ไขข้อสงสัย! 3 คณะแฝดของคนรักสัตว์ “สัตวแพทย์-เทคนิคการสัตวแพทย์-สัตวศาสตร์ เรียนต่างกันยังไง

     ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกเข้าเรียนต่อระดับปริญญาตรี หลายคนคงค้นหารายชื่อมหาวิทยาลัย รายชื่อคณะ รายชื่อสาขาวิชาที่เปิดรับสมัคร มานั่งไล่ดูในสิ่งที่สนใจ บางคนอาจจะมีความใฝ่ฝันของตัวเองอยู่แล้ว แต่ก็ไปสับสนกับสาขาที่มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่ดูเหมือนว่าใกล้เคียงกัน บางคนก็อาจจะไปสะดุดกับสาขาที่มีชื่อคล้ายคลึงกัน ซึ่งก็มีไม่น้อยเลย
 

 
     หนึ่งในบรรดากลุ่มสาขาวิชาที่มีความใกล้เคียงกันและทำให้น้องๆ สับสน นั่นก็คือ “สาขาที่เกี่ยวกับสัตว์” มีหลายๆ มหาวิทยาลัย เปิดสอนในคณะที่ มีคำว่า “สัตว์” เป็นส่วนหนึ่งของชื่อสาขา หรือชื่อคณะ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเรียนเกี่ยวกับสัตว์ แต่ว่าจะเรียนในแง่ไหน เรียนยังไงบ้าง วันนี้พี่แนนนี่จะพาไปรู้จักกับ 3 สาขา อย่าง สัตวแพทย์ เทคนิคการสัตวแพทย์ และสัตวศาสตร์ มาดูกันว่า แต่ละสาขาจะเรียนเหมือน หรือแตกต่างกันอย่างไร
 
 สัตวแพทยศาสตร์ เรียนอะไร?
 
      เรียนสัตวแพทย์ ก็เหมือนการเรียน “แพทย์” ต่างกันตรงที่ เรียนไปรักษาสัตว์ ใช้ระยะเวลาในการเรียน 6 ปี แน่นอนว่าจะต้องรู้จักทุกส่วนของร่างกายสัตว์ หลากหลายชนิด ทั้งสัตว์เล็กๆ อย่าง สุนัข แมว นก ปลา กระต่าย กระรอก รวมไปถึงสัตว์ใหญ่ๆ อย่างม้า วัว แพะ เป็นต้น
      พอเริ่มเรียนปีแรก ก็เจอวิชาเกี่ยวกับสัตวแพทย์โดยตรง เช่น วิชาการจัดการสุขภาพสัตว์โดยทั่วไป การเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ วัตถุดิบอาหารสำหรับปศุสัตว์ หรือวิชากายวิภาคศาสตร์เปรียบเทียบ  เรียนรู้โครงสร้างสัตว์ต่างๆ บางคลาสก็มีการผ่าซากสัตว์ เพื่อศึกษา (ได้ลงมีดผ่าตัดครั้งแรก) ปีถัดๆ มา ก็จะเป็นภาคทฤษฎีมากขึ้น หรือที่เรียกว่า Pre-Clinic ได้ลงมือทำมากขึ้น เรียนพวกระบบต่างๆ ของสัตว์ (เรียนเป็นระบบๆ ไป) เช่น ระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ ระบบประสาท ระบบหายใจ ระบบสืบพันธุ์ ระบบย่อยอาหาร ระบบหัวใจ ระบบไหลเวียนโลหิต เป็นต้น ส่วนปีสูงขึ้นไปอีก ก็จะเริ่มเรียนกับสัตว์ทดลอง และฝึกปฏิบัติในโรงพยาบาลสัตว์ เช่น ฉีดยา เจาะเลือด ตรวจสุขภาพทั่วไป ล้วงก้นวัว  ผ่าตัดต่างๆ เป็นต้น เรียกได้ว่าจะได้เตรียมความพร้อมสู่การเป็น สัตวแพทย์ อย่างเข้มข้น
 
  สิ่งที่คิดว่าไม่น่าจะเจอในการเรียนสัตวแพทย์
     ต้องจับแมลงสาบ แมลงวัน ยุง ไปส่งอาจารย์
 
  จบไปทำงานอะไร?
     หลักๆ จบมาก็เป็น “สัตวแพทย์” ได้ เพราะมีวุฒิ “สัตวแพทยศาสตรบัณฑิต” แต่ไปทำงานรักษาสัตว์เลยไม่ได้ ต้องไปสอบใบประกอบวิชาชีพก่อน (เหมือนแพทย์) ยกตัวอย่างเช่น สัตวแพทย์ตามโรงพยาบาลสัตว์ ตามคลินิกสัตว์ สัตวแพทย์ผู้ดูแลประจำฟาร์ม สัตวแพทย์สัตว์ป่า สัตวแพทย์สัตว์แปลก (exotic) ส่วนถ้าใครไม่อยากทำด้านนี้ก็สามารถไปเป็น นักวิจัย เซลล์ขายยา เซลล์ขายอาหารสัตว์ รับราชการกรมปศุสัตว์ หรือจะทำงานในบริษัทใหญ่ๆ เช่น CP Betagro เป็นต้น หรือเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย
 
 เทคนิคการสัตวแพทย์ เรียนอะไร?
 
      "เทคนิคการสัตวแพทย์" เป็นเสมือนผู้ช่วยสัตวแพทย์ คอยเอาเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ หรือชิ้นส่วนของสัตว์ไปตรวจ ไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ หรือห้องแล็ป (Lab) ซึ่งเทียบได้กับเทคนิคการแพทย์ในคน การเรียนการสอนก็จะเกี่ยวกับ วิทยาศาสตร์สุขภาพสัตว์ กระบวนการใช้เครื่องมือ เทคนิคและกระบวนการตรวจวินิจฉัยโรคในสัตว์ ทั้งสัตว์เลี้ยง และปศุสัตว์ เช่น วัว กระบือ แพะ แกะ ไก่ หมู เป็นต้น โดยจะเรียนในหลายๆ ด้าน เช่น ด้านโลหิตวิทยา เคมีคลินิก ภูมิคุ้มกันวิทยา ปรสิตวิทยา จุลชีววิทยา เป็นต้น
      นอกจากนี้ในคณะเทคนิคการสัตวแพทย์ ของหลายๆ มหาวิทยาลัยยังมี "สาขาการพยาบาลสัตว์" ซึ่งเรียนเกี่ยวกับการดูแลและการปฐมพยาบาลสัตว์เบื้องต้น กระบวนทำงานภายในห้องฉุกเฉินและห้องผ่าตัด เทคนิคและขั้นตอนการศัลยกรรมเบื้องต้น เภสัชวิทยาเบื้องต้น (ภายใต้การควบคุมของอาจารย์สัตวแพทย์) การจับบังคับสัตว์ เพื่อการทำหัตถการทางสัตวแพทย์ การตรวจสอบสัญญาณชีพเบื้องต้น โดยน้นเป็นผู้ช่วยสัตวแพทย์คล้ายพยาบาลคน
 
      ในการเรียนปีแรกๆ ทั้ง 2 สาขา จะมีการเรียนรายวิชาพื้นฐานที่ค่อนข้างเหมือนกัน เช่น ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ เรื่องสุขภาพ ระบบร่างกายต่างๆ ของสัตว์ หรือวิชาด้านศัลยกรรม การปฐมพยาบาลสัตว์เบื้องต้น การตรวจพื้นฐานด้านโลหิตวิทยาและปรสิตวิทยา แต่พอขึ้นปีสูงๆ ก็จะแยกกันไปตามสาขา จะได้เรียนทักษะเกี่ยวกับการทำงานในห้องปฏิบัติการมากขึ้น การวิเคราะห์ การทดลอง หาสาเหตุในการป่วย หรือเสียชีวิตของสัตว์ ได้เข้าฝึกที่คลินิก มีเคสมาให้ฝึกตรวจ ฝึกเรียนรู้กันไป
 
  สิ่งที่หลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับสาขาเทคนิคการสัตวแพทย์
      ส่วนใหญ่คิดว่า เรียนจบแล้วจะได้วุฒิ หรือเป็นสัตวแพทย์ ซึ่งความจริงไม่ใช่ เรามาช่วยสนับสนุนงานของสัตวแพทย์ ทั้งในส่วนของการดูและรักษาสัตว์ป่วย และผู้ช่วยในกระบวนการตรวจวินิจฉัยโรค
 
  จบไปทำงานอะไร?
     จบมาได้รับวุฒิ "วิทยาศาสตร์บัณฑิต (วท.บ) สาขาเทคนิคการสัตวแพทย์" ซึ่งสามารถทำงานเป็น นักเทคนิคการสัตวแพทย์ หรือเป็นผู้ช่วยสัตวแพทย์ ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในห้องแล็ป มีหน้าที่ตรวจ สิ่งต่างๆ ที่แพทย์ส่งมา  เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพสัตว์ อาจจะประจำอยู่โรงพยาบาล หรือฟาร์มสัตว์ ส่วนใครที่จบสาขาการพยาบาลสัตว์ จะได้รับวุฒิ "วิทยาศาสตร์บัณฑิต (วท.บ) สาขาการพยาบาลสัตว์" เป็นนักการพยาบาลสัตว์ ปฏิบัติงานด้านการพยาบาลสัตว์ในสัตว์เลี้ยง ปศุสัตว์ และสัตว์ป่า อาจจะไปทำงานในโรงพยาบาลสัตว์ คลินิกสัตว์ หรือหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนได้ นอกเหนือจากนี้ยังสามารถไปเป็นนักวิจัย นักวิชาการ หรือ อาจารย์ได้อีกด้วย

 
 สัตวศาสตร์ สัตวบาลเรียนอะไร?
 
     "สัตวศาสตร์" หรือ "สัตวบาล"  จะเรียนเกี่ยวกับการผลิตสัตว์ พวกสัตว์เศรษฐกิจที่ใช้ในการบริโภค เช่น สุกร ไก่ วัว กระบือ แพะ แกะ เป็นต้น ซึ่งจะต้องเรียนโครงสร้างของสัตว์ ทั้งภายใน ภายนอก รวมถึงการดำรงชีวิตของสัตว์ นอกจากนี้ยังเน้นไปทางการจัดการฟาร์ม และปศุสัตว์ เรียนรู้เกี่ยวกับการเลี้ยง การดูแลสัตว์ การให้อาหารสัตว์ หลักการควบคุมสิ่งแวดล้อมให้สัตว์ การจัดการสุขาภิบาลฟาร์ม ชีววิทยาของสัตว์ พันธุกรรม การสืบสายพันธุ์สัตว์ โรคของสัตว์ เชื้อโรคและปรสิต เป็นต้น
 
      ในช่วงปีแรกๆ จะเรียนพวกวิชาทฤษฎีพื้นฐานคล้ายๆ กัน เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา เพื่อนำมาประยุกต์กับวิชาของสาขา ถัดมาก็จะเริ่มเรียนในวิชาของสาขามากขึ้น จุลชีววิทยา กายวิภาคสัตว์ (Anatomy; แอบบอกว่า เป็นวิชาโปรดของใครหลายๆ คนเลยล่ะค่ะ) หรือ ภูมิคุ้มกันวิทยา เป็นต้น พอเป็นปีสูงๆ ก็จะเริ่มเรียนพวกวิชาของสาขาอย่างเต็มตัวมากขึ้น เช่น การผลิตสุกร การผลิตไก่ การจัดการฟาร์ม น้ำนม และคุณภาพนม พืชอาหารสัตว์ พันธุศาสตร์สัตว์ การปรับปรุงพันธุ์ เป็นต้น รวมถึงการเรียนรู้ในภาคปฏิบัติมากขึ้น หรือออกไปฝึกงาน หรือสหกิจศึกษาด้วย
 
  สิ่งที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดกับสาขานี้
     หลักๆ คือคิดว่าคนะคิดว่าจบไปแล้วเป็นสัตวแพทย์ หรือสามารถต่อยอดเป็นสัตวแพทย์ได้
 
  จบไปทำงานอะไร?
     เมื่อจบไปจะได้รับวุฒิเป็น "วิทยาศาสตร์บัณฑิต (วท.บ) สาขาสัตวศาสตร์" สามารถทำงานเป็นสัตวบาล หรือ นักวิชาการปศุสัตว์ หรืออาจจะไปเป็นเจ้าของฟาร์ม ผู้จัดการฟาร์ม หรือทำงานในกรมปศุสัตว์ นอกจากนี้ก็สามารถไปเป็นนักวิชาการ หรือนักวิจัย หรือบางคนอยากเปลี่ยนสายก็ไปเป็นเซลล์ขายยา อาหารสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์ก็ได้
 
     ส่วนใหญ่แล้ว เราจะเห็นหลายๆ มหาวิทยาลัยเปิดสอนสาขาสัตวแพทย์ เป็นคณะสัตวแพทยศาสตร์ สาขาเทคนิคการสัตวแพทย์ เป็นคณะเทคนิคการสัตวแพทย์ แต่ในสาขาสัตวบาล หรือสัตวศาสตร์ อาจจะเป็นคณะของตัวเอง หรือ อาจจะแยกเป็นสาขาย่อยๆ ให้เลือกในคณะใดคณะหนึ่งได้ค่ะ ทั้งนี้แต่ละมหาวิทยาลัยอาจจะมีหลักสูตร หรือวิชาในการจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างกันค่ะ

 
ขอบคุณข้อมูลจาก นิสิต นักศึกษา อาจารย์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
มหาวิทยาลัยศิลปากร
มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม
พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

4 ความคิดเห็น

อาจารย์ท่านหนึ่ง 15 ต.ค. 61 15:20 น. 1

ข้อมูลมีไม่ถูกต้องอยู่หลายส่วน ควรมีการกรองข้อมูลให้ดูก่อนนำเสนอสู่สารธรณะครับ เด็กๆอาจเข้าใจผิดได้ ที่สำคัญอ้างข้อมูลจากสถาบันการศึกษา แต่ข้อมูลไม่ถูกต้องครับ

2
กำลังโหลด
กำลังโหลด
1234567 16 ต.ค. 61 21:31 น. 3

สัตวศาสตร์จะอยู่ในคณะเกษตรครับ หรือไม่ก็เป็นคณะสัตวศาสตร์เลย พบน้อยมากครับในคณะสัตวแพทยศาสตร์

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด