มารู้จัก 5 สาขาวิชาใน "คณะแพทยศาสตร์" ที่จบมาไม่ใช่หมอ แต่ยังอยู่ใน "วงการแพทย์" EP.1

     สวัสดีค่ะน้องๆ Dream campus สัปดาห์นี้ พี่แนนนี่จะพาน้องๆ ไปรู้จักกับกลุ่มสาขาในคณะแพทยศาสตร์ เพราะก่อนหน้านี้มีน้องๆ สอบถามเข้ามาเยอะมาก ว่าสาขาที่อยู่ในคณะแพทยฯ จบมาได้เป็น “หมอ” ไหม เรียนอะไรบ้าง จะได้เจอกับอะไรบ้าง
 

 
     แม้ว่าชื่อคณะจะเป็น “แพทยศาสตร์” แต่ก็ไม่ได้มีการเรียนการสอนแค่หลักสูตร “แพทยศาสตรบัณฑิต” อย่างเดียวเท่านั้น ยังมีการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่น่าสนใจอีก 5 สาขาวิชา ซึ่งในวันนี้ พี่แนนนี่จะพาน้องๆ ไปรู้จักกับ 3 สาขาวิชา อย่างสาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ สาขาวิชาความผิดปกติของการสื่อความหมาย และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพกันก่อนค่ะ
 
สาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์
เรียนอะไร?
     เรียนเกี่ยวกับการช่วยเหลือ และดูแลรักษาผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล ที่จุดเกิดเหตุ และนำส่งผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินด้วยรถพยาบาล อากาศยาน หรือพาหนะทางน้ำ ไปยังโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาต่อไป สามารถทำหัตถการในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลได้ใกล้เคียงกับแพทย์ เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจ การช็อคไฟฟ้าหัวใจในผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้น การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นสูง และการดูแลให้พ้นภาวะวิกฤต ก่อนที่จะนำกลับมาดูแลรักษาต่อที่โรงพยาบาล

"ไม่ใช่แค่การปฐมพยาบาล แต่เป็นการดูแลชั้นสูง ให้กับผู้ป่วยเพื่อให้พ้นวิกฤต และมีชีวิตรอด"
 
การเรียนแต่ละชั้นปี *แต่ละมหาวิทยาลัยจะแตกต่างกัน
ชั้นปีที่ 1
     เรียนวิชาพื้นฐานของมหาวิทยาลัย และวิชาพื้นฐานทั่วๆ ไป เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกกฤษ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา แล้วก็มีพวกกายวิภาคศาสตร์ (ได้เรียนกับส่วนอวัยวะต่างๆ กับร่างอาจารย์ใหญ่ แต่ไม่ได้ผ่า) การปฐมพยาบาลและดูแลลผู้ป่วยฉุกเฉินขั้นต้น ระบบการแพทยฉุกเฉิน
 
ชั้นปีที่ 2
     มีวิชาที่ปูพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ เช่น สรีรวิทยา (ระบบการทำงานของร่างกาย) พยาธิวิทยา (ความผิดปกติที่เกิดขึ้นของร่างกาย) เภสัชวิทยา (ยาแต่ละชนิด ออกฤทธิ์กับร่างกายอย่างไร) และวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ  เช่น การซักประวัติ และตรวจร่างกายผู้ป่วยฉุกเฉิน จรรยาบรรณวิชาชีพ หัตถการขั้นพื้นฐาน กฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข
 
ชั้นปีที่ 3
     เรียนวิชาการดูแลผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล (ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินจากภาวะต่างๆ ผู้ประสบอุบัติเหตุรูปแบบต่างๆ อุบัติเหตุทางรถยนต์ การตกจากที่สูง การถูกไฟฟ้าช็อต) การแปรผลคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (เพื่อดูความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจ) หัตถการขั้นสูงทางการแพทย์ (การใส่ท่อช่วยหายใจ การช็อคไฟฟ้าหัวใจ การเจาะระบายลมที่อยู่ในเยื่อหุ้มปอด เป็นต้น)
 
ชั้นปีที่ 4
     ได้เรียนรายวิชาที่ต่อเนื่องจากชั้นปีที่ 3 เช่น การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นสูงในผู้ใหญ่และในเด็ก การดูแลผู้เจ็บป่วยในสถานการณ์สาธารณภัย และฝึกปฏิบัติงานตามโรงพยาบาลต่างๆ
 
วุฒิการศึกษา และการทำงาน
     เมื่อเรียนจบจะได้รับวุฒิการศึกษา วิทยาศาสตรบัณฑิต (ปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์) หรือ Bachelor of Science (Emergency Medical Operation) และจะต้องไปสอบใบประกาศนียบัตรนักปฏิบัติการฉุกเฉินก่อนจะไปทำงาน หรือพูดง่ายๆ คือใบประกอบวิชาชีพนั่นแหละ ซึ่งดูแลโดยคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.)
 
     การทำงานหลักๆ คือ "นักปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน" หรือ "นักฉุกเฉินการแพทย์" (Paramedic) ทำหน้าที่เป็นบุคลากรที่ทำงานอยู่ในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ออกไปช่วยเหลือและดูแลรักษานอกโรงพยาบาล กับรถพยาบาล หรืออาจจะปฏิบัติงานในห้องอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน หรือปฏิบัติงานเป็นผู้จ่ายงานปฏิบัติการฉุกเฉิน (ใช้คำย่อว่า EDM) ในศูนย์รับแจ้งเหตุต่างๆ ของสถานพยาบาล
หรือ หน่วยปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐอื่น และภาคเอกชน

 
NOTE: นักปฏิบัติฉุกเฉินการแพทย์ หรือ นักฉุกเฉินการแพทย์ มีคำนำหน้าชื่อเช่นเดียวกับวิชาชีพทางการแพทย์อื่นๆ คือ นฉพ. แต่ถ้าเป็นนักศึกษาก็จะเป็น นศ.นฉพ.
 
แนวทางการศึกษาต่อ
     เมื่อเรียนจบชั้นปริญญาตรี สามารถเรียนต่อเฉพาะทางในต่างประเทศได้ เช่น การปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์วิกฤต (ดูแลผู้ป่วยหนัก) การปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์เด็ก การปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ที่ดูแลการขนย้ายผู้ป่วยทางอากาศยาน (ใช้เครื่องบิน/เฮลิคอปเตอร์) เป็นต้น แต่ในประเทศไทยตอนนี้ยังไม่หลักสูตรเฉพาะทาง แต่สามารถไปอบรมเพิ่มเติมได้ เช่น การขนย้ายผู้ป่วยทางอากาศ การกู้ชีพทางน้ำ

 
มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน
  • คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  • มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • มหาวิทยาลัยพะเยา
  • มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
     
สาขาวิชาความผิดปกติของการสื่อความหมาย
เรียนอะไร?
     เรียนเกี่ยวกับการแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย คือ แก้ไขการพูดและการได้ยิน ตั้งแต่การตรวจ การวินิจฉัย บำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพ ให้กับผู้ที่มีความผิดปกติทางด้านภาษา การพูด และการได้ยิน ซึ่งจะแบ่งเป็นสองวิชาเอก ได้แก่ แก้ไขการพูด และแก้ไขการได้ยิน
การแก้ไขการพูด : เรียนเกี่ยวกับ สาเหตุ วิธีการแก้ไขความผิดปกติต่างๆ ในเรื่องของการพูด เช่น มีสาเหตุมาจากเรื่องของระบบประสาทที่สั่งการอวัยวะที่ใช้ในการพูด การแก้ไขเสียงพูดที่ผิดปกติ อย่างเสียงแหบเสียง มีลมแทรก รวมไปถึงเรื่องของภาษาในเด็กที่มีพัฒนาการทางภาษาและการพูดล่าช้าที่อาจมีสาเหตุมาจากการกระตุ้น หรือมีสาเหตุมาจากโรค หรือซินโดรมที่เกี่ยวข้อง เช่น ออทิสติก บกพร่องทางสติปัญญา นอกจากนี้ก็ยังมีการแก้ไขการพูดไม่ชัด ติดอ่าง หรือผู้ป่วยที่เส้นเลือดในสมองแตก, สมองได้รับบาดเจ็บและกระทบมาถึงส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษาและการพูด
 
การแก้ไขการได้ยิน : เรียนเกี่ยวกับโรคหู คอ จมูกต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับการได้ยิน, การตรวจการได้ยินด้วยวิธีต่างๆ และการทำเครื่องช่วยฟังให้กับผู้ป่วย ซึ่งการทำเครื่องช่วยฟัง จะเป็นการทำงานร่วมกับบริษัทเครื่องช่วยฟัง โดยที่เราจะมีหน้าที่ทำพิมพ์หู เลือกเครื่อง ให้คำแนะนำ และปรับเครื่องให้เหมาะสมกับระดับการได้ยินของผู้ป่วย
 
มีเรียนเกี่ยวกับแพทย์ อย่างไรบ้าง?
     จะมีเรียนกับอาจารย์ใหญ่ แบบผ่ามาแล้ว ไม่ได้ลงมือผ่าเอง และมีเรียนเกี่ยวกับกายวิภาคศาสตร์ และสรีรวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการสื่อความหมายและระบบประสาท คือพวกสมอง หู อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูดต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การสื่อสารระหว่างคนสองคนพอพูดกัน การที่ผู้ฟังจะได้ยินเสียงต้องเข้าผ่านช่องทางไหนแล้ววิ่งเข้าไปประมวลผลที่ไหนแล้วไปตีความที่ไหนในสมองแล้วสั่งการให้ตอบโต้กลับอย่างไร ค่อนข้างละเอียด
 
การเรียนแต่ละชั้นปี
ชั้นปีที่ 1
     เรียนวิชาพื้นฐานของมหาวิทยาลัย เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย เรียนวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป เช่น คณิตศาสตร์ ชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ สถิติศาสตร์ กายวิภาคศาสตร์ เป็นต้น
 
ชั้นปีที่ 2
     เรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับตัวคณะมากขึ้น เช่น สรีรวิทยา จิตวิทยา กายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการพูดและการได้ยิน ฟิสิกส์ของเสียง รวมไปถึงพวกสัทศาสตร์ ภาษาศาสตร์ด้วย นอกจากนี้จะมีเรียนวิชาที่เกี่ยวกับการทำงานมากขึ้น เช่น หลักการประเมินความผิดปกติที่เกี่ยวกับการพูด โรคหูคอจมูก โรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของการสื่อความหมาย พูดไม่ชัด หลักการของโสตสัมผัสวิทยา เป็นต้น
 
ชั้นปีที่ 3
     เรียนวิชา practicum หรือเรียกง่ายๆ ว่า ฝึกงาน จะได้ใส่ชุดกาวน์สั้น และเจอคนไข้จริงๆ ช่วงแรกจะเป็นการ observation การฝึกและทำรายงาน และเริ่มได้ฝึกกับคนไข้เองในช่วงท้ายเทอม ส่วนในเทอมที่ 2 จะเริ่มเลือกวิชาเอก และแยกกันเรียนวิชาที่เฉพาะมากขึ้น เช่น เอกแก้ไขการพูดเรียนเกี่ยวกับออทิสติก ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา การบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning disability) ส่วนเอกแก้ไขการได้ยิน จะเรียนเรื่องจองการตรวจการได้ยินแบบพิเศษ การอนุรักษ์การได้ยิน
 
ชั้นปีที่ 4
     ได้เรียนวิชาเกี่ยวกับกฎหมายวิชาชีพ และวิชาที่เฉพาะแต่ละเอก เช่น ความผิดปกติของการสื่อความหมายด้านระบบประสาท การตรวจคลื่นไฟฟ้าของระบบประสาทการได้ยินครับ ส่วนในเรื่องของการปฏิบัติส่วนใหญ่ หรือฝึกงาน ก็จะไม่มี staff คอยช่วยแล้ว ต้องวางแผน และดูแลคนไข้เองทั้ง session แต่จะมีอาจารย์ และ Staff คอยช่วยดูห่างๆ
 
NOTE: ทุกคนจะได้เรียนวิชาพื้นฐานทั้งเอกแก้ไขการได้ยิน และการพูด ไม่ว่าจะเรียนจบเอกแก้ไขการพูด หรือ เอกแก้ไขการได้ยิน ก็ยังสามารถตรวจการได้ยินแบบเบื้องต้นๆ ได้ หรือ  ถ้าจบเอกแก้ไขการได้ยินมาก็ยังสามารถฝึกพูดในกรณีที่มีความซับซ้อนไม่มากได้เหมือนกัน เป็นยังไงล่ะ ! น่าสนใจใช่มั้ย
 
วุฒิการศึกษา และการทำงาน
     เมื่อเรียนจบจากสาขานี้จะได้รับวุฒิการศึกษา วิทยาศาสตรบัณฑิต (ความผิดปกติของการสื่อความหมาย) หรือ Bachelor of Science (Communication Disorders) ส่วนการทำงานจะแยกส่วนตามที่เรียนมา
 
เอกแก้ไขการพูด ส่วนมากจะทำงานในโรงพยาบาล ฝึกพูดและกระตุ้นพัฒนาการให้กับผู้ป่วยที่มีพัฒนาการทางภาษาและการพูดล่าช้าและผู้ป่วยอื่นๆ เช่น พูดไม่ชัด เสียงผิดปกติ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการพูดที่มาจากระบบประสาท ส่วนใหญ่ก็จะทำงานร่วมกับแพทย์พัฒนาการเด็ก หูคอจมูก แล้วก็เวชศาสตร์ฟื้นฟูครับ หรือบางคนก็ทำงานในคลินิก ทั้งเปิดคลินิกเอง หรือทำในคลินิกของคนอื่น
 
เอกแก้ไขการได้ยิน ก็จะทำได้ทั้งในโรงพยาบาล และในบริษัทเครื่องช่วยฟัง การทำงานในรพ. จะมีทั้งตรวจการได้ยินในผู้ใหญ่ ตรวจการทำงานของหูชั้นใน - หูชั้นกลาง ตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิด ตรวจการได้ยินระดับก้านสมอง การให้บริการเครื่องช่วยฟัง (ให้คำแนะนำ) ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับแต่ละรพ. ว่ามีเครื่องมือพร้อมมากน้อยแค่ไหน ส่วนของบริษัทเครื่องช่วยฟัง จะเน้นไปที่การให้บริการด้านเครื่องช่วยฟัง ทั้งการลองเครื่อง และการปรับเครื่องรุ่นต่างๆ โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ให้เหมาะสมกับคนไข้แต่ละคน อาจมีการออกหน่วยลงพื้นที่เพื่อตรวจการได้ยิน หรือตรวจการได้ยินตามรพ.ด้วย
 
มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน
  • คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

     
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ
เรียนอะไร
     เรียนเกี่ยวกับกระบวนการวิเคราะห์ หาความสัมพันธ์ จัดเก็บข้อมูลประเภทต่างๆ โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สุขภาพ พูดง่ายๆ เป็นการบูรณาการ 3 ศาสตร์หลักๆ เข้าด้วยกัน ได้แก่ วิทยาการคอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์-สถิติ และสาธารณสุข-สุขภาพ 
 
การเรียนแต่ละชั้นปี
     เนื่องจากเป็นหลักสูตรร่วม ก็จะมีเรียนวิชาพื้นฐาน และกลุ่มวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และเรียนวิชาทางด้านสุขภาพที่ ราชวิทยาลัยเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์
 
ชั้นปีที่ 1
     เรียนวิชาพื้นฐาน เช่น คณิตศาสตร์ แคลคูลัส ชีววิทยา ฟิสิกส์ ภาษาอังกฤษ ส่วนวิชาที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชา การเขียนโปรแกรมพื้นฐาน คณิตศาสตร์ดิสครีต กายวิภาคศาสตร์และระบบต่างๆ ของร่างกาย จริยธรรมในการวิจัยทางการแพทย์และข้อมูลสุขภาพ
 
ชั้นปีที่ 2
     เรียนวิชาที่เกี่ยวกับระบบฐานข้อมูล (Database) ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) การคัดกรองข้อมูลทางธุรกิจ ชีวสถิติ หลักการวินิจฉัยทางคลินิกและการรักษา โรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อ พันธุศาสตร์ระดับโมเลกุลพื้นฐาน
 
ชั้นปีที่ 3
     ได้เรียนวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูล การออกแบบการทดลอง การจัดการการบริการสุขภาพและเศรษฐศาสตร์สุขภาพ สัมมนาหัวข้อวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลส่วนบุคคลและความปลอดภัยข้อมูล และมีเรียนบูรณาการการเรียนและการทำงาน หรือฝึกงาน
 
ชั้นปีที่ 4
     ทำงานวิจัย (Project) และเรียนวิชาเลือกเสรี
 
NOTE : ได้ใส่ชุดนักศึกษาของทั้ง 2 สถาบัน และเป็นสาขาที่เปิดใหม่ มีนักศึกษาเพียง 2 ชั้นปี (61-62)
 
วุฒิการศึกษา และการทำงาน
     เมื่อจบการศึกษาแล้วจะได้รับวุฒิการศึกษา วิทยาศาสตรบัณฑิต (วิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ) หรือ Bachelor of Science (Health Data Science) ส่วนหน้าที่การทำงานสามารถเป็นได้ทั้ง
นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักระบาดวิทยา นักวิเคราะห์ข้อมูล นักพัฒนาซอฟต์แวร์และระบบข้อมูล ผู้จัดการซอฟต์แวร์และข้อมูล หรือนักวิชาการคอมพิวเตอร์

 
มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน
  • ราชวิทยาลัยเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ (ร่วมมือกับม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี)

     
     นับเป็นอีกกลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพที่น่าสนใจไม่น้อยเลยล่ะค่ะ สำหรับพี่ๆ น้องๆ คนไหนที่เคยเรึยนในสาขาเหล่านี้ สามารถเล่าประสบการณ์การเรียนการทำงานสนุกๆ ให้น้องๆ ฟังได้ที่คอมเมนท์เลยนะคะ แล้วครั้งหน้า พี่แนนนี่จะพาน้องๆ ไปรู้จักกับ 2 สาขาวิชา 3 หลักสูตรที่เหลืออยู่ รอติดตามนะคะ
พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น