เจาะลึก "รับน้องข้ามฟาก" ประเพณีสุดอบอุ่นฉบับหมอศิริราช "เมื่อก้าวขึ้นท่า เจ้ากับข้าพี่น้องกัน"


 
            สวัสดีค่ะน้องๆ ถ้าพูดถึงประเพณีการรับน้องแล้ว หลายคนคงจะนึกถึงกิจกรรมต่างๆ ในช่วงปี 1 ตอนเป็นเฟรชชี่หน้าใสกันใช่ไหมล่ะคะ แต่น้องๆ ทราบไหมคะว่า มีอยู่คณะนึง ที่จะจัดกิจกรรมรับน้องกันตอนชั้นปี 2....แล้วคณะที่กำลังพูดถึงอยู่นั่นก็คือ "คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต" กับ "ประเพณีรับน้องข้ามฟาก" ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกๆ ปี วันนี้จะพาไปดูกันว่า การรับน้องแบบฉบับหมอๆ จะเป็นอย่างไร
 

 
เรื่องนี้ มีที่มา...
                   ประเพณีรับน้องข้ามฟาก เป็นประเพณีต้อนรับน้องใหม่ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่สืบทอดกันมานาน  พี่ๆ   นักศึกษาแพทย์ ชั้นที่ปี 6 จะจัดกิจกรรม ให้กับนักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 2 ที่ย้ายเข้ามาเรียนในขอบเขตของโรงพยาบาลศิริราช เป็นปีแรก หลังจากที่ตอนปี 1 เรียนอยู่ที่ศาลายา ร่วมกับเพื่อนๆ คณะอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยน้องๆ จะนั่งเรือข้ามฟาก จากอีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อข้ามมายังท่าน้ำของโรงพยาบาลศิริราช
            ....แต่ประเพณีการรับน้องข้ามฟาก ไม่ได้มีแค่เพียงการนั่งเรือข้ามฝั่งเท่านั้น วันนี้ "พี่มีน" กิตติธัช โซวิกุล และ "พี่เกน" ชุติกาญจน์ ปรีชาบริสุทธิ์กุล นักศึกษาแพทย์ปี 4  และ ปี 6  นักแสดงนำจากเรื่อง "รักน้องข้ามฟาก เดอะซีรีส์"    จะมาเล่าถึงประเพณีนี้ แบบที่เรียกได้ว่า รู้ลึก รู้จริง ครบทุกซอกทุกมุมแน่นอนค่ะ
 

 
ก่อนข้ามฟาก ต้องอบรม!
            พี่มีน-กิตติธัช เล่าให้ฟังว่า "รับน้องข้ามฟาก เป็นกิจกรรมที่เน้นเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง ทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน รวมถึงการถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆ ซึ่งก่อนที่จะถึงวันรับน้องข้ามฟาก หรือวันที่ต้องข้ามเรือกัน น้องๆ จะมีกิจกรรมอีกอันที่เรียกว่า อบรม ก็คือกิจกรรมที่น้องๆ จะได้รับฟังประสบการณ์ต่างๆ จากรุ่นพี่ จากอาจารย์นั่นแหละ แบ่งเป็น 2 แบบ คือ อบรมย่อย กับอบรมใหญ่
            "อบรมย่อย" จะเป็นกิจกรรมกลุ่ม ที่รุ่นพี่จัดให้น้องปี 2 อาจจะเป็นพี่ปี 3-4-5-6 คล้ายๆ กับ talk show บ้าง หรือบางทีก็เป็นเกม เป็นกิจกรรมต่างๆ ให้เล่นกัน แต่ก็จะสอดแทรกอะไรบางอย่างลงไป ซึ่งอบรมย่อยเนี่ย จะมีกี่วัน กี่ชั่วโมงก็ได้ อิสระ อย่างรุ่นผมมี 3 - 4 วันเลย
            "ส่วนอบรมใหญ่" จะเป็นกิจกรรมคืนก่อนวันข้ามฟาก เป็น talk show มีอาจารย์ มีรุ่นพี่ศิษย์เก่าที่เป็นแพทย์แล้ว สลับหมุนเวียนกันมาเล่าประสบการณ์  หรือให้คำแนะนำ ให้แรงบันดาลใจ โดยจะเริ่มประมาณ 5 โมง ยาวๆ ไปจนถึง เที่ยงคืน (มีบางปีก็ตี 1 ตี 2)  จากนั้นน้องๆ ปี 2 ทุกคน ก็จะกระจายตัว ไปนอนตามห้องของรุ่นพี่  หรือสายรหัส  ทั้งนักศึกษาชาย และนักศึกษาหญิงเลย และรุ่งเช้าก็จะเป็นวัน D-Day วันรับน้องข้ามฟาก
 

 
            พี่เกน-ชุติกาญจน์ เสริมว่า "เป็นทั้งกิจกรรมต้อนรับน้องใหม่ และกิจกรรมเสริมความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่ รุ่นน้อง และสายรหัส คือแรกเริ่มมีแค่ประเพณีรับน้องข้ามฟาก  เป็นแบบรับจากฝั่งนู้น ฝั่งพระนครมาฝั่งนี้ ฝั่งรพ. จริงๆ   เพราะตามประวัติของคณะ เคยเรียนที่จุฬาฯ ก่อนจะมาเป็นที่มหิดล แล้วตอนนั้นพี่ๆ ก็แบบพายเรือแจว ข้ามกันมา ไม่ใช่เรือเครื่อง หรือเรือข้ามฟากเหมือนทุกวันนี้
            ส่วน "อบรมข้ามฟาก" เหมือนจะเพิ่งเริ่มได้ไม่นานมาก ซึ่งก็มีจุดประสงค์ที่ดี  รุ่นพี่ปีสูงๆ จะมาคุย มาอธิบายว่าควรปฏิบัติตนยังไง การเรียน การทำงานเป็นยังไง มาเล่าประสบการณ์ของนักศึกษาแพทย์ให้น้องๆ ฟัง อย่างอบรมย่อย ก็มีพัฒนาการมาเยอะเหมือนกัน ปีแรกๆ นะ ก็เป็นการนั่งฟังอย่างเดียว นิ่งๆ   ดูจริงจังมากๆ  พอยุคสมัยเปลี่ยน หลังๆ รูปแบบกิจกรรมก็สนุกๆ มากขึ้น ผ่อนคลายมากขึ้น แต่ก็ยังแทรกสาระ เล่าประสบการณ์เหมือนกัน
 

 
D-Day "วันรับน้องข้ามฟาก"
            พี่เกน เล่าต่อว่า "เช้าวันนั้นก็มีรุ่นพี่ไล่ปลุกน้องๆ ด้วยเพลง Hail ที่เป็นเพลงประจำของเรา จากนั้นก็ให้ไปอาบน้ำ แต่งตัว แล้วลงไปเข้าแถวใต้หอ เพื่อเตรียมตัวไปตักบาตร ระหว่างนั้นก็จะมี Hail สลับกันระหว่างรุ่นพี่ รุ่นน้องไปเรื่อยๆ จนกว่าน้องจะมาครบ พอตักบาตรเรียบร้อย ก็จะเดินทางไปขึ้นเรือข้ามฟาก ที่ท่าราชนาวีสโมสร  แต่ปีของน้องมีน ท่าราชนาวีฯ น่าจะไม่ว่าง เลยได้ไปข้ามที่ท่ามหาราช  ส่วนการเดินทางไปท่าน้ำฝั่งนั้น ก็นั่งบัสข้ามไปก่อน  แต่ก็มีบางปีข้ามเรือไป ซึ่งวันนั้นน่านน้ำเจ้าพระยา ก็จะเป็นของพวกเรา (หัวเราะ)"
 
            พี่มีน เล่าเสริม "ระหว่างทางที่ข้ามมา ก็จะมีพี่ๆ มีคอยเอนเตอร์เทนให้ พอใกล้จะถึงฝั่ง อันที่จริงก็ตั้งแต่กลางแม่น้ำแล้ว เราก็จะร้องเพลง Hail ไปเรื่อยๆ พอถึงโป๊ะฝั่ง รพ.ศิริราช  ก็จะมีรุ่นพี่ อาจารย์ มาคอยต้อนรับ โดยคนแรกที่จับมือน้องๆ ขึ้นจากเรือ ก็คือ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งก่อนหน้านี้จะเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ฯ"
 

 
            พี่เกน เล่าต่อ "อีกไฮไลท์นึงที่สำคัญ คือ หลังจากที่ขึ้นจากท่าน้ำ คือจะมีขบวนรุ่นพี่รอต้อนรับน้องๆ ตลอดเส้นทาง แล้วก็จะมีรุ่นพี่ที่ห่างกัน 30 รุ่น จัดของที่ระลึกมามอบให้กับน้องๆ แต่ละปีก็จะแตกต่างกันออกไป อย่างเช่น สร้อยพระราชบิดา หมวก หรือ wristband เป็นต้น หลังจากที่รับของแล้ว ก็จะมีฐานของรุ่นพี่เล่นกับน้องแบบกรุบกริบ บางปีจะมีกิจกรรม "เช็ดหน้าน้อง" ให้พี่ๆ สายรหัสมาเช็ดหน้าเช็ดตาให้น้อง (บางปีก็ยกกิจกรรมนี้ไปไว้ช่วงบ่าย) ก่อนที่จะเข้าไปสู่ช่วงพิธีการ ถวายสัตย์ปฎิญาณ และสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ในหลวงรัชกาลที่ 9 สมเด็จย่า และในหลวงรัชกาลที่ 5 และต่อด้วยพิธีบายศรีสู่ขวัญ"
 

 
            พี่มีน เสริม "หลังจากเสร็จกิจกรรมที่เป็นพิธีการ ในช่วงบ่ายก็จะเป็นกิจกรรมฐาน ที่รุ่นพี่ทั้งศิษย์ปัจจุบัน และศิษย์เก่า ร่วมใจกันจัดฐาน  ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณหอชาย-คณะพยาบาลศาสตร์ โดยน้องๆ ก็จะถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ เวียนฐานกันไปจนถึงช่วงเย็นๆ จึงแยกย้ายกันไปอาบน้ำแต่งตัว ซึ่งก่อนแยกนี่ล่ะ ที่บางปีจะเป็นกิจกรรมเช็ดหน้าน้อง"
 
กินเลี้ยงสังสรรค์ กระชับมิตร
            พี่เกน บอกว่า "พออาบน้ำเรียบร้อย ก็จะเป็นงานเลี้ยงเล็กๆ น้อยๆ แต่ระหว่างนั้นก็มีกิจกรรมส่วนกลางบนเวที ให้น้องๆ แลกของ และทำความรู้จักกัน ซึ่งในส่วนนี้ รุ่นพี่ปี 3-4 จะเป็นคนจัดเตรียมของชิ้นเล็กๆ ที่ใช้งานได้จริง อย่างพวก ดินสอ ปากกา แฟ้ม  แล้วก็ถุงให้กับน้อง จากนั้นจะพาน้องๆ เดินวนไป บรรดาพี่รหัสก็เดินตาม ยกไปทั้งสาย ใครเจอเพื่อนใคร ก็จะแนะนำพี่ แนะนำน้องให้รู้จักกัน แต่งานนี้น้องปี 2 คุ้ม! ได้ของกลับไปเต็มถุงเลย"
 
จากใจพี่...
            พี่มีน: งานนี้เป็นงานที่ดี ได้เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง ทั้งสนุก ทั้งได้รับความรัก ความอบอุ่นเต็มที่ แถมยังได้ฟังอะไรดีดี ประสบการณ์ต่างๆ จากรุ่นพี่ จากอาจารย์  ก็สามารถเอาเป็นแนวทาง หรือเป็นบทเรียนในการเรียน การทำงานหมอได้ แล้วก็ยังได้กำลังใจ และมีแรงผลักดันในการเป็นแพทย์ที่ดีต่อไปด้วย
            พี่เกน: ความรู้สึกถึงกิจกรรมนี้ ถ้าในฐานะรุ่นน้อง จะรู้สึกหึกเฮิม แล้วก็อุ่นใจ รู้สึกว่ามีคนคอยซัพพอร์ต คอยสนับสนุน แบบจะไม่โดนทอดทิ้ง ไม่โดดเดี่ยว แต่ในฐานะรุ่นพี่ นอกจากจะได้เจอน้องใหม่แล้ว ยังได้เจอเพื่อนๆ พี่ๆ ที่ไม่ค่อยได้เจอกัน เหมือนเป็นวันรวมญาติดีดีนี่เอง นอกจากนั้นเราจะรู้สึกขนลุกกับกิจกรรมนี้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะตอนถวายสัตย์ฯ เหมือนเราได้ผ่านสิ่งเหล่านั้นมาบ้างเลยเข้าใจมากขึ้น...แต่ก็อย่างว่า ใครจะเล่า ใครจะบอกความรู้สึกขนาดไหน ก็ไม่เท่ามาเจอกับตัวหรอก!
 

 
เรื่องน่ารู้!
            การทักทายของนักศึกษาแพทย์ รวมถึงแพทย์ และอาจารย์แพทย์ ในรั้วศิริราช จะไม่ใช่การยกมือไหว้ แต่จะเป็นการโค้งศีรษะเล็กน้อยเท่านั้น

 
            เป็นยังไงบ้างคะ พี่มีน และพี่เกน เล่าให้ฟังแบบทุกซอกทุกมุมจริงๆ นอกจากจะเป็นนักศึกษาแพทย์กันแล้ว ใครอยากรู้เรื่องการเรียนของคณะแพทยฯ ศิริราช มากขึ้น ก็สามารถดู "รักน้องข้ามฟาก เดอะซีรีส์" ย้อนหลังได้นะคะ

 
ขอบคุณรูปภาพจาก
พี่มีน-พี่เกน และ รักน้องข้ามฟาก เดอะซีรีส์
พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น