกันมาเป็นทอดๆ รุ่นสู่รุ่น บางเล่มก็มีโน้ตมาแล้วเรียบร้อย หนังสือบางเล่มก็หายากมาก ก็ไม่จำเป็นต้องไปหาซื้อ ดังนั้นสายรหัสก็ถือว่ามีความสำคัญมากๆ สำหรับนักเรียนแพทย์ เป็นการพึ่งพาอาศัยกันและยังได้สร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพี่กับน้องอีกด้วย (แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับบางคนและบางสายรหัสด้วยครับ)

 
Photo credit: pixabay.com
 
6. คิดยังไงเวลามีคนมาบอกว่าเด็กแพทย์นั้นเป็นเด็กเนิร์ด?
 
     ก่อนอื่นต้องบอกว่า นักเรียนแพทย์ก็เหมือนคนธรรมดาทั่วไป และความเนิร์ดก็ใช่ว่าจะพบแค่เด็กแพทย์เท่านั้น คณะอื่นก็มีเหมือนกันหมด ที่คณะแพทยศาสตร์นั้นมีความหลากหลายของผู้คน มันก็เหมือนสังคมหนึ่งๆ เช่นเดียวกับที่อื่น นักเรียนแพทย์หลายคนก็ไม่ใช่ว่าจะเอาแต่อ่านหนังสือไม่สนใจโลก เด็กแพทย์ก็มีกิจกรรมอย่างอื่นให้ทำเพื่อผ่อนคลายตัวเองเหมือนๆ กับคนอื่น (ให้มาเรียนอย่างเดียวก็เครียดตายสิ!) พี่เองก็มีเพื่อนที่เรียนหมอหลายคน บางคนก็เป็นติ่งเกาหลี บ้างก็เต้น cover ศิลปิน บางคนก็ติดละคร ติดซีรีส์ ส่วนผู้ชายหลายคนก็ติดเกม ดูบอลเหมือนคนทั่วไป มีปาร์ตี้สังสรรค์กันเป็นเรื่องธรรมดา พูดง่ายๆ คือ นักเรียนแพทย์เวลาจำเป็นต้องเนิร์ด ก็สามารถเนิร์ดได้ เวลาจะเล่นก็เต็มที่ เพราะว่าสิ่งที่ต้องมีนั่นก็คือ ‘ความรับผิดชอบสูงและการแบ่งเวลาที่ถูกต้อง’ นั่นเอง

 
7. แล้วนักเรียนแพทย์คิดอย่างไรกับคำพูดที่บอกว่า “ถ้าคิดอยากรวยให้ไปทำอาชีพอื่น ที่ไม่ใช่หมอ” ?
 
      น้องๆ หลายคนอาจมีความคิดว่า ‘คนเป็นหมอนี่ต้องรวยแน่ๆ เลย’ และความคิดนี้ก็อาจทำให้น้องๆ หลายคนคิดอยากจะเรียนหมอ แต่ขอบอกไว้ก่อนว่า ‘ความรวยมันขึ้นอยู่กับนิยามของแต่ละคน’ และความจริงแล้วมันยังมีอีกหลายอาชีพเลย ที่ไม่ต้องทำงานหนัก ไม่ต้องอดตาหลับขับตานอนแบบนี้ ก็สามารถที่จะมีรายได้มากๆ ต้องบอกว่างานหมอนั้นหนักมากๆ ต้องคิดแทบจะตลอดเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง มันก็อาจจะไม่คุ้มค่ากับรายได้สักเท่าไหร่ และจุดประสงค์จริงๆ ของนักเรียนแพทย์หลายคนก็ไม่ได้หวังว่าจะรวยเพราะเป็นหมอ แต่สิ่งที่หลายคนคิดคือ ‘ความสุขในการได้ช่วยคนมากกว่า’ นี่เป็นสิ่งสำคัญมากๆ ของการทำอาชีพนี้

 
Photo Credit: pixabay.com

 
     ต้องบอกไว้ก่อนนะครับว่า นี่เป็นแค่ความคิดเห็นส่วนหนึ่งของรุ่นพี่นักเรียนแพทย์ที่พี่ได้ไปสอบถามมา บางคนอาจจะไม่ได้คิดแบบนี้ก็ได้ แต่พี่ก็หวังว่าน้องๆ น่าจะได้เปิดมุมมองใหม่ๆ และคลายความสงสัยในหลายๆ เรื่องนะครับ
 
  
พี่วุฒิ
พี่วุฒิ - Columnist มนุษย์ 4 มิติผู้หลงใหลในเพลงเกาหลี ชาเนสที และหมูกระทะ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

Solitaly Member 27 ก.พ. 60 22:00 น. 1
อืม "มีความสุขในการได้ช่วยคนมากกว่า" สำหรับ หนูที่อายุ 15 ยังไม่เข้าใจหรอกว่ามันเป็นยังไง ความสุขของหนูไม่ได้อยู่ที่การช่วยคนหรือทำบุญตักบาตร แต่อยู่ที่ครอบครัวและเพื่อน แต่ที่เข้าใจแน่ๆ คือ การช่วยคนมันเหมือนได้ทำให้เขาเห็นในสิ่งที่เขาไม่เคยเห็น ทำให้เขารับรู้ในสิ่งเขาไม่เคยรับรู้ หนูรู้สึกอยากให้พวกเขาได้รับพวกมันบ้าง และหนูไม่ชอบการสูญเสียด้วย ถ้าช่วยได้ก็จะช่วย ตามกำลังที่หนูมี แต่หนูอยากเป็นหมอนะ อยากเป็นจริง ไม่รู้ด้วยเหตุผลอะไรเหมือนกัน ความฝันหนูมีมากมาย แต่สุดท้ายก็หยุดที่หมอ
2
กำลังโหลด
misakikun Member 27 มี.ค. 60 03:21 น. 2

เราเป็นDek61ค่ะ555เอาจริงๆตอนแรกก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าตัวเราอยากจะเป็นหมอ แต่พอตัวเราโตขึ้นเรียนสูงขึ้นความคิดความอ่านก็เปลียนไปด้วยเช่นกัน ในตอนนี้เราอยากจะเป็นหมอไม่ใช่เพราะว่ารายได้ดี แต่เรามองว่าอาชีพหมอเป็นอาชีพที่ต้องเสียสละเวลาของตัวเองเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ตัวเรามักจะป่วยบ่อยในตอนเด็กๆเวลาที่หมอช่วยรักษาให้เราเรามีความรู้สึกว่าเราปลอดภัย จนตอนนี้ทำให้เราคิดว่าเราอยากจะเป็นหมอเพื่อที่จะได้ช่วยรักษาคนไข้เพื่อให้เขารู้สึกปลอดภัยเมื่อมีเราคอยช่วยดูแลพวกเขา เราจะพยายามสอบหมอให้ติดอาจจะกดดันแต่เราเชื่อว่าความพยายามของเราจะไม่ทรยศเรา

#พร้อมสู้ค่ะ55

#dek61

0
กำลังโหลด

2 ความคิดเห็น

Solitaly Member 27 ก.พ. 60 22:00 น. 1
อืม "มีความสุขในการได้ช่วยคนมากกว่า" สำหรับ หนูที่อายุ 15 ยังไม่เข้าใจหรอกว่ามันเป็นยังไง ความสุขของหนูไม่ได้อยู่ที่การช่วยคนหรือทำบุญตักบาตร แต่อยู่ที่ครอบครัวและเพื่อน แต่ที่เข้าใจแน่ๆ คือ การช่วยคนมันเหมือนได้ทำให้เขาเห็นในสิ่งที่เขาไม่เคยเห็น ทำให้เขารับรู้ในสิ่งเขาไม่เคยรับรู้ หนูรู้สึกอยากให้พวกเขาได้รับพวกมันบ้าง และหนูไม่ชอบการสูญเสียด้วย ถ้าช่วยได้ก็จะช่วย ตามกำลังที่หนูมี แต่หนูอยากเป็นหมอนะ อยากเป็นจริง ไม่รู้ด้วยเหตุผลอะไรเหมือนกัน ความฝันหนูมีมากมาย แต่สุดท้ายก็หยุดที่หมอ
2
กำลังโหลด
misakikun Member 27 มี.ค. 60 03:21 น. 2

เราเป็นDek61ค่ะ555เอาจริงๆตอนแรกก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าตัวเราอยากจะเป็นหมอ แต่พอตัวเราโตขึ้นเรียนสูงขึ้นความคิดความอ่านก็เปลียนไปด้วยเช่นกัน ในตอนนี้เราอยากจะเป็นหมอไม่ใช่เพราะว่ารายได้ดี แต่เรามองว่าอาชีพหมอเป็นอาชีพที่ต้องเสียสละเวลาของตัวเองเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ตัวเรามักจะป่วยบ่อยในตอนเด็กๆเวลาที่หมอช่วยรักษาให้เราเรามีความรู้สึกว่าเราปลอดภัย จนตอนนี้ทำให้เราคิดว่าเราอยากจะเป็นหมอเพื่อที่จะได้ช่วยรักษาคนไข้เพื่อให้เขารู้สึกปลอดภัยเมื่อมีเราคอยช่วยดูแลพวกเขา เราจะพยายามสอบหมอให้ติดอาจจะกดดันแต่เราเชื่อว่าความพยายามของเราจะไม่ทรยศเรา

#พร้อมสู้ค่ะ55

#dek61

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด