เปิดเคล็ดลับการอ่าน! "พี่กัน" กับคะแนน PATทั้ง 3 วิชาระดับ Top


          สวัสดีค่ะ เชื่อว่าช่วงนี้หลายๆ โรงเรียนอาจจะเริ่มเปิดเทอมกันเกือบทุกโรงเรียนแล้ว น้องๆ ม.5 ตอนนี้ก็กลายเป็นพี่ ม.6 อย่างเต็มตัว อีกไม่กี่เดือนก็จะต้องสอบเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยกันแล้ว อาจจะดูเหมือนไกล แต่ถ้าเทียบกับวิชาที่ต้องสอบ หนังสือที่ต้องอ่าน บอกเลยว่าเหลือเวลาอีกนิดเดียวค่ะ
 

         Admission Idol ของเราในวันนี้ พี่อีฟเลยขอพาน้องๆ #dek61 #dek62 มาเตรียมตัวกับการสอบ GAT PAT โดยขอพาไปล้วงเคล็ดลับพูดคุยกับ พี่กัน กันต์ ยอวิทยา ที่ติดรับตรงในรอบ กสพท แต่ที่พิเศษยิ่งกว่านั้น คือการพาน้องๆ ไปฟังเทคนิคเก็บ PAT1 288 คะแนน PAT2 240 คะแนน และ PAT3 282 คะแนน โอ๊ยยยยย! เรียกได้ว่าคะแนนเทพทุกวิชาเลยค่ะ อย่าช้ากันเลย รีบไปพูดคุยกับพี่กัน กันเลยดีกว่า 

 แนะนำตัวกับน้องๆ กันหน่อยค่ะ
          สวัสดีครับ ผมชื่อ กันต์ ยอวิทยา ชื่อเล่นชื่อ กัน ครับ จบชั้น ม.ปลาย จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แผนการเรียนวิทย์-คณิต (คอมพิวเตอร์) ตอนนี้สอบเข้าได้ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านระบบรับตรง กสพท ครับ

 ความตั้งใจกับการเรียนคณะนี้
          บางคนอาจจะเกิดจากความชอบในวิชา หรือมีความฝันตั้งแต่เด็ก แต่ผมรู้สึกว่า การเป็นหมอสำหรับผม เหมือนได้ทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ เพราะเราสามารถรักษาสิ่งที่มีค่าที่สุด คือ ชีวิตของคนไว้ได้ นอกจากความตั้งใจในการช่วยชีวิตคน ผมว่าอาชีพนี้ก็ยังมีความท้าทายในการทำงานมากครับ
          ตอนเเรกก็ลังเลระหว่าง หมอกับวิศวะ เพราะรู้สึกโอเคกับทั้งวิชาชีวะฯ และฟิสิกส์เลย และส่วนตัวก็ค่อนข้างถนัดวิชาพวกวิทย์-คณิต มากกว่าวิชาอื่นอยู่เเล้ว พอเรียนไปเรื่อยๆ เจอเนื้อหาที่ยากขึ้นมากกว่าเดิม ผมก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเองน่าจะเหมาะกับเเนวหมอมากกว่า หลังจากนั้นผมเริ่มลองศึกษาดูว่าหมอต้องเรียนอะไร รวมถึงที่ฟังๆ มาจากญาติที่เป็นหมอด้วยว่า ถ้าเป็นหมอต้องเจอกับอะไรบ้าง ทั้งด้านดี,ไม่ดีเลย เราก็รับได้เเละโอเคกับมันนะ เรียกได้ว่าก็หาข้อมูลทุกทางให้เต็มที่ครับ

 สอบรับตรงที่ไหนไปบ้างคะ
          กันสอบรับตรง 2 ที่ ครับ คือ รับตรงของกสพท และโควตาโอลิมปิกวิชาการของคณะเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เเล้วก็มีทุนอีก 2 ทุน คือ ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น และทุนกพ. ซึ่งกันได้รับตรงกสพท คณะเพทยศาสตร์ จุฬาฯ ส่วนโควตาโอลิมปิกวิชาการของเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กับทุนรัฐบาลญี่ปุ่น กันสอบผ่านรอบข้อเขียน และทุนกพ. สอบผ่านข้อเขียนของทุนธนาคารเเห่งประเทศไทยครับ
 

ได้ยินมาว่า กันได้คะแนน GAT PAT เยอะมาก สอบอะไร และได้คะแนนเท่าไหร่บ้างคะ
          ถึงจะเลือกรับตรงในระบบ กสพท แต่กันก็มีสอบ GAT PAT ไว้ เผื่อใช้สำหรับการสอบเข้าในคณะอื่นด้วย เป็นแผนสำรอง ซึ่งก็มี PAT1  288  คะแนน PAT2  240  คะแนน แล้วก็ PAT3  282  คะแนนครับ

 คะแนน PAT เยอะมาก ถึง 3 วิชา ! มีเคล็ดลับอะไรในการอ่านบ้าง
          ถ้าเป็นวิชาที่ต้องจำกลไกหรือจำข้อมูลเยอะๆ เช่น ชีวะฯ, สังคมฯ ผมจะหาหนังสือที่รู้สึกถูกชะตาสักเล่มครับ เเล้วอ่านหลายๆ รอบเลย เเบบจะสอบของอะไรก็อ่านเล่มนี้ อ่านจนคุ้นว่าเรื่องอะไรอยู่ตรงไหน เวลาสอบถ้านึกได้ว่าเรื่องนี้นะอยู่ใกล้ๆ กับเรื่องนั้น อยู่มุมๆ หน้าซ้าย จะช่วยให้จำได้เเม่นขึ้นครับ คล้ายๆ กับการจำเป็นรูปภาพครับ ถ้ามีเนื้อหาอะไรที่ไม่มีอยู่ในหนังสือ กันก็จะโน้ตเพิ่มลงไป Hilight ส่วนที่สำคัญ หรือออกข้อสอบบ่อย หรือเคยโดนโจทย์หลอกจุดนี้ เพื่อเน้นให้จำได้ และเพื่อความสวยงามที่เวลาอ่านหนังสือจะได้ไม่ง่วงด้วย
         ส่วนวิชาที่ต้องใช้ความเข้าใจ เช่น เลข, เคมี, ฟิสิกส์ ให้เน้นทำโจทย์เยอะๆ เเละทำความเข้าใจไปพร้อมกันครับ วิชาพวกนี้ผมจำเเค่สูตรพื้นฐานที่สำคัญ ที่เหลือค่อยเอาสูตรที่จำไปพิสูจน์เป็นสูตรอื่นในห้องสอบ แต่จริงๆ คือผมจำสูตรเยอะๆ ไม่ไหวด้วย เลยจำเเค่ที่สำคัญครับ


 เทคนิคการทำคะแนน PAT 1 = 288 คะแนน ในแบบของกัน
          PAT1 เวลาอ่านผมจะเน้นบทที่ออกข้อสอบเยอะๆ ก่อน (บทไหนออกเยอะหรือออกน้อย น้องๆ ลองดูจากข้อสอบปีก่อนๆ หรือจากที่เรียนพิเศษหลายๆ ที่ได้เลย) เเล้วค่อยมาเก็บบทที่ออกไม่เยอะ จากนั้นก็ไปทำข้อสอบเก่า ยิ่งทำเยอะยิ่งดี เราจะได้เจอโจทย์หลายๆ เเนว
          หลังจกนั้น เราต้องมาสำรวจตัวเอง หาว่าเราไม่เเน่นเรื่องอะไรหรือชอบผิดจุดไหน เเล้วไปเน้นตรงนั้น เวลาฝึกโจทย์ ตอนเเรกผมจะค่อยๆ ทำเเบบไม่จับเวลาก่อน พอเริ่มคล่องถึงมาจับเวลา ตอนจับเวลาเราต้องเน้นทำให้เร็ว+รอบคอบ และพยายามทำให้ถูกเลยในครั้งเเรก เพราะเราไม่รู้ว่าตอนสอบจริงจะมีเวลาเหลือให้กลับมาทวนรึเปล่า ต้องรอบคอบทุกครั้งที่ทำครับ


 ถ้าอ่านไม่ทัน บทไหนที่เราจะเลือกเทใน PAT 1
          ถ้าเป็นผม ตอนสอบไม่มีบทไหนที่ผมเทนะ เเต่ถ้าให้แนะนำสำหรับน้องๆ ที่ไม่มีเวลาแล้ว หรืออ่านไม่ทันจริงๆ ผมจะแนะนำให้เทบทที่ออกน้อยก่อน หรือถ้ามีเรื่องไหนที่ทำไม่ได้จริงๆ และเวลาเหลือน้อยด้วย ก็อยากให้พยายามหาบทอื่นมาเสริม เช่น บทที่ออกเยอะ หรือบทที่เราแม่น ฯลฯ เพื่อชดเชยกับคะเเนนที่หายไปในเรื่องที่เราจะเลือกเทครับ
 

 เทคนิคการทำคะแนน PAT 2 = 240 คะแนน ที่กันอยากจะแนะนำ
          PAT 2 เวลาอ่านผมจะเน้นวิชาฟิสิกส์ กับชีวะฯ ครับ เพราะข้อสอบสองวิชานี้ค่อนข้างง่ายถ้าเทียบกับเคมี ไม่ต้องวิเคราะห์หรือคิดเลขยากและนานมาก เช่น ชีวะฯ ส่วนใหญ่ก็จะถามตรงๆ เลย หลังจากนั้น ผมค่อยไปอ่านเคมีครับ เคมีในส่วนของข้อสอบ PAT 2 โจทย์จะยาวมาก บางข้อเป็นหน้าเลย ต้องคิดเยอะอีก ต้องอาศัยการฝึกฝนเยอะๆ ครับ
          ส่วน Part ศักยภาพอาจจะดูเหมือนยาก เเต่ถ้าเคยเจอโจทย์มา เราจะสามารถตัดตัวเลือกออกได้ ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องนั้น คล้ายๆ กับปัญหาเชาว์ ส่วนดาราศาสตร์ ถ้าเวลาในการอ่าน เราเหลือน้อย ผมไม่เเนะนำให้อ่านเยอะมากนะ เพราะเรื่องนี้ออกยากเเละออกน้อยด้วย เเต่ถ้ามีเวลาเหลือจริงๆ ให้ไปอ่านดาราศาสตร์ Part คำนวณที่ออกบ่อยๆ เช่น parallax ก็จะพอทำให้เก็บเเต้มได้
          ส่วนถ้าใครจะเสริมตัวเองไปกับการเรียนพิเศษ ผมแนะนำให้เรียนเรื่องที่ไม่ต้องใช้ความจำมากก่อน เเบบฟิสิกส์+เคมี+ชีวะฯ บางบท (เช่น เรื่อง Genetic ในส่วนของการคำนวณ ฯลฯ) เเล้วค่อยเรียนพวกท่องจำ เราจะได้ไม่ลืมเวลาสอบ
          เวลาทำข้อสอบ แล้วเริ่มจับเวลา เราต้องห้ามคิดว่า เรามีเวลา 3 ชั่วโมง ข้อสอบ 100 ข้อ ทำข้อละ 1.48 นาทีนะ เพราะเวลาเท่านี้ยังไงก็ทำเคมีไม่ทันอยู่เเล้ว ให้รีบทำฟิสิกส์ + ชีวะฯ + พาร์ทศักยภาพ + ดาราศาสตร์ ให้ไวที่สุด เเล้วเอาเวลาที่เหลือไปทุ่มให้เคมีอย่างเดียวเลย แต่จริงๆ ผมก็มองว่าขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคนด้วยนะ ถ้าใครชอบเคมี อาจจะใช้เวลาไม่นาน ทำเคมีเสร็จก่อนแบบนี้ก็ได้ แค่อย่าลืมบริหารเวลาให้ดี


 ถ้ามี 3 สิ่งนี้ จะสามารถทำข้อสอบ PAT 2 ได้คะแนนดีแน่นอน กันคิดว่าควรจะเป็นอะไรบ้าง
          1.ความพยายาม : ผมมองว่าเป็นเหมือนความตั้งใจที่จะทำให้สำเร็จตามเป้าหมายที่หวังไว้ หาให้เจอว่าเราอยากเป็นอะไร เเล้วมุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อสิ่งนั้นครับ
          2. สติ : อันนี้สำคัญมากเลยตอนอยู่ในห้องสอบ อย่าไปลนหรือตื่นสนามสอบ บริหารเวลาในห้องสอบดีๆ อย่ากลัว เพราะถ้าเราทำเต็มที่เเล้ว ก็ไม่มีอะไรต้องเสียใจ
          3. ความอดทน : จริงๆ ก็รู้ว่าเป็นเรื่องปกติอยู่เเล้ว ที่เวลาเตรียมตัวสอบเราจะรู้สึกเครียด รู้สึกท้อ รู้สึกว่าทุกคนรอบตัวเก่งไปหมด แต่ก็อย่าให้ความกดดันพวกนี้มาขัดขวางความสำเร็จของเราเลยครับ
 

 เคล็ดลับการอ่าน PAT3 = 282 คะแนน กันเน้นอะไรบ้าง เตรียมตัวยังไง
          ข้อสอบ PAT 3 จะเน้นฟิสิกส์เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นก็จะมี เคมี เลข ความรู้รอบตัว เขียนเเบบ อย่างพาร์ทฟิสิกส์ กับเคมี ผมเตรียมตัวเหมือนกับ PAT 2 เลย ถ้าให้เทียบกันระหว่าง 2 วิชานี้ ผมว่าข้อสอบ PAT 3 ออกพาร์ทฟิสิกส์,เคมีง่ายกว่าข้อสอบ PAT 2 นะ โดยเฉพาะวิชาเคมี PAT 3 จะไม่ออกวิเคราะห์เยอะเหมือน PAT 2 ยกตัวอย่างเช่น PAT 2 จะออกพวกสมดุลเคมี + กรด-เบส + ปิโตรเคมี เยอะกว่า และเลขก็ไม่ยากเท่า PAT 1 เลยนะ ถ้าใครเตรียมตัวสอบ PAT 1 อยู่เเล้ว ก็แทบจะไม่ต้องเตรียมอะไรเพิ่มเลย
          ส่วนพาร์ทเขียนเเบบ ก็จะคล้ายๆ กับเรามองรูปสามมิติ ไม่ยากมาก เน้นทำโจทย์เยอะๆ ก็โอเคเเล้ว ส่วนความรู้รอบตัวก็ต้องเเล้วเเต่บุญกรรมของเเต่ละคนนะครับ55555 จริงๆ คือต้องบอกว่าขึ้นอยู่กับการติดตามข่าวสารของเรานี่แหละ ซึ่งบางทีไม่จำเป็นต้องรู้ทั้งหมดก็ได้ มันพอจะตัดตัวเลือกตอบเอาได้นะ


 สิ่งที่ยากที่สุดของข้อสอบ PAT3 ที่น้องๆ ควรจะต้องระวัง
          สำหรับผมคิดว่า Part ความรู้รอบตัว ยากที่สุดนะ เพราะมันต้องอาศัยความรู้ที่มี และการติดตามข่าวสารของเราจริงๆ อย่างบางข้อนี่เเทบจะตัดตัวเลือกไม่ได้เลย แล้วก็อยากให้น้องๆ ระวังเรื่องการคิดจุดทศนิยมผิดในข้อเติมคำตอบ และสุดท้ายคือ อย่าลืมบริหารเวลาในห้องสอบให้ดีครับ
 

 มาถึงรับตรงที่เลือก กับคะแนนและ 4 อันดับ กสพท
          กันได้คะเเนนรวม กสพท 85.71 ครับ แบ่งเป็นพาร์ทความถนัดเเพทย์ 23.48 คะแนน และ 9 วิชาสามัญได้ 62.23 คะแนน ครับ ส่วน 4 อันดับที่เลือก ก็ตามนี้เลยครับ
          
1. คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
          2. คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
          3. คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล
          4. คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 สนามสอบความถนัดแพทย์ เป็นยังไงบ้าง เล่าให้ฟังหน่อย สอบยากไหม เตรียมตัวยังไง
          ข้อสอบความถนัดเเพทย์จะมี 3 ส่วน คือ พาร์ทเชาว์, พาร์ทจริยธรรม และพาร์ทเชื่อมโยง ซึ่งต้องเตรียมตัวทั้ง 3 พาร์ทเลย
          - พาร์ทเชาว์ ผมจะเน้นทำโจทย์อย่างเดียวเลย ตอนเตรียมตัวพาร์ทนี้ผมเเอบเครียดนะ เพราะเเทบไม่เคยทำทัน 30 ข้อในเวลาที่กำหนดเลย เเต่ตอนสอบจริงข้อสอบง่ายกว่าที่เตรียมมา เลยทำทันเวลา
          - พาร์ทจริยธรรม ผมว่าปีนี้มีความเปลี่ยนเเนวนะ อย่างจำพวกกฎหมายเรื่องอุ้มบุญหรือหลายๆ อย่างมา ก็เเทบจะไม่ออกเลย ออกเป็นเรื่องทั่วไปๆ เเทน ซึ่งจริงๆ ทุกคนก็จะพอรู้อยู่แล้วว่าอย่าไปคาดหวังกับพาร์ทนี้เยอะ เพราะเราไม่รู้คำตอบจริงๆ ตอนสอบก็ทำใจสบายๆ เเล้วตอบตามที่เราคิดจริงๆ ดีกว่า
          - พาร์ทเชื่อมโยง ก็จะยากกว่าของ GAT เเต่ถ้าเตรียมตัวมาดี ก็เชื่อว่าน้องๆ จะเก็บคะแนนเต็มได้ไม่ยากครับ


 สนามสอบ 9 วิชาสามัญ คิดว่าวิชาไหนยากที่สุด วิชาไหนง่ายที่สุด
          ตอนเเรกคิดว่า วิชาภาษาอังกฤษ จะยากที่สุดครับ เเต่ปีนี้ข้อสอบภาษาอังกฤษออกง่ายลงเลยกลายเป็น วิชาสังคม ที่ยากที่สุดเเทน ส่วน วิชาฟิสิกส์ คิดว่าเป็นวิชาที่ง่ายที่สุด
          การเตรียมตัว ผมคิดว่าควรเริ่มจากวิชาที่ต้องสะสมประสบการณ์เยอะๆ ก่อนครับ พวก วิชาเลข ฟิสิกส์ เคมี อังกฤษ ไทย เเล้วค่อยมาพวกวิชาท่องจำเเบบ ชีวะฯ สังคม เพราะถ้าเอาวิชาจำมาเรียนก่อน ผมว่าอาจจะลืมได้ครับ ยกตัวอย่าง ผมเรียนชีวะฯ คอร์ส Ent ไปตอน ม.5 เทอม 2 พอเปิดเทอม ม.6 มา คือจำไม่ได้แล้วก็หายไปเกือบหมดเลย ต้องเอามาอ่านทวนใหม่ และที่สำคัญ คือ ผมเน้นเรียนเนื้อหาให้จบใน summer เเล้วพอเปิดเทอมมา ก็เน้นตะลุยโจทย์ และทวนเนื้อหาเก่าบ่อยๆ ครับ

 

 เรื่องการสอบที่เครียด+เหนื่อยที่สุดในชีวิต ม.6 ของกัน คืออะไร
          ต้องยกให้ช่วงเวลาการอ่านหนังสือเลยครับ ทั้ง 9 วิชาสามัญ และความถนัดเเพทย์เลยครับ เพราะว่าเป็นการสอบที่เราต้องใช้ และการสอบเเค่ครั้งเดียวด้วย รวมถึงตอนนั้น กันไม่ได้เเพลนเผื่อเรียนที่อื่นไว้ เลยอ่านหนังสือเหนื่อยมากครับตอนนั้น เเต่สุดท้ายที่ทำสำเร็จ กันก็คิดว่ามันเป็นความพยายามที่คุ้มค่ามากนะ

 ถ้าน้องๆ มีเวลาเหลือแค่ 1 เดือนก่อนสอบ กันมีเคล็ดลับการอ่านในเวลาเร่งด่วน หรือการเก็บคะแนนใน 1 เดือน แนะนำน้องๆ ไหมคะ
         
ถ้าเหลือเวลาน้อย เเล้วคิดว่าเนื้อหาเรายังไม่เเน่น ให้เน้นเนื้อหาก่อนเลย โดยเฉพาะบทที่ออกเยอะๆ เเละเก็บคะเเนนได้ง่าย อย่าพยายามทิ้งบทใหญ่ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ เเต่ถ้าคิดว่าเนื้อหาโอเคเเล้ว ก็เน้นทำข้อสอบเก่า เหมือนเป็นการเช็กว่าจุดอ่อนของเราคือตรงไหน พอเหลือเวลาประมาณ 1-2 อาทิตย์ ไม่ต้องเน้นทำข้อสอบเก่าเเล้ว แต่ให้เอาเนื้อหาของเเต่ละวิชาที่เราเน้นไว้ เช่น ข้อที่เน้นไว้ว่ามีปัญหา ฯลฯ มาอ่านทวน ส่วนข้อสอบก็ยังไม่ทิ้งนะ แต่ให้ทำเเค่วันละนิด และเน้นให้ความเร็วไม่ตกพอ

 ชีวิตมัธยม เป็นยังไงบ้าง
          ตอนช่วง ม.4-5 ตอนนั้นชิวมากเลย อ่านหนังสือเเค่ตอนที่รู้สึกว่าอยากอ่าน จะมีฟิตบ้างตอนมีสอบที่โรงเรียน หรือมีสอบในค่ายฟิสิกส์ ส่วนเรื่องอ่านหนังสือสอบเข้า เริ่มมาจริงจังตอนช่วง ม.5 เทอม 2 ครับ พอเห็นคนอื่นอ่านหนังสือ หรือทำข้อสอบเก่ากัน เเต่เรานั่งเล่นโทรศัพท์ เเล้วรู้สึกเเปลกๆ 55555 ตั้งแต่ตอนนั้นผมก็อ่านเเบบสม่ำเสมอมาตลอด
          ส่วนใหญ่ผมชอบอ่านหนังสือตอนกลางคืน ประมาณ 3 ทุ่ม - ตี 2 จะรู้สึกว่ามันเงียบดี มีสมาธิ แต่เวลาอ่านหนังสือ ถ้ารู้สึกเหนื่อย ผมก็ไม่ฝืนนะ ก็จะพักไปฟังเพลง เล่น facebook สักประมาณ 10 นาที เเล้วค่อยมาอ่านต่อ
          พวกข้อสอบเก่า ผมจะเอาไว้ทำเวลาที่ไม่มีสมาธิมาก เช่น ตอนรอเรียนพิเศษ หรือช่วงเวลาว่างในห้องเรียน และถ้ามีอะไรสงสัย ก็จะถามเพื่อนครับ เเต่ละคนก็มีวิชาที่ตัวเองถนัดอยู่เเล้ว เป็นเหมือนการเเลกเปลี่ยนความรู้กันด้วย

 

 สุดท้ายแล้ว ฝากอะไรถึงน้องๆ กันหน่อย
         ในการสอบทุกครั้ง ย่อมมีคนที่สมหวัง เเละผิดหวังเป็นเรื่องธรรมดา เเต่การสอบนั้นไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่จะตัดสินอนาคตของเรานะ ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นยังไง ถ้าเราได้ตั้งใจทำเต็มที่เเล้ว พี่คิดว่าไม่มีอะไรต้องเสียใจเลย อยากเป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกคนเลย สู้ๆ นะ ^^

          เป็นยังไงบ้างคะ ต้องบอกว่าคะแนนของพี่กัน ว้าวววว! ทุกวิชาเลย ซึ่งวันนี้พี่กันก็ขนเคล็ดลับมาบอกกันอย่างเต็มที่ น้องๆ คนไหนที่กำลังอ่านหนังสือ เพื่อเตรียมตัวให้เต็มที่สำหรับการสอบในระบบใหม่ ก็ลองเอาเคล็ดลับของพี่กันไปใช้ได้ค่ะ :D
 
พี่อีฟ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

ขอ70น่าจะได้ 19 พ.ค. 60 18:29 น. 2

อยากรู้ว่า9วิชาสามัญแต่ละวิชาได้เท่าไหร่ //เทพมากๆ อ่านแล้วรู้สึกมีพลังอ่านหนังสือเลย

0
กำลังโหลด

6 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
ขอ70น่าจะได้ 19 พ.ค. 60 18:29 น. 2

อยากรู้ว่า9วิชาสามัญแต่ละวิชาได้เท่าไหร่ //เทพมากๆ อ่านแล้วรู้สึกมีพลังอ่านหนังสือเลย

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด