How to Check! เลือกคณะที่ใช่ยังไงให้เหมาะกับเรา

สวัสดีค่ะ ช่วงเวลานี้การตัดสินใจเลือกมหาวิทยาลัยและคณะที่จะเรียนต่อสำหรับน้องๆ ม.6 ถือเป็นอีกหนึ่งการตัดสินใจครั้งสำคัญของชีวิตเลยก็ว่าได้ แม้ว่าหลายคนจะมีเป้าหมายในใจอยู่แล้ว หรือบางคนที่ยังคงลังเลอยู่ว่าจะเลือกที่ไหนดี ซึ่งสิ่งที่หลายคนให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เลยก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของคะแนนและความสามารถของตัวเองใช่มั้ยคะ เพราะถือได้ว่าเป็นตัวชี้ชะตาของเราเลยว่าจะได้เรียนที่ไหน 

นอกจากนี้แล้วก็ยังมีเหตุผลและปัจจัยอื่นๆ ที่เราควรจะนำมาตัดสินใจร่วมอีกด้วย ซึ่งบทความนี้จะรวมเอา How to และปัจจัยการเลือกคณะที่ใช่ให้ตรงใจน้องๆ มาฝากค่ะ เผื่อจะเป็นอีกตัวช่วยในการตัดสินใจ ถ้าพร้อมแล้วมาดูกันเลยว่ามีอะไรบ้าง! 

How to เลือกคณะที่ใช่ยังไงให้เหมาะกับเรา
How to เลือกคณะที่ใช่ยังไงให้เหมาะกับเรา

How to Check! เลือกคณะที่ใช่ยังไงให้เหมาะกับเรา

เช็กที่ 1 คณะที่เราสนใจมีกี่มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน

สิ่งแรกเลยคือให้น้องๆ ลองหาข้อมูลเกี่ยวกับคณะที่เราสนใจมีกี่มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน ลองเอาหลักสูตรรายวิชาของแต่ละที่มาเปรียบเทียบกันดูว่ามีความแตกต่างกันตรงไหนบ้าง ถึงแม้ว่าชื่อคณะเหมือนกันแต่หลักสูตรหรือรายวิชานั้นอาจจะต่างกันค่ะ พอเราได้เห็นรายชื่อวิชาที่ต้องเรียนจะช่วยให้เราตัดสินใจเลือกได้ง่ายขึ้น และเลือกได้เหมาะสมกับตัวเรา ทั้งนี้ก็อย่าลืมดูจำนวนการเปิดรับของแต่ละมหาวิทยาลัย เพื่อที่เราจะได้วางแผนการจัดอันดับล่วงหน้าด้วยนะคะ

เช็กที่ 2 ความแตกต่างของภาคปกติ-ภาคพิเศษ-นานาชาติ

บางคณะหรือสาขาวิชามีการเปิดสอนมากกว่า 1 หลักสูตร ซึ่งในระเบียบการมักจะเขียนระบุเอาไว้ชัดเจนโดยใช้เป็นวงเล็บต่อท้ายชื่อคณะ/สาขา ว่าเป็นหลักสูตรไหน น้องๆ ต้องสังเกตรายละเอียดให้ดีค่ะ เพราะแต่ละหลักสูตรก็จะมีบางส่วนที่แตกต่างกันออกไปโดยเฉพาะค่าเทอม ซึ่งแต่ละหลักสูตรจะมีการเรียนการสอนดังนี้

  • ภาคปกติ มีการเรียนการสอนในเวลาราชการก็คือ เรียนวันจันทร์-ศุกร์ เริ่มเวลา 08.30 - 17.30 น. ซึ่งตารางเวลาอาจปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมของแต่ละมหาวิทยาลัย
  • ภาคพิเศษ เนื้อหาและรายวิชาที่ได้เรียนก็ไม่ได้ต่างจากภาคปกติค่ะ เพียงแค่มีการเรียนการสอนคนละช่วง หรือสอนนอกเวลาราชการ เช่น บางที่มีการเรียนช่วงบ่าย-ค่ำ หรือมีการนัดเรียนเพิ่มเติมในวันเสาร์-อาทิตย์
  • นานาชาติ แน่นอนว่าหลักสูตรนี้ต้องมีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ทั้งนี้อาจจะได้เรียนกับอาจารย์ไทยที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ หรืออาจารย์ชาวต่างชาติก็ได้ค่ะ

โดยส่วนใหญ่แล้วค่าเทอมของภาคพิเศษและนานาชาติจะสูงกว่าภาคปกติ 1-2 เท่า ซึ่งขึ้นอยู่กับหลักสูตรของแต่ละมหาวิทยาลัย สาเหตุที่ค่าเทอมของหลักสูตรเหล่านี้สูงกว่าเพราะว่าต้องมีการจ้างอาจารย์ที่มาสอนนอกเวลา และอาจารย์ชาวต่างชาตินั่นเองค่ะ

เช็กที่ 3 วุฒิการศึกษาและระยะเวลาของหลักสูตร

หลักสูตรในระดับปริญญาตรีตามที่เราทราบกันดีก็จะมีตั้งแต่ 4 - 6 ปี ใช่มั้ยคะ บางคณะ/สาขาก็จะมีระยะเวลาในการเรียนแตกต่างกันออกไปตามหลักสูตร ซึ่งก็มีบางสาขาที่หลังเรียนจบแล้ววุฒิการศึกษาที่ได้อาจจะไม่ตรงตามชื่อคณะที่เลือกเรียนก็ได้ค่ะ 

เช่น สาขาที่พี่แป้งเรียนอยู่เป็นส่วนหนึ่งในคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมฯ พอพูดถึงครุศาสตร์แล้วหลายคนคงคิดว่าเรียน 5 ปีแน่นอน จบไปได้ปริญญาครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.) ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ค่ะ สาขาของพี่แป้งเรียนแค่ 4 ปีเท่านั้น และจบมาจะได้ปริญญาเทคโนโลยีบัณฑิต (ทล.บ.) 

แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าแต่ละสาขาเรียนกี่ปี จบไปได้วุฒิการศึกษาอะไร ในหน้าแรกของหลักสูตรแต่ละสาขาวิชาจะเขียนระบุรายละเอียดเอาไว้ว่าเป็นชื่อปริญญาและสาขาอะไร บางมหาวิทยาลัยก็บอกระยะเวลาตลอดทั้งหลักสูตรด้วยว่าจะต้องเรียนทั้งหมดกี่ปี 

เช็กที่ 4 ค่าธรรมเนียมการศึกษา

เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการเลือกมหาวิทยาลัยเลยก็ว่าได้ค่ะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงมากๆ ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกอยากให้ลองอ่านรายละเอียดของค่าธรรมเนียมการศึกษาตลอดหลักสูตรให้เข้าใจก่อนว่าต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนไหนบ้าง บางมหาวิทยาลัยมีการแบ่งจ่ายเป็นเทอมตามจำนวนหน่วยกิต หรือบางที่ก็เป็นแบบเหมาจ่าย 

ทั้งนี้ก็เพื่อที่เราจะได้นำไปปรึกษาผู้ปกครอง และเลือกให้สอดคล้องกับความพร้อมของครอบครัว เพื่อที่จะได้วางแผนค่าใช้จ่ายต่างๆ ไว้ล่วงหน้า แต่ถ้าหากน้องๆ สอบติดและอยากเรียนที่นี่จริงๆ แต่กำลังเงินของผู้ปกครองอาจจะสู้ไม่ไหว บางมหาวิทยาลัยก็มีทุนช่วยเหลือสำหรับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้เรียนฟรีจนจบหลักสูตร แต่ก็จะมีเงื่อนไขตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดค่ะ 

เช็กที่ 5 ที่ตั้งของมหาวิทยาลัย

ถ้าหากว่ามีโอกาสอยากให้ลองไปสำรวจมหาวิทยาลัยที่น้องๆ สนใจดูก่อนค่ะ เพราะจะช่วยให้เราตัดสินใจเลือกได้ง่ายขึ้น แต่ในยุคโควิดแบบนี้อาจจะต้องระวังตัวกันให้มากๆ ถ้าไม่อยากเสี่ยงลองหารีวิวในอินเตอร์เน็ตอ่านดู หรือทักไปคุยกับรุ่นพี่ให้เล่าถึงบรรยากาศ สภาพแวดล้อมต่างๆ ให้เราฟัง ซึ่งบางคนอาจใช้ระยะทาง หรือความสะดวกในการเดินทางมาเป็นตัวตัดสินใจ ถ้ามหาวิทยาลัยอยู่ใกล้บ้านก็อาจจะไป-กลับไม่นอนหอ หรือใครที่อยากอยู่หอก็อาจจะต้องสำรวจเพิ่มเติมในเรื่องของหอพักไปด้วย 

เช็กที่ 6 โอกาสในการทำงานในอนาคต

ส่วนนี้ก็ถือว่าเป็นอีกประเด็นที่สำคัญเหมือนกันค่ะ พอน้องๆ เลือกคณะ/สาขาได้แล้วก็ต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสทางการทำงานที่ได้จากสาขาวิชานั้นด้วย ลองวิเคราะห์ดูว่าสิ่งที่เราเรียนสามารถทำอาชีพอะไรได้บ้าง ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ประกอบกันไป เช่น แหล่งฝึกงาน ความต้องการของตลาดแรงงาน ความมั่นคงทางการงาน รายได้ และความรับผิดชอบ

 

พี่แป้งหวังว่าบทความนี้จะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้น้องๆ สามารถตัดสินใจเลือกคณะและมหาวิทยาลัยได้ตรงใจและเหมาะสมกับตัวเองนะคะ  หรือถ้าใครมีวิธีอื่นๆ  อีกก็ลองมาแชร์บอกต่อ เพื่อเป็นแนวทางให้กับเพื่อนๆ  และรุ่นน้องปีต่อไปได้นะคะ ^^

พี่แป้ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น