ห้องสมุดมหาวิทยาลัยยุคใหม่ "ยืม/คืนหนังสือ-ใช้ห้องสมุด" ข้ามสถาบันได้แล้ว!


 
      สวัสดีค่ะน้องๆ ในยุคดิจิทัลแบบนี้ "ห้องสมุด" ยังถือเป็นสวัสดิการหลักๆ ที่มหาวิทยาลัยจะต้องเปิดให้บริการกับนิสิต นักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยกันอยู่ เพราะการเรียนรู้นั้นยังคงต้องอาศัยหนังสือ นิตยสาร วารสาร หรือสิ่งพิมพ์ต่างๆ เพื่อประกอบการเรียนการสอนอยู่
 

 
     นิสิต นักศึกษาส่วนใหญ่ ต้องศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลความรู้ อาจจะเพื่อนำข้อมูลไปทำการบ้าน ทำรายงาน ทำงานวิจัยส่งอาจารย์ หรืออาจจะหาความรู้เพิ่มเติม นอกเหนือจากวิชาเรียน แต่     หลายครั้งที่เราไม่พบหนังสือหรือข้อมูลที่ต้องการใช้จากห้องสมุดของมหาวิทยาลัยตนเอง ก็มักแก้ปัญหาด้วยการไปยังห้องสมุดของมหาวิทยาลัยอื่นหรือห้องสมุดสาธารณะ แต่ในช่วงหลัง หลายๆ มหาวิทยาลัยก็ได้ร่วมมือกัน มีสวัสดิการที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องนี้ด้วย 
 
1) การยืม-คืนหนังสือข้ามมหาวิทยาลัย
      มหาวิทยาลัยหลายแห่งมีห้องสมุดกระจายตามหลายคณะ หลายวิทยาเขต ทางมหาวิทยาลัยก็มีบริการยืม-คืนหนังสือข้ามคณะ ข้ามวิทยาเขตได้ เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล ว.กาญจนบุรี สามารถยืมหนังสือจาก ว.ศาลายาได้ รวมถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็มีบริการแบบนี้เช่นเดียวกัน
       แต่ในปัจจุบัน หลายๆ มหาวิทยาลัยได้ขยายเครือข่ายออกไป โดยร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัย ให้สามารถยืม-คืนหนังสือระหว่างกันได้ด้วย เช่น

 
1.1) World Share Interlibrary loan
     เป็นเครือข่ายบริการยืมระหว่างห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสมาชิกเครือข่ายจากหลายประเทศ ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงสารสนเทศ ขอยืมเล่ม ทำสำเนา หรือไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ได้ ตามนโยบายของแต่ละแห่งโดยไม่มีค่าใช้จ่าย สำหรับในประเทศไทย มีห้องสมุดที่เข้าร่วมบริการนี้ 5 แห่ง ได้แก่
       สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
       สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
       สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
       หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล
       และสำนักวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 
1.2) บริการยืม-คืนระหว่างห้องสมุด
     เกือบทุกมหาวิทยาลัยมีบริการยืม-คืนหนังสือระหว่างหอสมุดอื่นๆ (นอกเหนือจากความร่วมมือในโครงการต่างๆ) ให้น้องๆ สอบถามไปยังบรรณารักษ์ประจำห้องสมุด ถึงขั้นตอน วิธีการ ข้อกำหนด และเงื่อนไขต่างๆ ในการขอยืม ซึ่งก็มีสามารถทำได้ทั้งการยืมตัวเล่ม การถ่ายสำเนา หรือไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ แต่การบริการลักษณะนี้อาจจะมีค่าธรรมเนียมด้วย เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นต้น
 
2) การเข้าใช้บริการพื้นที่
     บางมหาวิทยาลัยทำความร่วมมือกัน ให้นิสิต นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยคู่สัญญาเข้ามาใช้บริการในพื้นที่ได้ โดยไม่มีค่าธรรมเนียม เช่น
     มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้นักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรในปัจจุบัน สามารถเข้าใช้พื้นที่บริการห้องสมุดระหว่างกันได้ โดยแสดงบัตรประจำตัวนักศึกษา หรือบัตรบุคลากร (ถึง 27 พฤษภาคม 2565)
     ก่อนหน้านี้ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เอง ก็ได้ประกาศว่า นักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากร สามารถเข้าใช้พื้นที่บริการห้องสมุดของ 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (หอสมุดกลาง) มหาวิทยาลัยหัวเฉียว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และมหาวิทยาลัยศรีปทุมไปแล้ว (ถึง 27 กันยายน 2562) ไปแล้ว
 
      ทุกวันนี้ห้องสมุดของหลายๆ มหาวิทยาลัย ไม่ใช่แค่ให้บริการใช้พื้นที่ และยืม-คืนหนังสือเพียงเท่านั้น แต่ยังเปิดให้บริการอื่นๆ ภายในห้องสมุด เช่น E-Lecture ห้องมัลติมีเดีย ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องประชุม ห้องศึกษาค้นคว้าแบบกลุ่ม เป็นต้น รวมถึงบางมหาวิทยาลัย ให้พื้นที่บริการกับบุคคลภายนอกได้เข้ามาใช้บริการ โดยอาจจะมีค่าธรรมเนียมเล็กน้อย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.car.chula.ac.th
http://www.li.mahidol.ac.th
https://library.tu.ac.th
http://www.snc.lib.su.ac.th
https://library.kku.ac.th
http://library.cmu.ac.th
http://lib.ku.ac.th/web/index.php/th
https://clib.psu.ac.th/
พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น