เม้าท์กับ 2 รุ่นพี่จากรั้ว "ครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์" กับความจริงที่ไม่ได้เรียนแค่วิชาชีพครู!


           สวัสดีค่ะ ใครที่ตามติดซีรี่ย์คณะในฝันกับพี่แป้งอยู่ คงจะรู้อยู่แล้วว่าในเดือนนี้พี่แป้งพาน้องๆ ไปบุก "คณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์" ตั้งแต่เรียนอะไรบ้าง สาขาที่เปิดสอนมีอะไร สถาบันไหนที่เปิดสอนบ้าง รวมทั้ง 20 เรื่องจริงของคณะนี้ ก็รู้กันไปแล้ว

           ทีนี้พี่แป้งจะขอพาน้องๆ ไปพบกับ 2 รุ่นพี่สาวสวยที่กำลังเรียนอยู่คณะนี้ จาก 2 สถาบัน คือมหาวิทยาลัยศิลปากร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าชีวิตที่เรียนจริงๆ มันใช่สำหรับน้องๆ หรือเปล่า ไปพบกับพี่ๆ กันเลยค่ะ


 


พลอย พลอยไพลิน ศิริสม
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

พี่แป้ง : ก่อนอื่น แนะนำตัวเองก่อนเลยจ้า
พี่พลอย : สวัสดีจ้า เราพลอยเอง พลอยไพลิน ศิริสม หรือกัปตันพลอย BAR6 ที่หลายๆ คนรู้จักไง ยังจำกันได้ไหมหว่า อิอิ ปัจจุบันนี้พลอยกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จ้า

พี่แป้ง : แรงบันดาลใจที่ทำให้น้องพลอยอยากเรียนคณะศึกษาศาสตร์ คืออะไรคะ?

พี่พลอย : สำหรับแรงบันดาลใจที่ทำให้พลอยอยากเรียนคณะศึกษาศาสตร์ก็เพราะว่า “พลอยอยากเป็นครู” บางคนอาจจะสงสัยว่า เอ๊ ... อยากเป็นครูทำไมไม่เรียนคณะครุศาสตร์ พลอยจะบอกว่าคณะศึกษาศาสตร์กับคณะครุศาสตร์ก็คือคณะเดียวกันนี่แหละ (เพราะพลอยก็เคยสงสัยมาก่อนน่ะนะ อิอิ)

พี่แป้ง : น้องพลอยสอบเข้าคณะศึกษาศาสตร์ด้วยวิธีไหนเอ่ย?

พี่พลอย : จริงๆ คณะศึกษาศาสตร์ ม.ศิลปากร สอบเข้าได้หลายวิธีเลยน้า ทั้งรับตรง (ของสาขาวิชาภาษาไทยนี้จะเรียกว่า รอบ “สืบสานภาษาไทย” หรือที่หลายๆ คนชอบเรียกย่อๆว่า “รอบสืบสาน” นั่นเอง) รอบโควตา รับตรงภาคพิเศษ และแอดมิชชั่น ส่วนพลอยสอบเข้าด้วยวิธีแอดมิชชั่นจ้า ตอนนั้นนะรอบแอดมิชชั่นจะใช้คะแนน GAT 20%, PAT5 30%, O-NET 30% และ GPAX 20% พลอยได้ GPAX 3.67, GAT 222.5 , PAT5 215 ส่วน O-NET (จำไม่ได้แล้วค่ะ >.<)

พี่แป้ง : ทำไมน้องพลอยถึงเลือกเรียนสาขานี้?

พี่พลอย : เหตุผลที่พลอยเลือกเรียนสาขาวิชาภาษาไทยก็เพราะว่า ตอนที่เรียนมัธยมพลอยเรียนสายวิทย์ แต่ชอบวิชาภาษาไทยมาก แล้วมีความรู้สึกว่าเราทำวิชานี้ได้ดีได้มีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถในวิชานี้ไปแข่งขันบ่อยๆ ซึ่งส่วนมากเด็กวิทย์ก็ไม่ค่อยชอบภาษานะ แต่พลอยชอบมาก บางทีก็ถูกเรียกว่า วิทย์กบฎ 555+ แต่ก็คิดว่าเราเรียนได้เพราะเป็นสิ่งที่เราชอบ และพลอยก็คิดว่าวิชานี้น่าค้นหามากๆ ภาษาไทยไม่ได้มีแค่สิ่งที่เราเห็นหรือใช้ในชีวิตประจำมันมีอะไรมากกว่านั้น

พี่แป้ง : วิชาไหนที่น้องพลอยคิดว่าเรียนยากที่สุด

พี่พลอย : สำหรับพลอยและเพื่อนๆ หลายคน (เชื่อว่าทุกคนคงเห็นพ้องต้องกัน อิอิ) คิดว่าวิชาที่เรียนยากที่สุดคงหนีไม่พ้น “ภาษาอังกฤษ” เป็นวิชาไม้เบื่อไม้เมาของแต่ละเอก (ยกเว้นเอกอิ๊ง) เลยก็ว่าได้ ความยากคงไม่ต้องบรรยายสรรพคุณมาก เพราะคงทราบกันดีว่า ไม่ใช่ภาษาบ้านเราเนอะ เราก็ไม่ถนัดอยู่แล้ว 555 แต่ที่พลอยคิดว่ายากมากคือเรื่อง Writing test เพราะต้องใช้องค์ความรู้ที่เรียนมาทั้งหมดผสมกับคลังคำศัพท์ที่มี ใครเขียนเก่งก็สบายเลย (มีงานเขียน2ชิ้นและมีทุกครั้งในการสอบนะเออ)

           ที่สำคัญคือวิชานี้ตัดเกรดอิงกลุ่ม (ตัดรวมกับเอกอิ๊งที่เขาคะแนนสูงๆ นั่นแหละ ดีงามสุดๆไปเลยใช่ไหมหละ) บางคนก็อาจจะกลัวว่าแล้วแบบนี้จะทำยังไง บอกก่อนว่าเราหนีวิชานี้ไม่ได้เพราะเป็นวิชาบังคับ ต้องเรียน 2 ปีเลยแหละ แต่ก็มีวิธีเอาชนะความน่ากลัวนะ ก็คือตั้งใจเรียนในห้องให้ดี หากไม่เข้าใจต้องถามอาจารย์ผู้สอน ฝึกแปลบทความในหนังสือด้วยตัวเอง เพราะเวลาสอบเขาจะมีบทความยาวๆ มาให้อ่าน 4-5 บทความ (บางบทความนี่เป็นหน้าๆ เลย) ฝึกเขียนให้มากๆ ท่องศัพท์ให้เยอะๆ และที่สำคัญเลยคือให้เพื่อนเอกอิ๊งช่วยติวให้ (มีเพื่อนก็ต้องช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกัน ขอบอกว่าเพื่อนเอกอิ๊งก็ใจดีนะเออออ) เป็นวิธีพื้นฐานที่ง่ายๆ ที่จะช่วยให้เราเป็นผู้รอดได้

 

พี่แป้ง : เรียนศึกษาศาสตร์มีการบ้านเยอะไหม และแนวการบ้านจะเป็นอย่างไรบ้าง?
พี่พลอย : ถ้าถามเรื่องงาน การบ้าน แต่ละสาขาวิชาก็จะไม่เหมือนกัน สำหรับสาขาวิชาภาษาไทยขอบอกว่า งานเยอะมากกกกกกก มีเกือบทุกวิชา ในส่วนของวิชาเอกก็จะมีทั้งวิเคราะห์ งานเขียน รายงาน (ทำรายงานหนึ่งเรื่องต้องอ่านหนังสือเกือบ 10 เล่ม นี่ไม่ได้โม้น้า เรื่องจริง!!) วิชาอื่นก็มีบ้าง เช่น การผลิตสื่อการสอน วาดภาพขยายตาราง และในตอนนี้ก็มีการบ้านอีกวิชาหนึ่งที่โหดไม่แพ้วิชาเอกเลย นั่นคือวิชา “จิตวิทยาการศึกษา” นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะศึกษาทุกสาขาวิชา (ยกเว้นสาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา) จะต้องเรียน ก็จะเป็นการควิซ 2 ข้อ 10 คะแนน จะมีทุกครั้งที่เรียน การบ้านก็จะออกแนวจิตวิทยา แต่ต้องตอบให้ตรงประเด็นและดีที่สุดถึงจะได้คะแนนดี เชื่อมั้ยว่า 1 คะแนนก็มีคนได้มาแล้วเลย แต่ไม่ใช่พลอยน้า ฮ่าๆ

พี่แป้ง : ในช่วงปี 1-2 ของคณะศึกษาศาสตร์ ม.ศิลปากร เรียนอะไรบ้าง?

พี่พลอย : ตอนนี้พลอยอยู่ปี 2 แต่ละเทอมก็เรียนประมาณนี้
           ปี 1 เทอม 1 เรียนวิชา ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน, จิตวิทยากับมนุษย์สัมพันธ์, กีฬาศึกษา, การจัดโครงการนันทนาการชุมชน, แนวทางการศึกษาวรรณคดี, นวัตกรรมเทคโนโลยีและสารสนเทศทางการศึกษา
           ปี 1 เทอม 2 เรียนวิชา การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ, คณิตศาสตร์และสถิติในชีวิตประจำวัน, การศึกษาไทย, การจัดนันทนาการกลางแจ้ง, ภาษาศาสตร์เบื้อต้นสำหรับครู,
           ปี 2 เทอม 1 เรียนวิชา หลักและระบบการจัดการศึกษา, การแนะแนวเบื้องต้น, สถิติการวิจัยทางการศึกษา, หลักภาษาไทยสำหรับครู, การเขียนเพื่อการศึกษา, ภาษาอังกฤษเพื่อวิชาการ1, พัฒนาวิชาชีพครู, สื่อการศึกษา การจัดแหล่งเรียนรู้และสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้
           ปี 2 เทอม 2 เรียนวิชา การมัธยมศึกษา, วิธีสอนทั่วไป, จิตวิทยาการศึกษา, การศึกษาภาษาไทยเชิงสังคมวิทยา, คติชนวิทยา, ภาษาอังกฤษเพื่อวิชาการ 2, อาเซียนศึกษา, มนุษย์กับการสร้างสรรค์

พี่แป้ง : เรียนคณะศึกษาศาสตร์มีกิจกรรมเด็ดๆ อะไรให้ทำบ้างคะ?

พี่พลอย : ม.ศิลปากร ขึ้นชื่อในเรื่องของกิจกรรมอยู่แล้ว และคณะศึกษาศาสตร์ถึงแม้ว่าจะเป็นคณะครู แต่กิจกรรมก็มีเยอะไม่แพ้คณะอื่นเลย ในคณะศึกษาศาสตร์มีกลุ่มกิจกรรมทั้หมด 6 กลุ่มกิจกรรม ได้แก่ กิจกรรม PomPom, กิจกรรมผู้นำเชียร์, กิจกรรม Cheer-En, กิจรรม En&En, กิจกรรมองครักษ์ และกิจกรรมพยาบาล ซึ่งทุกกลุ่มกิจกรรมนี้ก็จะมุ่งเน้นไปที่น้องเฟรชชี่ (น้องปี 1) เพื่อให้น้องลงแสดงในงาน Freshy Game เป็นงานที่ทางมหาวิทยาลัยจัดให้กับน้องๆ ปี 1 เพื่อแสดงความสามารถและศักยภาพของแต่ละคณะ (คล้ายกับงานกีฬาสีของโรงเรียนมัธยม)
 

           น้องปี 1 ที่เข้ามาใหม่ก็สามารถลงกลุ่มกิจกรรมได้ตามที่ตนสนใจ พลอยก็อยู่กลุ่มกิจกรรม PomPom (กลุ่มกิจกรรมเต้น ที่ไม่ใช้การเต้นธรรมดา และเป็นกลุ่มกิจกรรมที่มีที่เดียวของมหาวิทยาลัย ขอพื้นที่โปรโมทหน่อย อิอิ) และกลุ่มกิจกรรมพยาบาล ถามว่าเป็นยังไงบ้างเหนื่อยไหม ก็ขอบอกตรงๆ ว่าเหนื่อยมากแต่ก็คุ้มค่ากับการเหนื่อยเพราะได้ลองทำในสิ่งที่ชอบที่สนใจ ทำในสิ่งใหม่ๆ ได้มิตรภาพระหว่างสาขาวิชา เท่านี้ก็คุ้มค่าแล้ว ขอบอกน้องๆ ว่าช่วงที่เป็นปี 1 ถ้ามีความสามารถอะไร หรือสนใจอะไรอย่าเก็บไว้ให้แสดงออกมา ลองทำ เพราะไม่ใช่สิ่งที่เสียหาย แล้วจะทำให้รู้ว่าชีวิตที่ทำกิจกรรมนั้นคุ้มค่าเพียงใด

พี่แป้ง : สุดท้ายนี้อยากให้น้องพลอยฝากกำลังใจถึงน้องๆ ที่อยากเรียนคณะศึกษาศาสตร์หน่อยค่ะ

พี่พลอย : สุดท้ายนี้อยากฝากถึงน้องๆ ที่อยากเรียนคณะศึกษาศาสตร์ว่า พี่ขอเป็นหนึ่งกำลังใจให้น้องๆ ทำฝันของตนเองได้สำเร็จ ไม่มีอะไรที่ได้มาโดยง่าย และไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้หากเราตั้งใจทำ เชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง ทำทุกอย่างให้เต็มที่ที่สุด แล้ววันนั้นจะเป็นวันที่น้องประสบความสำเร็จ สู้ๆน้า ^ ^

 


แพรว บุบผาชื่น
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พี่แป้ง : ก่อนอื่น แนะนำตัวเองก่อนเลยจ้า
พี่แพรว : สวัสดีค่า ชื่อแพรว บุบผาชื่น ตอนนี้กำลังจะจบปี 5 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน เอกภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน ค่ะ

พี่แป้ง : แรงบันดาลใจที่ทำให้น้องแพรวอยากเรียนคณะครุศาสตร์ คืออะไรคะ?

พี่แพรว : ส่วนหนึ่งคืออยากเป็นครูอยู่แล้ว อีกส่วนหนึ่งเพราะอยากเรียนภาษาเยอรมันต่อ ไม่อยากทิ้งอ่ะ แต่เอาจริงป่ะ คือไม่ติดอักษรฯ อันดับ 1 แต่มาติดครุฯอับดับ 2 ฮ่าๆๆ

พี่แป้ง : น้องแพรวสอบเข้าคณะครุศาสตร์ด้วยวิธีไหนเอ่ย?

พี่แพรว : สอบเข้าโดยใช้วิธีสอบตรงค่ะ ใช้คะแนน GAT, PAT 7.2 (ภาษาเยอรมัน), 7 วิชาสามัญ วิชาไทย สังคม อังกฤษ แต่สัดส่วนนี่จำไม่ได้จริงๆ นานแล้วอะ อย่าโกรธเค้านะ 555

พี่แป้ง : คณะครุศาสตร์ แต่ละชั้นปีเรียนอะไรบ้างคะ?

พี่แพรว : หลักสูตรคร่าวๆ ของคณะครุศาสตร์ ช่วงปี 1-2 จะเป็นวิชาพื้นฐาน เช่นจิตวิทยา ภาษาไทยสำหรับครู ช่วงปี 3-4 ก็จะเริ่มเรียนวิชาเอก แต่ก็ยังมีวิชาคณะแทรกอยู่ในทุกๆ เทอม ส่วน ปี 5 ก็เข้าโรงเรียนฝึกสอนแล้วค่ะ

พี่แป้ง : วิชาไหนที่น้องแพรวคิดว่าเรียนยากที่สุด และวิชาไหนที่ชอบมากที่สุด

พี่แพรว : ส่วนวิชาที่คิดว่ายากที่สุด คงเป็นวิชาวัดประเมินของคณะ เพราะพื้นฐานเป็นคนไม่เก่งคณิตเลย ไม่ชอบสุดๆ เรียนไม่รู้เรื่องเลย ไม่รู้ผ่านมาได้ไง 555+ ส่วนวิชาที่ชอบที่สุดคงเป็นวิชา English Cross Culture ของเอกภาษาอังกฤษ เรียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ สนุกดี รู้สึกเหมือนได้เปิดโลกกว้าง

พี่แป้ง : การฝึกสอนของคณะครุศาสตร์แบ่งอย่างไรบ้างคะ?

พี่แพรว : เรื่องการฝึกสอนของปี 5 คือเราจะฝึกสอนทั้งหมด 2 เทอม หรือ 1 ปีการศึกษา นิสิตจะต้องเข้าไปปฎิบัติหน้าที่เทอมละโรงเรียน ด้านเวลาการสอน ของแพรวเป็นเอกคู่ (ภาษาอังกฤษ คู่ภาษาเยอรมัน) ในการฝึกสอนอย่างน้อยต้องฝึกวิชาละ 4 ชั่วโมงต่อเทอม ก็หมายความว่าสอนอาทิตย์ละประมาณ 8-9 คาบนั่นเอง

พี่แป้ง : ตอนนี้น้องแพรวฝึกสอนอยู่ที่ไหน สอนวิชาอะไร และการฝึกสอนแต่ละวันต้องทำอะไรบ้าง?

พี่แพรว : แพรวฝึกสอนเทอมแรกที่โรงเรียนศรีอยุธยาในพระอุปถัมภ์ฯ ส่วนเทอมสองที่โรงเรียนสตรีวิทยา หน้าที่ในโรงเรียนทั้งสองโรงเรียนก็คล้ายๆ กัน ตอนเช้าไปโรงเรียนเข้าแถว ช่วงเวลาว่างในโรงเรียนก็จะเตรียมการสอน ทำแผนการสอน ทำสื่อการสอน ไม่มีช่วงเวลาที่ทำให้รู้สึกหนักใจเท่าไหร่ การฝึกสอนค่อนข้างเรียบง่าย ผ่านไปได้ด้วยดี
 

พี่แป้ง : น้องแพรวคิดว่า เรียนสายศิลป์ภาษา เสียเปรียบเวลาสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือเปล่า?
พี่แพรว : ส่วนตัวคิดว่าไม่เสียเปรียบนะ มองอีกแง่ถือว่าเป็นข้อดีด้วยซ้ำ ถ้าเราสนใจในภาษานั้นจริงๆ เราก็มีโอกาสต่อยอดภาษานั้นๆในมหาวิทยาลัยได้ง่ายกว่า ในโรงเรียนมีคนเรียนสายศิลป์ภาษาไม่กี่ห้อง แต่ห้องวิทย์ตั้งหลายห้องจริงป่ะ ก็ตัวคู่แข่งสายวิทย์ไปได้ แต่เอาจริงมันก็เทียบกับไม่ได้แหละ ใครชอบอะไรก็เรียนอันนั้นที่เราชอบและถนัดน่าจะดีกับตัวเราที่สุด 5555

พี่แป้ง : สุดท้ายนี้อยากให้น้องแพรวฝากกำลังใจถึงน้องๆ ที่อยากเรียนคณะครุศาสตร์หน่อยค่ะ

พี่แพรว : ใครที่อยากเป็นครูหรือมีความใฝ่ฝันที่จะเป็นครูจริงๆ เราว่าคณะนี้ตอบโจทย์น้องที่สุดแล้ว นอกจากนี้ทันทีที่น้องๆ ก้าวเข้ามาในคณะนี้น้องจะรู้สึกได้ถึงความอบอุ่น คณะเราอยู่กันเหมือนเป็นครอบครัว ขอให้น้องๆ สู้ๆ แล้วมาเป็นส่วนหนึ่งของคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กันนะคะ


           ถ้าใครอยากเป็นครู ไม่ต้องลังเลเลยค่ะว่าจะเรียนคณะไหน คณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์ คือคณะที่ตอบโจทย์ที่สุดแล้ว เพราะไม่ได้เรียนแค่เนื้อหาที่จะเอาไปสอน แต่ต้องเรียนวิธีการสอน จิตวิทยา สร้างสื่อ และส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสอนด้วย คณะนี้มีสาขาให้เลือกเยอะมาก สามารถเลือกสาขาที่ตัวเองถนัดได้เลยค่ะ ในสัปดาห์หน้าพี่แป้งจะพาไปพบกับ 2 คุณครูผู้น่ารัก ที่จะมาเล่าวิถีชีวิตการเป็นครูจริงๆ ให้น้องๆ ได้รู้กัน รอติดตามกันนะคะ

 
พี่แป้ง
พี่แป้ง - Columnist นักข่าวสายรับตรง พร้อมเสิร์ฟข่าวสอบเข้าทุกมหา'ลัย เติมพลังได้จากชาเย็นหวานน้อย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น