มารู้จัก! สาขา “Packaging” ม.เกษตรฯ สาขาที่ใช้ทั้งวิทย์และศิลป์ โอกาสทำงานสูง อนาคตไกล

สวัสดีค่ะ วันนี้พี่แป้งจะพาน้องๆ ไปรู้จักอีกหนึ่งสาขาที่น่าสนใจมาก คือ สาขาเทคโนโลยีการบรรจุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ซึ่งปีนี้ครบรอบ 40 ปีแล้วค่ะ กว่า 40 ปีที่ผ่านมา สาขานี้มีเรื่องราวอะไรที่น่าสนใจบ้าง ไปติดตามพร้อมกันเลย
 

"Packaging" เรียนอะไร
สาขา "Packaging" หรือชื่อเต็มๆ ว่า สาขาเทคโนโลยีการบรรจุ (Packaging Technology) เป็นสาขาที่เปิดสอนโดยภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ ซึ่งเน้นการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ สนับสนุนการคิด วิเคราะห์และการลงมือปฏิบัติจริง  

สำหรับเนื้อหาการเรียนการสอนในสาขา Packaging ครอบคลุมตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุ การใช้งานของวัสดุแต่ละประเภท การแปรรูปบรรจุภัณฑ์จากวัสดุแต่ละประเภทให้เหมาะสมกับชนิดของผลิตภัณฑ์หรือสินค้า ตลอดจนถึงการออกแบบทั้งด้านโครงสร้าง การใช้งาน และความสวยงาม เพื่อให้ได้บรรจุภัณฑ์ที่ดีที่สุด และสามารถทำหน้าที่เป็น silent salesman สร้างมูลค่าและแบรนด์ทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์หรือสินค้าได้มากที่สุด  

 

วัสดุที่ใช้ในปัจจุบัน เช่น พลาสติก, กระดาษ, แก้ว, โลหะ แค่ส่วนของพลาสติก ก็สามารถแบ่งได้หลายชนิด แต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติแตกต่างกัน นี่ยังไม่รวมถึงพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพและพลาสติกรีไซเคิลที่กำลังเป็นวัสดุทางเลือกเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม

การเรียนในสาขา Packaging น้องๆ จะสามารถเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ได้บรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพเหมาะสม สามารถคุ้มครอง ปกป้องผลิตภัณฑ์ได้ และที่สำคัญที่สุด บรรจุภัณฑ์ต้องสามารถนำไปผลิตในอุตสาหกรรมได้จริง และไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม


เจาะลึกแต่ละชั้นปี
สาขา Packaging มีการเรียนที่ผสมผสานหลายศาสตร์หลายวิชา ทั้งในเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การออกแบบ การตลาด และการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ โดยแบ่งเนื้อหาเป็น 3 กลุ่มวิชา ได้แก่

1.วัสดุบรรจุและการขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์ เรียนรู้คุณสมบัติ ประเภทของวัสดุ และกระบวนการขึ้นรูปเพื่อเป็นบรรจุภัณฑ์

2.การใช้งานบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สอดคล้องกับระบบการบรรจุ ประเภทของสินค้า การขนส่ง โลจิสติกส์ การขายปลีก การค้ายุคใหม่ E-commerce เป็นต้น

3.การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ที่ออกแบบทั้งโครงสร้างและกราฟฟิก ต้องทั้งสวยงาม อำนวยความสะดวกผู้บริโภค ทำหน้าที่ในการปกป้องและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าด้วย

ทั้ง 3 กลุ่มวิชาจะเข้าไปแทรกการเรียนการสอนในแต่ละชั้นปี โดยแต่ละชั้นปีจะมีการเรียนหลักๆ ดังนี้

 

ชั้นปีที่ 1
ในปีแรกจะได้เรียนวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ แคลคูลัส หลักสถิติ ส่วนวิชาภาคฯ จะเป็นวิชาหลักการทางเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ ที่จะสอนให้น้องๆ เห็นทิศทางว่าสาขานี้เรียนอะไร จบไปทำงานอะไรได้บ้าง ซึ่งวิชานี้จะเน้นแบบ Activity Based เป็นการสอนโดยใช้กิจกรรมและการถ่ายทอดประสบการณ์จากรุ่นพี่ที่ทำงานในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์

ชั้นปีที่ 2
เมื่อขึ้นปี 2 จะเน้นลงลึกวิชาในสาขามากขึ้น เริ่มเรียน Packaging ในส่วนของวัสดุชนิดต่างๆ ประกอบไปด้วย แก้ว กระดาษ พลาสติก และโลหะ และเจาะลึกไปอีกว่า วัสดุแต่ละชนิดมีคุณสมบัติอย่างไร มีการใช้งานอย่างไร และผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทต้องใช้วัสดุแบบไหน

ชั้นปีที่ 3
ปี 3 จะเรียนกระบวนการผลิตและการใช้งานบรรจุภัณฑ์ การคิดสร้างสรรค์ทำบรรจุภัณฑ์ให้เป็นชิ้นงานออกมา รวมไปถึงการใช้งานบรรจุภัณฑ์ด้วย เช่น การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ระบบโลจิสติกส์ ต้นทุนการผลิต เป็นต้น ถ้าใครไม่มีพื้นฐานการออกแบบเลย ก็สามารถเรียนได้เพราะทางภาควิชาฯจะปูพื้นฐานใหม่ทั้งหมด

ในช่วงปี 3 เทอมปลาย (ซัมเมอร์) จะเป็นช่วงที่น้องๆ ไปฝึกงาน โดยภาควิชาฯจะมีลิสต์ของผู้ประกอบการที่เป็นพันธมิตรกันอยู่ สามารถเลือกได้ว่าจะฝึกงานในหรือต่างประเทศ และในช่วงนี้ก็จะมีนักศึกษาชาวต่างชาติมาเรียนที่ภาควิชาฯ ด้วยเช่นกัน


ชั้นปีที่ 4
ชั้นปีสุดท้ายจะเป็นการเรียนเก็บรายละเอียดของเนื้อหาด้านต่างๆ อาทิ ระบบและเครื่องจักรในการบรรจุ การบรรจุในอุตสาหกรรมอาหาร เทคโนโลยีการพิมพ์ภาชนะบรรจุ และมาตรฐานและกฎระเบียบทางการบรรจุ รวมถึงไปศึกษาดูงานในอุตสาหกรรม เพื่อเสริมจุดแข็งของน้องๆ มากยิ่งขึ้น
 

ภาพกิจกรรมการเรียนการสอนปฏิบัติการพิมพ์สกรีน (Screen Printing)

นอกจากนี้น้องๆ จะได้ทำโครงงาน โดยใช้ความรู้ที่ได้เรียนมาตลอดสี่ปี ร่วมกับประสบการณ์ที่มาจากการฝึกงาน สร้างสรรค์ต่อยอดผลงานนวัตการทางการบรรจุ และพร้อมที่จะทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมผลิตวัสดุทางการบรรจุ อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมผลิตอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมผลิตเครื่องสำอางและยา และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ เป็นต้น

เรียนตั้งแต่ "ต้นน้ำ" ถึง "ปลายน้ำ"
สาขา Packaging ไม่ได้เรียนแค่การออกแบบเพื่อความสวยงาม แต่เป็นการเรียนตั้งแต่ "ต้นน้ำ" ถึง "ปลายน้ำ" เริ่มตั้งแต่ต้องรู้ว่าใช้วัสดุแบบไหน จนไปถึงการออกแบบที่ต้องมีเรื่องฟังก์ชั่นการใช้งานที่ตอบโจทย์กับผู้บริโภค ความสวยงามที่ดึงดูดความสนใจ ภายใต้เงื่อนไขที่สามารถผลิตได้จริง โดยที่ต้องสามารถควบคุมต้นทุนได้ และ Packaging ที่ผลิตออกมานั้น ต้องเอื้ออำนวยต่อการขนส่ง ไม่ทำให้สินค้าเสียหายอีกด้วย

เน้นทั้งวิทย์และศิลป์
นอกจากจะเก่งด้านวิชาการ มีความรู้ที่จะสามารถนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการบรรจุไปใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เข้มแข็งขึ้นแล้ว น้องๆ จะได้ทักษะทาง soft skill สำหรับการทำงานในอนาคต เมื่อเริ่มทำงานจะก้าวหน้าได้เร็วและก้าวได้ไกลมาก น้องๆ จะได้ฝึกศิลปะในการสื่อสาร การนำเสนอผลงาน ความเป็นผู้นำ กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก ทักษะเหล่านี้เป็นที่ต้องการอย่างมากในปัจจุบัน  

ทางภาควิชาฯ เน้นการทำกิจกรรม ฝึกให้น้องๆ กล้าคิดอย่างสร้างสรรค์ และนำเสนอโครงงานใหม่ๆ โดยภาควิชาฯพร้อมที่จะสนับสนุนเต็มที่ ในทุกๆ ปีจะมีการส่งนิสิตเข้าประกวดผลงานทั้งระดับชาติและนานาชาติ เพื่อเป็นการฝึกการทำงานของนิสิต และเสริมประสบการณ์จริงด้านต่างๆ นอกจากด้านวิชาการอีกด้วย

 

นิสิตภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ นำเสนอผลงานในงาน
“29th IAPRI Symposium on Packaging 2019” ณ University of Twente ประเทศเนเธอร์แลนด์

แนวทางการทำ Portfolio
Portfolio ที่ยื่นสมัครในสาขา Packaging จะเน้นดูระบบการทำงาน กระบวนการต่างๆ ที่น้องๆ ได้ทำงาน ผ่านโครงงานวิทยาศาสตร์ที่เคยทำในระดับชั้น ม.ปลาย ถ้าเป็นโครงงานวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับการสร้างหรือการพัฒนาบรรจุภัณฑ์จะดีมาก

ถ้าน้องๆ สนใจอยากลองทำผลงาน สามารถติดต่อมาทางภาควิชาฯได้เลย ทางภาควิชาฯพร้อมสนับสนุนทั้งการทำผลงาน การเปิดให้ดูงานในวิชาที่สนใจ เพื่อทำเป็น Portfolio หรือจะเรียนรู้ผ่านโครงการ KU เรียนล่วงหน้า ที่ให้น้องๆ เข้ามาเรียนก่อน ถ้าเกรดถึงตามที่กำหนด ก็สามารถยื่นเข้าสาขา Packaging ได้เลย


สายงานที่สามารถทำได้
เรียนสาขา Packaging สามารถทำงานได้กว้างมาก ลองคิดดูก็จะพบว่า ไม่มีอุตสาหกรรมไหนเลยที่ไม่มีการใช้บรรจุภัณฑ์ ในทุกผลิตภัณฑ์จะต้องมีบรรจุภัณฑ์ สายงานนี้เป็นได้ทั้งนักพัฒนาบรรจุภัณฑ์, นักจัดการบรรจุภัณฑ์, นักวิเคราะห์วัสดุสำหรับบรรจุภัณฑ์, นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ขายปลีกและบรรจุภัณฑ์สำหรับขนส่ง, นักพัฒนาเทคโนโลยีทางการบรรจุ รวมถึงพนักงานขายและประกอบธุรกิจส่วนตัวได้อีกด้วย

หลังจากเรียนจบ น้องๆ จะมีโอกาสเข้าทำงานได้หลากหลายองค์กรและส่วนงาน ทั้งการผลิต การนำเข้า-ส่งออกบรรจุภัณฑ์ รวมถึงบริษัทผู้ใช้ บอกเลยว่า เป็นสายงานที่ก้าวหน้าไว ถ้าน้องมีความมุ่งมั่น และพัฒนาทักษะที่ได้ร่ำเรียนมาทั้งศาสตร์และศิลป์ ก็สามารถทำเงินเดือนหลักแสนและมีประสบการณ์การทำงานได้ไม่ยากเลย!

 

หนังสั้นฉลองครบรอบ 40 ปี
ในโอกาสที่คณะอุตสาหกรรมเกษตร ครบรอบ 40 ปี ทางภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 สาขา ได้จัดทำวิดีโอเพื่อให้น้องๆ และผู้ปกครอง หรือบุคคลทั่วไป ได้เข้าใจว่าการเรียนในสาขา Packaging เป็นอย่างไร โดยเสนอในรูปแบบหนังสั้น ที่มีการดำเนินเรื่องโดย 4 ตัวละครหลัก คือ แพค อิง พิ้งค์ และนัท ซึ่งเป็นนิสิตที่กำลังเรียนในสาขานี้

บอกเลยว่า เป็นหนังสั้นที่เข้าถึงวัยรุ่นมากๆ เพราะเป็นเรื่องราวของหนุ่มสาว โดยจะมีการแทรกเนื้อหาด้าน Packaging โดยนักแสดงก็เป็นนิสิตที่กำลังเรียนในสาขา Packaging และศิษย์เก่าที่จบไปทำงานแล้ว รวมถึงอาจารย์และเจ้าหน้าที่ด้วย ซึ่งทุกคนมีความเข้าใจในตัวสาขาอยู่แล้ว ทำให้สามารถถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้ง่ายขึ้น รอติดตามกันได้ช่วงต้นเดือน ก.พ. นี้ค่ะ

 

จากการที่พี่แป้งได้ไปที่ภาควิชาฯ มา รับประกันเลยว่า สาขา “Packaging” ม.เกษตรฯ มีการเรียนการสอนและกิจกรรมจัดเต็มแน่นอนค่ะ มีห้องเรียนพร้อมและเครื่องมือที่ทันสมัยมากๆ น้องๆ สามารถออกแบบงานและขึ้นรูปก่อนได้โดยใช้เครื่อง 3D Printing และเมื่อเรียนด้านวัสดุก็สามารถขึ้นชิ้นงานจริงและนำไปใช้จริงได้เลย และน้องๆ ที่สนใจเรียนต่อในระดับปริญญาโท ก็สามารถเข้าโปรแกรมเรียนหลักสูตรปริญญาตรีควบโทได้ตอนที่ศึกษาในชั้นปีที่ 4 ได้เลย

สำหรับน้องๆ ที่สนใจ อยากรู้เพิ่มเติม สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียด ดูผลงานและกิจกรรมต่างๆ ของภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ ได้ที่
http://packagingkasetsart.com/ นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดหลักสูตรให้น้องๆ ได้ศึกษาก่อนที่จะเลือกเรียน สาขา “Packaging” มีเปิดรับใน TCAS 63 ในรอบ 2-4 ด้วยค่ะ เตรียมตัวได้เลย!

 

Clip

START เริ่มแรกก็รักเลย

พี่แป้ง
พี่แป้ง - Columnist นักข่าวสายรับตรง พร้อมเสิร์ฟข่าวสอบเข้าทุกมหา'ลัย เติมพลังได้จากชาเย็นหวานน้อย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

phanloppannak Member 20 ก.พ. 63 11:40 น. 1

อันนี้น่าสนใจอย่างดีเลย ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัตถุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน อันนี้เกี่ยวกับการบรรจุผลิตภัณฑ์ การออกแบบสินค้าทางด้านเกษตร อันนี้เหมาะมากสำหรับเด็กม.6 เด็กวิทย์หัวใจศิลป์ และนักเรียน ปวช.อาชีวศึกษา แผนกวิชาอุตสาหกรรมเกษตร ในพื้นที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีด้วยนะครับ

0
กำลังโหลด

4 ความคิดเห็น

phanloppannak Member 20 ก.พ. 63 11:40 น. 1

อันนี้น่าสนใจอย่างดีเลย ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัตถุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน อันนี้เกี่ยวกับการบรรจุผลิตภัณฑ์ การออกแบบสินค้าทางด้านเกษตร อันนี้เหมาะมากสำหรับเด็กม.6 เด็กวิทย์หัวใจศิลป์ และนักเรียน ปวช.อาชีวศึกษา แผนกวิชาอุตสาหกรรมเกษตร ในพื้นที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีด้วยนะครับ

0
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
Noomkung 22 มี.ค. 63 12:06 น. 3

Packaging ทำงานได้หลากหลายสาขามาก อีกทั้งเทคโนโลยีก็เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เป็นที่ต้องการทั้งตลาดแรงงานโรงงานใหญ่ไปจนถึง SMEเลยทีเดียว

0
กำลังโหลด
ggggggg 8 เม.ย. 63 15:25 น. 4

ผิดที่การวางแนวทางแต่แรกนะ ถ้ายังคงความเป้นสถาบันราชภัฏผลิดครูแบบเดิม ก็มีชื่อเสียงเป้นที่ยอมรับ แต่นี่ต่างพากันสถาปนาตัวเองเป็นมหาวิทยาลัย พยายามอุ้มศักดิ์ศรีฐานะของมหาวิทยาลัย ด้วยการเปิดสอนคณะอื่นๆ แล้วก็ได้แต่เด็กที่ไม่เก่งมาเรียน ครูก็สอนแบบจับฉ่ายไปวันๆ ไม่ให้กันตก รึรีไท มันก็เปนวงจรวนมาทำร้ายตัวเองไปเรื่อยๆ มันผิดที่ผู้ใหญ่ เหนแก่ประโยชน์ส่วนตนของพวกพ้อง เอาคำว่า เพื่อโอกาสทางการศึกษามาอ้าง จิงๆแล้วล้วนทำเพราะเงินเพราะตำแหน่งตัวเองเฉยๆเปิดหลักสูตรมั่วๆแล้วหลอกเด็กไปเรียน เด็ก 18 19ปีมันยังไม่รู้ประสีประสาหรอก สิ่งที่ถูกต้องที่สุดคือ ราชภัฏไม่ความเป้นมหาลัย ปล่อยให้การเรียนมหาลัยเป้นการสอบแข่งขันกันเข้าแบบแต่ก่อน ใครสอบไม่ได้ก็ไม่ต้องเรียน คนที่จะเรียนได้คือคนที่มีความรู้ความสามารถจิงๆ คำว่าปริญญาถึงจะศักดิ์สิทธิ์ เหมือน40-50ปีก่อนที่ใครจบปริญญาได้งานดีๆ แต่ด้วยกลยุทธ์ของราาชภัฏ มเอกชน ราาชมงคล ที่เน้นปริมาณเพื่อเงินล่อเลี้ยง มหาลัยตัวเอง ได้ทำการเปิดโรงงานผลิต ใบปริญญา เกรดจีนแดง ออกมาเป้นจำนวนมาก คนเรียนยังเด็กเขาไม่รู้ไม่ผิดหรอก ที่ผิดคือพวกแก่ๆที่เหนแก่ได้ นี่ละ ที่ทำเรื่องพวกนี้ขึ้นมา จนนำมาสู่เรื่องราวทุกวันนี้

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด