แชร์ประสบการณ์ "พี่นินิว" เลือกคณะตามใจแม่ เรื่องจริงที่ ม.6 หลายบ้านต้องเจอ

          สวัสดีน้องๆ ชาว Dek-D ทุกคนค่ะ TCAS IDOL สัปดาห์นี้พี่มิ้นท์พามารู้จักพี่นินิว สาวน้อยจากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นวิทยาลัยที่มีน้องๆ สนใจเยอะมากกกก ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ก็ต้องยกให้เรื่องราวเมื่อครั้ง ม.6 ของพี่นินิว ที่น่าจะตรงกับชีวิตจริงของหลายบ้าน คือ ผู้ปกครองเลือกคณะให้ สุดท้ายไม่ได้ดราม่าอะไรนะคะ เพราะพี่นินิวเองก็ตกหลุมรักวิชาชีพนี้แล้ว เรื่องราวจะเป็นยังไง ไปอ่านต่อกันเลยค่ะ


 
เด็กสายวิทย์ที่เคยลังเลอยากไปคณะสายศิลป์
          ณัฐชา หงษ์สินสี หรือ พี่นินิว ปัจจุบันกำลังศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะพยาบาลศาสตร์ ว.พยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพฯ เข้าด้วยระบบรับตรงแอดมิชชั่นของวิทยาลัยโดยตรง
          ตอน ม.ปลาย พี่นินิวเรียนสายวิทย์-คณิต ซึ่งไม่แตกต่างจากเด็กสายวิทย์ทั่วไปที่เรียนสายวิทย์มาแต่ไม่รู้ว่าตัวเองอยากเรียนอะไรต่อ แต่ด้วยความที่ชอบอิสระ ชอบทำอะไรสนุกๆ อยากใช้ชีวิตแบบเป็นตัวของตัวเอง จึงมีความคิดที่อยากจะเรียนคณะนิเทศศาสตร์ คนละแนวกับที่เรียนมาเลย คิดแค่ว่าเข้านิเทศไปให้ได้ก่อน แล้วค่อยค้นหาตัวเองว่าอยากทำงานอะไร

สุดท้ายเลือกตามใจแม่
          แม้จะมีคณะในใจ (แบบยังไม่รู้ทิศทาง) คือนิเทศศาสตร์ แต่เมื่อใกล้เวลาที่ต้องสอบเข้าจริงๆ ลองถามตัวเองอยู่หลายครั้ง ก็กลัวว่าเรียนนิเทศแล้วจะไม่ใช่ตัวตนของเรา จนพ่อแม่เข้ามาช่วยดูให้
          ซึ่งตอนแรกที่คิดจะเรียนนิเทศพ่อแม่ก็ไม่ได้ห้าม แต่เมื่อถูกถามว่าจะทำงานอะไร เราให้คำตอบไม่ได้ ท่านเลยแนะนำให้หาวิชาชีพที่มีความมั่นคง หรือ สายวิทยาศาสตร์สุขภาพที่จะมาดูแลครอบครัวได้ คุณแม่จึงแนะนำคณะพยาบาลศาสตร์ ตอนนั้นไม่ได้คิดถึงคณะนี้เลย หรือพูดให้ถูกคือ เรียนอะไรก็ได้ ไม่มีความฝันเลยว่าจะต้องเป็นอะไร แต่เมื่อเรานึกถึงคุณพ่อคุณแม่ อยากดูแลท่านในอนาคตด้วย ตอนยื่นเข้ารับตรง จึงตัดสินใจเลือกพยาบาลของวิทยาลัยบรมราชชนนี และ กายภาพบำบัด มศว ไม่ได้เลือกนิเทศเลยสักที่เดียว ความรู้สึกตอนนั้นคือ ขอแค่ได้ทำเพื่อพ่อกับแม่ รู้สึกแบบนั้นจริงๆ สุดท้ายสอบติดทั้ง 2 ที่ เลือกไปสัมภาษณ์พยาบาล เพราะวิทยาลัยอยู่ใกล้บ้านด้วย
 

การปรับตัวครั้งใหญ่ ชีวิตเด็กหอที่วิทยาลัยพยาบาล
          เมื่อได้เข้ามาในวิทยาลัยแล้ว ต้องปรับตัวครั้งใหญ่เลย การใช้ชีวิตในวิทยาลัยพยาบาล ต่างจากมหาวิทยาลัยมาก เพราะวิทยาลัยจะมีกฎระเบียบค่อนข้างเคร่งกว่าการเรียนมหาวิทยาลัยทั่วไป เราก็ค่อยๆ ปรับตัวไป พอผ่านปีแรกไปแล้วก็รู้สึกว่าเราก็ทำได้
    
      นอกจากนี้ที่ชอบอีกอย่างคือ วิทยาลัยพยาบาลจะมีความเป็นครอบครัวสูงมาก คือ ดูแลเอาใจใส่กัน สามารถปรึกษากันได้ และยังช่วยสอนในเรื่องการทำหัตถการ ได้เรียนรู้ประสบการณ์การเรียนการขึ้นวอร์ดจากรุ่นพี่ เมื่อถึงเวลาที่เราต้องขึ้นวอร์ด ก็จะมีรุ่นพี่ในตระกูลของแต่ละคน ขึ้นไปช่วยดูแล อย่างวันแรกที่ขึ้นวอร์ด เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าชาร์ทผู้ป่วยในแต่ละหน้าคืออะไร มันเยอะมากๆ รุ่นพี่ก็จะช่วยอธิบายอุปกรณ์ในวอร์ด ชาร์ทผู้ป่วย แล้วยังช่วยน้องๆ แพลนงานด้วย

ชีวิตมีคุณค่ามากขึ้น เมื่อได้เรียนพยาบาล
          ความโชคดีของพี่นินิวคือ ต่อให้เลือกเรียน "พยาบาล" เพื่อคนอื่น แต่เรียนๆ ไปแล้วก็ตกหลุมรักในวิชาชีพนี้ได้ โดยเฉพาะการขึ้นวอร์ดเพื่อดูแลผู้ป่วย
          หน้าที่ของพยาบาล จะเปลี่ยนไปตามสภาพของผู้ป่วยตามวอร์ดต่างๆ ด้วย เช่น วอร์ดศัลย์ วอร์ดอายุรกรรม วอร์ดออร์โธปิดิกส์ วอร์ดยูโร เป็นต้น ในหนึ่งชั่วโมง เราจะได้เจอคนไข้ที่อาการแตกต่างกัน ทำให้เราต้องมีวิธีการดูแลคนไข้ที่ไม่เหมือนกัน ทำให้รู้สึกว่างานพยาบาลไม่ได้น่าเบื่อเลย มีอะไรที่ต้องเรียนรู้ และต้องทำงานด้วยความรอบคอบ และต้องคิดเอาใจเขามาใส่ใจเราตลอด
         

          แต่มีอยู่เคสนึงที่พี่นินิวประทับใจ วันนั้นได้รับมอบหมายให้ดูแลคุณลุงท่านนึง เป็นผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งไม่สามารถพูดได้เลยและยังมีภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจ จะมีเสมหะอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าอาการค่อนข้างหนักเลย ซึ่งตอนนั้นอยู่ปี2 พึ่งเคยขึ้นฝึกครั้งแรกก็ยังไม่ชำนาญกับการดูแลผู้ป่วยที่ใช้เครื่องหายใจ แต่มีอาจารย์คอยให้กำลังใจเป็นอย่างดีที่สำคัญคูณลุงก็ให้การร่วมมือดี อย่างที่บอกว่าคุณลุงไม่สามารถพูดได้เลย ต้องสื่อสารกันแบบภาษามือ เวลาเราพูด คุณลุงจะตอบเป็นภาษามือหรือท่าทางอื่นๆ เช่น กระพริบตา เป็นต้น
          ทำให้รู้สึกประทับใจตรงที่ว่า ต่อให้คุณลุงพูดไม่ได้ ก็ยังพยายามยิ้มให้กำลังใจเราตลอด ตอนหลังจึงมานั่งคิด การที่เราได้มาเรียนพยาบาล อย่างน้อยก็มีประโยชน์กับชีวิตของผู้อื่น ได้ต่อลมหายใจให้กับผู้ป่วย ซึ่งก่อนหน้านี้เราไม่เคยคิดเลยว่าชีวิตเราจะมีประโยชน์มากกับใครสักคนนึง ไม่เคยคิดว่าชีวิตเราจะทำให้ผู้อื่นมีความสุขได้ โดยที่เราไม่ได้รู้จักกัน

แนวคำถามที่อาจได้เจอในการสัมภาษณ์พยาบาล
          พี่นินิวสอบเข้าวิทยาลัยพยาบาลด้วยระบบการสอบตรง ซึ่งตอนนั้นยังไม่ใช่ TCAS แบบปัจจุบัน คะแนนที่ต้องใช้ก็จะมี O-NET GAT และ PAT 2 วิทยาศาสตร์ ซึ่งวิชา PAT 2 เป็นวิชาที่สำคัญมากสำหรับการสอบเข้าในกลุ่มคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ
          จะเรียกว่าได้มาเรียนที่นี่โดยบังเอิญก็ได้ เพราะหลังจากที่ยื่นคะแนนสอบทุกอย่างไปแล้ว พี่นินิวไม่ได้ตามข่าวต่อเลย ไม่รู้ตัวเลยว่าสอบติด จนวิทยาลัยโทรมาถามว่าจะไปสัมภาษณ์หรือเปล่า จึงตัดสินใจไปสัมภาษณ์ ในวันนั้นก็ได้เจอเพื่อนๆ จากโรงเรียนต่างๆ ได้รู้ว่าแต่ละคนก็เจอคำถามที่แตกต่างกันออกไป มีทั้งคำถามทั่วไปและคำถามที่เจาะลงไปเพื่อวัดทัศนคติและวัดด้านจิตวิทยาด้วย รวบรวมมาได้ประมาณนี้ น้องๆ ลองนำไปเตรียมตัวสอบได้
          1. ให้แนะนำตัวเป็นภาษาอังกฤษ
          2. ถ้าเกิดผลออกมาสัมภาษณ์ไม่ผ่าน จะเสียใจมั้ย
          3. ถ้าพยาบาลบนวอร์ดไม่พอ แต่วันนั้นเป็นหยุด จะเลือกไปเที่ยวกับครอบครัว หรือจะมาขึ้นวอร์ด
          4. ถ้าเป็นพยาบาล ขึ้นวอร์ดไปแล้ว และเจอญาติผู้ป่วยกีดกันไม่ให้เราเข้าไปรักษา จะทำยังไง จะเลิกทำหน้าที่ไปเลยหรือเปล่า
          ซึ่งข้อ 4 เป็นคำถามที่พี่นินิวจำขึ้นใจมากที่สุด ในวันนั้นก็ตอบยากพอสมควร เพราะเป็นคำถามเฉพาะหน้า ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน และวัดทัศนคติของเราได้ แต่ก็ตอบไปตามความจริง ณ ความรู้สึกวันนั้นคือ ไม่เลิกทำหน้าที่แน่นอน ก็จะถามเหตุผลก่อนว่าไม่อยากให้ดูแลเพราะอะไร บางครั้งอาจจะกลัวการรักษา เราก็จะต้องอธิบายให้ความรู้เกี่ยวกับโรคและการรักษาให้ญาติและผู้ป่วยเข้าใจ แล้วให้ญาติและผู้ป่วยคิดตัดสินใจร่วมกัน
 

เทคนิคการอ่านหนังสือสไตล์พี่นินิว
          สารภาพเลยว่าช่วงเตรียมตัวสอบไม่มีแผนอ่านหนังสือแบบคนอื่น แต่เราจะรู้แค่ว่าถ้าจะไปต่อด้านวิทย์ ก็จะต้องเน้น PAT 2 มากหน่อย ซึ่งการอ่านหนังสือของตนเอง จึงไม่เคร่งเครียดมาก
          1. ถ้าวันไหนได้อ่าน จะอ่านไปเรื่อยๆ เช้าถึงเย็น แต่เช้าในทีนี้ก็จะไม่ใช่ตี 3 ตี 4 เหมือนคนอื่น เพราะคิดว่าเราควรอ่านในช่วงเวลาที่เราพร้อม
          2. ไม่อ่านวิชาเดิมนานๆ จะอ่านวิชาละ 2-3 ชั่วโมง แล้วเปลี่ยนไปอ่านวิชาต่อไป วันใหม่ก็จะมาอ่านวิชาเดิม พักและเปลี่ยนวิชา แบบนี้ไปเรื่อยๆ
          3. วิชานึงจะอ่านหลายรอบ รอบแรกไม่ต้องเข้าใจมากก็ได้ อ่านให้ผ่านตา และเก็บรายละเอียดในรอบที่ 2-3  ซึ่งพี่นินิวชอบวิชาชีววิทยามากที่สุด ก็จะใช้วิธีอ่านแบบนี้เช่นเดียวกัน คือ ไม่จำเป็นต้องเข้าใจตั้งแต่รอบแรก แต่รอบต่อๆ เน้นว่าจะต้องอ่านแล้วเข้าใจให้ติดอยู่ในหัวเลย ไม่ใช่การอ่านแบบท่องจำ

"กายวิภาคศาสตร์" วิชาที่อยากแนะนำ
          วิชาพื้นฐานในพยาบาลศาสตร์ จะได้เรียนคล้ายกับวิทยาศาสตร์สุขภาพคณะอื่น ซึ่งวิชาที่อยากแนะนำให้น้องๆ รู้จักคือ "กายวิภาคศาสตร์" เป็นวิชาที่ตื่นเต้น และได้ทำความรู้จักกับร่างกายของเราว่ามันมหัศจรรย์มาก เปรียบเสมือนโรงงานขนาดใหญ่ที่ทำงานอย่างเป็นระบบระเบียบ ถ้าน้องๆ เข้ามาได้เรียน จะต้องภูมิใจที่ได้เรียนวิชานี้และสนุกไปกับมัน

เอาเวลาไปเหนื่อยกับสิ่งที่เราชอบดีกว่า
          "ถ้าอยากเข้าคณะอะไร อยากให้หาตัวเองให้เจอก่อน เพราะการเรียนมหาวิทยาลัยจริงๆ เป็นอะไรที่เหนื่อยมาก อย่าเอาชีวิตเราไปเหนื่อยกับอะไรที่เราไม่ชอบเลย น้องอาจจะไม่ได้โชคดีเหมือนพี่ ที่เข้ามาแล้ว แล้วจะชอบและรักสิ่งที่เรียน อยากให้ค้นหาตัวเองให้เจอจริงๆ ทุกคณะมีความยากแตกต่างกัน ดังนั้นเอาเวลาไปเหนื่อยกับสิ่งที่เราชอบดีกว่า"

 
     เรื่องราวสนุกๆ ของการเรียนคณะพยาบาลศาสตร์และคณะวิทย์สุขภาพอื่นๆ ยังไม่หมดเท่านี้ พี่นินิวและรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยต่างๆ จะมาบอกเล่าการเรียนคณะวิทย์สุขภาพ กลุ่มเคียงคู่หมอ เรื่องที่เข้าใจผิด แนวทางอาชีพในอนาคต รับประกันความเข้มข้น 5 ตุลาคมนี้ ที่ HALL EH 106 ไบเทค บางนา สนใจ คลิกเลย


 
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น