"พี่บี๋" รัฐศาสตร์ มธ. แนะเทคนิค โควตาพลเมืองจิตอาสา ผลงานอะไรก็ยื่นได้ถ้าตีความ "จิตอาสา" ได้

 สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D หากพูดถึงความน่าสนใจของรอบโควตา ก็คงเป็นรอบที่น้องๆ สามารถใช้ความสามารถของตัวเอง ผสมผสานกับทักษะความรู้ที่มีอยู่เพื่อนำคะแนนไปยื่นเข้าคณะหรือมหาวิทยาลัยที่ต้องการได้ นั่นหมายความว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเรียนเก่งที่หนึ่งของห้อง ก็สามารถสอบติดในคณะที่ใฝ่ฝันได้ หากมีความโดดเด่นในด้านอื่นๆ

หนึ่งในโควตาที่เป็นที่สนใจทุกๆ ปีก็คือ โควตานักเรียนพลเมืองจิตอาสา ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กำลังเปิดรับสมัครจนถึง 18 มีนาคม 2564 นี้ โดยปีนี้ เปิดรับมากถึง 22 คณะ 84 ที่นั่ง เหมาะกับน้องๆ ที่ทำกิจกรรมอยู่แล้วหรือมีความเป็นจิตอาสาอยู่ในตัว หากสำรวจตัวเองแล้วว่าคุณสมบัติครบ ก็มาลองยื่นกันได้นะคะ ที่สำคัญวันนี้พี่มิ้นท์มีรุ่นพี่โปรไฟล์ดี มาแนะนำ บอกเล่าเทคนิค ของการสมัครในโครงการนี้ด้วยค่ะ

แนะนำสักนิด โครงการนักเรียนพลเมืองจิตอาสา คืออะไร

โครงการรับนักเรียนพลเมืองจิตอาสา เป็นโครงการรับตรงรอบโควตา ที่ส่งเสริมความเข้มแข็งด้านจิตอาสาและประชาธิปไตยของนักเรียน โดยในปี 2564 เปิดรับทั้งหมด 22 คณะ 82 สาขา รวมจำนวน 84 ที่นั่ง เน้นคุณสมบัติผู้สมัคร จะต้องเป็นผู้ที่ทำกิจกรรมด้านพลเมืองจิตอาสาในโรงเรียนหรือนอกโรงเรียน มี GPAX ไม่ต่ำกว่า 3.00 มีคะแนน O-NET รวมไม่ต่ำกว่า 175 คะแนน และ GAT ไม่ต่ำกว่า 150 คะแนน รายละเอียดอื่นๆ ดูเพิ่มเติมได้ที่ คลิก

ทำความรู้จัก "พี่บี๋" นักกิจกรรมตัวยง ที่สนใจการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

พี่บี๋ คุณากร ตันติจินดา ปัจจุบันเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะรัฐศาสตร์ สาขาการระหว่างประเทศ ม.ธรรมศาสตร์ ปกติเป็นคนชอบธรรมกิจกรรมตั้งแต่ช่วง ม.ปลาย ตอนอยู่ ม.6 ก็ได้ศึกษาเรื่องการสอบเข้าระบบ TCAS ก็เห็นว่าโครงการนี้ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง เหมือนเป็นประตูหนึ่งที่ทำให้เราเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยได้จากกิจกรรมที่เราทำ ก็เลยตัดสินใจยื่น โดยใช้ผลงานที่เราเป็นประธานนักเรียนและผลโครงงานการประกวดอีกหนึ่งอย่าง ตอนแรกที่ยื่นมาโครงการนี้ก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะสอบติด ส่วนหนึ่งเพราะวางแผนไปถึงรอบ 3 และ 4 ที่ใช้คะแนนสอบเข้าทั่วไป  

ในปี 63 โครงการนี้มีคณะที่เปิดรับหลายสาขาเช่นกัน แต่เลือกสมัครรัฐศาสตร์ เพราะเป็นศาสตร์ที่ค่อนข้างกว้าง ส่วนตัวเป็นคนที่สนใจเกี่ยวกับการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอยู่แล้ว ซึ่งมองว่าในการเข้าใจในศาสตร์ทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาจจะเป็นอีกหนึ่งทักษะที่จำเป็นในอนาคต เช่น ฟังข่าวแล้วเราเข้าใจว่าโลกเปลี่ยนไปในทิศทางไหน และเราจะปรับตัวเพื่อรับมืออย่างไร ก็น่าจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจในโลกวันข้างหน้า นอกจากนี้ ม.ธรรมศาสตร์ ยังสามารถเลือกเรียนวิชาโทที่เราสนใจได้ เช่น บริหาร นิติศาสตร์ เป็นต้น ก็ช่วยสร้างทักษะและองค์ความรู้อย่างอื่นได้เหมือนกัน

ปัจจุบันพี่บี๋เป็นพิธีกรคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ MC singhadang
ปัจจุบันพี่บี๋เป็นพิธีกรคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ MC singhadang

คิดอย่างไรกับโควตาพลเมืองจิตอาสา

 ที่ผ่านมาการศึกษาไทย มักให้คุณค่ากับเด็กที่มีผลการเรียนดี แต่ผมรู้สึกว่าโครงการนี้มันแตกต่าง อย่างที่ได้บอกไปข้างต้นแล้วว่า โควตานี้เป็นอีกประตูหนึ่งที่ทำให้เด็กไทยสามารถใช้ทักษะและกิจกรรมของตนเองเข้ามหาวิทยาลัยได้ ให้โอกาสกับเด็กที่อาจจะไม่ได้มีผลการเรียนที่ดีที่สุดในห้อง แต่มีความสามารถในด้านอื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมและประเทศ รวมถึงการทำประโยชน์เพื่อคนอื่นๆ ในสังคม ตรงนี้เป็นจุดที่ควรจะส่งเสริมให้เยาวชนที่มีทักษะแบบนี้ได้มีที่เรียนเช่นกัน เพราะถึงเขาจะไม่ได้เก่งวิชาการที่สุด แต่เขามีทักษะที่จะช่วยเหลือสังคม

การตีความ "พลเมืองจิตอาสา" กับผลงานที่ใช้ยื่น

ตอนที่ยื่นโครงการนี้ พี่บี๋ได้ใช้ผลงาน 2 อย่างคือ  

1. ประธานนักเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย  
               2. ชนะการแข่งขันเสนอโครงการพัฒนาประเทศ active tech citizenship จัดโดยคณะกรรมธิการพัฒนาการเมืองรัฐสภา ซึ่งโครงการพัฒนาประเทศ active tech citizenship เป็นโครงการที่ให้นักเรียนเข้าร่วมและเสนอแนวทางในการรวบรวมปัญหาและส่งตรงปัญหาไปถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจโดยการใช้เทคโนโลยี  

พี่บี๋กับประธานนักเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
พี่บี๋กับประธานนักเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

คำว่า "จิตอาสา" มันอยู่ที่การตีดวามของแต่ละคน แต่ตัวผมมองว่า จิตอาสา คือ "การทำประโยชน์เพื่อคนอื่น" ผลงานที่ผมเลือกยื่นประกอบการสมัครเข้าไป เป็นโปรเจคที่ชนะเลิศจากการนำเสนอเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาสังคม โดยเสนอต่อรัฐสภา 

โปรเจคดังกล่าวเป็นการทำ Application เพื่อลดความยุ่งเหยิงของระบบราชการไทย ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับข้อมูล Big data,  Ai และ machine learning ไอเดียของผมจะทำแอปฯ ที่เชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้ไว้เพื่อลดความซับซ้อนยาวนานและยุ่งเหยิงของการทำงานในภาครัฐ เช่น ทำให้หน่วยงานได้รู้ว่าประชาชนในพื้นที่มีปัญหาอะไรอยู่บ้างในชีวิตประจำวัน และสรุปได้ว่าใน 1 เดือน มีปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขเท่าไหร่ ได้รับการแก้ไขไปกี่เปอร์เซ็นต์ สามารถติดตามผลงานของนักการเมืองในพื้นที่ว่าสามารถแก้ไขปัญหาให้ประชาชนไปได้มากน้อยเท่าไหร่ เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งต่อไป รวมถึงสามารถนำไปวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึกได้ เช่น หากมีถนนเส้นหนึ่งต้องซ่อมหลายครั้งในรอบปี ก็จะไปหาสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไร และหาวิธีแก้ไขในระยะยาว

พี่บี๋เสนอโครงการพัฒนาประเทศ active tech citizenship
พี่บี๋เสนอโครงการพัฒนาประเทศ active tech citizenship

ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ถูกนำไปใช้จริง แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เราได้คิดและได้ลงมือทำ รวมถึงได้รับคำชมจากผู้ใหญ่ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ได้เห็นว่าผู้ใหญ่ได้หันกลับมามองและยอมรับไอเดียของเด็กรุ่นใหม่มากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ ในการกล้าที่จะคิดและปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆ เพื่อสังคม  

ต้องใช้รูปภาพประกอบด้วย ใช้แบบไหนดีนะ?

พี่แนะนำว่า เป็นรูปภาพที่เห็นถึงการลงมือทำงานจริงๆ อาจเป็นรูประหว่างการทำงาน เพราะความตั้งใจ การใส่ใจในการทำงาน มันสามารถดูได้จากรูปภาพที่เราทำ  ส่วนเรื่องการเขียนเรียงความตามโจทย์ที่มีให้ ก็ขึ้นอยู่กับการตีความก่อนว่า จิตอาสาคืออะไร ซึ่งแต่ละคนก็จะให้นิยามที่แตกต่างกัน ซึ่งถ้าเราเขียนถึงนิยามก่อนว่า ทำไมเราถึงนิยามจิตอาสาแบบนี้ ทำไมเราถึงเลือกโครงการแบบนี้มา มันเชื่อมโยงอย่างไรกับนิยามของเรา มันก็น่าจะเป็นการเขียนที่ตรงประเด็น

มีผลงานน้อย กับ มีผลงานแต่ไม่โดดเด่น สมัครได้มั้ย

ถ้าถามว่าสมัครได้หรือไม่ ก็สมัครได้ เพราะความจริงแล้วจิตอาสาเป็นเรื่องง่ายๆ ที่เราทำอยู่ทุกวัน แค่เราเดินผ่านคนหนึ่งคนแล้วช่วยเขาเก็บของ สิ่งนี้ก็เรียกว่าเป็นจิตอาสาแล้ว ประเด็นก็คือ เราจะตีความและนำเสนอออกมาอย่างไร นั่นแปลว่า ทุกคนต้องเคยทำอะไรกันมาบ้าง ให้ลองตีความจากผลงานที่ตัวเองมีอยู่หรือกำลังทำอยู่ และดูว่าสิ่งที่ทำมีผลกระทบต่อสังคมอย่างไร เปลี่ยนชีวิตของคนในสังคมได้หรือไม่ พี่เชื่อการทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้  

กลุ่มคนที่ผลงานไม่ได้โดดเด่นมาก ก็จะคล้ายๆ กัน แต่ละคนอาจจะมีประสบการณ์การทำงานที่เหมือนหรือต่างจากคนอื่นก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือการให้คุณค่ากับมัน ถ้าเรารู้สึกว่ามันเป็นประโยชน์กับคนอื่น มันเป็นจิตอาสาจริงๆ มันก็จะสะท้อนความคิดของเราได้จริงๆ แปลว่า เราต้องดึงจุดเด่นออกมาด้วยการสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจิตอาสา มากกว่าการไปพูดถึงความยิ่งใหญ่ของผลงานที่เราทำ

แสดงตัวตนในค่ายให้เต็มที่

เมื่อน้องๆ ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกมาแล้ว ก็จะมีการเข้าค่ายเพื่อคัดเลือกผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษาอีกที ภาพรวมของการเข้าค่าย จะเป็นการติดตามและดูการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของผู้สมัครแต่ละคน เพราะในใบสมัครหรือ Portfolio ทุกคนสามารถเตรียมการมาได้ ดังนั้นการเข้าค่ายจะทำให้กรรมการได้เห็นตัวตนของผู้สมัครจริงๆ ว่าเป็นอย่าง รวมถึงแนวคิดต่างๆ เพราะค่ายนี้น้องๆ จะไม่รู้มาก่อนว่าในค่ายมีอะไร ทำให้ทุกคนต้องแสดงตัวตนของตัวเองออกมา

สำหรับค่ายในปี 2564  จะออกมาในรูปแบบไหน กำลังอยูในช่วงพิจารณาตามสถานการณ์ปัจจุบัน และจะมีการประกาศให้ทราบอีกครั้ง

ฝากถึงน้องๆ ม.ปลาย กับการเตรียมตัวสอบ

สำหรับน้องๆ ม.6 รุ่นนี้ เป็นโค้งสุดท้ายของการเตรียมตัวสอบ ปีนี้สถานการณ์ไม่ปกติ อาจทำให้ความสุขกับการอยู่กับเพื่อนๆ หายไป หรือ การเรียนที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบไป ขอให้น้องๆ ก้าวผ่านมันมาได้ และตอนนี้คงต้องโฟกัสถึงอนาคตของตัวเอง พี่เชื่อว่าน้องๆ ก็น่าจะได้เตรียมตัวกันอย่างเต็มที่แล้ว ในอนาคตการสมัครแต่ละรอบจะเป็นอย่างไรก็ขอให้ทำให้เต็มที่ หากผิดหวังก็อย่าจมกับมัน เพราะเราอาจจะเจอเป้าหมายที่ตรงกับเรามากกว่า หากมีโอกาสอะไรมา อย่าปิดกั้นตัวเองครับ หรือ ถ้าเป็นคนทำกิจกรรม ก็แนะนำให้ลองยื่นโครงการพลเมืองจิตอาสา รอบ 2 โควตา ของ ม.ธรรมศาสตร์ เพราะเป็นรอบที่น้องๆ สามารถนำประสบการณ์ของตัวเองมาสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้

ส่วนน้องๆ ม.4-5 กิจกรรมอาสาไม่ได้อยู่แค่ในโรงเรียน นอกโรงเรียนยังมีกิจกรรมค่ายอาสาอยู่เยอะมากๆ แนะนำให้ออกไปเก็บประสบการณ์ตรงนี้เพิ่มเติม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่อยากให้ทุกคนโฟกัสแค่การเก็บพอร์ตฟอลิโอ แต่ให้โฟกัสที่การพัฒนาตนเองด้วย เพราะทุกกิจกรรมที่เราทำ น้องๆ จะได้พัฒนาตนเอง และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้แทบทุกด้านครับ

 

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ น้องๆ ที่ไม่มั่นใจในผลงานของตัวเองหรือยังไม่รู้ว่าจะใส่อะไรเข้าไปเพื่อยื่นโครงการนี้ดี ก็คงจะได้ไอเดียเกี่ยวกับการนำเสนอและคัดเลือกผลงานให้ถูกใจกรรมการกันแล้วนะคะ  และพี่มิ้นท์ก็เห็นด้วยว่า คำว่าจิตอาสา สามารถตีความผ่านกิจกรรมได้หลากหลายรูปแบบ ขอให้มั่นใจในผลงานที่ตัวเองและนำเสนอออกมาให้ได้ สู้ๆ ขอให้น้องๆ มีรายชื่อผ่านและได้ไปเข้าค่ายกันนะ^^

พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น