20 เรื่องจริง “กายอุปกรณศาสตรบัณฑิต” เปิดสอนที่เดียวในไทย ที่แรกในอาเซียน

        หากพูดถึงวิชาชีพใหม่ที่ประเทศไทยเรามีความต้องการบุคลากรอีกมาก เชื่อว่า “นักกายอุปกรณ์” จะต้องติดหนึ่งในนั้นแน่นอน การเรียนด้านนี้มีความเฉพาะทาง และใช้ต้นทุนที่สูงมากในการผลิตบัณฑิตต่อรุ่น 


 
        วันนี้ Dream Campus จะพาน้องๆ ไปทำความรู้จักสาขากายอุปกรณ์ จากประสบการณ์ของรุ่นพี่ศิษย์เก่า “โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล” ที่จบมาอย่างมีคุณภาพมากๆ “พี่กรณ์ ไชยวาด” ผู้จัดการและนักกายอุปกรณ์ประจำคลินิกของบริษัท Ottobock ค่ะ ไปเลย!  

        1. กายอุปกรณ์ คือสาขาวิชาในโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร สังกัดคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แต่เดิมจบมาจะได้รับวุฒิปริญญาตรีในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต แต่ปัจจุบันเป็นหลักสูตรกายอุปกรณศาสตรบัณฑิตโดยตรง 

        2. โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร จัดการเรียนการสอนด้านกายอุปกรณ์ ในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ซึ่งถือเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ตอนนี้เริ่มมีประเทศอื่นที่เปิดสอนด้านกายอุปกรณ์ตามมาบ้างแล้ว เช่น ฟิลิปปินส์ แต่ในไทยยังยืนหนึ่งที่เดียว) 

        3. สาขากายอุปกรณ์ ค่อนข้างใช้วัสดุอุปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือในคอร์สเรียนสูงมาก ประกอบกับงบประมาณมีอยู่อย่างจำกัด จึงทำให้รองรับนักศึกษาต่อรุ่นได้ไม่มาก แบ่งเป็นนักศึกษาไทย ไม่เกิน 30 คนต่อปี และนักศึกษานานาชาติ 15 คนต่อปี จากข้อมูลล่าสุดรวม TCAS 62 รอบที่ 1 - 3 เปิดรับไปแล้ว 6 คน และในปี 61 รอบแอดมิชชั่น เปิดรับ 18 คน 

        อย่างไรก็ตาม แต่เดิมสาขากายอุปกรณ์มีสอนอยู่ที่ รพ.เลิดสิน ในระดับอนุปริญญา และปัจจุบันมีการเรียนการสอนในเนื้อหาที่ค่อนข้างใกล้เคียงกันคือ สาขาเทคนิคกายอุปกรณ์ ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้วุฒิ ปวส. ทำให้ช่วงหลังๆ โรงเรียนกายอุปกรณ์เริ่มเปิดรับเยอะขึ้น เพราะจะมีช่างตามโรงพยาบาล กับน้องๆ ระดับ ปวส. สายช่าง มาสมัครเรียน เพื่อให้ได้รับวุฒิปริญญาตรี และได้เป็นนักกายอุปกรณ์เหมือนกัน มาดูกันว่าตัวเลขสุดท้ายของรุ่นนี้จะรับนักศึกษากี่คน 

        4. ด้วยความที่โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร เปิดสอนในหลักสูตรนานาชาติ จึงทำให้มีนักศึกษาต่างชาติเดินทางมาเรียนจากทั่วโลก โดยเฉพาะในโซนอาเซียน พอมาร่วมคลาสกันเลยทำให้เนื้อหาที่เรียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด นี่คือข้อดีที่เด็กกายอุปกรณ์ขอยกนิ้วให้ เพราะจ่ายค่าเทอมแบบเด็กไทยในหลักหมื่นต้นๆ แต่ได้เรียนแบบอินเตอร์เนชั่นแนล 

        5. เพราะเรียนอังกฤษล้วน เด็กกายอุปกรณ์จึงต้องมีพื้นฐานทางภาษาอังกฤษตั้งแต่แรกเริ่ม ด้วยการกำหนดคะแนนภาษาอังกฤษ เช่น TCAS รอบ 3 กำหนด O-NET อังกฤษ ไม่ต่ำกว่า 35% พอผ่านด่านมาแล้วต่อให้เรียนไม่รู้เรื่อง อย่างน้อยก็ต้องอยู่ในระดับที่สื่อสารได้ 


 
        6. กายอุปกรณ์ ความหมายโดยรวมคือการเรียนเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้กับร่างกายภายนอก เพื่อช่วยเหลือการเคลื่อนไหว ป้องกัน แก้ไข หรือทดแทนลักษณะความผิดปกติของร่างกาย ถ้าจะอธิบายให้ลึกไปอีก สามารถแบ่งได้ 2 ประเภท 

        (1) อุปกรณ์เทียม คือ อุปกรณ์ที่ใช้ทดแทนให้กับคนที่สูญเสียอวัยวะ เช่น ขาเทียม แขนเทียม 
        (2) อุปกรณ์เสริม คือ อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับคนที่ไม่ได้สูญเสียอวัยวะ แต่มีความผิดปกติอย่างคนพิการแต่กำเนิดเป็นโปลิโอแขนขาลีบ ร่างกายผิดรูป อ่อนแรง เช่น อุปกรณ์ประคองแขน ขา ดามหลัง  

        7. กายอุปกรณ์ ใช้เวลาเรียน 4 ปี การเรียนจะเน้นผนวกความรู้ 3 อย่างเข้าด้วยกัน คือความรู้ทางการแพทย์ ความเป็นศิลปะ (งานช่างฝีมือ) และความรู้ทางวิศวกรรม 

        - ปี 1 เรียนวิชาพื้นฐานทั่วไป ที่วิทยาเขตศาลายา ม.มหิดล 
        - ปี 2 เรียนวิชาพื้นฐานทางการแพทย์ เช่น Anatomy , Physiology , Psycology , Rehabilitation , Phathology เป็นต้น ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
        - ปี 3 - 4 เรียนเนื้อหาด้านกายอุปกรณ์ ที่โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร 

        8. เหตุผลที่เด็กกายอุปกรณ์ต้องเรียนวิชาพื้นฐานทางการแพทย์ เพราะใช้ความรู้ร่วมกับการทำกายอุปกรณ์ เช่น การออกแบบอุปกรณ์ให้เข้ากับคนไข้แต่ละคนให้มีความเหมาะสม  

        9. เด็กกายอุปกรณ์ทุกคนมีฝีมือและใส่ใจคนไข้มาก โดยรวมอุปกรณ์หลักๆ เช่น เท้า แกนหน้าแข้ง ข้อเข่า จะมีแบบสำเร็จรูปมาอยู่แล้ว เวลาทำอุปกรณ์ให้คนไข้ จะต้องพิจารณาเป็นรายคนว่า คนไข้คนนี้เหมาะที่จะใช้อุปกรณ์แบบไหน เช่น คนไข้ที่มีอายุมากจะต้องใช้เท้ารุ่นหนึ่งที่ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ 

        สมมติว่ามีเคสคนไข้ขาขาด หน้าที่ของนักกายอุปกรณ์จะต้องทำเบ้าขนาดพอดีไว้สวมเข้ากับตอขาคนไข้เพื่อยึดกับขาที่ขาดไป แล้วประกอบจัดแนวให้เข้ากับขาคนไข้ ถ้าหมอฟันต้องหล่อแบบฟันเพื่อทำฟันปลอม นักกายอุปกรณ์ก็ต้องหล่อเบ้าหรือหล่อแบบขาขึ้นมาก่อนเหมือนกัน 

        10. กายอุปกรณ์มีเรียนเขียนแบบทางวิศวกรรม แต่หลักสูตรนี้คนละเรื่องกับวิศวกรรมชีวการแพทย์ สายนั้นจะเป็นการเรียนเกี่ยวกับการผลิต ซ่อมบำรุงเครื่องมือแพทย์ รวมถึงใช้ความรู้ทางวิศวกรรมมาแก้ปัญหาทางการแพทย์ แต่กายอุปกรณ์ของเราจะทำอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับร่างกายให้คนไข้เป็นหลัก คนละอย่างกับการผลิตเครื่องมือแพทย์เลย   


 
        11. วิชาหลักที่เด็กกายอุปกรณ์ต้องมีความรู้แน่นมาก! คือชีวกลศาสตร์ (Biomechanics) และพยาธิวิทยา (Phathology) เพราะการรู้จักกลไกการเคลื่อนไหวของร่างกาย และโรคของคนไข้แต่ละราย มีความสำคัญมากกับการออกแบบกายอุปกรณ์ให้คนไข้   
 
        12. หลักสูตรกายอุปกรณ์ เริ่มฝึกงานจริงจังตอน ปี 3 เทอม 2 มีทั้งฝึกงานในไทยและต่างประเทศ สำหรับการศึกษาดูงานต่างประเทศจะไปในช่วงปิดเทอม ถ้าฝึกงานตามโรงพยาบาลในไทย ปกติโรงพยาบาลจะมีเคสให้ในแต่ละการฝึก เช่น ทำอุปกรณ์ที่ช่วยให้คนไข้เดินได้ดี พอฝึกเสร็จกลับมาที่โรงเรียนกายอุปกรณ์ฯ ก็จะมีการนำเสนอเคสที่น่าสนใจอีกครั้ง  

        13. ปี 4 เริ่มทำวิจัยด้านกายอุปกรณ์ เช่น คิดค้นอุปกรณ์สำหรับคนไข้ ทดลองกายอุปกรณ์ใหม่ๆ  โดยมีทุนสำหรับทำวิจัยให้บ้าง งานกายอุปกรณ์จะมีหลายอย่าง หน้าที่ของนักกายอุปกรณ์คือ ออกแบบอะไรก็ได้ที่ช่วยให้คนไข้ดีขึ้น 

        14. เมื่อเรียนจบมีสอบใบประกอบโรคศิลปะสาขากายอุปกรณ์ และสอบใบ ISPO qualifying examination ขององค์กรวิชาชีพกายอุปกรณ์สากล (International Society for Prosthetics and Orthotics) เพราะนี่คือใบวัดมาตรฐานว่าเราได้ผ่านการสอบด้านกายอุปกรณ์มาแล้ว และสามารถไปทำงานต่างประเทศได้ ต่างประเทศมีหลายที่เปิดรับนักกายอุปกรณ์ไปทำงาน เพียงแค่มีใบ ISPO ยื่นผ่านด่าน เช่น องค์กรมูลนิธิที่ช่วยเหลือคนพิการในสิงคโปร์ แต่อาจจะต้องมีประสบการณ์การทำงานมาก่อน 5 ปี 

        15. หากต้องการศึกษาต่อระดับปริญญาโท สามารถศึกษาต่อด้านกายอุปกรณ์โดยตรงที่โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นหลักสูตรทางด้านวิชาเอกกายอุปกรณ์เทียม เอกกายอุปกรณ์เสริม และเอกกายอุปกรณ์เสริมสำหรับเท้า และหากต้องการศึกษาต่อด้านอื่น ก็สามารถทำได้เช่นกัน เช่น วิศวกรรมชีวการแพทย์ จิตวิทยา เทคโนโลยีการกีฬา เป็นต้น 


 
        16. สายการแพทย์ต้องทำงานเป็นทีมเวิร์ค! นักกายอุปกรณ์จะทำงานเป็นทีมหนึ่งในแผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู ได้ทำงานร่วมกับทีมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และทีมกายภาพบำบัด สมมติว่ามีเคสคนไข้เข้ามา จะต้องประเมินเคสร่วมกับหมอ และออกแบบกายอุปกรณ์ให้ตรงกับโรคที่หมอวินิจฉัยและเหมาะสมกับคนไข้

        17. ทีมกายอุปกรณ์ บางครั้งก็จำเป็นต้องทำงานแข่งกับเวลา เนื่องจากคนไข้ในไทยส่วนใหญ่ค่อนข้างมีฐานะยากจน หากเดินทางมาทำขาเทียม ก็อยากได้อุปกรณ์แบบมาวันเดียวแล้วเสร็จเลย ซึ่งความจริงอุปกรณ์แต่ละชิ้นจะต้องใช้ระยะเวลาในการผลิต อย่างขาเทียม ถ้าทำตั้งแต่ต้นจนจบอย่างเร็วที่สุด ต้องเร่งให้เสร็จในวันเดียว แต่ถ้าเต็มที่คือ 2 วัน (ถ้าเคสเยอะก็จะมือปั่นกันสุด) สรุปยิ่งเสร็จเร็วยิ่งดี เพื่อความสะดวกของคนไข้ และไม่อยากให้คนไข้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางเยอะ     

        18. นักกายอุปกรณ์ถือว่ามีความสำคัญมาก ด้วยจำนวนคนที่จบมาน้อย อย่างในกรุงเทพฯ จะไม่ค่อยขาดแคลน แต่ตามต่างจังหวัดจะไม่ค่อยมีใครมาทำหน้าที่นี้ บางจังหวัดไม่มีนักกายอุปกรณ์เลย (ส่วนใหญ่จะประจำอยู่ รพ. ศูนย์ประจำจังหวัดใหญ่ๆ เท่านั้น) ซึ่งคนไข้ที่จำเป็นต้องรักษาทางนี้ยังมีอยู่เยอะ ถ้าขาดนักกายอุปกรณ์ไป คนไข้ที่อยู่ไกลๆ ต่างอำเภอ ก็จะเข้าไม่ถึงการรักษา

        19. อาชีพกายอุปกรณ์เป็นอาชีพที่ค่อนข้างขาดแคลน เป็นอาชีพที่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ลำบากให้กลับมามีชีวิตที่ดีขึ้น เรียนจบมาแล้วไม่ตกงานแน่นอน ได้รับราชการรวดเร็วมาก เพราะจำนวนคนน้อยนั่นเอง 

        20. - เงินเดือนรับราชการ เริ่มต้น 15,000 บาท ไม่รวมค่าใบประกอบวิชาชีพ

             - เอกชนเริ่มต้น 25,500 - 30,000 บาท ไม่รวมโอที
             - พนักงานมหาวิทยาลัย เริ่มต้น 19,500 ไม่รวมค่าใบประกอบวิชาชีพ
             - ต่างประเทศตามเรทประเทศนั้นๆ

        เมื่ออ่านจบน้องๆ คงจะรู้ถึงความสำคัญของการเรียนกายอุปกรณ์ฯ เลยใช่มั้ยคะ พี่เมก้ามองว่าอาชีพนี้น่าสนใจและมีเสน่ห์อย่าบอกใคร เอ้ย! ต้องบอกต่อเลยล่ะค่ะ สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณ “พี่กรณ์ ไชยวาด” นะคะ ที่ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การเรียนและทำงานด้านกายอุปกรณ์อย่างเจาะลึกและเห็นภาพสุดๆ ไปเลย   

ขอบคุณรูปภาพจาก
Instagram : ottobock_thailand
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

4 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
Mumii 14 มี.ค. 62 23:41 น. 2

สนใจมากค่ะหนูไปอ่านเจอมามีเปิดรับTcas รอบที่1 ด้วย แต่ต้องมีผลงานด้านวิทยาศาสตร์ หนูลงแข่งขันสิ่งประดิษฐ์วิทยาศาตร์ผลงานสิ่งประดิษฐ์วิทย์นี่แหล่ะสาขาที่ใช่ ขอให้หนูติดรอบportfolioด้วยเถิ้ดดดดเพี้ยงง!

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด