เปิดใจ "ยิม" 3 ปีที่รอคอย ได้ใส่ชุดนิสิตตามเพศสภาพคนแรกของคณะพลศึกษา

ประเด็นเรื่องการแต่งกายข้ามเพศในสถาบันการศึกษาเป็นที่พูดถึงกันในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เพราะหลายสถาบันเริ่มอนุญาตให้นิสิตนักศึกษาสามารถแต่งกายตามเพศสภาวะของตัวเองได้อย่างเป็นทางการแล้ว แต่เบื้องหลังกว่าที่นิสิตนักศึกษาหนึ่งคนจะสามารถใส่ชุดนิสิตหญิงได้นั้นก็ไม่ได้มากันได้ง่ายๆ ต้องผ่านการเรียกร้องสิทธิ ซึ่งใช้เวลาหลายปีเลยทีเดียว

หนึ่งในนั้นก็คือ น้องยิม จักรกฤษ นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิชาสุขศึกษา หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต คณะพลศึกษา มหาวิทยาศรีนครินทรวิโรฒ ที่เพิ่งได้รับการอนุมัติให้ใส่ชุดนิสิตเพศหญิงได้ โดยใช้เวลากว่า 3 ปีในการดำเนินเรื่องขออนุญาตแต่งชุดนิสิตหญิง วันนี้น้องยิมจะมาเปิดใจและเล่าให้ทีมงานเด็กดีฟังค่ะ  

การใส่ชุดนิสิตชาย ไม่ใช่ความทุกข์กาย แต่มันคือความทุกข์ใจ

ยิม เล่าให้ฟังว่า ยิมมีพื้นฐานการแต่งหญิงมาตั้งแต่เด็กแล้ว เราอยู่ในความเป็นเพศหญิงโดยตลอด แม้กระทั่งเสื้อผ้า เครื่องสำอางเป็นเพศหญิงหมดเลย พอพ้นมัธยม ได้เข้ามหาวิทยาลัยที่แรกก็ได้แต่งกายเพศทางเลือกแล้ว หลังจากนั้นเราก็ซิ่วมาเข้าที่ใหม่ ในวันสัมภาษณ์ อาจารย์ได้แจ้งกฎระเบียบเรื่องทรงผมให้ไว้ผมสั้น ยิมก็ได้ตัดทรงรองทรง แต่เป็นชุดเครื่องกายหญิงที่ถูกระเบียบ

ช่วงแรกของการมาเรียน ก็จะมีทั้งวิชาที่เราสามารถแต่งชุดนิสิตหญิงได้ แต่หลายวิชาก็ไม่สามารถใส่เข้าไปเรียนได้ ทำให้เราต้องมี 2 ชุดคือ ชุดนิสิตหญิงและชาย เพื่อใส่สลับเข้าเรียน เหมือนทุกวันเราจะต้องคอยเช็กตารางสอนว่าวันนี้มีเรียนอะไร บางวันตอนเช้าใส่ชุดนิสิตหญิง ตอนบ่ายมีเรียนวิชาที่ใส่ชุดนิสิตหญิงไม่ได้ ก็จะต้องกลับไปเปลี่ยนชุดนิสิตชาย ซึ่งมันไม่ใช่แค่เรื่องของเครื่องแบบภายนอก แต่เราต้องเก็บทรงให้เป็นผู้ชายทั้งหมด ทั้งเรื่องทรงผม ที่ต้องซื้อวิกรองทรงมาใส่ และเรื่องของหน้าอกที่ต้องเก็บให้มีความเป็นเพศชาย มันมีความลำบากอยู่ตรงนั้น หากถามว่าแล้วทำไมเราถึงไม่ยอมแต่งชุดชายไปตลอด ก็เพราะเราก็คือคนหนึ่งที่ต้องการแต่งกายตามเพศสภาพของตนเอง มันเป็นสิทธิ์ที่เราควรมี แต่เราก็ต้องปรับตัวตามกฎระเบียบของสถานที่ที่เราอยู่ด้วย จึงอาจจะมีความลำบากมากกว่าคนอื่น  

"มันต้องมีวิธีการที่ทำให้เราไม่เป็นแบบนี้" ความคิดสู่การเปลี่ยนแปลง

เราต้องมีเรียนในคณะทุกเทอมทุกปี เรารู้สึกว่าการที่เราไม่สามารถแต่งเข้าไปเรียนได้ มันทำให้เรามีความไม่สบายกายและใจเกิดขึ้น ตอนนั้นรู้สึกว่ามันไม่ได้ มันต้องมีวิธีการที่เราจะต้องไม่เป็นแบบนี้ กว่าที่จะกล้าลุกขึ้นทำอะไรสักอย่าง ตอนนั้นก็อยู่ปี 3 แล้ว  จนกระทั่งได้โทรศัพท์ติดต่อผ่านองค์กรหนึ่งที่ช่วยเหลือเรื่องเพศสภาพ และก็ได้แนวทางการขอแต่งกายอีกครั้ง

เริ่มจากการไปปรึกษามหาวิทยาลัยก่อน ไปดูข้อบังคับว่าด้วยกฎระเบียบเครื่องแต่งกายจากส่วนกิจการนิสิต จากนั้นก็คัดออกมาเพื่อดูว่ากฎระเบียบของมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร และไปติดต่อคณะ แจ้งความประสงค์ว่าเป็นนิสิตที่ต้องการแต่งกายตามเพศสภาพ ซึ่งตอนนั้นเราไม่มีข้อมูลว่ามีใครเคยมาขอหรือไม่ แต่เราต้องการมาขอเพราะเรารู้สึกว่าเราเป็นเพศหญิงแล้ว และนิสิตหลักสูตรอื่นก็สามารถแต่งได้แล้ว  

ครั้งแรกที่มาดำเนินการ พี่ๆ เจ้าหน้าที่ก็ได้บอกว่าต้องเข้าที่ประชุมก่อน เพราะเป็นหลักสูตรครู 5 ปี ซึ่งจะต้องผ่านทั้งคณะ หลักสูตร ไปจนถึงโรงเรียนฝึกสอนว่าจะอนุญาตหรือไม่ ผลปรากฏว่าไม่ได้รับการอนุมัติ โดยเหตุผลส่วนหนึ่งคือ โรงเรียนในตารางที่จะฝึกสอนยังไม่มีที่ไหนรับเพศที่สาม

ในตอนนั้นก็ทั้งรู้สึกเสียใจและหมดกำลังใจ แต่ก็มีอาจารย์ที่ให้แนะนำ ให้ไปหาโรงเรียนฝึกสอนเองแล้วแจ้งกลับมาที่คณะเพื่อให้คณะดำเนินการให้อีกครั้ง เพราะในขั้นตอนการอนุมัติ ต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย แต่ปัญหาต่อมา คือ ปีที่แล้วมีปัญหาโควิด ทำให้ทุกอย่างดูช้าและมีขั้นตอนที่ยากมากขึ้น เนื่องจากได้โรงเรียนฝึกสอนมาแล้ว แต่ต้องกลับมาทำเรื่องที่มหาวิทยาลัย รวมทั้งการขอใบรับรองแพทย์ ซึ่งเป็นช่วงโควิดทำให้เราเดินทางข้ามจังหวัดลำบากขึ้น

เอกสารต่างๆ ที่ต้องยื่นทำเรื่องเพื่อขอแต่งกายตามเพศสภาวะ
เอกสารต่างๆ ที่ต้องยื่นทำเรื่องเพื่อขอแต่งกายตามเพศสภาวะ

ใบรับรองแพทย์เพื่อยืนยันความเป็นเพศสภาวะ "หญิง"

ใบรับรองแพทย์เป็นเอกสารอย่างหนึ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ว่าต้องใช้ด้วย จะต้องออกโดยศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งการตรวจไม่ใช่แค่การตรวจร่างกายเท่านั้น แต่ต้องผ่านการทดสอบต่างๆ เช่น การเขียน การวาดภาพ การสัมภาษณ์ปากเปล่าจากจิตแพทย์ และนำไปประเมินผ่านโปรแกรม ใช้เวลาร่วม 3 เดือนถึงจะได้รับใบรับรองแพทย์นั้นมา เราต้องลุ้นทุกสัปดาห์ว่าผลการทดสอบจะผ่านหรือไม่ เพราะมีผลต่อการอนุมัติการใส่ชุดนิสิตหญิงของเรา  

ซึ่งตอนเราที่เรารอ ก็มีความคิดที่จะถอยอยู่เหมือนกัน เพราะนี่ก็ปี 4 เทอม 2 แล้ว กลั้นใจอีกแค่ปีกว่าๆ ก็จะผ่านแล้ว แต่ในเรื่องจิตใจเรารู้ตัวว่ามันไม่ได้แฮปปี้เลย จึงตัดสินใจสู้ต่อ จนเมื่อได้ใบรับรองแพทย์มาแล้ว ก็เลยยื่นคำร้องต่อคณะ ซึ่งขั้นตอนนั้นจะต้องผ่านทั้งที่ปรึกษา คณบดี หัวภาควิชา หลังยื่นไปก็ไม่ได้คาดหวัง และในที่สุดก็ได้รับหนังสืออนุมัติมาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงแบบไม่มีเงื่อนไข

หลังจากได้รับหนังสืออนุมัติให้สามารถใส่ชุดนิสิตตามเพศสภาพได้ รู้สึกดีใจมากและมีความคิดที่อยากผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง ตอนนี้ได้ปรึกษาสภานิสิต อยากให้หยิบเรื่องของยิมเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะยังมีนิสิตคนอื่นๆ ที่ยังไม่สามารถแต่งกายตามเพศสภาวะได้ อาจเพราะยังไม่มีข้อมูล ยังไม่รู้ขั้นตอน 

ซึ่งการที่เราผ่านจุดนี้มาได้ มันมีขั้นตอนค่อนข้างเยอะ จึงอยากผลักดันให้การเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่ยุ่งยากหรือมีเงื่อนไขใดๆ เลย เพราะส่วนตัวมองว่า เรื่องการแต่งกายตามเพศสภาพ มันไม่น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดผลในทางที่ไม่ดี อยากให้สังคมเปิดโอกาส เพราะทุกคนที่เป็น LGBT ก็ควรมีสิทธิไม่ต่างจากเพศอื่นๆ และที่สำคัญพวกเราก็สามารถสร้างผลงานให้กับคณะและสังคมได้เช่นกัน

 

แม้ว่ามหาวิทยาลัยหลายแห่งจะเริ่มเปิดโอกาสให้แต่งกายตามเพศสภาพมากขึ้นแล้วในปัจจุบัน แต่เรื่องราวของน้องยิ้มก็เป็นอีกก้าวสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในสถาบันการศึกษาที่ทำให้เราได้เห็นมุมมอง ความคิด ขั้นตอนต่างๆ หลังจากนี้ก็ขอเป็นกำลังใจให้น้องยิ้มได้ทำความฝันอื่นๆ ต่อไปค่ะ

 

พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

มัณทนา [สวัสดีวันสิ้นโลก] Member 17 มี.ค. 64 14:34 น. 1

บางทีก็อยากใส่กางเกงกับรองเท้าแตะเข้าสอบนะ

เรากับผู้หญิงบางคนไม่ชอบใส่กระโปรงก็มีนะคะ

เหมือนตอนที่ไปสอบท้องถิ่นกับสอบข้าราชการกทม.

สองสนามสอบนี้ประกาศให้ใส่กางเกงขายาวสีดำกับรองเท้าแตะเข้าสอบ

ปกติเวลาอยู่บ้านกับออกไปข้างนอก เราก็ใส่กางเกงกับรองเท้าแตะอยู่แล้ว

ยกเว้น ตอนที่มีความจำเป็นจริงๆอย่างไปสมัครงานกับสัมภาษณ์งาน

จะใส่กระโปรง กางเกงขายาวหรือกางเกงยีนส์ขายาวกับรองเท้าผ้าใบหรือรองเท้าหุ้มส้น

ตอนออกไปออกกำลังกายกับเล่นกีฬาจะใส่กางเกางขายาว กางเกงกีฬา และรองเท้าผ้าใบ


ตอนเราไปสอบ ก.พ. ภาค ก. ยังบังคับให้ใส่กระโปรงกับรองเท้าหุ้มส้นไปสอบอยู่เลย

ปีที่แล้วเจอผู้หญิงคนหนึ่งใส่กางเกงขายาวสีดำมาสอบด้วย สอบสนามเดียวกับเรานี่แหละ

และไม่รู้ว่าโดนไล่ออกจากสนามสอบเหรอปล่า

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด